นิโครธสามเณร

นิโครธสามเณร

ความย่อ

สามเณรได้ออกบวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีผิวพรรณผ่องใสและเป็นผู้ที่ฝึกตนเป็นอย่างดีจึงมีบุคลิกที่สงบเสงี่ยมสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

ประวัติ

ประมาณ ๓๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งนามว่า สามเณรนิโครธ อายุเพียง ๗ ขวบ ได้ออกบวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สามเณรน้อยมีผิวพรรณผ่องใสและเป็นผู้ที่ฝึกตนเป็นอย่างดีจึงมีบุคลิกที่สงบเสงี่ยมสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ทำให้พระราชาคือ พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในทันทีที่เห็นสามเณรเดินผ่าน จึงนิมนต์ขอฟังธรรมสามเณรได้ให้โอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พระเจ้าอโศกมหาราชว่า

"ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"

เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดมรศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงเปลี่ยนพระองค์ใหม่จากเดิมคือ เปลี่ยนจากผู้มีความเห็นผิด (มิจณาทิฏฐิ) มาเป็นผู้มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เปลี่ยนจากนิสัยดุร้ายเป็นผู้ที่มีแต่ความเมตตา ทรงเปลี่ยนแว่นแคว้นของพระองค์ให้เป็นอาณาจักรแห่งธรรม ทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ต่อมาได้ทรงเผยแผ่และปักหลักพระพุทธศาสนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงออกในหลายดินแดนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ประวัติโดยพิศดาร

 

พระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพินทุสารมีพระราชโอรส ๑๐๑ พระองค์ พระเจ้าอโศกทรงสั่งให้สำเร็จโทษพระราชโอรสเหล่านั้นเสียทั้งหมด ยกไว้แต่เจ้าติสสกุมาร ผู้ร่วมพระมารดาเดียวกันกับพระองค์. ท้าวเธอเมื่อสั่งให้สำเร็จโทษ ยังมิได้ทรงอภิเษกเลย ครองราชย์อยู่ถึง ๔ ปี ต่อล่วงไปได้ ๔ ปี ในปีที่ ๑๘ ถัดจาก ๒๐๐ ปี แต่ปีปรินิพพานของพระตถาคตมา จึงทรงถึงการอภิเษกเป็นเอกราช ในชมพูทวีปทั้งสิ้น.

 

พระราชอำนาจแผ่ไปเบื้องบนเบื้องต่ำประมาณ ๑ โยชน์

ก็ด้วยอานุภาพแห่งการทรงอภิเษกของท้าวเธอ พระราชฤทธิ์ทั้งหลายเหล่านี้ ได้มาแล้ว. พระราชอำนาจแผ่ไปภายใต้มหาปฐพีประมาณหนึ่งโยชน์ในอากาศเบื้องบน ก็เหมือนกัน.

พระราชาทรงมีพระศรัทธาเกิดแล้วในพระศาสนา ได้ทรง (แบ่ง) น้ำ ๘ หม้อจากน้ำดื่ม ๑๖ หม้อ ที่พวกเทวดานำมาจากสระอโนดาตวันละ ๘ หาบ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระไตรปิฎกประมาณ ๖๐ รูป (วันละ) ๒ หม้อ, พระราชทานแก่พระนางอสันธิมิตตาผู้เป็นพระอัครมเหษี (วันละ) ๒ หม้อ, พระราชทานแก่เหล่าสตรีนักฟ้อนหนึ่งหมื่นหกพันนาง (วันละ) ๒ หม้อ, ทรงใช้สอยด้วยพระองค์เอง (วันละ) ๒ หม้อ.

กิจคือการชำระพระทนต์และการชำระฟันทุกๆ วัน ของพระราชา พระมเหษีของเหล่าสตรีนักฟ้อนหนึ่งหมื่นหกพันนาง และของภิกษุประมาณหกหมื่นรูป ย่อมสำเร็จได้ด้วยไม้ชำระฟันชื่อนาคลดา อันสนิทอ่อนนุ่มมีรสซึ่งมีอยู่ในป่าหิมพานต์ที่เทวดาทั้งหลายนั่นเองนำมาถวายทุกๆ วัน.

อนึ่ง เทวดาทั้งหลายนำมะขามป้อมที่เป็นพระโอสถ สมอที่เป็นพระโอสถ และมะม่วงสุกที่มีสีเหมือนทอง ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกลิ่นและรส มาถวายแด่พระราชาพระองค์นั้นทุกๆ วันเหมือนกัน ยังได้นำพระภูษาทรง พระภูษาห่ม เบญจพรรณ ผ้าเช็ดพระหัตถ์ที่มีสีเหลือง. และน้ำทิพยบานจากสระฉัททันต์มาถวายทุกวันเหมือนอย่างนั้น.

