พากุล(พระพากุลเถระ)

  • Creation Date: 11 กรกฎาคม 2562
  • Hits: 3144
  • Author: เอกพจน์
พากุล(พระพากุลเถระ)

ประวัติ

ประวัติพระพากุลเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้มีอาพาธน้อย

การที่ท่านพระพากุลเถร ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ คือพระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการเป็นผู้มีอาพาธน้อยได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า

นับย้อนไป อสงไขยกับอีกแสนกัป นับแต่กัปนี้ ในกาลแห่งพระทศพล พระนามว่าอโนมทัสสี พระเถระนี้ถือปฏิสนธิในสกุลพราหมณ์ เมื่อเติบใหญ่แล้ว ก็เล่าเรียนพระเวท แต่เมื่อท่านมาพิจารณาดูก็มองไม่เห็นสาระในคัมภีร์ไตรเพท จึงคิดว่าน่าจะแสวงหาทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปภายภาคหน้า จึงได้ออกบวชเป็นฤษี บำเพ็ญเพียรจนได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ จากนั้นท่านก็เสวยสุขอยู่ในฌาน

สมัยนั้น เป็นเวลาที่พระอโนมทัสสีโพธิสัตว์ ได้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงเสด็จจาริกไปพร้อมหมู่พระอริยสาวก ท่านเมื่อได้ทราบข่าวว่า เกิดพระรัตนตรัยขึ้นในโลกแล้ว จึงไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ครั้นได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ก็เกิดความเลื่อมใสตั้งอยู่ในสรณะ แต่ไม่ได้ออกบวช ยังคงอยู่ในฐานะแห่งดาบสอยู่ ท่านไปเฝ้าพระศาสดาและฟังธรรมเป็นครั้งคราว

ต่อมา สมัยหนึ่ง พระตถาคตทรงพระประชวร เกิดลมในพระอุทร ท่านดาบสนั้นเมื่อเดินทางมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดาตามที่เคยทำ ครั้นทราบว่าพระศาสดาประชวร จึงถามพระภิกษุว่า ท่านเจ้าข้า พระศาสดาประชวรเป็นโรคอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าเป็นโรคลมในพระอุทร ท่านจึงคิดว่า นี้เป็นโอกาสของเราที่จะได้ทำบุญ จึงเดินทางไปยังเชิงเขา รวบรวมยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ แล้วประกอบเป็นยา นำไปถวายพระเถระผู้อุปัฏฐากพระศาสดา กล่าวว่า ท่านโปรดน้อมถวายยานี้แต่พระศาสดา ครั้นเมื่อพระศาสดาได้เสวยยาที่ท่านนำมาถวายนั้น โรคลมในพระอุทรก็สงบ ต่อมาเมื่อดาบสนั้นไปเฝ้าในเวลาที่พระศาสดาทรงพระสำราญแล้ว ท่านก็ทูลว่า ความผาสุกที่เกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพระองค์นี้อันใด ด้วยผลแห่งการถวายยาของข้าพระองค์นั้น ขอความเจ็บไข้ทางร่างกายแม้แต่เพียงเท่าการถอนผม ก็จงอย่ามีในภพที่ข้าพระองค์เกิดแล้ว

นี้เป็นกัลยาณกรรมในภพนั้นของท่าน และเมื่อท่านจุติจากภพนั้น ก็บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดามนุษย์ สิ้นอสงไขยหนึ่ง

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี วันหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายหมู่พุทธบริษัท ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีอาพาธน้อย ท่านก็ปรารถนาจะได้อยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต จึงได้นิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วัน แล้วแสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น

ท่านกระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์

 

บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในก่อนกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสีจะทรงอุบัติ ท่านมาเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ณ กรุงพันธุมวดี บวชเป็นฤๅษีโดยนัยเดียวกับเมื่อครั้งในกาลสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้านั่นแหละ เป็นผู้ได้ฌาน อาศัยอยู่เชิงเขา พระวิปัสสีโพธิสัตว์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ มี ภิกษุหกล้านแปดแสนเป็นบริวาร ทรงอาศัยกรุงพันธุมวดี ทรงทำการสงเคราะห์พระมหาราชเจ้าผู้เป็นพุทธบิดาแล้วประทับอยู่ ณ มิคทายวัน อันเกษม

