ความรู้เบื้องต้นในการแต่งฉันท์

๑. ความหมายขอคำว่า "ฉันท์"

คำว่า ฉันท์ แปลกันมาว่า "ปกปิดเสียซึ่งโทษ" (คือความไม่ไพเราะทางภาษา) มาจากคำวิเคราะห์ว่า ยชมานรวิโตยภูมิชลนโสมมารุตนภสงฺขาเตหิ ย ร ต ภ ช ส ม นาติ อิเมหิ อกฺขเรหิ นิยโม อุปลกฺขิโต วิธิวิเสโส อนวชฺชํ ฉาเทหีติ ฉนฺทํ ฯ

คำว่า ฉันท์ นี้ อาจเรียกอย่างอื่นได้อีกเช่น พันธะ คาถา วุตฺติ หรือ พฤติ ซึ่งแท้ที่จริงคำเหล่านี้แม้จะเป็นชื่อเรียกคำประพันธ์ ซึ่งกำหนดลักษณะต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไวพจน์ของกันและกันได้ เช่น ในคัมภีร์สัททนีติ สุตตมาลา ว่า

       วณฺณนิยโม ฉนฺทํ ครุลหุนิยโม ภเว วุตฺติ ฯ
       (การกำหนดจำนวนคำ ชื่อว่า ฉันท์ การกำหนด ครุ ลหุ ชื่อว่า วุตฺติหรือคาถา) และในคัมภีร์ภาลาวตาร สนธิกัณฑ์ ว่า

       อกฺขรนิยโม ฉนฺทํ. ครุลหุนิยโม ภเว วุตฺติ ฯ
       (แปลเหมือนกัน)

ตกลงว่า ฉันท์ โดยทั่วไปกำหนดจำนวนคำ (อักษร) และกำหนดครุลหุในตัวด้วย คำว่า ฉันท์ จึงมีไวพจน์หลายคำ

 

๒. ประเภทของฉันท์

เมื่อว่าโดยลักษณะกำหนดฉันท์ตามคัมภีร์สัททนีติและคัมภีร์พาลาวตารที่อ้างถึงข้างต้นนั้น ก็แบ่งฉันท์ออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

  • ๒.๑ วณฺณวุตฺติ  ฉันท์วรรณพฤติ  ฉันท์ที่กำหนดจำนวนอักษรหรือจำนวนคำในบาทหนึ่งๆ
  • ๒.๒ มตฺตาวุตฺติ  ฉันท์มาตราพฤติ  ฉันท์ที่กำหนดมาตราคือจำนวนครุลหุในบาทหนึ่งๆ

สำหรับหลักสูตรที่ท่านกำหนดไว้ให้เรียนในชั้นประโยค ป.ธ.๘ ให้เรียนเฉพาะฉันท์วรรณพฤติอย่างเดียว และในจำนวนฉันท์วรรณพฤติซึ่งมีจำนวนมากอย่างด้วยกัน  ท่านก็กำหนดให้เรียนเพียง ๖ อย่างเท่านั้น คื่อ

  • ปัฐยาวัตรฉันท์. (ปฐฺยาวตฺตํ)
  • อินทรวิเชียรฉันท์  (อินฺทวชิรา)
  • อุเปนทรวิเชียรฉันท์. (อุเปนฺทวชิรา)
  • อินทรวงศ์ฉันท์. (อินฺทวํโส)
  • วังสัฏฐฉันท์. (วํสฏฺฐา)
  • วสันตดิลกฉันท์. (วสนฺตติลกา)

 

๓. ลหุและครุ

ฉันท์ที่กำหนดให้เรียนคือฉันท์วรรณพฤติซึ่งกำหนดด้วยจำนวนคำในแต่ละบาทนั้น ท่านรวมคำเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ ๓ คำ เรียกว่า คณะ ในแต่ละคณะมีคำที่มีเสียงซ้ำกันบ้าง สลับกันบ้าง มีเสียงหนักบ้าง มีเสียงเบาบ้าง คละเคล้าปะปนกันไป ท่านกำหนดคำที่ออกเสียงหนัก เสียงเบา เช่นนั้นว่า "ครุลหุ" ดังนั้น ครุลหุ จึงมีบทบาทสำคัญในการแต่งฉันท์ นักศึกษาพึงกำหนดให้แม่นยำว่าคำใดเป็นครุ คำใดเป็นลหุ หากกำหนดผิดจะเพราะไม่รู้หรือเข้าใจผิดก็ตาม จะทำให้แต่งฉันท์ผิดคณะทันที ซึ่งก็หมายความถึงแต่งฉันท์ผิดนั่นเอง

