ความรู้ทั่วไปในการแต่งฉันท์

            ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า วิชาฉันท์เป็นกระบวนวิชาที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับมากมาย นอกจากต้องอาศัยความรู้เบื้องต้นเป็นพื้นฐานในการแต่งแล้ว ยังต้องอาศัยความรู้ทั่วไปประกอบด้วย จึงจะสามารถแต่งฉันท์ได้ แม้จะไม่ดีถึงขนาด ก็อยู่ในขั้นพอกล่าวว่าดีได้ ความรู้ทั่วไปที่ว่านี้คือเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความแต่ง ไม่ใช่หลักใหญ่เสียทีเดียว ส่วนมากจะมีไว้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลาจำเป็นมากกว่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องไม่สำคัญที่สุดแต่ก็สำคัญไม่น้อย เป็นการรู้ไว้ไม่มีเสียหาย การไม่รู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้ว ใช้ไปในฉันท์ นอกจากจะทำให้เสียรสชาติ ทำให้ฉันท์ไม่มีน้ำหนักแล้ว ยังถือว่าเป็นผิดความนิยมอีกด้วย ผิดเช่นนี้ก็ไม่น่าผิดเหมือนกัน

            ความรู้ทั่วไปดังกล่าวแล้วนั้น คือเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

(๑) เรื่องยติ

            ยติ คือ ระยะวรรคตอน ระยะที่ต้องหยุด ฉันท์ที่เป็น วรรณพฤติทุกชนิด มีกฎเกณฑ์ตายตัว ว่าจะต้องยติ (หยุด) ที่อักษรใด เช่น ปัฐยาวัตร มียติ ๔-๕ ก็หมายความว่า แต่ละบาทนั้น ต้องหยุด (เวลาสวดออกเสียง) ทุก ๆ ๔ คำ อินทรวิเชียรฉันท์มียติ ๕-๖ ก็หมายความว่า ให้ หยุดที่คำที่ ๕ และคำต่อไปอีก ๖ คำ เป็นต้น

            ยติ นั้น ท่านแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

  • ๑.๑ ยติปลายบท คือระยะสุดท้ายของทุก ๆ บาท ในแต่ละคาถาท้ายบาททุก ๆ บาท ถือว่าเป็นยติ
  • ๑.๒ ยติกลางพฤติ คือระยะที่ขาดตอนตรงปลายบาทที่ ๒ หรือตรงกึ่งคาถา
  • ๑.๓ ยติกลางบท คือศัพท์บางศัพท์มีหลายอักษร (หลายคำ) เป็นศัพท์ยาวกำหนด ตั้งแต่ ๔ คำขึ้นไป เช่น สมฺมาสมฺพุทฺโธ มหาการุณิโก เป็นต้น เมื่อใช้ลงในบาทต้นแล้ว ศัพท์ยัง ไม่หมด ต้องยกไปไว้ในบทบาทต่อไป การแต่งศัพท์เช่นนี้แหละเรียกว่า "ยติกลางบท"

 

            ยติ ๓ ประการนี้ ยติปลายบท กับ ยติปลายพฤติ ไม่มีข้อพิเศษอะไร เพราะเป็นกฎเกณฑ์ ของฉันท์แต่ละอย่างอยู่แล้ว หากผิด ก็เป็นผิดกฎเกณฑ์ของฉันท์นั้น ๆไปเลย ส่วนยติกลางบท หรือการแยกศัพท์ยาว ๆ ออกจากกันนั้นต้องเป็นไปดามกฎพิเศษว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ มิใช่ จะแยกได้ทุก ๆ ช่วงของศัพท์ ดังนั้นขอให้นักศึกษาได้รู้กฎเกณฑ์แห่งความนิยมในเรื่องนี้ โดยยึดหลักในคัมภีร์วุตโตทัยเป็นบรรทัดฐาน ท่านแสดงไว้ว่า

๑. สโร  สนฺธิมฺหิ   ปุพฺพนฺโต วิย โลเป วิภตฺติยา
  อญฺญถา ตฺวญฺญถา ตตฺถ  ยาเทสาทิ ปราทิว ฯ 
๒.  จาที ปุพฺพปทนฺตาว  นิจฺจํ ปุพุพปทสฺสิตา  
  ปาทโย นิจฺจสมฺพนฺธา  ปราทิว ปเรน ตุ ฯ 
๑. ในบทสนธิ เมื่อลบวิภัตติเสีย สระเป็นเหมือนสระที่สุดแห่งบทต้น แต่ตรงกันข้าม ก็เป็นอย่างอื่นไป ในยตินั้น การอาเทศเป็น ย เป็นต้น เป็นดุจเบื้องปลาย แห่งบทปลาย  
๒. นิบาตทั้งหลายมี จ เป็นต้น เป็นดุจหนปลายของบทต้น ต้องอยู่ชิดบทต้นเสมอไป แต่อุปสัคทั้งหลายมี ป เป็นต้น เป็นดุจหนต้นของบทปลาย ต้องเนื่องกับบทปลาย เสมอไป ฯ    

 

            รวมความว่า ยติกลางบทตามความใน ๒ คาถานี้ เป็นยติเกี่ยวกับศัพท์ที่เป็นสนธิ และการวางนิบาตกับอุปสัค ซึ่งพอสรุปเป็นหลักไต้ ๕ ข้อ คือ 

๑. สนธิลบวิภัตติ ให้แยกสระของบทท้ายไปไว้เป็นสระท้ายของบทต้น เช่น
    - การณุปายโกวิโท     แยกเป็น  การณุ-ปายโกวิโท นำ อุ จากบทท้าย คือ อุปาย ไปไว้เป็นสระท้ายของบทต้น คือ ณ
    - สพฺโพปมาตีตา        แยกเป็น  สพฺโพ-ปมาตีตา
    - ธมฺมารามวิหารวาสี    แยกเป็น  ธมฺมา-รามวิหารวาสี

๒. สนธิไม่ลบวิภัตติ ให้แยกสระท้ายบทต้นไปไว้เป็นสระต้นของบทปลาย เช่น
    - ปตฺตสฺโสปมา แยกเป็น ปตฺตสฺส-โสปมา นำ อ (พร้อมพยัญชนะที่ อาศัย คือ ส) ไปเป็นสระต้นของบทท้าย คือ โอ รวมกันเป็น โส

ตัวอย่างทั้ง ๒ ข้อที่ท่านแสดงไว้ในวุตโตทัย

นเม ตํ สิรสา สพฺโพ-  ปมาตีตํ ตถาคตํ 
ยสฺส โลกคฺคตมฺปตฺตสฺ-  โสปมา น หิ ยุชฺชติ ฯ 

(การเปรียบเทียบพระตถาคดเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงถึงความเป็นยอดในโลก ย่อมไม่ถูกต้องได้เลย ขอน้อมเศียรเกล้าบังคมพระตถาคตเจ้า พระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงแล้ว ซึ่งอุปมาทั้งปวง) 

๓. สนธิอาเทศ ให้วางไว้เป็นเบื้องต้นของบทท้าย เช่น
    - วนฺทามฺยนนฺตมตึ    แยกเป็น  วนฺทา-มฺยนนฺตมตึ (วนฺทามิ+อนนฺตมตึ)
    - พนฺธมพฺยากิณฺณํ    แยกเป็น  พนฺธ-มพฺยากิณฺณํ (พนฺธํ+อพฺยากิณฺณํ)
    - สายเมตสฺส           แยกเป็น  สาย-เมตสฺส (สา+อยํ+ เอตสฺส)

๔. นิบาตทั้งหลาย   ให้วางไว้ชิดบทต้น (บทที่ตนควบ)

๕. อุปสัคทั้งหลาย   ให้อยู่กับบททาย เช่น
    - ชินนฺตมฺปวรํ       แยกเป็น  ชินนฺตมฺ-ปวรํ
    - สมฺมาสมฺพุทฺโธ  แยกเป็น   สมฺมา-สมฺพุทฺโธ

ตัวอย่างยติในข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ ในคัมภีร์วุฅโฅทัย

มุนินฺทนฺตํ สทา วนฺทา-  มฺยนนฺตมติมุตฺตมํ 
ยสฺส เมตฺตา จ ปญฺญา จ  นิสฺสีมาติวิชมฺภติ ฯ  
(พระเมตตา และพระปัญญาของพระจอมมุนีใด ไม่มีเขตแดน
องอาจยิ่ง ขอถวายบังคมพระจอมมุนีนั้น ผู้ทรงพระปรีชาอนันต์สูงสุดทุกเมื่อ)   

            สำหรับที่เป็นสมาสนั้น ให้แยกศัพท์ตรงรอยต่อของศัพท์ ๒ ศัพท์ ทีนำมาสมาสกัน คือเมื่อแยกกันแล้ว ต้องได้ความหมายทั้งศัพท์หน้า และศัพท์หลัง เช่น
          - สารีปุตฺตตฺเถโร  แยกเป็น   สารี-ปุตฺตตฺ-เถโร หรือ สารีปุตฺตตฺ-เถโร
          - รฏฺฐปสาสนวิธิ   แยกเป็น   รฏฺฐ-ปสาสนวิธิ หรือ รฏฺฐปสาสน-วิธิ
          - สมฺพุทฺธกาเล    แยกเป็น   สมฺพุทฺธ-กาเล

 

ตัวอย่าง


® วิจิตฺตญฺจตฺตโน ราช-   นิเวสนยุคํ อถ  
  กตฺวา มาเปตุกาโม โส   ธุวอารามมตฺตโน  
  สุภตฺตสงฺฆิกาวาส-   ปริเวณํ มโนรมํ 
  อารามํ สิปฺปิเก เฉเก  อมาปยิ นิเวสเน ฯ 
® ภาวนาทานสีลานิ  สมมาสมฺปหินานิห 
  นิพฺพานโภคสคฺคาทิ-  สาธนานิ น สํสโย ฯ 

