พระโกณฑธาน ชื่อเดิมว่า ธานะ เพราะมีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านอยู่ข้างหลัง พระภิกษุและสามเณรทั้งหลาย จึงเพิ่มชื่อให้ท่านว่า โกณฑธาน บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์
ครั้นพออายุย่างเข้าปัจฉิมวัย ท่านไปฟังธรรมเป็นประจำจึงเกิดเลื่อมใสปรารถนาจะบวช ทูลขอบวชต่อหน้าพระพุทธองค์ ทรงประทานการบวชให้ตามปรารถนา พอบวชแล้วเพราะกรรมในชาติก่อน เวลาท่านบิณฑบาตก็ดี อยู่วัดก็ดี จะมีคนเห็นสตรีคนหนึ่งเดินตามอยู่ข้างหลัง แต่ท่านเองไม่ทราบและไม่เห็น พอคนใส่บาตรก็จะบอกว่า ส่วนนี้ของท่าน ส่วนนี้สำหรับหญิงสหายของท่าน ภิกษุและสามเณรเห็นภาพนั้นเป็นประจำ จึงพากันล้อมกุฏิและพูดเยอะเย้ย ท่านอดทนไม่ไหวจึงได้พูดตอบโต้ พวกภิกษุไปฟ้องพระพุทธองค์ ๆ ทรงตรัสเตือนว่า “เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า ย่อมด่าตอบเธอ จะกลายเป็นแข่งดีกัน สุดท้ายก็จะมีการทำร้ายกัน”
พระโกณฑธานมีความลำบากใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทราบข่าวทรงพิสูจน์ความจริง ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริงและเป็นกรรมเก่าของท่าน พระราชาจึงนิมนต์ท่านไปรับบิณฑบาตในพระราชวังทุกวัน เมื่อท่านมีอาหารเป็นที่สบายก็มีจิตสบายตั้งใจบำเพ็ญเพียร ไม่นานได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พอบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ภาพลวงตาที่เป็นสตรีก็หายไป
ท่านบวชเมื่ออายุมาก งานประกาศพระศาสนาจึงไม่ชัดเจน แต่กรรมเก่าในอดีตชาติของท่านเป็นคติสอนใจได้อย่างดียิ่ง ใครทำกรรมอะไรไว้หนีกรรมนั้นไม่พ้น ในอดีตชาติท่านเกิดเป็นเทวดา เห็นพระภิกษุ ๒ รูปรักใคร่สนิทสนมกันดีมาก ในระหว่างทางที่พระ ๒ รูปเดินไปลงอุโบสถอีกวัดหนึ่ง องค์หนึ่งปวดท้องและเข้าป่าโปทำธุระ เทวดาเห็นเป็นโอกาสดี จึงแกล้งแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยเดินอยู่ข้างหลัง ทำให้เพื่อนอีกรูปหนึ่งรังเกียจ ไม่ลงอุโบสถร่วมกัน ต่อมาภายหลังเทวดาเกิดสลดใจสำนึกผิด จึงมาบอกความจริงให้ทั้งสองรูปทราบ มีความรักสามัคคีกันเหมือนเดิม ด้วยผลกรรมนั้นในชาติสุดท้าย ทำให้มีภาพสตรีเดินอยู่ข้างหลังท่าน
พระโกณฑธานเป็นผู้มีบุญพิเศษในเรื่องการจับฉลาก ท่านมักได้จับฉลากก่อนเสมอ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับฉลากเป็นปฐม (จับฉลากคนแรก)”
พระโกณฑธานได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขาร พอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระวังคีสะ ชื่อเดิมว่า วังคีสะ เพราะเกิดในวังคชนบท และเพราะเป็นใหญ่ในถ้อยคำ บิดาเป็นพราหมณ์แต่ไม่ปรากฏชื่อ มารดาเป็นปริพพาชกไม่ปรากฏชื่อ เกิดที่วังคชนบท เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์ เรียนจบไตรเพท เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ จึงได้เรียนมนต์พิเศษ ชื่อว่า “ฉวสีสมนต์” ใช้เล็บดีดกะโหลกศีรษะของผู้ที่ตายภายใน ๓ ปี ก็รู้ได้ว่าไปเกิดที่ไหน พวกพราหมณ์จึงอาศัยท่านเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงชีพ มีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก
วันหนึ่งท่านได้สดับคุณของพระพุทธองค์ เกิดความเลื่อมใสปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า แต่ถูกพวกพราหมณ์คัดค้าน เพราะกลัวจะไปนับถือพระพุทธองค์ สุดท้ายได้ไปเฝ้าที่วัดพระเชตวัน ทรงทำปฏิสันถารเป็นอย่างดี ทรงทดสอบความสามารถของเขาโดยให้นำกะโหลกคนตายมา ๔ กะโหลก ให้วังคีสะดีด ดีดกะโหลกที่ ๑ บอกว่าไปเกิดในนรก ที่ ๒ ไปเกิดเป็นมนุษย์ ที่ ๓ บอกว่าไปเกิดเป็นเทวดา ทรงประทานสาธุการ พอดีดกะโหลกที่ ๔ ซึ่งเป็นของพระอรหันต์ เขาไม่ทราบว่าไปเกิดที่ไหน นั่งเหงื่อไหล เขาขอเรียนมนต์กับพระพุทธองค์ ทรงปฏิเสธว่าสอนให้ไม่ได้ จะสอนให้เฉพาะคนที่บวชเหมือนเราเท่านั้น เขาจึงทูลขอบวช ทรงตรัสให้พระนิโครธกัปปเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้
พอท่านบวชแล้วก็เรียนกรรมฐานคือ อาการ ๓๒ และเจริญวิปัสสนา ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระวังคีสะ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านไม่มีปรากฏชัดเจน แต่ท่านก็ยังความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ
ท่านมีปฏิภาณในการกล่าวคำประพันธ์ สรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ในเวลาที่ท่านไปเข้าเฝ้าทุกครั้ง ทรงยกย่องท่านว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ
พระวังคีสะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขาร พอสมควรแก่อัตภาพแล้วจึงนิพพานในที่สุด
พระปิลินทวัจนะ ชื่อเดิมว่า ปิลินทะ เพราะวัจฉะเป็นชื่อของโคตร ต่อมาจึงได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย บิดาและมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรากฏชื่อ เกิดที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์ เรียนจบไตรเพท ปกติท่านเป็นผู้มากไปด้วยความสังเวช จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเห็นเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก ท่องเที่ยวแสดงฤทธิ์ไปยังเมืองต่าง ๆ จนถึงเมืองราชคฤห์
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วประทับอยู่ในเมืองราชคฤห์ อานุภาพแห่งวิชาของท่านก็เสื่อม ลาภยศก็หมดไปด้วยคิดว่า พระสมณโคดมต้องรู้วิชาจูฬคันธาระอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระพุทธองค์ขอเรียนวิชา ทรงตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวช
หลังจากบวชแล้วท่านพากเพียรปฏิบัติธรรมเรียนกรรมฐานกับพระพุทธองค์ ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ เพราะบุญบารมีที่สั่งสมมาเต็มเปี่ยมแล้ว
พระปิลินทวัจฉะหลังจากบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้ช่วยพระพุทธองค์ เผยแผ่พระศาสนา เป็นที่เคารพรักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่ท่านเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประชาชนเป็นจำนวนมากตั้งอยู่ในโอวาท ไปเกิดเป็นเทวดาจำนวนมาก เหล่าเทวดามีความกตัญญูเคารพนับถือมาก จึงพากันมาฟังธรรมทั้งเช้าและเย็น
ต่อมาท่านมีปัญหากับพระภิกษุและประชาชน เพราะชอบใช้คำพูดที่ไม่ไพเราะว่า คนถ่อย ด้วยความคุ้นเคยกับคำนี้มาในชาติปางก่อน เพื่อนพระภิกษุไปฟ้องพระพุทธองค์ ทรงตรัสเล่าเรื่องในชาติปางก่อนให้ฟังพระภิกษุทั้งหลายเข้าใจ และหมดความสงสัย
มนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดเป็นเทวดาเป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญู มีความเคารพนับถือบูชามาฟังธรรมทั้งเช้าและเย็น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทวดา
นิพพาน
พระปิลินทวัจฉะได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระกุมารกัสสปะ ชื่อเดิมว่า กัสสปะ ซึ่งเป็นชื่อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตั้งให้ เพราะท่านบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เลยได้ชื่อว่า กุมารกัสสปะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มารดาเป็นลูกสาวของเศรษฐี ซึ่งแต่งงานไม่นานก็ขออนุญาตสามีออกบวช โดยไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ท่านเกิดในเมืองสาวัตถีขณะที่มารดาเป็นนางภิกษุณี
นางภิกษุณีตลอดบุตรหน้าตาน่ารัก ผิวพรรณดุจทองคำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับไว้เลี้ยงดูเป็นพระราชโอรสบุญธรรม และตั้งชื่อให้ว่า กัสสปะ วันหนึ่งกัสสปะออกไปเล่นกับเด็ก ๆ ได้ทุบตีเด็กเหล่านั้น จึงถูกล้อเลียนว่า พวกเราถูกเด็กไม่มีพ่อแม่ทุบตี ท่านได้ยินคำพูดเช่นนั้นเกิดความสงสัย เข้าไปกราบทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศล จนได้ทราบความจริงทั้งหมด เกิดความสลดสังเวชใจในชะตาชีวิตของตนเองจึงขออนุญาตออกบวช ได้บวชเป็นสามเณร ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
ท่านบวชแล้วพากเพียรปฏิบัติธรรมไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย ครั้งนั้นเพื่อนของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส เห็นท่านลำบากในการปฏิบัติธรรมจึงผูกปัญหา ๑๕ ข้อ ให้ไปทูลถามพระพุทธองค์ รุ่งขึ้นไปเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาเท่านั้น ทรงแก้ปัญหาให้ครบทั้ง ๑๕ ข้อ พระเถระเรียนเองตามที่พระพุทธองค์ตรัสบอก เข้าไปยังป่าอัมพวัน บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระเถระท่านแสดงธรรมได้วิจิตรพิศดาร สมบูรณ์ด้วยอุปมาอุปมัยมีเหตุมีผล โปรดพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง นรกสวรรค์มีจริงเป็นต้น ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระกุมารกัสสปะ แสดงธรรมได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยอุปมาอุปมัยและเหตุผล พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมได้อย่างวิจิตร”
พระกุมารกัสสปะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระมหาโกฏฐิตเถระ ชื่อเดิมว่า โกฏฐิตะ หมายถึงทำให้คนหนีหน้า เพราะท่านเก่งในศาสตร์ต่าง ๆ จึงเที่ยวทิ่มแทงคนอื่นด้วยหอกคือปากของตน บิดาชื่อว่า อัสสลายนพราหมณ์ มารดาชื่อว่า จันทวดีพราหมณี ทั้งคู่เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพทและศาสตร์ ต่าง ๆ ชอบพูดหักล้างคนอื่นด้วยเหตุผล ใครพบจึงพากันหลบหน้า ไม่อยากจะสนทนาด้วย
โกฏฐิตะ แม้เป็นผู้มีความรู้มากแต่ก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น พยายามศึกษาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เป็นประจำ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ว่า เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้ให้เห็นประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าอย่างชัดเจน เขาจึงเข้าไปเฝ้าและฟังธรรม เกิดศรัทธาปรารถนาจะออกบวช จึงทูลขอบวชกับพระองค์ ทรงให้บวชตามความประสงค์
พระโกฏฐิตะ หลังจากบวชแล้วตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย และบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท พิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทา ๔ มีความกล้าหาญ แม้จะเข้าไปหาพระมหาเถระหรือว่าเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ก็จะถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ จึงมีชื่อเพิ่มอีกว่า มหาโกฏฐิตะ
พระมหาโกฏฐิตะ เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่นในมหาเวทัลลสูตร ได้ซักถามพระสารีบุตรเพื่อเป็นการวางหลักธรรมไว้เป็นแบบอย่าง เช่น ผู้มีปัญญาทราม คือผู้ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ผู้มีปัญญา คือผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง วิญญาณ คือธรรมชาติที่รู้แจ้ง ได้แก่รู้แจ้งสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นต้น
พระมหาโกฏฐิตะ เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ชอบสอบถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ กับพระพุทธองค์บ้าง กับพระมหาเถระทั้งหลายบ้างเป็นประจำ เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา”
พระมหาโกฏฐิตะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
๑.พระเถระรูปใด เคยมีอธิกรณ์เกี่ยวกับสตรีเพศ ?
ก.พระมหากัจจายนะ ข.พระโกณฑธานะ
ค.พระวักกลิ ง.พระนันทะ
๒.พระโกณฑธานะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.ในด้านจับฉลาก ข.ในด้านสอนภิกษุ
ค.ในด้านสอนภิกษุณี ง.ในด้านสอนสามเณร
๓.ปุพพกรรมของพระเถระรูปใด ที่มีภาพสตรีลวงตาติดตามอยู่เสมอ ?
ก.พระวังคีสะ ข.พระเรวตะ
ค.พระโกณฑธานะ ง.พระสุภูติ
๔.พระวังคีสะ เคาะกะโหลกศีรษะของใครแล้วไม่รู้ที่เกิด ?
ก.ปริพาชก ข.เทวดา
ค.เดียรถีย์ ง.พระอรหันต์
๕.พระสาวกรูปใด ชำนาญในมนต์เคาะกะโหลกศีรษะมนุษย์ ?
ก.พระพาหิยะ ข.พระสุภูติ
ค.พระสาคตะ ง.พระวังคีสะ
๖.พระเถระรูปใด ออกบวชเพราะต้องการเรียนมนต์ ?
ก.พระวังคีสะ ข.พระจูฬปันถกะ
ค.พระเรวตะ ง.พระกุมารกัสสปะ
๗.พระสาวกรูปใด มักเรียกคนอื่นว่า “คนถ่อย” ?
ก.พระสุภูติ ข.พระปิณโฑลภารทวาชะ
ค.พระปิลินทวัจฉะ ง.พระวักกลิ
๘.พระปิลินทวัจฉะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.แสดงธรรมได้ไพเราะ ข.ผู้จับฉลากเป็นปฐม
ค.พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ง.เป็นที่รักใคร่ของเทวดาทั้งหลาย
๙.พระเถระรูปใด เกิดในสำนักของนางภิกษุณี ?
ก.พระสีวลี ข.พระพากุละ
ค.พระกุมารกัสสปะ ง.พระทัพพมัลลบุตร
๑๐.พระสาวกรูปใด ก่อนบวชถูกล้อเลียนว่า เด็กไม่มีแม่ ?
ก.พระรัฐบาล ข.พระราธะ
ค.พระกุมารกัสสปะ ง.พระโกณฑธาน
๑๑.พระสาวกรูปใด เป็นบุตรของภิกษุณี ?
ก.พระมหากัปปินะ ข.พระปิณโฑลภารทวาชะ
ค.พระเรวตะ ง.พระกุมารกัสสปะ
๑๒.พระกุมารกัสสปะ เป็นพระโอรสบุญธรรมของพระราชาพระนามว่าอะไร ?
ก.ปเสนทิโกศล ข.พิมพิสาร
ค.อชาตศัตรู ง.อุเทน
๑๓.พระกุมารกัสสปะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.มีปฏิภาณ ข.แสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร
ค.ระลึกชาติได้มาก ง.มีลาภมาก
๑๔.ใครมาผูกปัญหา ๑๕ ข้อ ให้พระกุมารกัสสปะไปทูลถามพระพุทธเจ้า ?
ก.ท้าวสักกะ ข.เทวดา
ค.พระภิกษุ ง.พระพรหม
๑๕.พระสาวกรูปใด ก่อนบวชมักพูดหักล้างคนอื่นจนใคร ๆ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ?
