ธรรมวิภาค หมวด ๕-๑๐

ปัญจกะ คือ หมวด ๕

อนันตริยกรรม  คือ  กรรมหนักฝ่ายบาป  ห้ามสวรรค์  ห้ามนิพพาน  มี ๕ อย่าง

            ๑. มาตุฆาต                 ฆ่ามารดา
            ๒. ปิตุฆาต                  ฆ่าบิดา
            ๓. อรหันตฆาต             ฆ่าพระอรหันต์
            ๔. โลหิตุปบาท            ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
            ๕. สังฆเภท                 ยังสงฆ์ให้แตกแยกจากกัน

            ๑-๒. มาตุฆาต ปิตุฆาต หมายถึง การฆ่ามารดาและบิดาของตนซึ่งเป็นผู้มีพระคุณต่อบุตรธิดาสุดจะคณานับ ให้ตายด้วยอาวุธ อย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้ใดฆ่ามารดาบิดาของตนได้  นับว่าเป็นผู้อกตัญญูยิ่งนัก
            ๓. อรหันตฆาต หมายถึง การฆ่าพระอรหันต์ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลหมดจดจากกิเลสอาสวะบริสุทธิ์ด้วยกาย  วาจา  ใจ  เป็นที่เคารพสักการบูชาของมหาชนทั้งหลาย  ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์นับว่าเป็นผู้ที่โหดเหี้ยมอำมหิต ฆ่าได้แม้กระทั้งผู้ทรงศีล
            ๔. โลหิตุปบาท หมายถึง การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป พระองค์มีคุณต่อชาวโลกมาก สั่งสอนพุทธ-บริษัทโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ผู้ใดพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าแม้ไม่ถึงกับฆ่า เพียงแค่ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไปนับเป็น บาปหนักที่สุด เช่น พระเทวทัตที่กลิ้งศิลาหมายจะฆ่าพระองค์  แต่ถูกแค่สะเก็ดหินเท่านั้น เป็นต้น
            ๕. สังฆเภท หมายถึง การทำลายสงฆ์ให้แตกออกจากกัน  พระสงฆ์ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก ภิกษุใดทำให้ภิกษุสงฆ์ที่อยู่วัดเดียวกัน แตกความสามัคคีจนไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น ลงอุโบสถ ทำปวารนา เป็นต้น

             สรุป  อนันตริยกรรมนี้  เป็นบาปหนักที่สุด  ผู้ใดได้ทำอนันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่งแล้ว  ย่อมไปเกิดในมหานรกทันที ฉะนั้นห้าม ทำเป็นเด็ดขาด

 

อภิณหปัจจเวกขณ์  คือ ข้อปฏิบัติที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน ๕ ประการ

             ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา   ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
             ๒. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
             ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
             ๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
             ๕. เรามีกรรมเป็นของตน ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

             ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นเครื่องบรรเทาความประมาท ความมัวเมา ความลุ่มหลงในวัย ไม่ให้ประมาทในการดำรงชีวิตในแต่ละวัยก่อนความแก่จะมาถึง

            ๒. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้  ความเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน และความเจ็บมีทั้งรักษาได้และรักษาไม่ได้ปะปนกันไป สักวันหนึ่งเราจะต้องเจ็บแน่นอน ดังนั้นพึงพิจารณาให้ได้ทุกๆ วัน

            ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ความตายไม่มีนิมิตหมาย จะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ๆ ก่อนตายเราควรทำอะไรให้กับชีวิตที่มีอยู่ เพราะความตายเราหนีไม่พ้นแน่นอน

            ๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เป็น การย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งสิ่งชอบใจและไม่ชอบใจ ต่างต้องมีอันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด  เป็นการเตรียมใจรับกับสภาพที่เป็นจริงที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าเราจะรู้ตัว  หรือไม่รู้ตัวก็ตาม  เพื่อป้องกันความเศร้าโศกเสียใจ ให้คลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย

            ๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำ กรรมใดไว้ เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

             สรุป  การพิจารณาทั้ง ๕ ประการนี้  พึงพิจารณาอยู่เนือง นิตย์ จะได้ไม่ประมาทในการเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

