ศาสนพิธี หมวดที่ ๒

บุญพิธี

            พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัว หรือในวันสำคัญต่าง ๆ ของคนไทยเพื่อเป็นสิริมงคล เรียกว่า บุญพิธี มี ๒ ประเภท คือ ทำบุญงานมงคล และทำบุญงานอวมงคล แต่ในที่นี้เป็นระเบียบ พิธีที่พระสงฆ์ควรรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง แบ่งออกเป็น ๙ พิธี คือ

            ๑.พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ
            ๒.พิธีเจริญพระพุทธมนต์
            ๓.พิธีสวดพระพุทธมนต์
            ๔.พิธีสวดพระอภิธรรม
            ๕.พิธีสวดมาติกา
            ๖.พิธีสวดแจง
            ๗.พิธีสวดถวายพรพระ
            ๘.พิธีอนุโมทนากรณีต่าง ๆ
            ๙.พิธีแสดงพระธรรมเทศนา

๑.พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ

            วันเทโวโรหนะ คือ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อตรัสพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา จนครบ ๓ เดือน พอออกพรรษาเสด็จกลับมายังมนุษย์โลก โดยเสด็จลงมาทางบันไดแก้วที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันมหาปวารณา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลกทั้ง ๓ ได้แก่ มนุษย์ เทวดา และนรกให้มีโอกาสมองเห็นซึ่งกันและกัน โทษต่าง ๆ ในนรกได้หยุดระงับชั่วคราว เป็นวันที่สงบเย็นของโลกทั้ง ๓ เช้าวันรุ่งขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวพุทธนิยมตักบาตรด้วยข้าวปลาอาหารแห้ง ผู้ที่ใส่บาตรไม่ถึงทำข้าวสาลีห่อเป็นมัด ๆ บ้าง  ทำเป็นปั้น ๆ บ้าง แล้วโยนลงในบาตร เป็นเหตุนิยมทำข้าวต้มลูกโยนในการตักบาตรวันเทโวโรหนะ จนกลายเป็นประเพณีนิยมมาถึงทุกวันนี้

ระเบียบพิธี

            ๑.ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันทำบุญตักบาตรวันเทโวโรหนะ ทางวัดควรเตรียมการดังนี้
                 -เตรียมรถหรือคานหามพระพุทธรูป เพื่ออัญเชิญนำหน้าคณะสงฆ์ในการรับบิณฑบาต
                 -เตรียมพระพุทธรูป ๑ องค์ ให้พอเหมาะกับรถหรือว่าคานหาม แต่ขอให้เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน
                 -จัดสถานที่สำหรับบิณฑบาต
                 -แจ้งกำหนดการต่าง ๆ ให้ทราบ

            ๒.สำหรับชาวพุทธเมื่อทราบกำหนดการต่าง ๆ จากทางวัดแล้ว ควรเตรียมการดังนี้
                 -จัดเตรียมอาหารสำหรับใส่บาตรให้พร้อม
                 -เมื่อถึงเวลาแล้วนำอาหารไปวัดวางในที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้
                 -เมื่อขบวนของคณะสงฆ์มาถึง นำอาหารใส่บาตรของพระพุทธรูปไปตามลำดับ จนครบคณะสงฆ์
                 -ถ้ามีพระธรรมเทศนาที่วัดจะอยู่ฟังเทศน์ก่อนหรือว่ากลับบ้านก็ได้ เป็นอันเสร็จพิธี

๒.พิธีเจริญพระพุทธมนต์

            เจริญพระพุทธมนต์ หมายถึง การที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งร่วมกันสาธยายมนต์ในพิธีทำบุญต่างๆ  ถ้าเป็นงานมงคลเรียกว่า “เจริญพระพุทธมนต์” ถ้าเป็นงานอวมงคล เรียกว่า “สวดพระพุทธมนต์”  บทพระพุทธมนต์ที่คณะสงฆ์ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
            ๑.เจ็ดตำนาน
            ๒.สิบสองตำนาน
            ๓.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
            ๔.มหาสมยสูตร
            ๕.โพชฌงคสูตร
            ๖.คิริมานนทสูตร
            ๗.มหาสติปัฏฐานสูตร
            ๘.ชัยมงคลคาถา
            ๙.คาถาจุดเทียนชัย และคาถาดับเทียนชัย

