ศาสนพิธี หมวดที่ ๑

             แบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนพิธี ความจริง พิธีกรรมต่าง ๆ มีด้วยกันทุกศาสนา และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังศาสนาแม้ศาสนพิธีในทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน

ศาสนพิธีเกิดขึ้นได้อย่างไร

            เหตุที่เกิดมีศาสนพิธีในทางพระพุทธศาสนา เนื่องมาจากหลักการของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ ที่วัดเวฬุวัน ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ มี ๓ ประการ คื
            ๑.การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง
            ๒.การทำความดีให้ถึงพร้อม
            ๓.การทำใจให้ผ่องใส

บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ

            เมื่อชาวพุทธทำความดีต่าง ๆ ตามหลักการ ๓ อย่างข้างต้น คือพยายามลดละเลิกความไม่ดีทุกอย่าง ทำแต่ความดี และทำใจของตนให้ผ่องใส ซึ่งเรียกว่าการทำบุญ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญนี้ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อ ๆ มีอยู่ ๓ ประการ คือ
            ๑.ทาน การให้สิ่งของต่าง ๆ แก่บุคคลอื่น
            ๒.ศีล การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย
            ๓.ภาวนา การทำใจให้ผ่องใส

            บุญกิริยาวัตถุนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ ในกาลต่อมา

ศาสนพิธี ๔ หมวด

            ชาวพุทธนิยมทำบุญ ไม่ว่าจะปรารภเหตุอะไรก็ตาม จึงเกิดพิธีกรรมขึ้นมากมาย ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี เมื่อสรุปการทำความดีต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๔ หมวด คือ
            ๑.หมวดกุศลพิธี ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
            ๒.หมวดบุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ
            ๓.หมวดทานพิธี ว่าด้วยพิธีถวายทาน
            ๔.หมวดปกิณกพิธี ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ประโยชน์ของศาสนพิธี

            ๑.ทำให้เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำบุญ มีการให้ทานเป็นต้น
            ๒.ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน
            ๓.ทำให้ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธไว้ได้
            ๔.ทำให้เป็นผู้ที่น่ารักน่าเคารพเชื่อถือของคนที่ได้พบเห็น
            ๕.ทำให้เข้าถึงธรรมะภายในได้โดยง่าย

 

หมวดที่ ๑  กุศลพิธี

            พิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยการอบรมความดีงามในพระพุทธศาสนาเฉพาะบุคคล เรียกว่า กุศลพิธี พิธีกรรมในหมวดนี้แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ
            ๑.พิธีกรรมที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติในเบื้องต้นอยู่ ๓ เรื่อง คือ
                   -พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
                   -พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
                   -พิธีรักษาอุโบสถ
            ๒.พิธีกรรมที่สงฆ์พึงปฏิบัติเพื่อความดีงามในทางพระวินัยทั้งส่วนตัวผู้ปฏิบัติและหมู่คณะ   มีอยู่ ๗ เรื่อง คือ
                   -พิธีเข้าพรรษา
                   -พิธีถือนิสัย
                   -พิธีทำสามีจิกรรม
                   -พิธีทำวัตรสวดมนต์
                   -พิธีกรรมวันธรรมสวนะ
                   -พิธีทำสังฆอุโบสถ
                   -พิธีออกพรรษา

            พิธีกรรมที่สงฆ์พึงปฏิบัตินี้ ชาวพุทธผู้ครองเรือนก็ควรทราบด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยยิ่ง ๆ ขึ้นไป

            สำหรับนักเรียนธรรมศึกษาชั้นตรี กำหนดให้ศึกษาพิธีกรรมที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น ๓ เรื่อง

            ส่วนนักเรียนธรรมศึกษาชั้นโท กำหนดให้ศึกษาพิธีกรรมที่สงฆ์พึงปฏิบัติ เพื่อความดีงามในทางพระวินัย ๗ เรื่อง