 

ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์ของการฟังธรรม ๕ ประการ

             ๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
             ๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
             ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
             ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
             ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

            ๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง หมายถึง พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีมากมาย เมื่อมีผู้มาแสดงให้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมพอกพูนไปเรื่อยๆ

            ๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด หมายถึง ธรรมะต่างๆที่เราเคยได้ฟังมาแล้วจากใครก็ตาม ยังไม่เข้าใจชัด พอได้ฟังที่ท่านขยายความให้ฟังก็เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง นำไปปฏิบัติได้

            ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้ หมายถึง ธรรมต่างๆที่เราฟังมาแล้วเกิดความสงสัยไม่เข้าใจ เราก็ไต่ถามผู้รู้ในขณะฟังธรรมจน คลายความสงสัยได้  หรือเราอาจได้ยินได้ฟังมาจากที่อื่น  ซึ่งอาจขัดอยู่ในใจ  พอได้ฟังก็คลายความสงสัยได้

            ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้อง หมายถึง ผู้ฟังธรรมบางครั้งอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง  เพราะไม่ค่อยเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม พอได้ฟังคำชี้แจงขยายความในเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นต้น ย่อมทำความเห็นให้ตรงถูกต้องได้ง่าย

            ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส หมายถึง  จิตที่น้อมไปตามกระแสธรรมที่พระธรรมกถึกบรรยายขยายความ  คลายความสงสัยทั้งปวง  มีความเข้าใจถูกต้อง ย่อมได้รับผลของความสุข  ความผ่องใสของใจ

            สรุป อานิสงส์จากการฟังธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ตั้งใจฟังธรรมแสวงหาความหลุดพ้น  จะได้ผลอย่างเต็มที่ต่อเมื่อผู้ฟังตั้งใจฟังโดยเคารพ   มีสติพิจารณาตามกระแสธรรมที่ท่านแสดง ตลอด  ดังพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

 

พละ คือ กำลัง ๕ ประการ

            ๑. สัทธา          ความเชื่อ
            ๒. วิริยะ           ความเพียร
            ๓. สติ              ความระลึกได้
            ๔. สมาธิ          ความตั้งใจมั่น
            ๕. ปัญญา       ความรอบรู้ 

            ๑. สัทธา หมายถึง ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนกระทำว่ามีคุณประโยชน์ เพราะเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไตร่ตรองด้วยเหตุและผล เช่นเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บาป บุญ นรก  สวรรค์มีจริง เป็นต้น

            ๒. วิริยะ หมายถึง ความเพียรเป็นแรงจูงใจมุ่งมั่นในการ ทำกิจทั้งปวงไม่ให้ท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค หมายเอา ความเพียรในสัมมัปปธาน ๔ และสัมมาวายามะในอริยมรรค เป็นต้น

            ๓. สติ หมายถึง ความระลึกได้ เป็นเหตุควบคุมใจให้ตั้งมั่นกับกิจการที่กำลังทำอยู่ให้มีความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด  หมายเอาความระลึกชอบในอริยมรรค

            ๔. สมาธิ หมายถึง ความตั้งใจมั่นสืบเนื่องมาจากสติ เป็นจิตที่มีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว มีสมาธิตลอดในการทำกิจทุกอย่าง จนกว่าจะสำเร็จ นี้หมายเอา สมาธิที่เป็นองค์ฌาน

            ๕. ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ เป็นกำลังอุดหนุนใจให้รู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น  และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นี้หมายเอา อริยปัญญา

            สรุป พลธรรมนี้ อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน ธรรม ๕ ประการนี้ สามารถกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกได้ คือ

สัทธา   กำจัดอสัทธิยา คือ ความไม่เชื่อ, วิจิกิจฉา ความลังเล  สงสัย

            วิริยะ    กำจัดโกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านได้
            สติ       กำจัดปมาทะ คือ ความประมาทเลินเล่อได้
            สมาธิ   กำจัดนิวรณธรรม คือ สิ่งที่เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีได้
            ปัญญา  กำจัดอญาณะ คือ ความไม่รู้และโมหะ คือ ความหลงได้

