ธรรมวิภาค หมวด ๒-๔

ทุกะ คือ หมวด ๒

ธรรมมีอุปการะมากมี ๒ อย่าง

            ๑. สติ                     ความระลึกได้
            ๒. สัมปชัญญะ           ความรู้ตัว

            ๑. สติ หมายถึง ความระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว เช่นนึกถึงการกระทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้เป็นต้น ความระลึกถึงสิ่งอันจักมีในภายหน้า เช่น นึกถึงความตายอันจักมีแก่ตนเป็นต้น ความระลึกถึงสิ่งอันเป็นปัจจุบัน เช่น กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นต้น 
            ๒. สัมปชัญญะ  หมายถึง เมื่อกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ก็รู้ตัวว่า เรากำลังทำ  กำลังพูด  กำลังคิด เช่น เมื่อกำลังยืน เดิน เป็นต้น ก็รู้สึกตัวว่า เรากำลังยืน กำลังเดิน หรือเมื่อกำลังอ่านหนังสือ เป็นต้น ก็รู้สึกตัวว่า เรากำลังอ่านหนังสือ
            ธรรม ๒ อย่างนี้ เป็นเครื่องอุปการะไม่ให้พลั้งเผลอและไม่ให้พลั้งพลาดอันจะนำมาซึ่งความเกื้อกูลในการงานทั้งปวง

 

ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก มี  ๒  อย่าง

            ๑. หิริ                                       ความละอายแก่ใจ
            ๒. โอตตัปปะ                           ความเกรงกลัวต่อบาป

            ๑. หิริ หมายถึง ความละอายแก่ใจตนเอง ในการกระทำทุจริตต่างๆ ทั้งมีอาการรังเกียจต่อบาปทุจริต เสมือนบุคคลเห็นสิ่งปฏิกูล ต่าง ๆ แล้วไม่อยากเข้าไปใกล้ ไม่อยากจับต้อง
            ๒. โอตตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อผลของการกระทำชั่วทุจริต  เสมือนคนเห็นงูกลัวต่อพิษของมันแล้วหลีกเลี่ยงเสียให้ห่างไกล

            ธรรม ๒ อย่างนี้ กุศลธรรมก็เรียก เทวธรรมก็เรียก
            เพราะถ้าโลกขาดธรรมสองอย่างนี้  โลกย่อมถึงความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้ามนุษย์มีหิริและโอตตัปปะ ไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง โลกก็จะสงบร่มเย็นอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

 

ธรรมอันทำให้งาม  มี  ๒ อย่าง

              ๑. ขันติ                        ความอดทน
              ๒. โสรัจจะ                 ความเสงี่ยม 

            ๑. ขันติ  หมายถึง ความอดทนอดกลั้น  ได้แก่อดทนต่อราคะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้น  อดทนต่อคำล่วงเกินด่าว่าของผู้อื่น อดทนต่อความลำบากตรากตรำและความหนาวร้อนเป็นต้น อดทนต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ  เป็นต้น  ย่อมส่งผลให้หน้าตา กิริยา ท่าทาง และคำพูด งดงาม น่าเคารพนับถือ
            ๒. โสรัจจะ หมายถึง ความสงบเสงี่ยมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในบางแห่งใช้คำว่า อวิโรธนะ ไม่โกรธ ในภาษาไทยว่า ใจเย็น ก็ทำให้งดงามเหมือนกัน

บุคคลหาได้ยากมี ๒ อย่าง

            ๑. บุพการี                    บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
            ๒. กตัญญูกตเวที        บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และทำตอบแทน

            ๑. บุพการี  หมายถึง  บุคคลผู้ทำอุปการะแก่ผู้อื่นก่อน    ได้แก่ พระพุทธเจ้าเป็นบุพการีของพุทธบริษัท มารดาบิดาเป็นบุพการีของบุตร อุปัชฌาย์อาจารย์เป็นบุพการี ของศิษย์  แม้พระมหากษัตริย์ก็จัดเป็นบุพการีของพสกนิกร ส่วนบุคคลอื่นผู้ทำอุปการะก่อนก็ควรสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ บุคคลอย่างนี้หาได้ยากในโลก
            ๒. กตัญญู หมายถึง ผู้รู้อุปการคุณ ได้แก่  พุทธบริษัทผู้รู้อุปการคุณของพระพุทธเจ้า บุตรผู้รู้อุปการคุณของมารดาบิดา ศิษย์ผู้รู้อุปการคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์  แม้พสกนิกรผู้รู้อุปการคุณของ พระมหากษัตริย์ หรือบุคคลผู้รู้อุปการคุณของผู้อุปการะตนก่อน
                กตเวที หมายถึง การตอบแทนคุณผู้มีอุปการคุณ ด้วยวัตถุสิ่งของ ด้วยการทำกิจให้ ด้วยสัมมาคารวะ ด้วยการตั้งอยู่ในโอวาท คำสั่งสอน ด้วยประกาศคุณให้ปรากฏ

             ฉะนั้น กตัญญูกตเวที คือ ผู้รู้อุปการคุณของผู้อื่นแล้วกระทำการตอบแทนคุณของท่าน  ยังคุณของท่านให้ปรากฏ           

 

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๒

๑. ธรรมข้อใด ควบคุมมิให้คนทำผิดพลาด ?
            ก. สติ  สัมปชัญญะ                 ข. หิริ  โอตตัปปะ
            ค. ขันติ  โสรัจจะ                      ง. กตัญญูกตเวที

๒. ธรรมข้อใด มีอุปมาดุจหางเสือเรือ ?
            ก. หิริ                                       ข. โอตตัปปะ
            ค. สติ                                       ง. ขันติ

๓. บุคคลในข้อใด  ต้องใช้สติสัมปชัญญะมากที่สุด ?
            ก. คนโดยสารรถ                      ข. คนข้ามถนน
            ค. คนเก็บค่าโดยสาร               ง. คนขับรถ

๔. ข้อใดเป็นธรรมมีอุปการะมาก ?
            ก. หิริ  โอตตัปปะ                     ข. สติ  สัมปชัญญะ
            ค. กตัญญูกตเวที                    ง. ขันติ  โสรัจจะ

๕. เราควรใช้สติเมื่อใด ?
            ก. ก่อนทำ พูด คิด                    ข. ขณะทำ พูด คิด
            ค. ทำ พูด คิดเสร็จแล้ว            ง. ข้อ ก. ข้อ ข. ถูก

๖. เราควรใช้สัมปชัญญะเมื่อใด ?
            ก. ก่อนทำ พูด คิด                    ข. ขณะทำ พูด คิด
            ค. ทำ พูด คิดเสร็จแล้ว            ง. ใช้ได้ตลอดกาล

๗. ธรรมข้อใด อุดหนุนมิให้คนทำอะไรผิดพลาด ?
            ก. หิริ  โอตตัปปะ                     ข. ขันติ  โสรัจจะ
            ค. กตัญญูกตเวที                    ง. สติ  สัมปชัญญะ

๘.  ข้อใดเป็นความหมายของสัมปชัญญะ ?
            ก. ความระลึกได้                      ข. ความรู้ตัว
            ค. ความรอบรู้                          ง. ความรู้จริง

๙. ระลึกได้ว่าวันนี้ต้องไปทำงาน เป็นลักษณะธรรมข้อใด ?
            ก. หิริ                                       ข. โอตตัปปะ
            ค. สติ                                       ง. สัมปชัญญะ