            ถ้าแยกศัพท์ผิดจากข้อกำหนดต่าง ๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ชื่อว่า ยติผิด จัดเป็นโทษ เรียกว่า ยติหีนโทษ ของฉันทลักษณ์ (โทษเพราะเสียยติ)

ขอให้ดูตัวอย่างที่แยกศัพท์ผิด เป็นยติหีนโทษ 

® ตนฺนเม สิรสา จามิ- กรวณฺณํ ตถาคตํ
  สกลาปิ ทิสา สิญฺจ- ตีว โสณฺณรเสหิ โย ฯ
® มหาเมตฺตา จ มหาปญฺญา จ ยตฺถ ปรโมทยา
  ปณมามิ ชินนฺตมฺป- วรํ วรคุณาลยํ ฯ

อธิบาย 


  • - จามิกร ซึ่งแปลว่า ทอง แยกไม่ได้เพราะเป็นศัพท์เดียวกัน เมื่อแยกแล้ว จามิ ไม่มีคำแปล กร พอแปลได้ แต่ก็เสียความหมาย
  • - สิญฺจติ แยกไม่ได้เพราะเป็นศัพท์เดียวกัน เมื่อแยกแล้ว สิญฺจ แปลว่า จง ส่วน ติ แปลไม่ได้
  • - มนาปญฺญา จ วาง จ ให้เป็นเบื้องด้นของบทปลาย ไม่ชิดกับบทที่ตนควบ เป็นผิดระเบียบ
  • - ปวรํ วาง ป ไว้เป็นเบื้องปลายของบทต้น ไม่ชิดกับบทปลายเป็นผิดระเบียบ เช่นกัน ที่ถูกต้องแยกเป็น ชินนฺตมฺ-ปวรํ
  • แม้อุปสัค และนิบาตอื่นนอกจากนี้ เช่น สุ ทุ นิ วา ปิ เป็นต้น ก็พึงเทียบเคียงตามนัยนี้แล

 

(๒) เรื่องอุปมา

            ฉันท์ที่แต่งนั้นจะมีรสชาติขึ้นหากมีบทอุปมาแทรกไว้ด้วย บทอุปมาจะทำให้เนี้อความ นั้น ๆ แจ่มแจ้งขึ้นชัดเจนขึ้น เพราะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็น เช่นบทอุปมา ว่า สูโรว โอภาส- ยมนฺฅลิกฺขํ ดำรงอยู่ประดุจพระอาทิตย์ดำรงทำให้ท้องฟ้าสว่างไสวอยู่ หรืออุปมาว่า กิกีว อณฺฑํ จมรีว วาลธึ ปิยํว ปุตฺฅํ นยนํว เอกกํ พึงรักษาศีลเหมือนนกต้อยตีวิด รักษาไข่ซึ่งมีอยู่ใบเดียว เหมือนจามรีรักษาพวงหาง เหมือนพ่อแม่รักลูกชายคนเดียว และ เหมือนคนรักษาตาซึ่งเหลืออีกข้างเดียวไว้ ตามอุปมานี้ ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ศีลสำคัญ แค่ไหน จะต้องรักษาไว้อย่างไร เป็นต้น อุปมาจึงเท่ากับเป็นการเสริมความให้มีน้ำหนักขึ้น และ ทำให้ฉันท์มีอรรถรสขึ้น

            ในเรื่องอุปมานี้มีข้ออวามที่พึงทำความเข้าใจดังนี้

            ๑. ศัพท์ที่ใช้ประกอบกับศัพท์อื่นที่บ่งว่าข้อความตอนนั้นเป็นอุปมาได้แก่ศัพท์เหล่านี้ คือ อิว วิย ยถา ยถาตํ สมาน สทิส สม สริกฺขก สริกฺข ปฎิพิมฺพ เป็นต้น

            อิว ศัพท์ นิยมสนธิกับศัพท์ที่เป็นอุปมาศัพท์ใดศัพท์หนึ่ง มีรูปปรากฏเพียง ว เฉย ๆ ก็มี ฉะนั้นเวลาเขียนจึงต้องเขียนให้ติดกับศัพท์นั้นตามหลักสนธิ เช่น สูโรว โอภาสยมนฺตลิกขํ ไม่ใช่ สูโร ว, หรือ จกฺกํว วหโต ปทํ ไม่ใช่ จกฺกํ ว ถ้าเขียนห่าง จะไปพ้องกับ เอว ศัพท์ที่กร่อนเหลือเพียง ว เป็นปทปูรณะ แปลว่า เทียว, นั่นเทียว เข้า

   วิย ศัพท์ นิยมเรียงไว้หลังศัพท์ที่เป็นอุปมา แสดงรูปเป็น วิย เช่น

- ธมฺโม ธโช โย   วิย ตสฺส สตฺถุโน 
- ชิโน สงฺกิเลสตตฺตาน-  มาวิภูโต ชนานยํ 
  ฆมฺมสนฺตาปตตฺตานํ  ฆมฺมกาเลมฺพุโท วิย ฯ 
    (พระชินเจ้าองค์นี้ ทรงปรากฏแก่ฝูงชนผู้เร่าร้อนด้วยกิเลส
เหมือนเมฆในหน้าแล้ง ปรากฏแก่ฝูงชนผู้เร่าร้อนด้วยความร้อน แห่งความแห้งแล้ง ฉะนั้น) 

    ยถา, ยถาตํ  ศัพท์ จะวางไว้ต้นข้อความที่เป็นอุปมาหรือหลังข้อความนั้นก็ได้ เช่น

- อปฺปมตฺตา น มียนฺติ  เย ปมตฺตา ยถา มตา 
- สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา  จนฺโท ปณฺณรโส ยถา 
- สุภคฺคํ มรูนํ วิมานํ ยถาตํ  

            สมาน, สทิส ศัพท์ เป็นต้น นิยมสมาสกับศัพท์ที่เป็นอุปมานั้นและเป็นวิเสสนะ ของศัพท์ที่เป็นอุปไมยไปเลย เช่น

  • - กุมฺภูปมํ กายมิมํ  วิทิตฺวา
  • - นตฺถิ อตฺฅสมํ เปมํ

 

             ๒. ศัพท์หรือกลุ่มศัพท์ที่นำมาเป็นอุปมานั้นจะต้องให้ลงกันสมกันกับข้อความในประโยคและต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ ต้องให้มองเห็นภาพได้แจ่มชัด เช่น

  • - ขีณเสฺนโห  ปทีโปว    อนาลโย  สุนิพฺพุโต
  • (ไม่มีอาลัยนิพพานดีแล้ว เหมือนประทีปสิ้นเชื้อดับไป ฉะนั้น

            อธิบาย  ดวงไฟที่สิ้นเชื้อหมดไส้หมดน้ำมัน แม้จุดอีกก็ไม่ติด เป็นการดับตลอดกาล การปรินิพพานของพระอรหันต์ก็หมดความยึดติด (อาลัย) ไม่เกิดอีก ฉะนั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจน หากเปรียบเทียบเพียงว่า ปทีโปว  สุนิพฺพุโต  คือดับเหมือนประทีปดับ ข้อความไม่ชัดเจน เพราะประทีปดับแล้ว อาจจุดติดอีกก็ได้ ซึ่งไม่ลงกันกับเนื้อความของ สุนิพฺพุโต ซึ่งดับสนิทไม่ติดไม่เกิดอีก

- สีลสมฺปตฺติยา ภิกฺขุ  โสภมาโน ตโปวเน 
  ปภาสมฺปตฺติยา จนฺโท  คคเณ วิย โสภติ ฯ 
  (ภิกษุผู้งดงามด้วยสมบัติคือศีล ย่อมงดงามอยู่ในตโปวัน 
ประดุจพระจันทร์งดงามอยู่บนท้องฟ้าด้วยสมบัติคือรัศมี

             อธิบาย  พระจันทร์งามอยู่บนท้องฟ้าเพราะอาศัยรัศมีแสงสว่าง ฉันใด ภิกษุก็งามด้วยศีลอยู่ในตโปวัน ฉันนั้น เป็นการเปรียบเทียบชัดเจนลงกันสมกัน หากเปรียบเทียบเพียงว่า "งามเหมือนพระจันทร์" ความย่อมไม่ชัดเจนเพราะพระจันทร์ที่ถูกเมฆหมอกบัง หรือพระจันทร์ข้างแรม ความงามย่อมลดลงไปได้

- ตสฺมา สปตฺตจรโณ ปกฺขีว  สจีวโร ว โยคิวโร ฯเปฯ 
   (เพราะฉะนั้น พระโยคีผู้ประเสริฐ พึงมีจีวรเท่านั้นเที่ยวไป เหมือนนกมี (เพียง) ปีกบินไป ฉะนั้น)

             อธิบาย  ศัพท์  สปตฺตจรโณ เป็นตัวบ่งให้อุปมาชัดเจน หากมีศัพท์ว่า  ปกฺขีว เท่านั้น เนื้อความย่อมไม่ชัดเจน เพราะนกที่ไม่อาศัยปีกสัญจรไปมาก็มี ท่านเปรียบจีวรเหมือนกับปีกของนกซึ่งภิกษุได้อาศัยเที่ยวไป เหมือนปีกซึ่งนกได้อาศัยบินไป ฉะนั้น

            สรุปแล้ว การใช้อุปมาต้องใส่ให้แจ่มแจ้ง เปรียบอะไรกับอะไร เปรียบในลักษณะไหน เปรียบอย่างไรต้องให้ชัดเจน จึงจะเรียกว่า "ลงกันสมกัน"

 

            ๓. อุปมาที่ไม่ดีซึ่งจัดเป็นโทษของพันธะคือฉันท์ (อุปมาหีนโทษผิดเพราะใช้อุปมาเสีย) นั้นมีมากมายหลายประการ ไม่อาจนำมาแสดงให้หมดสิ้นได้ จักยกตัวอย่างพอเป็นแนวทางในคัมภีร์สุโพธาลังการท่านแสดงอุปมาที่เสียไว้ ๖ อย่าง คือ