ส่วนพญานาคทั้งหลายก็นำเครื่องพระสุคนธ์สำหรับสนานพระเศียร พระสุคนธ์สำหรับไล้พระวรกาย ผ้ามีสีคล้ายดอกมะลิ ที่มิได้ทอด้วยด้าย เพื่อเป็นพระภูษาห่ม และยาหยอดพระเนตรที่มีค่ามาก จากนาคพิภพมาถวายแด่พระราชาพระองค์นั้นทุกๆ วันเช่นกัน.

นกแขกเต้าทั้งหลายก็คาบข้าวสาลีเก้าพันเกวียนที่เกิดเอง ในสระฉัททันต์นั่นแล มาถวายทุกๆ วัน. หนูทั้งหลายก็เกล็ดข้าวเหล่านั้นให้หมดแกลบและรำ. ข้าวสารที่หักแม้เมล็ดเดียวก็ไม่มี. ข้าวสารนี้แล ถึงความเป็นพระกระยาหารเสวยแห่งพระราชา ในที่ทุกสถาน. ตัวผึ้งทั้งหลายก็ทำน้ำผึ้ง. พวกหมีก็ผ่าฟืนที่โรงครัว. พวกนกการเวกก็บินมาร้องส่งเสียงอย่างไพเราะ ทำพลีกรรมถวายแด่พระราชา.

 

พระเจ้าอโศกรับสั่งพญากาฬนาคเนรมิตพระพุทธรูปให้ดู

พระราชาผู้ทรงประกอบแล้วด้วยฤทธิ์เหล่านี้ วันหนึ่งทรงใช้สังขลิกพันธ์ อันกระทำด้วยทอง ให้นำพญานาคนามว่า กาฬะ มีอายุตลอดกัปหนึ่ง ผู้ได้พบเห็นพระรูปของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์เชิญให้ขนดเหนือบัลลังก์อันควรค่ามาก ภายใต้เศวตฉัตร ทรงกระทำการบูชาด้วยดอกไม้ทั้งที่เกิดในน้ำ ทั้งที่เกิดบนบก หลายร้อยพรรณและด้วยสุวรรณบุปผา ทรงแวดล้อมด้วยนางฟ้อน ๑๖,๐๐๐ ผู้ประดับแล้วด้วยอลังการทั้งปวงโดยรอบ ตรัสว่า

เชิญท่านกระทำพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงยังจักร คือพระสัทธรรมอันประเสริฐให้หมุนไป ทรงพระญาณอันหาที่สุดมิได้ ให้ถึงคลองแห่งดวงตาเหล่านี้ของข้าพเจ้าก่อนเถิด ดังนี้

ทอดพระเนตรพระพุทธรูปอันพญานาคนามว่า กาฬะ นั้นเนรมิตแล้ว ประหนึ่งว่าพื้นน้ำอันประดับแล้วด้วยดอกกมล อุบล และปุณฑริกซึ่งแย้มบาน ปานประหนึ่งว่าแผ่นฟ้าอันพราวพรายด้วยความระยิบระยับด้วยการพวยพุ่งแห่งข่ายรัศมีของกลุ่มดารา เพราะความที่พระพุทธรูปนั้นทรงมีพระสิริด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับแล้วด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการซึ่งบังเกิดแล้วด้วยอำนาจแห่งบุญ อันพรรณรายทั่วพระสรีระทั้งสิ้น งดงามด้วยจอมพระเศียรอันเฉิดฉายด้วยพระเกตุมาลา ซึ่งปราศจากมลทินสีต่างๆ ประหนึ่งยอดแห่งภูเขาทอง อันแวดวงด้วยสายรุ้งและสายฟ้า อันกลมกลืนกับแสงเงิน เป็นประหนึ่งจะดูดดึงดวงตา แห่งคณะพรหมทวยเทพมวลมนุษย์ฝูงนาค และหมู่ยักษ์ เพราะพระพุทธรูปนั้นมีความแพรวพราวด้วยความฉวัดเฉวียนแห่งพระรัศมีอันแผ่ออกข้างละวา วงล้อมรัศมีอันวิจิตรด้วยสีมีสีเขียวเหลืองแดงเป็นต้น ได้ทรงกระทำการบูชาอันได้นามว่า บูชาด้วยดวงตา ตลอด ๗ วัน

 

พระเจ้าอโศกหมดความเลื่อมใสนักบวชนอกศาสนา

ได้ยินว่า พระราชาทรงรับการอภิเษกแล้ว ได้ทรงนับถือลัทธิพาเหียรปาสัณฑะ(ปาสัณฑะ คือ ลัทธิที่ถือผิด) ตลอดเวลา ๓ ปีทีเดียว. ในปีที่ ๔ จึงได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา.

