20.บทที่ ๓ ไวยากรณ์และสัมพันธ์ (เรื่องการเขียน)

 

เรื่องการเขียน

          มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เขียนภาษามคธผิดหลักไวยากรณ์ ทั้งๆ ที่ใช้ศัพท์ถูกต้องแล้ว แต่ว่าเขียนผิด จะด้วยความพลั้งเผลอหรืออะไร ก็ตาม ก็อาจทำให้เสียคะแนนได้ ยิ่งเป็นชั้นประโยคสูงๆ ด้วยแล้ว ยิ่งจะถูกเพ่งเล็งจากกรรมการมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าอยู่ในภูมิชั้นสูงแล้ว ไม่ควรเขียนภาษามคธผิดเลย

เท่าที่พบมา พอจะประมวลการเขียนที่ชอบผิดกันโดยมากได้ ดังนี้

(๑) เขียนเครื่องหมาย . (จุด) ตก เช่น

ตฺวํ เขียนเป็น ตวํ
พฺรหฺม เขียนเป็น พฺรหม
นิโคฺรธ เขียนเป็น นิโครฺธ
อินฺทฺริยํ  เขียนเป็น อินฺทริยํ
คนฺตฺวา เขียนเป็น คนฺตวา, คนฺวา
สฺวากฺขาโต    เขียนเป็น   สวากฺขาโต
เทฺว เขียนเป็น เทว
ทฺวารํ เขียนเป็น ทวารํ ฯลฯ

(๒) ใช้พยัญชนะผิด คือ ใช้พยัญชนะที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่ต่างวรรคกันผิด หรือใช้อักษรที่ไม่มีในมคธภาษา เช่น ศ ษ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเผลอตามภาษาไทย เช่น

ความไทยว่า  ภาษาบาลี  มักใช้เป็น
พระอนุรุทธ อนุรุทฺโธ     อนุรุทฺโธ
ศรัทธา สทฺธา ศทฺธา หรือ สทฺทา
นางยักษิณี ยกฺขินี  ยกฺขิณี
นางภิกษุณี  ภิกฺขุนี ภิกฺขุณี
ศาลา สาลา ศาลา
ภาษา ภาสา  ภาษา
โฆษณา อุคฺโฆเสนุโต อุคฺโคเสนฺโต
ฯลฯ       

(๓) ใช้สระผิด คือ เขียนสระตกบ้าง สับสระกันบ้าง เช่น

ความไทยว่า  ภาษาบาลี  มักใช้เป็น
ความเพียร วีริยํ      วิริยํ
ความปีติ  ปิติ   ปีติ
ถนน วีถิ  วิถี
หมู สูกร   สุกร
ปาฏิโมกข์  ปาฏิโมกฺขํ ปฏิโมกฺขํ
หงอน, ยอด  จูฬ     จุฬ

 

(๔)ใช้สังโยคผิด คือ ใช้พยัญชนะสังโยคไม่ถูกตามหลักไวยากรณ์ โดยสับอักษรกันบ้าง ใช้อักษรต่างวรรคกันมาสังโยคกันบ้าง เช่น

ความไทยว่า  เป็น  มักใช้เป็น
ปุปฺผํ เป็น    ปุพฺผํ
อุกฺกณฺฐิโต  เป็น  อุกฺกนฺฐิโต
คิชฺฌกูฏํ   เป็น  คิฌฺชกูฏํ
อคฺฆติ  เป็น  อคฺคติ
ปุพฺพาราโม เป็น  ปุปฺผาราโม
อายุวฑฺฒโก  เป็น  อายุวฒฺฑโก
อารพฺภ  เป็น  อารภฺพ
 ฯลฯ    

(๕) สังโยคนิคคหิตที่อยู่ในศัพท์ผิด เช่น

หํโส เป็น  หงฺโส
สํโยโค เป็น    สงฺโยโค
อวํสิโร  เป็น  อวงฺสิโร
อานิสํโส เป็น  อานิสงฺโส
กุลวํโส  เป็น  กุลวงฺโส
สํวุโต  เป็น  สงฺวุโต
ลํเวโค เป็น  สงฺเวโค
   ฯลฯ     

 (๖) ซ้อนสังโยคในที่ที่ไม่นิยมซ้อน แต่ไม่ซ้อนในที่ที่นิยมซ้อน

สุคติ เป็น สุคฺคติ
สุกรํ  เป็น สุกฺกรํ
อุคฺคจฺฉติ   เป็น อุคจฺฉติ
สุจริตํ   เป็น สุจฺจริตํ
นิคจฺฉติ เป็น นิคฺคจฺฉติ
ทุกฺกรํ   เป็น ทุกรํ
อานนฺทตฺเถโร    เป็น อานนฺทเถโร
ทุจฺจริตํ  เป็น ทุจริตํ
ฯลฯ    

         เรื่องซ้อนและไม่ซ้อนนี้ ดูออกจะลำบากอยู่เหมือนกัน จึงต้องคอยสังเกตที่ท่านใช้ในปกรณ์ทั้งหลาย แล้วจดจำไว้ว่าศัพท์ไหนท่านซ้อน โดยมากศัพท์ไหนท่านไม่นิยม ก็ให้จำไว้เพื่อมาแต่งใช้เอง ซึ่งพอมีหลักสังเกตได้ดังนี้

