อนุพุทธประวัติ พระสาวกกลุ่มที่ 4-5

พระสาวกกลุ่มที่ ๔   ๑๖. พระอานนทเถระ

สถานะเดิม

            พระอานนท์ พระนามเดิมว่า อานนท์ มีความหมายว่า เกิดมาทำให้ประยูรญาติต่างยินดี พระบิดาทรงพระนามว่า สุกโกทนะ พระมารดาทรงพระนามว่า กีสาโคตรมี เกิดที่เมืองกบิลพัสดุ์ ในวรรณะกษัตริย์ และเป็นสหชาต คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระสหายสนิท ๕ พระองค์ คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต

มูลเหตุของการออกบวช

            เจ้าชายอานนท์ พร้อมกับเจ้าชาย ๕ พระองค์ รวมเป็น ๗ คน กับนายอุบาลี ช่างกัลบกชักชวนกันออกบวช ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ได้ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อจะได้ทำความเคารพกราบไหว้ ทำลายทิฏฐิมานะ คือความถือตัวเพราะชาติตระกูลของเจ้าศากยะทั้งหลาย ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากบวชแล้วพระอานนท์ได้ฟังธรรมจากพระปุณณมันตานีบุตร บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

พุทธอุปัฏฐาก

            พระพุทธองค์ตรัสรู้และเผยแผ่พระพุทธศาสนามา ๒๐ ปี ไม่มีพระภิกษุผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากเป็นประจำ ต่อมาพระภิกษุสงฆ์เลือกพระอานนท์เป็นอุปัฏฐาก ก่อนทำหน้าที่อุปัฏฐากทูลขอพร ๘ ประการ คือ
            ๑.อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
            ๒.อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
            ๓.อย่าโปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
            ๔.อย่าทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
            ๕.จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
            ๖.ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทซึ่งมาเข้าเฝ้าแต่ที่ไกลได้เข้าเฝ้าในขณะที่มาได้ทันที
            ๗.ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้น
            ๘.ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์

วัตถุประสงค์ในการทูลขอพร

            พระอานนท์ทูลขอพร  ๔ ประการข้างต้นนั้น เพื่อป้องกันคนภายนอกตำหนิว่า อุปัฏฐากเพื่อต้องการลาภ  ๓ ข้อเบื้องปลายเพื่อป้องกันข้อครหาว่า อุปัฏฐากไปทำไมแม้กิจเพียงแค่นั้น พระพุทธองค์ยังไม่ทรงอนุเคราะห์ และข้อสุดท้ายเพื่อป้องกันข้อครหาว่า เฝ้าตามเสด็จอยู่ดุจเงาตามตัว แม้ธรรมนี้ก็ไม่รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหนและเมื่อไร

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานได้ ๓ เดือน ก่อนทำปฐมสังคายนาหนึ่งวัน ท่านทำความเพียรอย่างหนัก หวังจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนทำสังคายนา แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะจิตใจฟุ้งซ่าน จึงหยุดจงกรม นั่งลงบนเตียง เอียงกายลงด้วยประสงค์จะพักผ่อน พอยกเท้าขึ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ตอนนั้นเองจิตของท่านก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านองค์เดียวเท่านั้นที่บรรลุพระอรหันต์ไม่อยู่ในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน

งานประกาศพระศาสนา

             งานประกาศพระศาสนาที่สำคัญ คือ ได้รับคัดเลือกจากพระสงฆ์ ๕๐๐ องค์ ให้เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งแรกซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามั่นคงถาวร เผยแผ่มาถึงปัจจุบันนี้

ตำแหน่งเอตทัคคะ

             พระอานนท์ทรงทำหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ด้วยดี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์มากกว่าพระภิกษุองค์อื่น มีสติปัญญาทรงจำได้ดี เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียน และฉลาดในการแสดงธรรม พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก”

นิพพาน

             พระอานนท์อยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนา จนถึงอายุ ๑๒๐ ปี เมื่อพิจารณาเห็นว่าถึงเวลาสมควรจะนิพพาน จึงไปยังแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นกลางระหว่างศากยวงค์และโกลิยวงค์ แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศนิพพาน อธิษฐานให้ร่างกายแตกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่งตกลงข้างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย

 

๑๗. พระโสณโกฬิวิสเถระ

สถานะเดิม

            พระโสณโกฬิวิสะ ชื่อเดิมว่า โสณะ เพราะเป็นผู้มีพิวพรรณผุดผ่องเหมือนทองคำ  ส่วนโกฬิวิสะ เป็นชื่อแห่งโคตร บิดาชื่อว่า อุสภเศรษฐี อยู่ที่เมืองจำปา แคว้นอังคะ มารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะแพศย์ ท่านมีลักษณะพิเศษคือ ตอนที่ท่านเกิดมีขนปรากฏที่ผ่าเท้าทั้งสองข้าง เป็นผู้ชำนาญในการดีดพิณ ๓ สาย เป็นคนละเอียดอ่อน บิดาได้สร้างปราสาท ๓ หลังให้พักใน ๓ ฤดู

