สาคตะ(พระสาคตเถระ)

  • Creation Date: 05 กรกฎาคม 2562
  • Hits: 3238
  • Author: เอกพจน์
สาคตะ(พระสาคตเถระ)

ประวัติ

ประวัติพระสาคตเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ

     การที่ท่านพระสาคตเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการเป็นผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

พระเถระแม้นี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆสั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งหนึ่ง ในกรุงหงสวดี ปรากฏนามว่า โสภิตะ ครั้นเมื่อเติบใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ศึกษาและสำเร็จในศิลปะทั้งปวง ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ เรียนไวยากรณ์แห่งสนิฆัณฑุศาสตร์ และเกฏุภศาสตร์ พร้อมด้วยประเภทแห่งอักขระมีอิติหาสศาสตร์ เป็นผู้ชำนาญในโลกายตศาสตร์และมหาปุริสลักษณศาสตร์ วันหนึ่ง ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระผู้งดงามด้วยสิริแห่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เสด็จไปยังประตูพระอุทยานมีใจเลื่อมใสยิ่ง ได้กระทำการสรรเสริญคุณพระบรมศาสดาเป็นอเนกประการ ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้นจึงทรงประทานพยากรณ์ว่า ในอนาคตเธอจักเป็นสาวกนามว่า สาคตะในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าโคดม

ต่อมา โสภิตมาณพได้ไปยังพระวิหาร ในขณะกำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ใน ตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ จึงทำกุศลกรรมอย่างใหญ่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระสาวก แล้วอธิษฐานปรารถนาที่จะตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต แต่นั้นท่านก็สั่งสมบุญทั้งหลาย ดำรงอยู่ตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติตลอดแสนกัป เสวยมนุษย์สมบัติในมนุษย์ทั้งหลาย

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาจึงตั้งชื่อท่านว่า สาคตมาณพ ต่อมา สาคตมาณพนั้น ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้ศรัทธา จึงบวชทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว บรรลุความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัตินั้น แต่ยังไม่บรรลุพระอรหัต

 

สาคตภิกษุแสดงฤทธิ์ปราบพญานาค

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกในเจติยชนบท ได้ทรงดำเนินไปทางตำบลภัททวติกะ (บ้านรั้วงาม) ที่ใกล้ กรุงโกสัมพี ณ ที่ตำบลนั้น ในอดีตได้เกิดเหตุขึ้น ด้วยมีพวกชนในตำบลนั้นมากด้วยกันเป็นศัตรูของนายเรือเก่าที่ท่าน้ำ ตีนายเรือนั้นตาย นายเรือนั้นตั้งความปรารถนาด้วยจิตที่ขุ่นแค้น บังเกิดเป็นนาคราชมีอานุภาพมาก อยู่ที่ที่ท่าเรือนั้นนั่นแหละ และด้วยความแค้นเคืองชาวบ้านในตำบลนั้น พญานาคนั้นจึงบันดาลให้ฝนตกในเวลาที่มิใช่หน้าฝน ไม่ให้ฝนตกในเวลาหน้าฝน ข้าวกล้า ก็ไม่สมบูรณ์ พวกชาวตำบลนั้นต้องทำการเซ่นสังเวยทุกปี สร้างศาลหลังหนึ่งให้นาคราชนั้นอยู่ เพื่อให้นาคราชนั้นสงบ

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกในเจติยชนบท ได้ทรงดำเนินไปทางตำบลภัททวติกะ (บ้านรั้วงาม) ทรงมีพระประสงค์จะประทับอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนชาวนา คนเดินทาง ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังทรงดำเนินมาแต่ไกล ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระองค์อย่าได้เสด็จไปยังท่าอัมพะ (ท่ามะม่วง) เลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะที่ท่ามะม่วงมีนาคชื่ออัมพติฏฐกะอาศัยอยู่ในอาศรมชฏิล เป็นสัตว์มีฤทธิ์เป็นอสรพิษร้าย มันจะได้ไม่ทำร้ายพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีประภาคเจ้า ทำเป็นเหมือนไม่ทรงได้ยินถ้อยคำของคนเหล่านั้นถึงเมื่อพวกนั้น กราบทูลห้ามอยู่ถึง ๓ ครั้ง ก็คงเสด็จไปจนได้ ครั้งนั้นพระสาคตเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระเถระนี้ทราบว่า มีนาคราชดุอยู่ที่นั้น จึงคิดว่า ควรจะทรมานนาคราชนี้ให้หายพยศแล้วจัดแจงที่ประทับอยู่สำหรับพระศาสดา ดังนี้แล้ว ได้เข้าไปยังโรงบูชาไฟ ปูเครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้า นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า นาคนั้นพอแลเห็นท่านพระสาคตะเข้ามาดังนั้น เห็นเป็นการลบหลู่อำนาจของตนจึงเกิดความดุร้ายขุ่นเคือง โกรธว่า สมณะโล้นนี้ชื่อไร จึงบังอาจเข้าไปนั่งยังที่อยู่ของเรา แล้วบันดาลควันขึ้นในทันใด ท่านพระสาคตะก็บันดาลควันขึ้นข่ม มันทนความลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟสู้ในทันที แม้ท่านพระสาคตะก็เข้าเตโชธาตุกสิณสมาบัติ บันดาลไฟต้านทานไว้ ครั้นท่านครอบงำไฟของนาคนั้นด้วยเตโชกสิณแล้ว นาคคิดว่าภิกษุรูปนี้ใหญ่จริงหนอ จึงหมอบกราบลงแทบเท้าพระเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพระเจ้า ขอถึงท่านเป็นสรณะ พระเถระบอกว่า กิจด้วยสรณะสำหรับเราไม่มีดอก ท่านจงถึงพระทศพลเป็นสรณะเถิด นาคนั้นรับคำว่า ดีละ แล้วเป็นผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่นั้น นาคก็ไม่เบียดเบียนใคร ๆ ทำฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สมบูรณ์พูนผล เรื่องราวที่พระสาคตเถระทรมานนาค แผ่ไปทั่วชนบท

