ธรรมวิภาค คิหิปฏิบัติ หมวด ๔-๖ (จบ)

คิหิปฏิบัติ จตุกกะ คือหมวด ๔

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง

            ๑. อุฏฐานสัมปทา          ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
            ๒. อารักขสัมปทา          ถึงพร้อมด้วยการรักษา
            ๓. กัลยาณมิตตตา          ความมีเพื่อนเป็นคนดี
            ๔. สมชีวิตา                 ความเลี้ยงชีวิตตามสมควร

             ๑. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษา ในการประกอบอาชีพการงาน ในการทำหน้าที่ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในหน้าที่ของตน
            ๒. อารักขสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยรักษา รู้คุณค่าของสิ่งต่างๆที่หามาได้ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ความรู้ เป็นต้น รู้จักเก็บรักษาดูแลให้ดี ใช้อย่างมีประโยชน์ เกิดเป็นความสุข
            ๓. กัลยาณมิตตตา หมายถึง ความมีเพื่อนเป็นคนดี คือ คบบัณฑิต ไม่คบคนพาล
            ๔. สมชีวิตา หมายถึง เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ แต่พอเหมาะพอควร ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย

            สรุป  ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหัวใจที่ทำให้เป็นเศรษฐี

มีบทย่อว่า อุ อา กะ สะ

สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภพชาติหน้า ๔ ประการ

            ๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ มีความเชื่อใน สิ่งที่ควรเชื่อ เช่น ทำดีย่อมได้ผลดีจริง ทำชั่วย่อมได้ผลชั่วจริง
            ๒. สีลสัมปทา  ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ด้วยการรักษาศีล ๕  ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
            ๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน คือ การบริจาคสิ่งของของตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
            ๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ มีปัญญาสอนตนเองได้ว่า สิ่งนี้เป็นบาป ควรเว้น สิ่งนี้เป็นบุญควรทำ เป็นต้น 


ฅมิตรปฏิรูป
  คือ  มิตรเทียมหรือคนเทียมมิตร  ไม่ควรคบ  มี ๔ จำพวก

๑. คนปอกลอก มี ๔ ลักษณะ คือ
             ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว คือ มุ่งหวังผลประโยชน์จากเพื่อน
             ๒. เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก คือ เอารัดเอาเปรียบเพื่อน
             ๓. เมื่อมีภัยมาถึงตัว จึงรับทำกิจของเพื่อน คือ ยามมีทุกข์   นึกถึงเพื่อน มีสุขลืมเพื่อน
             ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตน คือ เมื่อมีประโยชน์ต่อกันอยู่ก็คบเป็นเพื่อน พอหมดประโยชน์   แล้วก็ไม่สน

๒. คนดีแต่พูด มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. เก็บเอาของที่ล่วงแล้วมาปราศรัย คือ ดีแต่พูดไม่มีผล ในปัจจุบัน
            ๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย คือ พูดแต่เรื่องที่ไม่มี ความแน่นอน
            ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ คือ ช่วยเหลือเพื่อน ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
            ๔. ออกปากพึ่งมิได้ คือ ยามเพื่อนเดือดร้อนมักมีข้ออ้างเสมอ 

๓. คนหัวประจบ มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม คือทำความชั่วตามเพื่อนเมื่อมีภัยหนีเอาตัวรอด
            ๒. จะทำดีก็คล้อยตาม คือ ทำความดีตามเพื่อนอย่างเสียไม่ได้
            ๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ คือ สรรเสริญเยินยอว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้
            ๔. ลับหลังนั่งนินทา คือ พอลับหลังก็นินทาว่าร้ายเพื่อนเก็บความลับไม่อยู่

๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา คือ ชวนดื่มน้ำเมาเสพติดให้โทษ
            ๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน คือ ชวนเที่ยวกลางคืนในสถานบันเทิงต่างๆ
            ๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น คือ เล่นจนเพลินไม่ดูเวลา
            ๔. ชักชวนเล่นการพนัน คือ ชวนเล่นการพนัน ทำให้เสียทรัพย์ 