มูลเหตุของการออกบวช

            พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรขนที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างของนายโสณะ จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ทรงรับสั่งให้โสณะพร้อมประชาชน ๘๐,๐๐๐ คน เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบวชในพระวินัย เพราะเห็นว่าการครองเรือนนั้น จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์กระทำได้ยาก ทรงประทานการบวชให้ตามประสงค์

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            ครั้นบวชแล้ว ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ป่าสีตวัน เขตเมืองราชคฤห์ ท่านเดินจงกรมจนเท้าแตก เลือดไหล เมื่อเดินไม่ได้จึงคลานด้วยเข่าและฝ่ามือทั้งสองข้าง จนกระทั่งเข่าและฝ่ามือทั้งสองแตกอีก แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร เกิดความเบื่อหน่ายอยากจะสึกไปครองเรือน พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสอนให้ท่านทำความเพียรพอปานกลาง โดยยกพิณ ๓ สายเข้ามาเปรียบเทียบ ท่านตั้งใจปฏิบัติตามพระโอวาท เร่งบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            พระโสณโกฬิวิสะ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบุคคลผู้ต้องการบรรลุธรรม โดยการทำตัวเองให้ลำบากจนเกินไป ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้นั้นต้องบำเพ็ญเพียรในทางสายกลาง ไม่ตึงหรือย่อหย่อนจนเกินไปนัก หลังจากการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านแสดงคุณสมบัติของพระอรหันต์นั้นน้อมจิตไปในคุณ ๖ ประการ คือ
            ๑.น้อมเข้าไปในบรรพชา
            ๒.น้อมเข้าไปในความสงัด
            ๓.น้อมเข้าไปในความสำรวมไม่เบียดเบียน
            ๔.น้อมเข้าไปในความไม่ถือมั่น
            ๕.น้อมเข้าไปในความไม่มีความอยาก
            ๖.น้อมเข้าไปในความไม่หลง

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระโสณโกฬิวิสะ ครั้งยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้บำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร”

นิพพาน

            พระโสณโกฬิวิสะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว ก็นิพพานในที่สุด

 

๑๘. พระรัฐบาลเถระ

สถานะเดิม

            พระรัฐบาล ชื่อเดิมว่า รัฐบาล แปลว่าผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะตระกูลของท่านได้ช่วยกอบกู้แว่นแคว้นที่อยู่อาศัยซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้น บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม บิดาของท่านเป็นเศรษฐีหัวหน้าหมู่บ้าน เกิดในวรรณะแพศย์ ในถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ

มูลเหตุของการออกบวช

            ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปยังโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ บ้านเกิดของท่าน ชาวกุรุเป็นจำนวนมากได้มาฟังธรรม รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย หลังจากประชาชนกลับไปแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูลขอบวชทรงตรัสบอกให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน

            เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดาบวช ท่านทั้งสองไม่อนุญาต จึงประท้วงด้วยการอดอาหาร บิดาและมารดากลัวลูกชายจะตายจึงอนุญาตให้บวช ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูลขอบวช ทรงอนุญาตให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            หลังจากบวชแล้วท่านได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปพักอยู่ที่วัดเชตวัน เป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ใช้เวลา ๑๒ ปี จึงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            เมื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วท่านกลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิด โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านพักอยู่ที่สวนมิคจิรวัน พระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เจ้าเมืองแคว้นกุรุ

            อยู่มาวันหนึ่งพระราชาเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นท่านทรงจำได้ และได้เข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรมด้วย ทรงตรัสถามถึงความเสื่อม ๔ ประการ ที่บุคคลบางคนประสบเข้าแล้วจึงออกบวช คือ
            ๑.ความแก่ชรา
            ๒.ความเจ็บป่วย
            ๓.ความสิ้นโภคทรัพย์
            ๔.ความสิ้นญาติพี่น้อง             แต่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช  พระเถระได้ทูลตอบถึงธรรมุทเทศ คือ หัวข้อธรรม ๔ ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ อาตมาภาพรู้เห็นตามธรรมนั้นจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ประการ คือ
            ๑.โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
            ๒.โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกันไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
            ๓.โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
            ๔.โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
            พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสในธรรมะของท่าน ตรัสชมเชยแล้วทรงลากลับไป

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระรัฐบาล มีความเลื่อมใสในธรรมะตั้งใจจะออกบวช แต่กว่าจะได้บวชก็ยากลำบาก  ต้องยอมอดอาหารเอาชีวิตเข้าแลกจึงได้บวช ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา”

นิพพาน

             พระรัฐบาล ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว ก็นิพพานในที่สุด

 