             ๓.๑ ภินทลิงโคปมา  อุปมาต่างลิงค์ เช่น หํสิว  สสิ  ดวงจันทร์เหมือนหงส์  หํส เป็น ปุํ.  สสิ เป็น อิตฺ. ต่างเพศกัน ไม่ควรนำมาเทียบกัน ควรจะเทียบที่เป็น อิตฺ. เช่นเดียวกัน หรืออย่างเช่น  ชเน  ปิยายตี  ราชา  มาตา  ปุตฺตํว  เอกกํ  พระราชาทรงรักประชาชนเหมืนอกับมารดารักบุตรคนเดียวฉะนั้น แม้ความจะให้แต่น่าจะใช้  ปิตา มากกว่า เพราะชัดเจนกว่า

            ๓.๒ วิชาติวจโนปมา  อุปมาด้วยวจนะผิดชาติ เช่น  อากาสํ  สรานิว  อากาศ เหมือนสระน้ำทั้งหลาย อุปมาอย่างนี้ผิดวจนะกัน ไม่ดี

            ๓.๓ อธิโกปมา  อุปมาเกินตัว เช่น  ขชฺโชโต  ภาณุมาลีว  วิภาติ  หิ่งห้อยสว่าง เพียงดังดวงอาทิตย์  หิ่งห้อยจะนำมาเปรียบเทียบกับพระอาทิตย์ในด้านให้แสงสว่างไม่ได้

            ๓.๔ หีโนปมา  อุปมาต่ำ  เช่น  สาว  ภตฺโต  ภโฏทิเป  ข้าจงรักในเจ้าเหมือนหมา คนเป็นอธิกชาติ หมาเป็นหีนชาติไม่ควรนำมาเปรียบกัน

            ๓.๕ อผุฏฐัตโถปมา  อุปมาความไม่เด่น  เช่น  พลามฺโพธิ  สาคโร  วิย  สํขุภิ  สมุทรพลกระฉอกกระฉ่อน เหมือนสาครคะนองคลื่น  อมฺโพธิ ก็ทะเล สาคโร ก็ทะเล ความซ้ำกัน ไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ เปรียบเช่นนี้ไม่ได้ใจความอะไรพิเศษขึ้นมา

            ๓.๖ เปกขินีอุปมา  อุปมาเพ่งเล็ง  เช่น  จนฺเท  กฬงฺโก  ภิงฺโคว  รอยกระต่ายเพียงดังแมลงภู่ในดวงจันทร์  เปรียบเท่านี้ยังไม่ชัดเจนต้องใส่ข้อความอื่นเข้ามาขยายแมลงภู่อีก เช่น รอยกระต่ายในดวงจันทร์เพียงดังแมลงภู่ในกอดอกไม้ เป็นต้น ความจึงจะชัดเจน

            ๓.๗ ขัณฑิโตปมา  อุปมากระท่อนกระแท่น  เช่น  เกรวาการโร  สกฬงฺโก  นิสากโร  ดวงจันทร์มีรอยกระต่ายคล้ายดอกโกมุท  เป็นการเปรียบที่กระท่อนกระแท่นขาดความ คือความต้องการมีว่าดวงจันทร์มีจุดดำคือรอยกระต่ายอยู่ เหมือนดอกโกมุทมีจุดดำคือแมลงภู่เกาะอยู่ แต่ขาดศัพท์ว่า  สภิงฺค ไป ถ้าเป็นว่า  สภิงฺคเกรวากาโร  สกฬงฺโก  นิสากโร  ความก็ชัดเจน

            อุปมาทั้งหมดที่แสดงมา จัดเป็น อุปมาหีนโทษ โทษเพราะอุปมาทราม หรือผิดเพราะอุปมาเสีย นักศึกษาจึงควรพินิจพิเคราะห์ให้ถ่องแท้เวลาจะใช้อุปมา

            อุปมาต่างลิงค์ต่างวจนะกันนั้น มิใช่ว่าจะใช้ไม่ได้เลย นักศึกษาอาจนำมาเปรียบเทียบได้หากใจความชัดเจน และเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย เช่นคาถาว่า

อิตฺถีวายํ ชโน ยาติ  วทเตฺยสา ปุมา วิย 
ปิโย ปาณา อิวายมฺเม  วิชฺชา ธนมิวุจฺจิตา ฯ 
คนผู้นี้เดินเหมือนสตรี  สตรีนางนี้พูดเหมือนชาย 
ชนผู้นี้เป็นที่รักของเราปานชีวิต  วิชาทั้งหลายบุคคลสะสมไว้ประดุจทรัพย์ ฯ 

 

(๓) เรื่องข้อยกเว้น และอนุญาต

            ในกฎระเบียบต่าง ๆ มักจะมีระเบียบข้อยกเว้นและข้ออนุญาตไว้ด้วยเพื่อเป็นทางออกในเรื่องนั้น แม้ฉันท์ก็มีข้อยกเว้น และข้ออนุญาตให้ทำได้ไว้เช่นเดียวกัน ข้อยกเว้นและข้ออนุญาตเหล่านี้เป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่งเพราะบางคราวมีความจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์เช่นนี้เพื่อรักษาความ แต่ไปขัดตรงที่ไม่อาจใช้ศัพท์ได้ เพราะเข้าคณะฉันท์ไม่ได้ เมื่อเป็นดังนี้หากไม่มีข้ออนุญาตไว้ให้ มุ่งแต่จะรักษาฉันทลักษณ์อย่างเดียว ความที่ต้องการก็บกพร่องไป แต่ข้อยกเว้นและข้ออนุญาตนั้น ๆ มิใช่ว่าจะใช้ได้ทุกเรื่องทุกกรณีและทุกฉันท์ อันนี้ต้องดูความนิยมแห่งภาษาเป็นส่วนประกอบด้วย ฉะนั้นสักศึกษาวิชาฉันท์พึงรู้ระเบียบต่าง ๆ เหล่านี้บ้างตามสมควร เพื่อเป็นอุปการะในการแต่งฉันท์ของตนต่อไป ดังนี้

            ๓.๑ อักษรตัวสุดท้ายบาทของฉันท์ทุกชนิด แม้จะระบุไว้ว่าเป็นครุก็ได้รับการยกเว้นให้แต่งเป็นลหุได้ ลหุนั้นเรียกว่า ปาทันตครุ ระเบียบเรื่องนี้พร้อมตัวอย่าง ได้แสดงไว้ตามลำดับแล้ว

            ๓.๒ ในปัฐยาวัตรฉันท์ บาทหนึ่งมี ๘ อักษร หรือ ๘ คำ แต่ถ้าจำเป็นอนุญาตให้เป็น นวักขริกะ คือ ๙ อักษรได้ แต่ทั้งนี้เป็นความจำเป็นจริง ๆ  เช่นศัพท์นั้นเป็นศัพท์ยาวไม่อาจแยกเป็นยติได้ หรือเป็นชื่อเฉพาะไม่อาจตัดคำลงได้ เช่น

® ปฏิรูปเทสวาโส  จ ปุพฺเพ จ  กตปุญฺญตา.........
® ปวรนิเวสวิหาเร สณฺฐิโต  รมฺมิเกตโร.........

            ข้อสังเกต  นวักขริกะนี้นิยมลงเฉพาะในบาทขอนเท่านั้น ไม่นิยมใช้ในบาทคู่ และไม่นิยมใช้บ่อย หากหลีกเลี่ยง โดยวิธียติกลางบทแทน เช่น

© สุภํ  อคฺคํ  สิริรตน- สตฺถารามาภินานกํ
  พุทฺธปูชาย  มาเปสิ พุทฺธวาสํ  อภิกฺขุกํ ฯ
© ตโต  รตนโกสินฺท- มหินฺทายุชฺฌิยา  อิติ
  เอวํสา  ธานิยา  นามํ กรุํ  นิมิตฺตมาทิย ฯ

            นอกจากปัฐยาวัตรฉันท์แล้ว  ฉันท์อื่นไม่นิยมแต่งให้มีอักษรเกินที่กำหนดไว้ เช่น อินทรวิเชียรฉันท์  บาทหนึ่งมี ๑๑ อักษร ก็ต้องแต่งเพียง ๑๑ อักษรทุกบาท ไม่แต่งเป็น ๑๒ อักษร เพราะการแต่งเกินบาทนี้นิยมเฉพาะปัฐยาวัตรฉันท์เท่านั้น

            ๓.๓ ชื่อเฉพาะต่าง ๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อพระสูตร ชื่อธรรมะ เป็นต้น อนุญาตให้ผิดคณะฉันท์ได้ โดยไม่ต้องต่อหรือเติมศัพท์เพื่อบีบให้ถูกคณะฉันท์ แต่มีข้อแม้ว่า ชื่อเฉพาะต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ นิยมแต่งเฉพาะในปัฐยาวัตรบาทขอนเท่านั้น ไม่นิยมในบาทคู่ และไม่นิยมแต่งในฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตร เช่น ตัวอย่างในข้อ (๓.๒) และตัวอย่างอื่นอีก เช่น

® เย  จ  สุทสฺสนเทว- วรารามาทิกา วรา
  ปุพฺเพ  วิปฺปกตารามา ปริชิณฺณาสุภา  จ  เย
  นิฏฺฐงฺคตา  กตา  เจเต สุสงฺขตา  จ  ราชินา
  มหนฺเต  อรุณราช- วราราเม  สุนิฏฺฐิเต
  มหามหํ  อกาเรสิ ตตฺถ  อปฺปฏิวตฺติยํ ฯ

            ชื่อเฉพาะต่าง ๆ เหล่านี้ หากไปตัดหรือต่อเพื่อให้เข้าคณะหรือเพื่อรักษาฉันทลักษณ์อย่างเดียวแล้ว ย่อมทำให้เสียความหมายไปทันทีและถือว่าผิดไปด้วย เช่น

