บวชตอนอายุได้ ๗ ขวบ สามารถสำเร็จอรหันต์ในวันที่ ๘ ของการบวช ได้ชื่อว่า "บัณฑิต" เพราะเมื่อปฏิสนธิในครรภ์ ปรากฏว่าคนในบ้านเรือนมีแต่ความฉลาดปราดเปรื่องมากขึ้น
บัณฑิตสามเณร บวชตอนอายุได้ ๗ ขวบ สามารถสำเร็จอรหันต์ในวันที่ ๘ ของการบวช มารดาตั้งชื่อว่า "บัณฑิต" เหตุเพราะเมื่อสามเณรได้มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา ก็ปรากฏว่าคนในบ้านเรือนมีแต่ความฉลาดปราดเปรื่องมากขึ้น
"เวลาที่ผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมจะมีเทพยดาคุ้มครองป้องกัน แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังเสร็จไปช่วยอารักขา" ดังเช่นกรณีของสามเณรบัณฑิต
ในวันที่สามเณรน้อยตั้งใจบำเพ็ญเพียงปฏิบัติธรรม อาสน์ (ที่นั่งประทับ) ของท้าวสักกะเทวราช เทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นที่สองคือชั้นดาวดึงส์เกิดอาการร้อนขึ้นมา พระองค์จึงได้ลงมาอารักขาที่ประตูหน้ากุฏิ ท้าวมหาราชทั้งสี่ทิศ (เทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นแรก ชั้นจาตุมหาราชิกา) ได้ห้ามพระอาทิตย์และพระจันทร์ไม่ให้หมุน และไล่เสียงนกกาโดยรอบไม่ให้รบกวนแก่สามเณร องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงทราบเหตุการณ์ทุกอย่างด้วยพระญาณ ก็ทรงไปอารักขาที่ซุ้มประตูวัด เพื่อเหนี่ยวรั้งการเข้าไปของพระสารีบุตรด้วยการตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อให้สามเณรได้บำเพ็ญเพียงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อน
สาเหตุที่สามเณรตั้งใจปฏิบัติธรรมจนบรรจุอรหันต์ได้สำเร็จเพราะเห็นเหตุการณ์ ๓ อย่าง คือ
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบัณฑิตสามเณร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุทกํ หิ นยนฺติ" เป็นต้น
พระศาสดาตรัสอนุโมทนากถา
ดังได้สดับมา ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป มีพระขีณาสพ ๒ หมื่นรูปเป็นบริวาร ได้เสด็จไปสู่กรุงพาราณสี. มนุษย์ทั้งหลายกำหนดกำลังของตนๆ แล้ว รวมกัน ๘ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ได้ถวายอาคันตุกทานแล้ว
ต่อมาวันหนึ่ง ในกาลเป็นที่เสร็จภัตกิจ พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาอย่างนี้ว่า "อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้คิดว่า ‘เราให้ของๆ ตนเท่านั้นควร, ประโยชน์อะไรด้วยการชักชวนคนอื่น’ ดังนี้แล้ว จึงให้ทานด้วยตนเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน, เขาย่อมได้บริวารสมบัติไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนทั้งไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ เป็นคนกินเดนเป็นอยู่ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนทั้งให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ ทั้งบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว"
ผู้เลื่อมใสในอนุโมทนากถา
ชายบัณฑิตผู้หนึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ ได้ฟังอนุโมทนากถานั้นแล้วคิดว่า "บัดนี้ เราจักทำอย่างที่สมบัติทั้งสองจักมีแก่เรา." เขาถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า "พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า"
พระศาสดา. ต้องการภิกษุเท่าไร?
บัณฑิต. ก็บริวารของพระองค์ มีเท่าไร? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. มีภิกษุ ๒ หมื่นรูป.
บัณฑิต. พระเจ้าข้า พรุ่งนี้ ขอพระองค์กับภิกษุทั้งหมด โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์.
พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว.
เขาเข้าไปบ้านแล้ว เดินบอกบุญว่า "แม่และพ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้ ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไว้ (เพื่อรับภิกษา), ท่านทั้งหลายจงถวายแก่ภิกษุเท่าจำนวนที่สามารถ (ถวายได้)." เมื่อชนทั้งหลายกำหนดกำลังของตนๆ แล้ว กล่าวว่า "พวกเรา จักถวาย ๑๐ รูป, พวกเราจักถวาย ๒๐ รูป, พวกเรา ๑๐๐ รูป, พวกเรา ๕๐๐ รูป" ดังนี้แล้ว จึงจดคำของคนทั้งหมดลงไว้ในบัญชีตั้งแต่ต้นมา
ชายเข็ญใจยินดีรับเลี้ยงภิกษุ
ก็ในสมัยนั้น ในกรุงนั้นมีชายคนหนึ่งปรากฏชื่อว่า "มหาทุคตะ" เพราะความเป็นผู้ยากจนยิ่งนัก. ชายบัณฑิตนั้นเห็นชายเข็ญใจแม้นั้นมาเฉพาะหน้า จึงบอกว่า "เพื่อนมหาทุคตะ ข้าพเจ้าได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไว้ เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้, พรุ่งนี้ ชาวเมืองจักถวายทานกัน, แกจักเลี้ยงภิกษุสักกี่รูป?"
มหาทุคตะ. คุณ ผมจะต้องการอะไรด้วยภิกษุเล่า? ชื่อว่าความต้องการภิกษุ เป็นของคนมีทรัพย์, ส่วนผมแม้สักว่าข้าวสารทะนานหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่ข้าวต้มพรุ่งนี้ ก็ไม่มี, ผมทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพ, ผมจะต้องการอะไรด้วยภิกษุ?
ธรรมดาผู้ชักชวนพึงเป็นผู้ฉลาด. เพราะฉะนั้น ชายบัณฑิตนั้น แม้เมื่อมหาทุคตะพูดว่า "ไม่มี" ก็ไม่นิ่งเฉย ยังกล่าวอย่างนี้ว่า "เพื่อนมหาทุคตะ คนเป็นอันมากในเมืองนี้ บริโภคโภชนะอย่างดี นุ่งผ้าเนื้อละเอียด แต่งตัวด้วยเครื่องอาภรณ์ต่างๆ นอนบนที่นอนอันสง่างาม ย่อมเสวยสมบัติกัน, ส่วนแกทำงานรับจ้างตลอดวัน ยังไม่ได้อาหารแม้พอเต็มท้อง, แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ แกยังไม่รู้สึกว่า 'เราไม่ได้อะไรๆ เพราะไม่ได้ทำบุญอะไรๆ ไว้แม้ในกาลก่อน.’"
