ลกุณฏกภัททิยะ(พระลกุณฏกภัททิยเถระ)

ลกุณฏกภัททิยะ(พระลกุณฏกภัททิยเถระ)
พระลกุณฏกภัททิยเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิม ลกุณฏกภัททิยะ
สถานที่เกิด เมืองสาวัตถี
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะ ผู้มีเสียงไพเราะ
ฐานะเดิม
ชาวเมือง สาวัตถี
สถานที่รำลึก
สถานที่ วัดพระเชตวันมหาวิหาร

ประวัติ

 

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ

 

พระเถระที่ชื่อ “ภัททิยะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ 

 ๑. พระภัททิยะ หนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์

๒. พระลกุณฏกภัททิยะ ผู้เป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้มีเสียงไพเราะ และ 

๓. พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง

      ประวัติของพระเถระในเรื่องนี้หมายเอาถึงพระลกุณฏกภัททิยะ ซึ่งท่านมีชื่อเช่นนั้นก็เนื่องมาจากท่านมีรูปร่างต่ำเตี้ยนั่นเองการที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี วันหนึ่งเที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ ก็ได้ไปถึงสังฆาราม ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา แล้วได้ทรงสถาปนาพระภิกษุผู้รูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ จึงปรารถนาว่าต่อไปในอนาคตเราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุนี้ จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทานอันเจือปนด้วยรสหวาน เช่น เนยใส และน้ำตาลกรวดเป็นต้น แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน แล้วแล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานนี้ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตก็ทรงเห็นความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ จึงได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางพระสงฆ์ว่า ในอนาคตกาล ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมดังมโนรถความปรารถนา ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีบุตรผู้นี้ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าภัททิยะ ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะในศาสนาของพระองค์ดังนี้แล้วเสด็จกลับพระวิหาร

 

บุรพกรรมในสมัยพระผุสสพุทธเจ้า

เมื่อท่านได้รับพุทธพยากรณ์เช่นนั้นแล้ว ก็ได้กระทำกรรมดีงามอยู่ตลอดชีวิต ทำกาละในอัตภาพนั้นแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ (พระอรรถกถาจารย์บางท่านกล่าวว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี) ท่านบังเกิดเป็นนกดุเหว่าขาวมีขนปีกอันสวยงาม อยู่ในเขมมิคทายวัน วันหนึ่งนกดุเหว่านั้นได้ออกไปยังหิมวันตประเทศเพื่อหาอาหาร ได้พบมะม่วงอันมีรสอร่อย จึงได้เอาปากคาบผลมะม่วงหวานมาเพื่อเป็นอาหารสำหรับลูกน้อย ขณะที่บินกลับรังนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระราชดำเนินไปบิณฑบาต จึงทำจิตให้เลื่อมใส แล้วร้องด้วยเสียงอันไพเราะ ถวายบังคมแล้วคิดว่าในวันอื่น ๆ เรามีตัวเปล่าพบพระตถาคต แต่วันนี้เรานำมะม่วงสุกผลนี้มาเพื่อฝากบุตรของเรา แต่สำหรับบุตรนั้นเราไปเอาผล อื่นมาให้ก็ได้ แต่ผลนี้เราควรถวายพระทศพลดังนี้ จึงคงบินอยู่ในอากาศ พระศาสดาทรงทราบใจของนกจึงแลดูพระอุปัฏฐากนามว่า อโสกเถระ พระเถระจึงนำบาตรถวายพระศาสดา นกดุเหว่าจึงเอาผลมะม่วงสุกวางไว้ในบาตรของพระทศพล ใส่บาตรแล้วก็เอาปีกจบ ร้องด้วยเสียงอันไพเราะ เสนาะน่าฟังน่ายินดี เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระศาสดาประทับนั่งเสวยในที่นั้นนั่นแหละ นกดุเหว่ามีจิตเลื่อมใสนึกถึงพระคุณของพระทศพลเนือง ๆ ถวายบังคมพระทศพลแล้วไปรังของตน ครั้งนั้นนกเหยี่ยวผู้มีใจชั่วช้าได้โฉบเอานกดุเหว่าผู้มีจิตเบิกบาน ผู้มีอัธยาศัยไปสู่ความรักในพระพุทธเจ้าฆ่าเสีย และด้วยบุญกรรมนั้นนั่นแหละทุกๆ ภพที่ท่านเกิดเป็นมนุษย์ จึงได้มีเสียงไพเราะ