๑.พิธีเข้าพรรษา

            การเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ไม่ไปพักค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่อื่น เป็นพิธีกรรมสำหรับพระภิกษุโดยตรงที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย จะเว้นเสียไม่ได้ พระภิกษุรูปใดไม่อยู่จำพรรษาต้องอาบัติทุกกฏ ระยะเวลาการเข้าพรรษาทรงอนุญาต ๒ ครั้ง คือ
            ๑.เข้าวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปออกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า ปุริมพรรษา คือ พรรษาแรก
            ๒.เข้าพรรษาแรกไม่ทันให้นับไปอีก ๑ เดือน คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ และไปออกในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา คือ พรรษาหลัง

            ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาในสถานที่มีที่มุงกันแดดกันฝนได้ เช่น ถ้ำ หรือกุฏิอย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามจำพรรษาในที่แจ้ง ในโพรงไม้ ในหลุม ในกุฏิดิน ในตุ่ม เป็นต้น

 

ระเบียบพิธี

            เมื่อถึงวันเข้าพรรษาพระภิกษุและสามเณรทุกรูป ไปประชุมพร้อมกันภายในพระอุโบสถ พระภิกษุนั่งเรียงกันตามพรรษาให้เป็นแถว ส่วนสามเณรนั่งในกลุ่มของสามเณรให้เป็นแถว แยกออกให้พ้นจากหัตถบาสของพระภิกษุ และพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
            ๑.ทำวัตรเย็น คือ พระภิกษุผู้เป็นประธานสงฆ์ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และทำวัตรเย็นตามธรรมเนียมของวัดนั้น ๆ
            ๒.แสดงพระธรรมเทศนา เรื่องวัสสูปนายิกากถา คือ วันเข้าพรรษา และบอกระเบียบปฏิบัติในการอยู่จำพรรษา คือ
                   -บอกให้รู้เรื่องการจำพรรษา
                   -แสดงเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา
                   -บอกเขตของการจำพรรษาภายในวัดรักษาจนอรุณขึ้น
                   -บอกเรื่องการถือเสนาสนะให้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร
                   -บอกกติกาในการจำพรรษา (ถ้ามีกติกาอะไรเป็นพิเศษ)
            ๓.ทำสามีจิกรรม คือการขอขมาโทษต่อกัน โดยปฏิบัติดังนี้
                   -ผู้รับขมาโทษนั่งพับเพียบ หันหน้าไปทางผู้ขอขมา เมื่อผู้ขอขมากราบพึงประนมมือ
                   -ผู้ขอขมาโทษนั่งคุกเข่าประนมมือ กราบ ๓ ครั้ง เฉพาะรูปที่เป็นพระสังฆเถระและเป็นเจ้าอาวาส
                   -กราบเสร็จแล้ว ยกพานสักการะขึ้นประคองน้อมกายลงเล็กน้อย แล้วกล่าวคำขอขมาพร้อมกัน
                   -เมื่อผู้รับขมากล่าวคำอภัยโทษแล้ว พึงน้อมพานสักการะเข้าไปถวาย และกราบ ๓ ครั้ง
                   -จากนั้นพระภิกษุทุกรูปขอขมาโทษซึ่งกันและกัน
            ๔.อธิษฐานเข้าพรรษา คือ พระภิกษุและสามเณรทุกรูป นั่งคุกเข่าหันหน้าไปทางพระประธานกราบ ๓ ครั้ง ประธานสงฆ์กล่าวนำว่า นะโม พร้อมกัน ๓ จบ จึงกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษาดังนี้  อิมัสมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ.
            ๕.เจริญพระพุทธมนต์
            ๖.สักการะบูชาปูชนียวัตถุภายในวัด

๒.พิธีถือนิสัย

            การถือนิสัย เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุผู้บวชใหม่ที่มีพรรษายังไม่ถึง ๕ จำเป็นต้องถือนิสัย คือ อยู่ในการปกครองดูแลของพระภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือพระผู้ใหญ่ภายในวัด เพื่อเรียนรู้ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ระเบียบพิธี