  © เย  จ  สุทสฺสนเทว- วรารามาทิกา  วรา...(ถูก)
แก้เป็น © เย  จ  สุทสฺสนทฺเทว- วรารามาทิกา  วรา...(ผิด)
  © สุภํ  อคฺคํ  สิริรตน- สตฺถารามาภิธานกํ...(ถูก)
แก้เป็น © สุภํ  อคฺคํ  สิรีรตฺตาน- สตฺถารามาภิธานกํ...(ผิด)
  © ปวรนิเวสวิหาเร (ถูก)  
แก้เป็น © ปวรานิเวสวิหาเร (ผิด)  

           จำไว้เสมอว่า  "ชื่อเฉพาะนิยมแต่งในปัฐยาวัตรบาทขอนเท่านั้น และไม่นิยมต่อหรือตัดเพื่อบีบเข้าคณะ"

            ๓.๔ เพื่อรักษาฉันทลักษณ์ อนุญาตให้รัสสะได้บ้าง ทีฆะได้บ้าง โลปะได้บ้าง แต่มิใช่ได้ทุกศัพท์ทุกคำ ที่นิยมคือ

            รัสสะ  นิยมรัสสะสระที่เกี่ยวกับวิภัตติ หรือสระที่สุดศัพท์ที่ถูกทำให้เป็นทีฆะเมื่อประกอบกับวิภัตติ เช่นนี้ ให้รัสสะได้ เช่น

ญาตีภิ    เป็น  ญาติภิ ปาณีนํ   เป็น  ปาณินํ
วิญฺญูนํ   เป็น  วิญฺญุนํ จารีนํ    เป็น  จารินํ
โสตูนํ    เป็น  โสตุนํ จารีสุ    เป็น  จาริสุ

ตัวอย่าง

(ตาทีสุ) - กาเลน  ทินฺนํ  อริเยสุ อุชุภูเตสุ  ตาทิสุ
(ปาณีนํ) - มหาการุณิโก  นาโถ หิตาย  สพฺพปาณินํ
(ญาตีภิ) - อโรโค  สุขิโต  โหหิ สห  สพฺเพหิ  ญาติภิ

           ในกรณีเช่นนี้ ไม่นิยมรัสสะ อา เป็น อ  และไม่นิยม รัสสะ ศัพท์เดิมที่อยู่กลางศัพท์ อันไม่เกี่ยวด้วยวิภัตติ เช่น

เวเนยฺยานํ เป็น เวเนยฺยนํ ไม่ได้
ทุกฺขานํ เป็น ทุกฺขนํ ไม่ได้
นิยฺยานิโก เป็น นิยฺยนิโก ไม่ได้
สรีรญฺจ เป็น สริรญฺจ ไม่ได้
ชีวิตญฺจ เป็น ชิวิตญฺจ ไม่ได้

            อนึ่ง  ตฺวา  ปัจจัย  เมื่อมีความจำเป็นใช้เป็น  ลหุ ก็ให้รัสสะเป็น ตวฺ ได้ในฉันท์ทั้งปวง เช่น คนฺตฺวา เป็น คนฺตฺว  กตฺวา  เป็น กตฺว  คมิตฺวา  เป็น คมิตฺว ตัวอย่างเช่น

อิมสฺเสว  กาเล  มรมฺมารโย  ว
สมุสฺสาหกา  ยุทฺธสชฺชา  สโยธา
สมาคนฺตฺว  เวปุลฺลิกํ  ทยฺยรฏฺฐํ
กริตฺวาน  ทยฺเยหิ  สทฺธี  ว  ยุทฺธํ  ฯเปฯ
(ฉันท์เทอดพระเกียรติ ฯ ร.๒)

           ทีฆะ  นิยมทีฆะวิภัตติ คือ ติ ให้เป็น ตี เป็นพื้น เพื่อให้เข้าคณะได้และสามารถมองเห็นรูปเดิมของวิภัตติได้ เช่น

วุจฺจติ เป็น วุจฺจตี
สยติ เป็น สยตี
คจฺฉติ เป็น คจฺฉตี

ตัวอย่าง

® มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา มโนเสฏฺฐา  มโนมยา
  มนสา  เจ  ปทุฏฺเฐน ภาสตี  วา  กโรติวา ฯเปฯ
® อภิตฺถเรถ  กลฺยาเณ ปาปา  จิตฺตํ  นิวารเย
  ทนฺธํ  หิ  กรโต  ปุญฺญํ ปาปสฺมึ  รมตี  มโน  ฯ
® ปาโปปิ  ปสฺสตี  ภทฺรํ ยาว  ปาปํ  น  ปจฺจติ
  ยทา  จ  ปสฺสตี  ปาปํ อถ  ปาปานิ  ปสฺสติ  ฯ

            ในเรื่องทีฆะได้นี้ สังเกตดูในที่ท่านเคยใช้มา  จะใช้เพียง ติ  เป็น ตี  นี้เท่านั้น  อนฺติ เป็น อนฺตี  ท่านก็ไม่นิยม ตุ เป็น ตู ก็ไม่นิยม  หากต้องการให้เข้าคณะจริง ๆ ท่านใช้วิภัตติอื่น ลงแทน เช่น อนฺติ ใช้ อนฺเต แทน  ตุ ใช้ ตํ แทน เช่น

ปสฺสนฺติ เป็น ปสฺสนฺเต
ปสฺสตุ เป็น ปสฺสตํ
ภวตุ เป็น ภวตํ  เป็นต้น

             อนึ่ง อี วิภัตติ ที่นิยมรัสสะเป็น อิ เช่น  กริ  นยิ  คมิ  ภชิ  เป็นต้นนั้น คงรูปทีฆะบ้างก็ได้ เช่น กรี  นยี  คมี  ภชี แต่รูปแบบนี้ไม่นิยมมากนัก ไม่ดื่นทั่วไปเหมือน ติ  เป็น ตี  หากไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรใช้ นอกจากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

            นอกจากนั้น ศัพท์ที่เป็น อิ อุ การันต์โดยธรรมชาติ ก็ไม่นิยมทีฆะเป็น อี เป็น อู เพราะจะไปซ้ำกันรุปวจนะอื่นได้ ทั้งทำให้เข้าใจยาก เช่น

มุนิ   (เอก.)  ไม่นิยมทีฆะเป็น มุนี (ซ้ำกับพหุ.)
รตฺติ (เอก.)  ไม่นิยมทีฆะเป็น รตฺตี (ซ้ำกับพหุ.)
ครุ   (เอก.)  ไม่นิยมทีฆะเป็น ครู (ซ้ำกับพหุ.)

            แม้วิภัตติอื่นก็ไม่นิยมเช่นกัน เช่น มุนินา เป็น มุนีนา  รตฺติยา เป็น รตฺตียา  ครุนา เป็น ครูนา  เหล่านี้ไม่เป็นที่นิยม หาตัวอย่างไม่พบในที่ทั้งหลาย จึงไม่ควรใช้

            โลปะ  การลบนั้น นิยมลบ  ํ (นิคคหิต) ที่ นํ และ สฺมึ วิภัตติเป็นพื้น เช่น

ธมฺมจารีนํ เป็น  ธมฺมจารีน
สพฺเพสํ  เป็น  สพฺเพส
โลกสฺมึ  เป็น  โลกสฺมิ

            อนึ่ง ลบ  ํ (อํ) ที่  ตุํ ปัจจัย เหลือเพียง ตุ ได้บ้าง เช่น

โสตุํ เป็น  โสตุ
กาตุํ เป็น  กาตุ
คนฺตุํ เป็น  คนฺตุ

            ส่วนที่ลบตามกฎเกณฑ์ เช่น เอโส เป็น เอส  โส เป็น ส  อริยสจฺจานํ  ทสฺสนํ เป็น อริยสจฺจาน  ทสฺสนํ นั้น ย่อมใช้ได้เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว

            การลบ ํ  นี้เห็นมีนิยมใช้ดื่นในปกรณ์ทั้งหลายเพียงเท่านี้ (อํ) ที่เป็นทุติยาวิภัตติ ท่านไม่นิยมให้ลบ เพราะจะเหลือศัพท์เดิมโดด ๆ เหมือนไม่ได้ประกอบวิภัตติอะไร  เช่น

- โส  ธมฺม  โสตุํ  คมิ  สตฺถุ  สนฺติกํ ฯ (ไม่นิยม)
- อทาสิ  โส  ตสฺส  ปหาร  กุทฺโธ ฯ (ไม่นิยม)
- คามํ  ว  คจฺฉนฺต  อิมํ  อปสฺสิ ฯ (ไม่นิยม)

            ข้อสังเกต การรัสสะก็ดี ทีฆะก็ดี โลปะก็ดี ในฉันท์นั้น พึงสังเกตว่ามิใช่ทำได้ทุกกรณี และทุกศัพท์ที่ต้องการ มีข้อสังเกตง่าย ๆ ว่าศัพท์ใดก็ตามเมื่อรัสสะ ทีฆะ หรือโลปะแล้วจะต้องคงรูปวิภัตติหรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งของวิภัตติหรือที่เกี่ยวกับวิภัตติ ปรากฏอยู่เสมอไป ไม่ใช่ทำให้หายทั้งหมด ดังเช่นตัวอย่าง

ญาติภิ คง ภิ ที่มาจาก   หิ   วิภัตติไว้
ปาณินํ คง นํ วิภัตติไว้
วุจฺจตี คงรูป ติ วิภัตติให้เห็น
โลกสฺมิ คงรูป สฺมิ จาก   สฺมึ   วิภัตติไว้
โสตูน คงรูป จาก   นํ     วิภัตติไว้
กาตุํ คงรูป ตุ จาก   ตุํ    ปัจจัยไว้

            ส่วนศัพท์ว่า ธมฺม  ปหาร  คจฺฉนฺต  ตามตัวอย่างนั้น วิภัตติหายไปทั้งหมดทำให้สังเกตไม่ได้

            ข้อควรจำ  ศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อคน  ชื่อสถานที่  ชื่อธรรมะ  เป็นต้น ห้ามรัสสะ ทีฆะ หรือ โลปะ เด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียรูปศัพท์และเสียความหมายเดิมของเขา