ก.พระโสณกุฏิกัณณะ ข.พระกุมารกัสสปะ
ค.พระปุณณชิ ง.พระมหาโกฏฐิตะ
๑๖.พระมหาโกฏฐิตะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ข.มีฤทธิ์ทางใจ
ค.แสดงธรรมได้ไพเราะ ง.บวชด้วยศรัทธา
เฉลย
๑.ข ๒.ก ๓.ค ๔.ง ๕.ง
๖.ก ๗.ค ๘.ง ๙.ค ๑๐.ค
๑๑.ง ๑๒.ก ๑๓.ข ๑๔.ง ๑๕.ง
๑๖.ก
พระโสภิตะ ชื่อเดิมว่า โสภิตะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์
วันหนึ่งโสภิตะ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และได้ฟังธรรม บังเกิดความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า จึงปรารถนาจะบวช ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ทรงประทานการบวชให้ตามความประสงค์
พระโสภิตะ ครั้นบวชแล้วตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นผู้ชำนาญในการระลึกชาติ
แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของท่านในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ข้อปฏิบัติของท่านก็ทำให้ผู้ที่เกิดมาภายหลังได้ศึกษาเรียนรู้ แล้วเกิดความเห็นถูกว่า โลกนี้และโลกหน้ามีจริง นรกและสวรรค์มีจริง ผลของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง อันเกิดจากการระลึกชาติในอดีตของท่าน
พระโสภิตะ เป็นผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณระลึกชาติในอดีต เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกชาติได้”
พระโสภิตะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระนันทกะ ชื่อเดิมว่า นันทกะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์
วันหนึ่งนันทกะ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์และได้ฟังธรรม บังเกิดความเลื่อมในอย่างแรงกล้า จึงปรารถนาจะบวช ทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ทรงประทานการบวชให้ตามความประสงค์
พระนันทกะ ครั้นบวชแล้วจึงตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระนันทกะ เป็นผู้ชำนาญในการระลึกชาติของตนเองและของคนอื่น และเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระพุทธองค์ มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรมนางภิกษุณีทั้งหลายไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย เมื่อถึงวาระของพระนันทกะ ท่านแสดงธรรมภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระนันทกะ อาศัยเหตุที่ท่านเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระพุทธองค์ พวกภิกษุณีได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี”
พระนันทกะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระมหากัปปินะ พระนามเดิมว่า กัปปินะ ต่อมาได้ครองราชสมบัติ จึงมีพระนามว่า มหากัปปินะ พระบิดาและพระมารดาไม่ปรากฏพระนาม เป็นเจ้าเมืองกุกกุฏวดี ในปัจจันตชนบท ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าสาคตะ แห่งแคว้นมัททะ ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องศาสนา คอยสดับข่าวการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
วันหนึ่งทรงทราบข่าวจากพ่อเมืองสาวัตถีว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลกแล้ว ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง พร้อมกับทหาร ๑,๐๐๐ คน เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์เสด็จไปต้อนรับพระมหากัปปินะและบริวารที่ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธ พระราชาพร้อมทั้งบริวารได้เสด็จไปเข้าเฝ้า ณ ที่นั้น ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ พอจบพระธรรมเทศนาพระราชาพร้อมด้วยบริวารบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ส่วนพระนางอโนชาเทวี ทราบข่าวการออกบวชของพระราชา จากพวกพ่อค้าก็เกิดความเลื่อมใส ชักชวนภรรยาของทหาร ๑,๐๐๐ คน ติดตามไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมให้พระเทวีและบริวารฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางอโนชาเทวีและบริวาร ๑,๐๐๐ คน ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระมหากัปปินะและภิกษุบริวาร นั่งฟังธรรมอยู่ในที่นั้นด้วย ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และท่านมักเปล่งอุทานว่า สุขหนอ สุขหนอ
เมื่อท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังไม่ได้กล่าวสอนธรรมแก่ใคร ๆ เพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาตจากพระพุทธองค์ ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว จึงแสดงธรรมแก่ภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
พระพุทธองค์ทรงอาศัยเหตุที่ท่านแสดงธรรมแก่พระภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ”
พระมหากัปปินะ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระสาคตะ ชื่อเดิมว่า สาคตะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์
พระสาคตะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้วมีจิตเลื่อมใส ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ทรงอนุญาตการบวชให้ตามความปรารถนา หลังจากบวชแล้วตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ มีความชำนาญในฌานสมาบัตินั้น