๑๙. พระปิณโฑลภารทวาชเถระ

สถานะเดิม

             พระปิณโฑลภารทวาชะ ชื่อเดิมว่า ภารทวาชะ บิดาไม่ปรากฏนาม เป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน มารดาไม่ปรากฏนาม เกิดในแคว้นวังสะ วรรณะพราหมณ์ เรียนจบไตรเพท เป็นอาจารย์ตั้งสำนักสอนมนต์แก่ลูกศิษย์ ๕๐๐ คน ต่อมาถูกศิษย์ทอดทิ้ง เพราะกินจุ ได้ไปยังเมืองราชคฤห์สอนมนต์อยู่ที่นั่น ไม่ค่อยมีคนนับถือเพราะเป็นคนต่างถิ่น จึงประสบกับชีวิตที่ฝืดเคืองยิ่งขึ้น

มูลเหตุของการออกบวช

             ปิณโฑลภารทวาชะ ไปอยู่เมืองราชคฤห์เห็นพระพุทธองค์กับพระสาวก มีลาภสักการะมาก มีความปรารถนาจะได้ลาภเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าเฝ้าทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

             หลังจากบวชแล้วได้เที่ยวบิณฑบาตโดยไม่รู้จักประมาณ เนื่องจากฉันอาหารจุ จึงได้ชื่อเพิ่มว่า ปิณโฑลภารทวาชะ ปิณโฑละ แปลว่า ผู้แสวงหาก้อนข้าว พระพุทธองค์ทรงทราบ ทรงใช้อุบายสอนให้รู้จักประมาณในการฉันอาหาร ท่านตั้งใจฝึกตนจนเป็นผู้รู้จักประมาณในการฉันอาหาร ไม่ประมาทในการบำเพ็ญเพียร ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

             พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านได้ประลองฤทธิ์กับพวกเดียรถีย์ ที่บ้านเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ได้เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ที่เศรษฐีเอาแขวนไว้บนที่สูง เพื่อบอกให้รู้ว่าพระอรหันต์มีอยู่ในโลกจริง เศรษฐีเลื่อมใสขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

             และท่านสนทนาธรรมกับพระเจ้าอุเทน ถึงเรื่องที่พระหนุ่ม ๆ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ท่านทูลว่า พระเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ คือ สำรวมอินทรีย์ไม่ให้ยินดี  ยินร้าย ไม่ยึดถืออะไรที่ผิดไปจากความเป็นจริง พระเจ้าอุเทนทรงเข้าพระทัย เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

ตำแหน่งเอตทัคคะ

             ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีความมั่นใจในตัวเองมาก อยู่ในท่ามกลางหมู่พระภิกษุหรือว่าต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ ท่านเปล่งวาจาบันลือสีหนาทว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท”

นิพพาน

            พระปิณโฑภารทวาชะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพ ก็นิพพานในที่สุด

 

๒๐. พระมหาปันถกเถระ

สถานะเดิม

            พระมหาปันถกะ ชื่อเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง และมีน้องชายคนหนึ่ง ชื่อว่า จูฬปันถกะ บิดาไม่ปรากฏนามเป็นคนวรรณะศูทร มารดาไม่ปรากฏนาม เป็นลูกสาวของเศรษฐีเมือง  ราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะแพศย์ บิดาและมารดาเป็นคนต่างวรรณะ ท่านจึงอยู่ในฐานะจัณฑาล พอรู้เดียงดารบเร้ามารดาให้พาไปเยี่ยมตาและยาย มารดาจึงพาไปส่งให้อยู่กับตาและยาย

มูลเหตุของการออกบวช

            คุณตาพาเด็กชายปันถกะไปวัดเวฬุวันเป็นประจำ วันหนึ่งได้ฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงจึงเกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความประสงค์จะบวชได้เรียนให้คุณตาทราบ คุณตาพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสสั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร บวชให้แก่เด็กชายปันถกะ

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            สามเณรปันถกะ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้บวชเป็นพระภิกษุ ชื่อว่าพระมหาปันถกะ ท่านตั้งใจบำเพ็ญเพียรพิจารณานามรูปอย่างแยบคายจนได้อรูปฌาน ๔ ออกจากอรูปฌานเจริญวิปัสสนาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            พระมหาปันถกะช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆท่านคิดจะแบ่งเบาภาระของคณะสงฆ์จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลอาสารับหน้าที่เป็นผู้จักแจงภัตตาหาร พระพุทธองค์ทรงอนุญาตตามที่ขอ ท่านทำงานสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระมหาปันถกะ เป็นผู้มีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา”

นิพพาน

            พระมหาปันถกะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว ก็นิพพานในที่สุด

 

ปัญหาและเฉลยพระสาวกกลุ่มที่ ๔

๑.พรข้อสุดท้ายที่พระอานนท์ทูลขอ คือข้อใด ?
            ก.อย่างประทานจีวรอันประณีต                     
            ข.อย่าพาไปในที่นิมนต์
            ค.ถามข้อสงสัยได้ทุกเวลา                          
            ง.เมื่อไม่อยู่ในที่นั้น ขอให้แสดงธรรมซ้ำอีกครั้ง