  • ลหุ  คือคำที่มีเสียงเบา เป็นคำเบา ออกเสียงสั้นๆ มีมาตราเดียว ได้แก่สระเสียงสั้นคือ อ อิ  อุ  และคำที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น เช่น ม  มิ  มุ  เป็นต้น กลุ่มคำต่อไปนี้ เป็น ลหุ ทุกคำ ภควติ,  อิสิปตน,  อนุจรติ,  ปฏิวสติ
  • ครุ  คือคำที่มีเสียงหนัก เป็นคำหนัก ออกเสียงยาว มีหลายมาตรา ได้แก่สระเสียงยาวทั้งหมด คือ อา  อี  อู  เอ  โอ  และยังมีครุอีก ๔ ประเภทคือ
    1. อักษรสังโยค  คือคำที่มีสังโยค เช่น พุทฺโธ  ธมฺโม  สงฺโฆ  กตฺวา  สฺวากฺขาโต  นิปนฺโน  เรียกว่า สังโยคาทิครุ
    2. อักษรเสียงยาว  คือคำที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวทั้ง ๕ สระนั้น  เช่น  สพฺพา  อิตฺถี  วธู  กเร  โยโธ  เรียกว่า  ฑีฆครุ
    3. อักษรมีนิคคหิต  คือคำที่มีนิตคหิตอาศัยอยู่ด้วย เช่น  กึ  อุทกํ  วรํ  กาตุํ  เรียกว่า  นิคคหิตครุ
    4. อักษรปลายบาท  คือคำที่อยู่สุดท้ายของทุกบาท  ซึ่งแม้จะมีข้อกำหนดว่าเป็น  ครุ  แต่ก็อาจแต่งเป็น ลหุ ได้ ลหุ คำนี้แหละ เรียกว่า ปาทันตครุ เช่น
      • ยานีธ  ภูตานิ  สมาคตานิ
        ภุมฺมานิ  วา  ยานิว  อนฺตลิกฺเข
        สพฺเพว  ภูตา  สุมนา  ภวนฺตุ
        อโถปิ  สกฺกจฺจ  สุณนฺตุ  ภาสิตํ ฯ

คาถาแสดง ครุ  ลหุ  ในคัมภีร์วุตฺโตทัย

       สํโยคาทิ  จ  ทีโฆ  จ              นิคฺคหีตปโร  จ  โย
       ครุ  วงฺโก  ปาทนฺโต  วา         รสฺโสญฺโญ  มตฺติโก  สุชุ  ฯ

       อักษรแรกของสังโยค ๑  อักษาเป็นทีฆะ ๑  อักษรมีนิคคหิตข้างหลัง ๑  ชื่อว่า ครุ  อักษรอันเป็นที่สุดบาท ชื่อว่า ครุ  โดยอ้อม ได้บ้าง  อักษรอื่นที่มีเสียงสั้น มีมาตราเดียว ชื่อว่า ลหุ โดยตรง ฯ

หมายเหตุ  วงฺโก  ครุ  แปลอีกอย่างว่า ครุ  มีสัณฐานคดงอ ส่วน ลุชุ = อุชุ  ลหุ แปลว่า ลหุมีสัณฐานตรง ที่แปลดังนี้มีอธิบายว่า ในการแสดงสัณฐานของ ครุ ลหุ นั้น  ท่านใช้เครื่องหมายแทน คือ ครุ มีสัณฐานโค้ง เหมือนพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว )  หรือมีลักษณะงอเหมือนตุ้มหู (?)  หรืองอเหมือนไม้ตีกลอง (7)  ส่วนลหุนั้น มีสัณฐานตรงเหมือนไม้เท้า ( | )

กล่าวโดยสรุป นอกจากสระเสียงสั้นและคำที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นซึ่งเป็น ลหุ แล้ว ที่เหลือทั้งหมดล้วนเป็น ครุ ทั้งสิ้น

 