 

(๔) เรื่องนิบาต และสัพพนาม

            ฉันท์ที่ดีมีอรรถรสนั้นคือฉันท์ที่แต่งได้รัดกุม ผู้แต่งรู้จักประหยัดในการใช้ศัพท์ใช้นิบาต และใช้สัพพนามแทนศัพท์ที่กล่าวถึงมาแล้ว นิบาตต้นข้อความคือ หิ จ ปน ต้องอยู่ในลักษณะเด่นเห็นชัดว่าเป็นต้นข้อความจริง ๆ ไม่ใช่วางไว้กลางประโยคหรือตัวที่ ๕ ที่ ๖ ในประโยคนอกจาก หิ ที่มีคติดุจ ว ศัพท์ และนิบาตพวก ว เจ โข ปิ เป็นต้น พึงหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดที่จะใช้นอกจากบักคับข้อความตอนนั้น ๆ ว่า "ทีเดียว" โดยเฉพาะ โข นั้น มีคติดุจนิบาตต้นข้อความ ไม่นิยมวางไว้กลางประโยคหรือปลายบาท จริงอยู่ แม้จะไม่ผิดคณะแต่ประการใด คือมุ่งให้ถูกคณะเข้าคณะได้เป็นเกณฑ์ แต่ฉันท์นั้นหาเป็นฉันท์ที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ไม่ อาจถูกมองว่า "แต่งไม่เป็น" ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น พึงประหยัดการใช้นิบาตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้หากใช้ก็ใช้ให้เหมาะทำให้เห็นว่าวางไว้ได้สวยไม่น้อย อย่างนี้เป็นได้คะแนนนิยม

            ส่วนสัพพนามนั้น ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ และใช้ให้ถูก เรื่องที่ยังไม่กล่าวถึงเลยก็ใช้สัพพนามเสียแล้ว อย่างนี้ไม่เหมาะ หรือกล่าวถึง ตัวกัตตาหลาย ๆ ศัพท์ ในหลายประโยคหรือหลายตอนแล้วมาใช้สัพพนาม เช่น โส สา ตํ เป็นต้น ในประโยคต่อมา เช่นนี้ก็ไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ทราบว่าหมายถึงใครหรืออะไร ถ้าจะใช้ต้องมีนามกำกับด้วยในลักษณะเช่นนี้

ในเรื่องนี้ขอให้ดูต้วอย่าง

- ยสฺมึ คพฺเภ สุชาโต  กตญฺญุตาย  ตตฺถ 
  มาตรํ  อมตํ  ปานํ ปาเยตฺวา  ปรินิพฺพุโต ฯ
พาราณสึ  เอส  สุปาปุณิตฺวา
เต  ตาปเส  สุฏฺฐุ  อเวทิ  ตมฺปิ
เอเตว  นากํสุ  สุคารวํ  โข
สทฺธาย  สีเลน  จุปาคตา  เต
เนกฺขมฺมธมฺมาภิรตา  สุสนฺตา
พุทฺธมฺหิ  เสฏฺฐมฺหิ  สคารวา  โข
ฯเปฯ

            พึงสังเกตดูวาง จ ศัพท์ไว้ท้ายประโยค ทั้ง ๆ ที่เป็นนิบาตต้นข้อความ ใช้ เต และ ตํ ในที่ไม่ควรใช้ วาง โข ศัพท์ไว้ในที่ที่ไม่ควรวาง ฉันท์เช่นนี้ไม่มีความสละสลวย

 

(๕) เรื่องการใช้ จ ศัพท์ควบ

            เนื้อหาของฉันท์บางตอนจะต้องใช้ จ ศัพท์ ทั้งควบบท และควบพากย์ การใช้ศัพท์ในกรณีเช่นนี้ ก็มีคติดุจการเรียง จ ศัพท์ในวิชาแปลไทยเป็นมคธ คือ ต้องวางให้ถูกที่ถูกทาง หากวางไม่ถูกที่ก็เป็นการยากที่จะรู้ว่าเป็นศัพท์ควบอะไรกับอะไร ในฉันท์บาลีมีข้อสังเกตในการวาง จ ศัพท์พอเป็นแนวทาง ดังนี้

            ๕.๑ จ ควบบทใด จะต้องวางไว้หลังบทนั้น โดยวางไว้ชิดเลยทีเดียว

            ๕.๒ ถ้า จ ศัพท์ควบบทตั้งแต่ ๒ บทขึ้นไป จะไม่เรียง จ ไว้ทั้งหมดก็ได้ ถ้าใช้ จ กับบทแรกแล้ว จะต้องใช้กับบทหลังด้วย จะใช้กับบทแรกปล่อยให้บทหลังลอยไม่ได้ แต่ใช้กับบทหลังบทเดียว ปล่อยให้บทแรกลอยได้

            ๕.๓ ถ้าข้อความที่ จ ควบมีหลายศัพท์ จะวาง จ ศัพท์ไว้กลางศัพท์เหล่านั้นก็ได้ และมีคติดุจข้อ ๕.๒

พึงดูตัวอย่างวาง จ ศัพท์ ที่ถูกต้อง
- สารีปุตฺโต  มหาเถโร พุทฺธสฺส  อคฺคสาวโก
  สารีพฺราหฺมณิยา  เจว วงฺคนฺตพฺราหฺมณสฺส  จ
  ปุตฺโต  ปิโย  มนาโป  จ สพฺเพสํ  ญาตินํ  อหุ ฯ
พึงดูตัวอย่างวาง จ ศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง
- ตโต โข จินฺตยนฺโต  ว ตาปโส  อตฺตโน  ครู
  อุทฺทเก  เว  อาฬาเร สริตฺถ  ทิพฺพจกฺขุนา ฯ
- โย พุทฺธสาสเน เสฏฺโฐ สิทฺธตฺโถติ  จ  ปากโฏ
  สุทฺโธทนสฺส  มายาย โอรโส  หุตฺวา    ขตฺติโย
  สกฺกิวํเส  สุชาโต  มหาโภเค  มหทฺธเน
  ฯเปฯ

            อนึ่ง การใช้ จ ควบศัพท์นั้น นอกจากจะพึงคำนึงถึงการวางแล้ว ยังต้องคำนึงถึงศัพท์ที่ใช้ด้วย คือ จะต้องเป็นศัพท์ประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นกิริยาก็ต้องเป็นกิริยาประเภทเดียวกัน เป็นอาขยาตเหมือนกัน เป็นกิริยากิตก์เหมือนกัน ถ้าเป็นศัพท์คุณนามก็ต้องเป็นคุณนามเหมือนกัน ถ้าเป็น อนฺต มาน ปัจจัย ก็ต้องเป็นทุกศัพท์ ถ้าเป็น ตฺวา ปัจจัย ก็ต้อง ตฺวา ทั้งหมด ไม่ใช่ควบ ตฺวา ศัพท์หนึ่ง ควบ ต ศัพท์หนึ่ง หรือควบ ต ศัพท์หนึ่ง อนฺต มาน ศัพท์หนึ่ง ตังตัวอย่าง

โส ตสฺส สนฺติเกเยว ธมฺมํ สุตฺวา จ นิจฺจกํ
ปริยตฺตึ จ คณฺหนฺโต ธีโร อหุ พหุสฺสุโต ฯ

ศัพท์ที่ จ ควบ คือ ธมฺมํ สุตฺวา จ ปริยตฺตึ คณฺหนฺโต จ เช่นนี้ ชื่อว่าไม่ถูกต้องเพราะไม่เสมอกัน ถ้าจะใช้ก็ไม่ควรใช้ จ ควบ ก็พอจับใจความได้เช่นกัน

 

(๖) เรื่องการใช้ศัพท์

            สื่งที่เป็นอุปการะหรือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการแต่งฉันท์ คือศัพท์ นักศึกษาที่สามารถจำศัพท์ได้มาก และรู้จักใช้ศัพท์ มีโอกาสแต่งฉันท์ได้ดีกว่าผู้จำศัพท์ได้น้อย การแต่งฉันท์นั้น หากผู้แต่งจนศัพท์หรือไม่อาจนำศัพท์มาใช้ได้ในขณะแต่ง ก็เป็นการยากที่จะแต่งได้คล่องแคล่วว่องไว ทันเวลา นอกจากนั้นยังต้องรู้จักพลิกแพลงใช้ศัพท์เข้าคณะให้ได้เหมาะเจาะเหมาะสมอีกด้วย จึงนับว่าดี เรื่องการใช้ศัพท์นี้มีข้อพึงทราบดังนี้

            ๖.๑ ใช้ศัพท์ที่ปรุงเรียบร้อยแล้ว  คือ ศัพท์ทุกศัพท์ที่นำมาใช้จะต้องปรุงให้ถูกต้องตามหลักเสียก่อน ดุจศัพท์ทั้งหลายที่นำไปใช้ในวิชาแปลไทยเป็นมคธฉะนั้น ห้ามมิให้นำศัพท์โดด ๆ โดยไม่มีเครื่องปรุงหรือปรุงไม่ครบตามหลักมาใช้ เครื่องปรุงต่าง ๆ ตามหลักคือ ศัพท์นามต้องประกอบด้วย ลิงค์ วจนะ วิภัตติ ศัพท์กิริยาอาขยาตจะต้องแสดงวิภัตติ กาล บท วจนะ บุรุษ ธาตุ วาจก และปัจจัย ให้ปรากฏครบ เป็นต้น

            ๖.๒ ใช้ศัพท์ให้ถูกต้องตามหลักและตามเหตุการณ์  คือ นอกจากต้องปรุงศัพท์ให้ครบเครื่องแล้ว เวลานำมาใช้จะต้องคำนึงถึงไวยากรณ์ด้วย หากใช้ศัพท์ผิดหลักไวยากรณ์ฉันท์ตอนนั้นชื่อว่าแต่งผิดไวยากรณ์ ถือเป็นความผิดร้ายแรงพอ ๆ กับผิดคณะทีเดียว เท่าที่พบโดยมากนักเรียนมักทำผิดไวยากรณ์ในส่วนนี้กัน คือ