๒.เหตุผลที่ทูลขอพรข้อสุดท้าย คือข้อใด ?
            ก.เพราะกลัวถูกตำหนิว่าเห็นแก่ลาภ              
            ข.เพราะกลัวความแตกร้าวในหมู่สงฆ์
            ค.เพราะกลัวถูกตำหนิ เมื่อตอบไม่ได้             
            ง.เพราะกลัวจำคำสอนไม่ได้

๓.คุณสมบัติข้อใด ที่ไม่ได้เป็นเอตทัคคะของพระอานนท์ ?
            ก.เป็นพหูสูต                           ข.แสดงธรรมไพเราะ
            ค.มีสติ                                  ง.มีความเพียร

๔.พระเถระรูปใด ยืนขวางช้างนาฬาคีรีที่จะทำร้ายพระพุทธองค์ ?
           ก.พระสารีบุตร                          ข.พระนันทะ
           ค.พระราหุล                             ง.พระอานนท์

๕.พระเถระรูปใด นิพพานกลางอากาศ ?
           ก.พระมหากัปปินะ                    ข.พระวังคีสะ
           ค.พระอานนท์                         ง.พระพากุละ

๖.พระอานนทเถระได้ทูลขอพรจากพระศาสดากี่ประการ ?
           ก.๕ ประการ                            ข. ๖ ประการ
           ค. ๗ ประการ                           ง. ๘ ประการ

๗.พระสาวกรูปใด ไม่ได้ออกบวชพร้อมกับพระอานนท์ ?
           ก.พระอนุรุทธะ                         ข.พระภัททิยะ
           ค.พระอุบาลี                            ง.พระสารีบุตร

๘.พระสาวกรูปใด เป็นเหมือนเงาที่ติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกแห่ง ?
           ก.พระสารีบุตร                         ข.พระโมคคัลลานะ
           ค.พระอานนท์                         ง.พระนันทะ

๙.พระสาวกรูปใด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ?
           ก.พระราหุล                             ข.พระสารีบุตร
           ค.พระอานนท์                          ง.พระมหากัสสปะ

๑๐.ผู้บรรลุพระอรหันต์ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือใคร ?
           ก.พระอุบาลี                            ข.พระอานนท์
           ค.พระมหานามะ                        ง.พระกาฬุทายี

๑๑.พระอานนท์ ประสูติในวันอะไร ?
           ก.วันมาฆบูชา                         ข.วันวิสาขบูชา
           ค.วันอาสาฬหบูชา                    ง.วันอัฏฐมีบูชา

๑๒.พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ใคร โดยยกพิณ ๓ สายขึ้นเปรียบ เพราะปรารภความเพียรจนเกินขนาด ?
           ก.พระโสณกุฏิกัณณะ             ข.พระรัฐบาล
           ค.พระโสณโกฬิวิสะ               ง.พระจักขุบาล

๑๓.พระสาวกรูปใด ก่อนบวชมีความเชี่ยวชาญด้านดนตรี ?
           ก.พระโสณโกฬิวิสะ               ข.พระปิลินทวัจฉะ
           ค.พระปุณณชิ                     ง.พระมหาโกฏฐิตะ

๑๔.พระเถระรูปใดเดินจงกรมจนเท้าแตก ?
           ก.พระรัฐบาล                      ข.พระโสณโกฬิวิสะ
           ค.พระโสณกุฏิกัณณะ             ง.พระภัททิยะ

๑๕.พระโสณโกฬิวิสะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
           ก.ตาทิพย์                                 ข.หูทิพย์
           ค.อยู่ธุดงค์                               ง.ปรารภความเพียร

๑๖. “โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม” ใครกล่าว ?
           ก.พระจักขุบาล                       ข.พระรัฐบาล
           ค.พระยามิลินท์                       ง.พระเจ้าโกรัพยะ

๑๗. “แก่ ๑ เจ็บ ๑ สิ้นทรัพย์ ๑ สิ้นญาติ ๑ ที่บุคคลบางคนต้องเข้าแล้วจึงออกบวช” พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามใคร ?
           ก.พระอุบาลี                            ข.พระกาฬุทายี
           ค.พระสีวลี                              ง.พระรัฐบาล

๑๘.พระสาวกรูปใด มารดาบิดาจำใจยอมให้บวช ?
           ก.พระราธะ                             ข.พระอนุรุทธะ
           ค.พระรัฐบาล                          ง.พระสาคตะ

๑๙.พระสาวกรูปใด ยอมอดข้าวตาย ถ้าไม่ได้ออกบวช ?
           ก.พระมหากัปปินะ                  ข.พระรัฐบาล
           ค.พระปิลินทวัจฉะ                  ง.พระอานนท์

๒๐.ธรรมุทเทศ ๔ พระรัฐบาลแสดงแก่ใคร ?
           ก.พระเจ้าโกรัพยะ                     ข.พระเจ้าพิมพิสาร
           ค.พระเจ้าอุเทน                        ง.พระเจ้าปเสนทิโกศล