ก. เกี่ยวกับชื่อพระเถระทั้งหมด เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์ว่า เถร นิยมซ้อน ตฺ เช่น อานนฺทตฺเถโร อุปาลิตฺเถโร กสฺสปตฺเถโร ฯลฯ
ข. อุปสัค คือ สุ นำหน้า และ นิ (เข้า, ลง ) ไม่นิยมซ้อน เช่น สุคติ สุกรํ สุคโต นิคจฺฉติ นิขนติ นิมุคฺโค ฯลฯ
ค. อุปสัค คือ ทุ และ นิ (ไม่มี, ออก) นิยมซ้อน เช่น ทุคฺคนฺโธ ทุกฺกฏํนิปฺผโล นิจฺฉาโต นิทฺทุกฺโข ถ้านำหน้าสระ ให้ลง ร อาคม เช่น ทุราคโม ทุรกฺขาโต นิรุปทฺทโว นิรามโย ฯลฯ                                                                             

แต่ถ้านำหน้าพยัญชนะอวรรค นิยมทีฆะ คือ ทุ เป็น ทู  นิ เป็น นี เช่น ทูหรํ นีรโส นีวรณํ ฯลฯ                    

         (๗) ใช้ศัพท์สมาสผิด คือ ศัพท์มโนคณะ เมื่อเข้าสมาสแล้วนิยมลงโอ แต่ไม่ลง เช่น

ความปรารถนาแห่งใจ - เจโตปณิธิ ใช้เป็น เจตปณิธิ
ผู้บรรเทาความมืด - ตโมนุโท   ใช้เป็น ตมนุโท
ก้อนเหล็ก - อโยคุฬํ    ใช้เป็น อยคุฬํ

อนึ่ง ศัพท์ที่เป็น อี อู การันต์ ใน ปุํ. เมื่อเข้าสมาสแล้วนิยมรัสสะ อี เป็น อิ, อู เป็น อุ แต่ไม่รัสสะ เช่น

เสฏฺฐิภูโต  ใช้เป็น เสฏฺฐีภูโต
หตฺถิทนฺโต ใช้เป็น หตฺถีทนฺโต
วิญฺญุภาวํ ใช้เป็น วิญฺญูภาวํ

        ส่วนศัพท์ที่เป็น อา อี อู การันต์ใน อิต. เมื่อเข้าสมาสแล้ว ไม่นิยมรัสสะ เว้นแต่ศัพท์ว่า ปริสมชฺเฌ เมตฺตจิตฺตํ

 

        (๘) แยกศัพท์ผิด หรือที่เรียกว่า “ฉีกศัพท์” คือแยกศัพท์ที่ เป็นศัพท์เดียวกันออกเป็น ๒ ตอนโดยวิธีเขียนส่วนหนึ่งไว้บรรทัดบน สุด บรรทัดพอดี เลยเขียนส่วนต่อมาไว้ที่บรรทัดล่าง เช่น ศัพท์ว่า สาวตฺถิยํ เขียน สาวตฺ-ไว้บรรทัดบน แล้วเขียน ถิยํ ไว้บรรทัดล่าง หรือเขียน สาวตฺถิ- ไว้ข้างบน ต่อด้าย ยํ ข้างล่าง ดังนี้ชื่อว่า แยกศัพท์ผิด

พึงดูตัวอย่างการแยกศัพท์ผิดต่อไปนี้

โส เอกทิวสํ นหา-
นติตฺถํ คนฺตฺวา อาคจฺ­-
ฉนฺโต อนฺตรามคฺเค สมฺ-
ปนฺนสาขํ ฯเปฯ

อย่างนี้ถือว่าแยกศัพท์ผิดในทุกบรรทัด

         วิธีแยกศัพท์ที่ถูกต้อง คือ แยกได้เฉพาะศัพท์สมาสเท่านั้น และ แยกตรงรอยต่อระหว่างศัพท์ต่อศัพท์ คือเมื่อแยกออกแล้วสามารถรู้ความหมาย และแปลได้ทั้งศัพท์ล่าง ศัพท์บน ขอให้ดูตัวอย่าง

อถโข มหาโมคฺคลฺลานตฺ-
เถโร สายณฺหสมเย ราชคห-
นครํ อคมาสิ ฯ
เสฏฺฐี อตฺตนา ปาลิตํ วนปฺ-
ปตึ นิสฺสาย ฯเปฯ

         ข้อนี้ ก็ใช้ได้ในภาษาไทยด้วย คือ อย่าแยกศัพท์จนเสียความหมาย เช่น

เขากระวีกระวาดจะไปดูมห-
รสพกับมารดาของเขา เกิดความประ-
ทับใจ จึงต้องไปชี้แจงและเฝ้าอธิ-
บายให้มารดาฟัง

         อย่างนี้ถือว่าแยกศัพท์ผิด ทำให้เสียอรรถรสภาษาอย่างมาก

         เพราะฉะนั้น ขอให้นักศึกษาทั้งหลายพิถีพิถันในเรื่องการเขียน ภาษามคธให้มาก พยายามเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ทุกศัพท์ทุกคำ อย่าให้ผิดไปเป็นดี เพราะการเขียนให้ถูกนี้เป็นการแสดงภูมิเบื้องต้นว่า ผู้นั้นสมควรจะได้เลื่อนขั้นหรือไม่

         เพราะผู้เป็นเปรียญจัดว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญาเรื่องภาษามคธสูง เป็นที่นับถือยกย่อง และเป็นครูของคนทั่วไป หากเขียนมคธผิดแล้ว ย่อมแสดงว่ายังไม่เหมาะที่จะเป็นครูเขา เมื่อไม่เหมาะก็อาจไม่ผ่านการ สอบในขั้นนั้นๆ ด้วย

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.





 


45613030
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4314
40295
44609
45235495
272082
1019588
45613030

Your IP: 35.171.164.77
2024-10-07 02:55
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search