๑๐. ธรรมที่เป็นข้าศึกของสติ ได้แก่อะไร ?
            ก. ความประมาท                     ข. ความโกรธ
            ค. ความละอาย                       ง. ความโลภ

๑๑. ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทั่วโลก  เพราะขาดคุณธรรมข้อใด ?  
            ก. หิริ   โอตตัปปะ                    ข. ขันติ  โสรัจจะ
            ค. สติ  สัมปชัญญะ                 ง. ถูกทุกข้อ

๑๒. โลกในคำว่า “ธรรมคุ้มครองโลก” หมายถึงข้อใด ?
            ก. โลกคือแผ่นดิน                    ข. เทวโลก
            ค. โลกคือหมู่สัตว์                    ง. ยมโลก

๑๓. “อายชั่ว  กลัวบาป สวรรค์รับ บาปลา” หมายถึงธรรมข้อใด ?
            ก. สติ  สัมปชัญญะ                 ข. หิริ  โอตตัปปะ
            ค. วจีสุจริต ๔                         ง. วจีทุจริต ๔

๑๔. ผู้มีธรรมเป็นโลกบาลอยู่ในใจ  ย่อมมีลักษณะเช่นไร ?
            ก. เป็นคนกล้าหาญ                 ข. เป็นผู้นิ่งทั้งต่อหน้า ลับหลัง
            ค. เป็นคนเรียบร้อย                 ง. ไม่ทำชั่วทั้งต่อหน้า ลับหลัง

๑๕. ข้อใด เรียกว่าเทวธรรม ?
            ก. สติ สัมปชัญญะ                  ข. ขันติ  โสรัจจะ
            ค. หิริ โอตตัปปะ                      ง. กตัญญูกตเวที

๑๖. ผู้มีเทวธรรม  มีลักษณะอย่างไร ?
            ก. ไม่ทำชั่วในที่ลับ                  
            ข. ไม่ทำชั่วในที่แจ้ง
            ค. ไม่ทำชั่ว  ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
            ง. ไม่ทำชั่ว  เพราะกลัวถูกประณาม

๑๗. ข้อใด เป็นลักษณะของโอตตัปปะ ?
            ก. ละอายความชั่ว                   ข. กลัวถูกลงโทษ
            ค. ละอายตนเอง                      ง. กลัวผลของความชั่ว

๑๘. ผู้มีหิริอยู่ในใจ ชื่อว่าไม่ทำความชั่ว เพราะสาเหตุใด ?
            ก. กลัวคนเห็น                         ข. กลัวติดคุก
            ค. ละอายคนอื่น                      ง. ละอายใจ

๑๙.  ธรรมสำหรับทำคนให้เป็นเทวดา ?
            ก. ขันติ  โสรัจจะ                      ข. หิริ  โอตตัปปะ
            ค. เมตตา  กรุณา                     ง. อโลภะ  อโมหะ

๒๐. “อาภรณ์แต่งกาย แต่ใจแต่งด้วยธรรม” หมายถึงธรรมข้อใด ?
            ก. สติ  สัมปชัญญะ                 ข. หิริ  โอตตัปปะ
            ค. ขันติ  โสรัจจะ                      ง. เมตตา  กรุณา

๒๑. คนมีน้ำอดน้ำทน  เพราะมีคุณธรรมข้อใด ?
            ก. ฉันทะ                                  ข. จิตตะ
            ค. ขันติ                                    ง. วิมังสา

๒๒. ผู้งดงามทั้งนอกทั้งใน เพราะมีคุณธรรมข้อใด ?
            ก. หิริ  โอตตัปปะ                     ข. สติ  สัมปชัญญะ
            ค. ขันติ  โสรัจจะ                      ง. กตัญญูกตเวที

๒๓. นาย ก.ถูกนาย ข.ทำร้าย อดกลั้นไว้ได้ เพราะมีคุณธรรมอะไร ?
            ก. หิริ                                       ข. โอตตัปปะ
            ค. ขันติ                                    ง. สติ

๒๔. ความทนต่อความหนาวร้อน มีความหมายตรงกับข้อใด ?
            ก. ทนต่อความเจ็บใจ               ข. ทนต่อความตรากตรำ
            ค. ทนต่อความอยาก                ง. ทนต่อความทุกข์ทรมาน

๒๕. ธรรมข้อใด ทำคนให้มีความงามโดยมิต้องเสริมแต่ง ?
            ก. ขันติ  โสรัจจะ                      ข. สติ  สัมปชัญญะ
            ค. หิริ  โอตตัปปะ                     ง. เมตตา  กรุณา

๒๖. บุพการีชน  หมายถึงใคร ?
            ก. พระพุทธเจ้า                        ข. มารดา  บิดา
            ค. พระมหากษัตริย์                  ง. ถูกทุกข้อ

๒๗. ข้อใด เป็นความหมายของคำว่า “กตเวที” ?
            ก. ทำอุปการะก่อน                  ข. รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว
            ค. ตอบแทนคุณท่าน                ง. รู้อุปการะและตอบแทนคุณ

๒๘. ผู้ใดไม่ชื่อว่า  บุพการี ?
            ก. บิดา  มารดา            ข. พระมหากษัตริย์
            ค. บุตร  ธิดา                ง. ครู  อาจารย์

๒๙. จะรู้ได้อย่างไรว่า คนที่เราคบด้วยเป็นคนดี ?
            ก. ตักบาตรประจำ       ข. มีมนุษย์สัมพันธ์
            ค. ขยันทำงาน             ง. รู้จักทดแทนคุณ

๓๐. กตัญญูกตเวที ชื่อว่าหาได้ยาก เพราะถูกอะไรครอบงำ ?
            ก. อบายมุข                 ข. นิวรณ์
            ค. ความตระหนี่           ง. ความโกรธ 

เฉลย   ๑. ก     ๒. ค     ๓. ง     ๔. ข     ๕. ก     ๖. ข     ๗. ง     ๘. ข     ๙. ค     ๑๐. ก    ๑๑. ก  ๑๒. ค  ๑๓. ข   ๑๔. ง     ๑๕. ค    ๑๖. ค    ๑๗. ง   ๑๘. ง     ๑๙. ข   ๒๐. ค   ๒๑. ค  ๒๒.ค   ๒๓. ค   ๒๔. ง    ๒๕. ก    ๒๖. ง    ๒๗. ค     ๒๘. ค  ๒๙. ง  ๓๐. ค

 

ติกะ คือ หมวด ๓

พระรัตนตรัย คือ  แก้วอันประเสริฐ  มี ๓ อย่าง
            ๑. พระพุทธ     ๒. พระธรรม    ๓. พระสงฆ์       

            ๑. ท่านผู้สอนให้ประชาชนประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัย ที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา  ชื่อว่า พระพุทธเจ้า
            ๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของท่าน  ชื่อว่า พระธรรม
            ๓. หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อว่า พระสงฆ์

            เหตุที่เรียกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ารัตนะนั้น ท่านอธิบายไว้ในอรรถกถาว่าเป็นวัตถุที่ควรยำเกรง มีค่ามาก หาค่ามิได้และเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด

             

คุณของรัตนะ มี ๓ อย่าง

            ๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว  สอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
            ๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
            ๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วสอนให้ผู้อื่นกระทำตามด้วย