มิตรแท้ คือ มิตรที่ดีหรือกัลยาณมิตร มี ๔ จำพวก

๑. มิตรมีอุปการะ มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว คือ มีสติช่วยเหลือเพื่อนเมื่อได้รับอันตราย
            ๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว คือ ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด
            ๓. เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ คือไม่ทิ้งเพื่อน
            ๔. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก คือ ช่วยเหลือเพื่อนด้วยความจริงใจ

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน คือ เป็นคนเปิดเผยจริงใจ
            ๒. ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย คือ ไม่ขายเพื่อน
            ๓. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ คือ เพื่อนเดือนร้อนก็รีบขวนขวายช่วยเหลือ
            ๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้ คือ เมื่อเพื่อนตกอยู่ในอันตรายก็ช่วยเหลือไม่คำนึงถึงชีวิตตน

๓. มิตรแนะประโยชน์ มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว คือ ชี้แจงให้เห็นโทษของการทำความชั่ว
            ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ความดี คือ ชี้แจงผลที่ได้จากการทำความดีอยู่เสมอ
            ๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง คือ หมั่นเล่าเรื่องดีๆมีประโยชน์ให้เพื่อนฟัง
            ๔. บอกทางสวรรค์ให้ คือ ชักชวนในการบำเพ็ญกุศล เช่น ทำทาน เป็นต้น

๔. มิตรมีความรักใคร่ มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑. ทุกข์ ทุกข์ด้วย คือ ร่วมทุกข์
            ๒. สุข สุขด้วย คือ ร่วมสุข
            ๓. โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน คือ ปกป้องเพื่อนไม่ให้ใครว่าร้าย
            ๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน คือ ยินดีที่ผู้อื่นสรรเสริญเพื่อน

สังคหวัตถุ คือ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น  ๔ อย่าง

             ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน คือ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยวัตถุบ้าง  ด้วยการแนะนำความรู้บ้าง เป็นต้น (โอบอ้อมอารี)
             ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน คือ พูดจาแต่คำที่มีประโยชน์ รู้จักกาลเทศะ บุคคล สถานที่ เป็นถ้อยคำที่น่ารัก ไพเราะ เป็นต้น (วจีไพเราะ)
             ๓. อัตถจริยา   ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ เป็นการช่วยเหลือกิจการงานผู้อื่นไม่นิ่งดูดาย ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (สงเคราะห์ชุมชน)
             ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนวางตนเสมอต้นเสมอปลายไม่ถือตัว  คือ  รู้จักการวางตัวให้ถูกต้อง  วางตัวให้เสมอต้นเสมอปลายไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ดี (วางตนพอดี)

ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมของผู้ครองเรือน ๔ ประการ

            ๑. สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน คือ เป็นผู้รักษาสัจจะความจริงเสมอ มีความซื่อตรงจริงใจต่อกัน
            ๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน คือ รู้จักควบคุมตัวเองไม่ให้เกิด โทสะ เป็นการฝึกฝนข่มใจ ไม่ปล่อยใจไปตามกิเลส
            ๓. ขันติ อดทน คือ ความอดทนอดกลั้น หนักเอาเบาสู้ ไม่เกียจคร้านในการทำงาน ทนต่อกิเลสที่มายั่วเย้า
            ๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ โอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น

 

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๔

๑. การใช้จ่ายทรัพย์  ให้ควรแก่ฐานะตรงกับคำพังเพยข้อใด ?
            ก. ขี่ช้างจับตั้กแตน                  ข. เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
            ค. นกน้อยทำรังแต่พอตัว         ง. มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท

๒. ทำอย่างไรจึงจะตั้งตัวได้ในโลกนี้ ?
            ก. เว้นจากอบายมุข    
            ข. บำเพ็ญสังคหวัตถุ
            ค. คบกัลยาณมิตร     
            ง. บำเพ็ญทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

