ความเริ่มต้น ในการแต่งฉันท์ภาษามคธ

"ฉันท์" เป็นวิชาใหม่ซึ่งทางสนามหลวงกำหนดเป็นหลักสูตรสำหรับชั้นประโยค ป.ธ.๘ เป็นวิชาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น "สุดยอด" ของกระบวนวิชาภาษาบาลีทั้งหมด เป็นวิชาที่รวบรวมความรู้ด้านต่างๆ ในภาษาบาลีมาประมวลให้เป็นบทกวีที่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับค่อนข้างตายตัว สามารถนำไปสาธยายเป็นทำนองเสนาะหรือที่เรียกว่า "สวดเป็นทำนองสรภัญญะ" ได้ เป็นวิชาเดียวที่บ่งบอกว่า ผู้ใดจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาบาลีอย่างแท้จริง

เพาะผู้ที่สามารถแต่งฉันท์ได้ดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนวิชาภาษาบาลีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านไวยากรณ์ ด้านวิธีเรียงศัพท์ วิธีใช้ศัพท์ รวมไปจนกระทั่งถึงต้องมีลีลาในการนำถ้อยคำต่างๆ มาเรียบเรียงให้เป็นหมวดเป็นหมู่ถูกที่ถูกทางตามกฎเกณฑ์ที่บังคับไว้ เหมือนการแต่งโคลงกลอนในภาษาไทยซึ่งบังคับเสียงและบังคับสัมผัสเป็นต้น

ผู้แต่งฉันท์นั้น หาจำแนกตามความชำนาญแล้วก็ได้เป็น ๒ ประเภทคือ ประเภทแต่งได้ กับประเภทแต่งเป็น

ประเภทแต่งได้

ได้แก่ พอแต่งให้ถูกหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ พอรักษารูปลักษณะของฉันท์ไว้ได้พอมีท่วงทีให้รู้ว่ามีความสามารถในเชิงกวีอยู่บ้าง ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญชำนาญนัก ฉันท์ที่แต่งออกมาไม่ค่อยมีรสชาติเท่าไร ไปได้ทื่อๆ เต็มไปด้วยปทปูรณะ วางศัพท์เปะปะไปหมด ผู้แต่งฉันท์อย่างนี้อยู่ในประเภทแต่งได้

ประเภทแต่งเป็น

ได้แก่ แต่งได้ที่เรียกว่า "ถึงขนาด" นอกจากถูกหลักถูกเกณฑ์แล้ว ยังมีลีลาในการใช้ศัพท์ในการวางศัพท์ มีอุปมาอุปไมยในที่ที่ควรวางอุปมาอุปไมยไว้ ศัพท์ทุกศัพท์ที่ใช้มีความหมายมีความอิ่มตัวอยู่ในตัว มีความชัดเจน มองเห็นภาพพจน์ได้ ทั้งดูแล้วอ่านแล้วมีรสชาติ มึความซับซ้อนซ่อนคมอยู่ในตัว แต่ก็ไม่ผิดหลักเกณฑ์ ดังเช่นคาถาบท พาหุํ ในคำถวายพรพระ ฉันท์เช่นนี้จัดว่าถึงขนาด ผู้แต่ได้เช่นนี้ จัดอยู่ในประเภท "แต่งเป็น"

ผู้ศึกษาที่จะต้องแต่งฉันท์นั้น จะต้องมีความรู้ในกระบวนวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาบาลี ดังที่ท่านกำหนดไว้เป็นคาถาในคัมภีร์สุโพธาลังการ ว่า

          โย สทฺทสตฺถกุสโล กุสโล นิฆณฺฑุจฺ-
          ฉนฺโทอลงฺกติสุ นิจฺจกตาภิโยโค
          โสยํ กวิตฺตวิกโลปิ กวีสุ สงฺขฺยํ
          โยคยฺห วินฺทติ หิ กิตฺติมมนฺทรูปํ ฯ

       บุคคลใด เป็นผู้เชี่ยวชาญในศัพทศาสตร์ ฉลาดในนิฆัณฑุศาสตร์ ฉันทศาสตร์ และอลังการศาสตร์ ได้ทำการฝึกฝนมิได้ขาด บุคคลนี้นั้นถึงจะบกพร่องจากคุณเครื่องความเป็นกวีไปบ้าง ก็จะหยั่งลงสู่ความนับ (เนื่อง) ในหมู่กวี ประสบเกียรติคุณได้ไม่น้อยเลย ฯ

ถือเอาความได้ว่า ผู้ที่เป็นนักกวีได้นั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ ๔ อย่างคือ

  1. คัมภีร์ศัพทศาสตร์     ว่าด้วยเรื่องไวยากรณ์ และศัพท์ต่างๆ
  2. คัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์     ว่าด้วยเรื่องความหมายของศัพท์ ได้แก่คัมภีร์อภิธาน หรือพจนานุกรมบาลี
  3. คัมภีร์ฉันทศาสตร์     ว่าด้วยเรื่องราวของฉันท์ เช่นคัมภีร์วุตโตทัยเป็นต้น
  4. คัมภีร์อลังการศาสตร์     ว่าด้วยกระบวนการแต่งบาลี ลีลาแต่งฉันท์ เช่นคัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์เหล่านี้ แม้จะไม่มีอุปนิสัยในเชิงกวีมาก่อน หากอาศัยการฝึกฝน หมั่นขีด หมั่นเขียน หมั่นดู หมั่นทำบ่อยๆ โดยไม่ขาดตอน (นิจฺจกตาภิโยโค) ย่อมจะได้รับความสำเร็จในการแต่งฉันท์ ได้เช่นกัน และจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นกวีประเภท "แต่งเป็น" มีชื่อเสียงเกียรติคุณในทางนี้ โดยไม่ยากและไม่ช้านักเลย

การที่จะชี้จะแจงให้นักศึกษาสามารถแต่งฉันท์ได้จนถึงขนาดแต่งเป็นนั้น ย่อมเป็นการยากยิ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าฉันท์แล้วย่อมเป็นเรื่องยากแทบทั้งสิ้น เขียนก็ยาก อธิบายก็ยาก ทำความเข้าใจก็ยากสมกับเป็นวิชา "สุดยอด" ของภาษาบาลีจริงๆ ดังนั้น ในบทนี้จึงจักแสดงหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งความรู้ในแง่มุมต่างๆ ในการแต่งฉันท์เท่าที่พอจะสามรถแสดงได้เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์หรือละเอียดเสียทีเดียว แสดงพอเป็นแนวศึกษาพอที่จะได้ "แต่งฉันท์เป็น" กะเขาบ้าง ส่วนรายละเอียดและความช่ำชองชำนาญ ผู้ศึกษาพึงค้นคว้าหาเพิ่มเติมเองจากคัมภีร์นั้นๆ และย่อมพบได้จากการฝึกฝนด้วยตนเองและจากฉันท์ประเภทต่างๆ ที่นักกวีทั้งหลายแต่งไว้ในปกรณ์นั้นๆ แล้ว.


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search