ประวัติการศึกษาพระอภิธรรม

            พญาลิไทซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง เมื่อ พ.ศ ๑๘๙๖

            โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาพระอภิธรรมของพระพุทธเจ้าไว้ และเพื่อโปรดพระราชมารดา รวมทั้งประชาราษฎร์ทั่วไปให้เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรมของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย

            ในหนังสือ กล่าวถึง จิต เจตสิก และรูป ในคนและสัตว์ที่มีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ของกาม ภพ รูปภพ และอรูปภพอยู่ และแสดงถึงว่า นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากความ ทุกข์ทั้งปวงเหล่านั้น

            ตั้งแต่รัชสมัยของกรุงศรีอยุธยา พอมีหลักฐานอยู่บ้างว่า มีการ สวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมในการบำเพ็ญกุศลให้แก่ศพ แต่เนื่องจากพระอภิธรรมเป็นธรรมะชั้นสูง ลึกซึ้ง จึงมีความสนใจกันไม่มากนักเมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ ไทยเสียบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า บ้านเมืองระส่ำระสาย ขาดผู้นำที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอภิธรรมซึ่งธรรมดาเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่ค่อยมีสนใจขาดการศึกษาไป

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๑

            พระองค์ได้ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ทบทวนเนื้อความในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธัมมปิฎก พระพุทธศาสนาจึงได้รุ่งเรื่องต่อไป ถึงรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และต่อๆ มาจนถึงรัชกาลที่ ๙ ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทย

 
            ในหนังสือตำนานพระอภิธรรม โดยอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์กล่าวไว้ว่า มีการสวดศพด้วยพระอภิธรรมอย่างจริงจัง เมื่อประมาณต้นรัชกาลที่ ๕ ( เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓ )

 
            มีหลักฐานเป็นหนังสือ ๒ เล่ม คือ อภิธัมมัตถสังคหะ แปลร้อยอย่างพิศดาร พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ และหนังสืออภิธัมฉบับสมบูรณ์ โดยนำเอาเทศนาพิศดารของเก่า พิมพ์ไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๐ ดังที่ระบุไว้ที่คำนำ มาพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์เลี่ยงเซียงในปี ๒๔๙๔ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระอภิธรรมและกุศโลบายของบรรพบุรุษไทยในการสืบทอดความรู้พระอภิธรรมได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕

            พระอาจารย์พม่า ภัททันตวิลาสะ เจ้าอาวาสวัดปรก ตรอกจันทร์ เขตยานนาวา กทม.ได้เริ่มทำการสอนวิปัสสนาภาวนาตามนัยแห่งพระอภิธรรม เกิดได้ลูกศิษย์ที่สำคัญคนหนึ่ง คือ แนบ มหานีรานนท์ ซึ่งเรียนพระอภิธรรมทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติอยู่หลายปี จนพระอาจารย์ให้อาจารย์แนบนี้ทำหน้าที่สอนวิปัสสนาและพระอภิธรรมแทนท่าน

            และท่านได้เชิญอาจารย์ฆราวาสพม่า คืออาจารย์สาย สายเกษม จากจังหวัดลำปาง มาช่วยการศึกษาปริยัติและปฏิบัติธรรมโดยนัยอภิธรรม จึงเริ่มมีการสอนเป็นชั้น เรียนที่แน่นอนขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทีวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพระภาวนาภิรามเถระ (สุข ปวโร) เป็นอาจารย์ใหญ่ร่วมกับอาจารย์สาย อาจารย์แนบ และพระทิพย์ปริญญา (ซึ่งทั้งหมดเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ภัททันตวิลาสะทั้งสิ้น)

            การสอนกระทำโดยใช้ตำราพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท เป็นบันทัดฐาน ในระหว่างนี้ก็มีการเปิดการศึกษาและการสอนปริยัติและปฏิบัติทางพระอภิธรรมขึ้นที่วัดสามพระยา วัดมหาธาตุ ฯ กทม. และต่างจังหวัด เช่น อยุธยา ลพบุรี ฯลฯ อีกหลายจังหวัด

            จากโอวาทหลวงพ่อวัดปากน้ำเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๖ ก็ได้กล่าวไว้ว่า พระทิพย์ปริญญาสอนอภิธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่วัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำจึงเทศน์ เรื่องจิตปรมัตถ์เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้กำลังศึกษาพระอภิธรรม

 

พ.ศ. ๒๔๙๑

             ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (พระอาสภะเถระ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ได้ติดต่อก้บรัฐบาลประเทศพม่า (ฯพณฯ อูนุเป็นนายกรัฐมนตรี) ขอให้ส่งพระผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรม มาช่วยสอนในประเทศไทย สภาแห่งคณะสงฆ์พม่าจึงส่ง พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และพระอาจารย์เตชินทะ ธัมมาจริยะ มาจำพรรษาเริ่มแรกอยู่ที่วัดปรก เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

             แล้วต่อไปก็ย้ายไปสอนพระอภิธรรม ที่วัดระฆังฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการเปิดการสอนพระอภิธรรมขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ “โรงเรียนบรรยายอภิธรรมปิฏก” ที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

             อีก ๔ ปีต่อมาก็มีการจัดตั้ง “พระอภิธรรมมูลนิธิ” ขึ้นโดยอาจารย์บุญมี เมธางกูร รับผิดชอบเรื่องการสอนพระอภิธรรมร่วมกับอาจารย์แนบและคุณพระชาญบรรณกิจขยายการสอนให้มีมากขึ้น ซึ่งต่อมาอภิธรรมมูลนิธิ ก็ย้ายตามพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยไปอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์

