ราหุลเถระภิกษุ

ราหุลเถระภิกษุ
ข้อมูลทั่วไป (wiki)
พระนามเดิม ราหุล
พระนามอื่น เจ้าชายราหุล ราหุลกุมาร ราหุลศากยกุมาร
วันประสูติ ประมาณวันที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช
สถานที่ประสูติ กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
สถานที่บวช กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
วิธีบวช ติสรณคมณูปสัมปทา
สถานที่บรรลุธรรม กรุงกบิลพัสดุ์
เอตทัคคะ ผู้เลิศในด้านใคร่การศึกษา
อาจารย์ พระโคตมพุทธเจ้า
นิพพาน ก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง และพระพุทธเจ้า
สถานที่นิพพาน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ฐานะเดิม
ชาวเมือง กบิลพัสดุ์
วรรณะเดิม กษัตริย์
ราชวงศ์ ศากยะ
หมายเหตุ
สามเณรรูปแรกในพุทธศาสนา

 

ประวัติ

พระราหุลเถระผู้เป็นพระโอรสของพระบรมศาสดานั้น ท่านได้มาเกิดเป็นพระโอรสนั้นก็เนื่องจากการที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้แต่ปางก่อน และการที่ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษา ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

 

ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

ในกัปแห่งพระปทุมุตตรพระพุทธเจ้า คือหนึ่งแสนกัปนับถอยหลังไปจากกัปปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในช่วงเวลาที่พระปทุมุตรพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พระราหุลเถระ และพระรัฐปาลเถระ เป็นสหายกัน ต่างก็บังเกิดในครอบครัวคฤหบดีในกรุงหงสวดี ไม่มีการกล่าวถึงชื่อและตระกูลของท่านทั้งสองในสมัยนั้น พอท่านเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาส เมื่อบิดาของแต่ละคนสิ้นชีวิตลง ก็ตรวจดูทรัพย์สินที่ตนได้รับมรดกมา เห็นว่ามีทรัพย์หาประมาณมิได้ จึงคิดว่า บุรพชนของตนทั้งหลายมีปู่ และปู่ทวดเป็นต้น ก็ไม่สามารถนำเอาทรัพย์นี้ไปกับตนได้ ดังนั้นเราจึงควรหาทางนำเอาทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้ไปกับเราให้ได้ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดดังนั้นแล้วคนทั้ง ๒ นั้นจึงเริ่มให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง

สหายทั้งสอง คนหนึ่งเป็นผู้ชอบสอบถามคนที่มาแล้วมาอีกในโรงทานของตน ว่าชอบใจสิ่งใด เป็นต้นว่า ข้าวยาคูและของเคี้ยว แล้วก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงมีชื่อว่า “ผู้กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว” อีกคนหนึ่ง ไม่ถามเลย เมื่อมีผู้ถือภาชนะมาเพื่อใส่สิ่งของ ก็ใส่ของที่เขาต้องการให้เต็มแล้วก็ให้ไป ด้วยเหตุนั้นแหละ เขาจึงมีชื่อว่า “ไม่กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว”

วันหนึ่งชนทั้ง ๒ นั้นออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ ได้พบดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป ที่เหาะมาแต่ป่าหิมพานต์ เพื่อภิกขาจร มาลงในที่ที่ไม่ไกลจากที่สหายทั้งสองยืนอยู่ เมื่อดาบสทั้ง ๒ นั้น จัดแจงบริขารมีภาชนะน้ำเต้า เป็นต้นแล้วก็เดินไปตามทางเพื่อภิกขาจาร สหายทั้งสองจึงมาไหว้ใกล้ ๆ ครั้งนั้นดาบส กล่าวกะชนทั้ง ๒ นั้นว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาในเวลาไร ชนทั้ง ๒ นั้นตอบว่า มาเดี๋ยวนี้ขอรับ แล้วรับภาชนะน้ำเต้าจากมือ ของดาบสทั้ง ๒ นั้น นำไปเรือนของตน ๆ แล้วถวายภัตตาหาร ครั้นในเวลาเสร็จภัตรกิจ สหายทั้งสองจึงขอให้ท่านฤๅษีทั้งสองรับปากว่า จะมารับภิกษาจากตนเป็นประจำ เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฎฐากของตน ก็ให้พรว่า ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ด้วยมีเหตุว่า

ดาบสรูปนั้น ท่านเป็นคนมักร้อน เมื่อรู้สึกร้อนก็จะแหวกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วนด้วยอานุภาพของตน แล้วไปยังภพของปฐวินทรนาคราชเพื่อนั่งพักในตอนกลางวัน ได้แลเห็นสมบัติต่าง ๆ ในภพนาคราชนั้น ครั้นเมื่อพักพอสบายแล้ว จึงกลับมายังโลกมนุษย์ สหายผู้นั้นเมื่อประสงค์จะรู้ความหมายของท่านดาบสที่ให้พรตนอย่างนั้น ในวันหนึ่ง จึงถามดาบสนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาว่า จงสำเร็จเหมือนภพปฐวินทรนาคราช คำนี้ท่านหมายความว่าอะไร ดาบสกล่าวว่า ที่เรากล่าวนั้นหมายความว่า ขอให้สมบัติของท่านจงมีเหมือนสมบัติของพญานาคชื่อว่า ปฐวินทร ตั้งแต่นั้นมา กฎุมพีผู้นั้นก็ตั้งจิตมั่น ปรารถนาอยู่ในภพของพญานาคชื่อว่า ปฐวินทร

