การล้มประโยค โดยวิธีขยายประโยค
เนื้อความไทยในบางประโยคอาจขยายเป็น ๒ ประโยค ในภาษา มคธได้ โดยวิธีแยกตอนใดตอนหนึ่งออกมาตั้งประโยคใหม่ มีบทประธาน บทกิริยาครบถ้วน เป็นประโยคโดยสมบูรณ์ การทำเช่นนี้ เรียกว่า ล้มประโยคโดยวิธีขยายประโยค ซึ่งก็ได้แก่การเพิ่มประโยค ย ต เข้ามานั่นเอง
เนื้อความที่อาจขยายประโยคได้ ได้แก่ เนื้อความของบทที่มีบทขยายอยู่ เช่น ขยายประธาน ขยายกิริยา ขยายกรรม เป็นต้น บทขยายเหล่านี้อาจนำมาสร้างเป็นประโยคใหม่ซ้อนขึ้นมา โดยวิธีเพิ่ม ย ไว้ต้นประโยค และเพิ่ม ต ไว้ประโยคท้ายเท่านั้น ส่วนจะมีรูป ย ต เป็นอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่เนื้อความในตอนนั้นจะบ่ง
ขอให้ดูตัวอย่างจากประโยคภาษาไทยก่อน เช่น ประโยคว่า
: นายแดงผู้กำลังป่วยหนักได้รับการรักษาอย่างดี
อาจแยกเป็น ๒ ประโยคได้ว่า
(๑) นายแดงกำลังป่วยหนัก
(๒) นายแดงได้รับการรักษาอย่างดี
: พระภิกษุดำได้ทำกรรมอันหนักซึ่งทำได้ยาก อาจแยกเป็น ๒ ประโยคได้ว่า
(๑) พระภิกษุดำได้ทำกรรม
(๒) กรรมอันหนักซึ่งทำได้ยาก
ดูประโยคภาษาไทยกับภาษามคธเปรียบเทียบกัน
: บุคคลผู้ทำบาปกรรมไว้มาก ย่อมไปสู่ทุคติ
: พหุํ ปาปกมฺมํ กโรนฺโต ทุคฺคติ คจฺฉติ ฯ
(๑) บุคคลทำบาปกรรมไว้มาก
(โย) พหุํ ปาปกมฺมํ กโรติ ฯ
(๒) บุคคลย่อมไปสู่ทุคติ
(โส) ทุคฺคต คจฺฉติ ฯ
: ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ท่านต้องการทุกอย่าง
: สพฺพํ ตยา อิจฺฉิตํ ทมฺมิ ฯ
(๑) ข้าพเจ้าจะให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
(ตํ) สพฺพํ ทมฺมิ ฯ
(๒) สิ่งที่ท่านต้องการ
(ยํ) ตยา อิจฺฉิตํ ฯ
เมื่อกลับแล้วจะเป็น ยํ ตยา อิจฺฉิตํ, ตํ สพฺพํ ทมฺมิ ฯ ต่อไปนี้จักแสดงวิธีการโดยละเอียด