การศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ยุครัชกาลที่ ๑-๔

หลังจากสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงใส่พระทัยถึงการพระศาสนา ทรงแก้ไขปัญหาต่างๆเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.๒๓๓๑ ทรงปรารภที่จะสังคายนาพระไตรปิฎก จึงทรงอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ และราชบัณฑิตเป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก จารึกเป็นอักษรขอมขึ้น ใช้เวลา ๕ เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์ เป็นจำนวน ๕๓๔ คัมภีร์ คือ พระวินัย ๘๑ คัมภีร์ พระสูตร ๑๑๐ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๖๑ คัมภีร์ และสัททวิเสส ๕๐ คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน ๓๖๘๖ ผูก เรียกชื่อว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงโปรดให้สร้างอีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับรองทรง มีจำนวน ๓๐๕ คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน ๓,๖๔๙ ผูก และฉบับทองชุบ มีเพียง ๓๕ คัมภีร์ ทั้ง ๓ ฉบับเป็นแม่แบบในการพิมพ์ครั้งต่อมา

หลักสูตรการศึกษา

ในยุคแรกเริ่มต้น หลักสูตรยังใช้พระไตรปิฎก เรียน ๓ ปีต่อการสอบ ๑ ครั้งเหมือนเดิมและแบ่งชั้นดังนี้

  • บาเรียนตรี ใช้พระสูตรเป็นในการเรียนการสอน
  • บาเรียนโท ใช้พระสูตรและพระวินัย
  • บาเรียนเอก ใช้พระสูตร พระวินัยและพระอภิธรรม

ตั้งแต่ยุคราชกาลที่ ๒ เป็นต้นมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นใหม่โดยอาศัยหลัก ๒ ประการ คือ

  1. พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ประกอบด้วยองค์ ๙ คือ สุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
  2. พระธรรมคำสอนอันเป็นโลกุตตรธรรมมี ๙ อย่าง คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ดังนั้นจึงจัดหลักสูตรแบ่งเป็น ๙ ชั้นดังนี้

            ๑.ประโยค ๑-๒-๓ ใช้คัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเป็นแบบเรียน (แปลคราวเดียวกัน ๓ ประโยคจึงเป็นบาเรียน)
            ๒.ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนีภาคแรก (ภายหลังใช้ ๒ ภาค)
            ๓.ประโยค ๕ ใช้คัมภีร์บาลีมุตตกะ (แล้วเปลี่ยนเป็นคัมภีร์สารัตถสังคหะ ภายหลังเปลี่ยนเป็นบาลีมุตตกะเหมือนเดิม)
            ๔.ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์มังครัตถทีปนีภาค ๒
            ๕.ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์อรรถกถาวินัยสมันตปาสาทิกา
            ๖.ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค
            ๗.ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์กาสารัตถทีปนี (ภายหลังเปลี่ยนเป็นฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี)        สำหรับประโยค ๗ -๘-๙ เรียกว่าบาเรียนเอก โดยเรียนย่อยดังนี้ว่า
           ประโยค ๗ เรียกว่า เอกสามัญ (เอก ส.)
           ประโยค ๘ เรียกว่า เอกมัธยม (เอก ม.)
           ประโยค ๙ เรียกว่า เอกอุดม (เอก อ.)

 

สถานศึกษา

ยุคราชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้พระที่นั่งมณเฑียรธรรมในวัดพระศรี รัตนศาสดารามข้างท้องพระโรงบ้าง สร้างศาลาต่างหากบ้าง หรือบางทีใช้บ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและ

เจ้านาย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยให้ไปศึกษาตามวัดต่างๆ

ยุครัชการที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ใช้อารามบ้าง ทรงให้สร้างเก๋งบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานศึกษาเล่าเรียน โปรดให้เลี้ยงเพลพระภิกษุและพระราชทานรางวัลด้วย ภายหลังสถานที่ไม่เพียงพอ จึงโปรดให้ใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ยุครัชการที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งขึ้น ๔ หลัง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม

