มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เขียนภาษามคธผิดหลักไวยากรณ์ ทั้งๆ ที่ใช้ศัพท์ถูกต้องแล้ว แต่ว่าเขียนผิด จะด้วยความพลั้งเผลอหรืออะไร ก็ตาม ก็อาจทำให้เสียคะแนนได้ ยิ่งเป็นชั้นประโยคสูงๆ ด้วยแล้ว ยิ่งจะถูกเพ่งเล็งจากกรรมการมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าอยู่ในภูมิชั้นสูงแล้ว ไม่ควรเขียนภาษามคธผิดเลย
เท่าที่พบมา พอจะประมวลการเขียนที่ชอบผิดกันโดยมากได้ ดังนี้
(๑) เขียนเครื่องหมาย . (จุด) ตก เช่น
ตฺวํ | เขียนเป็น | ตวํ |
พฺรหฺม | เขียนเป็น | พฺรหม |
นิโคฺรธ | เขียนเป็น | นิโครฺธ |
อินฺทฺริยํ | เขียนเป็น | อินฺทริยํ |
คนฺตฺวา | เขียนเป็น | คนฺตวา, คนฺวา |
สฺวากฺขาโต | เขียนเป็น | สวากฺขาโต |
เทฺว | เขียนเป็น | เทว |
ทฺวารํ | เขียนเป็น | ทวารํ ฯลฯ |
(๒) ใช้พยัญชนะผิด คือ ใช้พยัญชนะที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่ต่างวรรคกันผิด หรือใช้อักษรที่ไม่มีในมคธภาษา เช่น ศ ษ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเผลอตามภาษาไทย เช่น
ความไทยว่า | ภาษาบาลี | มักใช้เป็น |
พระอนุรุทธ | อนุรุทฺโธ | อนุรุทฺโธ |
ศรัทธา | สทฺธา | ศทฺธา หรือ สทฺทา |
นางยักษิณี | ยกฺขินี | ยกฺขิณี |
นางภิกษุณี | ภิกฺขุนี | ภิกฺขุณี |
ศาลา | สาลา | ศาลา |
ภาษา | ภาสา | ภาษา |
โฆษณา | อุคฺโฆเสนุโต | อุคฺโคเสนฺโต |
ฯลฯ |
(๓) ใช้สระผิด คือ เขียนสระตกบ้าง สับสระกันบ้าง เช่น
ความไทยว่า | ภาษาบาลี | มักใช้เป็น |
ความเพียร | วีริยํ | วิริยํ |
ความปีติ | ปิติ | ปีติ |
ถนน | วีถิ | วิถี |
หมู | สูกร | สุกร |
ปาฏิโมกข์ | ปาฏิโมกฺขํ | ปฏิโมกฺขํ |
หงอน, ยอด | จูฬ | จุฬ |
(๔)ใช้สังโยคผิด คือ ใช้พยัญชนะสังโยคไม่ถูกตามหลักไวยากรณ์ โดยสับอักษรกันบ้าง ใช้อักษรต่างวรรคกันมาสังโยคกันบ้าง เช่น
ความไทยว่า | เป็น | มักใช้เป็น |
ปุปฺผํ | เป็น | ปุพฺผํ |
อุกฺกณฺฐิโต | เป็น | อุกฺกนฺฐิโต |
คิชฺฌกูฏํ | เป็น | คิฌฺชกูฏํ |
อคฺฆติ | เป็น | อคฺคติ |
ปุพฺพาราโม | เป็น | ปุปฺผาราโม |
อายุวฑฺฒโก | เป็น | อายุวฒฺฑโก |
อารพฺภ | เป็น | อารภฺพ |
ฯลฯ |
(๕) สังโยคนิคคหิตที่อยู่ในศัพท์ผิด เช่น
หํโส | เป็น | หงฺโส |
สํโยโค | เป็น | สงฺโยโค |
อวํสิโร | เป็น | อวงฺสิโร |
อานิสํโส | เป็น | อานิสงฺโส |
กุลวํโส | เป็น | กุลวงฺโส |
สํวุโต | เป็น | สงฺวุโต |
ลํเวโค | เป็น | สงฺเวโค |
ฯลฯ |
(๖) ซ้อนสังโยคในที่ที่ไม่นิยมซ้อน แต่ไม่ซ้อนในที่ที่นิยมซ้อน
สุคติ | เป็น | สุคฺคติ |
สุกรํ | เป็น | สุกฺกรํ |
อุคฺคจฺฉติ | เป็น | อุคจฺฉติ |
สุจริตํ | เป็น | สุจฺจริตํ |
นิคจฺฉติ | เป็น | นิคฺคจฺฉติ |
ทุกฺกรํ | เป็น | ทุกรํ |
อานนฺทตฺเถโร | เป็น | อานนฺทเถโร |
ทุจฺจริตํ | เป็น | ทุจริตํ |
ฯลฯ |
เรื่องซ้อนและไม่ซ้อนนี้ ดูออกจะลำบากอยู่เหมือนกัน จึงต้องคอยสังเกตที่ท่านใช้ในปกรณ์ทั้งหลาย แล้วจดจำไว้ว่าศัพท์ไหนท่านซ้อน โดยมากศัพท์ไหนท่านไม่นิยม ก็ให้จำไว้เพื่อมาแต่งใช้เอง ซึ่งพอมีหลักสังเกตได้ดังนี้