ส่วนดาบสอีกรูปหนึ่งก็เช่นกัน แต่ไปพักกลางวันยังภพดาวดึงส์ ในเสริสกวิมานที่ว่างเปล่า ดาบสนั้นเที่ยวไปเที่ยวมาในดาวดึงสพิภพนั้น ได้แลเห็นสมบัติของท้าวสักกเทวราชว่ามีมากมายและสวยงามเพียงใด เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน ก็กล่าวว่าสมบัติของท่านจงเป็นเหมือนสักกวิมาน ครั้งนั้น กฎุมพี ก็ถามดาบสนั้นเหมือนอย่างสหายอีกคนหนึ่งถามดาบสอีกท่านหนึ่งนั้น เมื่อได้ฟังเช่นนั้น กุฎุมพีก็ฟังคำของดาบสนั้น จึงตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของท้าวสักกะ

ด้วยกุศลแห่งกรรมที่สหายทั้งสองได้บำเพ็ญมา เมื่อทั้งสองสิ้นชีวิตลงแล้ว ต่างก็ได้ไปเกิดในภพที่ตนตั้งจิตปรารถนาไว้นั้น สหายผู้ที่เกิดในภพของปฐวินทรนาคราช ก็มีชื่อว่า ปฐวินทรนาคราชา สหายผู้เกิดเป็นพญานาคราชนั้น เมื่อเห็นสภาพของตนที่เกิดมาในเพศของนาคนั้น ก็เกิดความร้อนใจว่า การเกิดของเราอยู่ในฐานะที่ไม่น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง เห็นทีดาบสที่ให้พรเราเช่นนั้น คงจะไม่รู้ที่อื่น ๆ ที่ดีกว่าเป็นแน่แท้

ส่วนสหายอีกท่านหนึ่งก็ไปเกิดเป็นท้าวสักกะในภพดาวดึงส์ ต่อมาก็ถึงเวลาที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มีหน้าที่จะต้องไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชทุก ๆกึ่งเดือน ปฐวินทรนาคราชานั้นก็ต้องไปเฝ้าท้าวสักกะพร้อมกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์ด้วย จึงได้กลายเพศเป็นมาณพน้อย แล้วไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราชทุกกึ่งเดือน

ในเวลาที่ท่านได้เข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกะเห็นพระยานาคนั้นก็จำได้ว่าเป็นสหายเก่า จึงถามพระยานาคนั้นในเวลายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่านไปเกิดที่ไหน พระยานาคกล่าวว่า ท่านมหาราช อย่าถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว ท่านสักกะตรัสว่า สหาย ท่านอย่าวิตกเลยว่าเกิดในที่ไม่สมควร พระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระทรงบังเกิดในโลกแล้ว ท่านจงกระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้นแล้วปรารถนาฐานะนี้เถิด เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันเป็นสุข พระยานาคนั้นกล่าวว่า เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น แล้วจึงไปนิมนต์พระปทุมุตตระทศพล พร้อมกับจัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะเพื่อเตรียมถวายพระศาสดาและเหล่าพระภิกษุตลอดคืนยันรุ่ง กับนาคบริษัทในภพนาคของตน

วันรุ่งขึ้น เมื่อรุ่งอรุณ พระศาสดาตรัสเรียกพระสุมนเถระ ผู้อุปัฏฐากของพระองค์ว่า สุมนะ วันนี้ตถาคตจักไปภิกษาจาร ณ ที่ไกล ภิกษุปุถุชนนั้นไม่สามารถไปด้วย จงไปแต่พระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ผู้มีอภิญญา ๖ เถิด พระเถระสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว แจ้งแก่ภิกษุทั้งปวง ภิกษุทั้งหมดผู้มีอภิญญาประมาณแสนหนึ่งได้เหาะไปพร้อมกับพระศาสดา พระยานาคปฐวินทรกับนาคบริษัทที่มารับเสด็จพระทศพล แลดูพระภิกษุสงฆ์ที่ล้อมพระศาสดาซึ่งกำลังเสด็จมา แลเห็นพระศาสดาอยู่เบื้องต้น พระสงฆ์นวกะจนถึงสามเณรชื่ออุปเรวตะผู้เป็นโอรสของพระตถาคตอยู่ท้าย จึงเกิดปีติปราโมทย์ว่า การที่พระสาวกทั้งหลายที่เป็นพระภิกษุได้แสดงอานุภาพเห็นปานนี้ยังไม่น่าอัศจรรย์ แต่อานุภาพแห่งสามเณรองค์เล็กนี้ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกินดังนี้

ครั้นเมื่อพระทศพลประทับนั่งที่ภพของพระยานาคนั้นแล้ว พระภิกษุทั้งหลายก็นั่งเรียงกันตามลำดับอาวุโส พระยานาคเมื่อถวายข้าวยาคูก็ดี เมื่อถวายของเคี้ยวก็ดี แลดูพระทศพลที่หนึ่ง ดูสามเณรอุปเรวตะทีหนึ่ง นัยว่ามหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในสรีระของสามเณรนั้นย่อมปรากฏเสมือนพระพุทธเจ้า ก็สงสัยว่าเป็นอะไรกันหนอ จึงถามภิกษุรูปหนึ่งผู้นั่งไม่ไกลว่า ท่านเจ้าข้า สามเณรรูปนี้เป็นอะไรกับพระทศพล ภิกษุนั้นตอบว่า มหาบพิตร สามเณรรูปนั้นเป็นโอรสของพระพุทธองค์

ปฐวินทรนาคราชจึงดำริว่า สามเณรรูปนี้ใหญ่หนอ จึงได้ความเป็นโอรสของพระตถาคตผู้สง่างามเห็นปานนี้ แม้สรีระของท่านก็ปรากฏเสมือนพระสรีระของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว แม้ตัวเราก็ควรเป็นอย่างนี้ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทาน ๗ วัน แล้วกระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พึงเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนอุปเรวตะสามเณรนี้ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรมนี้ พระศาสดาทรงเห็นว่า หาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตมหาบพิตรจักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะ ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป

ส่วนปฐวินทรนาคราช เมื่อถึงกึ่งเดือนอีกครั้งหนึ่งก็ไปเฝ้าท้าวสักกะกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์อีก คราวนี้ท้าวสักกะตรัสถาม พระยานาคนั้นผู้มายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่านกระทำมหาทานเพื่อปรารถนาเทวโลกนี้แล้วหรือ

ปฐวินทรนาคราช ตอบว่า ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาเทวโลกนี้ดอกเพื่อน ท้าวสักกะ ท่านเห็นโทษอะไรเล่า?