            พระภิกษุและสามเณรผู้ขอนิสัยต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ พึงปฏิบัติดังนี้
            ๑.พระภิกษุและสามเณรนั่งให้เป็นแถวเรียบร้อยในสถานที่ที่จัดไว้แล้ว
            ๒.นั่งคุกเข่าประนมมือหันหน้าไปทางประธานสงฆ์ กราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง พระภิกษุกราบก่อน สามเณรจึงกราบในภายหลัง
            ๓.ตัวแทนพระภิกษุและสามเณรถือเครื่องสักการะ ยกขึ้นระหว่างอกแล้วกล่าวคำขอนิสัยพร้อมกัน
            ๔.ประเคนเครื่องสักการะแล้วกราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง
            ๕.นั่งพับเพียบประนมมือฟังโอวาทจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เมื่อฟังเสร็จแล้ว นั่งคุกเข่าประนมมือ กราบอีก ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีถือนิสัย

๓.พิธีทำสามีจิกรรม

            เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่พระภิกษุและสามเณรพึงทำความเคารพต่อกัน เพื่อความสามัคคีกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การกระทำแบบนี้ เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึง การขอขมาโทษให้อภัยซึ่งกันและกัน หรือการแสดงความเคารพ พึงกระทำในโอกาสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
            ๑.ในวันเข้าพรรษา
            ๒.ในระยะเข้าพรรษา คือ ตั้งแต่เริ่มเข้าพรรษา ประมาณ ๗ วัน
            ๓.ในโอกาสจะจากไปอยู่วัดอื่นหรือถิ่นอื่น

ระเบียบพิธี

            การกระทำสามีจิกรรมนั้นมี ๒ แบบ คือ
            ๑.การกระทำสามีจิกรรมแบบขอขมาโทษ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
                   -จัดเตรียมเครื่องสักการะมี ดอกไม้ ธูปเทียนแพวางบนพานให้พร้อม
                   -ครองผ้าให้เรียบร้อย พาดสังฆาฏิ
                   -เมื่อไปถึงผู้ที่เราจะขอขมาโทษ ประคองเครื่องสักการะคุกเข่าเข้าไปหา วางเครื่องสักการะไว้ด้านซ้ายมือ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วยกเครื่องสักการะ กล่าวคำขอขมา ตามแบบนิยม
                   -เมื่อท่านให้อภัยโทษแล้ว พึงรับว่า สาธุ ภันเต เข้าไปถวายเครื่องสักการะ แล้วกราบ ๓ ครั้ง

            ๒.การทำสามีจิกรรมแบบถวายสักการะ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
                   -จัดเตรียมเครื่องสักการะให้พร้อม
                   -การถวายสักการะ จะทำแก่ผู้ที่มีพรรษามากกว่าตนหรือน้อยกว่าตนก็ได้
                   -ครองผ้าให้เรียบร้อย ถือเครื่องสักการะเข้าไปถวาย ถ้าผู้ที่เราถวายเครื่องสักการะมีพรรษามากกว่าพึงกราบ ๓ ครั้ง ถ้ามีพรรษาน้อยกว่าเพียงแต่รับไหว้ในเมื่อผู้อ่อนพรรษากว่ากราบ  เป็นอันเสร็จพิธี

คำขอขมาโทษ

            ผู้ขอว่า                         อายสฺมนฺเต ปมาเทน, ทฺวารตฺตเยน กตํ, สพฺพํ อปราธํ ขมถ เม ภนฺเต.
            ผู้รับว่า                         อหํ ขมามิ ตยาปิ เม ขมิตพฺพํ.
            ผู้ขอว่า                         ขมามิ ภนฺเต