มหาทุคตะ. ผมทราบ คุณ.
บัณฑิต. เมื่อเช่นนั้น ทำไม บัดนี้แกจึงไม่ทำบุญเล่า? แกยังเป็นหนุ่ม มีเรี่ยวแรงสมบูรณ์ แกแม้ทำงานจ้างแล้ว ให้ทานตามกำลัง จะไม่ควรหรือ?
มหาทุคตะนั้น เมื่อชายบัณฑิตกล่าวอยู่ ถึงความสลดใจ จึงพูดว่า "คุณจงลงบัญชีภิกษุให้ผมบ้างสักรูปหนึ่ง, ผมจักทำงานจ้างอะไรสักอย่างแล้ว จักถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. ชายบัณฑิตนอกนี้ คิดว่า "ภิกษุรูปเดียวจะจดลงในบัญชีทำไม?" ดังนี้แล้ว จึงไม่จดไว้.
ฝ่ายมหาทุคตะไปเรือนแล้ว พูดกะภรรยาว่า "หล่อน พรุ่งนี้ ชาวเมืองเขาจัดภัตเพื่อพระสงฆ์, แม้ฉันก็ถูกผู้ชักชวนบอกว่า ‘จงถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง, พวกเราจักถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง พรุ่งนี้.’"
ลำดับนั้น ภรรยาของเขาไม่พูดเลยว่า "พวกเราเป็นคนจน, แกรับคำเขาทำไม?" กล่าวว่า "นาย แกทำดีแล้ว, เมื่อก่อนเราไม่ให้อะไรๆ ชาตินี้จึงเกิดเป็นคนยากจน, เราทั้งสองคนทำงานจ้างแล้ว จักถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง" แม้ทั้งสองคนได้ออกไปสู่ที่สำนักงานจ้าง.
มหาเศรษฐีเห็นมหาทุคตะ จึงถามว่า "เพื่อนมหาทุคตะ เธอจักทำงานจ้างหรือ?"
มหาทุคตะ. ขอรับ กระผม.
มหาเศรษฐี. จักทำอะไร?
มหาทุคตะ. แล้วแต่ท่านจักให้ทำ.
มหาเศรษฐีกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ เราจักเลี้ยงภิกษุ ๒-๓ ร้อย, จงมาผ่าฟืนเถิด" แล้วก็ให้หยิบมีดและขวานมาให้. มหาทุคตะถกเขมรอย่างแข็งแรง ถึงความอุตสาหะ วางมีด คว้าขวาน ทิ้งขวานฉวยมีด ผ่าฟืนไป.
ลำดับนั้น เศรษฐีพูดกะเขาว่า "เพื่อน วันนี้ เธอขยันทำงานเหลือเกิน, มีเหตุอะไรหรือ?"
มหาทุคตะ. นาย ผมจักเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง.
เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว มีใจเลื่อมใส คิดว่า "น่าเลื่อมใสจริง มหาทุคตะนี้ทำกรรมที่ทำได้ยาก, เขาไม่ถึงความเฉยเมยด้วยคิดว่า ‘เราจน’ พูดว่า ‘จักทำงานจ้างแล้วเลี้ยงภิกษุสักรูปหนึ่ง.’"
ฝ่ายภรรยาของเศรษฐี เห็นภรรยาของมหาทุคตะนั้นแล้ว ก็ถามว่า "แม่ เจ้าจักทำงานอะไร? เมื่อนางตอบว่า "แล้วแต่จะใช้ดิฉันให้ทำ" จึงให้เข้าไปสู่โรงกระเดื่องแล้ว ให้มอบเครื่องมือมีกระด้งและสากเป็นต้นให้แล้ว. นางยินดีร่าเริง ทั้งตำและฝัดข้าวเหมือนจะรำละคร.
ลำดับนั้น ภรรยาเศรษฐีถามนางว่า "แม่ เจ้ายินดีร่าเริงทำงานเหลือเกิน, มีเหตุอะไรหรือ?"
นาง. คุณนาย พวกดิฉันทำงานจ้างนี้แล้ว จักเลี้ยงภิกษุสักรูปหนึ่ง.
ฝ่ายภรรยาเศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว เลื่อมใสในนางว่า "น่าเลื่อมใส นางนี้ทำกรรมที่ทำได้ยาก."
ในเวลาที่มหาทุคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีสั่งให้ให้ข้าวสาลี ๔ ทะนานด้วยพูดว่า "นี้ค่าจ้างของเธอ" แล้วสั่งให้ให้แม้อีก ๔ ทะนานด้วยพูดว่า "นี้เป็นส่วนที่เพิ่มให้เพราะความยินดีแก่เธอ."
เขาไปสู่เรือนบอกกะภรรยาว่า "ฉันรับจ้างได้ข้าวสาลีมา ส่วนนี้จักเป็นกับ, เจ้าจงถือเอาของ คือนมส้ม น้ำมัน และเครื่องเทศ ด้วยค่าจ้าง (แรงงาน) ที่เจ้าได้แล้ว."
ฝ่ายภรรยาเศรษฐีสั่งให้จ่ายเนยใสขวดหนึ่ง นมส้มกระปุกหนึ่ง เครื่องเทศหนึ่ง และข้าวสารสาลีอย่างเป็นตัวทะนานหนึ่งแก่นาง. เขาทั้งสองได้มีข้าวสารรวม ๙ ทะนาน ด้วยประการฉะนี้.
ทั้งสองผัวเมียยินดีร่าเริงว่า "เราได้ไทยธรรมแล้ว" ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่. ภรรยาพูดกับมหาทุคตะว่า "ไปหาผักมาซิ นาย" เขาไม่เห็นผักในร้านตลาด จึงไปฝั่งแม่น้ำ มีใจร่าเริงว่า" "จักได้ถวายโภชนะแก่พระผู้เป็นเจ้า" ร้องเพลงพลาง เลือกเก็บผักพลาง. ชาวประมงยืนทอดแหใหญ่อยู่ รู้ว่า "เป็นเสียงของมหาทุคตะ" จึงเรียกเขามาถามว่า "แกมีจิตยินดีเหลือเกิน ร้องเพลงอยู่, มีเหตุอะไรหรือ?"