ปฐวินทรนาคราช โทษไม่มีมหาราช แต่ข้าพเจ้าเห็นสามเณรอุปเรวตะโอรสของพระทศพล ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นสามเณรนั้นก็มิได้น้อมจิตไปในที่อื่น ข้าพเจ้านั้นกระทำความปรารถนาว่าในอนาคตกาล ขอข้าพเจ้าพึงเป็นโอรสเช่นนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ก็จงกระทำความปรารถนาอย่างหนึ่งเถิด เราทั้ง ๒ จักไม่พรากกันในที่ ๆ เกิดแล้ว

ท้าวสักกะรับคำของพระยานาคนั้นแล้ว ต่อมาวันหนึ่งเห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงนึกว่า กุลบุตรนี้ออกบวชจากสกุลไหนหนอดังนี้ ทราบว่ากุลบุตรผู้นี้เป็น บุตรของสกุลผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกันแล้ว กระทำการอดอาหารถึง ๑๔ วันเพื่อให้มารดาบิดาอนุญาตให้บรรพชาแล้วจึงได้บวช

ครั้นทราบแล้วจึงกระทำมหาสักการะ ๗ วันต่อพระทศพล แล้วกระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งกัลยาณกรรมนั้น ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนอย่างกุลบุตรผู้นี้ในศาสนาของพระองค์เถิด พระศาสดา ทรงเห็นความปรารถนาหาอันตรายมิได้ จึงพยากรณ์ว่า มหาบพิตร พระองค์จักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ ในอนาคตแล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท้าวสักกะก็เสด็จกลับไปยังเทพบุรีของพระองค์ตามเดิม

 

ตั้งจิตปรารถนาในการเป็นยอดของภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษา

เมื่อหมดบุญในฐานะพระยานาคราชแล้ว ท่านก็ได้มา เกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งก็ยังอยู่ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นั่นแหละ ด้วยสมัยนั้นชนทั้งปวงมีอายุ หนึ่งแสนปี พระยานาคราชนั้น (ซึ่งก็คือพระราหุลในบัดนี้) บังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล ครั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่งวันหนึ่งได้ไปยังพระวิหารที่พระพุทธปทุมุตตระประทับอยู่ และฟังธรรมอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในวิหารนั้น ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษา ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระพระปทุมุตตระพุทธเจ้า และทำการปูลาดพื้นปราสาท ๗ ชั้น และขัดให้เงางามส่องแสงใสสว่างดุจรัตนะ ถวายพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป เสด็จเข้าไปในพระคันธกุฎี ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดปูลาดพื้นพระคันธกุฎีให้โชติช่วงดังกระจกเงาอันขัดดีแล้ว เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

ประสาททองอันงดงาม หรือประสาทแก้วไพฑูรย์จักบังเกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นจักเป็นจอมเทวดา เสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๖๔ ครั้ง ในกัปที่ ๒๑ จักได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าวิมล จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทรสาคร ๔ เป็นขอบเขต มีพระนครชื่อเรณุวดีสร้างด้วยแผ่นอิฐ โดยสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว ๓๐๐ โยชน์ มีปราสาทชื่อสุทัสนะ อันวิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตให้ ปราสาทนั้นประกอบด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ ประดับด้วยแก้ว ๗ประการ เหมือนจักเป็นสุทัสนนครของเหล่าเทวดา รัศมีแห่งนครนั้น เปล่งปลั่งดังพระอาทิตย์เมื่ออุทัย นครนั้นจักรุ่งเรืองเจิดจ้าด้วยรัศมีโดยรอบ ๘ โยชน์อยู่เป็นนิจ

ในแสนกัป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นอันกุศลมูลส่งผลแล้ว จักเคลื่อนจากภพดุสิต แล้วมาเป็นพระราชโอรสของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ถ้าผู้นั้นจะพึงอยู่ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ข้อที่เขาจะยินดีในการครองเรือนนั้น จะไม่เป็นเช่นนั้น เขาจักออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้มีวัตรอันงาม จักได้เป็นพระอรหันต์มีนามชื่อว่าราหุล

เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป

 

สมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ท่านก็ได้มาเกิดเป็น พระเชฎฐโอรสของพระเจ้ากิกิ พระญาติทั้งหลายขนานนามพระองค์ว่า ปฐวินทรกุมาร พระองค์มีภคินี ๗ พระองค์ พระภคินีเหล่านั้นสร้างบริเวณ ถวายพระทศพลถึง ๗ แห่ง พระปฐวินทรกุมารทรงได้ตำแหน่ง อุปราช พระองค์ตรัสกะภคินีเหล่านั้นว่า ขอจงประทานบริเวณในบรรดาที่พระนาง ได้สร้างไว้นั้น ให้หม่อมฉันแห่งหนึ่ง