            หมายเหตุ คำที่ขีดเส้นใต้ให้เปลี่ยนดังนี้
            อายสฺมนฺเต       ถ้าพรรษาเกิน ๑๐ แต่ยังไม่ถึง ๒๐ เปลี่ยนเป็น เถเร
                                ถ้าพรรษาเกิน ๒๐ เปลี่ยนเป็น มหาเถเร
            เม                     ถ้าหลายคนเปลี่ยนเป็น โน
            ตยาปิ               ถ้าหลายคนเปลี่ยนเป็น ตุมฺเหหิปิ
            ขมามิ               ถ้าหลายคนเปลี่ยนเป็น ขมาม

๔.พิธีทำวัตรสวดมนต์

            การทำวัตร คือ การทำกิจวัตรของพระภิกษุและสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา เป็นการทำกิจที่ต้องทำเป็นประจำ เรียกสั้น ๆ ว่า ทำวัตร การทำวัตรต้องทำวันละ ๒ เวลา คือ เวลาเช้าและเวลาเย็น

            การสวดมนต์ คือ การสวดบทพระพุทธมนต์ต่าง ๆ ที่เป็นพระสูตรก็มี ที่เป็นพระปริตรก็มี ที่เป็นพระคาถาอันนิยมกำหนดให้สวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำก็มี นอกเหนือจากบทสวดทำวัตร เมื่อเรียกรวมการสวดทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เรียกว่า ทำวัตรสวดมนต์

ระเบียบพิธี

            พิธีทำวัตรสวดมนต์นั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือ
            ๑.พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับพระภิกษุและสามเณรมี ๒ ครั้ง คือ

                 ๑.๑.ทำวัตรเช้า
                        
-กำหนดเวลาสวดมนต์แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละวัด
                         -พระภิกษุและสามเณรทุกรูปต้องไปประชุมพร้อมกันที่หอสวดมนต์หรือที่พระอุโบสถ
                         -ประธานสงฆ์จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ทุกรูปนั่งคุกเข่าประนมมือ
                         -สวดบททำวัตรเช้าตามหนังสือสวดมนต์
                         -บางวัดอาจจะมีการนั่งสมาธิและแผ่เมตตาหลังสวดมนต์เสร็จ ทำตามประเพณีของ           แต่ละวัด
                         -ก่อนเลิกก็สวดมนต์บูชาพระ กราบพระพุทธรูป ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

                  ๑.๒.ทำวัตรเย็น
                        
-กำหนดเวลาสวดมนต์แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละวัด
                         -นอกจากนั้นก็เหมือนกับการทำวัตรเช้า

            ๒.พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับอุบาสกอุบาสิกา แบบสวดและระเบียบต่าง ๆ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา จะนำมากล่าวรวมในพิธีกรรมวันธรรมสวนะ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

            ๓.พิธีสวดมนต์ไหว้พระสำหรับนักเรียน ระเบียบการสวดมนต์ไหว้พระสำหรับนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป็นแบบปฏิบัติไว้โดยเฉพาะ และมีคำสั่งให้ใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ จะนำมากล่าวในหมวดปกิณกะข้างหน้า

๕.พิธีกรรมวันธรรมสวนะ

            วันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า วันพระ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวันประชุมฟังธรรมไว้เดือนหนึ่ง ๔ วัน คือ
                ๑.วันขึ้น ๘ ค่ำ
                ๒.วันขึ้น ๑๕ ค่ำ
                ๓.วันแรม ๘ ค่ำ
                ๔.วันแรม ๑๕ ค่ำ

ระเบียบพิธี

            -ตอนเช้า ประมาณเวลา ๙.๐๐ น. พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา พร้อมกันที่ศาลาการเปรียญ หรือว่าอุโบสถ
            -ประธานสงฆ์จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และนำสวดมนต์ทำวัตรเช้า
            -เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จ อุบาสกและอุบาสิกาประกาศอุโบสถ พระองค์ที่แสดงธรรมขึ้นธรรมาสน์
            -อุบาสกและอุบาสิกานั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีล พระให้อุโบสถศีลรับศีล
            -ต่อจากนั้นพระภิกษุแสดงธรรม ตั้งใจฟังธรรมโดยความเคารพ
            -เมื่อพระแสดงธรรมจบกล่าวคำว่า สาธุ พร้อมกัน กราบพระ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีภาคเช้า      *ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ จะกล่าวในวิชาอุโบสถศีล

