19.บทที่ ๓ ไวยากรณ์และสัมพันธ์ (เรื่องปัจจัย, เรื่องสัมพันธ์)

 

เรื่องปัจจัย

         ปัจจัยในอาขยาตเป็นเครื่องบ่งบอกวาจกได้ ส่วนปัจจัยในกิตก์ เป็นเครื่องบ่งบอกกาลได้ เพราะฉะนั้น การใช้ปัจจัยจึงต้องพิถีพิกัน พอสมควร โดยเฉพาะปัจจัยในอาขยาตซึ่งใช้ประกอบกับวาจก หาก นักศึกษาแต่งภาษามคธไม่เข้าใจใช้ปัจจัย หรือใช้สับกัน โดยนำปัจจัย ในกัตตุวาจกไปใช้ในกัมมวาจก เป็นต้น ก็จะทำให้ผิดวาจก ผิดความ และผิดประโยคในที่สุด

         ดังนั้น นักศึกษาพึงทบทวนปัจจัยประจำในแต่ละวาจกให้ แม่นยำขึ้นใจ และใช้ประกอบให้ถูกต้อง คล่องแคล่ว ก็จะเป็นอุปการะมาก

         ส่วนปัจจัยในกิตก์ซึ่งบ่งบอกกาลได้นั้น แม้บางอย่างจะไม่ถึงกับทำให้ผิดรุนแรง แต่ก็อาจถูกปรับเป็นผิดเหมือนกัน ทำให้เสียคะแนนโดยไม่จำเป็นอีก วิธีใช้นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องกาล

         ในเรื่องปัจจัยนี้ พอมีข้อสังเกตและข้อกำหนดหมายไว้ พอสรุปได้ดังนี้

         (๑) ก่อนจะใช้ปัจจัยอะไร ประกอบเป็นศัพท์กิริยาในตอนนั้นๆ พึงอ่านความไทยและสังเกตให้ดีว่า ความไทยตอนนั้น บ่งกาลไว้บ้าง หรือไม่ เช่น คำว่า “อยู่, กำลัง, แล้ว, ได้แล้ว” เป็นต้น เมื่อเห็น ความไทยเช่นนั้น ก็พอจะมองออกได้ว่าควรแต่งในรูปไหน เช่น คำว่า อยู่ กำลัง เมื่อ ก็ใช้ อนฺต มาน ปัจจัย หรือถ้าเป็นกิริยาคุมพากย์ ก็ใช้วิภัตติหมวดวัตตมานา เป็นต้น แล้วแต่กรณี

         (๒) สังเกตความตอนนั้นว่า จะแต่งเป็นรูปวาจกอะไรก่อน แล้ว จึงค่อยใช้ปัจจัยประจำวาจกนั้นๆ

         (๓) ถ้าความไทยไม่มีคำเหล่านั้นอยู่ ให้สังเกตความตอนนั้นว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ใช้ปัจจัยที่ เป็นอดีต ถ้ากำลังเกิดขึ้น ก็ใช้ปัจจัยที่บ่งปัจจุบัน

         (๔) สังเกตความตอนนั้นว่า จะแต่งเป็นรูปวาจกอะไรก่อน แล้ว จึงใช้ปัจจัยประจำวาจกนั้นๆ

         (๕) อนฺต ปัจจัย ใช้ได้ ๓ วาจก เท่านั้น คือ กัตตุวาจก ภาววาจก และเหตุกัตตุวาจก มาน ต ปัจจัย ใช้ใน ๕ วาจก มักจะมีเผลอกันบ่อยๆ ที่ใช้ อนฺต ปัจจัย ประกอบเป็นรูปกัมมวาจก โดยลง ย ปัจจัย และ อิ อาคม หน้า ย ด้วย เช่น อุปฏฐิยนฺโต          

ประโยคว่า : สตฺถา      ปน    เตน หตฺถินา อุปฏฺฐิยมาโน สุขํ วสิ ฯ (๑/๔๓)
แต่งเสียว่า : สตฺถา     ปน เตน หตฺถินา อุปฏฺฐิยนฺโต สุขํ วสิฯ (ผิด)
ประโยคว่า : อตฺตโน ภาคิเนยฺยสฺส ทีฆนขปริพฺพาชกสฺส เวทนาปริคฺคหสุตฺตนฺเต เทสิยมาเน (๑/๘๗)
แต่งเสียว่า   : อตฺตโน ภาคิเนยฺยสฺส ฯเปฯ สุตฺตนฺเต เทสิยนฺเต (ผิด)

         (๖) อนฺต ปัจจัย เมื่อเป็นอิตถีลิงค์ ท่านให้ลง อี เป็น อนฺตี แต่ผู้ศึกษาไม่ได้ลง อี เช่น

: สา อตฺตโน กมฺมนฺตํ กโรนฺตา  เถรํ อทฺทส ฯ (ที่ถูกต้องเป็น กโรนฺตี)