 

สาคตภิกษุดื่มเหล้าเมาจนหมดสติ

ส่วนพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลบ้านรั้วงาม ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จหลีกไปสู่จาริกทางพระนครโกสัมพี พวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพีได้ทราบข่าวว่า พระคุณเจ้าสาคตะได้ทรมานอัมพติตถนาคผู้อยู่ ณ ตำบลท่ามะม่วงได้แล้ว ต่างคอยการเสด็จมาของพระศาสดา จัดแจงสักการะเป็นอันมากสำหรับถวายพระทศพล พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับถึงพระนครโกสัมพี จึงพวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพีพากันรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระสาคตะ กราบไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วถามท่านว่า ท่านขอรับอะไรเป็นของหายากและเป็นของชอบของพระคุณเจ้า พวกกระผมจะจัดของอะไรถวายดี?

เมื่อเขาถามอย่างนั้นแล้ว พระเถระก็นิ่งเสีย แต่พระฉัพพัคคีย์ (พวกภิกษุเหลวไหลทั้ง ๖ที่ชอบก่อเรื่องเสียหายทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ) ได้กล่าวตอบคำนี้กะพวกอุบาสกว่า มี ท่านทั้งหลาย สุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบ พวกบรรพชิตหาได้ยากนัก และก็เป็นของชอบใจด้วย ถ้าพวกท่านเลื่อมใสพระเถระละก็จัดสุราสีแดงดังสีเท้านกพิราบมาถวายเถิด

ครั้งนั้น พวกอุบาสกชาวพระนครโกสัมพี ได้จัดเตรียมสุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบไว้ทุกๆ ครัวเรือน พอเห็นท่านพระสาคตะเดินมาบิณฑบาต ก็พากันถวายน้ำนั้น บ้านละหน่อยๆ พระเถระถูกผู้คนทั้งหลายคะยั้นคะยอ เพราะยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ก็ดื่มทุกเรือนหลังละหน่อยๆ เดินไปไม่ไกลนักก็สิ้นสติล้มลงที่กองขยะ เพราะไม่มีอาหารรองท้อง

 

พระศาสดาทรงบัญญัติสิกขาบท

พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากเมืองพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสาคตะล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงช่วยกันหามสาคตะไป

ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว หามท่านพระสาคตะไปสู่อารามให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาค แต่ท่านพระสาคตะกลับนอนเหยียดเท้าไปเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตมิใช่หรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เออก็บัดนี้ สาคตะมีความเคารพ มีความยำเกรงในตถาคตอยู่หรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาคตะได้ต่อสู้กับนาคอยู่ที่ตำบลท่ามะม่วงมิใช่หรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใช่ พระพุทธเจ้าข้า

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใช่ พระพุทธเจ้าข้า

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้าภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้าภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้าภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วถึงวิสัญญีภาพนั้นควรดื่มหรือไม่?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ควรดื่ม พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของสาคตะไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนสาคตะจึงได้ดื่มน้ำที่ทำผู้ดื่มให้เมาเล่า? การกระทำของสาคตะนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง อย่างนี้ ว่าดังนี้:

พระบัญญัติ 

๑๐๐ ๑ เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย

 

พระเถระบรรลุพระอรหัต

วันรุ่งขึ้น ท่านได้สติ ฟังเขาเล่าถึงเหตุที่ตนได้กระทำลงไปแล้ว ก็แสดงโทษที่ล่วงเกิน ขอให้พระทศพลงดโทษแล้ว เกิดความสลดใจ เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต

 