ครั้งนั้น ดาบสนี้ทราบว่าพระทศพลอุบัติขึ้นในโลก จึงมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา แล้วตั้งอยู่ในสรณะ แต่ก็ไม่อาจละเพศดาบสของตนได้ แต่ก็มาอุปัฏฐากพระศาสดาเป็นครั้งคราว สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เว้นพระศาสดาและพระอัครสาวก เกิดโรคที่ศีรษะ เพราะถูกลมของ ต้นไม้มีพิษที่ออกดอกสพรั่งในป่าหิมพานต์อยู่ในเวลานั้น ท่านดาบสที่มาเฝ้าพระศาสดา เห็นเหล่าภิกษุนั่งคลุมศีรษะจึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์เป็นอะไร ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ผู้มีอายุ เหล่าภิกษุเป็นโรคดอกไม้พิษ ดาบสคิดว่านี้เป็นเวลาที่จะทำการขวนขวายทางกายแก่ภิกษุสงฆ์ ให้บุญบังเกิดแก่เรา ท่านจึงไปเก็บยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ แล้วเอาประกอบเป็นยาถวาย เมื่อได้ฉันยาของดาบสนั้นโรคของภิกษุทุกรูปก็สงบไปทันที ดาบสนั้นดำรงอยู่ชั่วอายุ ก็บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ เก้าสิบเอ็ดกัป

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ท่านพระเถระมาบังเกิดในกรุงพาราณสี เป็นฆราวาสผู้ครองเรือนอยู่ วันหนึ่งเขาเห็นว่า เรือนที่ท่านอาศัยอยู่ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากแล้ว ควรที่จะต้องเดินทางไปยังชายแดนเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาซ่อมแซมเรือน จึงออกเดินทางไปกับพวกช่างไม้ ในระหว่างทางได้พบวัดใหญ่ซึ่งเก่าคร่ำคร่าและปรักหักพังลงไปเพราะขาดการบำรุงรักษา ท่านก็คิดว่าการซ่อมแซมเรือนของเราเห็นควรรอไว้ก่อน ท่านได้ให้พวกช่างไม้เหล่านั้นนำเอาวัสดุอุปกรณ์ที่จะซ่อมเรือนเหล่านั้นมาสร้างโรงอุโบสถในวัดนั้น ให้สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล) ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ (ส้วม) จัดตั้งยาใช้และฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ทุกอย่าง

 

กำเนิดเป็นพักกุลในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในภัทรกัปนี้ ท่านจุติจากเทวโลก เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี แห่งนครโกสัมพี ในสมัยก่อนเวลาที่พระพุทธเจ้าของพวกเราจะทรงอุบัติ ตั้งแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ สกุลเศรษฐีนั้นก็ประสบลาภผลอันเลิศมาโดยตลอด ครั้งนั้น มารดาของท่านคิดว่า ลูกของเราคนนี้มีบุญ กระทำบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นผู้ไม่มีโรค อายุยืน ยังดำรงอยู่ตลอดกาลเท่าใด ก็จักเป็นผู้ให้สมบัติแก่เราตลอดกาลเพียงนั้น ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมที่ถือกันว่า เด็กทั้งหลายที่อาบน้ำในแม่น้ำยมุนา จะเป็นผู้ไม่มีโรค ท่านมารดาจึงส่งทารกนั้นไปอาบน้ำ เมื่อพวกพี่เลี้ยงพาท่านไปดำเกล้า แล้วลงเล่นในแม่น้ำ เมื่อพวกพี่เลี้ยงกำลังให้ทารกเล่นดำผุด ดำว่ายอยู่ ปลาตัวหนึ่งเห็นทารกสำคัญว่าเป็นอาหาร จึงคาบเด็กไป พวกพี่เลี้ยงต่างก็ทิ้งเด็กหนีไป