๖.พิธีทำสังฆอุโบสถ

            พิธีทำสังฆอุโบสถ เป็นธรรมเนียมที่พระภิกษุทุกรูปต้องปฏิบัติตามพระวินัยทุกกึ่งเดือน คือต้องไปนั่งทบทวนศีล ๒๒๗ ของตัวเองว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ จะขาดไม่ได้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นตามที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ อุโบสถมี ๓ ประเภท คือ
            ๑.สังฆอุโบสถ คือ อุโบสถที่พระภิกษุร่วมกันทำตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
            ๒.ปาริสุทธิอุโบสถ คือ อุโบสถที่พระภิกษุน้อยกว่า ๔ รูป ร่วมกันทำ
            ๓.อธิษฐานอุโบสถ คือ อุโบสถที่พระภิกษุอธิษฐานทำรูปเดียว

หลักการทำสังฆอุโบสถ

            ๑.สังฆอุโบสถต้องทำภายในสีมา
            ๒.วันที่ทำนั้นต้องเป็นวันขึ้นหรือแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ
            ๓.พระภิกษุในที่ประชุมต้องครบองค์สงฆ์ คือ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
            ๔.พระภิกษุผู้เข้าร่วมประชุมไม่เป็นผู้ต้องสภาคาบัติ คือ อาบัติอย่างเดียวกัน หรือต้องสภาคาบัติแต่ได้สวดประกาศก่อนแล้วโดยชอบด้วยพระวินัย
            ๕.ไม่มีบุคคลที่ควรเว้นอยู่ในหัตถบาส
            ๖.พระภิกษุทั้งหมดได้ทำบุพกรณ์ และบุพกิจของอุโบสถเรียบร้อยแล้ว
            ๗.มีตัวแทนของพระภิกษุขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ คือ สวดศีล ๒๒๗ ข้อ ให้ฟังทั่วกันในท่ามกลางสงฆ์

หลักการทำปาริสุทธิสุทธิอุโบสถ

            ปาริสุทธิอุโบสถ ได้แก่อุโบสถที่พระภิกษุผู้เข้าประชุมกันทำไม่ครบจำนวนสงฆ์ คือ ๔ รูปขึ้นไป มีเพียง ๓ รูปหรือ ๒ รูป ท่านห้ามสวดพระปาฏิโมกข์ ในการทำอุโบสถให้บอกความบริสุทธิ์แห่งศีลแก่กัน แทนการสวดพระปาฏิโมกข์

หลักการทำอธิษฐานอุโบสถ

            อธิษฐานอุโบสถ ได้แก่อุโบสถที่พระภิกษุทำเพียงรูปเดียว คือเมื่อถึงวันอุโบสถ ให้ทำกิจที่ควรทำในอุโบสถให้เรียบร้อยแล้วนั่งรอภิกษุจากที่อื่น เผื่อจะมีมาร่วมทำด้วยตามสมควรแก่เวลา เมื่อเห็นว่าไม่มีใครมาแล้วให้อธิษฐานในใจของตนว่า อชฺช เม อุโบสโถ แปลว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถของเราเพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ระเบียบพิธี