ระเบียบพิธี

            ๑.งานมงคลทั่วไป เช่นงานฉลองหรือว่างานทำบุญ เพื่อต้องการความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง การเจริญพระพุทธมนต์นิยมใช้บท “เจ็ดตำนาน” พระสูตรหรือว่าพุทธภาษิต ในบทเจ็ดตำนานมีอานุภาพในทางป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ เรียกว่า “พระปริตร” มีบทให้เลือกสวดดังต่อไปนี้
            -มงคลสูตร
            -รตนสูตร
            -กรณียเมตตสูตร
            -ขันธปริตร
            -โมรปริตร
            -ธชัคคปริตร หรือ ธชัคคสูตร
            -อาฎานาฏิยปริตร
            -โพชฌงคปริตร
            บทพระปริตรเหล่านี้จะใช้สวดบทเต็มหรือว่าบทย่อ ประธานสงฆ์ต้องพิจารณาดูว่าเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ มีเวลามากหรือว่าน้อย ให้พิจารณาตามสมควร แต่จะเว้นไม่สวดบทมงคลสูตร  และบทรตนสูตรไม่ได้

            ๒.งานมงคลเฉพาะกรณี ที่นิยมทำกันทั่วไปมีอยู่ ๕ งาน คือ
            -งานฉลองพระบวชใหม่
            -งานมงคลสมรส
            -งานทำบุญอายุ
            -งานทำบุญเอาฤกษ์ชัยมงคล
            -งานทำบุญต่อนาม

            งานมงคลเหล่านี้ มีระเบียบพิธีเจริญพระพุทธมนต์โดยเฉพาะ เช่น งานมงคลฉลองพระบวชใหม่ จะจัดที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ แต่นิยมจัดที่วัดเป็นส่วนมาก โดยมีการเจริญพระพุทธมนต์บทเจ็ดตำนานก่อนถวายภัตตาหารแก่คณะสงฆ์ สำหรับพระบวชใหม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้
            -ครองผ้าให้เรียบร้อย
            -จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยก่อนเจริญพระพุทธมนต์
            -ประนมมือในเวลาพระเจริญพระพุทธมนต์
            -ตักบาตรและถวายภัตตาหารแก่คณะสงฆ์
            -ถวายไทยธรรม
            -กรวดน้ำ

๓.พิธีสวดพระพุทธมนต์

            สวดพระพุทธมนต์ หมายถึง การที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งรวมกันสวดมนต์ในการทำบุญงานอวมงคล ไม่ต้องตั้งบาตรน้ำมนต์และวงด้วยสายสิญจน์ งานอวมงคลแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
           ๑.งานทำบุญหน้าศพ
           ๒.งานทำบุญอัฐิ

ระเบียบพิธี

            งานทำบุญหน้าศพ เป็นการทำบุญในขณะที่ยังตั้งศพไว้ที่บ้านหรือว่าที่วัด มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑.ทำบุญ ๗ วันหลังจากการเสียชีวิต เรียกว่า “ทำบุญสัตตมวาร” หรือว่า ทักษิณานุสรณ์
            ๒.ทำบุญทุก ๆ ๗ วัน ก่อนครบ ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน เรียกว่า “ทักษิณานุปทาน”
            ๓.ทำบุญครบ ๕๐ วัน และครบ ๑๐๐ วัน
            ๔.ทำบุญเปิดศพก่อนทำพิธีฌาปนกิจ

            งานบุญหน้าศพทั้ง ๔ ลักษณะนี้ฝ่ายเจ้าภาพควรเตรียมการให้พร้อมก่อนดังนี้
                -อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ นิยมนิมนต์เลขคู่ คือ ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป
                -เตรียมพระพุทธรูป โต๊ะหมู่และเครื่องบูชา
                -ตกแต่งสถานที่ทำพิธีให้สะอาดเรียบร้อย
                -ไม่ต้องตั้งภาชนะทำน้ำมนต์ และไม่มีวงด้วยสายสิญจน์
                -เตรียมสายโยงหรือภูษาโยงต่อจากศพ เพื่อใช้บังสุกุล
                -ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์
                -เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์
                -เตรียมอาหารหวานคาวและเครื่องไทยธรรม