 

ขันธ์ คือ กองสังขารร่างกายของมนุษย์ แบ่งเป็น ๕ กอง

            ๑. รูปขันธ์                    กองรูป
            ๒. เวทนาขันธ์              กองเวทนา
            ๓. สัญญาขันธ์              กองสัญญา
            ๔. สังขารขันธ์               กองสังขาร
            ๕. วิญญาณขันธ์            กองวิญญาณ

            ๑. รูป หมายถึง การรวมตัวของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นกาย  รูปในที่นี้ หมายเอา รูปที่มีใจครอง เช่น มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานเป็นต้น

            ๒. เวทนา หมายถึง การรับรู้ความรู้สึกของอารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความรู้สึกเป็นสุข ชอบใจ ทุกข์ ไม่ชอบใจหรือไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ

            ๓. สัญญา หมายถึง ความจำได้หมายรู้ เป็นความจำสิ่งที่รับรู้นั้นไว้ได้ เช่น รู้ว่านี้คือรูป ก็จำได้ว่า นี้คือรูป เป็นต้น

            ๔. สังขาร หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งเกิดขึ้นกับใจ  แยกแยะสิ่งที่รู้และจำได้ จะดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ เป็นจิตตสังขารและเป็นนามธรรม ต่างจากสังขารในไตรลักษณ์  ที่หมายเอาสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น  ทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร  และอนุปาทินนกสังขารที่เป็น รูปธรรม

            ๕. วิญญาณ  หมายถึง ความรู้สึกที่เกิดจากอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก  เช่น มีรูปมากระทบตาก็รู้ว่าเป็นรูปอะไร เป็นต้น

            สรุป  ขันธ์ ๕ นี้ โดยย่อเรียกว่า นามรูป  นาม  ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป คงเป็นรูป

 

ปัญหาและเฉลยหมวด ๕

๑. การพิจารณาความตายเนือง ๆ มีประโยชน์อย่างไร ?
            ก. บรรเทาความเมาในวัย                    ข. บรรเทาความเมาในชีวิต
            ค. บรรเทาความยึดมั่น             ง. บรรเทาความเห็นแก่ตัว

๒. ฟังเทศน์แล้ว  ย่อมได้อะไร ?
            ก. ย่อมได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง                 
            ข. ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้
            ค. ย่อมทำความเห็นให้ถูกต้องได้        
            ง. ถูกทุกข้อ

๓. ข้อใดเป็นอานิสงส์ของการฟังธรรมโดยตรง ?
            ก. ทำให้ได้บุญ                                    ข. ทำให้เกิดสมาธิ
            ค. ทำให้ละกิเลส                     ง. ทำให้เกิดปัญญา

๔. กรรมอะไรที่ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ?
            ก. อกุศลกรรม                         ข. นิวรณธรรม
            ค. อนันตริยกรรม                     ง. อาสันนกรรม

๕. กายกับใจแบ่งออกเป็นกอง เรียกว่าอะไร ?
            ก. สังขาร                                 ข. วิญญาณ
            ค. ขันธ์                                     ง. สัญญา

เฉลย   ๑.ข    ๒. ง         ๓. ง      ๔. ค      ๕. ค

 

ฉักกะ คือ หมวด ๖

คารวะ คือ ความเคารพนับถืออย่างหนักแน่น  ๖  ประการ

            ๑. พุทธคารวตา           เคารพในพระพุทธเจ้า
            ๒. ธัมมคารวตา           เคารพในพระธรรม
            ๓. สังฆคารวตา           เคารพในพระสงฆ์
            ๔. สิกขาคารวตา         เคารพในการศึกษา
            ๕. อัปปมาทคารวตา    เคารพในความไม่ประมาท
            ๖. ปฏิสันถารคารวตา    ความเคารพในปฏิสันถาร

            ๑. พุทธคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการกราบไหว้บูชาคุณทั้ง กาย วาจา ใจ รวมถึงการแสดงความเคารพในปูชนียวัตถุ เช่น พระพุทธรูป ปูชนียสถาน เป็นต้น และตั้งใจฟังธรรมคำสอนด้วยความเอื้อเฟื้อ