         (๗) ต้องจำรูปศัพท์ให้แม่นยำว่า ถ้าเป็นกิริยาของวาจกอะไร ลงปัจจัยไหน จะได้รูปอย่างไร เช่น กรฺ ธาตุ เมื่อลงกับปัจจัยต่างๆ แล้ว จะมีรูปเป็นต่างๆ กัน เช่น ตัวอย่าง

กรฺ + อนฺต - กโรนฺโต กุพฺพนฺโต กุพฺพํ กรํ  (กัตตุ.)
กรฺ + มาน - กรมาโน กุรุมาโน    (กัตตุ.)
กรฺ + มาน - กริยมาโน (กัมม.)
กรฺ + ตพฺพ - กาตพฺพํ กตฺตพฺพํ     (กัมม.)
กรฺ + ต - กโต (กัมม.)
  - การิโต การาปิโต  (เหตุกัมม.)         
ฯลฯ

         (๘)ปัจจัยที่ประกอบด้วยธาตุแล้วแปลงรูปไปต่างๆ และเป็นวาจกนั้น เป็นวาจกนี้ ต้องใช้ให้เป็นและจำให้ได้แม่นยำ เช่น                                            

ฉนฺโน ชิณฺโณ ตุฏฺโฐ  อาทาย นิสฺสาย นิกฺขมฺม อุปฺปชฺช ปคฺคยฺห เป็นต้น

 

         รวมความว่า ปัจจัยในแต่ละวาจกรวมทั้งอาคมที่ลงกับปัจจัยนั้นๆ ต้องจำให้ได้แม่นยำจริงๆ ทั้งต้องประกอบขึ้นเป็นศัพท์ให้ถูกต้อง คล่องแคล่ว ขอให้จำไว้ว่า ใช้ปัจจัยผิดก็ทำให้ผิดวาจก เมื่อวาจกผิด ก็ทำให้ผิดประโยค

 

เรื่องสัมพันธ์

         ปรากฏว่าในการเรียงศัพท์เข้าประโยคนั้น นักศึกษาไม่ค่อยคำนึง ถึงหลักสัมพันธ์นัก อาจถือว่าไม่สำคัญอะไร จึงทำให้ทำผิดสัมพันธ์และ เสียคะแนนโดยไม่รู้ตัว และเสียมากเสียด้วย การเก็บคะแนนของสนาม- หลวงนั้น ถ้าผิดศัพท์ ท่านเก็บเพียงคะแนนเดียว แต่ถ้าผิดสัมพันธ์ ท่านเก็บถึง ๒ คะแนน เท่ากับผิดศัพท์ถึง ๒ ศัพท์ ซึ่งความจริงไม่น่า จะให้ผิดสัมพันธ์เลย แต่เพราะความไม่คำนึงถึงสัมพันธ์นั่นเอง

         ผิดอย่างไรถือว่าผิดศัพท์ ผิดอย่างไรถือว่าผิดสัมพันธ์ และผิดอย่างไรถือว่าผิดประโยค

         เขียนหนังสิอผิด เช่น ตฺวํ เขียนเป็น ตวํ คนฺตฺวา เขียนเป็น คนฺตวา หรือ คนฺวา เป็นต้นก็ดี ใช้ศัพท์ผิดความหมาย เช่น ความไทยว่า กินนั้า แต่งว่า อุทกํ ภุญฺชิตฺวา,  เตียงอยู่ในห้อง แต่งว่า มญฺโจ คพฺเภ วสติ ก็ดี ใช้วจนะผิดก็ดี ใช้ลิงค์ผิดก็ดี อย่างนี้เรียกว่า ผิดศัพท์

         ใช้วิภัตติผิดหมวดกัน เช่น ความไทยว่า นกอยู่บนต้นไม้ แต่งว่า สกุโณ รุกฺขสฺส โหติ ฯ ฉันจะไปวัด แต่งว่า อหํ วิหาเร คมิสฺสามิ เป็นต้นก็ดี

          เรียงศัพท์ผิดที่ คือ แทนที่จะเรียงไว้หน้าบทที่ตนขยาย กลับไป เรียงไว้หลังหรือเรียงไว้หน้าบทอื่น ซึ่งส่อให้เห็นว่าอาจมีความหมายเข้า กับบทนั้นก็ได้ เช่น

: พระเถระนั้น พาภิกษุทั้งหลายไปที่นั้น แล้วคิดว่า..................