พระภคินีเหล่านั้น ทูลว่า พระพี่เจ้า พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นอุปราช พระองค์ควรจะเป็นผู้ประทานแก่หม่อมฉันต่างหาก (แทนที่จะตรัสขอ) ดังนั้น ขอพระองค์จงโปรดให้สร้างบริเวณอื่นถวายเถิด พระราชกุมารนั้นได้สดับคำของพระภคินีเหล่านั้นแล้ว จึงให้สร้าง วิหารถึง ๕๐๐ แห่ง อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บริเวณ ๕๐๐ แห่ง ก็มี พระราชกุมารนั้นทรงบำเพ็ญกุศลตลอดชีพในอัตภาพนั้นไป บังเกิดในเทวโลก

 

กำเนิดเป็นพระราหุลในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้นมาในเวลาเริ่มสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ แล้วทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ทรงครองเรือนอยู่จนพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ในเวลาที่พระนางยโสธราทรงพระครรภ์แก่นั้น ก็เกิดเหตุที่ทำให้พระโพธิสัตว์ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยใน ๔ วันก่อนที่จะทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวชนั้น ก็มีพระประสงค์จะออกประพาสอุทยาน และในระหว่างทางที่เสด็จนั้น

เทวดาได้แปลงกายเป็นเทวทูต ๔ ให้ทรงเห็นรวม ๔ วันคือ เห็นคนแก่ในวันที่หนึ่ง เห็นคนเจ็บในวันที่สอง เห็นคนตายในวันที่สาม และเห็นบรรพชิตในวันที่สี่ และในวันที่ทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวชในวันที่ทรงประพาสอุทยานวันที่ ๔ นั้นเอง พระนางยโสธราก็ทรงประสูติพระโอรสอยู่ในพระราชวังนั้นเอง ในขณะที่พระโพธิสัตว์ทรงประพาสอุทยานอยู่

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับว่า มารดาราหุลประสูติพระโอรส จึงส่งสาสน์ไปแจ้งพระโพธิสัตว์ว่า ท่านทั้งหลายจงบอกความดีใจของเราแก่ลูกของเราด้วย เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับข่าวการประสูติพระราชโอรส ลำดับนั้น ความสิเนหาในพระโอรสทำให้พระวรกายทุกส่วนของพระมหาบุรุษซาบซ่าน พระมหาบุรุษดำริว่า เมื่อบุตรเกิดเพียงคนเดียว ความสิเนหาในบุตรยังเป็นถึงเพียงนี้ ถ้าเราจักมีบุตรกว่า ๑,๐๐๐ คน ในบุตรเหล่านั้นเมื่อคนหนึ่งเกิดความผูกพันด้วยสิเนหาเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้ หัวใจจักแตกสลายเป็นแท้

เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ราหุ (ห่วงเกิดแล้ว, เครื่องจองจำเกิดแล้ว, เครื่องผูกเกิดแล้ว) พระเจ้าสุทโธทนมหาราชตรัสถามราชบุรุษว่า บุตรของเราได้พูดอะไรบ้าง ครั้นได้สดับคำนั้นแล้วจึงตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป หลานของเราจงมีชื่อว่า ราหุลกุมาร

สหายของท่านบังเกิดในในวรรณไวศยะ ตระกูลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิตะนิคม ตระกูลของท่านชื่อว่า รัฐปาละ เพราะเป็นผู้สามารถ ดำรงรักษารัฐที่แบ่งแยกได้ คือตระกูลท่านได้สละทรัพย์สินช่วยเหลือแคว้นซึ่งกำลังตกต่ำทางเศรษฐกิจ ให้กลับมั่นคงเหมือนเดิม คนทั่วไปเรียกชื่อท่านว่า รัฐปาละ ตามชื่อตระกูลของท่านเอง ซึ่งต่อมาท่านก็คือพระรัฐปาลเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา

ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรพชาแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จนที่สุดทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้ว พระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์

 

พระศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรีชาดก โปรดพระราชบิดา ให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล

ในวันที่ ๒ แต่วันนั้นเอง พระนันทราชกุมาร มีมหามงคล ๕ อย่าง คือ (๑) แก้พระ เกศา (๒) ผูกพระสุพรรณบัฏ (๓) ฆรมงคล (๔) อาวาหมงคล (๕) ฉัตรมงคล โดยนันทกุมารจะอภิเษกกับนางชนบทกัลยาณีในวันนั้น พระบรมศาสดาได้รับนิมนต์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ในวัง หลังจากทรงเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรแล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จพระดำเนินกลับไป โดยมิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร

ฝ่ายพระนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามิกล้าทูลให้พระบรมศาสดาทรงรับบาตรไป พระนันทจึงต้องตามเสด็จไปถึงวัดทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้บวชพระนันทกุมารนั้น

 

พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร

ในวันที่ ๗ พระราหุลมารดา ทรงส่งพระกุมาร ซึ่งขณะนั้นมีพระชนม์พรรษา ๗ ปี ไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า และทรงสั่งพระโอรสว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้น เป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์เถิด

ฝ่ายพระกุมารครั้นพอเสด็จไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กลับเกิดความรักในพระบิดา มีพระหฤทัยรื่นเริงยินดี ยืนรับสั่งถ้อยคำเรื่องโน้นเรื่องนี้เป็นอันมาก โดยมิได้รับสั่งเรื่องที่พระมารดาสั่งให้มาทูลพระบรมศาสดา

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเสร็จภัตกิจแล้ว กระทำอนุโมทนา เสด็จลุกจากพระที่นั่งกลับไป

ฝ่ายพระกุมารเมื่อทรงนึกถึงถ้อยคำที่พระมารดาสั่งไว้ได้จึงได้ทรงติดตามไปทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณเจ้า ขอพระองค์ประทานทรัพย์มฤดกแก่หม่อมฉันเถิด พระสมณเจ้า ขอพระองค์ประทานทรัพย์มฤดกแก่หม่อมฉันเถิด