ฝ่ายปลานั้นเมื่อกลืนเด็กลงไปแล้วนั้น เป็นธรรมดาของผู้ที่จะมาเกิดเป็นภพสุดท้ายย่อมไม่มีอันตรายถึงชีวิตก่อนที่จะบรรลุพระอรหัตผล ดังนั้นทารกนั้นไม่เดือดร้อนเลย ท่านได้เป็นเหมือนเข้าไปสู่ห้องนอนแล้วนอนหลับไป ด้วยเดชแห่งทารก ปลามีสภาพเหมือนกลืนภาชนะที่ร้อนลงไป ถูกความร้อนแผดเผาอยู่ มีกำลังว่ายไปได้เพียง ๓๐ โยชน์แล้วเข้าไปติดข่ายของชาวประมงเมืองพาราณสี ปกติปลาใหญ่ที่ติดข่ายนั้นจะยังไม่ตายทันที ต่อเมื่อถูกนำไปถึงจะตาย แต่ด้วยเดชแห่งทารก ปลาตัวนี้พอเขานำออกจากข่ายก็ตายทันที และธรรมดาชาวประมง ได้ปลาตัวใหญ่ ๆ แล้วย่อมผ่าออกแบ่งขาย แต่ก็ด้วยอานุภาพของเด็ก ชาวประมงยังไม่ผ่าปลานั้น ใช้คานหามไปทั้งตัว ร้องประกาศไปทั่วเมืองว่า จะขายราคาหนึ่งพันกหาปณะ แต่ก็ไม่มีใครซื้อ

ในเมืองพาราณสีนั้นมีตระกูลเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ แต่ไม่มีบุตรผู้สืบสกุลอยู่ตระกูลหนึ่ง ครั้นเมื่อชาวประมงหาบปลามาถึงประตูเรือนของเศรษฐีนั้น ภริยาเศรษฐีเห็นปลานั้นเข้าก็ชอบใจ จึงถามว่า จะขายเท่าไร ชาวประมงแทนที่จะตอบตามราคาที่ตั้งใจไว้ กลับตอบว่าขายหนึ่งกหาปณะ นางจึงให้เงินหนึ่งกหาปณะแล้วซื้อไว้ ธรรมดาภริยาท่านเศรษฐีนั้น ปกติจะไม่ชอบทำปลา แต่ในวันนั้น ก็วางปลาไว้บนเขียง แล้วลงมือผ่าเองทีเดียว และก็ธรรมดาปลาต้องผ่าที่ท้อง แต่นางกลับผ่าข้างหลัง เห็นทารกผิวดังทองในท้องปลา ก็ยินดีตะโกนว่า เราได้บุตรในท้องปลา แล้วอุ้มเด็กไปให้เศรษฐีผู้เป็นสามีดู ท่านเศรษฐีก็ให้คนตีกลองประกาศข่าวไปทั่วพระนครในทันทีทันใดนั้นเอง แล้วอุ้มทารกตรงไปยังราชสำนัก กราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าได้ทารกในท้องปลา ข้าพระพุทธเจ้า จะทำประการใด พระราชาตรัสว่า ทารกที่อยู่ในท้องปลาได้โดยปลอดภัยได้นี้มีบุญ ท่านจงเลี้ยงไว้เถิด

ข่าวนั้นได้กระจายไปถึงนครโกสัมพีว่า ในพระนครพาราณสี ตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งได้ทารกในท้องปลา มารดาเดิมของทารกนั้นจึงเดินทางไปในเมืองนั้น ได้เห็นเขากำลังแต่งตัวเด็กแล้วให้เล่นอยู่ จึงตรงเข้าอุ้มด้วยคิดว่า เด็กคนนี้น่ารักจริงหนอ แล้วบอกเล่าความเป็นไปต่าง ๆ

ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสีพูดว่า เด็กคนนี้เป็นลูกเรา