            ๒.ธัมมคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือในพระธรรม คำสอน ด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ จนก่อให้เกิดปฏิเวธ ด้วยความเคารพยิ่ง ไม่ดูหมิ่น เหยียบย่ำ

            ๓. สังฆคารวตา หมายถึง ความเคารพนับถือในพระสงฆ์ ทั้งที่เป็นสมมติสงฆ์และอริยสงฆ์ด้วยการกราบไหว้บูชา แสดงอาการนอบน้อม ตลอดจนเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านแล้วนำไปปฏิบัติตาม ไม่แสดงอาการกิริยาดูหมิ่น ล้อเล่นกับท่าน

            ๔. สิกขาคารวตา  หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในการศึกษา ด้วยความตั้งใจศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เกียจ คร้าน ไม่ย่อท้อ ตั้งใจศึกษาไปจนกว่าจะสำเร็จ

            ๕.  อัปปมาทคารวตา หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในความ ไม่ประมาท ด้วยการมีสติไม่เผลอเลอในการดำรงชีวิต ระวังไม่ให้หลงมัวเมาในกามคุณ ไม่ประมาทในการละทุจริต ประกอบสุจริต

            ๖. ปฏิสันถารคารวตา หมายถึง ความเคารพเอื้อเฟื้อในการต้อนรับ ด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เป็นคนใจแคบ ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต ด้วยน้ำใสใจจริง ด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้างตามสมควร

            สรุป ความเคารพทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นที่จะรอง รับคุณธรรมอื่นๆ ที่จะพึงบังเกิดขึ้นกับเรา  ฉะนั้นพึงมีความเคารพนอบน้อมไว้ในที่ทุกสถาน

สาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ๖ อย่าง

            ๑. เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง หมายถึง ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกาย  มีพยาบาลภิกษุสามเณรไข้ เป็นต้น ด้วยเมตตากายกรรม

            ๒. เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง หมายถึง ช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา มีการกล่าวสั่งสอน เป็นต้น ด้วยเมตตา วจีกรรม

            ๓. เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลัง หมายถึงช่วยขวนขวายในกิจธุระที่จะคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันด้วยเมตตามโนกรรม

            ๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อน ภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว เช่น ให้จีวร บิณฑบาต เป็นต้น ด้วยจิตเมตตาชื่อ สาธารณโภคี

            ๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพระภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น ชื่อว่า สีลสามัญญตา

            ๖. มีความเห็นร่วมกับภิกษุสามเณรอื่น ไม่วิวาทกับใครๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน หมายถึง  การปรับความเห็นในพระธรรม วินัย ให้มีความเห็นเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่าทิฏฐิสามัญญตา

            สรุป ธรรม ๖ อย่างนี้ ย่อมทำให้ผู้ประพฤติตามเป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์อนุเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๖

๑. ปฏิบัติอย่างไร  จึงจะชื่อว่าเคารพในการศึกษา ?
            ก. ขยันไปโรงเรียน                   ข. ขยันอ่านหนังสือ
            ค. ขยันหาความรู้                     ง. ขยันทำการบ้าน

๒. สำนวนว่า รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา  ภายหน้าเติบใหญ่ได้งานทำ       จัดเข้าในคารวะข้อใด ?
            ก. พระพุทธเจ้า                        ข. การศึกษา
            ค. พระธรรม                             ง. การต้อนรับ

๓. สาราณียธรรม  คือธรรมเช่นไร ?
            ก. ธรรมที่เป็นแก่นสาร
            ข. ธรรมของผู้ทรงศีล
            ค. ธรรมเป็นเหตุบริจาค          
            ง. ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน

๔. “เมื่ออยู่ให้เขารัก จากไปให้เขาคิดถึง” เช่นนี้ควรประกอบตนไว้ในธรรมหมวดไหน ?
            ก. พรหมวิหาร                          ข. สังคหวัตถุ
            ค. สาราณียธรรม                     ง. สัปปุริสธรรม