ได้ยินว่า พระเจ้าพินทุสารพระชนกของพระราชาพระองค์นั้น ได้ทรงนับถือพวกพราหมณ์. ท้าวเธอได้ทรงตั้งนิตยภัตไว้แก่พวกพราหมณ์และแก่ตาปะขาวและปริพาชกเป็นต้น ผู้ถือลัทธิปาสัณฑะอันเป็นของประจำชาติพราหมณ์มีประมาณหกแสนคน. แม้พระเจ้าอโศกก็ทรงถวายทานที่พระชนกให้เป็นไปแล้วในภายในบุรีของพระองค์เหมือนอย่างนั้น

ในวันหนึ่ง ได้ประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพราหมณ์เหล่านั้นผู้กำลังบริโภค (อาหาร) ด้วยมารยาทที่เหินห่างจากความสงบเรียบร้อย ไม่มีความสำรวมอินทรีย์ ทั้งไม่ได้รับฝึกหัดอิริยาบถ (กิริยามารยาท) จึงทรงดำริว่า

การที่เราใคร่ครวญเสียก่อนแล้วให้ทานเช่นนี้ในเขตที่เหมาะสมจึงควร ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสเรียกพวกอำมาตย์ว่า ไปเถิด พนาย! พวกท่านจงนำสมณะและพราหมณ์ของตนๆ ผู้สมมติกันว่าดี มายังภายในพระราชวัง เราจักถวายทาน.

พวกอำมาตย์ทูลรับพระราชโองการว่า ดีละ พระเจ้าข้า! แล้วก็ได้นำนักบวชนอกศาสนามีตาปะขาว ปริพาชก อาชีวกและนิครนถ์เป็นต้นนั้นๆ มาแล้วทูลว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท! ท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

เวลานั้น พระราชาทรงรับสั่งให้ปูลาดอาสนะทั้งสูงและต่ำไว้ภายในพระราชวัง แล้วรับสั่งว่า เชิญเข้ามาเถิด จึงทรงเชิญพวกนักบวชผู้มาแล้วๆ ว่า เชิญนั่งบนอาสนะที่สมควรแก่ตนๆ เถิด ดังนี้.

บรรดานักบวชเหล่านั้น บางพวกนั่งบนตั่งภัทรบิฐ บางพวกก็นั่งบนตั่งแผ่นกระดาน. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาที่นั่งนั้นแล้ว ก็ทรงทราบได้ว่า นักบวชเหล่านั้นไม่มีธรรมที่เป็นสาระในภายในเลย ได้ถวายของควรเคี้ยวควรบริโภคที่ควรแก่นักบวชเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงส่งกลับไป.

เมื่อกาลเวลาล่วงไปอยู่อย่างนั้น วันหนึ่ง พระเจ้าอโศกประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณร ผู้ฝึกฝนคุ้มครองตน มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ กำลังเดินผ่านไปทางพระลานหลวง.

 

ประวัตินิโครธสามเณร

ถามว่า ก็ชื่อว่านิโครธนี้ คืออะไร? แก้ว่า นิโครธนี้เป็นพระโอรสของสุมนราชกุมาร ผู้เป็นพระเชษฐโอรสของพระเจ้าพินทุสาร. ในเรื่องนั้นมีอนุปุพพีกถาดังต่อไปนี้

ดังได้สดับมาว่า ในเวลาที่พระเจ้าพินทุสาร (ผู้พระชนก) ทรงทุพพลภาพนั่นแล (ทรงพระประชวรหนัก) อโศกกุมารได้สละราชสมบัติในกรุงอุชเชนีที่ตนได้แล้ว เสด็จกลับมายึดเอาพระนครทั้งหมดไว้ในเงื้อมมือของตน แล้วได้จับสุมนราชกุมารไว้.