             แล้วแยกตัวออกจากพุทธสมาคมฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ไปเปิดการสอนต่อที่โรงเรียนมงคลพิทย์ วัดพระเชตุพลฯ และพอถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อภิธรรมมูลนิธิก็ย้ายออกไปจากวัดพระเชตุพลฯ ไปเปิดที่ทำการใหม่อยู่ตรงข้ามกับพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้ววัดพระเชตุพลฯ ก็จัดตั้งมูลนิธิวัดพระเชตุพนฯ ขึ้นทำการสอนพระอภิธรรมต่อไปที่ “โรงเรียนพระอภิธรรมมงคลทิพยมุนี” ทีนั้นพระอภิธรรมจึงได้มีการศึกษาและสอนที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นเวลา ๒๖ ปีมาแล้วตราบเท่าทุกวันนี้

             พระอาจารย์เตชินทะ สอนพระอภิธรรมอยู่ไม่นานนักก็เดินทางกลับไปพม่าแล้วไม่ได้กลับมา ส่วนพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ อยู่สอนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ตั้ง “อภิธรรมมหาวิทยาลัย” ขึ้นที่ วัดระฆังฯ มีหลักสูตรอภิธรรมตรี (๑ ปี ๖ เดือน) อภิธรรมโท (๓ ปี) และอภิธรรมเอก (๓ ปี) รวมหลักสูตรอภิธรรมทั้งหมด ๗ ปีครึ่งสำเร็จได้เป็นอภิธรรมบัณฑิต ซึ่งสามารถศึกษาต่อในระดับอาจารย์อีก ๖ ชั้นต่อไป โดยต้องทำการศึกษาค้นคว้าเอง เขียนวิทยานิพนธ์ และมีการสอบอภิธรรมบัณฑิตชั้นสูงทุกปี

 

             ต่อมาที่วัดมหาธาตุฯ ได้มีการสอนอภิธรรมขึ้นที่โรงเรียน “อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย” ในปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ขึ้นและในปีต่อๆ มาก็มีการเปิดสำนักเรียนพระอภิธรรมตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัดอีกไม่ต่ำกว่า ๕๐ แห่ง

             นับว่าเป็นความก้าวหน้าในด้านการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยมิใช่น้อยเลย นับได้ว่าเริ่มต้นที่พระอาจารย์พม่าภันทันตะวิลาสะ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อด้วยพระอาจารย์พม่า สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้นวางรากฐานการศึกษาพระอภิธรรม โดยเมื่อท่านมาสอนพระอภิธรรมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติที่วัดระฆังฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓

             ในตอนแรกต้องใช้ล่ามช่วยแปล ต่อมาอีก ๑ ปี เมื่อท่านเรียนภาษาไทยได้แล้ว นอกจากสอนแล้ว ท่านยัง เขียนตำราเรียนเป็นภาษาไทย จัดวางหลักสูตรการศึกษาพระอภิธรรมเป็นชั้นๆ ตามลำดับขั้นตอน ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้โดยใช้ตำราอภิธรรมมัตถสังคห ๙ ปริเฉทเป็นบรรทัดฐาน ผู้ที่ศึกษาตำรานี้จบแล้ว ก็อาจไปศึกษาต่อในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ภาษาบาลีและภาษาไทยต่อไปอีกได้

             จะเห็นได้ว่าการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยได้ดำเนินการมาในระยะเวลาไม่นานมานี้คือเป็นระยะเวลาประมาณ ๖๐ ปีเท่านั้น และยังไม่ได้รับความนิยมสนใจจากพระพุทธศาสนิกชน นักศึกษาธรรมะกันมาก

 

              ผลการศึกษาพระอภิธรรมในปีแรกๆ นั้นมีจำนวนน้อยมาก เพราะยังไม่มีการวัดผลของการศึกษาที่ดี ต่อมา “อภิธรรมมหาวิทยาลัย” ได้จัดให้มีการสอบขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ มีผู้จบหลักสูตรการศึกษาพระอภิธรรมเป็น “ อภิธรรมบัณฑิต ” เป็นรุ่นแรกของการศึกษา เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาต่างๆ เท่าที่มีการศึกษาและการสอนพระอภิธรรมเป็นเวลา ๖๐ ปี ที่แล้วมานี้ มีนักศึกษาที่สอบไล่สำเร็จอภิธรรมตรี โท เอก ประมาณกว่าหนึ่งพันคน และที่ได้ “อภิธรรมบัณฑิต” ประมาณ ๒๐ ท่าน แม้ปัจจุบันนี้ ก็มีนักศึกษาพระอภิธรรมในกรุงเทพฯ ไม่กี่ร้อยคน รวมกับต่างจังหวัดด้วยแล้วมีประมาณพันกว่าคน สำหรับครูอาจารย์ที่สอนพระอภิธรรมนั้นก็มีเป็นจำนวนไม่ถึงร้อย เนื่องจากเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิต จึงมีคนสนใจน้อยในยุคปัจจุบัน

              ปัจจุบันมีการผนวกเอาอภิธรรมโชติกะ วิทยาลัย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ผู้ที่เรียนจบ อภิธรรมบัณฑิต ได้รับการรับรองเท่าจบปริญญาตรี

 


ที่มา มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Leave a comment

You are commenting as guest.


48835033
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
21373
25548
46921
48532854
1048789
1272582
48835033

Your IP: 13.59.67.189
2024-12-30 23:53
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search