อุโบสถศีล ตอน ๑

ตอนที่ ๑  วิธีการรักษาศีลและการเข้าถึงพระรัตนตรัย

ศีล

            ศีล หมายถึง ปกติ คือปกติของคนต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ต้องไม่ลักขโมยของผู้อื่น ต้องไม่ล่วงละเมิดสามีภรรยาบุตรธิดาของบุคคลอื่น ต้องมีความจริงใจซึ่งกันและกัน ต้องเป็นผู้มีสติ ศีลนั้นเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติทางกาย และวาจาให้เรียบร้อยดีงาม เป็นบ่อเกิดของความดีงามทั้งปวง ตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงพระนิพพาน เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ ก่อนจะทำบุญอย่างอื่นต้องสมาทานศีลก่อน

ศีล ๒ ประเภท

            ๑.ศีลของคฤหัสถ์ คือศีลของผู้ครองเรือนหรือผู้ที่ไม่ได้บวช ได้แก่ศีล ๕ ซึ่งเรียกว่า นิจศีล หรือศีล ๘ ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล
            ๒.ศีลของบรรพชิต คือศีลของผู้ที่ออกบวช ได้แก่ศีล ๑๐ ซึ่งเป็นศีลของสามเณร ศีล ๒๒๗ เป็นศีลของพระภิกษุ และศีล ๓๑๑ เป็นของศีลภิกษุณี

            ก่อนที่จะสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็ตาม ล้วนต้องเปล่งวาจา ของถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นก่อนที่จะอธิบายอุโบสถศีล จึงขออธิบายคำว่า พระรัตนตรัย โดยย่อพอให้ทราบความเป็นมา ความหมายและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

พระรัตนตรัย

            รัตนตรัย แปลว่า แก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีความสำคัญต่อชาวพุทธ บุคคลที่จะนับถือพระพุทธศาสนานั้น จะเข้ามาในฐานะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ล้วนต้องเข้ามาทางพระรัตนตรัย และต้องเปล่งวาจาว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, เพราะฉะนั้นพระรัตนตรัย จึงเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของชาวพุทธทุกคน

            คำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ จนถึง ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าตรัสเป็นครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในคราวที่ส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปไปประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นการให้บรรพชาและอุปสมบทแก่บุคคลที่มีจิตศรัทธา ปรารถนาจะบวชในพระพุทธศาสนา โดยการเปล่งวาจาของถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ความหมายของพระรัตนตรัย

            คำว่า พุทธะ โดยอรรถะ หมายถึงบุคคลผู้ตั้งใจฝึกฝนขัดเกลาตัวเองด้วยบารมี ๑๐ อย่าง จนบุญเต็มเปี่ยม ในชาติสุดท้ายได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
            คำว่า พุทธะ โดยพยัญชนะ หมายถึง ผู้รู้และทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม ผู้ตื่นและทรงปลุกให้ผู้อื่นตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลส ผู้เบิกบาน คือ เป็นผู้รู้แล้วและยังสามารถกำจัดกิเลสให้สิ้นไปจากขันธสันดานของตนจนอิ่มเอิบเบิกบานในธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น
            คำว่า ธัมมะ โดยอรรถะ หมายถึง ปริยัติธรรมคือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรม คือ การอบรมกาย วาจาและใจ ให้ดำเนินไปตามศีล สมาธิ และปัญญา
            คำว่า ธัมมะ โดยพยัญชนะ หมายถึง สภาพที่ทรงไว้ คือ ทรงรักษาผู้ปฏิบัติตามไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว หรือโดยสูงสุดได้แก่มรรคผลและนิพพาน
            คำว่า สังฆะ โดยอรรถะ หมายถึง บุคคลผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
            คำว่า สังฆะ โดยพยัญชนะ หมายถึง หมู่หรือคณะ เป็นชื่อของหมู่หรือคณะของบุคคลผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน คือ ทิฏฐิและศีล

ความหมายของสรณะ

            สรณะ หมายถึง การกำจัด การบีบ การทำลาย การนำออก และการดับซึ่งภัยความหวาดสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ และความเศร้าหมองคือกิเลส หมายความว่า เมื่อบุคคลมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะคือที่พึ่งโดยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน สามารถกำจัดกิเลสมี ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น ให้หมดไปเสียได้ ภัย ความสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ ก็จะถูกกำจัด ถูกบีบ ถูกทำลาย หรือถูกนำออกไปจนหมดสิ้น