ท่านจุติจากอัตภาพนั้นไปเสวยมหันตสุขในสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วมาสู่กำเนิดมนุษย์เพราะกรรมนั้นพาไป

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงแล้ว มหาชนทั้งหลายผู้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตกลงกันที่จะสร้างพระมหาเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในการประชุมันเพื่อจะกำหนดขนาดของพระเจดีย์นั้น ชนทั้งหลายต่างพูดกันว่า เราจะสร้างขนาดเท่าไร เราสร้างขนาด ๗ โยชน์ก็จะใหญ่เกินไป ถ้าอย่างนั้นก็สร้างขนาด ๖ โยชน์ แม้ ๖ โยชน์นี้ก็ใหญ่เกินไป เราจะสร้าง ๕ โยชน์ เราจะสร้าง ๔ โยชน์… ๓ โยชน์… ๒ โยชน์ ดังนี้ ท่านภัททิยะในครั้งนั้น ได้ถือกำเนิดเป็นแม่ทัพของพระเจ้ากาสีพระนามว่า กิกิ ก็พูดขึ้นในที่ประชุมว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายการสร้างก็ควรนึกถึงการบำรุงได้ง่ายในอนาคตกาลบ้าง แล้วกล่าวกำหนดขนาดของพระมหาเจดีย์ว่า ให้มุขแต่ละมุขมีขนาดคาวุตหนึ่ง พระเจดีย์มีเส้นรอบวงยาวโยชน์หนึ่ง มีส่วนสูงโยชน์หนึ่ง เมื่อท่านพูดดังนี้ มหาชนเหล่านั้นก็เชื่อท่าน แล้วได้สร้างพระมหาเจดีย์ในขนาดแต่พอประมาณแด่พระพุทธเจ้าผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ ด้วยกรรมนั้นดังกล่าวมานี้ จึงเป็นผู้มีขนาดต่ำกว่าชนเหล่าอื่นในที่ที่ตนเกิดแล้ว ด้วยประการดังนี้

 

กำเนิดเป็นภัททิยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้งพระศาสดาของเรา ท่านมาบังเกิดในตระกูลที่มีโภคะสมบัติมากในกรุงสาวัตถี พวกญาติขนานนามของท่านว่า ภัททิยะ ท่านเจริญวัยแล้ว แต่มีรูปร่างไม่น่าเลื่อมใส มีวรรณะไม่งาม ไม่น่าดู ค่อม วันหนึ่งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร ท่านพร้อมด้วยอุบาสกไปพระวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้วแล้วรับกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนาบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เป็นพหูสูต เป็นพระธรรมกถึกแสดงธรรมแก่คนเหล่านอื่นด้วยเสียงอันไพเราะ

ครั้นในวันมหรสพวันหนึ่งหญิงคณิกาคนหนึ่งไปรถกับพราหมณ์คนหนึ่ง เธอมองเห็นเห็นพระเถระเข้าจึงหัวเราะจนเห็นฟัน พระเถระถือเอานิมิตในกระดูกฟันของหญิงนั้นแล้วทำฌานให้เกิดขึ้น กระทำฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาได้เป็นพระอนาคามี ท่านอยู่ด้วยสติเป็นไปในกายเนืองๆ

 

พระสารีบุตรเทศน์โปรดพระเถระ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นเหล่าภิกษุผู้เสขบุคคล ซึ่งยังไม่บรรลุพระอรหัตผล โดยมากก็จะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ขอกัมมัฏฐานบ้าง ขอฟังธรรมเทศนาบ้าง ถามปัญหาบ้าง เพื่อมรรคเบื้องสูง ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะทำความประสงค์ของท่านเหล่านั้นให้บริบูรณ์ จึงบอกกัมมัฏฐาน แสดงธรรม แก้ปัญหา ให้กับภิกษุเหล่านั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นพากเพียรพยายามอยู่ บางพวกก็บรรลุสกทาคามิผล บางพวกก็บรรลุอนาคามิผล บางพวกก็บรรลุอรหัตผล บางพวกได้วิชา ๓ บางพวกได้อภิญญา ๖ บางพวกได้ปฏิสัมภิทา ๔

ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะเห็นเหตุนั้นแล้ว เมื่อยังเป็นพระเสขบุคคล ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ก็รู้จักกาลที่ควร และกำหนดความที่ตนบกพร่องในทางจิต เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดี ขอให้แสดงธรรมเทศนา ฝ่ายพระธรรมเสนาบดี ก็ได้แสดงธรรมอันเหมาะสมแก่อัธยาศัยของท่าน ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยาย

เมื่อท่านลกุณฏกภัททิยะพิจารณาลักษณะที่ถ่องแท้ ยังญาณให้เป็นไปตามกระแสเทศนา ท่านก็ถึงความแก่กล้าแห่งญาณตามอานุภาพเทศนาของพระเถระ และเพราะความที่สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ในขณะที่พระธรรมเสนาบดีแสดงธรรม จิตของท่านไม่ยึดอาสวะอะไรๆ มีกามาสวะเป็นต้น หลุดพ้นโดยเด็ดขาด ตามลำดับแห่งมรรค กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล

จริงอยู่ ท่านลกุณฏกภัททิยะ นั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละบรรลุธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยโอวาทแรกตามวิธีดังกล่าวในสูตรแรก ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีไม่ทราบการบรรลุพระอรหัตนั้นของท่าน โดยมิได้คำนึงถึง สำคัญว่ายังพระเสขะอยู่ตามเดิม เหมือนบุรุษผู้มีใจกว้างขวาง เขาขอน้อยก็ให้มากฉะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อสิ้นอาสวะ โดยอเนกปริยายยิ่งๆ ขึ้นไปทีเดียว ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะมิได้คิดว่า บัดนี้เราทำกิจเสร็จแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยโอวาทนี้ จึงนั่งฟังโดยเคารพอยู่เช่นเดิม เพราะความเคารพในพระสัทธรรม

พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระสารีบุตรสำคัญว่าท่านพระลกุณฐกภัททิยะยังเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาโดยอเนกปริยาย ให้ยิ่งขึ้นกว่าปกติต่อไปอีก ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้ด้วยพุทธานุภาพแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า

บุคคลตัดวัฏฏะได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานอันเป็นสถานที่ไม่มีตัณหา ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้วย่อมไม่ไหลไป

วัฏฏะที่บุคคลตัดได้แล้ว ย่อมไม่เป็นไป นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

 

ทรงแต่งตั้งพระเถระเป็นเอตทัคคะ

ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่ง ผู้ยอดของเหล่าภิกษุผู้มีเสียงไพเราะ

 

บุรพกรรมของพระเถระที่ทำให้ผิวพรรณไม่งาม

ท่านลกุณฏกภัททิยะเมื่อได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ภิกษุและสามเณรบางพวก ไม่รู้ว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว แกล้งดึงหูท่านเสียบ้าง จับศีรษะจับแขน หรือจับมือและเท้าเป็นต้นสั่นเล่น เบียดเบียนบ้าง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ปรามาสท่านและ หยอกล้อแบบต่าง ๆ ฉุดมาบ้าง รั้งไปรอบ ๆ บ้าง ในที่นั้น ๆ เนื่องด้วยท่านมีรูปร่างเตี้ยและกลมเหมือนดังสามเณร และมีผิวพรรณไม่งาม

วันหนึ่งเมื่อท่านถวายบังคมพระตถาคตแล้วไปที่ซุ้มประตูพระเชตวัน ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๓๐ รูปไปยังพระเชตวันด้วยคิดว่าจักถวายบังคมพระตถาคต เห็นพระเถระที่ซุ้มวิหาร จึงพากันจับพระเถระที่ชายจีวร ที่มือ ที่ศรีษะ ที่จมูก ที่หู เขย่า ด้วยสำคัญว่าท่านเป็นสามเณร ทำด้วยคะนองมือ ครั้นภิกษุเหล่านั้นเก็บบาตรจีวรแล้วก็พากันเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง

เมื่อพระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถารด้วยพระดำรัสอันไพเราะแล้วจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ได้ยินว่ามีพระเถระองค์หนึ่งชื่อลกุณฏกภัททิยะเถระเป็นสาวกของพระองค์ แสดงธรรมไพเราะ เดี๋ยวนี้พระเถระรูปนั้นอยู่ที่ไหนพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประสงค์จะเห็นหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายใคร่จะเห็น

