ความรู้เบ็ดเตล็ดในการแต่งฉันท์

            นอกจากความรู้ทั่วไปดังที่กล่าว ซึ่งนักศึกษาวิชาแต่งฉันท์ภาษามคธพึงทำความเข้าใจ และใช้ให้ถูกต้องแล้ว นักศึกษาพึงทราบเกร็ดวิชาเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือความรู้เบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นอีกเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาในเวลาลงมือแต่งฉันท์ เป็นการให้ความสะดวก และสามารถแต่งได้เร็วขึ้น เพราะทราบข้อเบ็ดเตล็ดเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แล้ว ความรู้ที่ว่านี้พอนำมาชี้แจงได้ ดังต่อไปนี้

            (๑) ศัพท์ที่มีครุตั้งแต่ ๓ คำขึ้นไป เช่น มหาโมคฺคลฺลาโน  สมฺพุทฺโธ  สพฺพญฺญู  สารีปุตฺโต  อาคจฺฉนฺติ  ลาภสกฺกาโร  เป็นต้น  ย่อมลงได้เฉพาะในปัฐยาวัตรฉันท์เท่านั้น จะใช้ในฉันท์อื่น ย่อมลงคณะไม่ได้ เพราะฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตรฉันท์แล้ว มีครุติดกันได้ไม่เกิน ๒ คำทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อต้องการใช้ศัพท์เหล่านี้ พึงเลือกแต่งปัฐยาวัตรฉันท์เท่านั้น ไม่ควรแต่งฉันท์อื่นแล้วบีบศัพท์เหล่านี้เข้าคณะโดยวิธีรัสสะหรือโลปะ เช่น สารีปุตฺโต รัสสะเป็น สาริปุตฺโต   ลาภสกฺกาโร เป็น ลาภสกฺกโร เป็นต้น

            ในกรณีเช่นนี้ บางศัพท์อาจใช้วิธีอื่นช่วยเพื่อให้ลงคณะในฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตรฉันท์ วิธีนั้นคือสมาส โดยนำศัพท์เหล่านี้ไปเข้าสมาสกับศัพท์อื่นเสียแล้วรัสสะได้ เช่น  สพฺพญฺญู  สมาสกับ ภูโต  เป็น สพฺพญฺญุภูโต ลาภสกฺกาโร  เป็น ลาภสกฺการวตฺถุํ  เป็นต้น กรณีเช่นนี้ใช้ได้เป็นบางศัพท์เท่านั้น มิใช่ใช้ได้ทั่วไป อันนี้อยู่ที่ความเจนจัดของนักแต่งฉันท์เอง

            นอกจากวิธีสมาสแล้ว อาจใช้วิธีใช้ศัพท์อื่นแทน โดยเฉพาะตัวกิริยา ถ้าจำเป็นก็ใช้วิภัตติอื่นแทน เพื่อลดครุที่มีซ้อนกัน ๓ คำ ให้เหลือ ๒ คำ เช่น

อาคจฺฉนฺติ เป็น อาคจฺฉเร
ชาเนยฺยํ เป็น ชาเนมุ
กเถสฺสามิ เป็น กเถสฺสํ
  ฯลฯ  

อนึ่ง  อาจใช้วิธีลดพยัญชนะสังโยคลง ในกรณีที่ศัพท์นั้นมีพยัญชนะสังโยคอยู่ด้วย เช่น

อานนฺทตฺเถโร เป็น อานนฺทเถโร
สุขปฺปตฺตา เป็น สุขปตฺตา
  ฯลฯ  

 

            (๒) ศัพท์ที่มีลหุตั้งแต่ ๓ คำขึ้นไป เช่น  อนุจรติ  ติปิฏกปริยตฺติ  มุนิวจนํ   มธุรผลํ  เป็นต้น ไม่อาจใช้ในฉันท์ทั้ง ๖ ชนิด ซึ่งเป็นหลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๘ ได้เลย นอกจากบางศัพท์เมื่อนำไปสนธิกับศัพท์อื่นให้เหลือลหุเพียง ๓ คำเท่านั้นจึงใช้ได้ และใช้เพียงในฉันท์ ๒ อย่างคือ ปัฐยาวัตร กับ วสันตดิลก เท่านั้น เช่น

อนุจรติ เป็น สทานุจรตีธ
อภยคิรีวิหาโร เป็น เอตฺถาภยคิรี..
มหิปติ เป็น มหิปตีธ
  ฯลฯ  

            กรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากสำหรับนักศึกษาที่จะพลิกแพลง แต่หากรู้หลัก และฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ย่อมทำได้คล่องแคล่ว และรู้ลู่ทางดีขึ้นโดยลำดับ

 

            (๓) ศัพท์ที่มีลหุ ๓ คำซ้อน เช่น  ธมฺมจริยา  สุจริตํ  รชฺชสิริยา เป็นต้น ใช้ได้ใน ๒ ฉันท์เท่านั้น คือ ปัฐยาวัตร และวสันตดิลก  หากต้องการนำไปใช้ในฉันท์อื่นนอกจากฉันท์ ๒ ชนิดนี้จำต้องทำให้เป็นศัพท์เหลือ ลหุ เพียง ๒ คำ ตามวิธีในข้อ (๒) จึงนำไปใช้ได้ แต่ก็มิได้ทุกศัพท์ที่ต้องการเสมอไป

