ความรู้เบ็ดเตล็ดในการแต่งฉันท์

            นอกจากความรู้ทั่วไปดังที่กล่าว ซึ่งนักศึกษาวิชาแต่งฉันท์ภาษามคธพึงทำความเข้าใจ และใช้ให้ถูกต้องแล้ว นักศึกษาพึงทราบเกร็ดวิชาเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือความรู้เบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นอีกเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาในเวลาลงมือแต่งฉันท์ เป็นการให้ความสะดวก และสามารถแต่งได้เร็วขึ้น เพราะทราบข้อเบ็ดเตล็ดเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แล้ว ความรู้ที่ว่านี้พอนำมาชี้แจงได้ ดังต่อไปนี้

            (๑) ศัพท์ที่มีครุตั้งแต่ ๓ คำขึ้นไป เช่น มหาโมคฺคลฺลาโน  สมฺพุทฺโธ  สพฺพญฺญู  สารีปุตฺโต  อาคจฺฉนฺติ  ลาภสกฺกาโร  เป็นต้น  ย่อมลงได้เฉพาะในปัฐยาวัตรฉันท์เท่านั้น จะใช้ในฉันท์อื่น ย่อมลงคณะไม่ได้ เพราะฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตรฉันท์แล้ว มีครุติดกันได้ไม่เกิน ๒ คำทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อต้องการใช้ศัพท์เหล่านี้ พึงเลือกแต่งปัฐยาวัตรฉันท์เท่านั้น ไม่ควรแต่งฉันท์อื่นแล้วบีบศัพท์เหล่านี้เข้าคณะโดยวิธีรัสสะหรือโลปะ เช่น สารีปุตฺโต รัสสะเป็น สาริปุตฺโต   ลาภสกฺกาโร เป็น ลาภสกฺกโร เป็นต้น

            ในกรณีเช่นนี้ บางศัพท์อาจใช้วิธีอื่นช่วยเพื่อให้ลงคณะในฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตรฉันท์ วิธีนั้นคือสมาส โดยนำศัพท์เหล่านี้ไปเข้าสมาสกับศัพท์อื่นเสียแล้วรัสสะได้ เช่น  สพฺพญฺญู  สมาสกับ ภูโต  เป็น สพฺพญฺญุภูโต ลาภสกฺกาโร  เป็น ลาภสกฺการวตฺถุํ  เป็นต้น กรณีเช่นนี้ใช้ได้เป็นบางศัพท์เท่านั้น มิใช่ใช้ได้ทั่วไป อันนี้อยู่ที่ความเจนจัดของนักแต่งฉันท์เอง

            นอกจากวิธีสมาสแล้ว อาจใช้วิธีใช้ศัพท์อื่นแทน โดยเฉพาะตัวกิริยา ถ้าจำเป็นก็ใช้วิภัตติอื่นแทน เพื่อลดครุที่มีซ้อนกัน ๓ คำ ให้เหลือ ๒ คำ เช่น

อาคจฺฉนฺติ เป็น อาคจฺฉเร
ชาเนยฺยํ เป็น ชาเนมุ
กเถสฺสามิ เป็น กเถสฺสํ
  ฯลฯ  

อนึ่ง  อาจใช้วิธีลดพยัญชนะสังโยคลง ในกรณีที่ศัพท์นั้นมีพยัญชนะสังโยคอยู่ด้วย เช่น

อานนฺทตฺเถโร เป็น อานนฺทเถโร
สุขปฺปตฺตา เป็น สุขปตฺตา
  ฯลฯ  

 

            (๒) ศัพท์ที่มีลหุตั้งแต่ ๓ คำขึ้นไป เช่น  อนุจรติ  ติปิฏกปริยตฺติ  มุนิวจนํ   มธุรผลํ  เป็นต้น ไม่อาจใช้ในฉันท์ทั้ง ๖ ชนิด ซึ่งเป็นหลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๘ ได้เลย นอกจากบางศัพท์เมื่อนำไปสนธิกับศัพท์อื่นให้เหลือลหุเพียง ๓ คำเท่านั้นจึงใช้ได้ และใช้เพียงในฉันท์ ๒ อย่างคือ ปัฐยาวัตร กับ วสันตดิลก เท่านั้น เช่น

อนุจรติ เป็น สทานุจรตีธ
อภยคิรีวิหาโร เป็น เอตฺถาภยคิรี..
มหิปติ เป็น มหิปตีธ
  ฯลฯ  

            กรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากสำหรับนักศึกษาที่จะพลิกแพลง แต่หากรู้หลัก และฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ย่อมทำได้คล่องแคล่ว และรู้ลู่ทางดีขึ้นโดยลำดับ

 

            (๓) ศัพท์ที่มีลหุ ๓ คำซ้อน เช่น  ธมฺมจริยา  สุจริตํ  รชฺชสิริยา เป็นต้น ใช้ได้ใน ๒ ฉันท์เท่านั้น คือ ปัฐยาวัตร และวสันตดิลก  หากต้องการนำไปใช้ในฉันท์อื่นนอกจากฉันท์ ๒ ชนิดนี้จำต้องทำให้เป็นศัพท์เหลือ ลหุ เพียง ๒ คำ ตามวิธีในข้อ (๒) จึงนำไปใช้ได้ แต่ก็มิได้ทุกศัพท์ที่ต้องการเสมอไป