            พระพุทธเจ้า ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นผู้กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการนำออกจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วได้บรรลุซึ่งสิ่งอันเป็นประโยชน์
            พระธรรม ชื่อว่า สรณะ เพราะทรงรักษาไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในอบาย คือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต สัตว์นรก และอสุรกาย และช่วยให้ผู้ปฏิบัติตามมีความสุขใจ
            พระสงฆ์ ชื่อว่า สรณะ เพราะเป็นเนื้อนาบุญของโลก หมายถึงพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เรียกว่า อริยสงฆ์ เมื่อใครได้ทำบุญกับท่านแล้ว การทำบุญนั้นย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ความหมายของสรณคมน์

            สรณคมน์ หมายถึง การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ คือ มีใจที่เคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จนสามารถทำใจให้เป็นสมาธิ ซึ่งนำไปสู่การกำจัดกิเลสภายในของตัวเอง  ที่เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือ บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล

วิธีเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ

            วิธีการเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะนั้น มีอยู่ ๕ วิธี คือ
            ๑.การสมาทาน เช่นพ่อค้าสองพี่น้องชื่อว่า ตปุสสะและภัลลิกะ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะว่า
            เอเต  มะยัง ภันเต, ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ, อุปาสะเก โน ภะคะวา ธาเรตุ , อัชชะตัคเค ปาณุเปตุ สะระณัง คะเต.
            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะด้วยชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

            ๒.การมอบตนเป็นสาวก เช่นพระมหากัสสปะ เมื่อครั้งเป็นปิปผลิมาณพ ได้บวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก ได้พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นพหุปุตตนิโครธ คิดว่าเป็นพระอรหันต์จึงน้อมกายเข้าไปเฝ้า ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แล้วเปล่งวาจามอบตนเป็นสาวกว่า สัตถา เม ภันเต ภะคะวา, สาวะโกหะมัสมิ. แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก

            ๓.การทุ่มเทความเลื่อมใสในพระศาสนา เช่น พรหมายุพราหมณ์ ในพรหมายุสูตร       มัชฌิมนิกาย กล่าวว่า พรหมายุพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่แตกฉานในไตรเพทและลักษณะมหาบุรุษ ได้ยินกิตติศัพท์ว่าพระพุทธเจ้ามีลักษณะมหาบุรุษครบ ๓๒ ประการ จึงส่งลูกศิษย์ชื่อว่าอุตตรมาณพไปเข้าเฝ้า เขาได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๐ ประการ ครั้นได้เห็นครบทั้ง ๓๒ ประการแล้ว จึงกลับไปกราบเรียนให้อาจารย์ทราบ พอพราหมณ์ฟังจบได้ลุกขึ้นห่มผ้าเฉวียงบ่าหันหน้าไปทางทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ประนมมือเปล่งวาจาว่า
            นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ ครั้ง
            แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

            ๔.การมอบตน เช่น พระโยคีผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีความขวนขวายในการปฏิบัติธรรม ก่อนจะสมาทานกรรมฐาน ต้องกล่าวคำมอบตนต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อิมาหัง ภันเต ภะคะวา  อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจะชามิ แปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอสละอัตตภาพร่างกายนี้แก่พระพุทธองค์

            ๕.ปฏิบัติหน้าที่ของพุทธบริษัท คือ การกำจัดกิเลสจนทำให้ตนเองบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

            วิธีการถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะประการที่ ๕ จัดว่าเป็นวิธีการถึงสรณคมน์ขั้นสูงสุด และมีความมั่นคงที่สุด

การขาดสรณคมน์

            บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงสรณคมน์มี ๒ ประเภท คือ
            ๑.ปุถุชน หมายถึง บุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม
            ๒.พระอริยบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ประเสริฐ ได้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