ในวันนั้นเอง พระเทวีชื่อสุมนา ของสุมนราชกุมารได้ทรงพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว. พระนางสุมนาเทวีนั้นปลอมเพศหนี เดินมุ่งไปสู่บ้านคนจัณฑาลแห่งใดแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล ได้ทรงสดับเสียงของเทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นนิโครธแห่งใดแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลจากเรือนของหัวหน้าหมู่บ้านคนจัณฑาล ซึ่งกล่าวเชิญอยู่ว่า ข้าแต่พระแม่เจ้าสุมนา! ขอจงเสด็จเข้ามาทางนี้เถิด ก็ได้เสด็จเข้าไปใกล้เทวดานั้น.

เทวดาได้นิรมิตศาลาหลังหนึ่งด้วยอานุภาพของตน แล้วได้ถวายว่า ขอพระแม่เจ้าจงประทับอยู่ที่ศาลาหลังนี้เถิด. พระเทวีนั้นได้เสด็จเข้าไปสู่ศาลาหลังนั้นแล้ว.

ในวันที่พระนางเสด็จเข้าไปถึงนั่นเอง ก็ประสูติพระโอรส. เพราะเหตุที่พระโอรสนั้นอันเทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นนิโครธรักษาไว้ พระนางเทวีนั้นจึงทรงขนานพระนามว่า นิโครธ. หัวหน้าหมู่บ้านคนจัณฑาลได้สำคัญพระเทวีนั้น เป็นดุจธิดาแห่งนายของตน ตั้งแต่วันที่ตนได้พบเห็น จึงได้ตั้งข้อปฏิบัติประจำไว้.

พระราชธิดาได้ประทับอยู่ ณ สถานที่นั้นสิ้น ๗ ปี. ฝ่ายนิโครธกุมารก็มีชนมายุได้ ๗ ปีแล้ว.

 

นิโครธกุมารบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์พระชนม์ ๗ ปี

ในครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งชื่อมหาวรุณเถระ เป็นพระอรหันต์ได้เห็นความถึงพร้อมแห่งเหตุของทารก ได้พิจารณาคิดว่า บัดนี้ ทารกมีชนมายุได้ ๗ ปี, เป็นกาลสมควรที่จะให้เขาบวชได้ จึงทูลพระราชธิดาให้ทรงทราบ แล้วให้นิโครธกุมารนั้นบวช. ในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง พระกุมารได้บรรลุเป็นพระอรหันต์.

วันหนึ่ง นิโครธสามเณรนั้นได้ชำระร่างกายแต่เช้าตรู่ ทำอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเสร็จแล้ว ถือเอาบาตรและจีวร คิดว่า เราจะไปยังประตูเรือนของโยมมารดา แล้วก็ออกไป.

ก็นิวาสสถานแห่งโยมมารดาของนิโครธสามเณรนั้น ต้องเดินเข้าไปยังพระนคร ทางประตูด้านทิศทักษิณ ผ่านท่ามกลางพระนครไปออกทางประตูด้านทิศปราจีน. ก็โดยสมัยนั้น พระเจ้าอโศกธรรมราชทรงเสด็จจงกรมอยู่ที่สีหบัญชร ผินพระพักตร์ไปทางทิศปราจีน. ขณะนั้นเอง นิโครธสามเณรผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก เดินไปถึงพระลานหลวง.

เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า วันหนึ่ง พระเจ้าอโศกประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณร ผู้ฝึกฝนคุ้มครองตน มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ กำลังเดินผ่านไปทางพระลานหลวง ดังนี้.

 

พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสนิโครธสามเณร

ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว พระราชาได้ทรงพระรำพึงดังนี้ว่า ชนแม้ทั้งหมดนี้มีจิตฟุ้งซ่าน มีส่วนเปรียบเหมือนมฤคที่วิ่งพล่านไป, ส่วนทารกคนนี้ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน, การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน และการเหยียดแขนของเขางามยิ่งนัก, ภายในของทารกคนนี้น่าจักมีโลกุตรธรรมแน่นอน ดังนี้

พร้อมกับการทอดพระเนตรเห็นของพระราชานั่นเอง พระหฤทัยก็เลื่อมใสในสามเณร, ความรักก็ได้ตั้งขึ้น.

ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะได้ยินว่า แม้ในกาลก่อน ในเวลาทำบุญ นิโครธสามเณรนี้ได้เป็นพ่อค้าผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของพระราชา.

สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในภพก่อน ๑ เพราะการ เกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนอุบลและปทุม เป็นต้นที่เหลือ เมื่อเกิดในน้ำย่อมเกิดได้เพราะ อาศัยเหตุ ๒ ประการ คือน้ำและเปือกตมฉะนั้น.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้นิมนต์สามเณรเข้ามา

ลำดับนั้น พระราชาทรงเกิดความรัก มีความนับถือมาก (ในสามเณรนั้น) จึงทรงสั่งพวกอำมาตย์ไปว่า พวกเธอจงนิมนต์สามเณรนั่นมา. ท้าวเธอทรงรำพึงว่า อำมาตย์เหล่านั้นมัวชักช้าอยู่ จึงทรงส่งไปอีก ๒-๓ นายว่า จงให้สามเณรนั้นรีบมาเถิด.

สามเณรได้เดินไปตามปกติของตนนั่นเอง.

พระราชาตรัสว่า ท่านทราบอาสนะที่ควรแล้ว นิมนต์นั่งเถิด. สามเณรนั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้แล้วคิดว่า บัดนี้ ไม่มีภิกษุเหล่าอื่น จึงเดินเข้าไปใกล้บัลลังก์ ซึ่งยกเศวตฉัตรกั้นไว้ แล้วแสดงอาการแด่พระราชา เพื่อต้องการให้ทรงรับบาตร.

พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรนั้นกำลังเดินเข้าไป ใกล้บัลลังก์นั่นแล จึงทรงดำริว่า วันนี้เอง สามเณรรูปนี้จักเป็นเจ้าของราชมณเฑียรนี้ในบัดนี้. สามเณรถวายบาตรที่พระหัตถ์พระราชา แล้วขึ้นนั่งบนบัลลังก์.

พระราชาทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิดคือข้าวต้ม ของควรเคี้ยวและข้าวสวย ที่เขาเตรียมไว้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ (แก่สามเณรนั้น). สามเณรรับอาหารพอยังอัตภาพของตนให้เป็นไปเท่านั้น.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชตรัสถามข้อธรรม

ในที่สุดภัตกิจ พระราชาตรัสถามว่า พ่อเณรรู้พระโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานแก่พวกพ่อเณรหรือ? สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! อาตมภาพย่อมรู้โดยเอกเทศ (เท่านั้น).

พระราชาทรงรับสั่งว่า พ่อเณร! ขอจงแสดงโอวาทที่พ่อเณรรู้นั้นแก่โยมบ้าง. สามเณรทูลรับว่า ได้มหาบพิตร! ดังนี้แล้ว ได้กล่าวอัปปมาทวรรคในธรรมบท ตามสมควรแด่พระราชา เพื่อประโยชน์แก่การอนุโมทนา.

พระราชาพอได้ทรงสดับว่า ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย. ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย. ดังนี้เป็นต้น ก็ทรงรับสั่งว่า พ่อเณร! จงยังธรรมเทศนาที่ข้าพเจ้าได้รู้แล้วให้จบไว้ก่อน ดังนี้.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชถวายนิตยภัตสามเณรเป็นทวีคูณ

ในอวสานแห่งการอนุโมทนา พระราชาทรงรับสั่งว่า พ่อเณร! โยมจะถวายธุวภัตแก่พ่อเณร ๘ ที่.

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! อาตมภาพ จะถวายธุวภัตเหล่านั้น แก่พระอุปัชฌายะ (ของอาตมภาพ).

พระราชาตรัสถามว่า พ่อเณร! ผู้ที่ชื่อว่าอุปัชฌายะนี้ ได้แก่คนเช่นไร?

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! ผู้ที่เห็นโทษน้อยใหญ่ แล้วตักเตือนและให้ระลึก ชื่อว่าพระอุปัชฌายะ.

พระราชาทรงรับสั่งว่า พ่อเณร! โยมจะถวายภัต ๘ ที่ แม้อื่นอีกแก่พ่อเณร.

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! อาตมภาพจะถวายภัตเหล่านั้นแก่พระอาจารย์ (ของอาตมภาพ).

พระราชาตรัสถามว่า พ่อเณร! ผู้ที่ชื่อว่าพระอาจารย์นี้ ได้แก่คนเช่นไร?

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! ผู้ที่ให้อันเตวาสิกและสิทธิวิหาริก ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรศึกษาในพระศาสนานี้ ชื่อว่าพระอาจารย์.

พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีละ พ่อเณร! โยมจะถวายภัต ๘ ที่ แม้อื่นอีกแก่พ่อเณร.

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! อาตมภาพจะถวายภัตเหล่านั้นแก่พระภิกษุสงฆ์.

พระราชาตรัสถามว่า พ่อเณร! ผู้ที่ชื่อว่าภิกษุสงฆ์นี้ ได้แก่คนเช่นไร?