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงพระอาราม แล้วทรงพระดำริว่าทรัพย์อันใดของบิดาที่ราหุลนี้ปรารถนา ทรัพย์อันนั้นเนื่องด้วยวัฏฏะ เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เราจักทำเธอให้เป็นเจ้าของมฤดกอันเป็นโลกุตตระ ดังนี้แล้วรับสั่งหาท่านพระสารีบุตรมา แล้วตรัสว่า ราหุลกุมารนี้ขอทรัพย์มฤดก เพราะเหตุนั้นท่านจงบวชราหุลกุมารนี้เถิด

ในสมัยนั้น ตั้งแต่พระบรมศาสดาทรงโปรดให้พระสารีบุตรอุปสมบทพระราธเถระ และทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วยวิธี ไตรสรณคมน์ ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิมแล้ว ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม อันเป็นวิธีอุปสมบท โดยมีสงฆ์เป็นใหญ่ พระสารีบุตรเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก และพระราธะเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เป็นรูปแรก การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบรรพชา (สามเณร) ยังมิได้เคยมีมาก่อน

เพราะเหตุนั้น ความสงสัยจักเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายในอนาคตว่า ชื่อว่าบรรพชา (สามเณร) นี้ จะพึงทำด้วยกรรมวาจา เหมือนอุปสมบท (พระภิกษุ) หรือว่า พึงทำด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อตัดความสงสัยเช่นนี้พระธรรมเสนาบดี จึงทูลถามว่า ข้าพระองค์จะผนวชพระราหุลกุมารอย่างไร พระเจ้าข้า ?

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตร เป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์

ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรผู้มีอายุ ยังพระราหุลกุมารให้ผนวชแล้ว โดยพระมหาโมคคัลลานเถระปลงพระเกศาของพระกุมารแล้วถวายผ้ากาสายะ พระสารีบุตรได้ถวายสรณะ พระมหากัสสปเถระได้เป็นโอวาทาจารย์

 

พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลขอพร

ก็แหละเมื่อพระกุมารบวชแล้ว ความทุกข์มีประมาณยิ่งเกิดขึ้นแก่พระราชา ได้ยินว่า โหรทั้งหลายได้ทำนายพระโพธิสัตว์ในวันมงคลว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เช่นใด ก็ได้ทำนายทั้งพระนันทะทั้งพระราหุลในวันมงคลว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เช่นนั้นเหมือนกัน ครั้งนั้นพระราชาทรงเกิดพระปิติโสมนัสด้วยหวังพระทัยว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของบุตรเรา และได้ทรงถึงความหมดหวังอย่างใหญ่หลวง

เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชเสีย จึงทรงตั้งความหวังไว้ที่ว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของพ่อนันทะ แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระนันทะให้ผนวชเสียอีกแล้ว ท้าวเธอทรงอดกลั้นทุกข์แม้นั้นเสียได้ ยังทรงตั้งความหวังไว้กับพระเจ้าหลานเธอคือ พระราหุล และแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระราหุลนั้นให้ผนวชเสียอีก

เพราะฉะนั้น ความทุกข์จึงได้เกิดแก่ท้าวเธอยิ่งนักว่า กุลวงศ์บัดนี้ขาดสายเสียแล้ว จักรพรรดิสิริจักมีมาแต่ไหนเล่า ท้าวเธอทรงดำริว่า แม้ว่าเราเป็นพุทธมามกะ ธัมมมามกะ สังฆมามกะ ก็จริงหรอก แต่เมื่อบุตรซึ่งบิดาของตนให้บวชเสีย ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นญาติวิโยคทุกข์ได้ ชนเหล่าอื่นจักอดกลั้นได้อย่างไร ในเมื่อบุตรและนัดดาทั้งหลายของตนบวช เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอจึงปรารถนาว่า ทุกข์เห็นปานนี้ก่อน อย่าได้มีแม้แก่ชนเหล่าอื่นเลย

ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบรมศาสดาทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ พระราชาจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทูลพระพุทธองค์ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อ พ่อนันทะบวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลบรรพชา ทุกข์ยิ่งมากล้น พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาตพระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาเพราะเหตุนั้นเป็นเค้ามูล แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ

 

พระพุทธองค์ทรงโปรดสั่งสอนพระราหุล

เมื่อพระราหุลบรรพชาแล้ว พระศาสดาก็ได้ตรัสราหุโลวาทสูตร เป็นโอวาทเนือง ๆ แก่พระราหุลนั้น ตั้งแต่พระราหุลมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษาจนถึงเป็นภิกษุยังไม่มีพรรษา

ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๗ พรรษา ทรงแสดง อัมพลัฎฐิยราหุโลวาทแก่ราหุลสามเณรนั้นว่า ราหุลอย่ากล่าว สัมปชานมุสา แม้เพื่อจะเล่าโดยความเป็นเด็กเลย ดังนี้เป็นต้น

ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๑๘ พรรษา ตรัสมหาราหุโลวาทสูตร แก่ราหุล ผู้เดินบิณฑบาตตามหลังของพระตถาคต มองดูรูปสมบัติของ พระศาสดาและของตน ตรึกวิตกที่เนื่องด้วยครอบครัว ส่วนราหุโลวาท ในสังยุตก็ดี ราหุโลวาทในอังคุตตรนิกายก็ดี เป็นฐานแห่งวิปัสสนาของพระเถระทั้งนั้น

 