            เมื่อคณะสงฆ์มาถึงบริเวณพิธีแล้วควรทำดังนี้
                -นิมนต์คณะสงฆ์นั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้
                -ประเคนเครื่องรับรอง เช่น น้ำชา น้ำร้อน เป็นต้น
                -เมื่อได้เวลาแล้ว พิธีกรเชิญตัวแทนจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และจุดเทียนธูปหน้าศพ
                -อาราธนาศีลและรับศีล
                -นั่งฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
                -กล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ช่วยกันประเคนภัตตาหาร
                -เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว พระชักผ้าบังสุกุล ถวายเครื่องไทยธรรม
                -พระให้พร เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตาย
                -กราบคณะสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

            ฝ่ายคณะสงฆ์ควรเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้
                -ห่มผ่าให้เรียบร้อย
                -ใช้พัดให้เหมาะแก่งานศพ
                -ทำบุญ ๗ วัน สวดอนัตตลักขณสูตร
                -ทำบุญ ๑๐๐ วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพ สวดธรรมนิยามสูตร
                -ทำบุญศพในวาระอื่นจากที่กล่าวนี้ จะสวดสูตรใดก็ได้แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพ หรือหัวหน้านำสวด แต่มีธรรมเนียมอยู่ว่า ไม่สวดบทเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย
 

งานทำบุญอัฐิ

            ทำบุญอัฐิ หมายถึง การทำบุญหลังจากเผาศพแล้ว นิยมทำกันอยู่ ๓ ลักษณะ คือ
             ๑.ทำบุญฉลองอัฐิที่นำมาไว้ที่บ้านหรือที่วัด
             ๒.ทำบุญ ๗ วัน หลังจากเผาศพ
             ๓.ทำบุญให้ผู้ตายครบรอบ ๑ ปี

            การทำบุญอัฐิระเบียบพิธีต่าง ๆ เหมือนกับการทำบุญหน้าศพ ต่างแต่ตอนทำบุญนำโกศอัฐิ หรือว่ารูปถ่ายของผู้ตายแทนอัฐิก็ได้ จัดที่วางไว้ต่างหากกับพระพุทธรูป บทสวดต่าง ๆ ที่ใช้สวดก็เหมือนกับงานทำบุญหน้าศพ

๔.พิธีสวดพระอภิธรรม

            สวดอภิธรรม หมายถึง การทำบุญงานอวมงคลเกี่ยวเนื่องกับศพ ตั้งแต่วันที่เสียชีวิตจนถึงวันเผาศพ นิยมจัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรม ประกอบงานทำบุญหน้าศพด้วย การสวดพระอภิธรรมมี ๒ อย่าง คือ
            ๑.สวดประจำคืนหน้าศพ
            ๒.สวดพระอภิธรรมหน้าไฟ

ระเบียบพิธี

            ๑.การสวดประจำคืนหน้าศพ
                -จัดสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อย
                -เตรียมอาสนะสำหรับพระสงฆ์
                -เตรียมพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ตู้พระธรรม ภูษาโยง ถ้าไม่มีใช้สายสิญจน์แทนก็ได้ ตาลปัตร
                -การนิมนต์พระ นิมนต์เป็นชุด คือ ๔ รูป
                -เตรียมปัจจัยไทยธรรม

            ๒.สวดพระอภิธรรมหน้าไฟ
                -นิยมสวดในขณะทำการเผาศพ
                -นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูปมาสวด
                -พอจุดไฟพระสงฆ์เริ่มสวดพระอภิธรรม

            การสวดพระอภิธรรมประจำคืนหน้าศพเมื่อคณะสงฆ์มาถึงบริเวณพิธีควรทำดังนี้
                -นิมนต์คณะสงฆ์นั่งบนอาสนะ
                -ประเคนเครื่องรับรองมีน้ำปานะ น้ำชา เป็นต้น
                -พอถึงเวลาอันสมควร พิธีการเชิญประธานในพิธีจุดเทียนธูป บูชาพระรัตนตรัย และจุดเทียนธูปหน้าศพ หน้าตู้พระธรรม
                -พิธีการนำกราบคณะสงฆ์ อาราธนาศีล รับศีล
                -อาราธนาธรรม
                -ประธานสงฆ์ทำสวดพระอภิธรรม
                -เมื่อสวดจบแล้ว ดึงภูษาโยงไว้ด้านหน้าพระสงฆ์ คณะสงฆ์จับตาลปัตรพิจารณาผ้าบังสุกุล
                -เจ้าภาพและตัวแทนถวายปัจจัยไทยธรรมแก่คณะสงฆ์
                -คณะสงฆ์ให้พร เจ้าภาพกรวดน้ำ
                -พิธีกรนำกราบคณะสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