            ๑. พระพุทธเจ้า ตรัสรู้อริยสัจ  ๔  คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ด้วยพระองค์เองก่อนแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย ในเบื้องต้นทรง สอนพระปัญจวัคคีย์และพระยสะกับสหายให้รู้ตาม และทรงสอนต่อมาอีก ๔๕ ปี จนถึงวันปรินิพพาน
            ๒. พระธรรม  ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น คือ  ห้ามไม่ให้ทำความ ชั่วทั้งปวง ให้ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสเป็นต้น เป็นการสอน ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เมื่อประพฤติตามแล้ว  พระธรรมก็ย่อมรักษาผู้ประพฤติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
            ๓. พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้สอนภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาให้ทำตามด้วย ในเบื้องต้น ภิกษุ ๖๐ รูปแยกย้ายกันออกไปสอนประชาชน และต่อมาพระสงฆ์อื่นก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีคุณแก่โลกจนหาที่เปรียบมิได้

โอวาทของพระพุทธเจ้า  มี ๓ อย่าง

            ๑. เว้นจากทุจริต  คือ ประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
            ๒. ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
            ๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อ คือ

            สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง  ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ 
            กุสะลัสสูปะสัมปะทา  ประกอบความดี ๑
            สะจิตตะปะริโยทะปะนัง  ทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑

            มีเนื้อความอย่างเดียวกับโอวาททั้ง ๓ ข้อนี้ เพราะคำว่า บาป อกุศล  ทุจริต มีความหมายเหมือนกัน และคำว่า  บุญ  กุศล  สุจริต ก็มีความหมายเหมือนกันใช้แทนกันได้  เพราะฉะนั้น  โอวาททั้งปวงจึงสรุปลงเป็น ๓ ข้อ
            ๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากความประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
            ๒.  ประกอบความดี คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
            ๓. ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส คือ ทำตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

            โอวาททั้ง ๓ นี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ที่วัดเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ เมื่อวันเพ็ญมาฆมาส (เดือน ๓) ภายหลังตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์

ทุจริต  คือความประพฤติชั่วมี ๓ อย่าง

            ๑. กายทุจริต               ประพฤติชั่วด้วยกาย
            ๒.วจีทุจริต                   ประพฤติชั่วด้วยวาจา
            ๓. มโนทุจริต                ประพฤติชั่วด้วยใจ

            ๑. กายทุจริต คือ ความประพฤติชั่วด้วยกาย ๓ อย่าง มี ฆ่าสัตว์ ๑  ลักทรัพย์ ๑  ประพฤติผิดในกาม ๑
            ๒. วจีทุจริต  คือ ความประพฤติชั่วด้วยวาจา ๔ อย่าง มี พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑
            ๓. มโนทุจริต คือ ความประพฤติชั่วด้วยใจ ๓ อย่าง มี โลภอยาก ได้ของเขา ๑  พยาบาทปองร้ายเขา ๑  เห็นผิดจากคลองธรรม ๑

            ทุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติ

สุจริต คือ ความประพฤติชอบ  มี  ๓  อย่าง

            ๑. กายสุจริต               ประพฤติชอบด้วยกาย
            ๒. วจีสุจริต                  ประพฤติชอบด้วยวาจา
            ๓. มโนสุจริต                ประพฤติชอบด้วยใจ          

            ๑. กายสุจริต คือความประพฤติชอบด้วยกาย ๓ อย่าง มีเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการลักทรัพย์ ๑ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
            ๒. วจีสุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยวาจา ๔ อย่าง มีเว้นจากการพูดเท็จ ๑ เว้นจากการพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากการพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
            ๓. มโนสุจริต  คือความประพฤติชอบด้วยใจ ๓ อย่าง มีไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑ เห็นชอบตามคลองธรรม ๑

            สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ

อกุศลมูล หมายถึง รากเหง้าของอกุศล มี ๓ อย่าง

            ๑. โลภะ                      อยากได้ของเขา
            ๒. โทสะ                      คิดประทุษร้ายเขา
            ๓. โมหะ                      หลงไม่รู้จริง

            ๑. ความอยากได้สิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตน ชื่อว่า โลภะ  เมื่อมีโลภะ  ความไม่ดีอย่างอื่น  เช่น ความมักได้ ความมักมาก ความตระหนี่และการปล้นทรัพย์เป็นต้น  ก็เกิดขึ้น
            ๒. ความคิดร้ายต่อผู้อื่น ชื่อว่า โทสะ เมื่อมีโทสะแล้ว ความไม่ดีอย่างอื่น เช่น ความจองล้างจองผลาญ ความจองเวร การทำร้าย และการฆ่า เป็นต้น  ก็เกิดขึ้น 
            ๓. ความหลงไม่รู้จริงว่า อะไรผิด อะไรถูก ชื่อว่า โมหะ เมื่อมี โมหะแล้ว ความไม่ดีอย่างอื่น เช่น ความลบหลู่คุณท่าน ความตีเสมอ  ความถือดีและความเห็นผิดเป็นชอบเป็นต้น ก็เกิดขึ้น

            อกุศลมูลทั้ง  ๓  เหล่านี้  อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่แล้ว  อกุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย

กุศลมูล หมายถึง  รากเหง้าของกุศล มี ๓ อย่าง

            ๑. อโลภะ                    ไม่อยากได้ของเขา
            ๒. อโทสะ                    ไม่คิดประทุษร้ายเขา
            ๓. อโมหะ                    ไม่หลงงมงาย

            ๑. ความไม่อยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน ชื่อว่า อโลภะ เมื่อมีอโลภะแล้ว ความดีอย่างอื่น คือ ความไม่อยากได้ของคนอื่น ความยินดีด้วยสมบัติของตน ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ และความสุจริตเป็นต้น ก็เกิดขึ้น      
            ๒. ความไม่คิดร้ายเขา ชื่อว่า อโทสะ เมื่อมีอโทสะแล้ว ความดีอย่างอื่น คือ ความเมตตากรุณา ความไม่จองล้างจองผลาญ การพูดอ่อนโยน การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นต้น ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
            ๓. ความไม่หลง คือ ความรู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรผิด อะไรถูก เป็นต้น  ชื่อว่า อโมหะ เมื่อมีอโมหะแล้วความดีอย่างอื่น คือ ความพลอยยินดี ความว่าง่ายสอนง่าย และความเห็นชอบตาม คลองธรรม เป็นต้น ก็เกิดขึ้น

            กุศลมูลทั้ง ๓ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่แล้ว ความดีอย่างอื่น ดังกล่าวนั้น ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้น ควรให้เกิดมีในสันดาน

สัปปุริสบัญญัติ คือ ข้อที่สัตบุรุษตั้งไว้ มี ๓ อย่าง

            ๑. ทาน            สละสิ่งของของตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
            ๒. ปัพพัชชา    ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียน กันและกัน
            ๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน    ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข

