ศาสนพิธี หมวดที่ ๓

ทานพิธี

            พิธีถวายทานต่าง ๆ เรียกว่า ทานพิธี การถวายทาน คือ การให้วัตถุหรือสิ่งของที่ควรให้ หรือสิ่งของที่ควรแก่ภิกษุใช้สอยด้วยความเต็มใจ ในที่นี้ของที่ควรถวายเป็นพิธีมีอยู่ ๑๖ อย่าง คือ

            ๑.พิธีถวายสังฆทาน
            ๒.พิธีถวายสลากภัต
            ๓.พิธีตักบาตรข้าวสาร
            ๔.พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง
            ๕.พิธีถวายเสนาสนะ กุฏิ วิหาร
            ๖.พิธีถวายศาลาโรงธรรม
            ๗.พิธีถวายผ้าวัสสิกสาฎก
            ๘.พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา
            ๙.พิธีถวายผ้าอัจเจกจีวร
            ๑๐.พิธีทอดผ้าป่า
            ๑๑.พิธีถวายผ้ากฐิน
            ๑๒.พิธีถวายธูปเทียนดอกไม้
            ๑๓.พิธีลอยกระทง
            ๑๔.พิธีถวายธงเพื่อบูชา
            ๑๕.พิธีถวายเวจกุฏี
            ๑๖.พิธีถวายสะพาน

๑.พิธีถวายสังฆทาน

            สังฆทาน คือทานที่ถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอย่างอื่น เรียกว่า ถวายสังฆทาน มีแบบแผนมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล ในครั้งนั้นท่านแบ่งสังฆทานเป็น ๗ ประการ คือ
            ๑.ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๒.ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๓.ถวายแก่หมู่ภิกษุณี  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๔.ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๕.ถวายแก่หมู่ภิกษุ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๖.ถวายแก่หมู่ภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
            ๗.ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใคร ๆ ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น

๒.พิธีถวายสลากภัต

            สลากภัต คือ ภัตตาหารที่ถวายตามสลาก หรือโดยวิธีการจับฉลาก นิยมทำกันในสมัยที่ผลไม้ออกผลมาก ทายกทายิกาจัดอาหารหวานคาวและผลไม้ที่ออกในฤดู นำไปรวมกันที่วัดจัดเป็นส่วน ๆ เขียนชื่อหรือว่าเลขประจำตัวของตนใส่กระดาษแล้วม้วนไปให้พระภิกษุและสามเณรจับ จับได้ของคนใดก็รับของคนนั้น พระสงฆ์ให้พร  ยถา... สัพพี..... เป็นอันเสร็จพิธี

๓.พิธีตักบาตรข้าวสาร

            ตักบาตรข้าวสาร คือ การถวายข้าวสารโดยการใส่บาตร เพื่อให้เก็บไว้หุงต้มในยามอาหารขาดแคลน การตักบาตรข้าวสารถวายเป็นสังฆทานบ้าง ถวายเป็นปาฏิบุคลิกทานบ้าง ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ และนิยมจัดในช่วงเข้าพรรษา จัดเป็นทานมัยในบุญกิริยาวัตถุ ๓ พิธีตักบาตรข้าวสารนี้นิยมทำกันแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๔.พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง

            ตักบาตรน้ำผึ้ง คือ การถวายน้ำผึ้งให้แก่พระภิกษุสงฆ์ จัดเป็นเภสัชทาน และกาลทานอย่างหนึ่ง ส่วนมากนิยมถวายในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับและฉันเป็นเภสัชได้ในเวลาวิกาล เพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้นแก่พระภิกษุ ทรงอนุญาตไว้ ๕ ชนิด คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อ