๕. การตั้งใจช่วยกิจธุระของกันและกันด้วยความเต็มใจและบริสุทธิ์ใจ เป็นหลักสาราณียธรรมข้อใด ?
            ก. เมตตาวจีกรรม                    ข. เมตตากายกรรม
            ค. สีลสามัญญตา                    ง. เมตตามโนกรรม

เฉลย     ๑.ค       ๒. ข        ๓. ง     ๔. ค           ๕. ข

 

สัตตกะ คือ หมวด ๗

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ

            ๑. สัทธา เชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ คือ เชื่อในความตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นต้น
            ๒. สีล  รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย  คือ ศีล ๕ หรือ ๘ เป็นต้น
            ๓. หิริ  ความละอายต่อบาป คือ ไม่กล้าทำความชั่ว
            ๔. โอตตัปปะ  สะดุ้งกลัวต่อบาป คือ กลัวผลของการทำบาป
            ๕. พาหุสัจจะ  ความเป็นคนได้ยินได้ฟังมามาก คือ ทรง ธรรมและศิลปวิทยามาก คือ ใฝ่รู้ทั้งการฟัง การอ่าน การจดจำ เป็นต้น
            ๖. จาคะ  สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน  คือ การแบ่งปันด้วยปัจจัย ๔ อันสมควร
            ๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์  คือ ปัญญาที่สอนตนเองได้

            สรุป อริยทรัพย์ ๗ นี้ จัดลงในสิกขา ๓ ได้ ๒ สิกขา คือ ศีล หิริ โอตตัปปะ และจาคะ จัดเป็น สีลสิกขา  สัทธา พาหุสัจจะ และ ปัญญา จัดเป็น ปัญญาสิกขา

 

สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ

            ๑. ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักธรรม คือ เหตุ หมายถึงรู้จักเหตุ เช่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นต้น
            ๒. อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักอรรถ คือ ผล หมายถึง รู้จักผล เช่นรู้ว่าทำเหตุอย่างนี้ ย่อมได้ผลอย่างนี้ เป็นต้น
            ๓. อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง รู้จักตนว่าเรามีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาเท่านี้  แล้ววางตัวให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของตน ไม่อวดดื้อถือดี ให้สงบเสงี่ยมเจียมตน
            ๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง รู้จักประมาณในการแสวงหา ในการรับ ในการจ่าย ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ให้รู้จักความพอดี รู้จักประมาณในการบริโภคแก่พอควร และรู้จักประมาณในการใช้จ่ายให้รู้คุณค่าของสิ่งที่หามาได้
            ๕. กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา หมายถึง รู้ถึง คุณค่าของเวลาที่ผ่านไป รู้จักการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ ให้รู้ว่าเวลานี้ ควรทำอย่างนี้ เวลานี้ควรพูดอย่างนี้ ทำและพูดอย่างไม่ประมาท
            ๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน หมายถึง การรู้ จักสังคมที่ตนอยู่อาศัยที่ทำงาน รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมชุมชน นั้นๆ ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกับผู้อื่น ได้รับความไว้วางใจจากคน ในชุมชน
            ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล  หมายถึง การรู้จักเลือกคบคน ด้วยการศึกษาอุปนิสัยใจคอ เป็นต้น ของคนๆ นั้นว่าควรคบหรือไม่ควรคบ เขาเป็นคนดีหรือคนเลวให้เลือกคบคนที่เป็นคนดีมีคุณธรรม

            สรุป สัปปุริสธรรมนี้ เมื่อผู้ใดปฏิบัติตามได้ ย่อมเป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องเคารพนับถือ เป็นผู้ที่น่าคบหาสมาคมด้วย เพราะเขาเป็นสัตบุรุษ

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๗

๑. “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน” ตรงกับข้อใด ?
            ก. ความรอบรู้ในกองสังขาร                
            ข. ความเป็นผู้มีความรู้มาก
            ค. ความรู้จักอดออมทรัพย์                  
            ง. ความรู้จักให้ธรรมเป็นทาน

๒. สัปปุริสธรรมข้อใด มีความหมายตรงกับเศรษฐกิจพอเพียง ?
            ก. รู้จักประมาณ             ข. รู้จักกาล
            ค. รู้จักตน                    ง. รู้จักชุมชน

