16.บทที่ ๓ ไวยากรณ์และสัมพันธ์ (เรื่อง วิภัตติ)

เรื่อง วิภัตติ

         การประกอบศัพท์ด้วยวิภัตติต้องให้ถูกตามหลักไวยากรณ์ และ ใช้ให้ถูกสำนวนนิยม หากประกอบผิดจะทำให้เสียความทันที และหากใช้ผิดสำนวนนิยม ก็จะทำให้เสียอรรถรสของภาษาไป เช่น

  • : ภิกษุถวายบาตรของตัวแก่สามเณร
    : ภิกฺขุ อตฺตโน ปตฺตํ สามเณรํ อทาสิ ฯ
    (ปตฺตํ สามเณรสฺส อทาสิ)
  • : ทีนั้น พระเถระห้ามเธอว่า เธออย่าทำอย่างนี้
    : อถ นํ เถโร “มา เอวรูป กโรสีติ นิวาเรสิ ฯ
    (มา เอวรูป กโรหีติ..)
  • : การสั่งสมบุญนำสุขมาให้
    : ปุญฺญํ อุจฺจโย สุโข ฯ
    (สุโข ปุฌฺฌสฺส อุจจโย)

         ดังนั้น พึงสังเกตดูหลักเกณฑ์ที่ท่านใช้ในที่ต่างๆ ว่าท่านใช้วิภัตติ อะไรในที่เช่นไร ทั้งวิภัตตินาม ทั้งวิภัตติอาขยาต ในที่นี้จักให้ข้อสังเกต เรื่องวิภัตติพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

 

 

วิภัตตินาม

         (๑) ในสำนวนข้อสอบแปลไทยเป็นมคธ มักจะไม่มีคำแปลออก สำเนียงอายตนิบาต ทำให้นักศึกษาตัดสินใจไม่ได้ว่าเป็นวิภัตติอะไรแน่ เช่น สำนวนว่า เขาทำงาน เขากินข้าว สามีให้เครื่องประดับภริยา สามเณรนั่งเตียงอยู่ เป็นต้น จึงต้องประกอบศัพท์ด้วยวิภัตติเอาเอง จะแต่งลอยๆแบบไม่มีหลักไม่ได้ เมื่อแต่งเป็นมคธแล้วต้องลองแปลดูว่า พอจะเข้าใจได้ไหม กิริยาเป็นธาตุเรียกหากรรมหรือไม่ เป็นต้น เช่น

สำนวนว่า : เขาทำงาน

= โส กมฺมนฺตสฺส กโรติ ฯ (ผิด)

= โส กมฺมนฺตํ กโรติ ฯ (ถูก)

สำนวนว่า : เขากินข้าว

= โส ภตฺตสฺส ภุญฺชติ ฯ (ผิด)

= โส ภตฺตํ ภุญฺชติฯ (ถูก)

สำนวนว่า : สามีให้เครื่องประดับภริยา

= สามีโก อาภรณํ ภริยํ เทติ ฯ (ผิด)

= สามีโก อาภรณํ ภริยาย เทติ ฯ (ถูก)

สำนวนว่า : สามเณรนั่งเตียงอยู่

= สามเณโร มญฺจํ นิสีทติ ฯ (ผิด)

= สามเณโร มญฺเจ นิสีทติ ฯ (ถูก)

         (๒) ในสำนวนไทย แม้จะแปลสำนวนผิดวิภัตติ คือแปลเป็น วิภัตติหนึ่ง แต่เวลาแต่งกลับแต่งเป็นอีกวิภัตติหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “แปล หัก” ก็ต้องคงรูปวิภัตติเดิมไว้ตามความนิยมของภาษา เช่น

: ภาชนะนี้เต็มด้วยนา
= อิทํ ภาชนํ อุทกสฺส ปูรติ ฯ (ถูก)
= อิทํ ภาชนํ อุทเกน ปูรติ ฯ (ผิด)

         แม้ในสำนวนไทยซึ่งมีได้แปลหัก แต่นิยมใช้ภับวิภัตติใดๆ ก็ให้คงรูปวิภัตตินั้นๆ ไว้ เช่น

: กลัวโจร ใช้ โจรสฺมา ภายติ มิใช่ โจรํ ภายติ
: ผมยกโทษให้ท่าน ใช้ ขมามิ เต มิใช่ ตํ ขมามิ
: ประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ใช้ อปฺปทุฏฺฐสฺส ทุสฺสติ มิใช่ อปฺปทุฏฺฐํ ทุสฺสติ

         สำนวนอื่นๆ พึงสังเกตและค้นคว้าด้วยตัวเองต่อไป

         (๓) ตัวประธานของกิริยากิตก์ที่เข้าสมาส ๑ นามนามหรือคุณนามที่เข้ากับศัพท์ภาวสาธนะ ๑ เข้ากับภาวศัพท์หรือภาวปัจจัย ๑ ต้องมีรูปเป็นฉัฏฐีวิภัตติตายตัว จะเป็นรูปวิภัตติอื่น เช่น ทุติยาวิภัตติ ไม่ได้ เช่น

: อชฺช มยฺหํ สรทตาปสสฺส สนฺติกํ  คตปจฺจเยน ธมฺมเทสนา จ มหตี ภวิสฺสติ ฯ (๑/๙๗)