            ๑. การให้ปันสิ่งของที่ควรให้ ชื่อว่า ทาน  ทานของสัตบุรุษ ชื่อ สัปปุริสทาน มี ๕ อย่าง คือ ให้ด้วยความศรัทธา ๑ ให้ด้วยความเคารพต่อผู้รับและสิ่งของที่ตนให้ ๑ ให้ตามเวลาที่ควรให้ ๑ ให้ด้วยใจอนุเคราะห์ ๑ ให้โดยไม่กระทบกระเทือนตนและผู้อื่น ๑
            ๒. การเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ชื่อว่า ปัพพัชชา ในบาลีแสดงความหมายแห่งปัพพัชชาไว้ ๓ ประการ คือ อหิงสา ความไม่เบียดเบียน ๑  สัญญมะ ความสำรวม ๑  ทมะ ความฝึกตน ๑
            ๓. การปรนนิบัติมารดาบิดา ด้วยประพฤติอ่อนน้อม ด้วยการรับใช้ ด้วยการเชื่อฟังตั้งอยู่ในโอวาท และด้วยการบำรุงตามหน้าที่ ของบุตร ๕ ประการ คือ เลี้ยงท่านตอบ ๑ ทำกิจของท่าน ๑ ดำรงวงศ์สกุล ๑ ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับมรดก ๑ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน ๑ อย่างนี้ ชื่อว่า มาตาปิตุอุปัฏ-ฐาน

            ธรรม ๓ อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัณฑิตบัญญัติ

บุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ มี ๓ อย่าง

            ๑. ทานมัย       บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
            ๒. สีลมัย         บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
            ๓. ภาวนามัย   บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

            บุญกิริยาวัตถุนี้ โดยย่อมี ๓  อย่าง  โดยพิสดารมี ๑๐ อย่างซึ่งจะปรากฏในหมวด ๑๐ ข้างหน้า

            ๑. การบริจาคสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน มี ๑๐ อย่าง คือ ข้าว น้ำ ผ้า พาหนะ มาลัย ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และประทีป การถวายจตุปัจจัยแก่พระภิกษุสามเณรเพื่อบูชาคุณก็ดี  ให้แก่ผู้ทำอุปการะก่อนมีมารดาบิดาเป็นต้น ตอบแทนคุณก็ดี ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก เพื่ออนุเคราะห์ก็ดี ชื่อ ทานมัย
            ๒. การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย  คือ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต เช่น รักษาศีล ๕ ศีล ๘ หรืออุโบสถศีลของคฤหัสถ์  และรักษาศีล ๑๐ ของสามเณร รักษาศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ ชื่อ สีลมัย
            ๓. การอบรมจิตยังกุศลให้เกิดขึ้นในสันดาน  การเจริญสมถะ ทำใจให้สงบจากนิวรณ์ การเจริญวิปัสสนาใช้ปัญญาพิจารณา ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ชื่อ ภาวนามัย

ปัญหาและเฉลยหมวด ๓

๑. ชาวพุทธมีอะไร เป็นสรณะ ?
            ก. ไตรสิกขา                 ข. ไตรมาส
            ค. ไตรลักษณ์              ง. ไตรรัตน์

๒. พระธรรม  คืออะไร ?
            ก. หนังสือธรรมะ         ข. คัมภีร์เทศน์
            ค. คำสุภาษิต               ง. คำสั่งสอน

๓.  องค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา คืออะไร ?
            ก. พระพุทธเจ้า            ข. พระธรรม
            ค. พระสงฆ์                 ง. พระรัตนตรัย

๔.  คำว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ตรงกับข้อใด ?
            ก. พระพุทธเจ้า            ข. พระธรรม
            ค. พระสงฆ์                 ง. พระสาวก

๕.  พระบริสุทธิคุณ เป็นคุณของข้อใด ?
            ก. พระสงฆ์                 ข. พระธรรม
            ค. พระอรหันต์             ง. พระพุทธเจ้า

๖. การนับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกเรียกว่าอะไร ?
            ก. ไตรรัตน์                   ข. ไตรปิฎก
            ค. ไตรสิกขา                 ง. ไตรสรณคมน์

๗.  พระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์  ได้ชื่อว่ารัตนะเพราะเหตุไร ?
            ก.  มีราคาดี                 ข.  มีคุณค่าน่านิยม
            ค.  มีความขลังดี          ง.  มีคนรู้จักดี

๘. ข้อใด  เป็นคุณแห่งพระธรรม ?
            ก. ของจริงที่มีอยู่ในโลก          
            ข. รักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว
            ค. เป็นธรรมดาของโลก                      
            ง. ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในใจ

๙. สงฆ์ในคำว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ” หมายถึงใคร ?
            ก. ภิกษุสงฆ์                ข. ภิกษุณีสงฆ์
            ค. อริยสงฆ์                  ง. สมมติสงฆ์

๑๐. ผู้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยแล้วสอนผู้อื่นตรงกับข้อใด ?
            ก. พุทธบริษัท              ข. พระอรหันต์
            ค. ภิกษุณี                    ง. พระสงฆ์

๑๑. โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง ตรงกับข้อใด ?
            ก. ทาน ศีล  ภาวนา                            
            ข. ศีล  สมาธิ  ปัญญา
            ค. ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์                       
            ง. อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

๑๒. โอวาทของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักการ  คืออะไร  ?
            ก. ไม่คบคนชั่ว  คบคนดี  มีเมตตา      
            ข. ไม่ทำชั่ว  ทำดี  กตัญญู
            ค. ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส         
            ง. ทำดี ทำใจให้ผ่องใส  มีสัตย์

๑๓. คำสอนที่เป็นโอวาทปาฏิโมกข์ ตรงกับข้อใด ?
            ก. ทาน ศีล ภาวนา                 
            ข. ศีล  สมาธิ  ปัญญา
            ค. อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา       
            ง. ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส

๑๔. การประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ เรียกว่าอะไร ?
            ก. อกุศลมูล                 ข. ทุจริต
            ค. บาป                        ง. มลทิน

๑๕. คนต้มตุ๋น หลอกลวง ใช้วจีทุจริตข้อใด ?
            ก. พูดเท็จ                    ข. พูดส่อเสียด
            ค. พูดคำหยาบ            ง. พูดเพ้อเจ้อ

๑๖. วจีทุจริตข้อใด  เป็นเหตุให้หมู่คณะเกิดความแตกร้าว ?
            ก. พูดเท็จ                    ข. พูดส่อเสียด
            ค. พูดคำหยาบ            ง. พูดเพ้อเจ้อ

๑๗. การเว้นจากกายทุจริตและวจีทุจริต จัดเข้าในข้อใด ?
            ก. ทาน                         ข. ศีล
            ค. สมาธิ                      ง. ปัญญา

๑๘. ทุจริต  หมายถึงการประพฤติเช่นไร ?
            ก. กาย วาจา ชอบ                   ข. กาย วาจา มิชอบ
            ค. กาย วาจา ใจ ชอบ              ง. กาย วาจา ใจ มิชอบ

๑๙. นักเรียนสั่งซื้อยาบ้าเพื่อจะเสพ จัดเป็นทุจริตข้อใด ?
            ก. กายทุจริต                            ข. วจีทุจริต
            ค. มโนทุจริต                            ง. ถูกทุกข้อ

๒๐. “ยุให้รำ  ตำให้รั่ว” เป็นลักษณะของคำพูดในข้อใด ?
            ก. พูดเท็จ                                ข. พูดคำหยาบ
            ค. พูดส่อเสียด                         ง. พูดเพ้อเจ้อ

๒๑. ทุจริต ๓ อย่าง  เป็นธรรมประเภทใด ?
            ก. ธรรมที่ควรศึกษา                 ข. ธรรมที่ควรละ
            ค. ธรรมที่ควรรู้                         ง. ธรรมที่ควรเห็น