๒๑.คำว่า “รัฐบาล” มีความหมายว่าอย่างไร ?
           ก.รักษาศีล                               ข.รักษาแว่นแคว้น
           ค.รักษาตัวเอง                          ง.รักการนั่งสมาธิ

๒๒.พระรัฐบาลเป็นเลิศในทางด้านใด ?
           ก.พหูสูต                             ข.สำรวมอินทรีย์
           ค.เกิดในตระกูลสูง                  ง.บวชด้วยศรัทธา

๒๓.ข้อใด เป็นเหตุให้พระเถระได้ชื่อว่า “ปิณโฑลภารทวาชะ” ?
           ก.เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย             ข.เป็นผู้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์
           ค.เป็นผู้ฉันอาหารจุ                  ง.เป็นผู้อดอาหารประท้วงเพื่อขอบวช

๒๔.พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
           ก.การศึกษา                          ข.บันลือสีหนาท
           ค.ใฝ่ต่อการศึกษา                    ง.ทรงพระวินัย

๒๕.พระมหาปันถกะ เมื่อตอนเป็นฆราวาส ใครพาไปฟังธรรม ?
           ก.ปู่                               ข.ย่า
           ค.ตา                              ง.ยาย

๒๖.พระมหาปันถกะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
          ก.มีความเพียร                         ข.แสดงธรรมได้ไพเราะ
          ค.มีบริวารมาก                         ง.เจริญวิปัสสนา

เฉลย

๑.ง                     ๒.ค                  ๓.ข                     ๔.ง                    ๕.ค
๖.ง                     ๗.ง                  ๘.ค                     ๙.ค                    ๑๐.ข
๑๑.ข                   ๑๒.ค                ๑๓.ก                   ๑๔.ข                  ๑๕.ง
๑๖.ข                   ๑๗.ง                ๑๘.ค                   ๑๙.ข                  ๒๐.ก
๒๑.ข                   ๒๒.ง                ๒๓.ค                    ๒๔.ข                  ๒๕.ค
๒๖.ง  

 

พระสาวกกลุ่มที่ ๕    ๒๑. พระจูฬปันถกเถระ

สถานะเดิม

            พระจูฬปันถกะ ชื่อเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างหนทาง ขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ จึงมีชื่อว่า จูฬปันถกะ บิดาไม่ปรากฏนาม เป็นวรรณะศูทร มารดาไม่ปรากฏนาม เป็นลูกสาวเศรษฐี เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะแพศย์ บิดาและมารดาเป็นคนต่างวรรณะกัน ท่านจึงอยู่ในฐานะจัณฑาล ต่อมามารดาพาไปอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตายาย

มูลเหตุของการออกบวช

           หลังจากที่พระมหาปันถกะ ออกบวชแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับความสุขที่เกิดจากการบรรลุธรรม อยากให้น้องชายได้รับความสุขนั้นบ้าง ไปขออนุญาตกับเศรษฐีผู้เป็นตาให้น้องชายบวช ท่านเศรษฐียินดีอนุญาต จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            พระจูฬปันถกะ บวชแล้วพระมหาปันถกะผู้เป็นพระพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบจำอะไรไม่ค่อยได้ พระพี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บท ใช้เวลา ๔ เดือนยังท่องไม่ได้ ถูกขับไล่ออกจากวัด ท่านน้อยใจอยากจะลาสิกขาไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู

            พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์จึงเสด็จไปปลอบ ได้ประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง และตรัสสอนให้ท่องว่า ระโชหะระณัง ระโชหะระณัง (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับเอามือลูบผ้านั้นไปมา ไม่นานผ้าขาวก็กลายเป็นสีดำ จึงคิดว่า เดิมผ้านี้เป็นสีขาวบริสุทธิ์ อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังกลายเป็นสีดำ ถึงจิตของมนุษย์ก็เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านท่องไปอย่างนั้น จนจิตสงบบรรลุฌาน แต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญา

งานประกาศพระศาสนา

            พระจูฬปันถกะ ได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ ท่านมีเรื่องที่น่าศึกษาคือ ถึงจะมีปัญญาทึบ แต่อาศัยพระพุทธองค์ผู้ฉลาดในวิธีการสอน และอาศัยท่านมีความเพียรพยายาม ไม่ท้อแท้ท้อถอย จนกลายเป็นผู้ฉลาดสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครเป็นคนโง่ แต่ให้ดูว่าเราเป็นผู้ฉลาดในวิธีการสอนหรือไม่ หรือสอนตรงกับนิสัยของเขาหรือไม่

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระจูฬปันถกะ เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ทางใจ เนรมิตร่างกายให้เป็นพระภิกษุได้ตั้ง ๑,๐๐๐ รูป ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ(ฤทธิ์ทางใจ)”

นิพพาน

            พระจูฬปันถกะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้วนิพพานในที่สุด

 