๕.พิธีสวดมาติกา

            การสวดมาติกา หมายถึง การสวดบทมาติกาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ หรือที่เรียกกันว่า “สัตตัปปกรณาภิธรรม” ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นพิธีสุดท้าย เป็นประเพณีนิยมจัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพ มี ๒ ประเภท คือ
            ๑.สวดในงานหลวง เรียกว่า “สดับปกรณ์”
            ๒.สวดในงานราษฎร์ธรรมดาทั่วไป เรียกว่า “สวดมาติกา”

 

ระเบียบพิธี

            ระเบียบพิธี หรือ พิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายเจ้าภาพ เหมือนกับพิธีสวดพระอภิธรรม

๖.พิธีสวดแจง

            การสวดแจง หมายถึง การนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนมากให้สวดสังคีติกถา ซึ่งเป็นหัวข้อพระไตรปิฎกในการทำสังคายนาครั้งแรก เรียกโดยทั่วไปว่า “เทศน์แจง” จะเทศน์ธรรมาสน์เดียวหรือว่า ๓ ธรรมาสน์ก็ได้ นิยมนิมนต์พระ ๕๐๐ รูป ตามจำนาวนสงฆ์ที่ทำสังคายนาครั้งแรก หรือว่านิมนต์ตามกำลังของเจ้าภาพ

ระเบียบพิธี

            การสวดแจงนิยมจัดให้มีก่อนทำพิธีเผาศพ มีระเบียบพิธีดังนี้
                 -จัดสถานที่ให้เรียบร้อย มีธรรมาสน์สำหรับพระเทศน์ และอาสนะสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์
                 -คณะสงฆ์ไปถึงพิธีก่อนเวลา ขึ้นนั่งประจำที่ตามลำดับพรรษา
                 -พระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เริ่มตั้งแต่ นโม เป็นต้นไป ทุกรูปนั่งประนมมือ ฟังด้วยความเคารพ เมื่อผู้เทศน์เผดียงให้สวด พึงสวดพร้อมกัน สวดบทนมัสการ สวดบาลีพระวินัยปิฎก สวดบาลีพระสุตตันตปิฎก สวดบาลีพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
                 -เมื่อเทศน์จบคณะสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
                 -เจ้าภาพถวายปัจจัยไทยธรรม
                 -พิธีกรนำกราบคณะสงฆ์ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

๗.พิธีสวดถวายพรพระ

            การสวดถวายพรพระ หมายถึง การเจริญพระพุทธมนต์ด้วยบทพาหุง......ก่อนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ ต่อเนื่องจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ ก่อนฉันภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ต้องทำพิธีสวดถวายพรพระก่อนทุกครั้ง มีพิธีสวดตามธรรมเนียมอยู่ ๒ อย่าง คือ
            ๑.สวดถวายพรพระกรณีสามัญ ใช้สวดในงานทำบุญทั่วไป คือ งานมงคล และงานอวมงคล
            ๒.สวดถวายพรพระกรณีพิเศษ ใช้สวดในงานพระราชพิธีที่ประกอบด้วยพระฤกษ์ เช่น พระฤกษ์สรงในพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น

ระเบียบพิธี

            ๑.สวดถวายพรพระกรณีสามัญ มีระเบียบพิธีดังนี้
                 -เมื่อคณะสงฆ์มาถึงบ้าน นิมนต์นั่งบนอาสนะ
                 -ถวายเครื่องรับรองมีน้ำปานะ น้ำชา เป็นต้น
                 -เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ถ้าทำบุญหน้าศพ จุดเทียนธูปหน้าศพด้วย
                 -อาราธนาศีล รับศีล
                 -ประธานสงฆ์สวดบทถวายพรพระไปตามลำดับ
                 -ถ้ามีตักบาตร เช่น ฉลองพระบวชใหม่ หรืองานแต่งงาน พอพระเริ่มสวดบทพาหุง.....