 

            ใช้ศัพท์ผิดกาล คือ เรื่องบางเรื่อง เช่น ประวัติพระเถระ หรือเหตุการณ์ที่ล่วงเลยมาแล้ว ควรใช้เป็นอดีตกาล แต่ไปใช้เป็นปัจจุบันกาล หรือเหตุการณ์ยังเป็นไปอยู่หรือเหตุการณ์ปกติ กลับใช้อดีตกาล เช่นนี้ถือว่าใช้ศัพท์ผิด เช่น ข้อความว่า

® อมฺหากํ  ปน  สมฺพุทฺโธ พุชฺฌิตฺวา  โพธิมุตฺตมํ
  ปญฺจวคฺคิยภิกฺขูนํ เทเสติ  ธมฺมมุตฺตมํ ฯ
® โส  ภูโป  ราชกิจฺจานิ สามตฺถิเยน  ปูรยํ
  จริตฺถ  สกรฏฺฐมฺหิ เคเมสุ  นิคเมสุ  จ    (นวมราชาภิถุติคาถา)
  ฯ เป ฯ  

 

            ใช้ศัพท์ไม่หักวิภัตติ คือ ปกติศัพท์ที่สัมพันธ์เข้ากับนามกิตก์ คือ ยุ ปัจจัยเป็นต้น หากมีสำนวนว่า "ซึ่ง" นิยมใช้ฉัฏฐีวิภัตติ แล้วแปลหักวิภัตติเป็นทุติยา แม้ในฉันท์ก็คงนิยมอย่างนั้น แต่ในข้อนี้ไม่เป็นข้อเคร่งครัดนัก หากจำเป็นจะไม่หักบ้างก็ได้ แต่ในความจำเป็นนั้นอาจจะไม่จำเป็นจริง ๆ ซึ่งพอพลิกแพลงได้ก็ได้ จึงต้องระวัง และพิถึพิถันเป็นพิเศษ เช่นตัวอย่าง

เอวํ  ส  ปพฺพชิตฺวาน สอุสฺสาโห  สวีริโย
สนฺติเก ตาปสานํ  ว สมยํ  อนุสิกฺขโก
ฯ เป ฯ  

            บาทคาถาที่ว่า สมยํ อนุสิกฺขโก ควรหักวิภัตติ และสามารถแต่งหักวิภัตติ เป็น สมยสฺสานุสิกฺขโก  ดังนี้ได้โดยไม่ยากนัก ความก็เท่าเดิม

 

            ใช้ศัพท์ผิดสมาสหรือสนธิ คือ ศัพท์สมาสหรือสนธิที่ใช้ผิดไวยากรณ์ ส่วนมากในเรื่องสมาส คือ แปลง น ศัพท์ เป็น อน เมื่อเข้ากับกิริยาอาขยาต เช่น อนาคจฺฉิ อนาโหสิ  นำศัพท์นามไปสมาสกับกิริยาอาขยาต เช่น ธมฺมสุณาติ กมฺมกโรติ หรือนำศัพท์นามไปสมาสกับ ตุํ อนฺต มาน ปัจจัย เช่น ธมฺมโสตุํ คามคนฺตุํ กมฺมกโรนฺโต อตฺถากงฺขมาโน เช่นนี้นับเป็นการใช้ศัพท์ผิดสมาสทั้งหมด

            ในเรื่องของสนธิ  ส่วนมากเมื่อแปลง  ํ  (นิคคหิต) เป็น ม แล้ว ยังไปทีฆะศัพท์หลังอีก เช่น กาลํ+อกาสิ เป็น กาลมากาสิ เอวํ+อโหสิ เป็น เอวมาโหสิ เช่นนี้ผิด ต้องเป็น กาลมกาสิ เอวมโหสิ โดยนิยมนั้น เมื่อแปลงนิคคหิตเป็น ม เป็น ท แล้ว ไม่ต้องทีฆะสระหลังอีก เช่น

เอตํ+อโหสิ เป็น เอตทโหสิ
เอตํ+อโวจ เป็น เอตทโวจ
อิทํ+อโวจ เป็น อิทมโวจ
ตํ+อนุสฺสรนฺโต เป็น ตมนุสฺสรนฺโต

 

            ๖.๓ ใช้ศัพท์ให้ตรงกับเรื่องที่แต่ง คือ ศัพท์ทั้งหลายที่นำมาใช้ในการแต่งฉันท์นั้นนอกจากจะต้องให้ถูกเกณฑ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความหมาย และขอบเขตการใช้อีกด้วย ศัพท์ส่วนมากมีความหมายกว้างแคบต่างกัน ใข้ในประโยคต่างกัน จะคำนึงเพียงภาษาไทย ความไทยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงว่า สำนวนไทยว่าอย่างนี้ตรงกับคำบาลีหรือสำนวนบาลีอย่างไร ไม่ใช่แต่งเป็นบาลีไทย กฎเกกณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ก็เช่นเดียวกับวิชาแปลไทยเป็นมคธนั่นเอง

            อนึ่ง ศัพท์ที่ใช้นั้นต้องตรงกับเรื่องที่กำลังแต่งด้วย เช่น แต่งประวัติพระเถระก็นำศัพท์ต่าง ๆ ที่เป็นคุณสมบัติหรือเป็นกิริยาอาการของพระระดับนั้น ๆ มาใช้ แต่งพรรณนาคุณหรือสดุดีบุคคล ก็ใช้ศัพท์ให้พอเหมาะพอดี ไม่ให้เกินความจริง ให้ระลึกไว้เสมอว่า ศัพท์ที่ใช้นั้นอาจทำให้เสียรสเสียเรื่องได้หากไม่เลือกใช้ให้เหมาะสม ฉะนั้นจึงมีหลักในการใช้ศัพท์ว่า "อย่างใช้ศัพท์แสดงความเด่นจนเกินจริง หรือฉุดคุณค่าให้ต่ำลง"

ยกตัวอย่างเช่น

® ราชา  หิ  ขตฺติยวโร  ว  อโสกนาโม
  เสฏฺโฐ  วโร  สุหทโย  ทสธมฺมปุณฺโณ
  อคฺโค  สโต  จ  ปฏิสมฺภิทญาณยุตฺโต
  โส  เสนิโย  อริชิโน  จหุ  สูรโยโธ ฯ

            ฉันท์นี้นอกจากใช้ศัพท์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่น วโร เสฏฺโฐ อคฺโค แล้วยังมีศัพท์ที่เกินความจริง คือ ปฏิสมฺภิทญาณยุตฺโต ศัพท์นี้เป็นคุณบทของพระอรหันต์เท่านั้น

® พุทฺโธ  หิ  โลเก  สุวิสุทฺธจิตฺโต
  สีลาทิยุตฺโต  วรปุญฺญภูโต
  เมตฺตาทิชีวี  จ  อโนมปญฺโญ
  สลฺเลขวุตฺตี  สุวโจ  จ โหติ ฯ

            ศัพท์ที่ใช้ในคาถานี้ส่วนมากแม้จะมีจริงเป็นจริงในพระพุทธเจ้า แต่ใจความค่อนข้างเบามาก คุณเหล่านี้แม้พระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป หรือแม้พระสาวกที่มิได้เป็นอริยบุคคลก็อาจมีได้ทำให้มองเห็นว่า พระพุทธเจ้านั้น ก็มิได้เหนือกว่าพระสงฆ์สาวกทั่วไปเท่าใดเลย การใช้ศัพท์เช่นนี้แหละเรียกว่า "ดึงคุณค่าให้ต่ำลง" จึงไม่ควรนำมาใช้ เพราะเป็นศัพท์ดาด ๆ พื้น ๆ พึงกำหนดไว้ว่าแต่งเรื่องของท่านผู้ใดควรนำคุณบทของท่านเหล่านั้น ที่ท่านใช้ในปกรณ์ทั้งหลายมาใช้ เช่นเกี่ยวกับเอตทัคคะของท่าน ความพิเศษของท่านที่รู้กันทั่วไป เป็นต้น เลือกใช้ศัพท์เหมาะสมเช่นนี้ และไม่มีศัพท์ที่ทำให้คุณค่าด้อยลงมาปะปนด้วย ฉันท์นั้นจึงนับว่าดี

 

            ๖.๔ ไม่ใช้ศัพท์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ คือ ศัพท์ที่นำมาใช้นั้น พยายามเลือกศัพท์ใช้แต่ศัพท์ที่อมความหรือกินความลึก มีความเด่นชัด คุมความได้หมดหรือพอสมควร หลีกเลี่ยงใช้ศัพท์ที่ซ้ำกันบ่อย ๆ หรือมีความหมายในทำนองเดียวกัน เช่นตัวอย่างในข้อ ๖.๓ ศ้พท์ที่ซ้ำกันคือ วโร เสฏฺโฐ อคฺโค ใช้เพียงศ้พท์เดียวน่าจะพอ พึงดูตัวอย่างอื่นอีก

® โย  พุทฺธสฺส  มหาเถโร สารีปุตฺโตติ  วิสฺสุโต
  โส  วงฺคนฺตสฺส  ปุตฺโต  จ สาริยา  นาม  โอรโส
  ฯ เป ฯ  
® ตโต  ว  ปจฺฉา  วรธมฺมราชา
  วิเนยฺยสตฺเต  วินิโมจยนฺโต
  วิโยคธมฺเมสุ  สุฐาปยนฺโย
  วเรสุ  ธมฺเมสฺ  สุฐาปยิตฺถ
® เอโส  หิ  เถโร  วรปุญฺญภูโต
  ปญฺญาธิโก  อตฺถสุปาฏิภาโณ
  สาตฺถาธิปาเย  ปิฏเก  วิยตฺโต
  โกสลฺลิโก  ธีรวโร  อโหสิ ฯ

