สภิย (พระสภิยเถระ)

สภิย (พระสภิยเถระ)

ประวัติ

 

 

ประวัติพระสภิยเถระ

 

บุรพกรรมในสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้า

พระเถระนี้ ได้สร้างบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน เพื่อสั่งสมบุญไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่ากกุสันธะ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระศาสดาเสด็จไปเพื่อประทับอยู่พระสำราญในกลางวัน มีจิตเลื่อมใสได้ถวายรองเท้า ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ต่อมา ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง ได้ออกบวชหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ในเวลาต่อมาเมื่อพระศาสนาใกล้จะเสื่อมสิ้นลง เขาและภิกษุอีก ๖ รูป มองเห็นความเสื่อมในการประพฤติของบริษัท ๔ ก็พากันสังเวชสลดใจ คิดว่า ตราบใดที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป พวกเราจงเป็นที่พึ่งแก่ตนเองเถิด จึงพากันไปสักการะพระสุวรรณเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ที่มหาชนได้ร่วมกันสร้างเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว ได้มองเห็นภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง จึงชวนกันขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขาลูกนั้น โดยตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะยอมสิ้นชีวิตอยู่บนนั้น แล้วจึงตัดไม้ไผ่มาทำเป็นพะอง (บันไดไม้) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผาของภูเขานั้น เมื่อทั้งหมดพากันขึ้นไปยังยอดสูงของภูเขาลูกนั้นแล้ว ก็ผลักพะองให้ตกหน้าผาไปเพื่อไม่ให้มีทางกลับลงมาได้ แล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนนั้น

ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงเหาะไปสู่ หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่ สระอโนดาตล้างหน้าแล้วและเคี้ยวไม้สีฟันชื่อ อนาคลดา แล้วจึงนำภัตและสิ่งของเหล่านั้นมายังพระภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่บรรลุธรรมอันวิเศษ แล้วกล่าวว่า อาวุโส ทั้งหลาย บิณฑบาตนี้ผมนำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและไม้สีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญ สมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป ภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง แล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผม แม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหา พวกกระผมอีกเลย พระมหาเถระนั้นเมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม ได้โดยวิธีได ๆ ก็หลีกไป

แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็น พระอนาคามีได้อภิญญา ๕ ภิกษุนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างเช่นที่พระเถระที่บรรลุพระอรหัตทำเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุที่เหลือที่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ ห้าม ก็กลับไปเช่นเดียวกัน ภิกษุที่เหลือ ๕ องค์นั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษไร ๆ จึงมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส เทพบุตรทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติใน สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในมนุษยโลก ในบรรดาชน ๕ คนเหล่านั้น

คนหนึ่งไปเป็น โอรสเจ้ามัลละนามว่าปุกกุสะ (ต่อมาได้พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมและประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต)

คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยทารุจิริยะ (ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว)

คนหนึ่งมาเกิดในพวกมัลลกษัตริย์ องค์หนึ่งในอนุปิยนคร แคว้นมัลละ ขณะเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์นั่นเอง มารดาท่านก็ได้ถึงแก่กรรม ในวันที่เขานำร่างของมารดาท่านขึ้นสู่เชิงตะกอน เพราะด้วยเหตุที่ผู้ที่จะมาเกิดเป็นภพสุดท้ายในชาตินี้ คือจะมาบังเกิดเพื่อที่จะบรรลุพระอรหันต์ในชาตินี้ก็ไม่มีทางที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นร่างของท่านจึงออกมาจากร่างของมารดา ตกลงไปในกองไม้ ฉะนั้นท่านจึงได้นามว่าทัพพะ เพราะ ตกลงมาที่กองไม้ และเพราะเหตุที่เป็นบุตรเจ้ามัลละ จึงเรียกกันว่า ทัพพมัลลบุตร (ต่อมาได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้จัดแจงเสนาสนะ)

อีกองค์หนึ่งมาเกิดเป็นพระกุมารกัสสป (ต่อมาได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้แสดงธรรมได้วิจิตร)