๒๒.พระโสณกุฏิกัณณเถระ

สถานะเดิม

            พระโสณกุฏิกัณณะ ชื่อเดิมว่า โสณะ แต่เพราะเขาประดับเครื่องประดับหูมีราคาถึงหนึ่งโกฏิ   (๑๐ ล้าน) จึงมีคำต่อท้ายว่า กุฏิกัณณะ บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาเป็นอุบาสิกาชื่อว่า กาฬี เป็นพระโสดาบัน และเป็นอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะ เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี เป็นคนวรรณะแพศย์

มูลเหตุของการออกบวช

            มารดาของท่านเป็นอุปัฏฐากพระมหากัจจายนะ เวลาที่พระเถระมาพักที่ภูเขาปวัตตะ เมืองกุรุรฆระ ในอวันตีชนบท โสณะได้ฟังธรรมจากพระเถระบ่อย ๆ จนเกิดความเลื่อมใส และปวารณาเป็นอุปัฏฐากพระเถระ ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า การครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้นยาก จึงขอบวชกับพระเถระ ท่านให้บวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี เพราะเป็นอวันตีชนบทหาพระครบ ๑๐ องค์ได้ยาก เมื่อได้พระครบ ๑๐ องค์ แล้วท่านจึงบวชเป็นพระภิกษุ

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบวชแล้ว ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนธรรมะปฏิบัติในสำนักของพระอุปัชฌาย์ ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            ท่านไม่เคยเห็นพระพุทธองค์ มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ ๆ ได้ฝากความไปกราบทูลพระพุทธองค์ เพื่อขอแก้ไขพระวินัย ๕ ประการ (ดูในประวัติพระมหากัจจายนะ) สำหรับพระภิกษุอยู่ในปัจจันตชนบท ท่านได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่ง พระพุทธองค์ทรงอนุญาตทุกประการ

            เมื่อท่านไปถึงวัดเชตวัน ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ท่านพักในพระคันธกุฏีเดียวกับพระองค์ และโปรดให้ท่านแสดงธรรมทำนองสรภัญญะให้สดับ เมื่อจบการแสดงธรรมทรงอนุโมทนาและชมเชยท่าน

            ครั้นกลับไปถึงอวันตีชนบท โยมมารดาทราบว่าท่านแสดงธรรมให้พระพุทธองค์สดับ จึงนิมนต์ท่านให้แสดงธรรมให้ฟังบ้าง  ท่านได้แสดงธรรมให้ฟัง ขณะที่ฟังธรรมอยู่นั้น พวกโจรเข้าปล้นบ้าน คนใช้มารายงานข่าวให้ทราบก็ไม่เสียดาย บอกว่าโจรต้องการอะไรก็เอาไปเถิด เราจะฟังธรรมของพระลูกชาย พวกโจรทราบความนั้นจากคนใช้ก็สลดใจที่ทำร้ายผู้มีคุณธรรม จึงเป็นโจรกลับใจพากันไปวัด กราบขอขมาโยมมารดาท่าน และขอบวชในสำนักของพระเถระ ท่านบวชให้ตามประสงค์

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระโสณกุฏิกัณณะ มีความสามารถแสดงธรรมทำนองสรภัญญะด้วยเสียงอันไพเราะ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า "เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ"

นิพพาน

            พระโสณกุฏิกัณณะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด

 

๒๓.พระลกุณฏกภัททิยเถระ

สถานะเดิม

            พระลกุณฏกภัททิยะ ชื่อเดิมว่า ภัททิยะ แต่เพราะร่างกายของท่านเตี้ยและเล็ก จึงเรียกว่า ลกุณฏกภัททิยะ (ลกุณฏกะ แปลว่า เตี้ยและเล็ก) บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ มีทรัพย์สมบัติมาก เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะแพศย์

มูลเหตุของการออกบวช

            เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ท่านไปวัดฟังธรรม เกิดความเลื่อมใสในธรรม จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ทรงบวชให้ตามความประสงค์ ครั้นบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความไม่ประมาท ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            ต่อมาท่านได้สนทนาธรรมกับพระสารีบุตรเรื่องกายคตาสติ ในขณะที่ฟังธรรมนั้นพิจารณาธรรมไปด้วย จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            แม้ร่างกายของพระลกุณฏกภัททิยะ จะเตี้ยและเล็กหรือเหมือนกับคนแคระก็ตามที แต่ท่านเป็นพระอรหันต์ พวกพระภิกษุที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ไม่รู้จัก  คิดว่าเป็นสามเณร จึงจับศีรษะบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง แล้วพูดล้อเล่นว่า พ่อเณรไม่อยากสึกบ้างหรือ ท่านก็ไม่พูดอะไร พอเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า ก่อนเข้ามาพบพระเถระไหม กราบทูลว่า ไม่พบพระเจ้าข้า พบแต่สามเณรน้อย ทรงตรัสว่า นั่นเป็นพระเถระไม่ใช่สามเณร จึงทูลว่า ท่านตัวเล็กเหลือเกินพระเจ้าข้า ทรงตรัสว่า “เราไม่เรียกภิกษุว่าเป็นเถระเพราะความเป็นคนแก่ นั่งบนอาสนะของพระเถระ ส่วนผู้ใดบรรลุสัจจะทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียนมหาชน ผู้มีจึงจะชื่อว่าเป็นพระเถระ”