            โดยสรุปแล้ว ศัพท์ที่มีครุแล้ว ๓ คำ (ม คณะ) และลหุล้วน ๓ คำ (น คณะ) ย่อมหาที่ลงยาก นอกจากปัฐยาวัตรแล้ว ฉันท์อื่นเป็นใส่ลำบาก  วิธีที่ดีที่สุดคือ พึงหลีกเลี่ยงเสีย โดยหาศัพท์อื่นแทน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหาวิธีพลิกแพลงเอาเองโดยวิธีที่ถูกต้อง และเหมาะสม แต่มิใช่โดยการรัสสะ หรือโลปะ ทำให้ศัพท์เขากร่อนหดหายไป

 

            (๔) ปทปูรณะศัพท์ทั้งหลาย  ไม่พึงใส่ให้มากจนแพรวพราวไปทุกบท  หิ  จ  ปน  โข  ศัพท์เหล่านี้ไม่นิยมวางไว้กลางประโยค หรือท้ายประโยค เช่น

® มาตา  จสฺส  มหามายา สุภา  เทวี  อโหสิ  โข ฯเปฯ
® อุฏฺฐาย  ตมฺหา  อชปาลมูลา
  พาราณสึ  โข  ปฏิปชฺชมาโน
              ฯเปฯ
® ยโสติ  เสฏฺฐิปุตฺโต  โย ตทา  โลเก  หิ  ปากโฏ  ฯเปฯ

    

            (๕) นิบาต  เช่น  เจ  กิร  สุทํ  นุ  ปิ  ตุ  เป็นต้น ซึ่งเป็นนิบาตที่เรียงไว้เป็นที่ ๑ ในประโยคไม่ได้  ต้องมีบทอื่นนำหน้าเสมอ  และ  เต  เม  โว  โน  สัพพนามซึ่งวางไว้ต้นประโยคไม่ได้  แม้ว่าจะยังไม่จบประโยคก็ตามที หรือหากประโยคจบลงที่กลางบาทแล้วขึ้นประโยคใหม่ต่อไป โดยใช้  หิ  จ  ปน  วางไว้ก่อน  กรณีนี้แม้ว่าจะอยู่กลางบาทก็ถือว่าเป็นต้นประโยค เพราะขึ้นประโยคใหม่แล้ว ข้อนี้นักศึกษาพึงระวัง

 

            (๖) แต่งฉันท์ต้องแต่งตามคำสั่งสนามหลวง คือ  แต่งให้ได้ ๓ ชนิดในฉันท์ ๓ ชนิด จะแต่งฉันท์ชนิดใดก็ได้ จะแต่งชนิดใดก่อนหลังกันก็ได้  แต่งฉันท์ซ้ำชนิดกันก็ได้ ในกรณีแต่งซ้ำชนิดกันเช่น แต่งปัฐยาวัตรซ้ำ ๒ ตอน  ก็นับเพียงชนิดเดียว คือ ปัฐยาวัตร และแต่งฉันท์ชนิดใด ต้องแต่งแจ้งชื่อฉันท์ที่แต่งกำกับไว้ด้วย การบอกชื่อชนิดฉันท์นี้ต้องบอกให้ถูกต้องด้วย หากบอกผิด เช่น แต่งอินทรวิเชียร แต่บอกเป็นอินทรวงศ์อย่างนี้เป็นผิดคำสั่ง อาจปรับให้ตกได้ ถ้าหากว่าฉันท์ที่แต่งมี ๓ ชนิด รวมทั้งที่บอกชื่อผิดนั้นด้วย จึงต้องตรวจทานให้ดี

 

            (๗) ฉันท์แต่ละชนิดที่แต่ง  จะต้องจบใจความ หรือจบประโยคโดยสมบูรณ์ก่อน จึงไปขึ้นฉันท์ชนิดใหม่ ไม่ใช่ประธานอยู่ในปัฐยาวัตร  แต่กิริยาอยู่ในอินทรวิเชียร ซึ่งอยู่ถัดไป ประโยคเหตุประโยคผล ประโยค ย, ต  ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรอยู่แยกกันในฉันท์ต่างชนิด จริงอยู่ แม้ข้อความอาจไม่ผิด แต่ก็ถือเป็นผิดความนิยม ฉันท์ชนิดนั้น ๆ จะสั้นหรือยาว จะมีกี่คาถาก็แล้วแต่ความที่แต่ง 

 

            (๘) ในฉันท์ไม่นิยมแต่งให้เป็นประโยคลิงคัตถะ  จะต้องมีกิริยากำกับไว้ให้เห็นด้วยเสมอ โดยเฉพาะข้อความที่เป็นคำสดุดี คำพรรณนาคุณของบุคคล หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งนิยมใช้ศัพท์เป็นวิกติกัตตา และมีกิริยาคุม เช่น ถ้าเป็นบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ หรือวัตถุที่ยังปรากฎอยู่นิยมใช้  โหติ  เป็นพื้น ถ้าเป็นบุคคล หรือวัตถุที่ไม่มีตัวตนอยู่แล้วเป็นเรื่องในอดีตไปแล้วก็ใช้  อโหสิ  หรือ  อหุ  ตามถนัด จะแต่งเป็นลิงคัตถะ ใช้ศัพท์เหล่านั้นเป็นวิเสสนะทั้งหมดดูไม่สวย  และขาดอรรถรสไป