ส่วนท่านได้จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์ของปริพาชิกาผู้หนึ่ง นัยว่าปริพาชิกาผู้นั้นเป็นราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง พระชนกชนนีได้ทรงมอบราชธิดานั้นแก่ปริพาชกผู้หนึ่ง ด้วยตั้งพระทัยว่าธิดาของท่านจะได้รู้เรื่องลัทธิของปริพาชกผู้นั้น ปริพาชกผู้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของปริพาชกนั้น ประพฤติเมถุนกรรมกับราชธิดานั้น พระนางได้ตั้งครรภ์ ปริพาชิกาทั้งหลายเห็นราชธิดานั้นมีครรภ์จึงพากันไล่ออกไป พระนางเสด็จไปในที่แห่งหนึ่ง ทรงคลอดที่สภา (หอประชุม) ในระหว่างทาง ด้วยเหตุนั้นกุมารนั้นจึงมีชื่อว่า สภิยะ (เกิดที่สภา) สภิยะนั้นครั้นเติบโตแล้วก็บวชเป็นปริพาชก เล่าเรียนศาสตร์ต่าง ๆ เป็นผู้มีวาทะมากเที่ยวไปตลอดชมพูทวีป เพื่อโต้วาทะ ไม่เห็นบุคคลผู้เทียมเท่ากับตนในเชิงวาทะ จึงให้สร้างอาศรมไว้ที่ประตูพระนคร สั่งสอนศิลปะแก่ขัตติยกุมารเป็นต้น อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น

 

ท้าวมหาพรหมมาแสดงอุบายถามปัญหาธรรม ๒๐ ข้อ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเผยแผ่พระธรรมจักรอันประเสริฐเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหารกลันทกนิวาปสถาน แต่สภิยปริพาชกไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว กล่าวถึงพระเถระที่ร่วมปฏิบัติธรรมอยู่บนยอดเขาในชาติก่อนสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าครั้งกระโน้น และบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นชีวิตลงก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ตรวจดูพรหมสมบัติของตน ก็นึกรำลึกถึงเรื่องราวก่อนที่ตนจะมาเกิดในพรหมโลก รำลึกถึงเรื่องที่ตนขึ้นไปยังภูเขาก็เพื่อนสหธรรมิก เห็นที่บำเพ็ญสมณธรรมแล้ว จึงนึกถึงสถานที่ที่คนที่เหลืออีก ๖ คนไปเกิด ก็รู้ว่าท่านหนึ่งปรินิพพานแล้ว และรู้ว่า นอกนี้อีก ๕ คนไปบังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร

ครั้นเวลาต่อมาก็ได้รำลึกถึงคนทั้ง ๕ เหล่านั้นอีก ก็สงสัยว่าเวลานี้คนทั้ง ๕ เหล่านั้นไปบังเกิดในที่ไหนหนอ เมื่อตรวจดูจึงได้เห็นสภิยปริพาชก คิดว่า สหายของเราไม่รู้ว่า แม้พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วจึงคิดว่า เอาเถิดเราจะชักชวนเขาเพื่อเข้าถึงพระพุทธเจ้า จึงแต่งปัญหา ๒๐ ข้อ แล้วไปปรากฏกายในสถานที่อยู่ของสภิยปริพาชก ในเวลาหลังเที่ยงคืน พระเถระเห็นแสงสว่างจากรัศมีของท้าวมหาพรหม จึงถามว่า ใครอยู่ที่นั่น มหาพรหมตอบว่า เราคือ พรหม ผู้กระทำสมณธรรมกับท่านมาแต่ก่อน บรรลุอนาคามิผล แล้วบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส พระเถระถามว่า ท่านมาด้วยการงานอะไรเล่า มหาพรหมบอกปัญหาเหล่านั้น เพื่อแสดงเหตุที่ตนมา แล้วกล่าวว่า ท่านจงเรียนปัญหาเหล่านั้นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดถูกท่านถามปัญหานี้แล้วพยากรณ์ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของผู้นั้นเถิด เมื่อพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว สภิยะได้เรียนปัญหาเหล่านั้นตามลำดับบทด้วยการกล่าวครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งนั้นพรหมแม้รู้อยู่ก็ยังไม่บอกว่า พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว แก่สภิยะนั้น ด้วยความประสงค์นี้ว่าสภิยปริพาชกเมื่อแสวงหาประโยชน์ จักรู้จักพระศาสดาด้วยตนเอง แล้วก็กลับไปยังพรหมโลกตามเดิม