            ในคาถาที่ ๑ ปุตฺโต ซ้ำกับ โอรโส  ซึ่งแม้จะแปลเป็นวิเสสนะกันได้ แต่เมื่อมี จ ควบ แสดงว่าให้แปลเหมือนกัน เป็นการใช้ศัพท์ซ้ำ ทำให้คุณค่าของฉันท์ด้อยลง

            ในคาถาที่ ๒ สองบาทสุดท้ายมีเนื้อความอย่างเดียวกัน จึงได้ใจความเพียงบาทคาถาเดียว

            ในคาถาที่ ๓ ศัพท์ซ้ำกันแทบทั้งหมด คาถานี้ได้ใจความเพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ มีบุญมาก กับมีปัญญามาก คาถานี้แต่งอวดศัพท์มากกว่าเอาความ ในการแต่งเพื่อเอาความไม่พึงแต่งในทำนองนี้ พึงเลือกใช้ศัพท์เพียงศัพท์เดียว หรือสองศัพท์เป็นอย่างมากมาใช้แล้วแต่งความอื่นต่อเป็นการประหยัตพื้นที่

            การใช้ถ้อยคำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่นนี้ถือว่าเข้าทำนอง "น้ำท่วมทุ่ง" ได้เหมือนกัน เช่น คำกลอนไทยที่ว่า

"ทุกยามเย็นสนธยาเวลาค่ำ
อกระกำช้ำทรวงใจง่วงหงอย
เฝ้าแลจ้องมองหาตั้งตาคอย
ไม่พบน้อยนงรามโฉมงามเลย"

ความที่ได้ก็เพียงว่า "เฝ้ามองนางทุกเย็นไม่เห็นเลย" เท่านั้นเอง

 

            ๖.๕ ใช้ศัพท์ไม่มีกิริยาคุมพากย์  ในวิชาแปลไทยเป็นมคธ ทุก ๆ ประโยคจะต้องมีประธานและกิริยาคุมพากย์ ฉันใด ในวิชาแต่งฉันท์มคธก็ต้องมีประธาน และกิริยาคุมพากย์ฉันนั้น ประโยคทุกประโยคจะต้องมีประธาน และกิริยาคุมพากย์ชัดเจน แม้จะขาดประธานไปบ้าง เพราะความในประโยคบ่งถึงแล้วว่าประธานเป็นใคร ก็ไม่สู้จะผิดมากนัก นอกจากไม่มีสัญลักษณ์อะไรบอกเลย จึงนับเป็นผิด ส่วนกิริยาคุมพากย์มักถือเป็นสำคัญ หากไม่มี หรือไม่บ่งว่ามี ถือว่าผิดใจความทีเดียว เช่น

® โส  พุทฺธสาสเน  สทฺโธ สงฺเฆสุ  ติพฺพคารโว
  มหาชนสฺส  อตฺถาย รฏฺฐสฺส  สาสนสฺส  จ
  อกา  พหุกรณฺยานิ ฉนฺทปุณฺเณน  เจตสา
  เอโส  หิ  อคเณตฺวา  กายจิตฺตสฺส  เขทกํ
  ตสฺมา  ปิยมหาราชา อิจฺจสฺสากํสุ  นามกํ ฯ
® ปพฺพชิตฺวาน  สิทฺธตฺโถ วตํ  กตฺวาน  ทุกฺกรํ
  ฯ เป ฯ  
  ญตฺวาน  มรณนฺเตสํ อาฬารตาปสาทินํ
  อิสี  ปุราณุปฏฺฐาเก วิเนตฺวา  ปญฺจวคฺคิเย ฯ

            ในประโยคแรก  อคเณตฺวา  ต้องเป็นกิริยาคุมพากย์ เพราะประโยคขาดเพียงเท่านั้น ประโยคหลัง วิเนตฺวา ต้องคุมพากย์เหมือนกัน เพราะผู้แต่งได้จบตอนของฉันท์ไว้เพียงเท่านี้และมีเครื่องหมาย ฯ คั่นไว้ด้วย แสดงว่าสุดประโยคแล้ว  กรณีเช่นนี้ถือว่าประโยคนั้นขาดกิริยาคุมพากย์ แม้ ตฺวา ปัจจัย สามารถคุกพากย์ได้ แต่ก็ไม่เข้าลักษณะการใช้กิริยาปธานนัย จึงถือว่าประโยคไม่สมบูรณ์

 

            ๖.๖ ใช้ศัพท์ไม่เป็นบาลีไทย คือตามปกติแล้ว การใช้ศัพท์ประกอบเป็นประโยคภาษาบาลีนั้น จะต้องให้ถูกหลักความนิยมทางสำนวนภาษาบาลี มิใช่ใช้สำนวนไทย ต้องนึกอยู่เสมอว่าสำนวนไทยว่าอย่างนี้ ตรงกับสำนวนบาลีว่าอย่างนี้ หากแต่งภาษาบาลีไปตามสำนวนไทย อย่างนี้เรียกว่าเป็นบาลีไทย ย่อมไม่ถูกความหมายและสำนวนบาลี แม้ในฉันท์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องเดินตามกฎเกณฑ์ความนิยมของภาษาบาลีด้วย

  ตัวอย่างการใช้ศัพท์เป็นบาลีไทย
(๑) เอเต  มิลกฺเข  อปลาปยิตฺวา
  ตตฺเถว  เสฏฺฐํ  วสนํ  กรึสุ
             ฯเปฯ
(๒) อยํ อสฺสชิเถรสฺมา ธมฺมํ สุตฺวา อนุตฺตรํ
  โสตาปตฺติผลํ  ปตฺโต รมฺมํ  เวฬุวนํ  คโต
  ฯเปฯ  
  อายูหปริโยสาเน คนฺตฺวา ภุํ  สกมาตุยา
  ขีณเสฺนโห  ปทีโปว ชาตคพฺเภ  สุนิพฺพุโต ฯ
(๓) โส  โพธิสตฺโต  วรปุญฺญวนฺโต
  กตฺวา  นิสินฺโน  สุสมาธิจิตฺตํ
  ตตฺเถว  ปตฺโต  ปฐมํว  ฌานํ
            ฯเปฯ

            ตัวอย่างที่ (๑) เสฏฺฐํ  วสนํ  กรึสุ  แปลว่า ทำการอยู่อย่างดี เป็นสำนวนแบบไทยเพราะกิริยานาม (นามที่เกี่ยวกับกิริยาอาการ) ไม่นิยมเข้ากับกิริยาว่า "ทำ" อีกแล้ว แต่ใช้ตัวมันเองเป็นกิริยาได้เลย เช่น

วสนํ  กรึสุ เป็น วสึสุ ได้เลย
จินฺตนํ  อกาสิ เป็น จินฺเตสิ ได้เลย
คมนํ  อกาสิ เป็น อคมาสิ ได้เลย

            ตัวอย่างที่ (๒) อสฺสชิเถรสฺมา  ธมฺมํ  สุตฺวา  ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ เป็นสำนวนไทย สำนวนบาลีเป็น "ฟังธรรมของ" หากเป็น "แต่" ต้องเป็น "ฟังธรรมแต่(หรือจาก) สำนักของ..." ดังนี้

            ตัวอย่างที่ (๓) กตฺวา  นิสินฺโน  สุสมาธิจิตฺตํ  แปลว่า นั่งทำสมาธิจิต เป็นสำนวนแบบไทย สำนวนบาลีเป็น จิตฺตสมาธึ ภาเวตฺวา (กตฺวา) นิสินฺโน เป็นต้น

            ตัวอย่างอื่นยังมีอีกมาก ขอให้นักศึกษาวิชานี้ได้ใช้วิจารณญาณเองว่า สำนวนภาษาที่ตนแต่งไว้นั้นเป็นแบบไทย ๆ บ้างหรือไม่ เคยพบสำนวนเช่นนี้ในปกรณ์ไหนบ้างหรือไม่ และท่านใช้สำนวนนี้ในลักษณะใด พิจารณาเทียบเคียงให้ถ่องแท้ ก็จะพ้นจากการใช้ศัพท์เป็นบาลีไทยได้

 

            ๖.๗ วางศัพท์ไม่ถูกที่  ในการแต่งฉันท์นั้น แม้อนุญาตให้วางศัพท์ได้ตามถนัดจะสับหน้าสับหลังกัน เช่น วางประธานไว้หลังกิริยา วางกรรมไว้หลังกิริยา เป็นต้น เพียงประกอบรูปศัพท์ให้ถูกต้องตามหลักก็เพียงพอได้ก็จริงอยู่ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะวางศัพท์ไว้ส่วนใด ตอนใดของคาถานั้น ๆ ได้ทุกที่ การวางศัพท์ก็มีกำหนดกฎเกณฑ์อยู่ว่าต้องวางให้ถูกที่ถูกทาง การวางศัพท์นี้มีกฎเกณฑ์พอเป็นหลักยึดดังนี้

            - ในพระโยคที่มีกิริยาเพียงศัพท์เดียว คือเป็นประโยคสั้น ๆ ไม่มีกิริยาในระหว่างอยู่ด้วยเช่นนี้ จะวางศัพท์ เช่น ประธาน กรรม หรืออปาทาน เป็นต้น ไว้หน้าหรือหลังกิริยาก็ย่อมทำได้ ดังตัวอย่าง

โย  ปนีธ  มหาเถโร มหากสฺสปนามโก
อิทานาหํ  ปวกฺขามิ ปวตฺตึส  สรูปโต ฯ

 

            - ในประโยคเช่นนั้น หากมีกิริยาวิเศษอยู่ด้วยนิยมวางไว้หน้ากิริยาที่ตนขยาย ไม่นิยมวางไว้ตามสะดวกเหมือนศัพท์อื่น ๆ เช่น

ตทา  หิ  สนฺติเปกฺขาปิ ทยฺยรฏฺฐนิวาสิโน
สงฺคามพาหิรา  หุตฺวา สุขํ  สยึสุ  สพฺพโส ฯ

 