๕.พิธีถวายเสนาสนะ กุฏิ และวิหาร

            ถวายเสนาสนะ กุฏิ และวิหาร คือ การถวายสถานที่พักอาศัย หรือสถานที่ทำกิจกรรมของสงฆ์ที่สร้างไว้ภายในวัด โดยถวายเป็นของสงฆ์ไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง โดยมากนิยมสร้างให้เสร็จก่อนเข้าพรรษา เพื่อพระภิกษุและสามเณรทันอยู่ภายในพรรษา เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งเป็นผู้สร้างกุฏิถวายสงฆ์ ๖๐ หลังเป็นคนแรก เมื่อสร้างเสร็จแล้วทำพิธีถวายแก่คณะสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาด้วยบท ยถา.... สัพพี.... เจ้าภาพพึงกรวดน้ำรับพรพระ เป็นอันเสร็จพิธี

๖.พิธีถวายศาลาโรงธรรม

            ศาลาโรงธรรม คือ ศาลาเป็นที่ฟังธรรมหรือแสดงธรรม หรือใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุและสามเณร เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ทำพิธีถวายแก่คณะสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาด้วยบท ยถา... สัพพี.... เจ้าภาพพึงกรวดน้ำ รับพรพระ เป็นอันเสร็จพิธี

๗.พิธีถวายผ้าวัสสิกสาฎก

            ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าที่พระภิกษุใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝน นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ผ้าอาบ” เป็นผ้าที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับได้ก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นางวิสาขาเป็นคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝน

๘.พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา

            ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ถวายแก่พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีเวลากำหนดให้ถวายได้ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นเขตจีวรกาล ถ้าหากถวายนอกจากเวลาที่กำหนดนี้ ไม่จัดเป็นผ้าจำนำพรรษา

๙.พิธีถวายผ้าอัจเจกจีวร

            ผ้าอัจเจกจีวร คือ ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้ถวายรีบด่วนถวายก่อนกำหนด คือทายกมีกิจธุระที่จะต้องไปทำในที่อื่น ไม่สามารถถวายในช่วงออกพรรษาได้ ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับได้ ๑๐ วัน ก่อนออกพรรษา คือตั้งแต่วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา

๑๐.พิธีทอดผ้าป่า

            ผ้าป่า หรือ ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เปื้อนฝุ่นไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนบ้าง และแขวนอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง หรือผู้ที่เอาอุทิศวางไว้แทบเท้า เรียกว่า “ผ้าป่า” การทอดผ้าป่ามีมาตั้งตาสมัยพุทธกาล ทรงอนุญาตให้พระภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุลได้ การถวายผ้าป่าไม่ได้กำหนดกาลเวลาไว้ สามารถทอดถวายได้ตลอดตามความประสงค์ของเจ้าภาพ

๑๑.พิธีถวายผ้ากฐิน

            ผ้ากฐิน คือผ้าที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน แล้วรับมานุ่งห่มได้ เป็นผ้าที่ถวายตามกาล จะถวายทั่วไปเหมือนกับผ้าอย่างอื่นไม่ได้ กำหนดระยะเวลาไว้เพียง ๑ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า กาลกฐิน หรือเทศกาลทอดกฐิน

๑๒.พิธีถวายธูปเทียน ดอกไม้

            การถวายธูปเทียน ดอกไม้ คือ การนำธูปเทียนและดอกไม้ไปถวายแก่พระภิกษุเพื่อนำไปบูชาพระ นิยมถวายในวันเข้าพรรษา มีการถวาย ๒ แบบ คือ
            ๑.ถวายโดยการประเคนทีละรูป ไม่ต้องกล่าวคำถวายและไม่ต้องอนุโมทนา
            ๒.ถวายโดยวางไว้หน้าพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวาย และพระสงฆ์อนุโมทนา

๑๓.พิธีลอยกระทง

            ลอยกระทง คือ การเอาดอกไม้ธูปเทียนใส่ในกระทงแล้วจุดธูปเทียนในกระทง ลอยไปในน้ำเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ในประเทศไทยมีพิธีลอยกระทงมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย นิยมลอยกระทงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

