วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นวิชาที่มีหลักการ เป็นเรื่องของความงามในการใช้ภาษา จึงเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องศึกษา และฝึกฝนให้มีประสบการณ์มากพอสมควรจึงจะมีความรู้ ความชำนาญในการใช้สำนวนภาษาที่ไพเราะและเหมาะสม อันจะทำให้เรียงความดีน่าอ่าน
คำว่า “เรียงความแก้กระทู้ธรรม” ตัดบทเป็นเรียงความ/แก้/กระทู้ธรรม
“เรียงความ” หมายถึง การกล่าวพรรณนาเนื้อความหรืออธิบายเนื้อความแล้วนำเอาเนื้อความมาต่อเชื่อมกัน โดยลำดับหน้าหลังให้ผู้อ่านได้อ่านรู้เรื่อง
“แก้” หมายถึง การตอบหรือการเฉลยให้ตรงจุดของคำถามนั้น หรือการเปิดเผยสิ่งที่ปกปิดออกมาให้เห็น
“กระทู้ธรรม” หมายถึง ปัญหาหรือคำถามที่เกี่ยวกับธรรมะ
การเรียนวิชานี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเรียนวิชานี้เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติของแต่ละบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพโดยทางการเขียน อันเป็นการแสดงออกแทนคำพูด ถือเป็นการสร้างบุคลากรใหม่ในด้านการเป็นนักพูด นักเขียน ในวงการพระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไป
๑.เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติของตนเอง
๒.เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้เกี่ยวกับธรรมะ
๓.เป็นการแสดงออกซึ่งวาทะและสำนวนของผู้ที่ได้รับการศึกษา
๔.เป็นการถ่ายทอดวิชาการไปสู่อีกคนหนึ่งให้รู้และเข้าใจความ
๕.เป็นการพัฒนาด้านความรู้และปัญญาของตนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
๖.เป็นการสร้างบุคลากรในด้านศาสนาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกลายมาเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาต่อไป
กระทู้ธรรมของศึกษาชั้นตรี-โท-เอก นั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑.พุทธภาษิต เป็นดำรัสของพระพุทธเจ้าโดยตรง
๒.สาวกภาษิต เป็นคำพูดของพระสาวก มี ๒ ประเภท คือ เถรคาถา (พระภิกษุ) และเถรีคาถา (พระภิกษุณี)
๓.เทวตาภาษิต เป็นคำพูดของเทวดา
๔.อิสีภาษิต เป็นคำพูดของพวกฤาษี
ภาษิตทั้ง ๔ ประเภทนี้รวมเป็นคำกลาง ๆ ว่า “ธรรมภาษิต” คือเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยธรรมะนั่นเอง
๑.กระทู้ธรรมที่เป็นบุคลาธิษฐาน หมายถึง กระทู้ธรรมที่อ้างบุคคลเป็นที่ตั้งหรือยกเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลขึ้นมากล่าวเพื่อให้เข้าใจในธรรมะนั้น เช่น กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น
๒.กระทู้ธรรมที่เป็นธรรมาธิษฐาน หมายถึง กระทู้ธรรมที่อ้างธรรมะโดยตรงเป็นที่ตั้งไม่อ้างบุคคลคือยกเอาธรรมล้วน ๆ ขึ้นกล่าว เช่น ปะมาโท มัจจุโน ปะทัง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตายหรือ ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาป เป็นเหตุนำความทุกข์มาให้
๑.กระทู้ตั้ง คือ กระทู้ธรรมที่เป็นปัญหาที่ยกขึ้นมาก่อน สำหรับให้แต่งแก้ เช่น สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง
๒.คำนำ คือ คำขึ้นต้นหรือคำชี้แจงก่อนจะแต่งต่อไป กล่าวคือ เมื่อยกคาถาบทตั้งไว้แล้ว เวลาจะแต่งต้องขึ้นอารัมภบทก่อนว่า “บัดนี้จักได้บรรยายขยายความตามธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติของสาธุชนผู้ใคร่ในธรรมสืบไป”