            - ในประโยคยาวมีเนื้อความยาว มีกิริยาในระหว่างอยู่ด้วย ศัพท์ใดสัมพันธ์เข้ากับกิริยาตัวใด จะต้องวางศัพท์นั้นไว้หน้ากิริยาตัวนั้น ไม่นิยมวางไว้หลังกิริยาตัวที่ตนขยาย หรือสัมพันธ์เข้าด้วย เพราะวางไว้หลังอาจมีความหมายส่อว่าไปสัมพันธ์เข้ากับกิริยาตัวถัดไปก็ได้ ประโยคเช่นนี้นิยมวางศัพท์ไปตามลำดับ เหมือนวิชาแปลไทยเป็นมคธ แต่ถ้ามีหลายศัพท์ที่เข้ากับกิริยาตัวนั้น จะวางสับหน้าสับหลังกันเข้างหน้ากิริยานั้นก็ได้ เช่น

โส  ธีโร  ปพฺพชิตฺวาน สญฺชยสฺเสว  สนฺติเก
สมยํ  ปริคณฺหิตฺวา ปญฺญาปารมิยาตฺตโน
ตสฺสาปิ  ปารคู  หุตฺวา นิสฺสารภาวมทฺทส  ฯ

 

            - ในประโยคยาวเช่นนั้น แม้วางศัพท์ไว้หลังกิริยาที่ตนสัมพันธ์เข้าด้วย ก็บ่งว่าจะต้องเข้ากับกิริยาหน้าตนแน่นอน ไม่บ่งว่าเข้ากับกิริยาตัวหลังแต่ประการใด เช่นนี้ก็สามารถวางศัพท์ในลักษณะนั้นได้ เช่น

ตตฺถ  ปตฺตาภิเสโก  ว วํสสฺส  อาทิขตฺติโย
นทิยา  ปรตีรสฺมึ วิตฺถารปริมณฺฑลํ
เขมภูมึ  วิจาเรตฺวา มาเปตฺวาน  ปุรํ  นวํ
เทวมหานครนฺติ นามํ  ทตฺวาสฺส  มงฺคลํ
ฯเปฯ  

 

            - ในประโยคยาวเช่นนั้น หากวางศัพท์ไว้หลักกิริยาที่ตนเข้าด้วยแล้ว ถือว่าอาจเข้ากับกิริยาตัวหลังได้ หรือวางศัพท์ไว้ห่างกิริยาที่ตนสัมพันธ์เข้ามากไป โดยข้ามกิริยาตัวอื่นไปด้วย เช่นนี้ชื่อว่า วางศัพท์ไม่ถูกที่ ตัวอย่างเช่น

® โส  เอกทิวสํเยว จกฺขุวาทินฺทฺริยวํสุตํ
  ทิสฺวาน  อสฺสชิตฺเถรํ อนุคนฺตฺวา  อนุตฺตรํ
  สุตฺวา  ธมฺมํ  อุปาเยน เทสิตํ  อวิชานิ  โข
® อนุตฺตรํ  ว  สมฺโพธึ สมฺพุชฺฌิย ตถาคโต
  ธมฺมํ  ตตฺถ  จริตฺวาน มหาชนานมีริตุํ
  ฯเปฯ  

 

            อนึ่ง  ในกรณีที่แต่งเนื้อความในบาทต้นแล้ว ยังมีศัพท์เหลืออยู่ศัพท์หนึ่ง โดยเฉพาะเป็นกิริยาคุมพากย์ จึงวางไว้ในบาทต่อไป แล้วก็ขึ้นประโยคใหม่ต่อไป ในกรณีอย่างนี้ไม่เป็นที่นิยม นิยมแต่งให้อยู่ในบาทของตัวเอง หากขึ้นบาทใหม่ ก็ต้องแต่งจนเต็มบาท โดยหาข้อความมาใส่ให้เต็มยืดเนื้อความออกไปดีกว่าวางศัพท์ห้อยไว้ศัพท์เดียว เช่น

® จตุทฺทสานิ  วสฺสานิ วสิตฺวาน  ตหึ  ตหึ
  เวสฺสคีรีวิหารมฺหิ  ติสฺสตฺเถรสฺส  โข  ลภิ
  อุปการํ, ตโต  เอโส เสนาย  สห  อาคโต
  ฯเปฯ  
® ตโต  จ พุทฺโธ  ปฐมมฺปิ  เทสนํ
  ปกาสิ,  โกณฺฑญฺญยตีนมุตฺตมํ
  สุณํ  ว  ขิปฺปํ  วรธมฺมจกฺขุกํ
  ลภิตฺถ,  อญฺเญปิ  ตถา  ลภึสุ  โข ฯ

            ศัพท์ว่า  อุปการํ  ก็ดี  ปกาสิ  ก็ดี  ลิภิตฺถ  ก็ดี เป็นศัพท์ที่ล้นบาทมาห้องอยู่บาทหลัง ไม่เป็นที่นิยม เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเปลี่ยนไม่ได้ก็สามารถขยายความแต่งให้เต็มบาทเลยก็ได้ ห้อยไว้อย่างนั้น แสดงถึงความไม่มีความสามารถในกระบวนลีลาเปรียบได้กับคนติดอ่าง ซึ่งพูดติดต่อโดยตลอดไม่ได้ ต้องขยักไปต่อกับคำต่อไปเรื่อย ๆ

 

            ๖.๘ ใช้ศัพท์ผิดลำดับเนื้อหา  คือวางศัพท์บางศัพท์ที่เป็นศัพท์เนื้อหา  และเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดธรรมะ หมวดชื่อคน เป็นต้น ซึ่งท่านเรียงลำดับก่อนหลังกันไว้ดีแล้ว ดังต้วอย่าง

หมวดธรรมะ - เมตฺตา  กรุณา  มุทิตา  อุเปกฺขา
  - สีล  สมาธิ  ปญฺญา
  - ทาน  สีล  ภาวนา
หมวดชื่อคน - โกณฺฑญฺญ  วปฺป  ภทฺทิย  มหานาม  อสฺสชิ
หมวดชื่อคุณ - ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
หมวดวัตถุ - พุทฺธ  ธมฺม  สงฺฆ

            ศัพท์เหล่านี้ เมื่อนำไปใช้ในประโยค จะต้องเรียงลำดับก่อนหลังตามที่ท่านเรียงไว้และเป็นที่รู้กันหมายกันทั่วไป เพราะมีเหตุผลเหมาะสม หรือเพราะมีกำเนิดก่อนหลังกัน ไม่นิยมเรียงให้ผิดลำดับจากนั้น เช่น เรียงว่า  ธมฺม  สงฺฆ  พุทฺธ   หรือ  ภาวนา  สีล  ทาน  เป็นต้น ซึ่งดูไม่เหมาะสม และไม่ถูกต้อง ในข้อนี้ต้องคำนึงถึงความนิยม และเนื้อหาเป็นเกณฑ์จะมุ่งเพียงเข้าคณะฉันท์ได้เป็นพื้นหาได้ไม่

            อนึ่ง  แม้เมื่อจะใช้เพียงศัพท์เดียว แล้วย่อด้วยอาทิศัพท์ ก็นิยมนำศัพท์หน้าเท่านั้นมาสมาสกับอาทิ  เป็นอันหมายรู้กันได้ทันทีว่า อาทินั้นหมายถึงอะไรบ้าง มิใช่นำศัพท์กลางหรือท้ายหมาดมาสมาสกับอาทิ เป็น สงฺฆาทิรตนํ,  มุทิตาทิยุตฺโต,  มหานามาทโย  ปญฺจวคฺคิยา เป็นต้น ซึ่งทำให้เข้าใจ หรือสงสัยต่อไปว่า

  • - สงฺฆาทิรตนํ  พระรัตนะมีพระสงฆ์เป็นต้น แล้วมีอะไรเป็นปลาย หรือต่อท้าย
  • - มุทิตาทิยุตฺโต  ประกอบด้วยธรรมมีมุทิตาเป็นต้น แล้วมีอะไรเป็นปลายอีก หรือมุทิตาเป็นข้อต้นของธรรมหมวดไหน

           เพราะฉะนั้น  เมื่อศัพท์นั้นเป็นต้น ก็ต้องเป็นต้น และอยู่ต้นของศัพท์อื่นจริง ๆ แม้ถ้ามิใช่ศัพท์ที่เป็นหมวดเป็นหมู่ หรือถูกกำหนดไว้ตายตัวเช่นนี้ จะใช้ศัพท์ไหนวางไว้ก่อนหลังก็ได้ ไม่ผิดความนิยม

ต้วอย่างการใช้ศัพท์ไปตามลำดับเนื้อหา

® รูปา  สทฺทา  รสา  คนฺธา โผฏฺฐพฺพา  จ  มโนรมา
  ปญฺจ  กามคุณา  เอเต โลกามิสนฺติ   วุจฺจเร ฯ
® ปชาย  เมตฺตา  กรุณา  จ  เสฏฺฐา
  ปโมทิตานํ  มุทิตา  จุเปกฺขา
  อิเมธ  โลเก  จตุโร  ว  ธมฺมา
  ปวุจฺจเร  พฺรหฺมวิหารธมฺมา ฯ

 

ต้วอย่างการใช้ศัพท์ผิดลำดับเนื้อหา

® โย  หิ  อนุตฺตโร  พุทฺโธ ภควา  อรหํ  ชิโน
  ตสฺส  โลเกกจกฺขุสฺส นมตฺถุ  เม  สคารโว ฯ
® ยํ  หิ  เทสิตปญฺญตฺตํ สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ
  ตํ  เสฏฺฐํ  วินโย  เจว ธมฺโม  จ   อิติ  ทุพฺพิธํ ฯ
® ยถา  ชินสฺเสว  อุปาสกาทิกา
  จิรํ  จตสฺโส  ปริสา  วิโรจเร
  ตถา  กเรยฺยุํ  อิธ  พุทฺธมามกา
  ตโต  จิรํ  ติฏฺฐติ  พุทฺธสาสนํ ฯ

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search