๓. “งบประมาณขาดดุล“ ชื่อว่าขาดธรรมข้อใด ?  
            ก. อัตถจริยา                ข. สมชีวิตา
            ค. สมานัตตตา             ง. กัลยาณมิตตตา

๔. “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์“  ตรงกับทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ข้อใด ?
            ก. อุฏฐานสัมปทา                    ข. อารักขสัมปทา
            ค. กัลยาณมิตตตา                  ง. สมชีวิตา

๕. การใช้จ่ายทรัพย์เกินฐานะของตน ตรงกับคำพังเพยข้อใด ?
            ก. นกน้อยทำรังแต่พอตัว                     ข. เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
            ค. เห็นกรงจักรเป็นดอกบัว                  ง. เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง

๖. เพื่อนหน้าไหว้หลังหลอก จัดเข้าในมิตรประเภทใด ?
            ก. มิตรปอกลอก                      ข. มิตรดีแต่พูด
            ค. มิตรหัวประจบ                     ง. มิตรหลอกลวง

๗. เพื่อนที่ดีของเรา  ควรเป็นคนเช่นไร ?
            ก. ทำดีกับเรา              ข. พูดดีกับเรา
            ค. คิดดีกับเรา              ง. เอาใจเราทุกอย่าง

๘. มิตรประเภทใด  ก่อความเสียหายให้มากที่สุด ?    
            ก. มิตรชักชวนในทางฉิบหาย 
            ข. มิตรปอกลอก
            ค. มิตรหัวประจบ                    
            ง. มิตรดีแต่พูด

๙. คนเทียมมิตรเช่นไร  ที่ควรหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุด ?  
            ก. มิตรชักชวนให้ทำความฉิบหาย      
            ข. มิตรหัวประจบ
            ค. มิตรดีแต่พูด                                   
            ง. มิตรปอกลอก

๑๐. ข้อใด เป็นลักษณะของคนดีแต่พูด ?
            ก. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์
            ข. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
            ค. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
            ง. คิดแต่ได้ฝ่ายเดียว

๑๑. เพื่อนที่คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว จัดเข้าในมิตรเทียมข้อใด ?
            ก. คนปอกลอก                        ข. คนหัวประจบ
            ค. คนดีแต่พูด                          ง. คนชวนทำชั่ว

๑๒. เพื่อนที่ออกปากพึ่งมิได้ เป็นลักษณะของมิตรเทียมข้อใด ?
            ก. คนดีแต่พูด                          ข. คนปอกลอก
            ค. คนหัวประจบ                     ง. คนชวนให้ฉิบหาย

๑๓. ตัวเองติดยาเสพติด จึงชวนเพื่อนๆ ให้ร่วมทดลองเสพด้วยจัดเป็นมิตรประเภทใด ?
            ก. มิตรมีอุปการะ                     ข. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
            ค. มิตรมีความรักใคร่                ง.  มิตรชักชวนในทางฉิบหาย

๑๔. อยากเป็นคนดีของสังคม ควรคบมิตรประเภทใด ?
            ก. มิตรมีอุปการะ                         ข. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
            ค. มิตรแนะนำประโยชน์                ง. มิตรมีความรักใคร่

๑๕. ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่สังคม  ตรงกับสังคหวัตถุข้อใด ?
            ก. ทาน                                   ข. ปิยวาจา
            ค. อัตถจริยา                            ง. สมานัตตตา

๑๖. อัตถจริยาในสังคหวัตถุ  หมายความว่าอย่างไร ?
            ก. โอบอ้อมอารี                      ข. วจีไพเราะ
            ค. สงเคราะห์ชุมชน                 ง. วางตนพอดี

๑๗. “วางตัวเหมาะสม“ ตรงกับสังคหวัตถุข้อใด ?
            ก. ทาน                                 ข. ปิยะวาจา
            ค. สมานัตตตา                         ง. อัตถจริยา