พระราหุลบรรลุพระอรหันต์

ภายหลัง ในเวลาที่ราหุลเป็นภิกษุได้ครึ่งพรรษา ประทับอยู่ที่ป่าอันธวัน เขตพระนครสาวัตถี พระศาสดาทรงทราบว่า ธรรมเจริญด้วยวิมุตติ ๑๕ ของพระเถระแก่กล้าแล้ว จึงทรงตรัส จุลลราหุโลวาทสูตร ความในพระสูตรนั้นมีโดยย่อดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้นอย่างนี้ว่าราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด ฯ

ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้วได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอจงถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน ท่านพระราหุลทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยทราบว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่าน พระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น  

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่าอันธวันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่ท่านพระราหุลแต่งตั้ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่งแม้ท่านพระราหุลก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า 

ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุ เที่ยงหรือไม่เที่ยง รูป ...จักษุวิญญาณ...จักษุสัมผัส ...โสตะ ...ฆานะ ...ชิวหา ...กาย...มโน... ธรรมารมณ์ ...มโนวิญญาณ ...มโนสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ 

พระราหุล ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาค ดูกรราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ...แม้ในรูป ...แม้ในจักษุวิญญาณ...แม้ในจักษุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ...แม้ในเสียง ...แม้ในฆานะ แม้ในกลิ่น แม้ในชิวหา...แม้ในรส ...แม้ในกาย...แม้ในโผฏฐัพพะ ...แม้ในมโน ...แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ...แม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้วและทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว จิตของท่านพระราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น และเทวดาหลายพันตนนั้นได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ 

 

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ก่อนที่ท่านจะเกิดมาในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น

  • เกิดเป็นลูกเนื้อผู้เป็นหลาน พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นเนื้อ ผู้เป็นลุง ใน ติปัลลัตถมิคชาดก
  • เกิดเป็นโอรสพระเจ้ามฆเทวะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามฆเทวะ ในมฆเทวชาดก
  • เกิดเป็นขุนพลแก้ว พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในมหาสุทัสสนชาดก
  • เกิดเป็นลูกราชสีห์ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพญาราชสีห์ ใน ทัททรชาดก
  • เกิดเป็นดาบสกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส ใน มักกฏชาดก
  • เกิดเป็นนกกระทา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระดาบส ใน ติตติรชาดก
  • เกิดเป็นสุวโปดก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ใน อัพภันตรชาดก
  • เกิดเป็นบุตรพราหมณ์ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ ใน อุรคชาดก
  • เกิดเป็นบุตรนายมัณฑัพยะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกัณหทีปายนดาบส ใน กัณหทีปายนชาดก
  • เกิดเป็นบุตรปริพาชก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นปริพาชก ใน กุมภการชาดก
  • เกิดเป็นลูกเต่า พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ใน มหาอุกกุสชาดก
  • เกิดเป็นกนิษฐโอรส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสุตโสม ใน จุลลสุตโสมชาดก
  • เกิดเป็นทีฆาวุกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกนรินทรราช ใน มหาชนกชาดก
  • เกิดเป็นธนุเสข พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ใน มโหสถชาดกบัณฑิต
  • เกิดเป็นพระวสุละ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ใน จันทกุมารชาดก
  • เกิดเป็นชาลีกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรราช ใน มหาเวสสันดรชาดก
  • เกิดเป็นบุตรคนโตของบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ใน วิธุรชาดก
  • เกิดเป็นปริณายกแก้ว พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระราชามหาสุทัศนะ ใน มหาสุทัศนจริยา

 

พระราหุลเถระกับการบัญญัติสิกขาบทบางข้อ

 

ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า ๒-๓ คืน เป็นปาจิตตีย์

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปอาศัยเมือง อาฬวีประทับอยู่ในอัคคาฬวเจดีย์ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ และภิกษุณี จำนวน มาก ไปวิหารเพื่อฟังธรรม ตอนกลางวันมีการฟังธรรม ก็แลเมื่อกาลเวลาล่วงไป อุบาสิกาและภิกษุณีทั้งหลายไม่ไป มีแต่พวกภิกษุและอุบาสกทั้งหลาย

ตั้งแต่นั้น จึงเกิดมีการฟังธรรมตอนกลางคืน ในเวลาเสร็จสิ้นการฟังธรรม ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระพากันไปยังที่อยู่ของตน ๆ ภิกษุหนุ่มกับพวกอุบาสก นอนที่อุปัฏฐานศาลาคือ โรงฉัน เมื่อพวกภิกษุหนุ่มและพวกอุบาสกเหล่านั้นหลับ บางคนนอนกรนเสียงครืด ๆ นอนกัดฟัน บางคนนอนครู่เดียวแล้วลุกขึ้น

พวกอุบาสกเห็นประการอันแปลกของภิกษุหนุ่ม จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ก็ภิกษุใดนอนร่วมกับ อนุปสัมบัน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้แล้วได้เสด็จไปยังนครโกสัมพี การที่ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้น

ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านราหุลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ ท่านจงรู้ที่อยู่ของตนเถิด ก็เมื่อก่อน ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์ท่านราหุลนั้นผู้มายังที่อยู่ของตนๆ เป็นอย่างดีเพราะอาศัยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมักลาดเตียงเล็กและให้จีวรเพื่อหนุนศีรษะ

แต่วันนั้น แม้ที่อยู่ก็ให้ไม่ได้แล้วเพราะกลัวต่อสิกขาบท ฝ่ายพระราหุลก็ไม่ไปยังสำนัก ของพระทศพล ด้วยคิดว่า เป็นพระบิดาของเรา หรือของพระธรรมเสนาบดี ด้วยคิดว่า เป็นอุปัชฌายะของเรา หรือของพระมหาโมคคัลลานะด้วยคิดว่า เป็น อาจารย์ของเรา หรือของท่านพระอานนท์ด้วยคิดว่าเป็นอาของเรา แต่ได้เข้าไปยังเวจกุฏีของพระทศพลตลอดคืนยังรุ่ง