๔. บาทและคาถา

โครงสร้างหรือส่วนประกอบของฉันท์แต่ละอย่างนั้นได้แก่ บาท  และ  คาถา ซึ่งเป็นชื่อเรียกโดยเฉพาะของฉันท์ นักศึกษาพึงทำความเข้าใจเรื่องบาทและคาถาให้ถูกต้องก่อน ดังนี้

บาท คือส่วนหนึ่งในสี่ส่วนของคาถาหนึ่งๆ ในแต่ละบาทท่านกำหนดให้มีอักษร (คำ) ตามที่กำหนดไว้ในฉันท์ชนิดนั้นๆ เช่น ปัฐยาวัตรฉันท์ กำหนดบาทหนึ่งมี ๘ อักษร (คำ) อินทรวิเชียรฉันท์มี ๑๑ อักษร (คำ) เป็นต้นดังตัวอย่าง

(๔.๑)  มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา          มโนเสฏฺฐา  มโนมยา
            มนสา  เจ  ปทุฏฺเฐน             ภาสตี  วา  กโรติ  วา
            ตโต  นํ  ทุกฺขมเนฺวติ            จกฺกํว  วหโต  ปทํ ฯ

(๔.๒)              พุทฺโธ  สุสุทฺโธ  กรุณามหณฺณโว
                        โยจฺจนฺตสุทฺธพฺพรญาณโลจโน
                        โลกสฺส  ปาปูปกิเลสฆาตโก
                        วนฺทามิ  พุทฺธํ  อหมาทเรน  ตํ ฯ

ตามตัวอย่างข้อ (๔.๑) เป็นปัฐยาวัตรฉันท์ ซึ่งท่านกำหนดว่า บาทหนึ่งมี ๘ อักษร (คำ) เพราะฉะนั้น แต่ละส่วนจึงมี ๘ คำ เช่น มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา (๘ คำ) มโนเสฏฺฐา มโนมยา (๘ คำ)  จึงนับเป็นบาทหนึ่งทุกๆ ๘ คำ ในตัวอย่างข้อ (๔.๑) จึงมีทั้งหมด ๖ บาทด้วยกัน

ตามตัวอย่างข้อ (๔.๒) เป็นอันทรวงศ์ฉันท์  ซึ่งท่านกำหนดว่า บาทหนึ่งมี ๑๒ อักษร (คำ) เพราะฉะนั้น ในแต่ละบรรทัดซึ่งมี ๑๒ คำ เท่ากันหมดทุกบรรทัด จึงนับว่าเป็นบาทได้ทุกบรรทัด ดังนั้นในตัวอย่างข้อ (๔.๒) นี้ จึงมีทั้งหมด ๔ บาท ตามลักษณะกฎเกณฑ์ของอินทรวงศ์ฉันท์

คาถา คือ ฉันท์ที่แต่งได้ครบ ๔ บาทซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทุกบาทแล้ว คือเป็นฉันท์ชนิดเดียวกันทั้ง ๔ บาท ไม่มีฉันท์ชนิดอื่นเข้ามาปะปนด้วย เมื่อแต่งครบ ๔ บาทแล้วดังตัวอย่างข้อ (๔.๒) เรียกว่า "คาถาหนึ่ง" (๔ บาท = ๑ คาถา) ถ้าแต่งเกินไปอีก ๒ บาท เป็น ๖ บาท ดังตัวอย่างข้อ (๔.๑) เรียกว่า "คาถากึ่ง" ต่อไปเรียกเป็นคาถาทุกๆตอนที่ครบ ๔ บาท เป็น ๒ คาถา ๓ คาถา เรื่อยไป หากว่าในตอนใดแต่งเกินไปอีก ๒ บาท แล้วยุติ ไม่แต่งต่อก็ได้ นับเป็นกึ่ง เช่น ๒ คาถากึ่ง ๓ คาถากึ่ง เป็นต้น

 

(๕) ข้อบังคับในการแต่งฉันท์

การแต่งฉันท์นั้น  ผู้แต่งจะแต่งมากน้อยเพียงใด จะแต่งกี่คาถาก็ได้ ไม่มีระเบียบหรือกฎห้ามอันใด แต่ต้องอยู่ในข้อบังคับต่อไปนี้โดยเคร่งครัดคือ