มารดาเดิมของทารกนั้น ถามว่า ท่านได้มาจากไหน

ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสีพูดว่า เราได้ในท้องปลา

มารดาเดิมของทารกนั้นจึงพูดว่า เด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกของท่าน เป็นลูกของเรา

ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสี ถามว่า ท่านได้ที่ไหน

มารดาเดิมของทารกนั้นนั้น เล่าว่า เราอุ้มท้องเด็กคนนี้มาถึง ๑๐ เดือน คราวนั้นปลาได้กลืนเด็กที่พวกพี่เลี้ยงกำลังให้เล่นน้ำ

ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสี จึงแย้มว่า ลูกของท่านชะรอยปลาอื่นจะกลืนไป แต่เด็กคนนี้ข้าพเจ้าได้ในท้องปลา

ทั้งสองฝ่ายจึงพากันไปยังราชสำนัก

พระราชาตรัสว่า หญิงผู้เป็นมาดาเดิมนี้ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่มารดา เพราะตั้งท้องมาถึง ๑๐ เดือน แม้หญิงคนนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ใช่มารดา เพราะได้เด็กในท้องปลาส่วนพวกชาวประมงที่จับปลาได้ ก็ได้ทำการซื้อขายเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงหมดสิทธิ เพราะฉะนั้น ขอทั้งสองฝ่ายจงเลี้ยงดูเด็กร่วมกันเถิด

นับแต่นั้นมา ทั้งสองตระกูล ก็เลี้ยงดูเด็กร่วมกัน สกุลทั้งสองก็ประสบลาภยศอันเลิศอย่างยิ่ง จึงพากันขนานนามท่านว่า พากุลกุมาร ซึ่งหมายความว่า เติบโตขึ้นเพราะสองสกุลเลี้ยงดู (พา = สอง, กุละ = ตระกูล) เมื่อเด็กเจริญวัยแล้ว ตระกูลทั้งสองก็ได้สร้างปราสาทให้เขา ไว้ในพระนครทั้งสองแล้วให้บำรุงบำเรอด้วยพวกหญิงฟ้อนรำ เขาจะอยู่นครละ ๔ เดือน เมื่อเขาอยู่ในนครหนึ่งครบ ๔ เดือนแล้ว ทั้งสองตระกูลให้ช่างสร้างมณฑปไว้ในเรือที่ต่อขนานกัน แล้วให้เขาอยู่ในเรือนั้น พร้อมด้วยหญิงฟ้อนรำทั้งหลาย.เขาเสวยสมบัติเพลิน เดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง หญิงฟ้อนรำชาวพระนครได้ไปส่งเขาถึงครึ่งทาง หญิงเหล่านั้นต้อนรับห้อมล้อมแล้วนำเขาไปยังปราสาทของตน หญิงฟ้อนรำชุดเก่าก็พากันกลับเมืองของตนเหมือนกัน เขาอยู่ในปราสาทนั้นตลอด ๔ เดือน แล้วเดินทางกลับไปยังอีกเมืองหนึ่ง โดยทำนองนั้นแล เขาเสวยสมบัติอยู่อย่างนี้จนอายุครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์

สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเรา ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จจาริกมาโดยลำดับ ถึงกรุงโกสัมพี พากุลเศรษฐี สดับข่าวว่า พระทศพลเสด็จมาแล้ว จึงถือเอาของหอมและมาลัยไปสำนักพระศาสดาฟังธรรม ได้ศรัทธาก็บวช ท่านเป็นปุถุชนอยู่ ๗ วัน อรุณวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