มหาทุคตะ. เก็บผักเพื่อน.
ชาวประมง. จักทำอะไรกัน?
มหาทุคตะ. จักเลี้ยงภิกษุสักรูปหนึ่ง.
ชาวประมง. โอ! อิ่มละ ภิกษุที่ฉันผักของแก.
มหาทุคตะ. จะทำอย่างไรได้? เพื่อน, กันต้องเลี้ยงภิกษุด้วยผักที่กันได้.
ชาวประมง. ถ้าอย่างนั้น มานี่เถิด.
มหาทุคตะ. จะทำอย่างไร? เพื่อน.
ชาวประมง. จงถือเอาปลาเหล่านี้ร้อยให้เป็นพวง มีราคาบาทหนึ่งบ้าง กึ่งบาทบ้าง กหาปณะหนึ่งบ้าง. เขาได้กระทำอย่างนั้น.
ชาวเมืองซื้อปลาที่มหาทุคตะร้อยไว้ๆ ไป เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุที่ตนนิมนต์แล้วๆ. เมื่อเขากำลังร้อยปลาอยู่นั้นแล, ก็ถึงเวลาภิกขาจารแล้ว. เขากำหนดเวลาแล้วกล่าวว่า "จักต้องไป เพื่อน, นี้เป็นเวลาที่ภิกษุมา."
ชาวประมง. ก็พวงปลายังมีอยู่ไหม?
มหาทุคตะ. ไม่มี เพื่อน, หมดสิ้นแล้ว.
ชาวประมง. "ถ้าอย่างนั้น ปลาตะเพียน ๔ ตัว ข้าหมกทรายไว้ เพื่อประโยชน์แก่ตน, แม้ถ้าแกต้องการจะเลี้ยงภิกษุ, จงเอาปลาเหล่านี้ไปเถิด" ดังนี้แล้วก็ได้ให้ปลาตะเพียนเหล่านั้นแก่เขาไป.
มหาทุคตะได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า
ก็วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นมหาทุคตะ เข้าไปในภายในข่ายคือพระญาณของพระองค์ ทรงรำพึงว่า "จักมีเหตุอะไรหนอ?" ทรงดำริว่า "มหาทุคตะคิดว่า จักเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง, จึงได้ทำงานจ้างกับภรรยาแล้วในวันวาน, เขาจักได้ภิกษุรูปไหนหนอ?" จึงทรงใคร่ครวญว่า "คนทั้งหลายจักพาภิกษุไปตามชื่อที่จดไว้ในบัญชีแล้ว ให้นั่งในเรือนของตนๆ, มหาทุคตะเว้นเราเสียแล้ว จักไม่ได้ภิกษุอื่น."
ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงทำความอนุเคราะห์ในพวกคนเข็ญใจ เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่แล้ว เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่งด้วยทรงดำริว่า "จักสงเคราะห์มหาทุคตะ."
แม้เมื่อมหาทุคตะกำลังถือปลาเข้าไปสู่เรือน บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงพิจารณาว่า "เหตุอะไรกันหนอ?" ทรงดำริว่า "วานนี้ มหาทุคตะได้ทำงานจ้างกับภรรยาของตน ด้วยตั้งใจว่า ‘จักถวายภิกษาแก่ภิกษุสัก ๑ รูป’ เขาจักได้ภิกษุรูปไหนหนอ?" ทรงทราบว่า "ภิกษุอื่นไม่มีสำหรับเขา, แต่พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ด้วยตั้งพระทัยว่า 'จักสงเคราะห์มหาทุคตะ’, มหาทุคตะพึงถวายข้าวต้มข้าวสวย และมีผักเป็นกับ อย่างที่ตัวบริโภคเองแด่พระตถาคต, ถ้ากระไร เราควรไปยังเรือนของมหาทุคตะ ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว" ดังนี้แล้ว
จึงทรงจำแลงเพศมิให้ใครรู้จัก เสด็จไปที่ใกล้เรือนของมหาทุคตะนั้นแล้ว ตรัสถามว่า "ใครๆ มีงานจ้างอะไรบ้างหรือ?" มหาทุคตะเห็นท้าวสักกะแล้ว จึงกล่าวว่า "จักทำงานอะไร? เพื่อน."
ชายแปลง. ข้าพเจ้ารู้วิชาการทุกอย่าง นาย, ชื่อว่าวิชาการสิ่งไรที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ไม่มีเลย, รู้จนการปรุงข้าวต้ม ข้าวสวยเป็นต้น.
มหาทุคตะ. เพื่อน พวกข้าพเจ้ามีความต้องการด้วยการงานของท่าน, แต่ยังไม่เห็นค่าจ้างที่ควรจะให้แก่ท่าน.
ชายแปลง. ก็ท่านต้องการทำอะไร?
มหาทุคตะ. ข้าพเจ้าประสงค์จะถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง, ประสงค์จัดแจงข้าวต้มข้าวสวยถวายภิกษุนั้น.
ชายแปลง. ถ้าท่านจะถวายภิกษาแก่ภิกษุ ข้าพเจ้าไม่ต้องการค่าจ้าง, ท่านให้บุญแก่ข้าพเจ้า ไม่ควรหรือ?
มหาทุคตะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เป็นการดีละ เพื่อน, เชิญเข้าไปเถิด.
ท้าวสักกะนั้นเสด็จเข้าไปในเรือนของมหาทุคตะนั้นแล้ว ให้นำข้าวสารเป็นต้นมาแล้ว ทรงส่งมหาทุคตะนั้นไปด้วยคำว่า "ไปเถิดท่าน, จงนำภิกษุที่ถึงแก่ตนมา."
ฝ่ายผู้จัดการทาน ได้จ่ายภิกษุไปสู่เรือนของพวกชนเหล่านั้นๆ ตามรายการที่จดไว้ในบัญชีนั่นแล. มหาทุคตะไปยังสำนักของเขาแล้ว พูดว่า "จงให้ภิกษุที่ถึงแก่ผมเถิด" เขาได้สติขึ้นในขณะนั้น จึงพูดว่า "ฉันลืมภิกษุสำหรับแกเสียแล้ว" มหาทุคตะเป็นเหมือนถูกประหารที่ท้องด้วยหอกอันคม ประคองแขนร่ำไรว่า "เหตุไร จึงให้ผมฉิบหายเสียเล่า? คุณ, แม้ผมอันท่านชวนแล้วเมื่อวาน ก็พร้อมด้วยภรรยาทำงานจ้างตลอดวัน วันนี้ แต่เช้าตรู่ เที่ยวไปที่ฝั่งแม่น้ำ เพื่อต้องการผักแล้วจึงมา, ขอท่านจงให้ภิกษุแก่ผมสักรูปหนึ่งเถิด."