๑๘. ฆราวาสธรรม  คือข้อใด ?
            ก. สัจจะ  ทมะ  ขันติ  จาคะ                      
            ข. สัทธา  สีล  จาคะ  ปัญญา
            ค. ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา
            ง. เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา

๑๙. หลักการครองเรือนข้อใด สอนให้รู้จักข่มใจเมื่อรู้สึกโกรธ ?
            ก. สัจจะ                      ข. ทมะ
            ค. ขันติ                        ง. จาคะ

๒๐. ผู้ที่ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักของฆราวาสธรรมข้อใด ?
            ก. สัจจะ                      ข. ทมะ
            ค. ขันติ                        ง. จาคะ

๒๑. ผู้ปฏิบัติตามธรรมข้อใด จึงสามารถยึดเหนียวน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ ?
            ก. ทาน                         ข. ปิยวาจา
            ค. อัตถจริยา                ง. สังคหวัตถุ

๒๒. ธรรมที่ชื่อว่าหัวใจเศรษฐีนั้น ได้แก่ข้อใด ?
            ก. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์                 
            ข. สัมปรายิกัตถประโยชน์
            ค. สังคหวัตถุ
            ง. กัลยาณธรรม

เฉลย   ๑. ค     ๒. ง     ๓. ข     ๔. ข     ๕. ง    ๖. ค      ๗. ค     ๘. ก     ๙. ก     ๑๐. ข    ๑๑. ก  ๑๒. ก  ๑๓. ง      ๑๔. ค  ๑๕. ค  ๑๖. ค  ๑๗. ค  ๑๘. ก  ๑๙. ข  ๒๐. ง     ๒๑. ง  ๒๒. ก

 

คิหิปฏิบัติ  ปัญจกะ คือ หมวด ๕

มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ไม่ชอบธรรม ๕ ประการ

            ๑. ค้าขายเครื่องประหาร ได้แก่ ปืน หอก ดาบ ลูกระเบิด เป็นต้น
            ๒. ค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้ามนุษย์เพื่อเป็นทาสหรือขาย ตัว เป็นต้น 
            ๓. ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ หมู เป็ด   ไก่ ปลา เป็นต้น
            ๔. ค้าขายน้ำเมา ได้แก่ สุราเมรัย ไวน์ สิ่งเสพติดทุกชนิด
            ๕. ค้าขายยาพิษ สำหรับฆ่ามนุษย์ และสัตว์ทั้งปวง

คุณสมบัติของอุบาสก มี ๕ ประการ

            ๑. ประกอบด้วยศรัทธา  คือ เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อในกฎแห่งกรรมทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง
            ๒. มีศีลบริสุทธิ์ คือ รักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีลให้สะอาดบริสุทธิ์
            ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ไม่เป็นคนหูเบาเชื่อง่าย
            ๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา คือ ไม่ปฏิบัติกิจหรือพิธีกรรมต่างๆ อันไม่ใช่หลักพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
            ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา คือ แสวงหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญในพระพุทธศาสนา เช่น ทำทาน  รักษาศีล เป็นต้น

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๕

๑. การไม่ถือมงคลตื่นข่าว  มีลักษณะเช่นไร ?
            ก. เชื่อกรรม  ไม่เชื่อมงคล                   
            ข. เชื่อมงคล  ไม่เชื่อกรรม
            ค. เชื่อกรรม  เชื่อมงคล                       
            ง. ไม่เชื่อกรรม  ไม่เชื่อมงคล

๒. การค้าขายชนิดใด ไม่เป็นข้อห้ามสำหรับอุบาสกอุบาสิกา ?
            ก. ค้าขายเครื่องประหาร          ข. ค้าขายเครื่องประดับ
            ค. ค้าขายสัตว์เป็นอาหาร        ง. ค้าขายมนุษย์