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่พวกเธอเห็นที่ซุ้มประตูแล้วพวกเธอคะนองมือจับที่ชายจีวรเป็นต้นมาแล้ว ภิกษุรูปนั้นแหละคือ ลกุณฏกภัททิยะละ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร ได้ตั้งความปรารถนาไว้เห็นปานนี้ เพราะเหตุใดจึงมีศักดิ์น้อยเล่าพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า เพราะอาศัยกรรมที่ตนได้ทำไว้ ภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่อง เกฬิสีลชาดก มาตรัสเล่า

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกเทวราช ในกาลนั้นใคร ๆ ก็ไม่อาจจะให้พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงเห็นช้าง ม้า หรือโคที่แก่ชรา พระองค์ชอบเล่นสนุก ทอดพระเนตรเห็นสัตว์เช่นนั้นจึงรับสั่งให้พวกมนุษย์ต้อนไล่แข่งกัน เห็นเกวียนเก่า ๆ ก็ให้แข่งกันจนพัง เห็นสตรีแก่รับสั่งให้เรียกมากระแทกที่ท้องให้ล้มลง แล้วจับให้ลุกขึ้น ให้ขับร้องเพลง เห็นชายแก่ ๆ ก็ให้หกคะเมนตีลังกาเป็นต้น บนพื้นดิน ดุจนักเล่นกระโดด เมื่อไม่ทรงพบเห็นเอง เป็นแต่ได้สดับข่าวว่า คนแก่มีที่บ้านโน้น ก็รับสั่งให้เรียกตัวมาบังคับให้เล่น พวกมนุษย์ต่างก็ละอาย ส่งมารดาบิดาของตนไปอยู่นอกแคว้น ขาดการบำรุงมารดาบิดา พวกราชเสวกก็พอใจในการเล่นสนุก พวกที่ตายไป ๆ ก็ไปบังเกิดเต็มในอบาย ๔ เทพบริษัททั้งหลายก็ลดลง

ท้าวสักกะไม่ทรงเห็นเทพบุตรเกิดใหม่ ทรงรำพึงว่า เหตุอะไรหนอ ครั้นทรงทราบเหตุนั้นแล้วดำริว่า เราจะต้องทรมานพระเจ้าพรหมทัต จึงทรงแปลงเพศเป็นคนแก่ บรรทุกตุ่มเปรียง ๒ ใบ ใส่ไปบนเกวียนเก่า ๆ เทียมโคแก่ ๒ ตัว ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงช้างพระที่นั่งตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ เสด็จเลียบพระนคร ท้าวสักกะก็ทรงขับเกวียนนั้นตรงไปเฉพาะพระพักตร์พระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นเกวียนเก่าเทียมด้วยโคแก่ จึงตรัสให้นำเกวียนนั้นมา พวกราชบริพารก็วิ่งหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่เห็น กราบทูลว่า คนแก่นั้นอยู่ที่ไหน พระองค์ คนแก่นั้นอยู่ที่ไหน พระองค์ เพราะท้าวสักกะทรงอธิษฐานไว้อย่างนี้ว่าพระราชาเท่านั้นจงเห็นเรา คนอื่นอย่าได้เห็น

ด้วยเดชของท้าวสักกะ พระราชาพร้อมทั้งช้างก็เสด็จเข้าไปอยู่ใต้เกวียน เหมือนลูกโคอยู่ใต้แม่โคฉะนั้น ท้าวสักกะก็ทรงทุบตุ่มเปรียงแตกออกรดบนพระเศียรของพระราชาเปรียงก็ไหลลงเปรอะเปื้อนพระราชาตั้งแต่พระเศียร พระราชาทรงอึดอัดละอาย ขยะแขยง ครั้นท้าวสักกะทรงทราบว่า พระราชาทรงวุ่นวายพระทัย ก็ทรงขับเกวียนหายไป เนรมิตพระองค์เป็นท้าวสักกะอย่างเดิม พระหัตถ์ทรงวชิราวุธ ประทับยืนบนอากาศ ตรัสคุกคามว่า ดูก่อน อธรรมิกราชผู้ชั่วช้า ชะรอยท่านจะไม่แก่ละหรือ ความชราจักไม่กล้ำกรายสรีระของท่านหรือไร ท่านมัวแต่เห็นแก่เล่น เบียดคนแก่มามากมาย เพราะอาศัยท่านผู้เดียวคนที่ตาย ๆ ไป เพราะทำกรรมนั้นจึงเต็มอยู่ในอบาย พวกมนุษย์ไม่ได้บำรุงมารดาบิดา หากท่านไม่งดทำกรรมนี้ เราจะทำลายศีรษะของท่านด้วยจักรเพชรนี้ ตั้งแต่นี้ท่านอย่าได้ทำกรรมนี้อีกเลย แล้วตรัสถึงคุณของมารดาบิดา ทรงชี้แจงอานิสงส์ของการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้สูงอายุ ครั้นทรงสอนแล้วก็เสด็จกลับไปยังวิมานของพระองค์

ตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็มิได้แม้แต่คิดที่จะทำกรรมนั้นอีกต่อไป

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกว่า “เถระ” เพราะความเป็นคนแก่ เพราะเหตุสักว่านั่งบนอาสนะพระเถระ ส่วนผู้ใด แทงตลอดสัจจะทั้งหลายแล้ว ตั้งอยู่ในความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนมหาชน ผู้นี้ชื่อว่าเป็นเถระ” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:

“บุคคล ไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะมีผมหงอกบนศีรษะ

ผู้มีวัยแก่รอบแล้วนั้น เราเรียกว่า “แก่เปล่า,”

(ส่วน) ผู้ใด มีสัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ

และทมะ ผู้นั้นมีมลทินอันคายแล้ว ผู้มีปัญญา,

เรากล่าวว่า “เป็นเถระ”

 

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก เมื่อจบสัจธรรมบรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นลกุณฏกภัททิยะ เธอได้เป็นที่เล่นล้อเลียนของผู้อื่น เพราะค่าที่ตนชอบเล่นสนุกครั้งนี้ ส่วนท้าวสักกะ คือเราตถาคตนี้แล

 

พระเถระถูกล้อเลียนเพราะร่างเล็ก

เรื่องที่ สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น ซึ่งเป็นปุถุชน เห็นพระเถระแล้ว จับที่ศีรษะบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง ล้อเลียนบ้าง แต่พระเถระก็ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย เพราะเรื่องนี้ วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงดูเถิด สหธรรมิกมีสามเณรเป็นต้น เห็นพระลกุณฏกภัททิยเถระแล้ว ย่อมรังแกอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายในสหธรรมิกเหล่านั้นเลย”

 

พระขีณาสพเป็นดังศิลา

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน?” เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า “เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพ ย่อมไม่โกรธไม่ประทุษร้ายเลย เพราะท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือน เช่นกับศิลาแท่งทึบ” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า:

ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งเดียว ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เอนเอียงในเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น

 

พระพุทธเจ้าเปรียบพระเถระ

ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ขณะนั้นพระลกุณฎกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระศาสดา ทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้วเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่” เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้วก็เกิดความสงสัยว่า “พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล?” จึงกราบทูลว่า“พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร?” เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:

บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง

และฆ่าแว่นแคว้น พร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว

เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่

 

พระธรรมข้างต้น พระอรรถกถาจารย์ได้วินิจฉัยว่า

ตัณหา ชื่อว่า มารดา เพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า “ตัณหายังบุรุษให้เกิด”

อัสมิมานะ ชื่อว่า บิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า “เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น” เป็นต้น

ทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิง สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ ทั้งสอง เหมือนชาวโลกอาศัยพระราชาฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิจึงชื่อว่าพระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์

อายตนะ ๑๒ ชื่อว่าแว่นแคว้น เพราะคล้ายคลึงกับแว่นแคว้น โดยอรรถว่า กว้างขวาง ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี ซึ่งอาศัยอายตนะนั้น ดุจบุรุษเก็บส่วย จัดการส่วนให้สำเร็จ ชื่อว่าเจ้าพนักงานเก็บส่วย

ในพระคาถานี้ มีอธิบายดังนี้

ผู้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะกิเลสเหล่านั้น มีตัณหาเป็นต้น อันตนกำจัดได้ ด้วยดาบคืออรหัตมรรคญาณ จึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่

 

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

 

47070896
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
179
49112
220970
46606637
557234
1172714
47070896

Your IP: 54.36.148.194
2024-11-15 00:12
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search