๒๒. “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต” ตรงกับวจีสุจริตข้อใด ?
            ก. ไม่พูดเท็จ                            ข. ไม่พูดส่อเสียด
            ค. ไม่พูดคำหยาบ                    ง. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

๒๓.  การกระทำข้อใด จัดเป็นมโนสุจริต ?
            ก. คิดดี                                    ข. ทำดี
            ค. พูดดี                                    ง. อวดดี

๒๔. อกุศลมูลข้อใด เป็นเหตุให้คนขายยาบ้า ?
            ก. โลภะ                                   ข. โทสะ
            ค. โมหะ                                   ง. ราคะ

๒๕. วัยรุ่นไม่เข้าแหล่งอบายมุข  เพราะมีกุศลมูลข้อใด ?
            ก. อโลภะ                                ข. อโทสะ
            ค. อโมหะ                                 ง. ข้อ ก. ข้อ ข. ถูก

๒๖. คนมีโทสะเป็นเจ้าเรือน มีลักษณะเช่นไร ?
            ก. เป็นคนเห็นแก่ได้                 ข. เป็นคนเจ้าอารมณ์
            ค. เป็นคนเชื่องมงาย               ง. เป็นคนเจ้าระเบียบ

๒๗. “ประมาทจิต จะติดยาบ้า” เพราะไม่ละอกุศลธรรมข้อใด ?
            ก. กายทุจริต                ข. วจีทุจริต
            ค. มโนทุจริต                ง. ความเห็นผิด

๒๘. วัยรุ่นควรระวังใจอย่างไร จึงจะไม่มัวเมา ไม่มั่วอบายมุข ?
            ก. มิให้กำหนัด             ข. มิให้ขัดเคือง
            ค. มิให้หลง                  ง. มิให้มัวเมา

๒๙. มูลเหตุแห่งความผิดของคน คืออะไร ?
            ก. โลภะ โทสะ โมหะ               ข. มานะ โทสะ  โมหะ
            ค. ราคะ โทสะ โมหะ                ง. ตัณหา ราคะ  ทิฏฐิ

๓๐. ฉ้อราษฎร์บังหลวง  มีอะไรเป็นมูลเหตุ ?
            ก. โลภะ โทสะ                         ข. โลภะ ตัณหา
            ค. โลภะ ทิฏฐิ                          ง. โลภะ โมหะ

๓๑. คำว่า “อารมณ์เสีย อารมณ์เน่า” เทียบได้กับข้อใด ?
            ก. มานะ                                  ข. โกธะ
            ค. โลภะ                                   ง. พยาบาท

๓๒.  กุศลมูลข้อใด เป็นเหตุให้คนบำเพ็ญทานเพื่อกำจัดความโลภ ?
            ก. อโลภะ                                ข. อโทสะ
            ค. อโมหะ                                 ง. ถูกทุกข้อ

๓๓.  คนไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักเต็ม ด้วยปัจจัย ๔  จัดเป็นคนเช่นไร ?
            ก. คนมีมานะ                           ข. คนมีโลภะ
            ค. คนมีโทสะ                           ง. คนมีโมหะ

๓๔.  คนไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว จัดเป็นคนเช่นไร ?
            ก. คนมีโมหะ                           ข. คนมีโทสะ
            ค. คนไม่มีฉันทะ                      ง. คนมีโลภะ

๓๕. การไม่ถือสาหาโทษ อโหสิต่อกัน จัดเป็นทานประเภทใด ?
            ก. อภัยทาน                             ข. ธรรมทาน
            ค. สังฆทาน                             ง. วัตถุทาน

๓๖. การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จัดเป็นสัปปุริสบัญญัติข้อใด ?
            ก. ทาน                                     ข. ปัพพัชชา
            ค. มาตาปิตุอุปัฏฐาน               ง. ไม่มีข้อถูก

๓๗. ข้อใด ไม่จัดเข้าในสัปปุริสบัญญัติ ?
            ก. ทาน                                     ข. ศีล
            ค. ปัพพัชชา                             ง. มาตาปิตุอุปัฏฐาน

๓๘. ท่านสอนให้คบสัตบุรุษ  คือคบคนเช่นไร ?
            ก. คนรู้จักทำมาหากิน              ข. คนขยัน ไม่เกียจคร้าน
            ค. คนมีน้ำใจแบ่งปัน               ง. คนทำดี พูดดี คิดดี

๓๙. ศีล  ย่อมควบคุมอะไรไว้ได้ ?
            ก. กาย  ใจ                               ข. วาจา ใจ
            ค. กาย  วาจา  ใจ                    ง. กาย  วาจา

๔๐. การฟังเทศน์ จัดเข้าในการทำบุญประเภทใด ?    
            ก. ทานมัย                                ข. สีลมัย
            ค. ภาวนามัย                           ง. อนุโมทนามัย

๔๑. สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าอะไร ?
            ก. บุญกิริยา                            ข. บุญวัตถุ
            ค. สังคหวัตถุ                           ง. บุญกิริยาวัตถุ

๔๒. การสวดมนต์ จัดเข้าในการทำบุญประเภทใด ?
            ก. ทานมัย                                ข. สีลมัย
            ค. ภาวนามัย                           ง. ธัมมเทสนามัย

๔๓. คนมีบุญ  คือคนเช่นไร ?
            ก. มีลาภ  มียศ                        ข. มีคนสรรเสริญ
            ค. ไม่มีคนนินทา                       ง. สุขกาย สุขใจ

๔๔.  ข้อใด กล่าวไม่ถูกต้อง ?
            ก.  ภาวนากำจัดโมหะ             ข. ศีลกำจัดความหลง
            ค.  ศีลกำจัดความโกรธ           ง. ทานกำจัดความโลภ

๔๕. ผู้มีเมตตาดี ไม่มีเวรภัยแก่ใคร ไม่มักโกรธ เพราะทำบุญอะไร ?
            ก.  ให้ทาน                               ข. รักษาศีล
            ค.  เจริญภาวนา                      ง. วางอุเบกขา

เฉลย   ๑. ง     ๒. ง     ๓. ง     ๔. ก     ๕. ง     ๖. ง     ๗. ข     ๘. ข     ๙. ค     ๑๐. ง   ๑๑. ค  ๑๒. ค  ๑๓. ง ๑๔. ข  ๑๕. ก  ๑๖. ข  ๑๗. ข  ๑๘. ง ๑๙. ข  ๒๐. ค   ๒๑. ข  ๒๒. ค  ๒๓. ก  ๒๔. ก  ๒๕. ค  ๒๖. ข  ๒๗. ง  ๒๘. ง  ๒๙. ก  ๓๐. ง   ๓๑. ข  ๓๒. ก  ๓๓. ข  ๓๔. ก  ๓๕. ก  ๓๖. ข  ๓๗. ข  ๓๘. ง  ๓๙. ง  ๔๐. ค   ๔๑. ง  ๔๒. ค  ๔๓. ง  ๔๔. ข  ๔๕. ข

 

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฑฒิ คือ เหตุแห่งความเจริญ ๔ อย่าง

            ๑. สัปปุริสสังเสวะ       คบสัตบุรุษ
            ๒. สัทธัมมัสสวนะ       ฟังคำสั่งสอนของท่าน
            ๓. โยนิโสมนสิการ       ไตร่ตรองโดยอุบายที่ชอบ
            ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ  ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