มหาทุคตะไปนิมนต์พระศาสดา
คนทั้งหลายประชุมกันแล้ว ถามว่า "มหาทุคตะ นั่นอะไรกัน?" เขาบอกเนื้อความนั้น. คนเหล่านั้นถามผู้จัดการว่า "จริงไหม? เพื่อน ได้ยินว่า มหาทุคตะนี้ ท่านชักชวนว่า ‘จงทำงานจ้างแล้วถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง.’"
ผู้จัดการ. ขอรับ นาย.
คนเหล่านั้น. ท่านจัดการภิกษุมีประมาณถึงเท่านี้ ไม่ได้ให้ภิกษุแก่มหาทุคตะนี้สักรูปหนึ่ง ทำกรรมหนักเสียแล้ว.
เขาละอายใจด้วยคำพูดของคนเหล่านั้น จึงพูดกะมหาทุคตะนั้นว่า "เพื่อนมหาทุคตะ อย่าให้ฉันฉิบหายเลย, ฉันถึงความลำบากใหญ่ เพราะเหตุแห่งท่าน, คนทั้งหลายนำภิกษุที่ถึงแก่ตนๆ ไปตามรายการที่จดไว้ในบัญชี, ชื่อว่าคนผู้ซึ่งจะถอนภิกษุผู้ซึ่งนั่งในเรือนของตนให้ ไม่มี,
ส่วนพระศาสดาสรงพระพักตร์แล้วประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎีนั่นเอง, พระเจ้าแผ่นดิน ยุพราช และคนโตๆ มีเสนาบดีเป็นต้น นั่งแลดูการเสด็จออกจากพระคันธกุฎีแห่งพระศาสดา คิดว่า ‘จักรับบาตรของพระศาสดาไป’
ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงทำอนุเคราะห์ในคนยากจน, ท่านจงไปวิหาร กราบทูลพระศาสดาว่า ‘ข้าพระองค์เป็นคนยากจน พระเจ้าข้า, ขอพระองค์จงทรงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด’ ถ้าท่านมีบุญ ท่านจักได้แน่"
เขาได้ไปสู่วิหารแล้ว.
พระศาสดาประทานบาตรแก่มหาทุคตะ
ลำดับนั้น พระเจ้าแผ่นดินและยุพราชเป็นต้น ตรัสกะเขาว่า "มหาทุคตะ ไม่ใช่เวลาภัตก่อน, เจ้ามาทำไม?" เพราะเคยเห็นเขาโดยความเป็นคนกินเดนในวิหาร ในวันอื่นๆ. มหาทุคตะกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ทราบอยู่ว่า ‘ไม่ใช่เวลาภัตก่อน’ แต่ข้าพระองค์มาก็เพื่อถวายบังคมพระศาสดา" ดังนี้แล้ว จึงซบศีรษะลงที่ธรณีพระคันธกุฎี ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า "ผู้ที่ยากจนกว่าข้าพระองค์ในพระนครนี้ไม่มี พระเจ้าข้า, ขอทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด, ขอทรงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด."
พระศาสดาทรงเปิดพระทวารพระคันธกุฎี ทรงนำบาตรมาประทานในมือของเขา. เขาได้เป็นเหมือนบรรลุจักรพรรดิสิริ. พระเจ้าแผ่นดินและยุพราชเป็นต้น ต่างทรงแลดูพระพักตร์กันและกัน.
แท้จริง ใครๆ ชื่อว่าสามารถเพื่อจะรับบาตรที่พระศาสดาประทานแก่มหาทุคตะ ด้วยอำนาจความเป็นใหญ่ หามีไม่. เป็นแต่กล่าวอย่างนี้ว่า "เพื่อนมหาทุคตะ ท่านจงให้บาตรของพระศาสดาแก่พวกเรา, พวกเราจักให้ทรัพย์มีประมาณเท่านี้ คือพันหนึ่งหรือแสนหนึ่ง แก่ท่าน, ท่านเป็นคนเข็ญใจ จงเอาทรัพย์เถิด, ประโยชน์อะไรของท่านด้วยบาตรเล่า?"
มหาทุคตะตอบว่า "ข้าพเจ้าจักไม่ให้ใคร ข้าพเจ้าไม่มีความต้องการด้วยทรัพย์ จักให้พระศาสดาเท่านั้นเสวย." ชนทั้งหลายที่เหลืออ้อนวอนเขา ไม่ได้บาตรแล้วจึงกลับไป.
ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินทรงดำริว่า "มหาทุคตะ แม้ถูกเขาเล้าโลม ล่อด้วยทรัพย์ ก็ไม่ให้บาตรของพระศาสดา, ก็ใครๆ ไม่อาจจะรับบาตรที่พระศาสดาประทานแล้วด้วยพระองค์เองได้, อันไทยธรรมของมหาทุคตะนี้ จักมีประมาณเท่าไร? ในเวลามหาทุคตะนี้ถวายไทยธรรมเสร็จ เราจักนำพระศาสดาไปยังเรือน ถวายอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับเรา" ดังนี้แล้ว จึงได้ตามเสด็จไปพร้อมด้วยพระศาสดาทีเดียว.
พระศาสดาเสด็จไปเรือนของมหาทุคตะ
ฝ่ายท้าวสักกเทวราชจัดอาหารภัตมีข้าวต้มข้าวสวยและผักเป็นต้น ปูอาสนะที่สมควรเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดาแล้วประทับนั่ง. มหาทุคตะนำพระศาสดาไปแล้ว กราบทูลว่า "จงเสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า."