แต่เกจิอาจารย์กล่าวพรรณนาเรื่องราวของพระสภิยเถระไว้ในเถรคาถาในจตุกกนิบาตว่า มารดาของท่านสภิยเถระนั้นคิดถึงการปฏิบัติผิดของตน จึงรังเกียจการปฏิบัติผิดนั้น ยังฌานให้เกิดแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก มารดาผู้เป็นเทพชั้นพรหมได้แสดงปัญหาเหล่านั้นแก่สภิยปริพาชกดังนี้

 

สภิยปริพาชกเที่ยวถามปัญหา

ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชกเรียนปัญหาในสำนักของเทวดานั้นแล เข้าไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ที่ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ สญชัยเวฬัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร แล้วจึงถามปัญหาเหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นอันสภิยปริพาชกถามปัญหาแล้ว แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ก็แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถามสภิยปริพาชกอีก

ครั้งนั้น สภิยปริพาชกมีความดำริว่า ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ที่ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้ว แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ก็แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถามเราในปัญหาเหล่านี้อีก ถ้ากระไร เราพึงละเพศกลับมาบริโภคกามอีกเถิด

แต่แล้วสภิยปริพาชกมีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้แลเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามปัญหาเหล่านี้เถิด แต่ก็สงสัยว่าก็เมื่อท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้เก่าแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นผู้เฒ่า รู้ราตรีนาน บวชมานาน ก็ยังตอบปัญหาของเราไม่ได้ พระสมณโคดมนั้นเมื่อถูกเราทูลถามแล้วจักทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดมยังเป็นหนุ่มโดยพระชาติ ทั้งยังเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา

สภิยปริพาชกก็คิดต่อไปว่า เราไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนพระสมณโคดมว่ายังเป็นหนุ่ม ถึงหากว่าพระสมณโคดมจะยังเป็นหนุ่มแต่ท่านก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามปัญหาเหล่านี้เถิด

สภิยปริพาชกได้หลีกจาริกไปทางพระนครราชคฤห์ พร้อมกับศิษย์ผู้หนึ่งชื่อยสทัตตกุลบุตร เมื่อทั้งสองเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ สิ้นระยะทางถึง ๗๗ โยชน์จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังพระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้นแล้วปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ข้าพระองค์ผู้มีความสงสัย มีความเคลือบแคลง มาหวังจะทูลถามปัญหา

พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์

ตามลำดับปัญหา ให้สมควรแก่ธรรมเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรสภิยะ ท่านมาแต่ไกล หวังจะถามปัญหา

เราอันท่านถามปัญหาแล้ว จะกระทำที่สุดแห่งปัญหาเหล่านั้น

จะพยากรณ์แก่ท่านตามลำดับปัญหา ให้สมควรแก่ธรรม

ดูกรสภิยะท่านปรารถนาปัญหาข้อใดข้อหนึ่งในใจ ก็เชิญถามเราเถิด

เราจะกระทำที่สุดเฉพาะปัญหานั้นๆ แก่ท่าน ฯ

จากนั้นสภิยปริพาชกจึงได้กระทำคาถาหนึ่ง ๆ ให้เป็นอย่างละ ๔ ๆ แล้วทูลถามปัญหา ๒๐ ข้อ ด้วย ๕ คาถา แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำปัญหาหนึ่ง ๆ ของสภิยปริพาชก ด้วยคาถาหนึ่ง ๆ แล้วทรงพยากรณ์ด้วยคาถา ๒๐ คาถาด้วยยอดธรรมคือพระอรหัต