ครั้งนั้น พวกหญิงแม่บ้านที่ท่านสร้างสมไว้ครั้งเป็นคฤหัสถ์ในนครทั้งสอง ก็กลับไปเรือนสกุลของตน อยู่ในเรือนสกุลนั้นนั่นแหละ ทำจีวรส่งไปถวาย พระเถระใช้สอยจีวรผืนหนึ่ง ที่ชาวกรุงโกสัมพีส่งไปถวาย ครึ่งเดือน จีวรผืนหนึ่งที่ชาวกรุงพาราณสีส่งไปถวาย ครึ่งเดือน โดยทำนองนี้ นี่แล ชาวนครก็นำจีวรแต่ชนิดสุดยอด ในนครทั้งสองมาถวายแต่พระเถระรูปเดียว พระเถระครองเรือน ๘๐ ปี อาพาธเจ็บป่วยไร ๆ ก็มิได้มีตลอดกาล แม้เพียงใช้ ๒ นิ้วจับก้อนของหอมสูดดม ในปีที่ ๘๐ ก็เข้าบรรพชาโดยสะดวกดาย ท่านแม้บวชแล้ว อาพาธแม้เล็กน้อยหรือความขาดแคลนด้วยปัจจัย ๔ มิได้มีเลย

 

พระเถระเป็นผู้สำเร็จอภิญญาใหญ่

ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น พระสาวกที่เหลือแม้จะได้อภิญญาแต่ก็ไม่เรียกว่าได้อภิญญาใหญ่ เพราะพระสาวกที่เหลือผู้ได้อภิญญาเหล่านั้นย่อมสามารถระลึกชาติได้เพียงแสนกัปเท่านั้น ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นระลึกไม่ได้ แต่ท่านผู้บรรลุอภิญญาใหญ่ย่อมระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป

ในศาสนาของพระศาสดาของพวกเรา ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่าน คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

การที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้มี่พระภาคเจ้าให้เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อยนั้น เป็นผลบุญที่ท่านได้กระทำไว้ในกาลสมัยของพระพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ ได้แก่

ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี ทรงอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระศาสดาเกิดการอาพาธเนื่องด้วยโรคลม จึงไปนำเอาเภสัชมาจากป่าระงับโรคลมนั้นจนสงบดี

ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศแห่งพวกภิกษุผู้มีอาพาธน้อย ตนเองหวังจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ตั้งความปรารถนาไว้อย่างนั้น

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เมื่อภิกษุทั้งหลาย เกิดความป่วยไข้เพราะดอกไม้ป่าเป็นเหตุ จึงช่วยประกอบยารักษาโรคนั้นจนสงบ

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้มองเห็นมหาวิหารหลังหนึ่งซึ่งคร่ำคร่าทรุดโทรม จึงให้ช่างจัดการสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด มีโรงอุโบสถเป็นต้นในมหาวิหารนั้น และได้จัดแจงถวายเภสัชทุกชนิดแก่ภิกษุสงฆ์ในที่นั้นด้วย

และท่านก็ได้ตั้งความปรารถนาในผลบุญที่ตนกระทำไปนั้นว่า “ความผาสุกเกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพระองค์นี้อันใด ด้วยผลแห่งการถวายยาของข้าพระองค์นั้น ขอความเจ็บไข้ทางร่างกายแม้แต่เพียงเท่าการถอนผม ก็จงอย่ามีในภพที่ข้าพระองค์เกิดแล้ว”

ด้วยผลบุญ และ ด้วยเจตจำนงที่ได้ตั้งเอาไว้แล้วนั้น อาพาธแม้มีประมาณน้อยเพียงครู่เดียวก็ไม่เคยมีแก่พระเถระนั้น พระเถระครองเรือน ๘๐ ปี อาพาธเจ็บป่วยไร ๆ ก็มิได้มีตลอดกาล แม้เพียงจะใช้ ๒ นิ้วจับก้อนของหอมสูดดมก็ไม่เคยเกิด ในช่วงตลอด ๘๐ ปีที่ท่านออกบวชท่านไม่รู้จักเคยเกิดอาพาธที่สุดแม้ชั่วขณะรีดนมโคสำเร็จ ไม่เคยต้องฉันยา แม้สมอชิ้นหนึ่ง

 

.