ก็เรือนที่อยู่ของเขาต่ำ, ผู้ที่ไม่ก้ม ไม่อาจเข้าไปได้, ก็แต่ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อเสด็จเข้าสู่เรือน ไม่ต้องก้มเสด็จเข้าไป, เพราะว่า ในเวลาเสด็จเข้าสู่เรือน แผ่นดินใหญ่ย่อมยุบลงภายใต้ หรือเรือนสูงขึ้น. นี่เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นถวายไว้ดีแล้ว. ในเวลาที่พระองค์เสด็จออกไปแล้ว ทุกสิ่งเป็นปกติเหมือนเดิมอีก, เพราะฉะนั้น พระศาสดาทั้งประทับยืนอยู่นั่นเอง เสด็จเข้าสู่เรือนแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ท้าวสักกะปูไว้แล้ว.
เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว พระราชารับสั่งว่า "เพื่อนมหาทุคตะ ท่านไม่ให้บาตรของพระศาสดาแก่พวกเรา แม้ผู้อ้อนวอนอยู่, พวกเราจะดูก่อน สักการะที่ท่านจัดถวายพระศาสดาเป็นเช่นไร?"
ลำดับนั้น ท้าวสักกะเปิดข้าวยาคูและภัตออกอวด. กลิ่นเครื่องอบอาหารภัตเหล่านั้นได้ตลบทั่วพระนครตั้งอยู่. พระราชาทรงตรวจดูข้าวยาคูเป็นต้นแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคิดว่า ‘ไทยธรรมของมหาทุคตะ จักมีสักเท่าไร? เมื่อมหาทุคตะนี้ถวายไทยธรรมแล้ว จักนำเสด็จพระศาสดาไปยังเรือน ถวายอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับตน’ ดังนี้ จึงมาแล้ว, อาหารเห็นปานนี้ หม่อมฉันไม่เคยเห็นเลย เมื่อหม่อมฉันอยู่ในที่นี้ มหาทุคตะต้องลำบากเหลือเกิน หม่อมฉันจะกลับ" ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว เสด็จหลีกไป.
บ้านของมหาทุคตะเต็มด้วยแก้ว ๗ อย่าง
ฝ่ายท้าวสักกะถวายยาคูเป็นต้น ทรงอังคาสพระศาสดาโดยเคารพ. แม้พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว ทรงทำอนุโมทนา เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.
ท้าวสักกะได้ให้สัญญาแก่มหาทุคตะ. เขารับบาตรตามเสด็จพระศาสดา. ท้าวสักกะเสด็จกลับ ประทับยืนอยู่ที่ประตูเรือนของมหาทุคตะ ทรงแลดูอากาศแล้ว. ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงจากอากาศ เต็มภาชนะทั้งหมดในเรือนของเขาแล้ว ยังล้นไปทั่วเรือน. ในเรือนของเขาไม่มีที่ว่าง. ภรรยาของเขาได้จูงมือพวกเด็ก นำออกไปยืนอยู่ภายนอก. เขาตามเสด็จพระศาสดาแล้วกลับมาเห็นเด็กข้างถนน จึงถามว่า "นี่อะไร?" ภรรยาของเขาตอบว่า "นาย เรือนของเราเต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการทั่วทั้งหลัง ไม่มีช่องจะเข้าไปได้." เขาคิดว่า "ทานของเราให้ผลในวันนี้เอง" ดังนี้แล้ว จึงไปสู่พระราชสำนัก ถวายบังคมพระราชาแล้ว
เมื่อพระราชารับสั่งถามว่า "มาทำไม?" จึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า เรือนของข้าพระองค์เต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการ, ขอพระองค์ทรงถือเอาทรัพย์นั้นเถิด."
พระราชาทรงดำริว่า "น่าอัศจรรย์ ทานที่เขาถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถึงที่สุดวันนี้เอง" ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งกะเขาว่า "เธอควรจะได้อะไร?"
มหาทุคตะ. ขอจงพระราชทานเกวียนพันเล่ม เพื่อต้องการนำทรัพย์มา.
พระราชาทรงส่งเกวียนพันเล่มไป ให้นำทรัพย์มา เกลี่ยไว้ที่พระลานหลวง. กองทรัพย์ได้เป็นกองสูงประมาณเท่าต้นตาล. พระราชารับสั่งให้ชาวเมืองประชุมกันแล้ว ตรัสถามว่า "ในกรุงนี้ ใครมีทรัพย์ถึงเท่านี้ไหม?"
ชาวเมือง. ไม่มี พระเจ้าข้า.
พระราชา. จะควรทำอย่างไร? แก่คนมีทรัพย์มากอย่างนี้.
ชาวเมือง. ควรตั้งเป็นเศรษฐี พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงทำสักการะเป็นอันมากแก่เขาแล้ว รับสั่งให้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐี. ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสบอกที่บ้านของเศรษฐีคนหนึ่งในกาลก่อนแก่เขาแล้ว ตรัสว่า "เธอจงให้ถางพุ่มไม้ที่เกิดในที่นี้แล้ว ปลูกเรือนอยู่เถิด." เมื่อเขาแผ้วถางที่นั้น ขุดพื้นที่ทำให้เรียบอยู่, หม้อทรัพย์ได้ผุดขึ้นยัดเยียดกันและกัน. เมื่อเขากราบทูลแด่พระราชา ท้าวเธอจึงรับสั่งว่า "หม้อทรัพย์เกิดเพราะบุญของเธอนั่นเอง เธอนั่นแหละจงถือเอาเถิด."
มหาทุคตะตายแล้วเกิดในกรุงสาวัตถี
เขาได้ปลูกเรือนแล้ว ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน. แม้เบื้องหน้าแต่นั้น เขาดำรงอยู่บำเพ็ญบุญจนตลอดอายุ ในที่สุดอายุได้บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากนั้นแล้วถือปฏิสนธิในท้องธิดาคนโตในตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ ในกรุงสาวัตถี.
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนางทราบความที่นางตั้งครรภ์ จึงได้ให้เครื่องบริหารครรภ์. โดยสมัยอื่น นางเกิดแพ้ท้องเห็นปานนี้ว่า "โอ! เราพึงถวายทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปตั้งต้นแต่พระธรรมเสนาบดี ด้วยรสปลาตะเพียนแล้ว นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด นั่งในที่สุดอาสนะ บริโภคภัตที่เป็นเดนของภิกษุเหล่านั้น."
นางบอกแก่มารดาบิดาแล้วก็ได้กระทำตามประสงค์. ความแพ้ท้องระงับไปแล้ว.