            เจ้าภาพพึงตักบาตรในระหว่างนี้ พอพระสวดจบ ยกอาหารไปประเคนพระ
                 -เมื่อฉันเสร็จแล้ว ถวายปัจจัยไทยธรรม
                 -รับพรพระ กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้มีพระคุณ
                 -พิธีกรนำกราบพระ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

            ๒.สวดถวายพรพระกรณีพิเศษ เช่น พระฤกษ์สรงในพระราชพิธีฉัตรมงคล ระเบียบสวดถวายพรพระก่อนรับพระราชทานฉัน มีดังนี้
                 -สังฆการีอาราธนาศีล ประธานสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัดถวายศีล
                 -จบถวายศีลแล้ว ได้ฤกษ์เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ พระสงฆ์เริ่มสวดบท  ชยันโต... หลายจบจนเสร็จพิธี และ ภวตุ....
                 -สวดจบแล้วพอใกล้เวลาฉัน พึงสวดบทถวายพรพระไปจนจบตั้งแต่บท นะโม... อิติปิโส... เป็นต้นไป
                 -ถวายภัตตาหาร
                 -ถวายปัจจัยไทยธรรม
                 -พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

๘.พิธีอนุโมทนากรณีต่าง ๆ

            การอนุโมทนากรณีต่าง ๆ หมายถึง  ธรรมเนียมของพระภิกษุและสามเณร เมื่อรับถวายปัจจัยไทยธรรม หรืออาหารหวานคาวจากญาติโยมแล้ว จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น พิธีอนุโมทนาแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ
            ๑.สามัญอนุโมทนา
            ๒.วิเสสอนุโมทนา

ระเบียบพิธี

            ๑.สามัญอนุโมทนา
                 
-ในงานต่าง ๆ มีพระสงฆ์หลายรูป ประธานสงฆ์ตั้งพัดสวดบทว่า ยถา... องค์ที่ ๒ รับ สัพพีติโย... แล้วสวดพร้อมกันจนจบ
                  -เมื่อรับพรพระเสร็จแล้ว กราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

            ๒.วิเสสอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาด้วยบทพิเศษเฉพาะ เช่น ถวายผ้ากฐิน เป็นต้น
                  -คณะสงฆ์อนุโมทนาเหมือนสามัญอนุโมทนาทั่วไป ยถา.... สัพพี....
                  -สวดบท กาเล... ไปจนจบ และสวดบท ภวตุ...
                  -เมื่อรับพรพระเสร็จแล้วกราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

๙.พิธีแสดงพระธรรมเทศนา

            การแสดงพระธรรมเทศนา หมายถึง การที่พระสงฆ์บรรยายให้ความรู้แก่ชาวพุทธที่อุปถัมถ์ด้วยปัจจัย ๔ เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้ชาวพุทธปฏิบัติตนถูกต้องอยู่ในหลักศีลธรรมอันดีงาม การแสดงพระธรรมเทศนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ
            ๑.แสดงพระธรรมเทศนาแบบธรรมดา
            ๒.แสดงพระธรรมเทศนาแบบปุจฉา-วิสัชนา การแสดงตั้งแต่ ๒ รูปขึ้นไป

            การแสดงพระธรรมเทศนาที่นิยมทำกัน มี ๔ ลักษณะ คือ
            ๑.แสดงพระธรรมเทศนาในงานบุญ คือ งานมงคลต่าง ๆ
            ๒.แสดงพระธรรมเทศนาตามกาลนิยม คือ งานวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
            ๓.แสดงพระธรรมเทศนาพิเศษ คือ การสั่งสอนเป็นหมู่คณะ
            ๔.แสดงพระธรรมเทศนามหาชาติ คือ การเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดก

ระเบียบพิธี

            การแสดงพระธรรมเทศนา ทั้ง ๔ ลักษณะนี้ มีระเบียบปฏิบัติดังต่อไปนี้
               -เจ้าภาพเตรียมธรรมาสน์ให้พร้อม
               -เมื่อผู้เทศน์มาถึงนิมนต์ขึ้นบนธรรมาสน์
               -ถวายน้ำ
               -เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
               -อาราธนาศีล ให้ศีล
               -อาราธนาธรรม
               -ผู้เทศน์ ๆ ตามเรื่องที่เตรียมมา หรือตามเรื่องที่เจ้าภาพเจาะจง
               -เมื่อเทศน์จบอนุโมทนาด้วยบท ยถา.... สัพพี...
               -ถวายปัจจัยไทยธรรม
               -ต่อจากนั้นถ้ามีสวดมนต์อย่างอื่นต่อก็ทำไปตามระเบียบพิธีของแต่ละงาน
               -พิธีกรนำสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย กราบพระ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

 