            ๑. สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การคบหากับสัตบุรุษ (คนดีมีคุณธรรม) คือ การแสวงหาครูดีเมื่อพบแล้วก็เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ หมั่นไปมาหาสู่สนทนาไต่ถามด้วยความมีใจใฝ่รู้จริงๆ (หาครูดี)
            ๒. สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง การตั้งใจฟังคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษด้วยความเคารพนอบน้อม (ฟังคำครู)
            ๓. โยนิโสมนสิการ หมายถึง การไตร่ตรองพิจารณาหมวด ธรรมของสัตบุรุษด้วยปัญญาว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด และพิจารณาเหตุผลว่า การทำเหตุเช่นนี้จะได้รับผลเช่นไร เป็นต้น (ตรองคำครู)
            ๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง การปฏิบัติตามธรรมที่สมควรแก่ธรรมที่เราสามารถนำมาปฏิบัติได้ เพราะเมื่อเราได้พบครูดี ได้ฟังคำสอน นำมาไตร่ตรองจนสุดท้ายสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเห็นผลได้จริง (ทำตามครู)

            สรุป วุฑฒิธรรม ๔ ข้อนี้เป็นหลักการส่งเสริมให้ถึงความเจริญก้าวหน้า เริ่มต้นด้วยการแสวงหาครูดี ได้ฟังคำครู ไตร่ตรองคำที่ครูสอน จนนำมาปฏิบัติได้จริง

จักร คือ ธรรมเป็นดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ ๔ อย่าง

            ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ      อยู่ในประเทศอันสมควร
            ๒. สัปปุริสูปัสสยะ      คบสัตบุรุษ
            ๓. อัตตสัมมาปณิธิ      ตั้งตนไว้ชอบ
            ๔. ปุพเพกตปุญญตา  ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน

            ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศที่สมควร  อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร  เหมาะกับการประกอบอาชีพ มีสถานศึกษา โรงพยาบาล วัดวาอารามที่ดี มีเพื่อนบ้านที่ดี มีคุณธรรม ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
            ๒. สัปปุริสูปัสสยะ หมายถึง การเข้าไปคบค้าสมาคมกับสัตบุรุษ (คนดี) เมื่อเข้าไปหาแล้วก็ฟังคำแนะนำสั่งสอนของ ท่านโดย เคารพ และนำมาปฏิบัติให้เกิดผลจริง
            ๓. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ในความดี เริ่มตนที่ใจ คือ ต้องมีศรัทธา มีศีล มีสุตะ มีจาคะ และมีปัญญา มีเป้าหมายชีวิต ส่วนร่างกาย คือ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง
            ๔. ปุพเพกตปุญญตา  หมายถึง  ความเป็นผู้มีบุญความดีที่ได้ทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ  ทำให้ชาติปัจจุบันได้รับความสุข ความเจริญไม่มีอุปสัคอะไรมากีดขวาง

            สรุป จักร ๔ นี้ เป็นธรรมที่นำผู้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญ สุขสมหวัง และถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

อคติ คือ ความไม่เที่ยงธรรม มี ๔ อย่าง

            ๑. ฉันทาคติ     ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน
            ๒. โทสาคติ      ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน
            ๓. โมหาคติ      ลำเอียงเพราะโง่เขลา
            ๔. ภยาคติ       ลำเอียงเพราะกลัว          

            ๑. ฉันทาคติ หมายถึง ความลำเอียงโดยถือเอาความรักใคร่พอใจของตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้เสียความยุติธรรม เช่น การตัดสินคดีความทำให้คนผิดเป็นถูก คนถูกเป็นผิด เป็นต้น
            ๒. โทสาคติ หมายถึง ความลำเอียงโดยถือเอาความเกลียดชังไม่ชอบกันเป็นที่ตั้ง จนทำให้เสียความยุติธรรม เพราะลุอำนาจความเกลียดชัง เช่นคอยขัดขวางความเจริญของผู้อื่น เป็นต้น
            ๓. โมหาคติ หมายถึง ความลำเอียงด้วยความโง่เขลาเบาปัญญารู้เท่าไม่ถึงการณ์   เป็นคนเชื่อคนง่าย  จนทำให้คิดไม่รอบคอบจนทำเสียความยุติธรรม เช่นด่วนตัดสินใจลงโทษผู้ไม่ได้ทำความผิดเพราะได้ฟังข่าวมา เป็นต้น
            ๔. ภยาคติ หมายถึง ความลำเอียงด้วยความกลัว หรือเกรงใจ จึงทำให้เกิดความลังเล โลเล สงสัย ไม่มีความมั่นคงในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่น จนทำให้เสียความยุติธรรม เช่น ไม่กล้าลงโทษผู้ทำความผิดเพราะเป็นลูกหลานของผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

            สรุป  จะเป็นคนที่เที่ยงธรรมได้พึงเว้นเสียให้ไกลจากอคติ ๔ ข้อนี้เสีย  เพราะเมื่อทำข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็เป็นเหตุให้เสียความ ยุติธรรม

ปธาน คือ ความเพียรพยายามในทางที่ชอบ ๔ อย่าง

            ๑. สังวรปธาน   เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน
            ๒. ปหานปธาน   เพียรระวังบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
            ๓. ภาวนาปธาน   เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
            ๔. อนุรักขนาปธาน  เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

            ๑. สังวรปธาน หมายถึง ความสำรวมระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นนั้นคือ การสำรวมระวังให้อินทรีย์  ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดี ยินร้าย หลงมัวเมา จนไม่กล้าทำความชั่วได้
            ๒. ปหานปธาน หมายถึง ความตั้งใจละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไป สิ่งที่ไม่ดีต่างๆที่ติดอยู่ในใจ พยายาม ลด ละ เลิก ให้หมดไปจากสันดาน
            ๓. ภาวนาปธาน หมายถึง ความตั้งใจทำสิ่งที่เป็นความดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
            ๔. อนุรักขนาปธาน หมายถึง ความเพียรตั้งใจรักษาบุญกุศลความดีงามที่มีอยู่แล้วในตนไม่ให้เสื่อมไป  หมั่นรักษาความดีงามนั้นให้ตั้งมั่นอยู่ในจิตใจตลอดไป

            สรุป ปธาน ๔ ข้อนี้ เป็นความเพียรชอบเพื่อประคับประครองตนไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท  ให้ดำรงตนอยู่ในเส้นทางแห่ง ความดี

อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง

            ๑. ปัญญา       รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
            ๒. สัจจะ          ความจริงใจ คือ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
            ๓. จาคะ          ความสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
            ๔. อุปสมะ       ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

            ๑. ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ถึงเหตุและผล ว่า เมื่อทำเหตุอย่างนี้ย่อมได้ผลเช่นนี้ สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งนี้เป็นบุญ สิ่งนี้เป็นบาป ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ทั้งภายในตัว ภายนอกตัว ปัญญาเกิดขึ้นได้ ๓ ทางคือ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง ๑   จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากความคิด ๑   ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการเจริญภาวนา ๑
            ๒. สัจจะ หมายถึง ความจริงใจ หรือ ความสัตย์จริง ไม่ว่าจะคิด พูด ทำอะไรก็คิด พูด ทำสิ่งนั้นจริงๆและย่อมได้รับผลจริงๆ
            ๓. จาคะ หมายถึง การสละสิ่งของ สละอารมณ์ ที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจนั้นคือ สละอคติ ๔ อย่างที่จะทำให้ตัวเรานั้นเสียสัจจะไป ฉะนั้นจึงต้องสละเสีย
            ๔. อุปสมะ หมายถึง ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึก อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น มักจะมาขัดขวางต่อการทำจิตให้สงบ