การวัดผลการศึกษา

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การสอบพระปริยัติธรรมยังเหมือนปลายกรุงศรีอยุธยา ๓ ปีต่อการสอบ ๑ ครั้ง ต่อมายุครัชการที่ ๓ เมื่อนักเรียนคนใดจะสอบ ต้องผ่านการจับสลากถูกซองไหนก็แปลซองนั้น ก่อนแปลกรรมการจะให้เวลาเล็กน้อยให้หายตื่นเต้น แล้วจึงเรียกเข้าไปแปลหน้าต่อไป ต้องแปลครั้งเดียวให้ผ่าน ๓ ประโยคจึงจะเป็น “บาเรียน” ผ่านเพียง ๒ ครั้งถือว่าตก หรือคณะกรรมการทักท้วงเกิน ๓ ครั้งนับว่าตก พระภิกษุสามเณรที่เรียนเก่งก็สามารถแปลสอบตั้งแต่ประโยค ๑-๙ รวดเดียวได้

สถานที่และวันเวลาในการสอบ

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินประเภทหนึ่งเพราะอยู่ในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศาสนูปถัมภก ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้สถานที่พระบรมมหาราชวังเป็นหลัก

การสอบในสมัยนั้นเริ่มประมาณ ๑๕.๐๐ น. ทุกวัน เว้นเฉพาะวันโกนกับวันพระ เวลาในการสอบนั้นไม่มีกำหนด แล้วแต่ผู้ที่แปลได้เร็วหรือช้าแต่โดยปกติให้เลิกประมาณ ๑๙.๐๐ น. หรือ ๒.๐๐ น. การสอบแต่ละครั้งตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น ใช้เวลา ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือนเศษ

ยุครัชกาลที่ ๕-๗

ในยุครัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาทั่วไป สำหรับพระภิกษุได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านพระปริยัติธรรมและวิชาการสมัยแผนกธรรมขึ้นควบคู่กับแผนกบาลี (ฝ่ายเปรียญ) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นครั้งแรก และจัดครบหลักสูตรในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แต่ยังเป็นการศึกษาเฉพาะฝ่ายสงฆ์อย่างเดียว   ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๗ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงเปิดโอกาสให้

ฆราวาสชายหญิงเรียนด้วยโดยแยกแผนกธรรมออก สำหรับพระภิกษุสามเณรเรียกว่า “นักธรรมศึกษา” สำหรับฆราวาสเรียนเรียกว่า “ธรรมศึกษา” นักธรรมชั้นต่างๆ ยังมีความสำคัญต่อการสอบเปรียญด้วย คือ

  1. ผู้สอบประโยค ๑-๒-๓ ต้องผ่านนักธรรมชั้นตรี
  2. ผู้สอบประโยค ๔-๕-๖ ต้องผ่านนักธรรมชั้นโท
  3. ผู้สอบประโยค ๗-๘-๙ ต้องผ่านนักธรรมชั้นเอก

ดังนั้นจึงรวมเรียกว่า “เปรียญธรรม” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.”   ข้อสังเกต คำว่า “เปรียญ” เข้าใจว่าเพิ่งนำมาใช้ระหว่างรัชกาลที่ ๕-๖ เพราะในยุคแรกยังใช้คำว่า “บาเรียน” อยู่

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

ในยุคนี้มีหลักสูตรวิชาแปลดังนี้

    ๑.ประโยค ๑-๒-๓ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฎฐกถา
    ๒.ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนีภาคแรก
    ๓.ประโยค ๕ ใช้คัมภีร์สารัตถสังคหะ
    ๔.ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี
    ๕.ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา
    ๖.ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรค
    ๗.ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์สารัตถทีปนี (ฎีกาวินัย)

สถานศึกษา

เดิมทีใช้บริเวณวิหารคดรอบพระอุโบสถและตามพระอารามต่างๆ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนต่อมาเมื่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นแล้ว ก็ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนั้น

การวัดผลการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

ยุคแรกการสอบพระปริยัติธรรมยังเป็นไปเหมือนเดิม คือ ๓ ปีสอบ ๑ ครั้ง ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้กำหนดให้สอบปีละ ๑ ครั้งตลอดมา

วิธีสอบพระปริยัติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ คงใช้วิธีสอบแบบเก่าๆ คือแปลสอบด้วยปาก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงมาสอบด้วยวิธีเขียนเฉพาะประโยค ๑ และประโยค ๒ ส่วนประโยค ๓ ขึ้นไปสอบแปลด้วยปากตามแบบเดิม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ จึงให้ยกเลิกการสอบแปลด้วยปาก เปลี่ยนมาสอบด้วยวิธีเขียนแทนทุกชั้นประโยค