            การขาดสรณคมน์ย่อมมีแก่ปุถุชนเท่านั้น ส่วนพระอริยบุคคลไม่ขาดจากสรณคมน์โดยเด็ดขาด เหมือนกับชายโรคเรื้อนคนหนึ่งชื่อว่า สุปปพุทธกุฏฐิ มีเรื่องโดยย่อว่า สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นคนยากจนเข็ญใจ วันหนึ่งเขาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท้าวสักกะต้องการจะทดสอบ  จึงเสด็จมาหาและให้กล่าวคำว่า พระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่แท้จริง พระธรรมไม่ใช่พระธรรมที่แท้จริง พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ที่แท้จริง เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมากมาย สุปปพุทธะ ถามว่า ท่านเป็นใคร ท้าวสักกะตอบว่า เราเป็นท้าวสักกะจอมเทพ

            เขาจึงกล่าวว่า ท้าวสักกะไม่มีความละอาย ท่านพูดว่าข้าพเจ้าเป็นคนขัดสนจนยาก แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดสนจนธรรม ไม่ได้จนความสุข ท่านไม่ควรที่จะพูดเช่นนี้กับเรา คนมีอริยทรัพย์สามารถมีความสุขได้ในสภาพที่คนอื่นเขารู้สึกเป็นทุกข์ ท้าวสักกะเมื่อไม่สามารถให้สุปปพุทธกุฏฐิกล่าวอย่างนั้นได้ จึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถ้อยคำที่โต้ตอบกันให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ท้าวสักกะเช่นท่านจำนวนร้อยจำนวนพันก็ไม่สามารถจะให้สุปปพุทธกุฏฐิพูดคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์

            เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ได้บรรลุธรรมแล้ว จะให้กล่าวว่า พระรัตนตรัยไม่มีจริงนั้น เขาจะไม่กล่าวโดยเด็ดขาด

การขาดสรณคมน์มีเพราะเหตุ ๓ ประการ

            ๑.เพราะความตาย การขาดสรณคมน์ เพราะความตายเป็นการขาดที่ไม่มีโทษ คือไม่ทำให้ไปสู่ทุคติภูมิ
            ๒.เพราะทำร้ายพระพุทธเจ้า การขาดสรณคมน์เพราะทำร้ายพระพุทธเจ้า เหมือนพระเทวทัต ที่คิดทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยการส่งนายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ กลิ้งศิลาให้ทับเป็นต้น จัดเป็นการขาดสรณคมน์ที่มีโทษ คือ หลังจากพระเทวทัตมรณภาพแล้วไปตกนรกอเวจี
            ๓.เพราะหันไปนับถือศาสนาอื่น การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสนาอื่น แม้ไม่มีโทษในทุคติ แต่เป็นคนที่น่าตำหนิในปัจจุบัน เพราะเป็นคนรวนเรไม่แน่นอน และถ้ายิ่งไปนับถือศาสนาอื่นแล้วกลับมาทำลายศาสนาเดิมของตนถือว่าเป็นคนทรยศ สมควรได้รับการประนามอย่างยิ่ง

สรณคมน์เศร้าหมอง

            บุคคลผู้มีสรณคมน์เศร้าหมองเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
            ๑.ความไม่รู้ คือ ไม่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา แต่คิดเอาเอง ปฏิบัติเอาเอง แล้วนำไปสั่งสอนผู้อื่น
            ๒.ความรู้ผิด คือ เรียนพระปริยัติธรรมแต่ไม่เชื่อพระไตรปิฎกอรรถกถา ตั้งตัวเองเป็นศาสดาตีความเอาตามใจชอบ
            ๓.ความสงสัย คือ สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มีจริงหรือเปล่า ทำบุญได้บุญจริงหรือเปล่า ทำบาปแล้วได้บาปจริงหรือเปล่า เป็นต้น
            ๔.ความไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ประพฤติเอื้อเฟื้อต่อพระรัตนตรัยด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตาคือความปรารถนาดี เช่นตัดเศียรพระพุทธรูป หรือขโมยพระพุทธรูปไปขายเป็นต้น ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรม คือ เหยียบย่ำทำลายหนังสือ หรือที่จารึกพระธรรมเป็นต้น ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระสงฆ์ คือ ด่าพระสงฆ์ ยุยงให้พระสงฆ์แตกกันเป็นต้น