            สรุป ธรรมะ ๔ ข้อนั้น เป็นธรรมะที่ทำให้เราไม่ประมาท ในการศึกษา ในการรักษาสัจจะ ในการสละ และในการทำจิตใจให้สงบ

อิทธิบาท คือ คุณเครื่องที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง

            ๑. ฉันทะ          พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
            ๒. วิริยะ           เพียรประกอบสิ่งนั้น
            ๓. จิตตะ          เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
            ๔. วิมังสา        หมั่นตรึกตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

            ๑. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้นๆหรือปลูก ความรักให้เกิดขึ้นในด้านการศึกษาก็ดี ในการทำหน้าที่การงานก็ดี ที่เมื่อทำแล้วย่อมอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นไปเพื่อคุณงามความดี
            ๒. วิริยะ หมายถึง ความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งนั้นให้เสร็จด้วยความกล้าหาญ  แม้จะยากลำบากก็ตามต้องมุ่งมานะบากบั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่มาขัดขวาง ตั้งหน้าตั้งตาทำไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ
            ๓. จิตตะ หมายถึง การเอาใจฝักใฝ่ จดจ่อ มีสมาธิในสิ่งนั้นไม่วางธุระหากมีอุปสรรคเข้ามา ก็มีสติ สัมปชัญญะคอยกำกับอยู่เสมอไม่ปล่อยวาง
            ๔. วิมังสา หมายถึง การหมั่นตรึกตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำด้วยปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาถึงสิ่งที่ทำว่าถูกต้องหรือไม่  มีผลดีอย่างไรจากการทำสิ่งนั้น  ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

            สรุป ธรรม ๔ ข้อนี้ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกันต้องทำให้ครบทุกข้อจึงจะสมความประสงค์อย่างแน่นอน

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน

            ๑. ในการละกายทุจริต            ประพฤติกายสุจริต
            ๒. ในการละวจีทุจริต               ประพฤติวจีสุจริต
            ๓. ในการละมโนทุจริต            ประพฤติมโนสุจริต
            ๔. ในการละความเห็นผิด        ทำความเห็นให้ถูก

            ข้อ ๑-๓ มีอธิบายว่า การงดทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ ให้ทำความดีทาง กาย วาจา ใจ ด้วยความไม่ประมาท มีสติทุกเมื่อในขณะที่เรากำลังทำ  กำลังพูด  กำลังคิดอยู่ หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี พึงงดเว้นเสีย พึงทำแต่ความดียิ่งๆขึ้นไป
            ข้อ ๔ การละความเห็นผิดคือ ทำความเห็นให้ถูก หมายถึง การละความเห็นผิดที่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ เป็นต้น ที่คิดว่าเที่ยงแท้แน่นอนความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้นจึงมีความเห็นให้ถูกว่า ทุกชีวิตที่อยู่บนโลกนี้ล้วนเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง  
            ๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด
            ๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
            ๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
            ๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา          

            การระวังใจ  หมายถึง  มีสติรู้เท่าทันต่อความเป็นไปของใจ เช่น เกิดความกำหนัด ขัดเคือง หลง มัวเมา ก็รู้เท่าทัน ควบคุมใจให้ได้ อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ
            ๑. คำว่า  กำหนัด หมายถึง ความรักใคร่ ยินดีชอบใจอันมีราคะเป็นเหตุ
            ๒. คำว่า  ขัดเคือง  หมายถึง  ความเกลียดชัง ไม่ยินดี  ไม่ชอบใจ  อันมีโทสะเป็นเหตุ
            ๓. คำว่า หลง  หมายถึง  ความโง่เขลา  ขาดสติไม่มีความรอบคอบอันมีโมหะเป็นเหตุ
            ๔. คำว่า มัวเมา หมายถึง ความมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างไม่สร่างซา  อันมีมทะเป็นเหตุ

พรหมวิหาร คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ๔ อย่าง

            ๑. เมตตา                     ความรักใคร่
            ๒. กรุณา                     ความสงสาร
            ๓. มุทิตา                      ความพลอยยินดี
            ๔. อุเบกขา                 ความวางเฉย

            ๑. เมตตา หมายถึง ความรักที่ไม่เจือปนด้วยกาม เป็นความ รู้สึกที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ซึ่งมีลักษณะนำความสุขไปให้เขาโดยส่วนเดียวเป็นการไม่เจาะจง มีคุณสมบัติกำจัดความปองร้ายผู้อื่น
            ๒. กรุณา หมายถึง ความรู้สึกสงสาร จนทนไม่ได้เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความลำบาก มีลักษณะคิดขจัดทุกข์บำรุงสุขให้เขาส่วนเดียว  เป็นการไม่เจาะจง มีคุณสมบัติกำจัดความเบียดเบียนผู้อื่น
            ๓. มุทิตา หมายถึง ความรู้สึกชื่นชมยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดีสุขสมหวัง ไม่อิจฉา มีลักษณะคอยอนุโมทนาเขาส่วนเดียว เป็นการไม่เจาะจง มีคุณสมบัติกำจัดความอิจฉาริษยา
            ๔. อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกวางเฉย เป็นกลางไม่เอนเอียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฉยเมย มีลักษณะทำใจให้เป็นกลางต่อทุกสิ่ง เป็นการไม่เจาะจง มีคุณสมบัติกำจัดความกระทบกระทั่งผู้อื่น

            สรุป พรหมวิหารธรรมนี้ ผู้ใหญ่พึงเจริญอยู่เป็นนิตย์

อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ มี ๔ อย่าง

            ๑. ทุกข์                        ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
            ๒. สมุทัย                     เหตุให้ทุกข์เกิด
            ๓. นิโรธ                       ความดับทุกข์
            ๔. มรรค                       ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์          

            ๑. ทุกข์ หมายถึง สภาวะที่ทนได้ยาก ความทุกข์มีหลายประการ มีทั้งทุกข์จรและทุกข์ประจำ นำมาซึ่งความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ถึงความพลัดพลาดไม่รู้จักจบสิ้น
            ๒. สมุทัย หมายถึง ตัณหา คือ ความทะยานยาก ซึ่งเป็นเหตุให้ทุกข์ทั้งปวงเกิด ทั้งที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
            ๓. นิโรธ หมายถึง  ความดับตัณหาได้โดยสิ้นเชิง  เพราะเป็นเหตุดับทุกข์ทั้งปวง  เมื่อทุกข์ดับเพราะนิโรธ  ความสุขคือนิพพานก็ปรากฏ  แต่นิโรธเป็นผลของการดับตัณหา ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ใช้ในการดับทุกข์
            ๔. มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ) ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เจรจาชอบ(สัมมาวาจา) การงานชอบ(สัมมากัม-มันตะ)  เลี้ยงชีพชอบ(สัมมาอาชีวะ)  เพียรชอบ(สัมมาวายามะ) ตั้งสติชอบ(สัมมาสติ)  ตั้งใจชอบ(สัมมาสมาธิ)

            สรุป อริยสัจ ๔ สมุทัยกับมรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับนิโรธเป็นผล