  • ๕.๑ ฉันท์ทุกชนิดที่กำหนดแต่งไว้นั้น จะต้องแต่งให้ครบ ๔ บาทหรือคาถาหนึ่งเป็นอย่างน้อยเสมอ จะแต่งเพียง ๒ บาทหรือกึ่งคาถาหรือเพียง ๑ บาท ๓ บาท แล้วหยุดแต่ง ไปขึ้นฉันท์ชนิดใหม่ มารวมกับฉันท์เก่า เป็นครบ ๔ บาท หรือ คาถาหนึ่ง ไม่ได้ เมื่อแต่งฉันท์ชนิดนั้นๆ จนครบ ๔ บาทแล้ว จะหยุดแต่งหรือไปแต่งฉันท์ชนิดอื่นต่อไปก็ได้ แม้ฉันท์ชนิดใหม่นี้ก็ต้องแต่งให้ได้อย่างน้อยคาถาหนึ่งเช่นกัน
  • ๕.๒ เมื่อแต่งครบคาถาหนึ่งแล้ว หากความยังไม่จบ จะแต่งต่ออีก ส่วนที่ต่อออกไปนั้นจะต้องเป็น "กึ่งคาถา" หรือ "เต็มคาถา" เท่านั้น จะต่อไปเพียง ๑ บาท หรือ ๓ บาท เป็นคาถาหนึ่งกับอีก ๑ บาท หรือคาถาหนึ่งกับอีก ๓ บาท ไม่ได้ แม้ ๒ คาถากับอีก ๑ บาท, ๒ คาถากับอีก ๓ บาทเป็นต้น ก็นัยนี้
  • ๕.๓ การวางรูปคาถาในฉันท์ มีกำหนดเป็นลักษณะที่ตายตัว จำต้องวางให้ได้ลักษณะนั้นเสมอไป คือ
    • ปัฐยาวัตรฉันท์  ให้เรียงไว้บรรทัดละ ๒ บาท คือบรรทัดแรกเรียงบาทที่ ๑ กับบาทที่ ๒ บรรทัดล่างต่อมาเรียงบาทที่ ๓ กับบาทที่ ๔ เรียงไปอย่างนี้จนกว่าจะแต่งจบฉันท์ชนิดนี้
    • ฉันท์อื่นนอกจากปัฐยาวัตรที่ท่านกำหนดให้เรียนในชั้นประโยค ป.ธ.๘ มีอินทรวิเชียรฉันท์เป็นต้นให้เรียงไว้บาทละ ๑ บรรทัด คาถาหนึ่งก็มี ๔ บาท (๔ บรรทัด) เรียงไปอย่างนี้จนกว่าจะแต่งจบฉันท์ชนิดนั้นๆ
    • การเขียนแต่ละบาทนั้น จะต้องเขียนให้ตรงเป็นแนวเดียวกันลงมา ไม่นิยมย่อหน้าเหมือนฉันท์ภาษาไทย ส่วนปลายบาทนั้นจะเสมอกันหรือไม่ ไม่เป็นประมาณ

ดูแผนผังประกอบ

  • บาทที่ (๑) และบาทที่ (๓) ในแต่ละคาถา เรียกว่า วิสมบาท (บาทขอน)
  • บาทที่ (๒) และบาทที่ (๔) ในแต่ละคาถา เรียกว่า สมบาท (บาทคู่)

 (๕.๔) ฉันท์แต่ละอย่างที่แต่งนั้น จะต้องแจ้งชื่อไว้ด้วย โดยนิยมเขียนไว้ทางด้านซ้ายของข้อความ จะเขียนเพียงชื่อฉันท์เฉยๆ เช่น ปัฐยาวัตร อินทรวิเชียร เป็นต้นก็ได้ จะใส่คำว่า "ฉันท์" ต่อท้าย เป็น ปัฐยาวัตรฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ เป็นต้นก็ได้ แต่สนามหลวงนิยมเขียนเพียงชื่อฉันท์เฉยๆ (ดูเฉลยสนามหลวง) และนิยมแจ้งชื่อฉันท์เป็นภาษาไทย ไม่นิยมแจ้งชื่อเป็นภาษาบาลี เป็น ปฐยาวตฺตํ, อินฺทวชิรา, อินฺทวํโส เป็นต้น