สามเณรถวายพระพรว่า มหาบพิตร! บรรพชาและอุปสมบทของอาจารย์และอุปัชฌายะของอาตมภาพ และบรรพชาของอาตมภาพ อาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้น ชื่อว่าภิกษุสงฆ์.

พระราชาทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง แล้วทรงรับสั่งว่า พ่อเณร! โยมจะถวายภัต ๘ ที่แม้อื่นอีกแก่พ่อเณร.

สามเณรทูลรับว่า ดีละ ในวันรุ่งขึ้นได้พาเอาภิกษุ ๓๒ รูป เข้าไปยังภายในพระราชวัง ฉันภัตตาหาร.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชถวายนิตยภัตแก่ภิกษุหกแสน(600,000)รูป

พระราชาทรงปวารณาว่า ภิกษุ ๓๒ รูปแม้อื่น พร้อมทั้งพวกท่านจงรับภิกษา พรุ่งนี้เถิด ดังนี้แล้ว ทรงให้เพิ่มภิกษุมากขึ้นทุกวันๆ โดยอุบายนั้นนั่นแล ได้ทรงตัดภัตของพวกนักบวชนอกศาสนา มีพราหมณ์และปริพาชกเป็นต้น ตั้งหกแสนคนเสียแล้วได้ทรงตั้งนิตยภัตไว้สำหรับภิกษุหกแสนรูป ในภายในพระราชนิเวศน์ เพราะความเลื่อมใสที่เป็นไปในพระนิโครธเถระ(นิโครธสามเณร)นั่นเอง.

ฝ่ายพระนิโครธเถระก็ให้พระราชาพร้อมทั้งบริษัทดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์และเบญจศีล ทำให้เป็นผู้มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว ด้วยความเลื่อมใสอย่างปุถุชน แล้วให้ดำรงมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างวัดและเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แห่ง

พระราชาทรงรับสั่งให้นายช่างสร้างมหาวิหาร ชื่อว่าอโศการาม แล้วก็ทรงตั้งภัตไว้เพื่อถวายภิกษุหกแสนรูปอีก และทรงรับสั่งให้สร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังซึ่งประดับด้วยพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ไว้ในพระนคร ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้น โดยความชอบธรรมนั่นเอง หาใช่โดยไม่ชอบธรรมไม่.

ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง พระราชาทรงถวายมหาทานที่อโศการาม ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งนับได้ประมาณหกแสนรูป ทรงปวารณาสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ แล้วตรัสถามปัญหานี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ชื่อว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว มีประมาณเท่าไร?

พระสงฆ์ถวายพระพรว่า มหาบพิตร! ชื่อว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วนั้น ว่าโดยองค์ มีองค์ ๙ ว่าโดยขันธ์ มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.

พระราชาทรงเลื่อมใสในพระธรรม แล้วทรงรับสั่งว่า เราจักบูชาพระธรรมขันธ์แต่ละขันธ์ด้วยวิหารแต่ละหลังๆ ดังนี้ ในวันเดียวเท่านั้นได้ทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ แล้วได้ทรงบังคับพวกอำมาตย์ว่า ไปเถิดพนาย! พวกท่านเมื่อให้สร้างวิหารในนครแต่ละนคร จงให้สร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังไว้ในพระนคร ๘๔,๐๐๐ นครเถิด ดังนี้ ส่วนพระองค์เองได้ทรงเริ่มการงานเพื่อประโยชน์แก่อโศกมหาวิหาร ในอโศการาม.

พระสงฆ์ได้ให้พระเถระชื่อว่าอินทคุตตเถระ ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สิ้นอาสวะแล้ว เป็นนวกัมมาธิฏฐายี(ผู้ดูแลควบคุมงานก่อสร้างใหม่). พระเถระได้ยังการงานที่ยังไม่สำเร็จนั้นๆ ให้แล้วเสร็จด้วยอานุภาพของตน. พระเถระได้ให้การสร้างพระวิหารสำเร็จลง ๓ ปี แม้ด้วยอานุภาพอย่างนั้น.

 

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำการฉลองพระวิหาร

ข่าวสารจากทุกๆ นคร ได้มาถึงวันเดียวกันนั่นเอง. พวกอำมาตย์ได้กราบทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะ พระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังสร้างเสร็จแล้ว. พระราชาทรงรับสั่งให้เที่ยวตีกลองประกาศทั่วพระนครว่า ล่วงไป ๗ วันแต่วันนี้ จักมีการฉลองพระวิหาร ขอให้ประชาชนทั้งหมดจงสมาทานองค์ศีล ๘ เตรียมการฉลองพระวิหาร ทั้งภายในพระนครและภายนอกพระนคร.