ปัญหาและเฉลย บุญพิธี

๑.พิธีสวดถวายพรพระ จัดเป็นพิธีอะไร ?
            ก.กุศลพิธี                                ข.บุญพิธี
            ค.ภาวนาพิธี                             ง.พิธีสวดพระพุทธมนต์

๒.การที่พระสงฆ์สาธยายมนต์ในงานมงคล เรียกว่า... ?
            ก.เจริญพระพุทธมนต์              ข.สวดพระพุทธมนต์
            ค.ถวายพรพระ                      ง.การบริกรรมมนต์

๓.การสวดพระปริตรใช้บทไหนดับเทียนน้ำมนต์ ?
            ก.รัตนสูตร                              ข.กรณียเมตตสูตร
            ค.ขันธปริตร                            ง.โมรปริตร

๔.พิธีทำบุญตักบาตรเทโว ทำกันในวันไหน ?
            ก.ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑               ข.ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
            ค.แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑              ง.แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

๕.การเทศน์มหาชาติ ท่านนำเนื้อความมาจากไหน ?
            ก.พระวินัยปิฎก                       ข.พระสุตตันตปิฎก
            ค.พระอภิธรรมปิฎก                  ง.เกจิอาจารย์แต่งขึ้น

๖.การที่พระสงฆ์ร่วมกันสาธยายมนต์ในงานอวมงคลเรียกว่าอะไร ?
            ก.เจริญพระพุทธมนต์              ข.สวดพระปริตร
            ค.สวดมนต์                         ง.สวดพระพุทธมนต์

๗.วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก เรียกว่าวันอะไร ?
            ก.วันเข้าพรรษา                       ข.วันพระ
            ค.วันเทโวโรหณะ                   ง.ถูกทุกข้อ

๘.คำว่า “อาวาหมงคล” หมายความว่าอย่างไร ?
            ก.เจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว     ข.เจ้าบ่าวไปอยู่บ้านเจ้าสาว
            ค.เจ้าบ่าวเจ้าสาวแยกกันอยู่     ง.เจ้าบ่าวเจ้าสาวสร้างบ้านใหม่

๙.เมื่อนิมนต์พระไปงานทำบุญสัตตมวาร จะใช้ฎีกานิมนต์ว่าอย่างไร ?
            ก.เจริญพระพุทธมนต์                  ข.เจริญมนต์
            ค.สวดมนต์                             ง.สวดพระพุทธมนต์

๑๐.คำว่า “สวดมาติกา” ในราชการงานหลวง ใช้คำไหน ?
            ก.สวดสัตตมวาร                      ข.สดับพระมาติกา
            ค.สดับปกรณ์                          ง.สดับพระอภิธรรม

๑๑.พิธีสวดพระอภิธรรม จัดเข้าในหมวดไหนในศาสนพิธี ?
            ก.กุศลพิธี                                ข.บุญพิธี
            ค.ทานพิธี                                ง.ปกิณกะ

๑๒.ข้อใดกล่าวถึงงานอวมงคลได้ถูกต้อง ?
            ก.จำนงค์ทำบุญครบรอบวันตายของมารดา    ข.จำปีทำบุญขึ้นบ้านใหม่
            ค.จำปาทำบุญถวายผ้ากฐิน                              ง.จำปูนทำบุญฉลองเมรุ

๑๓.การสวดพระอภิธรรมใช้ในงานใด ?
            ก.งานทำบุญ ๗ วัน                    ข.งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
            ค.งานศพ                                 ง.งานทำบุญอายุ

๑๔.ผ้าที่โยงจากโลงศพเพื่อทำพิธีทอดผ้าบังสุกุลเรียกว่าอะไร ?
            ก.ผ้าภูษาโยง                            ข.ผ้ามาลาโยง
            ค.ผ้าภูษามาลา                         ง.ผ้าสายโยง

๑๕.การเทศน์มหาชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร ?
            ก.พระมหาชนก                       ข.เวสสันดรชาดก
            ค.พุทธประวัติ                         ง.ประวัติพระสาวก

๑๖.หลังรับศีลแล้ว ก่อนพระจะเทศน์ ต้องอาราธนาว่า....?
            ก.มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง...       ข.อิมานิ มะยัง ภันเต...
            ค.วิปัตติปะฏิพาหายะ...           ง.พรัหมา จะโลกาธิปะติ...