เฉลย   ๑. ก     ๒. ข

 

คิหิปฏิบัติ  ฉักกะ คือ หมวด ๖

            ทิศ  แปลว่า ด้านหรือข้าง  ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่ปรากฏเกี่ยวข้องอยู่รอบด้านเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับตัวเราทุกระดับชั้น มี ๖ ทิศๆ ละ ๕ บ้าง ๖ บ้าง ตามหน้าที่ดังนี้

๑. ปุรัตถิมทิส คือ ทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อบุตร ๕ ประการ

            ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
            ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
            ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
            ๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย

บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
            ๒. ช่วยทำกิจของท่าน
            ๓. ดำรงวงศ์สกุล
            ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก
            ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

๒. ทักขิณทิส คือ ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อศิษย์ ๕ ประการ

            ๑. แนะนำดี
            ๒. ให้เรียนดี
            ๓. บอกศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง
            ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
            ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

ศิษย์พึงบำรุง ครูอาจารย์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ
            ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
            ๓. ด้วยเชื่อฟัง
            ๔. ด้วยอุปัฏฐาก
            ๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

๓. ปัจฉิมทิส คือ ทิศเบื้องหลัง บุตรภรรยา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อสามี ๕ ประการ

            ๑. จัดการงานดี
            ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี
            ๓. ไม่ประพฤตินอกใจสามี
            ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
            ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

สามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
            ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น
            ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ
            ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
            ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

๔. อุตตรทิส คือ ทิศเบื้องซ้าย มิตรสหาย มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อน ๕ ประการ

            ๑. รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
            ๒. รักษาทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
            ๓. เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้
            ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
            ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร

กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ด้วยให้ปัน
            ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ
            ๓. ด้วยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
            ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ
            ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

๕. เหฏฐิมทิส คือ ทิศเบื้องต่ำ บ่าวไพร่ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อนาย ๕ ประการ

            ๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย
            ๒. เลิกทำการงานทีหลังนาย
            ๓. ถือเอาแต่สิ่งของที่นายให้
            ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
            ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้นๆ

นายพึงบำรุงบ่าวไพร่ด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
            ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
            ๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้
            ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน
            ๕. ด้วยปล่อยในสมัย

๖. อุปริมทิส คือ ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ มีหน้าที่จะต้องอนุเคราะห์ต่อกุลบุตร ๖ ประการ

            ๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว
            ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
            ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
            ๕. ทำสิ่งที่เคยได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
            ๖. บอกทางสวรรค์ให้

กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้

            ๑. ด้วยกายกรรม คือ ทำอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
            ๒. ด้วยวจีกรรม คือ พูดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
            ๓. ด้วยมโนกรรม คือ คิดอะไรๆ ประกอบด้วยเมตตา
            ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือ ไม่ได้ห้ามเข้าบ้านเรือน
            ๕. ด้วยให้อามิสทาน

อบายมุข คือ ปากทางแห่งความเสื่อมมี  ๖ อย่าง

๑. ดื่มน้ำเมา ย่อมได้รับความเสื่อม มีโทษ ๖ ประการ
            ๑. เสียทรัพย์                                       
            ๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
            ๓. เกิดโรค                                          
            ๔. ถูกติเตียน
            ๕. ไม่รู้จักอาย                         
            ๖. ทอนกำลังปัญญา

๒. เที่ยวกลางคืน ย่อมได้รับความเสื่อม มีโทษ ๖ ประการ
            ๑. ชื่อว่าไม่รักษาตัว                            
            ๒. ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
            ๓. ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ 
            ๔. เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย
            ๕. มักถูกใส่ความ                               
            ๖. ได้รับความลำบากมาก

๓. เที่ยวดูการเล่น ย่อมได้รับความเสื่อม มีโทษ ๖ ประการ
            ๑. รำที่ไหน ไปที่นั่น
            ๒. ขับร้องที่ไหน ไปที่นั่น
            ๓. ดีดสีตีเป่าที่ไหน ไปที่นั่น
            ๔. เสภาที่ไหน ไปที่นั่น
            ๕. เพลงที่ไหน ไปที่นั่น
            ๖. เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น