พระพุทธองค์แสดงชาดกเรื่องภิกษุดื่มสุราในอดีต

ภิกษุทั้งหลายประชุมในธรรมสภา พูดถึงโทษของการดื่มสุราว่า ผู้มีอายุทั้งหลายขึ้นชื่อว่า การดื่มสุรามีโทษใหญ่หลวงถึงกับกระทำให้พระสาคตะผู้ได้นามว่า สมบูรณ์ด้วยปัญญา มีฤทธิ์ กลับไม่รู้แม้แต่คุณของพระศาสดา จึงได้กระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกบรรพชิตดื่มสุราแล้ว พากันสลบไสล มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน ดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ในแคว้นกาสี เจริญวัยแล้วบวชเป็นฤๅษี ได้อภิญญาและสมาบัติ พำนักอยู่ในหิมวันตประเทศ แวดล้อมด้วยอันเตวาสิกประมาณ ๕๐๐

ครั้นถึงฤดูฝน พวกอันเตวาสิกพากันเรียกท่านว่า ท่านอาจารย์ขอรับ พวกเราพากันไปแดนมนุษย์ บริโภคของเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ แล้วค่อยมากันเถิด ฤๅษีพระโพธิสัตว์กล่าวว่า อาวุโส เราจะคอยอยู่ในที่นี้แหละ พวกเธอพากันไปบำรุงร่างกาย จนฤดูฝนผ่านไป แล้วจึงพากันกลับมาเถิด

อันเตวาสิกเหล่านั้นรับคำว่า ดีแล้วขอรับ พากันกราบลาอาจารย์ไปสู่พระนครพาราณสี พักอยู่ในพระราชอุทยาน ครั้นวันรุ่งขึ้นก็พากันไป เที่ยวภิกษาจารในบ้านภายนอกประตูพระนคร ได้รับความเกื้อกูลอย่างดี รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงพากันเข้าไปสู่พระนคร พวกมนุษย์พากันชื่นชมถวายภิกษา ล่วงมา ๒-๓ วัน ก็พากันกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ฤๅษี ๕๐๐ รูป พากันมาจากป่าหิมพานต์ พักอยู่ในพระราชอุทยาน มีตบะกล้า มีศีล พระราชาทรงสดับคุณของฤๅษีเหล่านั้นเสด็จสู่อุทยาน ทรงนมัสการแล้วกระทำการปฏิสันถาร ผเดียงให้อยู่ในพระอุทยานนั้นแหละตลอด ๔ เดือนฤดูฝน นับแต่นั้นฤๅษีเหล่านั้น ก็พากันฉันในพระราชวังแห่งเดียว พำนักอยู่ ณ พระราชอุทยาน

อยู่มาวันหนึ่ง ในพระนครได้มีงานนักขัตฤกษ์ ชื่อว่าสุรานักษัตร พระราชาทรงพระดำริว่า อันว่าสุรานั้น พวกบรรพชิตหาได้ยาก จึงรับสั่งให้ถวายสุราอย่างดีเป็นอันมากถวายแก่พวกดาบส พวกดาบสดื่มสุราแล้วพากันกลับไปอุทยาน ต่างก็เมาสุรา บางพวกลุกขึ้นฟ้อนรำ บางพวกขับร้อง ครั้นฟ้อนรำขับร้องแล้วก็พากันนอนหลับทับบริขาร มีไม้คานเป็นต้น พอสร่างเมา พากันตื่น เห็นอาการอันวิปริตของตนนั้น ต่างก็ร้องไห้คร่ำครวญว่า พวกเรามิได้กระทำการอันสมควรแก่บรรพชิตเลย กล่าวกันว่า พวกเราจากท่านอาจารย์มา พากันกระทำกรรมอันเลวถึงเพียงนี้ ทันใดนั้นเอง ก็พากันทิ้งอุทยานกลับไปป่าหิมพานต์ เก็บบริขารไว้เรียบร้อยแล้ว พากันไหว้อาจารย์นั่งอยู่แล้ว

ท่านอาจารย์ถามว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านมิได้ลำบากด้วยภิกษา พากันอยู่สบายในถิ่นของมนุษย์หรือไฉน อนึ่งพวกเธอยังจะอยู่กันด้วยความสมัครสมานสามัคคีอยู่หรือ เหล่าดาบสผู้เป็นศิษย์พากันกราบเรียนว่า ท่านอาจารย์ขอรับ พวกกระผมอยู่กันอย่างสบาย ก็แต่ว่า พวกผมพากันดื่มในสิ่งไม่ควรดื่ม สลบไสลไปตาม ๆ กัน ไม่อาจดำรงสติได้ พากันขับร้องฟ้อนรำตามเรื่อง เมื่อแจ้งเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันยกคาถานี้เรียนอาจารย์ว่า :

"พวกกระผมได้พากันดื่ม ได้ชวนกันฟ้อน พากันขับร้อง

แล้วก็พากันร้องไห้ เพราะดื่มสุราที่ทำให้สัญญาวิปริต

เห็นดีแต่ที่มิได้กลายเป็นลิงไปเสียเลย"