            โดยสรุปแล้ว ศัพท์ที่มีครุแล้ว ๓ คำ (ม คณะ) และลหุล้วน ๓ คำ (น คณะ) ย่อมหาที่ลงยาก นอกจากปัฐยาวัตรแล้ว ฉันท์อื่นเป็นใส่ลำบาก  วิธีที่ดีที่สุดคือ พึงหลีกเลี่ยงเสีย โดยหาศัพท์อื่นแทน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหาวิธีพลิกแพลงเอาเองโดยวิธีที่ถูกต้อง และเหมาะสม แต่มิใช่โดยการรัสสะ หรือโลปะ ทำให้ศัพท์เขากร่อนหดหายไป

 

            (๔) ปทปูรณะศัพท์ทั้งหลาย  ไม่พึงใส่ให้มากจนแพรวพราวไปทุกบท  หิ  จ  ปน  โข  ศัพท์เหล่านี้ไม่นิยมวางไว้กลางประโยค หรือท้ายประโยค เช่น

® มาตา  จสฺส  มหามายา สุภา  เทวี  อโหสิ  โข ฯเปฯ
® อุฏฺฐาย  ตมฺหา  อชปาลมูลา
  พาราณสึ  โข  ปฏิปชฺชมาโน
              ฯเปฯ
® ยโสติ  เสฏฺฐิปุตฺโต  โย ตทา  โลเก  หิ  ปากโฏ  ฯเปฯ

    

            (๕) นิบาต  เช่น  เจ  กิร  สุทํ  นุ  ปิ  ตุ  เป็นต้น ซึ่งเป็นนิบาตที่เรียงไว้เป็นที่ ๑ ในประโยคไม่ได้  ต้องมีบทอื่นนำหน้าเสมอ  และ  เต  เม  โว  โน  สัพพนามซึ่งวางไว้ต้นประโยคไม่ได้  แม้ว่าจะยังไม่จบประโยคก็ตามที หรือหากประโยคจบลงที่กลางบาทแล้วขึ้นประโยคใหม่ต่อไป โดยใช้  หิ  จ  ปน  วางไว้ก่อน  กรณีนี้แม้ว่าจะอยู่กลางบาทก็ถือว่าเป็นต้นประโยค เพราะขึ้นประโยคใหม่แล้ว ข้อนี้นักศึกษาพึงระวัง

 

            (๖) แต่งฉันท์ต้องแต่งตามคำสั่งสนามหลวง คือ  แต่งให้ได้ ๓ ชนิดในฉันท์ ๓ ชนิด จะแต่งฉันท์ชนิดใดก็ได้ จะแต่งชนิดใดก่อนหลังกันก็ได้  แต่งฉันท์ซ้ำชนิดกันก็ได้ ในกรณีแต่งซ้ำชนิดกันเช่น แต่งปัฐยาวัตรซ้ำ ๒ ตอน  ก็นับเพียงชนิดเดียว คือ ปัฐยาวัตร และแต่งฉันท์ชนิดใด ต้องแต่งแจ้งชื่อฉันท์ที่แต่งกำกับไว้ด้วย การบอกชื่อชนิดฉันท์นี้ต้องบอกให้ถูกต้องด้วย หากบอกผิด เช่น แต่งอินทรวิเชียร แต่บอกเป็นอินทรวงศ์อย่างนี้เป็นผิดคำสั่ง อาจปรับให้ตกได้ ถ้าหากว่าฉันท์ที่แต่งมี ๓ ชนิด รวมทั้งที่บอกชื่อผิดนั้นด้วย จึงต้องตรวจทานให้ดี

 

            (๗) ฉันท์แต่ละชนิดที่แต่ง  จะต้องจบใจความ หรือจบประโยคโดยสมบูรณ์ก่อน จึงไปขึ้นฉันท์ชนิดใหม่ ไม่ใช่ประธานอยู่ในปัฐยาวัตร  แต่กิริยาอยู่ในอินทรวิเชียร ซึ่งอยู่ถัดไป ประโยคเหตุประโยคผล ประโยค ย, ต  ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรอยู่แยกกันในฉันท์ต่างชนิด จริงอยู่ แม้ข้อความอาจไม่ผิด แต่ก็ถือเป็นผิดความนิยม ฉันท์ชนิดนั้น ๆ จะสั้นหรือยาว จะมีกี่คาถาก็แล้วแต่ความที่แต่ง 

 