๑๔.พิธีถวายธงเพื่อบูชา

            ถวายธงเพื่อบูชา ธงนั้นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง นิยมประดับปูชนียวัตถุ หรือสถานที่ภายในวัดให้สวยงาม ธงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา นิยมทำด้วยผ้าสีเหลือง ตรงกลางผืนธงเป็นรูปเสมาธรรมจักร เรียกว่า “ธงธรรมจักร” นิยมประดับในงานถวายผ้ากฐิน หรือว่างานบุญสำคัญต่าง ๆ ของวัด เพื่อประดับตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

๑๕.พิธีถวายเวจกุฎี

            เวจกุฎี คือ ห้องสุขาหรือว่าห้องส้วมสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะในวัด มีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุสร้างให้เป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ ห้ามพระภิกษุและสามเณรถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง ในเสขิยวัตรมีธรรมเนียมในการใช้ห้องส้วมหลายประการ ในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวพุทธผู้ต้องการสร้างบุญ อำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุและสามเณรจึงสร้างถวายแก่สงฆ์

๑๖.พิธีถวายสะพาน

            สะพาน คือ สิ่งปลูกสร้างสำหรับข้ามแม่น้ำลำคลอง จะสร้างถวายวัดหรือว่าสร้างไว้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ไม่แสดงความยินดียินร้ายต่อผู้มาใช้สะพานของตน ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย จึงนับว่าเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ถวาย

ระเบียบพิธี

            พิธีถวายทานต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้ง ๑๖ อย่างนั้น มีระเบียบปฏิบัติดังต่อไปนี้
               -เตรียมของถวายให้พร้อม
               -แจ้งความประสงค์ที่จะถวายให้คณะสงฆ์ทราบ
               -เมื่อถึงวันงานประธานในพิธีจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
               -อาราธนาศีลและรับศีล
               -ประนมมือกล่าวคำถวายทานนั้น ๆ
               -คณะสงฆ์ประนมมือรับคำว่า สาธุ
               -ถ้าเป็นของไม่ใหญ่มากพอจะประเคนได้ เจ้าภาพประเคนแก่ประธานสงฆ์ ถ้าเป็นสิ่งของที่ใหญ่มากไม่สามารถจะยกประเคนได้ เช่น กุฏิ ให้ถวายกุญแจกุฏิ หรือว่าหลั่งน้ำลงบนมือของประธานสงฆ์
               -คณะสงฆ์ให้พรด้วยบทว่า ยถา... สัพพี....
               -เจ้าภาพกรวดน้ำรับพรพระ เสร็จแล้วกราบพระ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีถวายทานพิเศษ

            นอกจากถวายท่านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเพณีการถวายสิ่งของอื่น ๆ นอกจากปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุและสามเณร เรียกว่า “ ทานพิเศษ” มีอยู่ ๕ อย่าง คือ
            ๑.ถวายปราสาทผึ้ง
            ๒.ถวายโรงอุโบสถ
            ๓.ถวายยานพาหนะ
            ๔.ถวายคัมภีร์พระไตรปิฎก
            ๕.ถวายคัมภีร์พระธรรม

             ระเบียบพิธีการถวายทานทั้ง ๕ อย่างนี้ เหมือนกับระเบียบพิธีการถวายทาน ๑๖ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ปัญหาและเฉลยทานพิธี

๑.ข้อใดไม่จัดเป็นสังฆทาน ?
            ก.ทานที่เลือกถวายเฉพาะพระผู้ใหญ่ 
            ข.ทานที่ถวายแก่ภิกษุโดยไม่เจาะจง
            ค.ทานที่ถวายแก่ภิกษุณีโดยไม่เจาะจง          
            ง.ทานที่ถวายพระทั่วไปโดยไม่เจาะจง

๒.การทอดผ้าป่ามีกำหนดภิกษุอย่างไร ?
            ก.ต้องกำหนดภิกษุและรูปที่ต้องการ
            ข.ต้องจำกัดภิกษุจำนวน ๔ รูปขึ้นไป
            ค.ไม่จำกัดจำนวนภิกษุ แต่จำกัดชื่อ  
            ง.ไม่เจาะจงภิกษุและอุทิศสงฆ์