 

สภิยปริพาชกทูลถามปัญหา

(๑) บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นภิกษุ

(๒) กล่าวบุคคลว่าผู้สงบเสงี่ยมด้วยอาการอย่างไร

(๓) กล่าวบุคคลว่าผู้ฝึกตนแล้วอย่างไร

(๔) และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า ผู้รู้

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ

ผู้ใดถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว ข้ามความสงสัยเสียได้ ละความไม่เป็นและความเป็นได้เด็ดขาด อยู่จบพรหมจรรย์ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าเป็นภิกษุ

ผู้ใดวางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้งหมด มีสติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ในโลกทั้งปวง ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นผู้สงบ ไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้สงบเสงี่ยม

ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในทั้งภายนอกในโลกทั้งปวง รอเวลาสิ้นชีวิตอยู่อบรมตนแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้ฝึกตนแล้ว

ผู้พิจารณาสงสารทั้งสองอย่าง คือ จุติและอุปบัติ ตลอดกัปทั้งสิ้นแล้ว ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้ ฯ

ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว มีใจชื่นชม เบิกบาน เฟื่องฟู เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคว่า

(๕) บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นพราหมณ์

(๖) กล่าวบุคคลว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการอย่างไร

(๗) กล่าวบุคคลผู้ล้างบาปอย่างไร

(๘) และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า เป็นนาค (ผู้ประเสริฐ)

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ

ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดีดำรงตนมั่น ก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ (เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น) ผู้นั้นอันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นพราหมณ์

ผู้ใดมีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลีรู้โลกนี้และโลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้ ผู้คงที่ เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นสมณะ

ผู้ใดล้างบาป ได้หมดในโลกทั้งปวง คือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัปในเทวดาและมนุษย์ผู้สมควร ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้ล้างบาป

ผู้ใดไม่กระทำบาปอะไรๆ ในโลก สลัดออกซึ่งธรรมเป็นเครื่องประกอบและเครื่องผูกได้หมด ไม่ข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง หลุดพ้นเด็ดขาดผู้คงที่ เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนาค ฯ

ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคว่า

(๙) ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวใครว่าผู้ชนะเขต

(๑๐) กล่าวบุคคลว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยอาการอย่างไร

(๑๑) อย่างไรจึงกล่าวบุคคลว่าเป็นบัณฑิตและ

(๑๒) กล่าวบุคคลชื่อว่าเป็นมุนีด้วยอาการอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร สภิยะ

ผู้ใดพิจารณา (อายตนะหรือกรรม) เขตทั้งสิ้น คือ เขตที่เป็นของทิพย์ เขตของมนุษย์และเขตของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเง่าแห่งเขตทั้งหมด ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้ชนะเขต

ผู้ใดพิจารณากะเปาะฟอง (กรรม) ทั้งสิ้น คือ กะเปาะฟองที่เป็นของทิพย์ กะเปาะฟองของมนุษย์ และกะเปาะฟองของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเง้าแห่งกะเปาะฟองทั้งหมด ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้ฉลาด

ผู้ใดพิจารณาอายตนะทั้งสองคือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ ก้าวล่วงธรรมดำและธรรมขาวได้แล้ว ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นบัณฑิต

ผู้ใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง คือ ในภายในและภายนอก แล้วดำรงอยู่ ผู้นั้นอันเทวดาและมนุษย์บูชา ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและข่าย คือ ตัณหาและทิฐิแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นมุนี ฯ

ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคว่า

(๑๓) บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่าผู้ถึงเวท

(๑๔) กล่าวบุคคลว่าผู้รู้ตามด้วยอาการอย่างไร

(๑๕) กล่าวบุคคลผู้มีความเพียร ด้วยอาการอย่างไร

(๑๖) และบุคคลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนยด้วยอาการอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร สภิยะ