            - เมื่อถึงวันอุโบสถช่วยกันทำความสะอาดพระอุโบสถและจัดอาสนะให้เรียบร้อย
            - กำหนดนัดเวลาทำอุโบสถ
            - ห่มดองครองผ้าให้เรียบร้อย
            - ปลงอาบัติกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน
            - ไปถึงพระอุโบสถก่อนเวลาประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที
            - เมื่อพร้อมกันแล้วนับจำนวนสงฆ์
            - ประธานสงฆ์นำกราบพระ สวดมนต์ทำวัตร
            - เมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วทุกรูปนั่งหันหน้าล้อมวงรอบ ๆ ตั่งสำหรับนั่งสวดพระปาฏิโมกข์
            - นิมนต์พระภิกษุผู้ทรงพระปาฏิโมกข์ขึ้นนั่งบนตั่ง ทำพิธีสวดพระปาฏิโมกข์ไปจนจบ
            - เมื่อสวดพระปาฏิโมกข์จบแล้ว พระภิกษุทุกรูปหันหน้าไปทางพระประธาน ประธานสงฆ์นำสวดมนต์ต่อท้ายจากพระปาฏิโมกข์ จนจบ
            - นั่งสมาธิ แผ่เมตตา อุทิศส่วนบุญให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
            - ต่อจากนั้นบูชาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี

๗.พิธีออกพรรษา

            การออกพรรษา หมายถึง เวลาสิ้นสุดกำหนดอยู่จำพรรษา ๓ เดือน ของพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีสังฆกรรมเป็นพิเศษโดยเฉพาะ เรียกว่า ปวารณากรรม คือการทำปวารณาให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ของสงฆ์ผู้อยู่ร่วมกันตลอด ๓ เดือน ทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ในวันนั้นพระสงฆ์ไม่ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ แต่ให้ทำปวารณาแทน

ระเบียบพิธี

            การทำปวารณากรรมในวันออกพรรษา มีระเบียบปฏิบัติเป็นธรรมเนียมดังต่อไปนี้
                - พระภิกษุและสามเณรทุกรูปห่มดองครองผ้าให้เรียบร้อย พร้อมกันที่พระอุโบสถ
                - ทำวัตรสวดมนต์ตามธรรมเนียมของแต่ละวัด
                - ตัวแทนของคณะสงฆ์ขึ้นนั่งบนตั่งที่สวดพระปาฏิโมกข์ ชี้แจงเรื่องการทำปวารณากรรม บอกบุพกรณ์และบุพกิจ ตั้งญัตติสวดปวารณากรรม
                - คณะสงฆ์ปวารณากันตามพรรษา เริ่มตั้งแต่พรรษามากที่สุดไปหาพรรษาน้อย
                - เมื่อปวารณาแล้ว พระภิกษุต้องอยู่รักษาราตรีอีกหนึ่งคืนในวัดที่จำพรรษานั้น จึงจะไปค้างคืนที่อื่นได้

ปัญหาและเฉลยกุศลพิธี

๑.สถานที่เช่นไรที่พระพุทธเจ้าห้ามพระภิกษุอยู่จำพรรษา ?
            ก.ในถ้ำ                                    ข.ในโพรงไม้กลางแจ้ง
            ค.ในเรือนว่าง                          ง.ในศาลาร้าง

๒.วันเข้าพรรษาตรงกับวัน... ?
            ก.ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘                 ข.แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
            ค.ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘              ง.แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

๓.วันมหาปวารณา ตรงกับวัน. . . ?
            ก.ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒           ข.ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
            ค.แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙                ง.แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒

๔.ข้อใดไม่ใช่กุศลพิธี ?
            ก.พิธีออกพรรษา                     ข.พิธีทำวัตรสวดมนต์
            ค.พิธีสังฆกรรมอุโบสถ           ง.พิธีสวดพระพุทธมนต์

๕.ฤดูวัสสูปนายิกา มีกำหนดกี่วัน ?
            ก.๓๐ วัน                                 ข. ๖๐ วัน
            ค.๙๐ วัน                                  ง.๑๒๐ วัน

๖.ข้อใดเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาโดยตรง ?
            ก.การถือนิสัย                          ข.การทำสามีจิกรรม
            ค.การฟังธรรม                         ง.การปวารณา

๗.การจำพรรษามีมาตั้งแต่สมัยไหน ?
            ก.ปฐมโพธิกาล                       ข.มัชฌิมโพธิกาล
            ค.ปัจฉิมโพธิกาล                     ง.หลังพุทธกาล

๘.แบบแผนที่ผู้นับถือพระศาสนาพึงปฏิบัติ เรียกว่าอะไร ?
            ก.ศาสนพิธี                              ข.บุญพิธี
            ค.ทานพิธี                                ง.กุศลพิธี

๙.คำนมัสการพระรัตนตรัย เริ่มต้นด้วยคำว่า ?
            ก.นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต...             ข.อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา...
            ค.โย โส ตะถาคะโต อะระหัง...          ง.โย โส สะวากขาโต...