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            พระลกุณฏกภัททิยะ เป็นผู้พูดได้ไพเราะเสนาะโสตผู้ฟังอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ”

นิพพาน

            ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด

 

 ๒๔.พระสุภูติเถระ

สถานะเดิม

            พระสุภูติ ชื่อเดิมว่า สุภูติ เพราะมีร่างกายสดใสรุ่งเรืองผุดผ่องอย่างยิ่ง บิดาชื่อว่า สุมนเศรษฐี มารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะแพศย์

มูลเหตุของการออกบวช

            อนาถบิณฑิกเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี ได้ไปเยี่ยมราชคหเศรษฐีผู้เป็นสหายที่เมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปเฝ้าที่ป่าสีตวัน ดำรงอยู่ในโสดาบันพร้อมกับการเข้าเฝ้าครั้งแรก จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองสาวัตถี สร้างวัดเชตวันถวายเป็นที่ประทับ ในวันฉลองวิหาร สุภูติไปกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ฟังธรรมของพระพุทธองค์ เกิดเลื่อมใสจึงทูลขอบวช ทรงบวชให้ตามประสงค์

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            พระสุภูติเมื่อบวชแล้วตั้งใจศึกษาพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกจนเชี่ยวชาญ จากนั้นได้เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้วหลีกออกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า ไม่นานนักก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

งานประกาศพระศาสนา

            พระสุภูติ ท่านมีข้อปฏิบัติที่พิเศษกว่าผู้อื่น คือ เมื่อแสดงธรรมไม่พูดถึงคุณหรือโทษของคนอื่น เวลาเที่ยวไปบิณฑบาต ก่อนจะรับบิณฑบาต ท่านจะเจริญฌานประกอบด้วยเมตตา ออกจากฌานแล้วจึงรับบิณฑบาต ทำอย่างนี้ทุก ๆ เรือน ด้วยหวังว่าผู้ถวายอาหารบิณฑบาตจะได้บุญมาก และร่างกายของท่านสง่างาม ผิวพรรณผ่องใสเป็นที่เลื่อมใสแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก

ตำแหน่งเอตทัคคะ

             พระสุภูติ อยู่อย่างผู้ไม่มีกิเลส เจริญฌานประกอบด้วยเมตตาอยู่เนืองนิตย์ และเป็นผู้ควรรับของทำบุญจากผู้ต้องการบุญ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลส และเป็นทักขิไณยบุคคล”

นิพพาน

            ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงปรินิพพานในที่สุด

 

๒๕.พระกังขาเรวตเถระ

สถานะเดิม

             พระกังขาเรวตะ ชื่อเดิมว่า เรวตะ เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่รับมาว่าสมควรหรือไม่สมควรแก่พระภิกษุ จึงได้ชื่อว่า กังขาเรวตะ (เรวตะผู้มีความสงสัย) บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดในวรรณะแพศย์

มูลเหตุของการออกบวช

            วันหนึ่งเรวตะไปยังวัดเชตวันพร้อมกับประชาชน ท่านยื่นอยู่ข้างหลังประชาชนฟังธรรมกถาของพระพุทธองค์ เกิดเลื่อมใสปรารถนาจะบวช เมื่อประชาชนกลับไปหมดแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูลขอบวช ทรงบวชให้ความปรารถนา

บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

            ครั้นบวชแล้วพระเรวตะทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสสอนกรรมฐาน ท่านบำเพ็ญเพียรจนได้ฌาน ทำฌานนั้นให้เป็นบาทเจริญวิปัสสนา ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้รับสิ่งของที่ประชาชนถวายมาแล้วมีความสงสัยว่า ของสิ่งนี้สมควรแก่การใช้สอยของพระภิกษุหรือว่าไม่สมควร เมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วจึงใช้สอยสิ่งนั้น ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงได้ชื่อว่า กังขาเรวตะ

งานประกาศพระศาสนา

            พระกังขาเรวตะ ท่านเข้าฌานทั้งกลางวันและกลางคืน จึงเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนผู้แสวงหาพระผู้ได้ฌานได้อภิญญา ต่างมาสักการะ เคารพ นับถือบูชาท่านกันเป็นจำนวนมาก

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            ท่านเป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน”

นิพพาน

            ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว จึงนิพพานในที่สุด

 

ปัญหาและเฉลยพระสาวกกลุ่มที่ ๕

๑.พระจูฬปันถกะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยวิธีใด ?
            ก.บริกรรมผ้าขาว                        ข.ฟังธรรม
            ค.เจริญอสุภะ                            ง.เห็นผมหงอก

๒.คำว่า “รโชหรณํ” เป็นคำบริกรรมของพระอรหันต์รูปใด ?
            ก.พระมหาปันถกเถระ                   ข.พระโกณฑธานเถระ
            ค.พระวังคีสเถระ                         ง.พระจูฬปันถกเถระ