            ทั้ง ๔ ประการนี้แม้สรณคมน์ไม่ขาดก็ทำให้สรณคมน์เศร้าหมอง

พระรัตนตรัยแยกกันไม่ได้

            พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้ง ๓ ประการนี้ แยกจากกันไม่ได้ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ พระอรรถกถาจารย์ ท่านอุปมาไว้ ๖ ประการ คือ
            ๑.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงจันทร์ พระธรรมเปรียบเหมือนรัศมีที่มีความสว่างและเย็นตาเย็นใจของดวงจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลกที่ได้รับความสุขสดชื่นจากแสงจันทร์นั้น
            ๒.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ พระธรรมเปรียบเหมือนแสงสว่างและความร้อนของดวงอาทิตย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนสัตว์โลกที่ได้รับแสงสว่างและไออุ่นจากดวงอาทิตย์
            ๓.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนก้อนเมฆ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝนอันเกิดจากก้อนเมฆ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกพร้อมทั้งแมกไม้และกอหญ้าที่ได้รับความชุ่มชื่นจากน้ำฝน
            ๔.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีผู้ชาญฉลาด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายวิธีสำหรับฝึกม้า พระสงฆ์เปรียบเหมือนม้าที่ได้รับการฝึกหัดไว้ดีแล้ว
            ๕.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนหนทางที่ถูกที่ตรง และมีความปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนเดินทางผู้ถึงที่หมายแล้ว
            ๖.พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนคนที่ได้รับทรัพย์สมบัติไปใช้อย่างมีความสุข

 

ผู้เข้าไปหาพระรัตนตรัยด้วยอกุศลจิตย่อมเกิดโทษ

            พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ได้กล่าวกับมารที่เข้าไปหาพระพุทธเจ้าด้วยความประสงฆ์ร้าย เช่นครั้งเสด็จออกผนวชก็ไปห้ามไว้โดยกล่าวอ้างว่า จักรรัตนะจะบังเกิดขึ้นภายใน ๗ วัน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่แล้ว จะบวชไปทำไม เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็เข้าไปทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ต่อจากนั้นมารก็ติดตามรังควานทั้งพระพุทธเจ้า และพระสาวกมาตลอด แม้แต่พระมหาโมคคัลลานะก็ถูกมารรังควาน ครั้งหนึ่งพระเถระกล่าวกับมารว่า “ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่ คนโง่ต่างหากที่เข้าไปหาไฟอันกำลังลุกโชน เขาเข้าไปหาไฟให้เผาไหม้ตัวเขาเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ไฉนท่านจึงเข้าไปหาพระตถาคตเหมือนคนโง่เข้าไปหาไฟเล่า คนโง่เข้าไปหาพระตถาคตแทนที่จะได้บุญกลับได้บาป ซ้ำยังสำคัญผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร”

 

พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่ปลอดภัย

            บุคคลที่มีจิตเลื่อมใสและเคารพนับถือบูชาเชื่อมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติตามแม้ด้วยชีวิตไม่ยอมให้สรณคมน์ขาด ย่อมได้รับผลที่น่าปรารถนา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ (ได้ไปเกิดในสวรรค์)

            บุคคลใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วเห็นอริยสัจ ๔ คือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งทำให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั้นของบุคคลนั้น  เป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั้น ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้”

            การที่ได้พบพระรัตนตรัยอันเป็นสรณะที่ปลอดภัย ทำลายความทุกข์ได้จริงแล้ว ไม่ยอมรับนับถือ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ก็เท่ากับคนปฏิเสธสิริที่เข้ามาหาตน  สมกับที่พระมหาปันถกเถระได้กล่าวไว้ว่า

            “ผู้ที่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไปโดยไม่สนใจศึกษา และปฏิบัติตามโอวาทของพระองค์ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีบุญ เหมือนกับคนที่ใช้มือและเท้าปัดป้องสิริที่เข้ามาหาตนถึงที่นอน แล้วขับไล่ไสส่งออกไป”

 

ปัญหาและเฉลยอุโบสถศีล ตอนที่ ๑

๑.ชาวพุทธ ควรยึดถืออะไรเป็นที่พึ่งที่ระลึก ?
            ก.ไตรสรณคมน์                      ข.ไตรปิฎก
            ค.ไตรลักษณ์                           ง.ไตรสิกขา

๒.ข้อใดไม่นับเข้าในสรณะทั้ง ๓ ข้อ ?
            ก.พระพุทธเข้า                         ข.พระธรรม
            ค.พระสงฆ์                              ง.พระโพธิสัตว์