            (๘) ในฉันท์ไม่นิยมแต่งให้เป็นประโยคลิงคัตถะ  จะต้องมีกิริยากำกับไว้ให้เห็นด้วยเสมอ โดยเฉพาะข้อความที่เป็นคำสดุดี คำพรรณนาคุณของบุคคล หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งนิยมใช้ศัพท์เป็นวิกติกัตตา และมีกิริยาคุม เช่น ถ้าเป็นบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ หรือวัตถุที่ยังปรากฎอยู่นิยมใช้  โหติ  เป็นพื้น ถ้าเป็นบุคคล หรือวัตถุที่ไม่มีตัวตนอยู่แล้วเป็นเรื่องในอดีตไปแล้วก็ใช้  อโหสิ  หรือ  อหุ  ตามถนัด จะแต่งเป็นลิงคัตถะ ใช้ศัพท์เหล่านั้นเป็นวิเสสนะทั้งหมดดูไม่สวย  และขาดอรรถรสไป

 

            (๙) ในการแต่งสดุดี หรือพรรณนาคุณบุคคล  ควรเลือกใช้ศัพท์ให้เหมาะสมกันความเป็นจริงของบุคคลนั้น ๆ วางศัพท์ให้เป็นหมวดเป็นหมู่ ไม่เปะปะปนเปกันไปมา ที่นิยมก็คือ เลือกศัพท์ที่พรรณนาอัตตสมบัติ คือความดีส่วนตัว เช่น มีปัญญา มีสติ มีศรัทธามั่นคง เป็นนักปราชญ์ ฯลฯ ไว้เป็นกลุ่มในฉันท์ชนิดหนึ่ง เลือกศัพท์ที่พรรณนาปรหิตสมบัติ  คือความดีที่ทำให้แก่ผู้อื่น เช่น เป็นผู้มีเมตตา ช่วยเหลือบุคคลอื่น ชอบเสียสละ เป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นเป็นต้น ไว้เป็นหมู่อีกหมู่หนึ่งในฉันท์อีกชนิดหนึ่ง สามารถแยกแยะได้ดังนี้ ฉันท์นั้น ๆ ย่อมมีความสละสลวยเข้าใจง่าย ไม่ฟั่นเฝือ

 

            (๑๐) ศัพท์ทุกศัพท์ที่นำมาใช้ในฉันท์  ต้องคำนึงถึงสัมพันธ์ด้วยว่า ศัพท์นี้สัมพันธ์เข้ากับศัพท์ไหน เรียงสัมพันธ์อย่างไร ถูกหลักสัมพันธ์หรือไม่ ถูกหลักสำนวนภาษาหรือไม่  ในการคำนึงนั้นต้องคำนึงตามหลักไม่ใช่คำนึงตามความเข้าใจว่าคงเป็นอย่างนั้นได้คงเป็นอย่างนี้ได้

 

            (๑๑) แต่งเสร็จแล้ว ทดลองแปลดู  โดยวิธีแปลเป็นแบบพยัญชนะยกขึ้นแปลทีละศัพท์ แปลให้ถูกหลักวิธีแปล แล้วตรวจตราดูว่าได้ใจความพอเข้าใจได้หรือไม่ ในเวลาแปลอย่าใส่ศัพท์อื่นที่ไม่มีในฉันท์เข้ามา ให้แปลเฉพาะศัพท์ที่มีในฉันท์เท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้ทราบได้ว่าฉันท์นั้นมีรสมีชาติ หรือได้ใจความหรือไม่อย่างไร หากพบข้อบกพร่องให้รีบแก้ไข ตัดหรือเติมทันที ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย

 

            (๑๒) แต่งเสร็จแล้ว ตรวจทานให้เรียบร้อย  สิ่งที่ควรตรวจนั้น คือ

  • - บอกชื่อฉันท์ถูกหรือไม่
  • - แต่งเต็มคาถา  หรือเกินคาถาไปเป็น ๑ บาทหรือไม่  หากเกินไปเพียง​ ๑ บาท ต้องแต่งเพิ่มอีก ๑ บาท หรือตัดออก ๑ บาท หากเกินไป ๓ บาท ต้องเพิ่มหรือตัด ๑ บาทเช่นกัน
  • - ลง  อิดิ ศัพท์ เมื่อจบข้อความ ตามด้วยเครื่องหมาย ฯ หรือไม่
  • - ตรวจดูคณะฉันท์แต่ละชนิดว่าถูกต้องหรือไม่  แต่ละบาทมีจำนวนคำครบตามหลักหรือไม่ แต่ละคำเป็น ครุ ลหุ  ตามกฎหรือไม่ ตรวจแบบนี้ต้องตรวจทุกคำ ไม่มีการละเว้น และตรวจอย่างช้า ๆ ไม่ต้องรีบร้อน
  • - โดยเฉพาะปัฐยาวัตร  ตรวจอักษรที่ ๒ ที่ ๓ ของทุก ๆ บาทว่าเป็นลหุคู่กันหรือไม่ หากเป็น ต้องแก้ไขทันที
  • - ตรวจไวยากรณ์ในทุก ๆ ศัพท์ที่ใช้  เช่น  เขียนถูกหลักหรือไม่ สังโยคถูกหลักหรือไม่ รัสสะ ทีฆะ ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าเขียนผิด สังโยคผิด เป็นผิดไวยากรณ์ หากรัสสะผิด ทีฆะผิด นอกจากผิดไวยากรณ์แล้ว ยังอาจผิดคณะฉันท์ด้วย

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search