๑๐.พิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนา หมายถึงข้อใด ?
            ก.ศาสนพิธี                              ข.บุญพิธี
            ค.ทานพิธี                                ง.กุศลพิธี

๑๐.คำว่า “วัสสูปนายิกา” เกี่ยวข้องกับวันอะไร ?
            ก.วันเข้าพรรษา                       ข.วันออกพรรษา
            ค.วันมหาปวารณา                   ง.วันเข้าเขตกฐินกาล

๑๒. “ภิกษุจะอยู่กับที่ ไม่ออกไปค้างแรมที่อื่น” ตรงกับข้อใด ?
            ก.การทำสามีจิกรรม                ข.การอยู่จำพรรษา
            ค.การถือศีลอุโบสถ                 ง.การทำสังฆอุโบสถ

๑๓.การทำสามีจิกรรม มีความหมายว่าอย่างไร ?
            ก.การขอขมาโทษต่อกัน         ข.การว่ากล่าวตักเตือนกัน
            ค.การถือนิสัยกับอาจารย์         ง.การแสดงความบริสุทธิ์

๑๔.วันมหาปวารณา ตรงกับข้อใด ?
            ก.วันแสดงธรรม                     ข.วันอุโบสถ
            ค.วันเข้าพรรษา                       ง.วันออกพรรษา

๑๕.ข้อใด ไม่ใช่อยู่ในบทพุทธานุสสติ ?
            ก.สมฺมาสมฺพุทฺโธ                    ข.วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
            ค.สตฺถา เทวมนุสฺสานํ             ง.สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก

๑๖.วันธรรมสวนะ หมายถึงวันอะไร ?
            ก.วันสมาทานศีล                     ข.วันประชุมฟังธรรม
            ค.วันเข้าพรรษา                       ง.วันเทโวโรหณะ

๑๗.อุโบสถศีลข้อสุดท้าย ว่าด้วยการเว้นเรื่องใด ?
            ก.บริโภคในเวลาวิกาล                        ข.ฟ้อนรำขับร้อง
            ค.ทัดทรงดอกไม้                     ง.ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

๑๘.วันพระ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวันอะไร ?
            ก.วันอุโบสศีล                         ข.วันอัสสูปนายิกา    
            ค.วันธรรมสวนะ                      ง.วันปาฏิบท

๑๙.ข้อใด ไม่ใช่อุโบสถศีล ?
            ก.ปาณาติปาตา เวรมณี                        ข.อทินฺนาทานา เวรมณี
            ค.อพฺรหมฺจริยา เวรมณี                        ง.กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี

 ๒๐.ข้อใดไม่มีในศีล ๘ ?                                                           
            ก.ปาณาติปาตา เวรมณี                        ข.อทินนาทานา เวรมณี
            ค.กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี                   ง.มุสาวาทา เวรมณี

เฉลย   ๑.ข    ๒.ข     ๓.ข    ๔.ง    ๕.ค    ๖.ง    ๗.ข    ๘.ก    ๙.ข   ๑๐.ง    ๑๑.ก    ๑๒.ข    ๑๓.ก   ๑๔.ง     ๑๕.ง     ๑๖.ข     ๑๗.ง     ๑๘.ค       ๑๙.ง     ๒๐.ค

Leave a comment

You are commenting as guest.


49548342
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7503
74778
123359
49159770
687992
1074106
49548342

Your IP: 72.14.201.134
2025-01-21 07:36
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search