๓.สรณคมน์ขาดเพราะสาเหตุใด ไม่มีโทษ ?
            ก.ความตาย                             ข.ทำร้ายพระศาสดา
            ค.ไปนับถือศาสนาอื่น             ง.ไม่มีข้อถูก

๔.ความเชื่อเช่นไร เป็นเหตุให้สรณคมน์เศร้าหมอง ?
            ก.เชื่อกรรม                              ข.เชื่อบาปบุญ
            ค.เชื่อมงคลตื่นข่าว                  ง.เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ

๕.จุดประสงค์ในการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตรงกับข้อใด ?
            ก.ทำบุญเพื่อล้างบาป               ข.ทำบุญแสวงหาลาภ
            ค.หาเช่าจตุคามรุ่นนิยม             ง.ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส

๖.การขาดสรณคมน์ เกิดขึ้นได้แก่บุคคลใด ?
            ก.บุคคลทั่วไป                         ข.โสดาบันบุคคล
            ค.สกทาคามีบุคคล                  ง.อนาคามีบุคคล

๗. “สุปปพุทธกุฏฐิ” เป็นแบบอย่างของบุคคลผู้มั่นคงในเรื่องใด ?
            ก.การถือศีล                             ข.การถือสันโดษ
            ค.การถือสัจจะ                          ง.การถือสรณคมน์

๘.ตัดเศียรพระพุทธรูป เป็นความเศร้าหมองแห่งสรณคมน์เรื่องใด ?
            ก.ความไม่รู้                             ข.ความรู้ผิด
            ค.ความสงสัย                          ง.ความไม่เอื้อเฟื้อ

๙. “นรกมีจริงหรือ” เป็นความเศร้าหมองแห่งสรณคมน์เรื่องใด ?
            ก.ความไม่รู้                             ข.ความรู้ผิด
            ค.ความสงสัย                          ง.ความไม่เอื้อเฟื้อ

๑๐. “ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย” หมายเฉพาะใคร ?
            ก.ภิกษุ ภิกษุณี                         ข.สามเณร สามเณรี
            ค.อุบาสก อุบาสิกา                   ง.พุทธบริษัท ๔

๑๑.พาณิชสองพี่น้องเข้าถึงพระรัตนตรัยด้วยวิธีใด ?
            ก.สมาทาน                              ข.มอบตนเป็นสาวก
            ค.ถวายชีวิต                             ง.แสดงความเลื่อมใส

๑๒.ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นความหมายของข้อใด ?
            ก.พระพุทธ                              ข.พระธรรม
            ค.พระสงฆ์                              ง.พระอริยะ

๑๓.คำว่า ธรรมรักษา ในความหมายของสมณะ ๓ ตรงกับข้อใด ?
            ก.กำจัดภัย                               ข.ไม่ให้ตกอบาย
            ค.เป็นเนื้อนาบุญ                        ง.ถูกทุกข้อ

๑๔.พระสงฆ์ได้นามว่า สังฆะ เพราะเหตุใด ?
            ก.บวชในพระพุทธศาสนา                   ข.มีทิฏฐิและศีลเสมอกัน
            ค.อาศัยอยู่ในวัดเดียวกัน                   ง.โกนผมห่มจีวรเหมือนกัน

๑๕.คำเปล่งวาจาว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ หมายถึงอะไร ?
            ก.มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก        ข.มีพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
            ค.มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก             ง.มีพระพรหมเป็นที่พึ่งที่ระลึก

๑๖.คำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ” ใครกล่าวครั้งแรก ?
            ก.อุปกาชีวก                            ข.ตปุสสะ ภัลลิกะ
            ค.ท้าวมหาพรหม                     ง.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑๗.จากคำถามข้อที่ ๑๖ กล่าวไว้เพื่อจุดประสงค์ใด ?
            ก.เพื่อเป็นวิธีบวช                    ข.เพื่อสอนชาวบ้าน
            ค.เพื่อเจริญอนุสสติ                 ง.เพื่อป้องกันอมนุษย์

๑๘.เครื่องควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้เรียบร้อยคือ...?
            ก.ทาน                                     ข.ศีล
            ค.สมาธิ                                   ง.ปัญญา

๑๙.เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ได้แก่...?
            ก.มนุษยสมบัติ                          ข.สวรรคสมบัติ
            ค.สมาบัติ ๘                            ง.มรรค ผล นิพพาน