ครั้นเวลาก่อนอรุณทีเดียว พระศาสดาประทับยืนที่ประตูเวจกุฏีแล้ว ทรงไอ ขึ้น ส่วนท่านพระราหุลนั้นก็กระแอมรับ พระศาสดาตรัสถามว่า ใครนั่น ? ท่านพระราหุลกราบทูลว่า ข้าพระองค์ราหุล แล้วออกมาถวายบังคม พระศาสดาตรัสถามว่า ราหุล เพราะเหตุไรเธอจึงนอนที่นี่ ? พระราหุลกราบ ทูลว่า เพราะไม่มีที่อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยว่าเมื่อก่อน ภิกษุทั้งหลาย กระทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์ บัดนี้ไม่ให้ที่อยู่เพราะกลัวตนต้องอาบัติ ข้าพระองค์นั้นคิดว่า ที่นี้เป็นที่ไม่เบียดเสียดผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ จึงนอนในที่นี้

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดธรรมสังเวชขึ้นว่า เบื้องต้น ภิกษุทั้งหลาย สละราหุลได้อย่างนี้ ต่อไปให้เด็กในตระกูลทั้งหลายอื่นบวชแล้ว จักกระทำอย่างไร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันแต่เช้าตรู่ แล้วตรัสกับพระธรรมเสนาบดีว่า สารีบุตร วันนี้ราหุลอยู่ที่เวจกุฏี ดูก่อนสารีบุตร ท่านทั้งหลายเมื่อละราหุลได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้าเด็กในตระกูล ทั้งหลายเหล่าอื่นบวชแล้ว จักกระทำอย่างไร แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น กุลบุตรผู้ บวชในพระศาสนานี้จักเป็นผู้ไม่มีที่พึง

บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายจงให้ อนุสัมปันทั้งหลายอยู่ในสำนักของตนวันหนึ่ง สองวัน ในวันที่สาม เมื่อรู้ที่จะให้เป็นที่อยู่ของอนุสัมปันเหล่านั้นแล้วจงให้อยู่ภายนอก แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ดังนี้: ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า ๒-๓ คืน เป็นปาจิตตีย์

 

เรื่องทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรมากรูปได้

ในสมัยนั้น ตระกูลอุปฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนักท่านพระสารีบุตร ด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้ เมื่อเป็นดังนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถรูปเดียว รับสามเณรสองรูปไว้อุปัฏฐากได้ ก็หรือเธออาจจะโอวาท อนุศาสน์สามเณร มีจำนวนเท่าใดก็ให้รับไว้อุปัฏฐาก มีจำนวนเท่านั้น

 

พระราหุลเถระบำเพ็ญเพียรโดยถือเอาการไม่นอนเป็นวัตร

ท่านพระราหุลถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ตามที่ปรากฎในอรรถกถา เล่มที่ ๔๗ ราหุลสูตร ดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระราหุลทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในจีวรดังนี้ จึงได้สมาทานธุดงค์ ๒ ข้อที่เกี่ยวกับ จีวร คือ ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๑ เตจจีวริกังคธุดงค์ ๑

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในบิณฑบาต จึงได้สมาทานธุดงค์ ๕ ข้อที่เกี่ยวกับบิณฑบาตคือ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเราว่า เธออย่าได้ทำความอยากในเสนาสนะดังนี้ จึงได้สมาทานธุดงค์ ๖ ข้อ ที่เกี่ยวข้องด้วยเสนาสนะคือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ รุกขมูลิกังคธุดงค์ ๑ ยถาสันถติกังคธุดงค์ ๑ โสสานิกังคธุดงค์ ๑ เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑

ท่านพระราหุลนั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเราว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในคิลานปัจจัย จึงเป็นผู้สันโดษแล้วด้วยความสันโดษ ๓ในปัจจัยทั้งปวงคือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษเป็นผู้มีปกติรับคำสอนด้วยความเคารพ เหมือนกุลบุตรที่ว่าง่าย

ในอรรถกถาเล่มที่ ๑๔ กล่าวว่า พระราหุลเถระท่านเป็นผู้ถือธุดงควัตรในข้อ ถือการนั่งเป็นวัตร โดยไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลา ๑๒ ปี

 

ทรงแต่งตั้งพระราหุลเป็นเอตทัคคะผู้เลิศของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่การศึกษา

ความเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาของพระราหุลนั้น นอกจากความหมายว่าท่านเป็นผู้ประสงค์และยินดีในการเรียนรู้อย่างยิ่งแล้ว ยังหมายความรวมไปถึงอ่อนน้อมเชื่อฟังและเคารพในคำสั่งคำสอนของพระเถระทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ดังเช่นเรื่องดังต่อไปนี้

ในเรื่องความยินดีประสงค์ในการเรียนรู้นั้น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระทศพลของเราทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว พระราหุลนั้น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอามือกอบทรายขึ้นกล่าวว่า วันนี้เราพึงได้โอวาท ได้การตักเตือน มากมีประมาณเท่าเม็ดทรายนี้จากพระทศพล และอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลาย

เกิดการสนทนากันในท่ามกลางสงฆ์ว่า “ราหุลสามเณร ทนต่อพระโอวาทหนอ เป็นโอรสที่คู่ควรแก่พระชนก” พระศาสดาทรงทราบวาระจิตแห่งภิกษุทั้งหลาย ทรงพระดำริว่า เมื่อเราไปสู่ที่ประชุมของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ธรรมเทศนาอย่างหนึ่งจักบังเกิด และคุณของราหุลจักปรากฏ จึงเสด็จไปประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์สนทนากันถึงความที่ราหุลสามเณรเป็น ผู้อดทนต่อโอวาทพระเจ้าข้า