ต่อมาในงานมงคล ๗ ครั้งแม้อื่นจากนั้น. มารดาบิดาของนางเลี้ยงภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระธรรมเสนาบดีเถระเป็นประมุข ด้วยรสปลาตะเพียนเหมือนกัน.
พึงทราบเรื่องทั้งหมด โดยนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องติสสกุมาร นั้นแล.
ก็แต่ว่า นี้เป็นผลแห่งการถวายรสปลาตะเพียนที่ถวาย ในกาลที่เด็กนี้เป็นมหาทุคตะนั่นเอง.
ทารกออกบวชเป็นสามเณร
ก็ในวันตั้งชื่อ เมื่อมารดาของเด็กนั้นกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้สิกขาบททั้งหลายแก่ทาสของท่านเถิด"
พระเถระจึงกล่าวว่า "เด็กนี้ชื่ออะไร?"
มารดาของเด็กตอบว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนเงอะงะในเรือนนี้ แม้พวกพูดไม่ได้เรื่อง ก็กลับเป็นผู้ฉลาด ตั้งแต่กาลที่เด็กนี้ถือปฏิสนธิในท้อง เพราะฉะนั้น บุตรของดิฉัน จักมีชื่อว่า "หนูบัณฑิต" เถิด.
พระเถระได้ให้สิกขาบททั้งหลายแล้ว. ก็ตั้งแต่วันที่หนูบัณฑิตเกิดมา ความคิดเกิดขึ้นแก่มารดาของเขาว่า "เราจักไม่ทำลายอัธยาศัยของบุตรเรา." ในเวลาที่เขามีอายุได้ ๗ ขวบ เขากล่าวกะมารดาว่า "ผมจักบวชในสำนักพระเถระ." นางกล่าวว่า "ได้ พ่อคุณ, แม่ได้นึกไว้แล้วอย่างนี้ว่า จักไม่ทำลายอัธยาศัยของเจ้า" ดังนี้แล้ว จึงนิมนต์พระเถระให้ฉันแล้ว กล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ทาสของท่าน อยากจะบวช, ดิฉันจักนำเด็กนี้ไปวิหารในเวลาเย็น" ส่งพระเถระไปแล้ว ให้หมู่ญาติประชุมกัน กล่าวว่า "พวกข้าพเจ้าจักทำสักการะที่ควรทำแก่บุตรของข้าพเจ้า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ในวันนี้ทีเดียว" ดังนี้แล้ว ก็ให้ทำสักการะมากมาย พาหนูบัณฑิตนั้นไปสู่วิหาร ได้มอบถวายแก่พระเถระว่า "ขอท่านจงให้เด็กนี้บวชเถิด เจ้าข้า."
พระเถระบอกความที่การบวชเป็นกิจทำได้ยากแล้ว, เมื่อเด็กรับรองว่า "ผมจักทำตามโอวาทของท่าน ขอรับ" จึงกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น จงมาเถิด" ชุบผมให้เปียกแล้ว บอกตจปัญจกกัมมัฏฐาน ให้บวชแล้ว.
แม้มารดาบิดาของบัณฑิตสามเณรนั้น อยู่ในวิหารนั่นเองสิ้น ๗ วัน ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยรสปลาตะเพียนอย่างเดียว ในวันที่เจ็ด เวลาเย็นจึงได้ไปเรือน.
ในวันที่แปด พระเถระเมื่อจะไปภายในบ้าน พาสามเณรนั้นไป ไม่ได้ไปกับหมู่ภิกษุ.
เพราะเหตุไร?
เพราะว่า การห่มจีวรและถือบาตรหรืออิริยาบถของเธอ ยังไม่น่าเลื่อมใสก่อน;
อีกอย่างหนึ่ง วัตรที่พึงทำในวิหารของพระเถระ ยังมีอยู่.
อนึ่ง พระเถระ, เมื่อภิกษุสงฆ์เข้าไปภายในบ้านแล้ว, เที่ยวไปทั่ววิหาร กวาดที่ๆ ยังไม่กวาด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ในภาชนะที่ว่างเปล่า เก็บเตียงตั่งเป็นต้น ที่ยังเก็บไว้ไม่เรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปบ้านภายหลัง;
อีกอย่างหนึ่ง ท่านคิดเห็นว่า "พวกเดียรถีย์เข้าไปยังวิหารว่างแล้ว อย่าได้เพื่อจะพูดว่า ‘ดูเถิด ที่นั่งของพวกสาวกพระสมณโคดม’ ดังนี้แล้ว จึงได้จัดแจงวิหารทั้งสิ้น เข้าไปบ้านภายหลัง เพราะฉะนั้น แม้ในวันนั้น พระเถระให้สามเณรนั่นเองถือบาตรจีวร เข้าไปบ้านสายหน่อย.
สามเณรเข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ
สามเณร เมื่อไปกับพระอุปัชฌาย์ เห็นเหมืองในระหว่างทาง จึงเรียนถามว่า "นี้ชื่ออะไร? ขอรับ."
พระเถระ. ชื่อว่าเหมือง สามเณร.
สามเณร. เขาทำอะไร? ด้วยเหมืองนี้.
พระเถระ. เขาไขน้ำจากที่นี้ๆ แล้ว ทำการงานเกี่ยวด้วยข้าวกล้าของตน.
สามเณร. ก็น้ำมีจิตไหม? ขอรับ
พระเถระ. ไม่มี เธอ.
สามเณร. ชนทั้งหลายย่อมไขน้ำที่ไม่มีจิตเห็นปานนี้สู่ที่ๆ ตนปรารถนาแล้วๆ ได้หรือ? ขอรับ.
พระเถระ. ได้ เธอ.
สามเณรนั้นคิดว่า "ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิตแม้เห็นปานนี้ สู่ที่ๆ ตนปรารถนาแล้วๆ ทำการงานได้ เหตุไฉน? คนมีจิตแท้ๆ จักไม่อาจเพื่อทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม."
เธอเดินต่อไปเห็นพวกช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟแล้ว เล็งด้วยหางตา ดัดให้ตรง จึงเรียนถามว่า "พวกนี้ชื่อพวกอะไรกัน? ขอรับ."
พระเถระ. ชื่อช่างศร เธอ.
สามเณร. ก็พวกเขาทำอะไรกัน?
พระเถระ. เขาลนที่ไฟ แล้วดัดลูกศรให้ตรง.
สามเณร. ลูกศรนั่นมีจิตไหม? ขอรับ.