ล่วงไป ๗ วันแต่การฉลองพระวิหารนั้น พระราชาแวดล้อมด้วยหมู่เสนามีองค์ ๔ นับได้หลายแสนซึ่งแต่งตัวด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เสด็จเที่ยวชมพระนคร ที่มหาชนผู้มีความอุตสาหะประสงค์จะตกแต่งพระนคร ได้ตกแต่งประดับประดาแล้ว ให้เป็นเหมือนมีความสง่างามยิ่งกว่าสิริ แห่งราชธานีชื่ออมรวดี ในเทวโลก เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระวิหาร ได้ประทับยืนอยู่ ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์.

ก็ภิกษุที่ประชุมกันในขณะนั้นมีประมาณ ๘๐ โกฏิ. ก็แลพวกนางภิกษุณีมีประมาณเก้าล้านหกแสน. บรรดาภิกษุเหล่านั้น เฉพาะภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพนับได้ประมาณแสนรูป.

ภิกษุขีณาสพเหล่านั้นได้มีความวิตกข้อนี้ว่า ถ้าพระราชาจะพึงทอดพระเนตรเห็นอธิการ (ทานอันยิ่ง) ไม่มีส่วนเหลือของพระองค์ ก็จะพึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ต่อจากนั้น จึงได้ทำปาฏิหาริย์ ชื่อว่าโลกวิวรณ์ (คือการเปิดโลก).

 

พระเจ้าอโศกมหาราชทอดพระเนตรเห็นทั่วทั้งชมพูทวีป

พระราชาประทับยืนอยู่ที่อโศการามนั้นแล ทรงเหลียวดูตลอดทั้ง ๔ ทิศ ได้ทอดพระเนตรเห็นชมพูทวีปซึ่งมีมหาสมุทรเป็นที่สุดโดยรอบ และพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังที่รุ่งโรจน์อยู่ด้วยการบูชาในการฉลองพระวิหารอย่างโอฬาร.

ท้าวเธอเมื่อทอดพระเนตรดูสมบัตินั้น ก็ทรงประกอบด้วยปีติปราโมทย์อย่างโอฬาร ทรงพระดำริว่า ก็มีอยู่หรือที่ปีติปราโมทย์เห็นปานนี้ เคยเกิดขึ้นแก่ใครๆ อื่นบ้าง? จึงตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! ในพระศาสนาของพระทศพลโลกนาถเจ้าของเราทั้งหลาย มีใครบ้างได้สละบริจาคอย่างมากมาย การบริจาคของใครเล่ายิ่งใหญ่.

ภิกษุสงฆ์ได้มอบการวิสัชนาปัญหาที่พระราชาตรัสถาม ให้เป็นหน้าที่ของท่านโมคคลีบุตรติสสเถระ.

พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร! ขึ้นชื่อว่าผู้ถวายปัจจัย ในพระศาสนาของพระทศพลเช่นกับพระองค์ ในเมื่อพระตถาคตเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีใครเลย พระองค์เท่านั้นทรงมีการบริจาคยิ่งใหญ่.

 

พระเจ้าอโศกยังไม่เป็นทายาทแห่งพระศาสนา

พระราชาทรงสดับคำของพระเถระแล้ว ได้มีพระวรกายอันปีติปราโมทย์อย่างโอฬารถูกต้องแล้ว หาระหว่างมิได้ จึงทรงพระดำริว่า ได้ยินว่า ผู้ที่ถวายปัจจัยเช่นกับเรา ไม่มี ได้ยินว่า เรามีการบริจาคยิ่งใหญ่ ได้ยินว่า เรากำลังยกย่องเชิดชูพระศาสนาด้วยไทยธรรม ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะได้ชื่อว่า เป็นทายาทแห่งพระศาสนาหรือไม่.

ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสถามภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! โยมเป็นทายาทแห่งพระศาสนา หรือยังหนอ?