พระศาสดาเพื่อทรงแสดงถึงคุณของราหุลสามเณร จึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน แม้ บังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนกัน แล้วทรงนำนำอดีตนิทานเรื่องมิคชาดก มาแสดงต่อเหล่าภิกษุนี้

ในเรื่องการเคารพต่อถ้อยคำของพระเถระนั้น มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเห็นสามเณรราหุลกำลังมาแต่ไกล เพื่อต้องการจะทดลองท่านสามเณรราหุลนั้น จึงทิ้งกำไม้กวาดหรือภาชนะสำหรับทิ้งขยะไว้ เมื่อท่านราหุลนั้นมาถึง จึงกล่าวว่า ใครทิ้งสิ่งนี้ไว้อย่างนี้

ภิกษุอีกพวกหนึ่งจะกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ! ท่านราหุลเที่ยวมาในบริเวณนี้ ชะรอยเธอวางทิ้งไว้กระมัง แต่ท่านราหุลนั้นด้วยความเคารพในคำของพระภิกษุจึงไม่กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ผมไม่รู้เรื่องนี้ กลับเก็บงำสิ่งนั้นไว้ในที่ที่ควร แล้วขอขมาว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลาย จงอดโทษแก่กระผม แล้วจึงไป

และในเรื่องที่ท่านสามเณรราหุลต้องเข้าไปอาศัยนอนในเวจกุฎีของพระบรมศาสดา เนื่องเพราะเหล่าภิกษุไม่ยอมให้ท่านอาศัยอยู่ในที่พักของท่าน ด้วยเกรงต่อสิกขาบท ท่านราหุลเป็นผู้เคารพต่อโอวาทของภิกษุอย่างนี้ ท่านจึงเข้าไปอยู่ในเวจกุฎีนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงตั้งพระราหุลไว้ในเอตทัคคะ จึงทรงตั้งให้เป็นผู้เลิศในการศึกษาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา ราหุลเป็นผู้เลิศของภิกษุเหล่านั้น

 

พระราหุลเถระเปลื้องอาพาธของพระมารดา

สมัยหนึ่ง ราหุลสามเณรได้มาเยี่ยมพระชนนี ในวันนั้น ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเถรีนั้นไม่สามารถจะออกมาพบได้ ภิกษุณีอื่นๆ จึงมาบอกว่า พระเถรีไม่สบาย

ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า พระองค์ควรจะได้ยาอะไร? พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ในคราวยังครองเรือน มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอยด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาติเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน

ราหุลสามเณรทูลว่า เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา แล้วก็ออกไป ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ มีพระอานันทเถระเป็นอาว์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า ดูก่อนราหุล เหตุไรหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่ ราหุลสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โรคลมในท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม กำเริบขึ้น พระสารีบุตรเถระถามว่า ได้อะไรจึงจะควร ?

ราหุลสามเณรเรียกว่า พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักได้มา เธออย่าคิดไปเลย ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง

พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวง จำนวนห่อหนึ่งมาถวาย พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำด้วยพระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร

พระสารีบุตรเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า เธอจงนำรสมะม่วงนั้นไปให้มารดาของเธอ ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว พอพระเถรีบริโภคแล้วเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบ

ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระเถระให้ใคร ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาทรงพระดำริว่า ถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้

บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่ จำเดิมแต่นั้น พระเจ้าโกศลรับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ

 

มารแปลงเป็นช้างรัดกระหม่อมพระราหุล

ความพิสดารว่า ในวันหนึ่งเวลาวิกาล พระเถระเป็นอันมากเข้า ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่เป็นที่อยู่ของพระราหุลเถระแล้วก็ไล่ท่านให้ลุกขึ้น ท่านเมื่อไม่เห็นที่เป็นที่อยู่ในที่อื่น จึงไปนอนที่หน้ามุขพระ คันธกุฎีของพระตถาคต คราวนั้น ท่านผู้มีอายุนั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้เป็นผู้ยังไม่มีพรรษาเลย

มารชื่อวสวัตดี ดำรงอยู่ในภพนั่นแหละ เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จึงคิดว่า “พระหน่อน้อยผู้แทงใจของพระสมณโคดมนอนข้างนอก ส่วนพระองค์ผทมในภายในพระคันธกฎี เมื่อเราบีบคั้นพระหน่อน้อย พระองค์เองก็จักเป็นเหมือนถูกบีบคั้นด้วย ”

มารนั้น นิรมิตเพศเป็นพระยาช้างใหญ่ เอางวงมารัดกระหม่อมพระเถระ แล้วร้องดุจนกกระเรียนด้วยเสียงดัง พระศาสดาผทมในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่าช้างนั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า “มาร คนเช่นท่านนั้นแม้ตั้งแสน ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้ความ กลัวเกิดแก่บุตรของเราได้ เพราะว่าบุตรของเรามีปกติไม่สะดุ้ง มีตัณหาไปปราศจากแล้ว มีความเพียรใหญ่ มีปัญญามาก” ดังนี้แล้ว ฝ่ายมารผู้มีบาปคิดว่า “พระสมณโคดม ย่อมทรงรู้จักเรา” แล้ว อันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง ดังนี้แล

 

พระราหุลเถระปรินิพพาน

ไม่มีรายละเอียดว่า ท่านปรินิพพานอย่างไร ทราบเพียงว่า ท่านปรินิพพานก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง และก่อนพระพุทธเจ้า โดยการทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47392938
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
57954
54808
257701
46849926
879276
1172714
47392938

Your IP: 3.144.29.213
2024-11-21 21:11
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search