การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

          ธุระในพระศาสนานั้น แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ 2 ส่วน คือ คันธธุระ 1 วิปัสสนาธุระ 1 คันธธุระนั้น เรียนหนัก เริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาบาลี และแปลพระไตรปิฎก พยายามให้อ่านออกแปลได้ค้นคว้าให้แตกฉาน ส่วนวิปัสสนาธุระนั้น ไม่หนักนัก โดยการเรียนทางสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ใจสะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง

          ภาษาบาลี หรือภาษามคธ เป็นภาษาที่จารึกพระไตรปิฎก ด้วยเป็นภาษาที่คนชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลนิยมใช้กันทั่วไป จึงเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยนั้น หลังจากพุทธปรินิพพานมีการทำปฐมสังคายนา พระเถระได้ตกลงกันใช้ภาษาบาลีสำหรับจดจำพระไตรปิฎก พระสงฆ์สายเถรวาทจึงต้องศึกษาภาษาบาลีให้เข้าใจลึกซึ้งและสามารถเทียบเคียงสอบทานกับพระไตรปิฎกที่เก็บไว้ในสถานที่ต่างกันได้ เพื่อรักษาการแปลความหมายจากพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกให้ถูกต้องไม่บิดเบือน และหน้าที่นี้ก็เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

          พระสงฆ์ไทยน่าจะมีการศึกษาภาษาบาลีมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกที่พระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย มีหลักฐานปรากฏในสมัยทวารวดี มีหลักฐานการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีอย่างเป็นระบบในสมัยอยุธยา [2]

          การศึกษาบาลีรุ่งเรืองยิ่งในสมัยล้านนา มีการแต่งคัมภีร์บาลีขึ้นมากมาย คัมภีร์ที่แต่งในครั้งนั้นยังใช้เป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันด้วย

          การศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบมานั้น มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปภัมภ์ให้การสนับสนุนตลอดมา มีการอุทิศพระราชมณเฑียรเป็นที่เล่าเรียนศึกษาของพระสงฆ์ มีการยกย่องและถวายนิตยภัตรแก่พระสงฆ์ผู้มีความรู้ภาษาบาลี จนถึงแม้พระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์ ที่ทรงเป็นปราชญ์เชี่ยวชาญในภาษาบาลี สามารถลงบอกบาลี (สอน) แก่พระสงฆ์สามเณรด้วยพระองค์เองก็มีตลอดมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          การจัดสอบบาลีหรือการสอบสนามหลวงจัดว่าเป็นการวัดความรู้ชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทยโดยพระบรมราชูปถัมภก์ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรผู้สอบไล่พระปริยัติธรรมบาลีได้ องค์พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณจะยกย่องและให้เกียรติถวายสมณศักดิ์โดยเฉพาะ

          อนึ่ง การเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐให้ความสำคัญมาตลอด ดังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสไว้ใน อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม ว่า "การสอบพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร นับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก"

          ในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาบาลีอย่างเป็นระบบ โดยแม่กองบาลีสนามหลวงรับผิดชอบดูแลโดยภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล

 

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

           ปัจจุบัน สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง เป็นหน่วยงานจัดการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของมหาเถรสมาคมซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ดูแลรับผิดชอบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีระดับชาติ และกำหนดเปลี่ยนแปลงการใช้คัมภีร์เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม 1-9 ให้เหมาะสมกับชั้นเรียนของแต่ละประโยค รวมทั้งการจัดสอบประเมินผลการศึกษาบาลีระดับชาติ โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้รับสนองงาน ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม

 

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในปัจจุบัน

แบ่งเป็น 3 ชั้น 9 ประโยคคือ

  • ชั้นเปรียญตรี (ชั้นที่ 1) ตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึงเปรียญธรรม 3 ประโยค
  • ชั้นเปรียญโท (ชั้นที่ 2) ตั้งแต่ เปรียญธรรม 4 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 6 ประโยค
  • ชั้นเปรียญเอก (ชั้นที่ 3) ตั้งแต่ เปรียญธรรม 7 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค

         ดังตารางต่อไปนี้

  วิชาแปล วิชากลับ ฉันท์/แต่งไทย ไวยากรณ์ สัมพันธ์ บุรพภาค
ป.ธ.9 อภิธมฺมตฺถวิภาวินี วิสุทฺธิมคฺค แต่งไทย      
ป.ธ.8 วิสุทฺธิมคฺค สมนฺตปาสาทิกา 1 ฉันท์บาลี      
ป.ธ.7 สมนฺตปาสาทิกา 1-2 มงฺคลตฺถทีปนี 1        
ป.ธ.6 สมนฺตปาสาทิกา 3-5 ธมฺมปทฏฺฐกถา 5-8        
ป.ธ.5 มงฺคลตฺถทีปนี 2 ธมฺมปทฏฺฐกถา 2-4        
ป.ธ.4 มงฺคลตฺถทีปนี 1 ธมฺมปทฏฺฐกถา 1        
ป.ธ.3 ธมฺมปทฏฺฐกถา 5-8     ไวยากรณ์ สัมพันธ์ไทย บุรพภาค
ป.ย.1-2 ธมฺมปทฏฺฐกถา 1-4     ไวยากรณ์    

 * คัมภีร์ที่ใช้เรียนทั้งหมด เป็นคัมภีร์ในระดับอรรถกถาลงมา

 

การจัดการสอบ

ในการสอบบาลีสนามหลวง จะมีกำหนดการสอบในแต่ละปีไว้ดังต่อไปนี้

  • ครั้งที่ 1 สำหรับเปรียญธรรม 6,7,8,9 ในสนามสอบเขตกรุงเทพมหานคร สอบในวันขึ้น 2-3-4-5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
  • ครั้งที่ 2 สำหรับบาลีประโยค 1-2 และเปรียญธรรม 3-4-5 ประโยค สอบในวันแรม 10-11-12 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี แม่กองบาลีเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการออกปัญหา การดำเนินการสอบ การดำเนินการสอบในต่างจังหวัดนั้น แม่กองบาลีได้มอบหมายให้เจ้าคณะภคต่างๆ แต่งตั้งคณะกรรมการนำข้อสอบจากส่วนกลางไปยังสนามสอบทุกแห่ง โดยเปิดสอบในชั้นประโยค 1-2 และ ป.ธ. 3-4 แล้วนำใบตอบมาส่งแม่กองบาลีสนามหลวงเพื่อดำเนินการตรวจ โดยนิมนต์พระเถรานุเถระมาประชุมพร้อมกันในสถานที่ที่แม่กองบาลีกำหนด ส่วนประโยค ป.ธ. 5,6,7,8 และ 9 ดำเนินการสอบในส่วนกลางตามที่แม่กองบาลีกำหนดให้เป็นสถานที่สอบ

การตรวจและประกาศผล

การตรวจและประกาศผล เมื่อการดำเนินการสอบเสร็จสิ้นแล้ว ทางแม่กองบาลีสนามหลวงจะมีหนังสืออาราธนากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีคุณสมบัติถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประชุมตรวจข้อสอบพร้อมกัน ณ ศาลาประชุมสงฆ์ วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กำหนดให้วันแรม 2 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี รวมเวลาตรวจ 6 วัน หลังจากการตรวจเสร็จ ทางสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงจะทะยอยประกาศผลการสอบให้ทราบอย่างเป็นทางการในวันสุดท้ายของการตรวจและวัดถัดมา

ในสมัยของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปัญญาบดี แม่กองบาลีสนามหลวง (พ.ศ. 2503 – 2531) ได้หยิบยกเรื่องการสอบประโยค 1-2 ที่ได้ยกเลิกไป โดยจัดให้มีการสอบขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 และยังถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

ในสมัยของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) แม่กองบาลีสนามหลวง (พ.ศ. 2532 – 2537) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้มีนโยบายทางด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เพิ่มเติมดังนี้

  1. การออกข้อสอบบาลีสนามหลวง ในชั้นประโยค 1-2 จะไม่มีการออกคาถาและแก้อรรถคาถา ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนในระดับนี้ จะได้ไม่ต้องเรียนหนักจนเกินไป อีกทั้งสามารถเรียนได้สะดวกขึ้น และมีโอกาสสอบผ่านมากขึ้น
  2. การออกข้อสอบสนามหลวง ในวิชาแปลไทยเป็นมคธ ของนักเรียนชั้นประโยค ป.ธ. 4 เป็นต้นไป จะมีการออกคาถาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนจดจำพระพุทธพจน์ได้ขึ้นใจ และต้องท่องจำคาถาให้ได้ โดยเฉพาะคาถาที่เป็นพระพุทธพจน์โดยตรงนั้น นักเรียนต้องท่องจำคาถาตามแบบอย่างเดียว ไม่อนุญาตให้แต่งแก้

ในสมัยของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) แม่กองบาลีสนามหลวง (พ.ศ. 2538 – ปัจจุบัน) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มีนโยบายทางด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีเพิ่มเติม ดังนี้

  1. การเรียนการสอนวิชาแปลมคธเป็นไทย ของประโยค 1-2 ที่ข้อสอบจะไม่ออกคาถาและแก้อรรถมาก่อนหน้านี้ ให้ครูในแต่ละสำนักเรียนสอนการแปลคาถาและแก้อรรถให้นักเรียนด้วย ซึ่งอาจจะออกข้อสอบหรือไม่ก็ได้ แต่ทั้งนี้ อย่างน้อยก็เป็นอุปการะแก่การเรียนการสอบชั้นประโยคสูงๆ ในอนาคต
  2. การออกข้อสอบบาลีสนามหลวงนอกจากจะมีการออกคาถา ส่วนประโยคแก้อรรถ ที่รูปประโยคไม่ซับซ้อน ธรรมดา ก็มีสิทธิ์จะออกสอบด้วยเช่นกัน (จะพบได้โดยเฉพาะตั้งแต่ชั้นประโยค ป.ธ. 6 เป็นต้นไป)
  3. การจัดปฐมนิเทศ กรรมการตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวง โดยเฉพาะกรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งใหม่ อีกทั้ง ได้จัดพิมพ์คู่มือตรวจถวายกรรมการด้วย
  4. เปิดโอกาสให้ครูสอนซึ่งสอนอยู่ในชั้นและวิชานั้น เป็นกรรมการตรวจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกรรมการในส่วนภูมิภาค
  5. การมีนโยบายจัดตั้งสำนักเรียนประจำจังหวัด
  6. การเก็บวิชาที่สอบผ่านแล้วเป็นเวลา 2 ปี นำร่องในชั้นประโยค 1-2 และดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541

การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในปัจจุบัน ได้ให้ใช้เกณฑ์ให้คะแนนเป็นตัวเลข โดยใช้วิธีการหักคะแนนเมื่อพบความผิดในการทำข้อสอบ ถ้าคะแนนที่ถูกหักออกไปเกินกำหนด ก็จะถือว่าสอบตกในวิชานั้นๆ โดยในทุกวิชา ถ้าตอบสับข้อ จะถูกหัก 2 คะแนนต่อ 1 วิชา

หลักเกณฑ์ในการหักคะแนนในวิชาต่างๆ ในปัจจุบันมีดังนี้

วิชาบุรพภาค (สำหรับประโยค ป.ธ. 3)

  1. วางรูปจดหมายผิด ให้ตก
  2. วางย่อหน้าผิด หัก 2 คะแนน
  3. ผิดวรรคตอนถึงเสียรูปหรือเสียความ หักแห่งละ 1 คะแนน
  4. ใช้ตัวอักษรผิด หัก 1 คะแนน

เมื่อรวมแล้ว ถูกหักเกิน 12 คะแนน ถือว่าสอบตก (และจะถือว่าตกในวิชาอื่นๆ ที่เหลือด้วย)

วิชาแปลไทยเป็นมคธ แปลมคธเป็นไทย และวิชาสัมพันธ์

  1. ผิดศัพท์ เรียกชื่อสัมพันธ์ผิดในวิภัตติเดียวกัน หักศัพท์ละ 1 คะแนน
  2. ผิดสัมพันธ์ (เรียกชื่อสัมพันธ์ผิดต่างวิภัตติหรือเข้าสัมพันธ์ผิด) หักแห่งละ 2 คะแนน
  3. ผิดประโยค (เช่น ใช้ประโยคและกริยาผิดบุรุษ) หักประโยคละ 6 คะแนน

การ "ให้" คะแนน

  • ถ้าถูกหัก 1-6 คะแนน ให้ “3 ให้”
  • ถ้าถูกหักตั้งแต่ 7 – 12 คะแนน ถือว่าให้ “2 ให้”
  • ถ้าถูกหักไป 13 – 18 คะแนน ให้ “1 ให้”
  • ถ้าถูกหักไปเกิน 18 คะแนน ให้ “0 ให้” ถือว่าสอบตก

 

ที่มา https://th.wikipedia.org

บันทึก

บันทึก

บันทึก

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search