๔. เล่นการพนัน ย่อมได้รับความเสื่อม มีโทษ ๖ ประการ
            ๑. เมื่อชนะ ย่อมก่อเวร
            ๒. เมื่อแพ้ ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
            ๓. ทรัพย์ย่อมฉิบหาย
            ๔. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
            ๕. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน
            ๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย

๕. คบคนชั่วเป็นมิตร ย่อมได้รับความเสื่อม มีโทษ ๖ ประการ
            ๑. นำให้เป็นนักเลงเล่นการพนัน
            ๒. นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
            ๓. นำให้เป็นนักเลงเหล้า
            ๔. นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม
            ๕. นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า
            ๖. นำให้เป็นนักเลงหัวไม้

๖. เกียจคร้านทำการงาน มักอ้างเลศ ๖ สถานดังนี้
            ๑. มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน
            ๒. มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน
            ๓. มักอ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน
            ๔. มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน
            ๕. มักอ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน
            ๖. มักอ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๖

๑. “กายเมตตา วาจาไมตรี  ฤดีมุ่งมิตร  ไม่ปิดทวาร  ให้ทานเสมอ“ เป็นคุณสมบัติของใคร ?
            ก. มิตร                         ข. เจ้านาย
            ค. กุลบุตร                    ง. สมณพราหมณ์

๒. ทิศเบื้องหน้า  ได้แก่ข้อใด ?
            ก. สมณะ                     ข. อาจารย์
            ค. มารดาบิดา              ง. มิตร

๓. “ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี  มอบทรัพย์มรดกให้“ เป็นหน้าที่ของใครในเรื่องทิศ ๖ ?
            ก. มารดาบิดา              ข. ครู อาจารย์
            ค. บุตรภรรยา              ง. สมณพราหมณ์

๔.  ใครมักอ้างว่า  “หนาวนัก ร้อนนัก“ แล้วไม่ทำการงาน ?
            ก. คนป่วย                   ข. คนเกียจคร้าน
            ค. คนอดนอน               ง. คนขยันเรียน

๕. “เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน“ เป็นลักษณะของอบายมุขข้อใด ?
            ก. เที่ยวกลางคืน         ข. ดื่มน้ำเมา
            ค. เล่นการพนัน           ง. เที่ยวดูการเล่น

๖. “ไม่รู้จักอาย“ เป็นลักษณะของอบายมุขข้อใด ?
            ก. ดื่มน้ำเมา                ข. เที่ยวกลางคืน
            ค. คบคนชั่ว                 ง. เล่นการพนัน

๗. อบายมุข ๖ ข้อไหนให้ผลเสียหายร้ายแรงที่สุด ?
            ก. เล่นการพนัน           ข. ดื่มน้ำเมา
            ค. คนเกียจคร้าน         ง. คบคนชั่ว

๘. หลักธรรมข้อใดส่งเสริมให้คนรู้จักหน้าที่ อันจะพึ่งปฏิบัติต่อกัน ?
            ก. อิทธิบาท ๔             ข. พลธรรม
            ค. ทิศ ๖                       ง. ฆราวาสธรรม

๙. นิยมยกย่อง ปกป้องเชิดชู ไม่เจ้าชู้นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้เครื่องประดับ คือหน้าที่ของใคร ?
            ก. สามี                         ข. ภรรยา
            ค. บ่าว                         ง. มิตร

เฉลย   ๑.ค      ๒. ค     ๓. ก       ๔. ข        ๕. ค   ๖. ก    ๗. ก     ๘. ค    ๙. ก

Leave a comment

You are commenting as guest.


40416205
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
19920
25562
113369
40100302
467230
937182
40416205

Your IP: 1.47.131.92
2024-04-18 19:20
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search