 

            (๙) ในการแต่งสดุดี หรือพรรณนาคุณบุคคล  ควรเลือกใช้ศัพท์ให้เหมาะสมกันความเป็นจริงของบุคคลนั้น ๆ วางศัพท์ให้เป็นหมวดเป็นหมู่ ไม่เปะปะปนเปกันไปมา ที่นิยมก็คือ เลือกศัพท์ที่พรรณนาอัตตสมบัติ คือความดีส่วนตัว เช่น มีปัญญา มีสติ มีศรัทธามั่นคง เป็นนักปราชญ์ ฯลฯ ไว้เป็นกลุ่มในฉันท์ชนิดหนึ่ง เลือกศัพท์ที่พรรณนาปรหิตสมบัติ  คือความดีที่ทำให้แก่ผู้อื่น เช่น เป็นผู้มีเมตตา ช่วยเหลือบุคคลอื่น ชอบเสียสละ เป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นเป็นต้น ไว้เป็นหมู่อีกหมู่หนึ่งในฉันท์อีกชนิดหนึ่ง สามารถแยกแยะได้ดังนี้ ฉันท์นั้น ๆ ย่อมมีความสละสลวยเข้าใจง่าย ไม่ฟั่นเฝือ

 

            (๑๐) ศัพท์ทุกศัพท์ที่นำมาใช้ในฉันท์  ต้องคำนึงถึงสัมพันธ์ด้วยว่า ศัพท์นี้สัมพันธ์เข้ากับศัพท์ไหน เรียงสัมพันธ์อย่างไร ถูกหลักสัมพันธ์หรือไม่ ถูกหลักสำนวนภาษาหรือไม่  ในการคำนึงนั้นต้องคำนึงตามหลักไม่ใช่คำนึงตามความเข้าใจว่าคงเป็นอย่างนั้นได้คงเป็นอย่างนี้ได้

 

            (๑๑) แต่งเสร็จแล้ว ทดลองแปลดู  โดยวิธีแปลเป็นแบบพยัญชนะยกขึ้นแปลทีละศัพท์ แปลให้ถูกหลักวิธีแปล แล้วตรวจตราดูว่าได้ใจความพอเข้าใจได้หรือไม่ ในเวลาแปลอย่าใส่ศัพท์อื่นที่ไม่มีในฉันท์เข้ามา ให้แปลเฉพาะศัพท์ที่มีในฉันท์เท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้ทราบได้ว่าฉันท์นั้นมีรสมีชาติ หรือได้ใจความหรือไม่อย่างไร หากพบข้อบกพร่องให้รีบแก้ไข ตัดหรือเติมทันที ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย

 

            (๑๒) แต่งเสร็จแล้ว ตรวจทานให้เรียบร้อย  สิ่งที่ควรตรวจนั้น คือ

  • - บอกชื่อฉันท์ถูกหรือไม่
  • - แต่งเต็มคาถา  หรือเกินคาถาไปเป็น ๑ บาทหรือไม่  หากเกินไปเพียง​ ๑ บาท ต้องแต่งเพิ่มอีก ๑ บาท หรือตัดออก ๑ บาท หากเกินไป ๓ บาท ต้องเพิ่มหรือตัด ๑ บาทเช่นกัน
  • - ลง  อิดิ ศัพท์ เมื่อจบข้อความ ตามด้วยเครื่องหมาย ฯ หรือไม่
  • - ตรวจดูคณะฉันท์แต่ละชนิดว่าถูกต้องหรือไม่  แต่ละบาทมีจำนวนคำครบตามหลักหรือไม่ แต่ละคำเป็น ครุ ลหุ  ตามกฎหรือไม่ ตรวจแบบนี้ต้องตรวจทุกคำ ไม่มีการละเว้น และตรวจอย่างช้า ๆ ไม่ต้องรีบร้อน
  • - โดยเฉพาะปัฐยาวัตร  ตรวจอักษรที่ ๒ ที่ ๓ ของทุก ๆ บาทว่าเป็นลหุคู่กันหรือไม่ หากเป็น ต้องแก้ไขทันที
  • - ตรวจไวยากรณ์ในทุก ๆ ศัพท์ที่ใช้  เช่น  เขียนถูกหลักหรือไม่ สังโยคถูกหลักหรือไม่ รัสสะ ทีฆะ ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าเขียนผิด สังโยคผิด เป็นผิดไวยากรณ์ หากรัสสะผิด ทีฆะผิด นอกจากผิดไวยากรณ์แล้ว ยังอาจผิดคณะฉันท์ด้วย

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)





 


47375078
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
40094
54808
239841
46849926
861416
1172714
47375078

Your IP: 18.224.31.90
2024-11-21 17:17
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search