ราหุลสามเณร สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ราหุลสามเณร สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ความย่อ

สามเณรราหุล เป็นโอรส (ลูกชาย) ของพระนางยโสธรากับเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ และเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ประวัติ

ามเณรราหุล เป็นโอรส (ลูกชาย) ของพระนางยโสธรากับเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ และเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเป็นพระอนหันต์ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี สาเหตุที่ท่านบวชเพราะทรงตรัสขอพระราชสมบัติจากพระราชบิดา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่าสมบัติที่ประเสริฐที่สุดที่ควรให่แก่ลูก คืออริยทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าโลกียทรัพย์ หรือทรัพย์สินเงินทอง จึงทรงตรัสให้ราหุลออกบวช เมื่อบวชแล้วสามเณรก็เป็นผู้ว่าง่ายอยู่ง่ายไม่ถือตนว่าเป็นโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมีความเคารพในพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง

สามเณรราหุลมีนิสัยรักในการใฝ่ศึกษาเป็นอย่างมาก ท่านได้กอบทรายเต็มกำมือแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า...

"ขอให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ให้ได้มากเท่ากับเม็ดทรายในกำมือ"

ด้วยเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องพระราหุลว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ประเสริฐสุด) ในทางด้านผู้คงแก่เรียนใฝ่ศึกษา

 

เรื่องราหุลมาในพระวินัย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย แล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้น เวลาเช้า ทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรและจีวรเสด็จไปยังพระนิเวศน์พระเจ้าสุทโธทน ศากยะ ประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ได้ปูลาดไว้

ขณะนั้น พระเทวีมารดาพระราหุลกุมารได้ทรงมีพระเสาวนีย์ว่า “แน่ะราหุล สมณะนั้นเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกเถิด”

พระราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ เบื้องพระพักตร์ พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสมณะ พระฉายาของพระองค์เป็นสุข”

พระผู้มีพระภาคได้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับไป พระกุมารก็เสด็จ ติดตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์ พลางกราบทูลขอว่า “พระสมณะได้โปรดประทาน ทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน พระสมณะได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมารับสั่งว่า “สารีบุตร ถ้าอย่างนั้นเธอจงให้ราหุลกุมารบรรพชาเถิด”

ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า “ข้าพระองค์จะให้ราหุลกุมารบรรพชาอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณร ด้วยไตรสรณคมน์”

 

วิธีให้บรรพชา

ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงให้กุลบุตรบรรพชาอย่างนี้ ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนม มือแล้วสั่งว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้” แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้

 

ไตรสรณคมน์ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
  • ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้” ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ให้พระราหุลบรรพชาแล้ว

 

เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพร

ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนศากยะได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระเจ้าข้า หม่อมฉันทูลขอพรพระผู้มีพระภาคอย่างหนึ่ง”

พระผู้มีพระภาคถวายพระพรว่า “มหาบพิตรผู้โคดม ตถาคตทั้งหลายเลิกพรเสียแล้ว”

พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด มหาบพิตรผู้โคดม”

พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลว่า “เมื่อพระองค์ทรงผนวช หม่อมฉันมีทุกข์ไม่น้อย เมื่อนันทะผนวชก็เช่นเดียวกัน ครั้นราหุลบรรพชา ยิ่งเกิดทุกข์เหลือประมาณ พระพุทธเจ้าข้า ความรักในพระโอรสย่อมตัดผิว ตัดผิวแล้วก็ตัดหนัง ตัดหนังแล้วก็ตัดเนื้อ ตัดเนื้อแล้วก็ตัดเอ็น ตัดเอ็นแล้วก็ตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วก็จดเยื่อในกระดูก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงให้บุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาตบรรพชา พระพุทธเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าสุทโธทนศากยะทรงเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

ครั้นพระเจ้าสุทโธทนศากยะผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้ อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย ธรรมีกถาแล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณเสด็จกลับ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นเหตุ แล้วรับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตไม่พึงให้บรรพชา รูปใดให้บรรพชา ต้องอาบัติทุกกฏ” ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ตามพระอัธยาศัยแล้ว ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดีเขตกรุงสาวัตถีนั้น

 

ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรหลายรูปไว้อุปัฏฐาก

สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรส่งเด็กชายไปยังสำนักของท่าน ด้วยมอบหมายว่า “ขอพระเถระโปรดให้เด็กคนนี้บรรพชา”

ขณะนั้น ท่านพิจารณาเห็นว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุรูปเดียว ไม่พึงใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว จะพึงปฏิบัติ อย่างไรหนอ” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ รูปเดียวซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถ ใช้สามเณร ๒ รูปให้อุปัฏฐากได้ หรืออนุญาตให้ใช้ สามเณรเท่าที่สามารถจะตักเตือนพร่ำสอนให้อุปัฏฐากได้”

 

ว่าด้วยสิกขาบทของสามเณร

ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความคิดคำนึงว่า “สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไรหนอ และเราจะต้องศึกษาในสิกขาบทไหน” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณร และให้สามเณรศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ

  • ๑. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
  • ๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
  • ๓. เจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
  • ๔. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
  • ๕. เจตนางดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
  • ๖. เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
  • ๗. เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรีและดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
  • ๘. เจตนางดเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้ เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
  • ๙. เจตนางดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
  • ๑๐. เจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้แก่สามเณร และให้สามเณร ศึกษาในสิกขาบท ๑๐ เหล่านี้”

 


ที่มา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

ข้อมูลเพิ่มเติม

ราหุลเถระภิกษุ
47478528
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
76443
67101
343291
46849926
964866
1172714
47478528

Your IP: 49.230.118.33
2024-11-22 18:28
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search