๒๐. “ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย” ตามความหมายที่ถูกต้องคือข้อใด ?
            ก.รักษาศีล ๕ เป็นประจำ                  ข.เข้าไปหายามมีภัยเกิดขึ้น
            ค.เป็นญาติกับพระภิกษุสงฆ์               ง.เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

๒๑.พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ หมายถึง ?
            ก.รู้ตามผู้อื่น                             ข.รับความรู้จากพระเจ้า
            ค.คิดเอาเอง                             ง.ตรัสรู้และสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

๒๒.ผู้เปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้านอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า” ชื่อว่าถึงสรณะด้วยวิธีไหน ?
            ก.ปฏิบัติหน้าที่พุทธบริษัท        ข.ยอมนอบน้อม
            ค.มอบตนเป็นสาวก                ง.การสมาทาน

๒๓.สรณคมน์ของผู้ใด ไม่มีการขาด ?
            ก.ภิกษุ                                ข.ภิกษุณี
            ค.อุบาสกอุบาสิกา                   ง.พระอริยบุคคล

๒๔.คำว่า “สรณะ” แปลว่า ที่พึ่ง หมายถึงอะไร ?
            ก.มีความขลัง                           ข.กำจัดทุกข์ได้
            ค.ดลบันดาลอะไรก็ได้                 ง.มีความศักดิ์สิทธิ์

๒๕.ข้อใด เป็นเหตุให้สรณคมน์เศร้าหมอง ?
            ก.ไม่รู้จักพระรัตนตรัย                         ข.เข้าใจผิดในพระรัตนตรัย
            ค.ไม่เอื้อเฟื้อพระรัตนตรัย                    ง.ถูกทุกข้อ

๒๖.ความเชื่อใด ไม่ใช่ความเชื่อของผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ?
            ก.ชาติหน้ามีจริง                            ข.ผลของกรรมมีจริง
            ค.ลางดี ลางร้าย บอกเหตุได้จริง         ง.การประพฤติธรรมทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

๒๗.การถือศีลอุโบสถ เพื่อประโยชน์อะไร ?
            ก.เพื่อหยุดพักผ่อนของฆราวาส           ข.เพื่อทำกิจกรรมทางพระศาสนา
            ค.เพื่อสวดปาฏิโมกข์ทุกวันพระ           ง.เพื่อพระสงฆ์ทำอุโบสถกรรม

๒๘.เข้าบ้านให้เข้าทางประตู จะเข้าสู่พระพุทธศาสนา ท่านว่าทางใด ?
            ก.ศีล                                ข.กัมมัฏฐาน
            ค.พระธรรมคำสอน                 ง.พระรัตนตรัย

๒๙.คำว่า “สรณคมน์” หมายถึงอะไร ?
            ก.การยึดเอาเป็นที่พึ่ง               ข.การสักยันต์ป้องกันตัว
            ค.การถือศีลกินเจ                    ง.การมอบตนเป็นสาวก

๓๐.ข้อใด ไม่ใช่สาเหตุแห่งการขาดสรณคมน์ ?
            ก.ตาย                                ข.ไปเข้ารีตถือศาสนาอื่น
            ค.ลบหลู่พระภูมิเจ้าที่               ง.ลบหลู่ดูหมิ่นพระสงฆ์

๓๑.ข้อใด ไม่ใช่ความหมายของคำว่า “พุทธะ” ?
            ก.ผู้รู้                                     ข.ผู้ตื่น
            ค.ผู้เบิกบาน                             ง.ผู้รู้ตาม

๓๒.การเข้าหาพระรัตนตรัยอย่างไร จึงถูกต้อง ?
            ก.สวดมนต์ภาวนา                  ข.แสดงหาโชคลาภ
            ค.กราบขอพระ                     ง.วิงวอนขอหวย

๓๓.คำว่า “อุโบสถศีล” หมายถึงศีลอะไร ?
            ก.ศีล ๕                            ข.ศีล ๘
            ค.ศีล ๑๐                          ง.ศีล ๒๒๗

๓๔.สามัญชนปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่าตามรอยพระอรหันต์ ?
            ก.รักษาศีลให้บริสุทธิ์              ข.รักษากายให้บริสุทธิ์
            ค.รักษาใจให้บริสุทธิ์               ง.รักษาวาจาให้บริสุทธิ์