พวกอันเตวาสิกเหล่านั้น พากันกล่าวโทษของตน ด้วยประการฉะนี้

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า นรชนที่เหินห่างจากการอยู่ร่วมกับครู ย่อมเป็นเช่นนี้ได้ทั้งนั้น ตำหนิดาบสเหล่านั้นแล้วให้โอวาทว่า พวกท่านอย่ากระทำกรรมเห็นปานนี้ต่อไปอีก

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า คณะฤๅษีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนศาสดาของคณะ ได้มาเป็นเราตถาคต

 

พระศาสดาทรงสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะ

เรื่องที่พระเถระนี้ได้ใช้เดชครอบงำเดชของนาคชื่ออัมพติตถะ ได้ทำให้นาคนั้นหายพยศ ได้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งทั้งหลายตามลำดับ จึงทรงสถาปนาท่านพระสาคตเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุแล

 

พระเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก

ในครั้งปฐมโพธิกาล ภายใน ๒๐ พรรษาแรก ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐากประจำของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่มี บางคราว พระนาคสมาลเถระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า บางคราว พระนาคิตเถระ บางคราว พระเมฆิยเถระ บางคราว พระอุปวาณเถระ บางคราวพระสาคตเถระ บางคราวพระเถระผู้เป็นโอรสของเจ้าลิจฉวี ชื่อสุนักขัตตะ อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า

 

เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร

สมัยหนึ่ง ครั้งที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ได้สดับว่าในเมืองจัมปา มีบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสโคตร เป็นสุขุมาลชาติ ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขามีขนงอกขึ้น จึงทรงมีพระประสงค์จะทอดพระเนตร จึงมีพระดำรัสสั่งให้บุตรเศรษฐีนั้นเข้าเฝ้า ครั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรแล้ว จึงได้ส่งบุตรเศรษฐีพร้อมชาวเมืองนั้นให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันของเขาเหล่านั้น ครั้งนั้น พวกเขาเหล่านั้นก็พากันเดินทางไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

 

พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

ก็สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค จึงพวกเขาพากันเข้าไปหาท่านพระสาคตะ แล้วได้กราบเรียนว่า ท่านขอรับ ประชาชนชาวเมืองจัมปานี้ เข้ามาในที่นี้เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทานโอกาสขอรับ ขอพวกข้าพเจ้าพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

ท่านพระสาคตะบอกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงอยู่ ณ ที่นี้สักครู่หนึ่งก่อน จนกว่าอาตมาจะกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ดังนี้ และเมื่อพวกเขากำลังเพ่งมองอยู่ข้างหน้า ท่านพระสาคตะดำลงไปในแผ่นหินอัฒจันทร์ผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ประชาชนชาวเมืองจัมปานี้พากันเข้ามา ณ ที่นี้เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้

พระพุทธเจ้าข้าพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรสาคตะ ถ้ากระนั้นเธอจงปูลาดอาสนะ ณ ร่มเงาหลังวิหาร ท่านพระสาคตะทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า ทราบเกล้าฯ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วถือตั่งดำลงไปตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เมื่อประชาชนชาวเมืองจัมปานั้นกำลังเพ่งมองอยู่ตรงหน้าจึงผุดขึ้นลากแผ่นหินอัฒจันทร์แล้วปูลาดอาสนะในร่มเงาหลังพระวิหาร

 

เสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร แล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่จัดไว้ ณ ร่มเงาหลังพระวิหาร จึงประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพวกเขาพากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะเท่านั้น หาได้สนใจต่อพระผู้มีพระภาคไม่

ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัยแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระสาคตะมารับสั่งว่า ดูกรสาคต ถ้ากระนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก

ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง สำเร็จการนอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้างหายตัวบ้าง ในอากาศกลางหาว ครั้นแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์หลายอย่างในอากาศกลางหาว แล้วลงมาซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก

ดังนี้ จึงประชาชนเมืองจัมปานั้นพูดสรรเสริญว่า ชาวเราผู้เจริญอัศจรรย์นัก ประหลาดแท้ เพียงแต่พระสาวกยังมีฤทธิ์มากถึงเพียงนี้ ยังมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดาต้องอัศจรรย์แน่ ดังนี้ แล้วพากันสนใจต่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น หาสนใจต่อท่านพระสาคตะไม่

 

ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัย แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถาโทษ ความต่ำทรามความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกบรรพชา

เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าพวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค

ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้วปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของพระศาสดา

ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำพวกข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป


ที่มา  http://www.dharma-gateway.com

47080333
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
9616
49112
230407
46606637
566671
1172714
47080333

Your IP: 182.232.51.32
2024-11-15 08:12
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search