๓. “อย่าชิงสุกก่อนห่าม” ตรงกับหลักธรรมข้อใด ?
            ก. กาลัญญุตา               ข. อัตตัญญุตา
            ค. ปริสัญญุตา               ง. ธัมมัญญุตา

๔. การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคม ตรงกับสัปปุริสธรรมข้อใด ?
            ก. รู้จักเหตุ                  ข. รู้จักผล
            ค. รู้จักบุคคล                ง. รู้จักชุมชน

๕.  สำนวนว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก“ หมายถึงสัปปุริสธรรมข้อใด ?
            ก. ธัมมัญญุตา              ข. อัตถัญญุตา
            ค. กาลัญญุตา              ง. อัตตัญญุตา

เฉลย   ๑.ข      ๒. ก     ๓.ก      ๔. ง     ๕.ค

 

อัฏฐกะ คือ หมวด ๘

โลกธรรม คือ ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก ๘ ประการ
            ๑. มีลาภ                                  ๒. เสื่อมลาภ
            ๓. มียศ                                    ๔. เสื่อมยศ
            ๕. นินทา                                  ๖. สรรเสริญ
            ๗. สุข                                      ๘. ทุกข์

โลกธรรมนี้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
            ๑. อิฏฐารมณ์  คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ ได้แก่ ความมีลาภ มียศ ความสรรเสริญ ความสุข
            ๒. อนิฏฐารมณ์           คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา  และทุกข์

            โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว  พึงพิจารณาด้วยปัญญาของตนว่า สิ่งนี้ที่เกิดขึ้นกับเรา ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็เป็นเพียงการเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่นานก็มีการผันแปรเปลี่ยนไป สุดท้ายก็ถึงจุดที่ต้องพลัดพรากจากไปไม่จีรังยั่งยืน เราควรวางตัว วางใจเป็นกลางในโลกธรรมเหล่านี้ แล้วเราจะอยู่อย่างมีความสุข

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๘

๑. มียศแล้วกลับเสื่อมยศ  ควรปฏิบัติอย่างไร ?
            ก. แสวงหาความถูกต้อง                      ข. ทำจิตมิให้ยินดียินร้าย
            ค. ทำพิธีสะเดาะเคราะห์                       ง. อ่านหนังสือธรรมะ

๒. ข้อใด  เป็นอิฏฐารมณ์ทั้งหมด ?
            ก. ลาภ  เสื่อมลาภ  สุข  ทุกข์  
            ข. ยศ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์
            ค. สุข  ทุกข์  สรรเสริญ  นินทา
            ง. ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข

๓.  เมื่อประสบโลกธรรม ควรปฏิบัติตนอย่างไร ?
            ก.  แสวงหาความถูกต้อง            ข. ทำจิตมิให้ยินดียินร้าย
            ค.  ทำพิธีสะเดาะเคราะห์             ง. อ่านหนังสือธรรมะ

๔. เมื่อถูกคนอื่นนินทา ควรปฏิบัติอย่างไร ?
            ก. ควรโต้ตอบ                ข. ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น
            ค. หนีไปที่อื่นเสีย            ง. อย่ายินดียินร้าย

เฉลย   ๑.ข      ๒. ง     ๓. ข     ๔. ง

 

ทสกะ คือ หมวด ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ มี ๑๐ ประการ

            ๑. ทานมัย                   บุญสำเร็จด้วยการถวายทาน
            ๒. สีลมัย                     บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
            ๓. ภาวนามัย                บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
            ๔. อปจายนมัย             บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตน
            ๕. เวยยาวัจจมัย           บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในสิ่งที่ชอบ
            ๖. ปัตติทานมัย             บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
            ๗. ปัตตานุโมทนามัย      บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
            ๘. ธัมมัสสวนามัย          บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
            ๙. ธัมมเทสนามัย          บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
            ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์            บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง

            ๑. ทานมัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการถวายทานด้วยการให้ทั้งที่เป็นอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน เพื่อมุ่งกำจัดความตระหนี่ให้ออกไปจากใจ