ปัญหาและเฉลยหมวด ๔

๑. “คบคนดี ฟังวจีโดยเคารพ นอบนบด้วยพินิจ ทำกิจด้วยปฏิบัติ” ตรงกับข้อใด ?
            ก. วุฑฒิธรรม               ข. จักรธรรม
            ค. อิทธิบาทธรรม         ง. พรหมวิหารธรรม

๒. “คบคนดี ฟังวจีท่าน คิดอ่านปัญหา ค้นคว้าปฏิบัติ” คือข้อใด ?
            ก. วุฑฒิ ๔                   ข. จักร ๔
            ค. อิทธิบาท ๔             ง. ปธาน ๔

๓. อัตตสัมมาปณิธิ  ในจักร ๔ ตรงกับข้อใด ?
            ก. อยู่ในประเทศสมควร          ข. คบหาสัตบุรุษ
            ค. ตั้งตนไว้ชอบ                       ง. ได้ทำบุญไว้มาก

๔. คำว่า “บุญใหม่” ตรงกับข้อใด ?
            ก. อยู่ในประเทศสมควร          ข. คบสัตบุรุษ
            ค. ตั้งตนไว้ชอบ                       ง. ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน

๕. จะเป็นคนเที่ยงธรรมได้  ต้องเป็นคนเช่นไร ?
            ก. มีเมตตา กรุณา                   ข. กล้าได้  กล้าเสีย
            ค. มีอิทธิบาท ๔                       ง. ไม่มีอคติ ๔

๖. ผู้ตัดสินคดีด้วยความเกลียดชัง ถือว่าตั้งอยู่ในอคติข้อใด ?
            ก. ฉันทาคติ                             ข. โทสาคติ
            ค. โมหาคติ                              ง. ภยาคติ

๗. หากนักเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่น  ควรประพฤติตนอย่างไร ?
            ก. ระวังไม่ทำความชั่ว              ข. ละเลิกทำความชั่ว
            ค. พยายามทำดีเข้าไว้             ง. รักษาความดีมิให้เสื่อม

๘. ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร  เป็นลักษณะของอคติข้อใด ?
            ก. ฉันทาคติ                             ข. โทสาคติ
            ค. โมหาคติ                              ง. ภยาคติ

๙. “ผมเป็นลูกนายตำรวจครับ” การโอ้อวดเช่นนี้ เป็นเหตุให้เกิดอคติข้อใด ?
            ก. ฉันทาคติ                             ข. โทสาคติ
            ค. ภยาคติ                               ง. โมหาคติ

๑๐. อกุศลธรรมข้อใด เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เสียความยุติธรรม ?
            ก. พยาบาท                             ข. กามฉันทะ
            ค. วิจิกิจฉา                              ง. ฉันทาคติ

๑๑. ข้อใด ตรงกับสังวรปธาน ?
            ก. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว  
            ข. เพียรระวังมิให้บาปเกิดขึ้น
            ค. เพียรให้กุศลเกิดขึ้น            
            ง. เพียงรักษากุศลที่เกิดขึ้นไม่ให้เสื่อม

๑๒. คนที่รักษาความดีของตนไว้  ดุจเกลือรักษาความเค็ม ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักของปธานธรรมข้อใด ?
            ก. เพียรระวังบาปไม่ให้เกิด       ข. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
            ค. เพียรให้กุศลเกิดขึ้น               ง. เพียรรักษากุศลไม่ให้เสื่อม

๑๓. คนต้องการเลิกเสพยาบ้า  ควรเจริญอธิษฐานธรรมข้อใด ?
            ก. รักษาสัจจะ                         ข. รู้จักโทษของยาบ้า
            ค. สงบสติอารมณ์                   ง. ข้อ ก. ข้อ ข. ถูก

๑๔. “สงบใจ เจริญสุข” หมายถึงอธิษฐานธรรมข้อใด ?
            ก. ปัญญา                               ข. สัจจะ
            ค. จาคะ                                   ง. อุปสมะ

๑๕. “จะทำงานให้สำเร็จต้องมีเคล็ดปลุกใจ” ข้อใดคือเคล็ดปลุกใจ ?
            ก. ฉันทะ                                  ข. วิริยะ
            ค. จิตตะ                                  ง. วิมังสา

๑๖. อิทธิบาทข้อใด เป็นพื้นฐานนำไปสู่ความสำเร็จของงาน ?
            ก. ฉันทะ                                  ข. วิริยะ
            ค. จิตตะ                                  ง. วิมังสา

๑๗. การเอาใจฝักใฝ่ในการศึกษาไม่วางธุระ คือข้อใด ?
            ก. ฉันทะ                                  ข. วิริยะ
            ค. จิตตะ                                  ง. วิมังสา

๑๘.  คนที่ได้รับความสำเร็จในชีวิต เนื่องมาจากธรรมข้อใด ?
            ก. ปธาน ๔                             ข. จักร ๔
            ค. วุฑฒิ ๔                              ง. อิทธิบาท ๔

๑๙. “เมตตาพารัก โลกประจักษ์ยั่งยืน” หมายถึงความรักในข้อใด ?
            ก. รักคนและสัตว์                    ข. รักธรรมชาติ
            ค. รักการเรียน                         ง. รักประชาธิปไตย

๒๐. เมื่อเห็นตำรวจจับกุมผู้ทำความผิดได้  ควรเจริญพรหมวิหารข้อใด ?
            ก. เมตตา                                 ข. กรุณา
            ค. มุทิตา                                  ง. อุเบกขา

๒๑. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนกัน ตรงกับพรหมวิหารข้อใด ?
            ก. เมตตา                                 ข. กรุณา
            ค. มุทิตา                                  ง. อุเบกขา

๒๒. การช่วยคนประสบทุกข์  จัดเป็นพรหมวิหารข้อใด ? 
            ก. เมตตา                                 ข. กรุณา
            ค. มุทิตา                                  ง. อุเบกขา

๒๓. การให้รางวัลแก่นักกีฬาที่ได้เหรียญทองเป็นพรหมวิหารข้อใด ?
            ก. เมตตา                                 ข. กรุณา
            ค. มุทิตา                                  ง. อุเบกขา

๒๔. ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง  ทุกข์ดับไปหมดชื่อว่าอะไร ?
            ก. ทุกข์                                                ข. สมุทัย
            ค. นิโรธ                                    ง. มรรค

๒๕. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ  คืออะไร ?
            ก. เห็นอริยสัจ                          ข. เห็นอริยทรัพย์
            ค. เห็นอริยสงฆ์                       ง. เห็นอริยสาวก

๒๖. ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ  เรียกว่าอะไรในอริยสัจ ๔ ? 
            ก. ทุกข์                                                ข. สมุทัย
            ค. นิโรธ                                    ง. มรรค

เฉลย  ๑. ก     ๒. ก     ๓. ค     ๔. ค     ๕. ง     ๖. ข     ๗. ง     ๘. ก     ๙. ค     ๑๐. ง     ๑๑. ข ๑๒. ง  ๑๓. ก  ๑๔. ง  ๑๕. ก  ๑๖. ก  ๑๗. ค  ๑๘. ง  ๑๙. ก  ๒๐. ง      ๒๑. ข  ๒๒. ข  ๒๓. ค  ๒๔. ค  ๒๕. ก  ๒๖. ก

Leave a comment

You are commenting as guest.


49548641
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7802
74778
123658
49159770
688291
1074106
49548641

Your IP: 49.229.234.121
2025-01-21 07:51
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search