พระเถระแสดงวัตรของท่านตลอดเวลาที่บวช

สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งปลายอายุของพระพากุลเถระ ขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๖๐ พรรษา ๘๐ สมัยนั้นท่านได้อยู่ ณ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น มีปริพพาชกผู้หนึ่งนามว่า อเจลกัสสปะ เป็นสหายของท่านมาแต่ครั้งเมื่อท่านยังเป็นคฤหัสถ์ อเจลกัสสปะได้เข้ามาพบพระมหาเถระได้สนทนากัน และได้ถามพระมหาเถระว่า ได้บรรพชามานานเท่าใดแล้ว พระมหาเถระตอบว่า ได้บรรพชามาได้แปดสิบปีแล้ว อเจลกัสสปะจึงถามต่อไปว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านได้เสพเมถุนธรรมกี่ครั้ง พระมหาเถระตอบว่า ท่านไม่ควรถามเราอย่างนั้นเลยแต่ควรจะถามเราอย่างนี้ว่า ก็ชั่ว ๘๐ ปีนี้ กามสัญญาเคยเกิดขึ้นแก่ท่านกี่ครั้ง แล้วท่านก็ตอบว่า เมื่อเราบวชมาตลอด ๘๐ พรรษา ไม่รู้สึกกามสัญญาเคยเกิดขึ้น

อเจลกัสสปะจึงได้ถามต่อไปถึง พยาบาทสัญญา และวิหิงสาสัญญา กามวิตก พยาบาทวิตก .. วิหิงสาวิตก ซึ่งท่านก็ได้ตอบว่า เมื่อท่านบวชมาตลอด ๘๐ พรรษา ไม่รู้สึกว่าเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับท่านเลย และท่านได้กล่าวถึงวัตรปฏิบัติของท่านตลอดเวลาที่ท่านได้บวชอยู่ ดังนี้

 

พระเถระ ไม่ยินดีคหบดีจีวร ไม่กระทำนวกรรม มีการตัดและการเย็บเป็นต้น

พักกุล ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอด ๘๐ พรรษา เราไม่รู้สึกยินดีคหบดีจีวร ฯ (ได้แก่ จีวรของภิกษุผู้อยู่จำพรรษา)

          พักกุล ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอด ๘๐ พรรษา ไม่รู้จักใช้ ศาตราตัดจีวร .. ไม่รู้จักใช้เข็มเย็บจีวร .. ไม่รู้จักใช้เครื่องย้อมจีวร .. ไม่รู้จักเย็บจีวรในสะดึง .. ไม่รู้จักจัดทำจีวรของเพื่อนภิกษุร่วมประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน ..

ก็ถ้าท่านพักกุลเถระนั้น ไม่ยินดีคหบดีจีวร ไม่กระทำนวกรรม มีการตัดและการเย็บเป็นต้น ตลอดเวลาเช่นนั้น ท่านจะได้จีวรมาแต่ไหน

จีวรที่ท่านใช้นั้นก็มาจาก คนในตระกูลของท่าน พระเถระได้รับการทะนุบำรุงจากสองตระกูลในสองพระนคร ตระกูลทั้งสองเป็นตระกูลเศรษฐีมหาศาล ท่านจึงเป็นผู้มียศใหญ่ยิ่ง บุตรธิดาหลานเหลนของท่านในแต่ละตระกูล ให้คนทำจีวรด้วยผ้าเนื้อละเอียดอ่อน ให้ย้อมแล้วใส่ในผอบส่งไปถวาย ในเวลาที่พระเถระอาบน้ำ เขาจะวางไว้ที่ประตูห้องน้ำ พระเถระก็จะนุ่งและห่มจีวรที่เขาวางไว้เหล่านั้น และท่านก็จะให้จีวรเก่าแก่บรรพชิตทั้งหลายที่ท่านพบ เมื่อตระกูลทั้งสองเป็นผู้จัดทำจีวรถวายท่านเช่นนั้นแล้ว ท่านจึงไม่ต้องกระทำนวกรรม กิจกรรมที่จะต้องรวบรวมอะไร ๆ ก็ไม่มี ท่านจะนั่งเข้าผลสมาบัติ เมื่อครบสี่เดือนไปแล้ว ผ้านั้นก็จะมีขนหลุดลุ่ย คราวนั้น ลูก ๆ หลาน ๆ ก็จะส่งจีวรไปถวายท่านโดยทำนองนั้นแหละ

พระอรรถกถาจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า จีวรของพระเถระนั้น พวกหญิงในตระกูลของท่านทั้งสองตระกูล คือที่กรุงโกสัมพี และกรุงพาราณสี ก็ได้จัดทำส่งไปถวาย ทุกกึ่งเดือน พระเถระใช้จีวรที่ชาวกรุงโกสัมพีส่งไปถวายทุกกึ่งเดือน ชาวกรุงพาราณสี ก็ส่งไปถวายทุกกึ่งเดือน โดยทำนองนี้

 

พระเถระไม่รู้สึกยินดีกิจนิมนต์

ไม่รู้สึกยินดีกิจนิมนต์ .. ไม่รู้สึกเคยเกิดจิตเห็นปานนี้ว่า ขอใครๆ พึงนิมนต์เราเถิด .. ไม่รู้จักนั่งในละแวกบ้าน .. ไม่รู้จักฉันอาหารในละแวกบ้าน ...

พระเถระนั้นคนรู้จักกันทั่วสองพระนคร โดยที่ท่านถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านจึงไม่รับกิจนิมนต์ และไม่เข้าในเรือนใครนับแต่ชายคาของบ้านนั้น เมื่อท่านออกบิณฑบาต พอท่านมาถึงประตูเรือนเท่านั้น คนจะพากันมารับบาตรไป แล้วใส่โภชนะอันมีรสเลิศต่าง ๆ ถวาย.พระมหาเถระก็จะกลับมานั่งกระทำภัตตกิจ ซึ่งมีอยู่แห่งเดียว เป็นนิตย์มิได้ขาด

 

พระเถระไม่เคยมองดูมาตุคามเลย

ไม่รู้จักถือเอานิมิตของมาตุคามโดยอนุพยัญชนะ .. ไม่รู้จักแสดงธรรมแก่มาตุคามแม้ที่สุดคาถา ๔ บาท .. ไม่รู้จักเข้าไปสู่สำนักของภิกษุณี .. ไม่รู้จักแสดงธรรมแก่ภิกษุณี .. ไม่รู้จักแสดงธรรมแก่สิกขมานา .. ไม่รู้จักแสดงธรรมแก่สามเณรี ...

พระมหาเถระไม่เคยถือเอานิมิตแห่งมาตุคาม โดยอนุพยัญชนะ เป็นต้นว่า เนตรงาม นมงาม ผมงาม เลย ท่านหลีกเลี่ยงการเกี่ยวเนื่องกับสตรีไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ แม้สตรีนั้นจะเป็นภิกษุณี หรือนางสิกขมานา หรือสามเณรี ท่านไม่เคยแสดงธรรมให้ฟังสตรีฟัง แม้เพียงบทสั้น ๆ หรือเข้าไปในสำนักของนางภิกษุณีเลย

 

พระเถระไม่เคยมีศิษย์

ไม่รู้จักให้บรรพชา ...ไม่รู้จักให้อุปสมบท .. ไม่รู้จักให้นิสสัย ..

พระเถระนั้นเมื่อท่านบวชแล้ว ท่านก็มิได้มีศิษย์ หรือ อุปสมบท หรือให้โอวาทสั่งสอนผู้ใด ในเรื่องนี้พระอรรถกถาจารย์บางท่านจึงกล่าวว่า

พึงทราบธุตบุคคล (บุคคลผู้กำจัดกิเลส) ธุตวาทะ (การสอนเรื่องการกำจัดกิเลส) ธุตธรรม (ธรรมเครื่องกำจัดกิเลส) ธุดงค์ (องค์ของผู้กำจัดกิเลส)