ก. เกี่ยวกับชื่อพระเถระทั้งหมด เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์ว่า เถร นิยมซ้อน ตฺ เช่น อานนฺทตฺเถโร อุปาลิตฺเถโร กสฺสปตฺเถโร ฯลฯ
ข. อุปสัค คือ สุ นำหน้า และ นิ (เข้า, ลง ) ไม่นิยมซ้อน เช่น สุคติ สุกรํ สุคโต นิคจฺฉติ นิขนติ นิมุคฺโค ฯลฯ
ค. อุปสัค คือ ทุ และ นิ (ไม่มี, ออก) นิยมซ้อน เช่น ทุคฺคนฺโธ ทุกฺกฏํนิปฺผโล นิจฺฉาโต นิทฺทุกฺโข ถ้านำหน้าสระ ให้ลง ร อาคม เช่น ทุราคโม ทุรกฺขาโต นิรุปทฺทโว นิรามโย ฯลฯ
แต่ถ้านำหน้าพยัญชนะอวรรค นิยมทีฆะ คือ ทุ เป็น ทู นิ เป็น นี เช่น ทูหรํ นีรโส นีวรณํ ฯลฯ
(๗) ใช้ศัพท์สมาสผิด คือ ศัพท์มโนคณะ เมื่อเข้าสมาสแล้วนิยมลงโอ แต่ไม่ลง เช่น
ความปรารถนาแห่งใจ | - เจโตปณิธิ | ใช้เป็น | เจตปณิธิ |
ผู้บรรเทาความมืด | - ตโมนุโท | ใช้เป็น | ตมนุโท |
ก้อนเหล็ก | - อโยคุฬํ | ใช้เป็น | อยคุฬํ |
อนึ่ง ศัพท์ที่เป็น อี อู การันต์ ใน ปุํ. เมื่อเข้าสมาสแล้วนิยมรัสสะ อี เป็น อิ, อู เป็น อุ แต่ไม่รัสสะ เช่น
เสฏฺฐิภูโต | ใช้เป็น | เสฏฺฐีภูโต |
หตฺถิทนฺโต | ใช้เป็น | หตฺถีทนฺโต |
วิญฺญุภาวํ | ใช้เป็น | วิญฺญูภาวํ |
ส่วนศัพท์ที่เป็น อา อี อู การันต์ใน อิต. เมื่อเข้าสมาสแล้ว ไม่นิยมรัสสะ เว้นแต่ศัพท์ว่า ปริสมชฺเฌ เมตฺตจิตฺตํ
(๘) แยกศัพท์ผิด หรือที่เรียกว่า “ฉีกศัพท์” คือแยกศัพท์ที่ เป็นศัพท์เดียวกันออกเป็น ๒ ตอนโดยวิธีเขียนส่วนหนึ่งไว้บรรทัดบน สุด บรรทัดพอดี เลยเขียนส่วนต่อมาไว้ที่บรรทัดล่าง เช่น ศัพท์ว่า สาวตฺถิยํ เขียน สาวตฺ-ไว้บรรทัดบน แล้วเขียน ถิยํ ไว้บรรทัดล่าง หรือเขียน สาวตฺถิ- ไว้ข้างบน ต่อด้าย ยํ ข้างล่าง ดังนี้ชื่อว่า แยกศัพท์ผิด
พึงดูตัวอย่างการแยกศัพท์ผิดต่อไปนี้
โส เอกทิวสํ นหา-
นติตฺถํ คนฺตฺวา อาคจฺ-
ฉนฺโต อนฺตรามคฺเค สมฺ-
ปนฺนสาขํ ฯเปฯ
อย่างนี้ถือว่าแยกศัพท์ผิดในทุกบรรทัด
วิธีแยกศัพท์ที่ถูกต้อง คือ แยกได้เฉพาะศัพท์สมาสเท่านั้น และ แยกตรงรอยต่อระหว่างศัพท์ต่อศัพท์ คือเมื่อแยกออกแล้วสามารถรู้ความหมาย และแปลได้ทั้งศัพท์ล่าง ศัพท์บน ขอให้ดูตัวอย่าง
อถโข มหาโมคฺคลฺลานตฺ-
เถโร สายณฺหสมเย ราชคห-
นครํ อคมาสิ ฯ
เสฏฺฐี อตฺตนา ปาลิตํ วนปฺ-
ปตึ นิสฺสาย ฯเปฯ
ข้อนี้ ก็ใช้ได้ในภาษาไทยด้วย คือ อย่าแยกศัพท์จนเสียความหมาย เช่น
เขากระวีกระวาดจะไปดูมห-
รสพกับมารดาของเขา เกิดความประ-
ทับใจ จึงต้องไปชี้แจงและเฝ้าอธิ-
บายให้มารดาฟัง
อย่างนี้ถือว่าแยกศัพท์ผิด ทำให้เสียอรรถรสภาษาอย่างมาก
เพราะฉะนั้น ขอให้นักศึกษาทั้งหลายพิถีพิถันในเรื่องการเขียน ภาษามคธให้มาก พยายามเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ทุกศัพท์ทุกคำ อย่าให้ผิดไปเป็นดี เพราะการเขียนให้ถูกนี้เป็นการแสดงภูมิเบื้องต้นว่า ผู้นั้นสมควรจะได้เลื่อนขั้นหรือไม่
เพราะผู้เป็นเปรียญจัดว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญาเรื่องภาษามคธสูง เป็นที่นับถือยกย่อง และเป็นครูของคนทั่วไป หากเขียนมคธผิดแล้ว ย่อมแสดงว่ายังไม่เหมาะที่จะเป็นครูเขา เมื่อไม่เหมาะก็อาจไม่ผ่านการ สอบในขั้นนั้นๆ ด้วย
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710