ผู้ใดพิจารณาเวททั้งสิ้น อันเป็นของมีอยู่แห่งสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวงผู้นั้นล่วงเวททั้งหมดแล้ว บัณฑิตกล่าวว่าผู้ถึงเวท

ผู้ใดใคร่ครวญธรรมอันเป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า และนามรูปอันเป็นรากเง่าแห่งโรค ทั้งภายในทั้งภายนอกแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งโรคทั้งปวง ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้ตาม

ผู้ใดงดเว้นจากบาปทั้งหมดล่วงความทุกข์ในนรกได้แล้ว ดำรงอยู่ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้มีความเพียร ผู้นั้นมีความแกล้วกล้า มีความเพียร ผู้คงที่เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนักปราชญ์

ผู้ใดตัดเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งภายในทั้งภายนอกได้แล้ว หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูกอันเป็นรากเง่าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนย

ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคว่า

(๑๗) บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่าผู้ทรงพระสูตร

(๑๘) กล่าวบุคคลว่าเป็นอริยะด้วยอาการอย่างไร

(๑๙) กล่าวบุคคลว่าผู้มีจรณะด้วยอาการอย่างไร และ

(๒๐) บุคคลบัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ชื่อว่าปริพาชกด้วยอาการอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร สภิยะ

บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้ฟังแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งมวล ครอบงำธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษอะไรๆ อันมีอยู่ในโลกเสียได้ ไม่มีความสงสัย หลุดพ้นแล้ว ไม่มีทุกข์ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั้งปวง ว่าผู้ทรงพระสูตร

บุคคลนั้นรู้แล้วตัดอาลัย (และ) อาสวะได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์ บรรเทาสัญญา ๓ อย่าง และเปือกตม คือ กามคุณแล้วย่อมไม่มาสู่กัป บัณฑิตกล่าวว่าเป็นอริยะ

ผู้ใดในศาสนานี้เป็นผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้มีจรณะ

ผู้ใดขับไล่กรรมอันมีทุกข์เป็นผล ซึ่งมีอยู่ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และเป็นปัจจุบันได้แล้ว มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาเที่ยวไป กระทำมายากับทั้งมานะ ความโลภความโกรธ และนามรูปให้มีที่สุดได้แล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าปริพาชกผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ ฯ

 

พระเถระทูลขออุปสมบท

ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชก หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สภิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังบรรพชาหวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือนไปแล้วภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้ว ให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ

สภิยปริพาชก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเป็นเช่นนั้นไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปีแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจ ขอจงยังข้าพระองค์ให้บรรพชาอุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด ฯ

สภิยปริพาชก ได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นท่านสภิยะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็ท่านสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฉะนี้แล ฯ

 

พระพุทธเจ้าทรงโปรดยสทัตตกุลบุตร

พระพุทธเจ้าทรงโปรดยสทัตตกุลบุตร ท่านพระยสทัตตเถระบังเกิดในตระกูลแห่งเจ้ามัลละ ในมัลลรัฐ ได้นามว่ายสทัตตะ เที่ยวจาริกไปกับท่านสภิยปริพาชก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในกรุงราชคฤห์ โดยลำดับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาที่สภิยปริพาชกถาม ตนเองก็นั่งฟังมุ่งเพ่งโทษว่า เราจักแสดงโทษในวาทะของพระสมณโคดม ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระแห่งจิตของเขา เมื่อจะประทานโอวาทในเวลาจบสภิยสุตตเทศนา จึงได้ตรัส ๕ คาถา เหล่านี้ว่า

คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น

คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเหี่ยวแห้งในสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อยฉะนั้น

คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นาฉะนั้น

ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองแล้ว ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ผู้นั้นทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบ พึงบรรลุความสงบอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน

ท่านอันพระศาสดาทรงโอวาทอย่างนี้แล้ว ก็เกิดความสังเวช บวชแล้วเจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต

 


ที่มาhttp://www.dharma-gateway.com

48554020
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
21166
74766
21166
48264582
767776
1272582
48554020

Your IP: 18.223.195.30
2024-12-22 09:49
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search