วสันตดิลกฉันท์

วสันตดิลกฉันท์  ครูแปลว่า  "ฉันท์มีคณะเหมือนเมฆที่มืดมนในเดือน ๕ เดือน ๖ อันเป็นส่วนของฤดูฝน" ฉันท์นี้เป็นจตุททสักขรฉันท์  บาทหนึ่งมี ๑๔ อักษร (๑๔ คำ) ยติ ๘-๖ กำหนดใช้ลงคณะ ๔ คณะคือ ต, ภ, ช, ช และมีครุลอย ๒ อักษรสุดท้าย เช่นเดียวกับอินทรวิเชียร

ข้อสังเกต

วสันตดิลกฉันท์มีส่วนคล้ายกับอินทรวิเชียรฉันท์  คือ ๓ คำแรก เป็น ต คณะ (อินฺทาทิ...)  และ ๖ คำหลัง (ยติสุดท้าย) เป็น ช คณะและครุลอย ๒ (ว ชิ รา ช คา โค) เหมือนกัน ดังนั้น ครุลอย ตัวสุดท้ายบาทจึงสามารถใช้ลหุแทน  เป็นปาทันตครุได้เช่นกัน

ในคัมภีร์วุตโตทัย แสดงสูตรของวสันตดิลกฉันท์ไว้ว่า

วุตฺตา  วสนฺตติลกา  ต  ภ  ชา  ช  คา  โค

มีรูปแผนประกอบดังนี้

ต้วอย่าง

เอโส  นิรุตฺติกุสโล  กุสโล  จ  พนฺเธ
เสฏฺโฐ  มหากวิ  มหากวินํ  สรฏฺเฐ
วณฺณาภิเปมหทโย  สทโย  กวีสุ
อคฺคํ  พหุํ  อิธ  ปพนฺธิ  ปพนฺธวตฺถุํ
เย  เต  ปพนฺธกุสลา  กวโย  สุพุทฺธี
เต  วลฺลภาสฺสติปิยา  จ  วิเสสโต  ว ฯ
(ฉันท์เฉลิมพระเกียรติ ฯ ร.๒)

วสันตดิลกฉันท์ถือว่า เป็นฉันท์ชั้นสุดยอดในบรรดาฉันท์ทั้งหมดที่แสดงมาข้างต้น เป็นที่นิยมกันมากในคัมภีร์ต่างๆ กวีทั้งหลายมักจะแต่งฉันท์ชนิดนี้เพื่อเป็นการ "อวดฝีมือ" ของตน หากฝีมือถึงเช่นที่อวดแล้ว บทประพันธ์นั้นย่อมเป็นอมตะ และเป็นแบบอย่างแกกวีรุ่นหลังได้ เช่น บทถวายพรพระ พาหุํ ฯ  นั้น ถือว่าเป็นยอดของวสันตดิลกฉันท์ทีเดียว หรืออย่างเช่น คำฉันท์เทอดพระเกียรติ ร.๒ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างข้างต้น  ก็มี "ลูกเล่น" อยู่ในคาถาแรก คือเล่นคำซ้ำในแต่ละบาท ได้แก่คำว่า กุสโล-กุสโล, มหากวิ มหากวินํ, หทโย-สทโย, ปพนฺธิ-ปพนฺธ  ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงฝึมือแล้ว ยังเป็นการแสดงอารมณ์กวีที่ต้องการ "พลิกแพลงเล่น" ด้วย ดังเช่นบทกวีไทยในสมัยเก่าที่ว่า

โอเจ็บใจใจจริงทุกสิ่งหนอ
ไม่เห็นรักรักเราเฝ้ารักรอ ทนแต่ก่อก่อเข็ญเป็นนิจกาล
ที่หวังใจใจจริงทุกสิ่งสิ้น ไม่ล้อลิ้นลิ้นลมคารมหวาน
ทุกวันทุกข์ทุกข์เหลือล้นจะทนทาน ควรฤารานรานร้าวข่าวรวนเร
โอ้อกนี้จะยับด้วยอับเฉา เพราะรักเขาเขาไม่รักชักหันเห
เห็นแลสุดสุดร่ำคน้ำคะเน จะถ่ายเทเททุบายให้หาแคลง
ฯลฯ  
  (ประชุมจารึกวัดโพธิ์)

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search