มีบุคคลผู้กำจัดกิเลส ไม่มีการสอนเรื่องกำจัดกิเลส ๑

มีบุคคลผู้ไม่กำจัดกิเลสแต่มีการ สอนเรื่องกำจัดกิเลส ๑

มีบุคคลผู้ไม่กำจัดกิเลส ทั้งไม่มีการสอนเรื่องกำจัดกิเลส ๑

มีบุคคลผู้ทั้งกำจัดกิเลสและมีการสอนเรื่อง กำจัดกิเลส ๑

          ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลใดกำจัดกิเลสของตนด้วยธุดงค์ แต่ไม่โอวาทไม่อนุศาสน์คนอื่นด้วยธุดงค์ เหมือนพระพักกุลเถระ บุคคลนี้ชื่อว่าผู้กำจัดกิเลส แต่ไม่มีการสอนเรื่องกำจัดกิเลส

ในอรรถกถาอีกแห่งหนึ่งได้กล่าวว่า

ขึ้นชื่อว่า ผู้ปฏิบัติ มี ๔ ประเภท คือ

ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑

ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ๑

ผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑

ไม่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑

        บรรดาผู้ปฏิบัติเหล่านั้น ผู้ใดได้กถาวัตถุ ๑๐ เอง ไม่กล่าวไม่สอนผู้อื่นในกถาวัตถุ ๑๐ นั้นเหมือนอย่างท่านพากุละ ผู้นี้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

 

พระเถระไม่ยินดีในการบำรุงตน

ไม่รู้จักใช้สามเณรอุปัฏฐาก .. ไม่รู้จักอาบน้ำในเรือนไฟ .. ไม่รู้จักใช้จุณอาบน้ำ .. ไม่รู้จักยินดีการนวดฟั้นตัวของเพื่อนภิกษุร่วมประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน ..

 

พระเถระไม่เคยอาพาธ

ไม่รู้จักเคยเกิดอาพาธที่สุดแม้ชั่วขณะรีดนมโคสำเร็จ .. ไม่รู้จักฉันยาที่สุดแม้ชิ้นสมอ ..

เรื่องนี้ได้กล่าวไว้แล้วในข้อ “ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ”

 

พระเถระสมาทานธุดงค์ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือถือการนั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์

ไม่รู้จักอิงพนัก .. ไม่รู้จักสำเร็จการนอน ฯ

 

พระเถระสมาทานธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์

ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อเราบวชมาตลอด ๘๐ พรรษา ไม่รู้จักจำพรรษาในเสนาสนะใกล้เขตบ้าน ฯ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า พระพากุลเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียง หรือ แม้การเอนหลังพิงพนัก ตลอด ๘๐ ปีที่ท่านบวช จนปรินิพพาน

อเจลกัสสปะ ได้กล่าววาจาสรรเสริญ จากนั้นจึงได้ขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา และเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน ก็ได้หลีกออกอยู่ผู้เดียวมิได้ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนอันส่งไปในพระนิพพาน กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพระธรรมอันยิ่ง ในทิฏฐิธรรมด้วยตนเอง ท่านได้กล่าวอุทานวาจาประกอบด้วย โสมนัสญาณว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณีกิจสิบหกประการ ที่ต้องกระทำได้กระทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องกระทำต่อไปมิได้มีแล้ว พระอเจลกัสสปะเถระก็ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก

 

พระเถระปรินิพพาน

หลังจากที่ท่านได้จัดการให้อเจลกัสสปะได้บวชแล้ว ท่านก็ได้พิจารณาว่า กาลแห่งการปรินิพพานของท่านมาถึงแล้ว พระเถระดำริว่า แม้เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็อย่าได้เป็นภาระแก่ภิกษุเหล่าอื่น สรีระของเราแม้ปรินิพพานแล้ว อย่าให้ภิกษุสงฆ์ต้องเป็นกังวลเลย จึงเข้าเตโชธาตุปรินิพพานแล้วเปลวไฟลุกขึ้นท่วมสรีระ ผิวหนัง เนื้อและโลหิตถูกเผาไหม้สิ้นไป เหมือนเนยใส ยังคงเหลืออยู่แต่ธาตุ ที่มีลักษณะดังดอกมะลิตูม


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47693118
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
35428
31740
158915
47135237
1179456
1172714
47693118

Your IP: 3.133.157.231
2024-11-27 22:56
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search