๓.ที่เรียกว่าผ้าป่านั้น ตรงกับข้อใด ?
            ก.ผ้าบังสุกุล                              ข.ผ้าอุตตราสงค์
            ค.ผ้าอติเรกจีวร                            ง.ผ้าอันตรวาสก

๔.ผ้าวัสสิกสาฎกคือผ้าเช่นไร ?
            ก.ผ้าสบง                                   ข.ผ้าอาบน้ำฝน
            ค.ผ้าจำนำพรรษา                          ง.ผ้าสังฆาฏิ

๕.การถวายผ้าอาบน้ำฝน ควรจะถวายในโอกาสไหน ?
            ก.วันขึ้นปีใหม่                                ข.วันสงกรานต์
            ค.วันที่มีการถวายสังฆทาน                 ง.วันอาสาฬหบูชา

๖.ในครั้งพุทธกาล แบ่งสังฆทานไว้กี่ประเภท ?
            ก.๔ ประเภท                             ข. ๕ ประเภท
            ค. ๖ ประเภท                            ง. ๗ ประเภท

๗.ข้อใดไม่ใช่ความหมายของผ้าป่า ?
            ก.ผ้าบังสุกุล                             ข.ผ้าเปื้อนฝุ่น
            ค.ผ้าไม่มีเจ้าของ                        ง.ผ้าที่มีเจ้าของ

๘.การลอยกระทงตามประทีป กระทำเพื่อวัตถุประสงค์ใด ?
            ก.เพื่อบูชารอยพระบาทพระพุทธเจ้า             ข.เพื่อแสดงความเป็นพุทธมามกะ
            ค.เพื่อลอยบาป                                     ง.เพื่อขอขมาพระแม่คงคา      

๙.การถวายทานที่มิได้เจาะจงผู้รับ หมายถึงข้อใด ?
            ก.สังฆทาน                                    ข.ปาฏิบุคลิกทาน
            ค.อภัยทาน                                    ง.เภสัชทาน

๑๐.คำถวายสังฆทานว่า “สงฺฆสฺส นิยฺยาเทม” ใช้ถวายของเช่นไร ?
            ก.ของเล็ก ๆ น้อย ๆ                             ข.ของที่มีชีวิต
            ค.ของที่ยกถวายได้                              ง.ของที่ยกถวายไม่ได้

๑๑.คำถวายสังฆทานว่า “สงฺฆสฺส โอโณชยาม” ใช้ถวายของเช่นไร ?
            ก.ของที่ยกถวายได้                              ข.ของที่ยกถวายไม่ได้
            ค.ของที่มีราคาสูง                                ง.ของที่พระจับต้องไม่ได้

๑๒.ในการถวายสังฆทาน ข้อใดกล่าวถูกต้องที่สุด ?
            ก.ถวายแก่ภิกษุผู้มีพรรษามาก             ข.ถวายแก่ภิกษุสามเณรที่รู้จัก
            ค.ถวายแก่เจ้าอาวาสในวัดนั้น             ง.ถวายแก่สงฆ์โดยไม่เจาะจง

๑๓.การทอดกฐิน สิ้นสุดในวันใด ?
            ก.วันลอยกระทง                                 ข.วันสงกรานต์
            ค.วันเข้าพรรษา                                   ง.วันออกพรรษา

๑๔.ระยะเวลาทอดกฐิน กำหนดไว้อย่างไร ?
            ก.ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒        
            ข.ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
            ค.แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒        
            ง.แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

เฉลย    ๑.ก     ๒.ง     ๓.ก     ๔.ข     ๕.ง     ๖.ง      ๗.ง     ๘.ก    ๙.ก     ๑๐.ง    ๑๑.ก     ๑๒.ง      ๑๓.ก      ๑๔.ง

Leave a comment

You are commenting as guest.


48521900
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
63812
49821
257318
48046170
735656
1272582
48521900

Your IP: 171.97.243.153
2024-12-21 20:44
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search