พระเถระ. ไม่มีจิต เธอ.
เธอคิดว่า "ถ้าคนทั้งหลายถือเอาลูกศรอันไม่มีจิตลนไฟแล้ว ดัดให้ตรงได้ เพราะเหตุไร? แม้คนมีจิต จึงจักไม่อาจเพื่อทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า?"
ครั้นสามเณรเดินต่อไป เห็นชนถากไม้ทำเครื่องทัพสัมภาระมีกำกงและดุมเป็นต้น จึงเรียนถามว่า "พวกนี้ชื่อพวกอะไร? ขอรับ."
พระเถระ. ชื่อช่างถาก เธอ.
สามเณร. ก็พวกเขาทำอะไรกัน?
พระเถระ. เขาถือเอาไม้แล้วทำล้อแห่งยานน้อยเป็นต้น เธอ.
สามเณร. ก็ไม้เหล่านั่นมีจิตไหม? ขอรับ.
พระเถระ. ไม่มีจิต เธอ.
สามเณรลากลับไปทำสมณธรรม
ทีนั้น เธอได้มีความตริตรองอย่างนี้ว่า "ถ้าคนทั้งหลายถือเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ทำเป็นล้อเป็นต้นได้ เพราะเหตุไร คนผู้มีจิต จึงจักไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรมเล่า? เธอเห็นเหตุเหล่านี้แล้ว จึงเรียนว่า "ใต้เท้าขอรับ ถ้าใต้เท้าควรถือบาตรและจีวรของใต้เท้าได้, กระผมพึงกลับ" พระเถระมิได้เกิดความคิดเลยว่า "เจ้าสามเณรเล็กนี้บวชได้หยกๆ ตามเรามา กล่าวอย่างนี้ได้" กลับกล่าวว่า "จงเอามา สามเณร" แล้วได้รับบาตรและจีวรของตนไว้.
ฝ่ายสามเณรไหว้พระอุปัชฌาย์แล้ว เมื่อจะกลับ จึงเรียนว่า "ใต้เท้า เมื่อจะนำอาหารมาเพื่อกระผม พึงนำมาด้วยรสปลาตะเพียนเถอะขอรับ."
พระเถระ. เราจักได้ ในที่ไหนเล่า? เธอ.
สามเณรเรียนว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของใต้เท้า ก็จักได้ด้วยบุญของกระผม ขอรับ.
พระเถระวิตกว่า "แม้อันตรายจะพึงมีแก่สามเณรเล็ก ผู้นั่งข้างนอก" จึงให้ลูกดาลไปแล้วบอกว่า "ควรเปิดประตูห้องอยู่ของฉันแล้ว เข้าไปนั่งเสียภายใน."
เธอได้กระทำอย่างนั้นแล้ว นั่งหยั่งความรู้ลงในกรัชกายของตน พิจารณาอัตภาพอยู่.
อาสนะท้าวสักกะร้อนเพราะคุณของสามเณร
ครั้งนั้น ที่ประทับนั่งของท้าวสักกะ แสดงอาการร้อนด้วยเดชแห่งคุณของสามเณรนั้น
ท้าวเธอใคร่ครวญว่า "จักมีเหตุอะไรกันหนอ?" ทรงดำริได้ว่า "บัณฑิตสามเณรถวายบาตรและจีวรแก่พระอุปัชฌาย์แล้วกลับ ด้วยตั้งใจว่า ‘จักทำสมณธรรม’ แม้เราก็ควรไปในที่นั้น" ดังนี้แล้ว
ตรัสเรียกท้าวมหาราชทั้ง ๔ มา ตรัสว่า "พวกท่านจงไปไล่นกที่บินจอแจอยู่ในป่าใกล้วิหารให้หนีไป แล้วยึดอารักขาไว้โดยรอบ", ตรัสกะจันทเทพบุตรว่า "ท่านจงฉุดรั้งมณฑลพระจันทร์ไว้", ตรัสกะสุริยเทพบุตรว่า "ท่านจงฉุดรั้งมณฑลพระอาทิตย์ไว้" ดังนี้แล้ว พระองค์เองได้เสด็จไปประทับยืนยึดอารักขาอยู่ที่สายยู ในวิหารแม้เสียงแห่งใบไม้แก่ ก็มิได้มี. จิตของสามเณรได้มีอารมณ์เป็นหนึ่งแล้ว เธอพิจารณาอัตภาพแล้ว บรรลุผล ๓ อย่าง ในระหว่างภัตนั้นเอง.
ฝ่ายพระเถระคิดว่า "สามเณรนั่งแล้วในวิหาร เราอาจจะได้โภชนะที่สมประสงค์แก่เธอ ในสกุลชื่อโน้น" ดังนี้แล้ว จึงได้ไปสู่ตระกูลอุปัฏฐาก ซึ่งประกอบด้วยความรักและเคารพตระกูลหนึ่ง
ก็ในวันนั้น มนุษย์ทั้งหลายในตระกูลนั้นได้ปลาตะเพียนหลายตัว นั่งดูการมาแห่งพระเถระอยู่เทียว. พวกเขาเห็นพระเถระกำลังมาจึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ ท่านมาที่นี้ ทำกรรมเจริญแล้ว" แล้วนิมนต์ให้เข้าไปข้างใน ถวายข้าวยาคูและของควรเคี้ยวเป็นต้นแล้ว ได้ถวายบิณฑบาตด้วยรสปลาตะเพียน. พระเถระแสดงอาการจะนำไป. พวกมนุษย์เรียนว่า "นิมนต์ฉันเถิด ขอรับ ใต้เท้าจักได้แม้ภัตสำหรับจะนำไป" ในเวลาเสร็จภัตกิจของพระเถระ ได้เอาโภชนะประกอบด้วยรสปลาตะเพียนใส่เต็มบาตร ถวายแล้ว. พระเถระคิดว่า "สามเณรของเราหิวแล้ว" จึงได้รีบไป
พระศาสดาทรงทำอารักขาสามเณร
แม้พระศาสดา ในวันนั้น เสวยแต่เช้าทีเดียว เสด็จไปวิหารทรงใคร่ครวญว่า "บัณฑิตสามเณรให้บาตรและจีวรแก่พระอุปัชฌาย์แล้ว กลับไป ด้วยตั้งใจว่า ‘จักทำสมณธรรม’, กิจแห่งบรรพชิตของเธอ จักสำเร็จหรือไม่?" ทรงทราบว่า สามเณรบรรลุผล ๓ อย่างแล้ว จึงทรงพิจารณาว่า "อุปนิสัยแห่งพระอรหัตจะมี หรือไม่มี?" ทรงเห็นว่า "มี" แล้วทรงใคร่ครวญว่า "เธอจักอาจเพื่อบรรลุพระอรหัตก่อนภัตทีเดียว หรือจักไม่อาจ?" ได้ทรงทราบว่า "จักอาจ."