๓.พระจูฬปันถกะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
            ก.มีฤทธิ์ทางใจ                         ข.มีเสียงไพเราะ
            ค.แสดงธรรม                            ง.มีสมาธิ

๔.บิดาและมารดาต่างวรรณะแต่งงานกัน คลอดลูกออกมาเป็นวรรณะอะไร ?
            ก.พราหมณ์                             ข.แพศย์
            ค.ศูทร                                   ง.จัณฑาล

๕.พระเถระองค์ใด เมื่อบวชแล้วมีปัญญาทึบ ?
            ก.พระวังคีสะ                           ข.พระจูฬปันถกะ
            ค.พระเรวตะ                            ง.พระมหาปันถกะ

๖.พระจูฬปันถกะ มีพระพี่ชายชื่อว่าอะไร ?
            ก.พระโกณฑธานะ                     ข.พระสุภูติ
            ค.พระมหาปันถกะ                      ง.พระนันทกะ

๗.พระสาวกรูปใด เป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้การอุปสมบท ?
            ก.พระโสณโกฬิวิสะ                     ข.พระโสณกุฏิกัณณะ
            ค.พระโมฆราช                          ง.พระโสภิตเถระ

๘.พระสาวกรูปใด แสดงธรรมถวายพระบรมศาสดาแล้ว ครั้นต่อมาได้แสดงธรรมนั้นให้มารดาฟังอีก ?
            ก.พระมหากัจจายนะ                      ข.พระโสณกุฏิกัณณะ
            ค.พระโสณโกฬิวิสะ                       ง.พระลกุณฏกภัททิยะ

๙.เหตุใดโสณกุฏิกัณณะต้องเป็นสามเณรอยู่ถึง ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ?
            ก.พระพุทธองค์ไม่ทรงบวชให้              ข.สงฆ์ไม่เป็นใหญ่รับบวชกุลบุตร
            ค.ไม่มีพระอุปัชฌาย์บวชให้                ง.อวันตีชนบทมีภิกษุไม่ถึง ๑๐ รูป

๑๐.พระโสณกุฏิกัณณะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
            ก.แสดงธรรมได้ไพเราะ                   ข.มีลาภมาก
            ค.ยินดีในฌานสมาบัติ                    ง.มีปัญญามาก

๑๑.พระอุปัชฌาย์ ของพระโสณกุฏิกัณณะชื่อว่าอะไร ?
            ก.พระสารีบุตร                              ข.พระมหาโมคคัลลานะ
            ค.พระมหากัจจายนะ                       ง.พระมหากัสสปะ

๑๒.พระลกุณฏกภัททิยเถระ ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านใด ?
            ก.ชำนาญมโนมยิทธิ                      ข.แสดงธรรมอย่างวิจิตร
            ค.แสดงธรรมไพเราะ                       ง.มีเสียงไพเราะ

๑๓.พระลกุณฏกภัททิยะได้สำเร็จพระอรหันต์ เพราะสนทนาธรรมกับพระสาวกรูปใด ?
            ก.พระสารีบุตร                              ข.พระอนุรุทธะ
            ค.พระอานนท์                               ง.พระมหากัสสปะ

๑๔.พระเถระรูปใดมีร่างกายเตี้ยเล็กเหมือนกับคนแคระ ?
            ก.พระสีวลี                                  ข.พระลกุณฏกภัททิยะ
            ค.พระพากุละ                               ง.พระทัพพมัลลบุตร

๑๕.พระสุภูติ ก่อนจะรับอาหารบิณฑบาต ท่านปฏิบัติอย่างไรก่อน ?
            ก.เจริญสติสัมปชัญญะ                  ข.อธิษฐานจิต
            ค.เจริญเมตตา                            ง.เจริญกรุณา

๑๖.พระสุภูติ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
            ก.มีศรัทธามาก                        ข.มีปัญญามาก
            ค.มีสมาธิดีมาก                        ง.อยู่อย่างไม่มีกิเลส

๑๗.คำว่า กังขาเรวตะ มีความหมายว่าอย่างไร ?
            ก.ผู้มีความฉลาด                        ข.ผู้มีปัญญา
            ค.ผู้มีความสงสัย                        ง.ผู้ทำประโยชน์

๑๘.พระกังขาเรวตะ เป็นเลิศในทางด้านใด ?
            ก.การเข้าฌาน                          ข.ระลึกชาติ
            ค.สอนนางภิกษุณี                      ง.สอนพระภิกษุ

 

เฉลย

๑.ก                ๒.ง               ๓.ก              ๔.ง                 ๕.ข
๖.ค                ๗.ข               ๘.ข              ๙.ง                 ๑๐.ก
๑๑.ค              ๑๒.ง             ๑๓.ก            ๑๔.ข               ๑๕.ค
๑๖.ง              ๑๗.ค             ๑๘.ก

Leave a comment

You are commenting as guest.


40458925
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7369
29341
156089
40100302
509950
937182
40458925

Your IP: 18.119.131.72
2024-04-20 04:05
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search