ในลำดับนั้น ท่านพระโมคคลีบุตรติสสเถระฟังพระราชดำรัสนี้แล้ว เมื่อเล็งเห็นอุปนิสัยสมบัติแห่งพระมหินท์ผู้เป็นพระโอรส (ของท้าวเธอ) จึงดำริว่า ถ้าพระกุมารนี้จักทรงผนวชไซร้ พระศาสนาก็จักเจริญอย่างยิ่ง จึงถวายพระพรเรื่องนี้กะพระราชาว่า มหาบพิตร! ผู้ที่จะเป็นทายาทแห่งพระศาสนา หาใช่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ ก็อีกอย่างหนึ่งแล ผู้ถวายปัจจัยเช่นนั้น ย่อมถึงความนับว่า ปัจจัยทายก หรือว่า ผู้อุปัฏฐาก (เท่านั้น) มหาบพิตร! แท้จริง แม้ผู้ใดพึงถวายปัจจัยกองตั้งแต่แผ่นดินขนาดจดถึงพรหมโลก แม้ผู้นั้นก็ยังไม่ถึงความนับว่า เป็นทายาทในพระศาสนาได้.

 

ผู้ที่ให้บุตรบวชชื่อว่าได้เป็นทายาทแห่งพระศาสนา

ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! ถ้าเช่นนั้น ทายาทแห่งพระศาสนา จะมีได้อย่างไรเล่า?

พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร! บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นผู้มั่งคั่งก็ตาม จะเป็นผู้ยากจนก็ตาม ให้บุตรผู้เป็นโอรสของตนบวช (ในพระศาสนา) มหาบพิตร! บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าเป็นทายาทแห่งพระศาสนา.

เมื่อพระโมคคลีบุตรติสสเถระถวายพระพรอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าอโศกธรรมราชทรงพระดำริว่า

ได้ยินว่า เราแม้ทำการบริจาคเห็นปานนี้แล้ว ก็ยังไม่ถึงความเป็นทายาทแห่งพระศาสนาได้เลย ทรงปรารถนาความเป็นทายาทในพระศาสนาอยู่

จึงทรงทอดพระเนตรเหลียวดู ข้างโน้นและข้างนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหินทกุมาร (ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์) ซึ่งประทับยืนอยู่ในที่ไม่ไกล.

ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ท้าวเธอก็ทรงพระรำพึงดังนี้ว่า เราประสงค์จะสถาปนาพระกุมารองค์นี้ไว้ในตำแหน่งอุปราช จำเดิมแต่เวลาติสสกุมารผนวชแล้ว ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น การบรรพชาแลเป็นคุณชาติอุดมกว่าตำแหน่งอุปราชเสียอีก.

ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงรับสั่งกะพระกุมารว่า พ่อ! ลูกจะสามารถบวชได้ไหม? พระกุมาร แม้ตามปกติ จำเดิมแต่เวลาพระติสสกุมารทรงผนวชแล้ว ก็มีพระประสงค์อยากจะผนวชอยู่ทีเดียว พอได้ทรงสดับพระราชดำรัสก็เกิดพระปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะสมมติเทพ! หม่อมฉันจะบวช ทูลกระหม่อมทรงพระบรมราชานุญาตให้กระหม่อมฉันบวชแล้ว จะได้เป็นทายาทในพระศาสนา.

ก็โดยสมัยนั้นแล แม้พระนางสังฆมิตตา พระราชธิดา (ของท้าวเธอ) ก็ประทับยืนอยู่ในสถานที่นั้นเอง. พระกุมารทรงพระนามว่า อัคคิพรหม ผู้เป็นพระสวามีของพระนางสังฆมิตตานั้นแล ก็ได้ผนวชร่วมกับพระติสสกุมารผู้เป็นอุปราชแล้ว. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระนางสังฆมิตตานั้นแล้ว จึงรับสั่งว่า แม่! แม้ลูกสามารถจะบวชได้ไหม?

พระนางทูลตอบว่า ดีละ ทูลกระหม่อมพ่อ! หม่อมฉันสามารถ. พระราชาทรงขอบใจพระราชโอรสและธิดาแล้ว มีพระราชหฤทัยเบิกบาน จึงตรัสพระดำรัสนี้กะพระภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ! ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ทารกเหล่านี้บวช แล้วกระทำให้โยมเป็นทายาทในพระศาสนาเถิด.

พระสงฆ์รับพระราชดำรัสแล้ว ก็ให้พระกุมารบรรพชา โดยมีพระโมคคลีบุตรติสสเถระเป็นพระอุปัชฌายะ และมีพระมหาเทวเถระเป็นอาจารย์ ให้อุปสมบท โดยมีพระมัชฌันติกเถระเป็นอาจารย์. ฯลฯ


ที่มา อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์

47085376
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
14659
49112
235450
46606637
571714
1172714
47085376

Your IP: 147.92.179.107
2024-11-15 10:18
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search