ลำดับนั้น พระองค์ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า "สารีบุตรถือภัตเพื่อสามเณรรีบมา, เธอจะพึงทำอันตรายแก่สามเณรนั้นก็ได้, เราจักนั่งถือเอาอารักขาที่ซุ้มประตู, ทีนั้นจักถามปัญหา ๔ ข้อกะเธอ เมื่อเธอแก้อยู่ สามเณรจักบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา" ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปจากวิหารนั้น ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตู ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกะพระเถระผู้มาถึงแล้ว.
พระเถระแก้ปัญหาที่พระศาสดาตรัสถามแล้ว.
ในปัญหานั้น มีปุจฉาวิสัชนาดังต่อไปนี้ :-
ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า "สารีบุตร เธอได้อะไรมา?
พระเถระ. อาหาร พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ชื่อว่าอาหาร ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร.
พระเถระ. เวทนา พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เวทนา ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร.
พระเถระ. รูป พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ก็รูป ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร.
พระเถระ. ผัสสะ พระเจ้าข้า.
คำอธิบายในปัญหา
ในปัญหานั้น มีอธิบายดังนี้ :-
จริงอยู่ อาหารอันคนหิวบริโภคแล้ว กำจัดความหิวของเขาแล้ว นำสุขเวทนามาให้, เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ผู้มีความสุข เพราะการบริโภคอาหาร วรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ, เวทนาชื่อว่าย่อมนำรูปมาด้วยอาการอย่างนี้,
ก็ผู้มีสุขเกิดสุขโสมนัส ด้วยอำนาจรูปที่เกิดจากอาหาร นอนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม ด้วยคิดว่า "บัดนี้ อัสสาทะเกิดแก่เราแล้ว" ย่อมได้สุขสัมผัส
สามเณรบรรลุพระอรหัตผล
เมื่อพระเถระแก้ปัญหาทั้ง ๔ ข้อเหล่านี้ อย่างนั้นแล้ว, สามเณรก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. ฝ่ายพระศาสดาตรัสกะพระเถระว่า "ไปเถิด สารีบุตร, จงให้ภัตแก่สามเณรของเธอ." พระเถระไปเคาะประตูแล้ว. สามเณรออกมารับบาตรจากมือพระเถระ วางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงเอาพัดก้านตาลพัดพระเถระ.
ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเธอว่า "สามเณร จงทำภัตกิจเสียเถิด."
สามเณร. ก็ใต้เท้าเล่า ขอรับ.
พระเถระ. เราทำภัตกิจเสร็จแล้ว, เธอจงทำเถิด.
เด็กอายุ ๗ ขวบบวชแล้ว ในวันที่ ๘ บรรลุพระอรหัต เป็นเหมือนดอกปทุมที่แย้มแล้ว ในขณะนั้น ได้นั่งพิจารณาที่เป็นที่ใส่ภัต ทำภัตกิจแล้ว.
ในขณะที่เธอล้างบาตรเก็บไว้ จันทเทพบุตรปล่อยมณฑลพระจันทร์, สุริยเทพบุตรปล่อยมณฑลพระอาทิตย์, ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เลิกอารักขาทั้ง ๔ ทิศ, ท้าวสักกเทวราชเลิกอารักขาที่สายยู, พระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยไปแล้วจากที่ท่ามกลาง.
ธรรมดาบัณฑิตย่อมฝึกตน
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "เงา บ่ายเกินประมาณแล้ว, พระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยไปจากที่ท่ามกลาง, ก็สามเณรฉันเสร็จเดี๋ยวนี้เอง, นี่เรื่องอะไรกันหนอ?"
พระศาสดาทรงทราบความเป็นไปนั้นแล้วเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน?"
พวกภิกษุ. เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้, สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้, ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถืออารักขาทั้ง ๔ ทิศในป่าใกล้วิหาร, ท้าวสักกเทวราชเสด็จมายึดอารักขาที่สายยู,
ถึงเราผู้มีความขวนขวายน้อยด้วยนึกเสียว่า ‘เป็นพระพุทธเจ้า’ ก็ไม่ได้เพื่อจะนั่งอยู่ได้ ยังได้ไปยึดอารักขาเพื่อบุตรของเรา ที่ซุ้มประตู
พวกบัณฑิตเห็นคนไขน้ำกำลังไขน้ำไปจากเหมือง ช่างศรกำลังดัดลูกศรให้ตรง และช่างถากกำลังถากไม้แล้ว ถือเอาเหตุเท่านั้น ให้เป็นอารมณ์ทรมานตนแล้ว ย่อมยึดเอาพระอรหัตไว้ได้ทีเดียว"
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา | |
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ | |
ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา | |
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา. | |
อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ, ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดศร, ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้, บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน. |
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทกํ เป็นต้น ความว่า ชนทั้งหลายขุดที่ดอนบนแผ่นดิน ถมที่เป็นบ่อแล้วทำเหมือง หรือวางรางไม้ไว้ ย่อมไขน้ำไปสู่ที่ตนต้องการๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ไขน้ำ.
บทว่า เตชนํ ได้แก่ ลูกศร.
มีพระพุทธาธิบาย ตรัสไว้ดังนี้ว่า :-
"พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไปตามชอบใจของตนได้, แม้ช่างศรก็ย่อมลนดัดลูกศร คือทำให้ตรง, ถึงช่างถาก เมื่อจะถากเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทัพสัมภาระมีกงเป็นต้น ย่อมดัดไม้ คือทำให้ตรงหรือคด ตามชอบใจของตน.
บัณฑิตทั้งหลายทำเหตุมีประมาณเท่านี้ ให้เป็นอารมณ์อย่างนั้นแล้ว ยังมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้นให้เกิดขึ้นอยู่ ย่อมชื่อว่าทรมานตน, แต่เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วย่อมจัดว่าทรมานโดยส่วนเดียว."
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710