: โส เถโร ภิกฺขู อาทาย ตตฺถ คนฺตฺวา จินฺเตสิ ฯเปฯ (ถูก)

โส เถโร ตตฺถ ภิกฺขู อาทาย คนฺตฺวา จินฺเตสิ ฯเปฯ (ผิด)

          ดังนี้ก็ดี ใช้ประธานกับกิริยาต่างบุรุษกัน เช่น อหํ อารามํ คมิสฺสติ เป็นต้นก็ดี ทั้งหมดนี้ เรียกว่า ผิดสัมพันธ์

          ใช้วาจกผิดก็ดี สับประโยคเลขนอก เลขในกัน คือ นำความใน เลขในมาแต่งเป็นเลขนอก นำความในเลขนอกไปใส่ปนกันกับเลขในก็ดี ผิดศัพท์หรือผิดสัมพันธ์มากแห่งในประโยคเดียวกัน จนไม่เป็นรูปประโยค จนจับใจความไม่ได้ก็ดี ดังนี้ เรียกว่า ผิดประโยค

           เพราะฉะนั้น ในเรื่องสัมพันธ์ จึงมีข้อที่ควรคำนึง ดังนี้

          (๑) วางศัพท์ทุกศัพท์ในประโยคให้ถูกตำแหน่งตามหลักการเรียง อย่างเคร่งครัด เมื่อวางทุกศัพท์เข้าประโยคแล้ว ทดลองแปลและสัมพันธ์ ตามรูปที่วางไว้นั้นดู อย่าสัมพันธ์ข้ามโดดไปโดดมา

          (๒) ทุกๆ ประโยคต้องมีศัพท์ที่เป็นประธาน หรือเป็นกิริยาอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างวางไว้ให้ปรากฏ เพื่อความสะดวกในการ แปล จะไม่วางไว้เลยไม่ได้ ถือว่าผิด เพราะผู้แปลไม่อาจหาตัวประธานได้ หรือกิริยาที่บ่งตัวประธานไม่ได้ เช่น อาคโต ปพฺพชิโต ดังนี้ ต้องวางประธานไว้ให้เห็น

          นอกจากประโยคซํ้ากันกับข้างต้น จะไม่วางในประโยคหลังได้ หากความส่อไปถึงว่า ประธานเป็นศัพท์เดียวกัน หรือกรณีนี้จะวางกิริยา อาขยาตที่บ่งตัวประธานกำกับไว้อีกทีหนึ่ง เช่น อาคโตสิ ดังนี้ก็ได้ ดู ตัวอย่าง

: ตฺวํ เม มาตริ มตาย มาตา วิย, ปิตริ มเต ปิตา วิย ลทฺโธ ฯ(๑/๖)

          ตัวอย่างนี้ ประโยคแรกวางตัวประธาน คือ ตฺวํ ไว้ให้ปรากฏ ส่วนกิริยาไม่มี ก็พอบ่งกิริยาได้ ประโยคหลังไม่มีตัวประธาน เพราะความประโยคหน้าส่อตัวประธานให้เห็น เพราะความเป็นอย่างเดียวกัน และวาง ลทฺโธ ไว้คุมท้าย แม้ ลทฺโธ จะบ่งประธานไม่ได้ แต่ความ ประโยคหน้าก็บ่งถึง รวมความแล้วทั้ง ๒ ประโยคนี้ได้รูปครบสมบูรณ์ แต่ถ้าจะเรียงใหม่ว่า

: มาตริ เม มตาย มาตา วิย, ปิตริ มเต ปิตา วิย ลทฺโธ ฯ

          อย่างนี้ถือว่าผิด เพราะขาดประธาน ไม่มีตัวประธานให้เห็น

: มาตริ เม มตาย มาตา วิย ลทฺโธสิ, ปิตริ มเต ปิตา วิย ฯ หรือ

: มาตริ เม มตาย มาตา วิย, ปิตริ มเต ปิตา วิย ลทฺโธสิ ฯ

          อย่างนี้ถูก เพราะมีกิริยาบ่งประธานไว้กำกับ แต่ในประโยค ตัวอย่างสุดท้ายวางกิริยาไว้ไกลหน่อย ไม่นิยมนัก

  ขอให้ดูประโยคต่อไปนี้ เพื่อเปรียบเทียบกัน

: ภนฺเต อหํ ปุพฺเพ สามเณโร,  อิทานิ ปนมฺหิ คิหี ชาโต, ปพฺพชนฺโตปิจาหํ น สทฺธาย ปพฺพชิโต,  มคฺคปริปนฺถภเยน ปพฺพชิโต ฯ (๑/๑๕)

: มยํ หิ ธรมานสฺส พุทฺธสฺส  สนฺติกา กมฺมฏฐานํ  คเหตฺวา อาคตา ฯ (๑/๘)

: อิมินา การเณนาหํ อิมินา อภิสปิโต ฯ (๑/๓๙)

  จะเรียงเสียใหม่ว่า

: ภนฺเต ปุพฺเพ สามเณโร อโหสึ, อิทานิ ปน คิหี ชาโตมฺหิ ฯเปฯ

: ธรมานสฺส หิ พุทฺธสฺส สนฺติกา กมฺมฏฐานํ คเหตฺวา อาคตมฺห

: อิมินา การเณน อิมินา อภิสปิโตมฺหิ

          อย่างนี้ก็พอใช้ได้ เพราะแต่ละประโยคมีกิริยาบ่งตัวประธานอยู่ ถือว่าเป็นประโยคที่สมบูรณ์เหมือนกัน

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search