การแจ้งชื่อฉันท์นี้ถือเป็นระเบียบของสนามหลวง ในข้อสอบจะระบุเป็นคำสั่งไว้เสมอว่า "แต่งฉันท์อะไร แจ้งชื่อไว้ด้วย" ดังนั้น หากไม่แจ้งชื่อฉันท์หรือแจ้งชื่อผิด เช่นแจ้งเป็นอินทรวิเชียร แต่แต่งเป็นอินทรวงศ์ ดังนี้ ถือว่าผิด และผิดแรงด้วย นักศึกษาพึงระวังข้อนี้ไว้ให้ดี ไม่ควรให้ผิดเพราะเผลอได้เป็นการดี

 

(๕.๕) เมื่อแต่งจบเรื่องที่ต้องการแล้ว ต้องใส่ อิติ ศัพท์ เข้ามารับด้วยทุกครั้ง เป็นการบอกให้ทราบว่าแต่งจบแล้ว หรือปิดรายการแล้ว อิติ ศัพท์นั้นไม่เข้าเป็นคณะด้วย  จะเป็นส่วนที่เกินมาอย่างเดียวและจะปรากฏเพียงรูป "ติ" อย่างเดียว เพราะต้องสนธิกับคำสุดท้ายของบาทนั้นเสมอ เช่น ตทาติ, ยถาติ, คตนฺติ, มโหโฆติ, รกฺขตูติ เป็นต้น จะแยกกันเป็น ตทา อิติ, ยถา อิติ, คตํ อิติ ไม่ได้ ถ้าแยกจะนับเข้าคณะทันที

อนึ่ง เมื่อแต่งจบแต่ละฉันท์แล้ว จะขึ้นฉันท์ใหม่ นิยมใส่ ฯ กำกับอีกทีหนึ่ง ส่วน อิติ นั้น ไม่นิยมใส่คุมท้ายของทุกฉันท์ที่แต่ง นิยมใส่เพียงครั้งเดียวดังกล่าวข้างต้น

ในข้อ (๕) นี้ พึงดูตัวอย่างประกอบดังนี้ (จากสนามหลวงปี ๒๕๒๑ บางส่วน)

 

ปัฐยาวัตร โย หิ  เสฏฺโฐ  มหาราชา ภูมิภโลติ  วิสฺสุโต
  ทยฺยานํ  จกฺกิวํสสฺส นนฺทิโก  นวมิสฺสโร
  นิจฺจํ  สเมน  ธมฺเมน รชฺชํ  กาเรติ  โสตฺถินา
                                           ฯ เป ฯ
วสันตดิลก ราชา  หิ  โส  สุตธโร  ทสธมฺมธารี
  เมตฺตาทิธมฺมปวราสยกายจิตฺโต
  ทยฺยาน  มานสหโร  ปมุขคฺคฐายี
  วตฺถุตฺตยมฺหิ  สมคารวติพฺพสทฺโธ
                      ฯ เป ฯ
  สามตฺถิเยน  วิริเยน  สุพุทฺธิยา  จ
  เทเสสุ  ปากฏสุกิตฺติคุโณ  อโหสิ
   
 อินทรวงศ์ สฺยามาภิเทวา  รตนตฺตยํ  อถ
  ปาเลนฺตุ  โน  ภูมิพลํ  นราธิปํ
  ตสฺเสว  ปุตฺเต  ปิยราชินึ  สทา
  สพฺเพ  อโรคา  สุขิตา  จ  นิพฺภยา
  ปสฺสนฺตุ  ภทฺรํ  สห  ราชญาติภิ
  ราชา  อมิตฺเต  ตรตํ ว  สพฺพทา
  รชฺเช  จิรํ  ติฏฺฐตุ  รฏฺฐวฑฺฒโน
  ทยฺยาน  ฉตฺตํ  สุขทํว  อุทฺธฏนฺติ ฯ

 

(๖) คณะฉันท์

ฉันท์วรรณพฤติ ซึ่งกำหนดให้ศึกษาในชั้นประโยค ป.ธ.๘ นั้น แต่ละชนิดกำหนดด้วยอักขระหรือคำ โดยท่านรวมอักขระลงเป็นกลุ่มอักขระหรือกลุ่มคำ เรียกว่า "คณะ" คณะฉันท์แต่ละคณะมี ๓ อักขระหรือ ๓ คำ เท่ากันทั้งหมด แต่ละคณะจะมีอักขระไม่ซ้ำกับคณะอื่นทั้ง ๓ อักขระ คือ จะมี ครุ ล้วนบ้าง มี ลหุ ล้วนบ้าง ปนกันบ้าง สับหน้าสับหลังกันบ้าง เมื่อรวมแล้วได้ ๘ คณะคือ