: สตฺถุ สมาปตฺติ สมาปนฺนภาวํ ญตฺวา เทฺว อคฺคสาวกาปิ เสสภิกฺขูปิ สมาปตฺตึ สมาปชฺชึสุ ฯ (๑/๙๙)

: สพฺพปาปสฺส อกรณํ , กุสลสฺสูปสมฺปทา ฯ

: ราคาทีนํ ขโย นิพพานํ ฯ

 

วิภัตติอาขยาต

         ศัพท์ที่ประกอบด้วยวิภัตติอาขยาต ทำหน้าที่เป็นกิริยาคุมพากย์ ถ้าประกอบผิดวิภัตติแล้วจะทำให้ผิดความ และบางทีทำให้เสียถึงสัมพันธ์ เช่น ข้อความเป็นความบังคับ แต่ปรุงศัพท์เป็นวัตตมานาวิภัตติ หรือ เป็นความล่วงแล้ว ปรุงศัพท์เป็นภวิสสันติวิภัตติ เป็นต้น เช่นนี้ย่อมทำให้ผิดความ หรือใช้วิภัตติผิดบุรุษกันกับประธาน เช่น ประธานเป็น มัธยมบุรุษ แต่กิริยาเป็นประถมบุรุษ เช่นนี้ชื่อว่า ผิดสัมพันธ์ ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้

ผิดความ           : มนุษย์ผู้ฉลาดทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย กำลังหา เสนาสนะจำพรรษา

แต่งเป็น             : ปณฺฑิตมนุสฺสา “วสฺสาวาสํ เสนาสนํ ปริเยสึสุ ภทนฺตาติ ญตฺวา ฯเปฯ

: ขอท่านอย่าทำอย่างนี้ เพราะกรรมนี้หยาบช้า

แต่งเป็น             : มา เอวํ กโรสิ, ลามกํ หิ อิทํ กมฺมํ ฯ

ผิดสัมพันธ์       : ทุกสิ่งเป็นภาระของเจ้า เจ้าจงดูแลมันไว้

แต่งเป็น             : สพฺพนฺตํ ตว ภาโร, ปฏิปชฺชตุ นนฺติ

: ฉันจักบวชในสำนักพระศาสดา

แต่งเป็น             : อหํ สตฺถุ สนฺติเก ปพฺพชิสฺสตีติ

         จึงพอสรุปข้อสังเกตในเรื่องวิภัตติอาขยาตได้ ดังนี้

         (๑) ถ้าเป็นความบังคับ “จง” ความหวัง “เถิด, ขอ...เถิด” หรือ ความอ้อนวอน “ขอ...จง” ให้ใช้ปัญจมีวิภัตติ เช่น

: เอวํ วเทหิ ฯ

: สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ ฯ

: ปพฺพาเชถ มํ ภนฺเต อนุกมฺปํ อุปาทาย ฯ

         (๒) ถ้าเป็นความยอมตาม ความกำหนด หรือความรำพึง ซึ่ง แปลว่า “ควร,พึง” ให้ใช้สัตตมีวิภัตติ เช่น

: ปุญฺญญฺเจ ปริใส กยิรา ฯ

: ยนฺนูนาหํ ปพฺพเชยฺยํ ฯ

         (๓) อ อาคม กับ อิ อาคม ลงในหมวดวิภัตติไหนบ้าง ต้องจำ ให้ได้ อย่าประกอบผิดหมวดกัน

         (๔) วิภัตติที่เปลี่ยนแปลงรูปไปต่างๆ หรือที่มีกฎเกณฑ์แบบต่างๆ ต้องกำหนดให้ดี เช่น

: อนฺติ ที่แปลงเป็น เร มีที่ใช้น้อย เช่น วุจฺจเร นายเร

: อุํ ที่แปลงเป็น อึสุ นิยมใช้รูป อึสุ มากกว่า อุํ เช่น กรึสุ อาโรเจสุํ อเหสุํ ขาทึสุ วทึสุ จินฺตยึสุ ปติฏฺฐหึสุ เป็นต้น

: เอยฺย นิยมใช้รูป เต็มมากกว่าที่ลบ ยฺย เช่นใช้ คจฺเฉยฺย มากกว่า คจฺเฉ

: อา กาลาติปิตติ นิยมรัสสะเป็น อ แล้วลง อิ อาคม เช่น อภวิสฺส อสกฺขิสฺส อกริสฺส

: อี อัชชัตตนี นิยมรัสสะเป็น อิ แล้วลง ส อาคม เช่น อกาสิ อคมาสิ

: หิ ปัญจมี ลบทิ้งบ้างก็ได้ และนิยมทิ้งสองอย่าง เช่น กโรหิ คจฺฉ อาคจฺฉาหิ

: หิ มิ ม วิภัตติ ลงแล้วต้องทีฆะต้นธาตุ เป็น อา เช่น คจฺฉาหิ คจฺฉามิ คจฺฉาม

         (๕) ในประโยคเลขนอก หรือ ประโยคเดินเรื่อง นิยมใช้กิริยา อาขยาตคุมพากย์มากกว่ากิริยากิตก์ และส่วนมากจะใช้วิภัตดิหมวด อัชชัตตนี

         (๖) ในประโยคเลขใน ที่เป็นอดีตกาล นิยมใช้กิริยากิตก์ คุมพากย์ โดยเฉพาะในรูปกัมมวาจก

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search