๑๗.วันพระเจ้าเปิดโลก หมายความว่าอย่างไร ?
            ก.วันพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นสู่เทวโลก
            ข.วันพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลกทั้งปวง
            ค.วันพระพุทธเจ้าทรงโปรดพระมารดา        
            ง.วันเทวดามนุษย์และสัตว์นรกพบเห็นกัน

๑๘.พิธีสวดถวายพรพระ จัดเป็นพิธีอะไร ?
            ก.กุศลพิธี                                ข.บุญพิธี
            ค.ปกิณณกะ                            ง.ทานพิธี

๑๙.การทำบุญสัตตมวาร ได้แก่การทำบุญอะไร ?
            ก.ทำบุญครบ ๗ วัน                 ข.ทำบุญครบ ๕๐ วัน
            ค.ทำบุญครบ ๑๐๐ วัน              ง.ทำบุญครบรอบวันตาย

๒๐.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นิยมสวดในงานอะไร ?
            ก.งานทำบุญอายุ                      ข.งานฉลองพระบวชใหม่
            ค.งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่             ง.งานมงคลสมรส

๒๑. “ทักษิณานุปทาน” มีความหมายตรงกับข้อใด ?
            ก.ทำบุญวันเกิด                       ข.ทำบุญอายุ
            ค.ทำบุญขึ้นบ้านใหม่               ง.ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

๒๒.งานทำบุญต่อนาม คือทำบุญอะไร ?
            ก.ต่ออายุ                            ข.เปลี่ยนชื่อ
            ค.รับบุตรผู้เกิดใหม่                 ง.สะเดาะเคราะห์

๒๓.พระพุทธองค์ทรงโปรดพระมารดาด้วยเทศนาอะไร ?
            ก.พระวินัย                               ข.พระสูตร
            ค.พระอภิธรรม                          ง.พระไตรลักษณ์

๒๔.วันเทโวโรหณะ คือวันอะไร
            ก.วันตักบาตรข้าวสาร
            ข.วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาต
            ค.วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก       
            ง.วันที่พระพุทธเจ้าออกพรรษา

๒๕.ข้อใด จัดเป็นงานอวมงคล ?
            ก.ทำบุญขึ้นบ้านใหม่               ข.ทำบุญอุทิศผู้ตาย
            ค.ทำบุญทอดกฐิน                   ง.ทำบุญฉลองเมรุ

๒๖.การเทศน์ตามกาลนิยม คืออย่างไร ?
            ก.เทศน์วันธรรมสวนะ                     ข.เทศน์สอนประชาชน
            ค.เทศน์งานศพ                             ง.เทศน์ปุจฉาวิสัชนา

๒๗.การเทศน์แจง นิยมให้มีในงานบุญพิธีอะไร ?
            ก.งานทอดผ้าป่า                      ข.งานทอดกฐิน
            ค.งานทำบุญอายุ                      ง.งานฌาปนกิจศพ

๒๘.การเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคล นิยมใช้พระสงฆ์กี่รูป ?
            ก.๔ รูป                                    ข. ๙ รูป
            ค.๑๐ รูป                                  ง.๒๐ รูป

๒๙.การขอให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ให้ศีล เรียกว่าอะไร ?
            ก.การขอบวช                          ข.การอาราธนาศีล
            ค.การรักษาศีล                         ง.การสมาทานศีล

๓๐.ข้อใด เป็นอานุภาพของพระปริตร?
            ก.ให้ร่ำรวยเงินทอง                   ข.ให้มีอายุยืนหมื่นปี
            ค.ขจัดทุกข์ ภัย โรค                  ง.เจริญด้วยยศศักดิ์

เฉลย   ๑.ข      ๒.ก       ๓.ก       ๔.ข       ๕.ข    ๖.ง       ๗.ข     ๘.ก       ๙.ง       ๑๐.ค    ๑๑.ข      ๑๒.ก    ๑๓.ค      ๑๔.ก     ๑๕.ข   ๑๖.ง      ๑๗.ง     ๑๘.ข      ๑๙.ก      ๒๐.ก     ๒๑.ง       ๒๒.ก      ๒๓.ค     ๒๔.ค      ๒๕.ข    ๒๖.ก      ๒๗.ง      ๒๘.ข     ๒๙.ข       ๓๐.ค

Leave a comment

You are commenting as guest.


45613338
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4622
40295
44917
45235495
272390
1019588
45613338

Your IP: 182.232.83.42
2024-10-07 03:05
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search