มะ คณะ นะ คณะ
สะ คณะ ชะ คณะ
ตะ คณะ ภะ คณะ
ระ คณะ ยะ คณะ

มีคาถาแสดงตำแหน่งของครุลหุของแต่ละคณะดังนี้

สพฺพคฺลา  มฺนาทิคลหู ภฺยา  มชฺฌนฺตครู  ชสา
มชฺณนฺตลา  รเตเตฏฺฐ คณา  โค  ครุ  โล  ลหุ ฯ
  •  (คณะ ๘ คณะนี้ คือ มะ คณะ เป็นครุล้วน นะ คณะ เป็นลหุล้วน, ภะ คณะ มีครุอยู่ต้น ยะ คณะ มีลหุอยู่ต้น, ชะ คณะ มีครุอยู่กลาง สะ คณะ มีครุอยู่ท้าย, ระ คณะ มีลหุอยู่กลาง ตะ คณะ มีลหุอยู่ท้าย, ค ก็คือ ครุ  ล ก็ ลหุ)

มีคำแปลเป็นคำโคลงดังนี้

มะ นะ ครุ อุ ล้วน เรียงกัน
ภะ ยะ ครุ อุ สรร เสกหน้า
ชะ ระ ครุ อุ พัน เนาท่าม-กลางหนา
สะ ตะ ครุ อุ อ้า ว่าไว้หนหลัง ฯ

 ในการเขียนสัญลักษณ์ของครุลหุ ท่านใช้เลขแทนบ้าง คือ เลข ๑ แทนลหุ  เลข ๒ แทนครุ  ใช้เครื่องหมาย  ั  แทนครุ ใช้  ุ  แทนลหุบ้าง ในที่นี้จักใช้  ั  กับ  ุ แทน

เพื่อความเข้าใจ พึงจำลักษณะของครุ  ลหุ  ในแต่ละคณะดังนี้ก่อน

สพฺพญฺญู - โม สุมุนิ - โน สุคโต - โส มุนินฺท - โช
มาราชิ - โต มารชิ - โภ นายโก - โร มเหสี - โย ฯ

 

สัญลักษณ์

มะ = สพฺพญฺญู ั  ั  ั ๒​  ๒​  ๒ ยาว ยาว ยาว
นะ = สุมุนิ ุ  ุ  ุ ๑  ๑  ๑ สั้น สั้น สั้น
สะ = สุคโต ุ  ุ  ั ๑  ๑  ๒ สั้น สั้น ยาว
ชะ = มุนินฺท ุ  ั  ุ ๑  ๒  ๑ สั้น ยาว สั้น
ตะ = มาราชิ ั  ั  ุ ๒  ๒  ๑ ยาว ยาว สั้น
ภะ = มารชิ ั  ุ  ุ ๒  ๑  ๑ ยาว สั้น สั้น
ระ = นายโก ั  ุ  ั ๒  ๑  ๒ ยาว สั้น ยาว
ยะ = มเหสี ุ  ั  ั ๑  ๒  ๒ สั้น ยาว ยาว

 ในเบื้องต้นนักศึกษาพึงจำคณะฉันท์เหล่านี้ให้แม่นยำ  โดยจำว่าแต่ละคณะมีครุมีลหุอยู่ตรงไหนของคณะ อยู่ต้น อยู่ท้าย อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นอุปการะในการแต่งฉันท์ระยะแรก ซึ่งยังจำผังของฉันท์ไม่แม่นยำ ทั้งจะช่วยให้นึกออกว่า ตรงไหน ตอนใดของฉันท์ชนิดนั้นๆ ท่านห้ามใช้คณะฉันท์อะไร  ให้ใช้คณะฉันท์อะไร เมื่อแต่งชำนาญดีแล้วรู้และจำผังของฉันท์แต่ละชนิดได้ดีแล้วว่า ฉันท์ชนิดนี้จะต้องวางครุวางลหุไว้ตรงไหน การจำคณะฉันท์เหล่านี้ก็ไม่จำเป็นนัก.

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search