ครั้งหนึ่งพระสาคตะ ตามเสด็จพระพุทธองค์ถึงท่าเรืออัมพะ ที่หมู่บ้านภัททวติกะ ใกล้เมืองโกสัมพี แคว้นเจตี ที่ใกล้ ๆ ท่าเรือนั้นมีพญานาค ชื่อว่า อัมพติฏฐกะ ซึ่งมีฤทธิ์ดุร้าย ท่านได้ช่วยชาวบ้านปราบพญานาคนั้นด้วยเตโชสมาบัติจนสิ้นฤทธิ์ ชาวบ้านดีใจมาก ถามว่า พระคุณเจ้าชอบฉันอะไร โยมจะหามาถวาย ขณะนั้นพระฉัพพัคคีย์พูดแทรกขึ้นว่า ชอบสุราอ่อน ๆ วันรุ่งขึ้นเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านจึงจัดสุราสีแดงถวายทุกครัวเรือน ท่านฉันสุราจนเมาหมดสติล้มลงที่ประตูเมือง ด้วยเหตุนั้น พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยห้ามภิกษุดื่มสุรา ท่านเป็นต้นบัญญัติของพระวินัยข้อนี้
วันรุ่งขึ้นพอท่านสร่างเมาได้สติแล้ว รู้สึกสลดใจต่อการกระทำของตนเอง จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลขอให้ทรงอดโทษให้แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญในเตโชสมาบัติ จึงแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านแคว้นอังคะ อัศจรรย์ใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนาจึงปักหลักมั่นคงในแคว้นอังคะ
พระสาคตะเป็นผู้มีความชำนาญในการเข้าเตโชสมาบัติเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการเข้าเตโชสมาบัติ”
พระสาคตะ เป็นกำลังสำคัญองค์หนึ่งในการช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระอุปเสนะ เดิมชื่อว่า อุปเสนะ หรืออุปเสนวังคันตบุตร บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า สารีพราหมณี ท่านมีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะ และจุนทะ น้องชาย ๑ คน คือ เรวตะ มีน้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจาลา และนางสุปจารา เกิดที่หมู่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท
อุปเสนะ หลังจากที่อุปติสสะหรือว่าพระสารีบุตรบวชแล้ว ท่านก็มีความปรารถนาจะบวชเหมือนกัน วันหนึ่งไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ได้ฟังธรรม เกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ทรงอนุญาตให้ท่านได้บวชตามความประสงค์
หลังจากที่บวชแล้วยังไม่ทันได้พรรษา ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรคนหนึ่ง แล้วพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ถูกพระพุทธองค์ติเตียนว่าไม่เหมาะสม จึงคิดว่า เราอาศัยบริษัทถูกพระพุทธองค์ติเตียน แต่เราจะอาศัยบริษัทนี้แหละทำให้พระพุทธองค์เลื่อมใส จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียร ในไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีลูกศิษย์มากมาย จนได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์
พระอุปเสนะ ครั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วได้ถือธุดงค์ ๑๓ ข้อ และสอนให้ผู้อื่นถือธุดงค์นั้นด้วย จึงเป็นที่เลื่อมใสของประชาชน ทุกชั้นวรรณะพากันบวชเป็นลูกศิษย์ของท่านมากมาย
พระพุทธองค์อาศัยความที่ท่านเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนทุกชั้นวรรณะ เพราะฉะนั้นทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสของหมู่ชนทุกชั้น”
พระอุปเสนะ เป็นกำลังสำคัญองค์หนึ่งในการช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
๑.พระโสภิตะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.บวชด้วยศรัทธา ข.มีโรคน้อย
ค.ระลึกชาติได้ ง.มีลาภมาก
๒.พระนันทกะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.ในด้านเตโชธาตุ ข.ในด้านสอนภิกษุณี
ค.ในด้านสำรวมอินทรีย์ ง.ในด้านใฝ่ศึกษา
๓.มีปัญญาแม้ไม่มีทรัพย์ ยังพออยู่ได้ แต่ขาดปัญญา แม้มีทรัพย์ก็อยู่ไม่ได้...เป็นธรรมวาทะของใคร ?
ก.พระโสภิตะ ข.พระสาคตะ
ค.พระมหากัปปินะ ง.พระพากุละ
๔.พระสาวกรูปใดขณะเป็นพระราชา มีม้าไว้สืบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ?
ก.พระมหากัปปินะ ข.พระรัฐบาล
ค.พระภัททิยะ ง.พระโสณกุฏิกัณณะ
๕.พระมหากัปปินะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.ทรงพระวินัย ข.ปรารภความเพียร
ค.สัทธาวิมุตติ ง.สอนภิกษุ
๖.พระมหากัปปินะ ก่อนบวชเคยเป็นกษัตริย์ในเมืองไหน ?
ก.เมืองราชคฤห์ ข.เมืองอุชเชนี
ค.เมืองกุกกุฏวดี ง.เมืองสาวัตถี
๗.พระมหากัปปินะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะฟังธรรมเทศนาชื่อว่าอะไร ?
ก.อนัตตลักขณสูตร ข.โอวาทปาฏิโมกข์
ค.อนุปุพพิกถา ง.อาทิตตปริยายสูตร
๘.พระนางอโนชาเทวี เป็นพระมเหษีของใคร ?
ก.พระเจ้าพิมพิสาร ข.พระเจ้ามหากัปปินะ
ค.พระเจ้าปเสนทิโกศล ง.พระเจ้าอุเทน
๙.พระสาคตเถระได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านใด ?
ก.ระลึกถึงชาติก่อนได้ ข.ให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท
ค.ฉลาดในเตโชกสิณ ง.ทำให้ตระกูลเลื่อมใส
๑๐.พระสาวกรูปใด เป็นต้นบัญญัติในการห้ามดื่มสุรา ?
ก.พระสาคตะ ข.พระพากุละ
ค.พระสุภูติ ง.พระโสภิตะ
๑๑.พระเถระรูปใดเวลาบิณฑบาต ได้มีชาวบ้านเลื่อมใสนำสุรามาถวาย ?
ก.พระนันทกะ ข.พระมหากัปปินะ
ค.พระสาคตะ ง.พระอุปเสน
๑๒.พระสาวกรูปใด ถูกพระศาสดาทรงตำหนิว่า โมฆบุรุษผู้มักมาก ?
ก.พระสุภูติ ข.พระจุนทะ
ค.พระเรวตะ ง.พระอุปเสนะ
๑๓.พระอุปเสนะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
ก.นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ชนทุกชั้น ข.ระลึกชาติได้
ค.ให้โอวาทแก่พระภิกษุ ง.ให้โอวาทแก่ภิกษุณี
๑๔.พระเถระองค์ใด ถือธุดงค์ ๑๓ ข้อ ?