อนึ่ง การสอบพระปริยัติธรรมนั้น ตามประเพณีเดิมไม่ได้กำหนดด้วยนาฬิกา แต่ใช้เทียนเป็นสัญญาณกำหนด คือเมื่อเริ่มแปลเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ไปจนกระทั่งค่ำ แล้วจุดเทียนตั้งไว้จนกว่าจะหมดก็เป็นอันเลิกสอบในวันนั้น ถ้ายังแปลค้างอยู่ก็เป็นอันตกหมด ต่อมาจึงเลิกการใช้เทียนเป็นสัญญาณ แต่ใช้นาฬิกาแทน และกำหนดเวลาให้นักเรียนที่แปลธรรมบทรูปละ ๖๐ นาที ให้แปลหนังสือ ๓ ใบลาน คือ ๓๐ บรรทัด ภายหลังเห็นว่ายากไปไม่ทันเวลาจึงลดลงเหลือ ๒๐ บรรทัด ประโยคสูง ๙๐ นาที บางทีถ้าประโยคยากก็เพิ่มให้อีก ๓๐ นาที เป็นกรณีพิเศษ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๑ มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น การสอบพร้อมกันไม่สะดวก จึงแบ่งการสอบออกเป็น ๒ ภาค ดังนี้

  1. ภาคแรก ป.ธ.๖-๗-๘-๙ สอบในวันขึ้น ๒-๓-๔-๕ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี
  2. ภาคที่สอง ป.๑-๒, ป.ธ. ๓-๔-๕ สอบในวันแรม ๑๐-๑๑-๑๒ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี

สนามสอบส่วนกลาง ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๘๕

  1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  2. วัดเบญจมบพิตรฯ
  3. วัดบวรนิเวศวิหาร
  4. วัดมหาธาตุฯ
  5. วัดเทพศิรินทราวาส
  6. วัดพระเชตุพนฯ
  7. วัดอนงคาราม

      ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการจัดให้สอบตามมณฑลต่างๆขึ้น

หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรม

ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศตั้งหลักสูตรและการสอบนักธรรมชั้นตรี-โท
ปี พ.ศ.๒๔๖๔ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศตั้งหลักสูตรและการสอบนักธรรมชั้นเอก ซึ่งมีหลักสูตรคล้ายกัน แต่มีความลึกซึ้งไปตามลำดับชั้นเรียน ดังนี้

  1. เรียงความแก้กระทู้ธรรม
  2. แก้ปัญหาธรรม
  3. แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติและหัวข้อธรรมในท้องเรื่อง
  4. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติ

ปี พ.ศ.๒๔๗๒ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศอนุญาตให้คฤหัสถ์เข้าสอบ ธรรมศึกษาชั้นตรี
ปี พ.ศ.๒๔๗๓ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศอนุญาตให้คฤหัสถ์เข้าสอบ ธรรมศึกษาชั้นโท
ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศอนุญาตให้คฤหัสถ์เข้าสอบ ธรรมศึกษาชั้นเอก

สำหรับหลักสูตรเหมือนกับนักธรรมของพระภิกษุสามเณร ต่างกันเฉพาะธรรมศึกษาชั้นตรี เรียนเบญจศีล-เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทนวิชาวินัย ธรรมศึกษาชั้นโท-เอก ตัดวิชาวินัยของพระภิกษุสามเณรออกเสียเท่านั้น

หลักเกณฑ์การสอบได้-ตก

  1. นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และธรรมศึกษาชั้นตรี ให้ถือเกณฑ์ตั้งแต่ ๒๐๐ คะแนนขึ้นไปเป็นเกณฑ์สอบได้ ต่ำกว่านี้เป็นสอบตก
  2. ธรรมศึกษาชั้นโท-เอก ให้ถือตั้งแต่ ๑๕๐ คะแนนขึ้นไปเป็นเกณฑ์สอบได้ ต่ำกว่านี้เป็นเกณฑ์ตก

กำหนดวันสอบธรรมสนามหลวง

      วันสอบธรรมสนามหลวง กำหนดสอบพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร คือวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑ ของทุกปี


หนังสืออ้างอิง : ประวัติการศึกษาคณะสงฆ์ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เมื่อ ปีพ.ศ.๒๕๒๗

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search