            ๒. สีลมัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการรักษาศีล  เป็นการควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อยดีงามทั้ง ๓ ระดับคือ ระดับต้นได้แก่ นิจศีล ศีล ๕ ระดับกลางได้แก่ ศีล ๘ หรือ อุโบสถศีล ระดับสูงได้แก่ ปาริสุทธิศีล หรือ ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ

            ๓. ภาวนามัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการเจริญสมาธิภาวนา ด้วยการอบรมจิตใจในทางปฏิบัติที่เป็นสมถกัมมัฏฐาน คือ การอบรมจิตใจให้สงบ ๑ วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ การอบรมปัญญาให้เกิด ๑

            ๔. อปจายนมัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ โดยชาติตระกูล วัย เป็นการแสดงความเคารพนับถือยำเกรง เป็นคนมีสัมมาคารวะทั้งต่อหน้าและลับหลัง

            ๕. เวยยาวัจจมัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการช่วยขวนขวายในกิจที่ถูกต้อง มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นด้วยกำลังกาย  กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาตามสมควร อันจะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลกัน

            ๖. ปัตติทานมัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการให้ส่วนบุญอันเกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น แก่ผู้ที่มีพระคุณซึ่งท่านละจากโลกนี้ไปแล้ว

            ๗. ปัตตานุโมทนามัย หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการอนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น ในเมื่อผู้อื่นได้ทำความดี เป็นความพลอยยินดีชื่นชมในบุญที่ผู้อื่นทำ

            ๘. ธัมมัสสวนามัย  หมายถึง  บุญสำเร็จที่ได้จากการฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ ที่มีความรู้ มีคุณธรรม ด้วยความเคารพอ่อนน้อม 

            ๙. ธัมมเทสนามัย  หมายถึง  บุญสำเร็จที่ได้จากการแสดงธรรมด้วยความตั้งใจแสดงธรรม ตั้งใจแนะนำสั่งสอน เพื่อให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงตามสติปัญญาของตน

            ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ หมายถึง บุญสำเร็จที่ได้จากการทำความเห็น ให้ตรง เป็นการประคับประคองความเห็นของตนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

            สรุป บรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ ทิฏฐุชุกัมม์สำคัญที่สุดเพราะเป็นเหตุแห่งการทำความดีที่เหลืออีก ๙ อย่าง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังนี้
             ทานมัย ปัตติทานมัย ธัมมเทสนามัย      จัดเป็น  ทาน
             สีลมัย อปจายนมัย  เวยยาวัจจมัย        จัดเป็น  ศีล
             ภาวนามัย  ปัตตานุโมทนามัย              จัดเป็น  ภาวนา
             ธัมมัสสวนามัย ทิฏฐุชุกัมม์     

ปัญหาและเฉลยหมวด  ๑๐

๑. บุญที่สำเร็จด้วยการรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าอะไร ?
            ก. ทานมัย                              ข. สีลมัย
            ค. ภาวนามัย                           ง. อปจายนมัย

๒. นักเรียนช่วยครูจัดงานตักบาตรที่โรงเรียนตรงกับบุญกิริยาวัตถุข้อใด ?
            ก. เวยยาวัจจมัย                     ข. ปัตติทานมัย
            ค. ปัตตานุโมทนามัย               ง. ธัมมัสสวนามัย

๓. คนมีสัมมาคารวะเพราะมีธรรมอะไร ?
            ก. ภาวนามัย                           ข. อปจายนมัย
            ค. ธัมมเทสนามัย                     ง. ทิฏฐุชุกัมม์

๔. การพลอยยินดีในส่วนบุญของผู้อื่นตรงกับข้อใด ?
            ก. ทานมัย                                ข. ปัตติทานมัย
            ค. เวยยวัจจมัย                        ง. ปัตตานุโมทนามัย 

เฉลย      ๑. ข      ๒. ก         ๓. ข           ๔. ง    

Leave a comment

You are commenting as guest.


49548641
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7802
74778
123658
49159770
688291
1074106
49548641

Your IP: 49.229.234.121
2025-01-21 07:51
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search