ก.พระพากุละ ข.พระอานนท์
ค.พระนาลกะ ง.พระอุปเสนะ
เฉลย
๑.ค ๒.ข ๓.ค ๔.ก ๕.ง
๖.ค ๗.ค ๘.ข ๙.ค ๑๐.ก
๑๑.ค ๑๒.ง ๑๓.ก ๑๔.ง
พระขทิรวนิยเรวตะ ชื่อเดิมว่า เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี ท่านเป็นน้องชายคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องทั้ง ๗ คน โดยมีพระสารีบุตรเป็นที่ชายคนโต เกิดที่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เกิดในวรรณะพราหมณ์
เรวตะเป็นลูกชายคนเล็ก พี่ชายและพี่สาว ๖ คน ออกบวชในพระพุทธศาสนาทั้งหมด พ่อแม่กลัวว่าท่านจะออกบวชเหมือนพี่ชายและพี่สาวจึงจับแต่งงานกับสาวน้อยคนหนึ่งตอนอายุ ๗ ขวบ ในวันแต่งงานขณะทำพิธีรดน้ำสังข์ มีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งอายุ ๑๒๐ ปีมาอวยพรด้วย ญาติ ๆ ทั้งหลายจึงอวยพรว่า ขอให้ทั้งสองมีอายุยืนเหมือนยายคนนี้ เรวตะมองดูยายผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโก่ง แล้วมองดูหน้าเจ้าสาวของตน คิดว่า ต่อไปเจ้าสาวของเราก็จะเหมือนกับยายคนนี้ คิดแล้วสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างทางที่กลับบ้าน จึงหนีออกบวชในสำนักของพระป่ารูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นก็บวชให้ตามคำสั่งของพระสารีบุตร
สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียนบำเพ็ญเพียร ในไม่ช้าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระเรวตะมีข้อปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส คือชอบอยู่ป่า นำมาซึ่งความเลื่อมใสของประชาชนในสมัยนั้น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ไปเยี่ยมท่าน ซึงจำพรรษาอยู่ที่ป่าไม้ตะเคียน ท่านเนรมิตที่พักกลางวัน ที่พักกลางคืน และที่จงกรมอย่างละ ๕๐๐ ที่ พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่นั่น ๑ เดือน จึงเสด็จกลับ
พระเรวตะ ท่านชอบอาศัยอยู่ในป่า พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า”
พระเรวตะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์และความสุขของชาวโลก ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด
พระสีวลี ชื่อเดิมว่า สีวลี พระบิดาไม่ปรากฏพระนาม พระมารดาพระนามว่า สุปปวาสา ซึ่งเป็นพระธิดาของเมืองโกลิยะ ท่านอยู่ในครรภ์ของพระมารดา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้พระมารดามีลาภมากและคลอดง่ายที่สุด
เมื่อสีวลีกุมารประสูติ พระมารดาและพระประยูรญาติได้ถวายมหาทาน ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระสารีบุตรชวนสีวลีกุมารออกบวช พระมารดาทรงอนุญาตให้บวช ท่านจึงนำพระกุมารไปบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่วันที่สีวลีกุมารบวช ลาภสักการะได้เกิดขึ้นแก่พระภิกษุทั้งหลายเป็นจำนวนมาก
พระสารีบุตร สอนกรรมฐานเบื้องต้น คือ ตจปัญจกกรรมฐาน ได้แก่ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ให้พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งาม เป็นของสกปรก ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะที่ปลงผมเสร็จ คือ จรดมีดโกนครั้งแรก บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนครั้งที่ ๒ บรรลุเป็นพระสกทาคามี จรดมีดโกนครั้งที่ ๓ บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี พอปลงผมเสร็จบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระสีวลี เป็นพระที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายเคารพนับถือมาก มีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยบุญบารมีที่สั่งสมมาในอดีตชาติ ถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญในการประกาศพระศาสนา คือ ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส สำหรับผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ก็เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น
เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้มีลาภมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหน ช่วยให้พระภิกษุทั้งหลายไม่ขัดสนด้วยปัจจัย ๔ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก”
พระสีวลีนับว่าเป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่ง ที่ได้ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก ท่านดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็นิพพานในที่สุด
พระวักกลิ ชื่อเดิมว่า วักกลิ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะพราหมณ์ ศึกษาจบไตรเพท
วันหนึ่งพระพุทธองค์แวดล้อมด้วยหมู่สงฆ์ เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี วักกลิครั้นได้เห็นพระพุทธองค์ก็หลงไหลในพระรูปไม่อิ่มในการดู จึงติดตามพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง ในที่สุดตัดสินใจออกบวช เพราะต้องการเห็นพระพุทธองค์ทุกวัน เขาจึงขอบวช ทรงประทานการบวชให้ตามความประสงค์
หลังจากบวชแล้วก็เฝ้าติดตามพระพุทธองค์เพื่อดูพระรูปโฉมอยู่เสมอ ทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของ ท่านจึงไม่ตรัสอะไร ครั้นทรงทราบว่าญาณแก่กล้าจึงตรัสว่า “วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรกับการดูร่างกายที่เน่าเปื่อย ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นย่อมเห็นธรรม” แต่ท่านก็ไม่เชื่อยังเฝ้าดูพระพุทธองค์เช่นเดิม ต่อมาใกล้วันเข้าพรรษา ทรงเสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ ในวันเข้าพรรษาทรงขับไล่พระวักกลิออกไปจากสำนัก ด้วยพระดำรัสว่า “วักกลิ เธอจงหลีกออกไป” ท่านเสียใจมาก ขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏเพื่อฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงปรากฏพระองค์ให้เห็น ตรัสเรียกว่า วักกลิ และทรงแสดงธรรมให้ฟัง ท่านเกิดปีติปราโมทย์ใจมาก รีบเหาะมาเข้าเฝ้า พิจารณาถึงคำสอนของพระพุทธองค์ ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์บนอากาศนั่นเอง
ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พระภิกษุและสามเณร ตลอดจนถึงประชาชนทุกชั้นวรรณะ
พระวักกลิเป็นผู้มีความศรัทธาในการออกบวช จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ศรัทธาวิมุตติ” (พ้นจากกิเลสเพราะศรัทธา)
พระวักกลินับว่าเป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการพระศาสนา แบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ ท่านดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็นิพพานในที่สุด
พระพาหิยทารุจีริยะ ชื่อเดิมว่า พาหิยะ ภายหลังเขานุ่งเปลือกไม้ จึงได้ชื่อว่า พาหิยทารุจีริยะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวแคว้นพาหิยะ เกิดในวรรณะแพศย์ มีอาชีพเป็นพ่อค้า วันหนึ่งออกเรือไปค้าขาย แต่เรือเกิดอัปปางลงทำให้ผู้ที่อยู่บนเรือเสียชีวิตทั้งหมด ยกเว้นพาหิยะคนเดียวเท่านั้น
เมื่อเรืออัปปางแล้ว พาหิยะเกาะแผ่นกระดานว่ายน้ำไปท่าเรือสุปปารกะ ไม่มีผ้านุ่งติดตัวแม้แต่ชิ้นเดียว จึงเอาเปลือกไม้มานุ่งแทน ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน ชาวเมืองเห็นแล้วคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์นำอาหารบ้าง เครื่องนุ่งห่มบ้างมาให้ ท่านคิดว่า ถ้าเราจักนุ่งห่มลาภสักการะต่าง ๆ จะเสื่อม จึงนุ่งห่มแต่เปลือกไม้เท่านั้น และก็สำคัญตัวเองว่า เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
พรหมตนหนึ่ง ซึ่งเคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาในชาติก่อน ได้มาเตือนสติ “พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ท่านก็ยังไม่รู้เลย ผู้เป็นพระอรหันต์ และรู้ข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุพระอรหันต์อยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี” เขาสลดใจรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ขณะนั้นทรงเสด็จบิณฑบาตอยู่ ท่านรีบร้อนอยากฟังธรรม ทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง ครั้นทรงทราบว่าญาณของเขาแก่กล้าแล้วจึงตรัสว่า “เมื่อเห็นขอให้เป็นเพียงการเห็น” เขายืนอยู่กลางถนนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จากนั้นจึงทูลขอบวช แต่มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ จึงไปหาบาตรและจีวร ขณะที่กำลังดึงผ้าเก่าจากกองขยะ ถูกอมนุษย์คู่เวรกันเข้าสิงในแม่โคตัวหนึ่ง ทำร้ายจนเสียชีวิต ยังจึงไม่ทันได้บวช
พระพาหิยะ เป็นผู้มีปัญญาสามารถบรรลุธรรมได้เร็วพลัน เพียงฟังธรรมะบทสั้น ๆ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน”
พระพาหิยะ ยังไม่ทันได้บวชถูกอมนุษย์ผู้มีเวรต่อกันเข้าสิงในร่างของแม่โค ทำร้ายจนนิพพาน ในขณะที่ท่านกำลังดึงผ้าเก่าจากกองขยะ
พระพากุละ ชื่อเดิมว่า พากุละ แปลว่าคนสองตระกูล บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นลูกของเศรษฐีชาวเมืองโกสัมพี เกิดในวรรณะแพศย์ เมื่อเกิดได้ ๕ วัน มีการทำวิธีโกนผมไฟและตั้งชื่อ พี่เลี้ยงพาไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ปลาใหญ่ตัวหนึ่งได้ฮุบกินเข้าไปในท้อง ปลานั้นว่ายน้ำไปติดตาข่ายของชาวประมงเมืองพาราณสี ชาวประมงนำปลาไปขาย เศรษฐีคนหนึ่งได้ซื้อปลาตัวนั้นไว้ เมื่อผ่าท้องปลาก็พบทารกน่ารักเพศชายนอนอยู่ จึงรู้สึกรักเด็กนั้นมากเลี้ยงไว้เหมือนบุตรของตัวเอง
ฝ่ายบิดาและมารดาเก่าทราบข่าว จึงไปขอบุตรคืน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ พากันไปถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี พระองค์ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงดูเด็กนั้นคนละ ๔ เดือน
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองพาราณสี พากุละทั้งบริวารพากันไปเข้าเฝ้าแล้วได้ฟังธรรม เกิดศรัทธาเลื่อมใสจึงทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ตามความประสงค์
พระพากุละครั้นบวชแล้วตั้งอยู่ในโอวาทของพระพุทธองค์ บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท เพียง ๗ วัน ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระพากุละ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านเป็นผู้ที่มีอายุยืน บวชเมื่ออายุ ๘๐ ปี เป็นพระอีก ๘๐ ปี ท่านมีอายุ ๑๖๐ ปี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องฉันยารักษาโรค เพราะบุญที่ท่านได้สร้างห้องน้ำถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทาน ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนที่มาในภายหลัง
เพราะพระพากุละ เป็นผู้มีโรคน้อย มีอายุยืน พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย”
พระพากุละ เป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยพระพุทธองค์แบ่งเบาภาระทางพระพุทธศาสนา ก่อนนิพานได้เข้าเฝ้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานในท่ามกลางหมู่สงฆ์ เมื่อนิพพานแล้วไฟก็ไหม้สรีระร่างของท่านหมดไป ณ ที่นั้นเอง
๑.พระขทิรวนิยเรวตะ เป็นเลิศในด้านใด ?