๓๕.คฤหัสถ์ปรารถนาชำระตนให้หมดจด ควรปฏิบัติอย่างไร ?
            ก.ไหว้พระ                               ข.สวดมนต์
            ค.รักษาศีล                             ง.ชำระบาป

๓๖.ศีลที่ต้องรักษาตามกาลที่กำหนดไว้ ตรงกับข้อใด ?
            ก.ศีล ๕                             ข.ศีล ๘
            ค.ศีล ๑๐                           ง.ศีล ๒๒๗

๓๗.การรักษาศีลข้อใด เป็นความเชื่อที่ผิด ?
            ก.ได้พักการงาน                      ข.ได้ทำบุญกุศล
            ค.ได้ชำระบาป                       ง.ได้อบรมจิตใจ

๓๘.การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หมายถึงอะไร ?
            ก.การนั่งใกล้ ๆ                       ข.การขอโชคลาภ
            ค.การปรนนิบัติ                       ง.การถือเป็นที่พึ่ง

๓๙.พระรัตนตรัยได้ชื่อว่าเป็นสรณะที่ปลอดภัย เพราะอะไร ?
            ก.ช่วยกำจัดทุกข์                     ข.ช่วยกำจัดภัย
            ค.ช่วยกำจัดเวร                       ง.ถูกทุกข้อ

๔๐.หากเปรียบพระพุทธเจ้าดุจสารถีผู้ชาญฉลาด พระธรรมดุจวิธีฝึกม้า พระสงฆ์จะเปรียบเหมือนม้าเช่นไร ?
            ก.ม้ากำลังฝึกเดิน                     ข.ม้ายังมิได้ฝึกหัด
            ค.ม้ากำลังฝึกหัด                      ง.ม้าที่ฝึกหัดดีแล้ว

๔๑. “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ” กล่าวเพื่อระลึกถึงใคร ?
            ก.พระพุทธเจ้า                         ข.พระธรรม
            ค.พระสงฆ์                             ง.บิดามารดา

๔๒.ข้อใด ไม่ใช่ความหมายของพระสังฆรัตนะ ?
            ก.ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ                ข.ช่วยกำจัดภัยให้สัตว์
            ค.เป็นนาบุญของโลก                ง.รักษาเผยแผ่คำสอน

๔๓.สรณคมน์ หมายเอาการถึงสรณะในข้อใด ?
            ก.พระพุทธเจ้า                         ข.พระธรรม
            ค.พระสงฆ์                              ง.ทั้ง ๓ ข้อ

๔๔.การขาดสรณคมน์ไม่มีโทษ เพราะ ...?
            ก.ความตาย                           ข.ทำร้ายพระศาสดา
            ค.ไปนับถือศาสนาอื่น                ง.ไม่มีข้อถูก

๔๕.ผู้ใด มีสรณคมน์เศร้าหมอง ?
            ก.ดำไม่ถูกกับพระบางรูป                   ข.ปีเตอร์สมาทานศีลไม่ชัด
            ค.พระเท่งไปเที่ยวประเทศอีรัก           ง.ชัดสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ

 

เฉลยตอนที่ ๑    ๑.ก       ๒.ง       ๓.ก       ๔.ค      ๕.ง    ๖.ก       ๗.ง        ๘.ง       ๙.ค       ๑๐.ค   ๑๑.ก     ๑๒.ก     ๑๓.ข    ๑๔.ข     ๑๕.ค     ๑๖.ง      ๑๗.ก      ๑๘.ข      ๑๙.ง     ๒๐.ก      ๒๑.ง      ๒๒.ข     ๒๓.ง       ๒๔.ข        ๒๕.ง      ๒๖.ค     ๒๗.ข    ๒๘.ง     ๒๙.ก       ๓๐.ค     ๓๑.ง      ๓๒.ก      ๓๓.ข       ๓๔.ก      ๓๕.ค     ๓๖.ข       ๓๗.ค     ๓๘.ง       ๓๙.ง       ๔๐.ง      ๔๑.ค       ๔๒.ข      ๔๓.ง       ๔๔.ก      ๔๕.ง

Leave a comment

You are commenting as guest.


49548641
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7802
74778
123658
49159770
688291
1074106
49548641

Your IP: 49.229.234.121
2025-01-21 07:51
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search