ก.อยู่ธุดงค์เป็นวัตร ข.อยู่ป่าเป็นวัตร
ค.มีลาภมาก ง.มีศรัทธามาก
๒.พระเถระองค์ใดที่บิดาและมารดาจับแต่งงานเมื่ออายุ ๗ ขวบ ?
ก.พระสารีบุตร ข.พระมหาโมคคัลลานะ
ค.พระสีวลี ง.พระเรวตะ
๓.พระเรวตะมีพระพี่ชายชื่อว่าอะไร ?
ก.พระสาคตะ ข.พระนันทะ
ค.พระสารีบุตร ง.พระพากุละ
๔.เพราะเหตุใดจึงได้ชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวตะ” ?
ก.เพราะชอบอยู่ในป่าไม้ตะเคียน
ข.เพราะชอบอยู่ในป่าไม้มะเดื่อ
ค.เพราะชอบอยู่ในป่าไม้ไผ่
ง.เพราะชอบอยู่ในป่ามะม่วง
๕.พระสาวกรูปใด บรรลุพระอรหันต์ขณะปลงผมเสร็จ ?
ก.พระสีวลี ข.พระเรวตะ
ค.พระสุภูติ ง.พระวังคีสะ
๖.พระสาวกรูปใด ได้รับยกย่องมีลาภสักการะมาก ?
ก.พระภัคคุเถระ ข.พระกิมพิลเถระ
ค.พระสีวลีเถระ ง.พระนาลกเถระ
๗.พระสาวกรูปใด อยู่ในครรภ์ของมารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ?
ก.พระทัพพมัลลบุตร ข.พระสีวลี
ค.พระวังคีสะ ง.พระจูฬปันถก
๘. “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา” พระพุทธเจ้าตรัสแก่ใคร ?
ก.พระเจ้าพิมพิสาร ข.พระวักกลิ
ค.นางวิสาขา ง.พระราหุล
๙.วักกลิมาณพ ออกบวชด้วยสาเหตุใด ?
ก.ต้องการเห็นพระรูปโฉม ข.เกิดศรัทธา
ค.เลื่อมใสในพระรูปโฉม ง.ได้ตามเสด็จทุกโอกาส
๑๐. พระสาวกรูปใด ออกบวชเพราะต้องการเห็นพระพุทธเจ้า ?
ก.พระสาคตะ ข.พระโสภิตะ
ค.พระวักกลิ ง.พระรัฐบาล
๑๑.“เธอจะเฝ้าดูกายอันเน่าเปื่อยนี้ไปทำไม” พระพุทธองค์ตรัสแก่พระสาวกรูปใด ?
ก.พระนันทะ ข.พระวักกลิ
ค.พระราหุล ง.พระอานนท์
๑๒.พระศาสดาทรงยกย่องพระวักกลิว่าอย่างไร ?
ก.เป็นผู้เลิศด้านมีน้ำเสียงไพเราะ
ข.เป็นผู้เลิศด้านมีลาภมาก
ค.เป็นผู้เลิศด้านยินดีในฌานสมาบัติ
ง.เป็นผู้เลิศด้านศรัทธาวิมุตติ
๑๓.ใครบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่ทันบวชก็นิพพานเสียก่อน ?
ก.พระพาหิยะ ข.พระชัมพุกะ
ค.พระพากุละ ง.พระวังคีสะ
๑๔.ใครนุ่งเปลือกไม้ ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ ?
ก.พระพาหิยทารุจีริยะ ข.พระปิลินทวัจฉะ
ค.พระเรวตะ ง.พระนาลกะ
๑๕.พระพาหิยะ ได้รับเอตทัคคะด้านใด ?
ก.มีบริวารมาก ข.ตรัสรู้เร็ว
ค.ชำนาญในมโนมยิทธิ ง.เป็นที่รักใคร่ของเทวดา
๑๖.พระสาวกรูปใด ไม่มีโอกาสครองผ้ากาสาวพัสตร์ก่อนนิพพาน ?
ก.พระปิลินทวัจฉะ ข.พระมหากัปปินะ
ค.พระพาหิยทารุจีริยะ ง.พระอานนท์
๑๗.พระพากุละไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เพราะสาเหตุใด ?
ก.สร้างเจดีย์ถวาย ข.สร้างห้องสุขาถวาย
ค.ถวายยาเป็นทาน ง.ข้อ ข. และ ค. ถูก
๑๘.พระสาวกรูปใด ได้ชื่อว่าปัจฉิมภวิกสัตว์ ผู้เกิดเป็นภพสุดท้าย ?
ก.พระสีวลี ข.พระพากุละ
ค.พระสุภูติ ง.พระราธะ
๑๙.พระพากุลเถระ ท่านนิพพานเมื่ออายุได้เท่าไร ?
ก.๘๐ ข.๑๒๐
ค.๑๔๐ ง.๑๖๐
๒๐.พระสาวกองค์ใด ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีโรคน้อย ?
ก.พระอุทายี ข.พระอุบาลี
ค.พระพากุละ ง.พระวักกลิ
๒๑.พระเถระรูปใด สมัยเป็นทารกถูกปลากินแต่ไม่ตาย ?
ก.พระพากุล ข.พระโสภิตะ
ค.พระนาลกะ ง.พระสุภูติ
เฉลย
๑.ข ๒.ง ๓.ค ๔.ก ๕.ก
๖.ค ๗.ข ๘.ข ๙.ก ๑๐.ค
๑๑.ข ๑๒.ง ๑๓.ก ๑๔.ก ๑๕.ข
๑๖.ค ๑๗.ง ๑๘.ข ๑๙.ง ๒๐.ค
๒๑.ก
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710