๓.เนื้อเรื่อง ต้องมีเนื้อหาสาระสำคัญ ลำดับเนื้อหาสาระให้ต่อเนื่องกันเป็นเหตุเป็นผล เมื่ออธิบายเนื้อเรื่องมาพอสมควรก็นำเอาข้อธรรม (กระทู้ธรรม) มาอ้างรับรองไว้เป็นหลักฐาน
๔.กระทู้รับ หมายถึง การยกเอาธรรมภาษิตขึ้นมารับรองให้สมเหตุสมผลกับกระทู้ตั้ง เพราะการแต่งเรียงความนั้นต้องมีกระทู้รับอ้างให้สมจริงกับเนื้อความที่ได้แต่งไป มิใช่เขียนไปแบบลอย ๆ
๕.บทสรุป หมายถึง รวบรวมใจความสำคัญของเรื่องที่ได้อธิบายมาแต่ต้นแล้วกล่าวสรุปลงสั้น ๆ หรือย่อ ๆ ให้ได้ความหมายที่ครอบคุลมถึงเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด
๑.พรรณาโวหาร โวหารบรรยายให้เกิดความเพลิดเพลิน
๒.บรรยายโวหาร อธิบายแจกแจงกระทู้ธรรมชี้เหตุผลให้เกิดวิริยะอุตสาหะในการนำไปปฏิบัติ
๓.เทศนาโวหาร ชี้แจงแสดงแนะนำให้เห็นผลดีผลเสีย และสอนให้ละการทำความชั่วทำแต่ความดี
๔.สาธกโวหาร การยกเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นข้อเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัยโดยมีหลักว่า
ก.ไม่ยกเรื่องของคนอื่นที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ข.ไม่ยกเรื่องของตนเองมาเป็นข้อเปรียบเทียบ
๑.การตีความหมายกระทู้ตั้ง ว่าหมายถึงอะไร กว้างแคบแค่ไหน ในกระทู้นั้นมีความหมายที่ต้องอธิบายกี่อย่าง เช่น อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย ชนะตนนั้นแล ประเสริฐ ในกระทู้นี้ต้องมีความหมายดังนี้
ก.คำว่า “ตน” คืออะไร ตนในที่นี้ได้แก่อัตภาพร่างกายที่สมมติกันว่าเป็นคนได้แก่ กายกับจิต
ข.คำว่า “ชนะตน” ได้แก่อะไร คือชนะใจตนเองไม่ให้ใจตกอยู่กับอำนาจกิเลสหรืออารมณ์ฝ่ายต่ำที่มาชักนำหรือครอบคลุมจิตใจของตนเองให้ได้นั่นเอง ถ้าใครชนะจิตใจของตนเองได้ก็ชื่อว่าชนะตน
ค.คำว่า “ประเสริฐ” แปลว่า ดีกว่า เลิศกว่า เมื่อคนเราเอาชนะจิตใจของตนเองได้ ชื่อว่าได้รับความชนะที่ประเสริฐกว่าการชนะสงคราม หรือศัตรูภายนอก
๒.การขยายความให้ชัดเจน หมายถึง การขยายความให้ชัดเจนและแจ่มแจ้งออกไป เช่น ความชนะใจตนเองคืออะไรก็ขยายให้แจ่มแจ้งออกไปว่า ไม่ให้จิตใจของตนเองตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส คือความโลภ ความโกรธและความหลง ซึ่งจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้จิตใจตนคิดไปในทางชั่ว ทางบาป ทางทุจริต และที่ว่าประเสริฐนั้น ก็คือการชนะจิตใจตนเองประเสริฐกว่าอย่างอื่น เพราะการชนะคนอื่นแม้ ๑๐๐ คน ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการชนะตนเพียงครั้งเดียว
๓.ตั้งเกณฑ์อธิบาย หมายถึง การอธิบายจะต้องมีหลักเกณฑ์อธิบายถึงผลดีผลเสียซึ่งจะเป็นเครื่องชี้ชัดลงไปให้เห็นว่า การชนะภายนอก เช่น ชนะคนตั้ง ๑๐๐ คน นั้นเป็นของไม่แน่นอน ภายหลังอาจจะกลับเป็นคนแพ้ได้ ส่วนการชนะตนเองนั้นเป็นการชนะโดยเด็ดขาด ชนะแล้วไม่กลับแพ้อีก
๑.การแต่งแบบตีวง คือ การพรรณนาความไปก่อนแล้วจึงหวนเข้าเนื้อหาของกระทู้ธรรมนั้น ๆ กล่าวคือ การแต่งกระทู้แบบอธิบาย เริ่มต้นจากจุดอื่นซึ่งห่างไกลให้มีความสัมพันธ์เนื่องกันเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอนก่อนหลังตามลำดับจนกลมกลืนกับกระทู้ตั้งแล้วจึงอธิบายธรรมหรือกระทู้นั้น ยกเหตุอุปมาสาธกและเชื่อม กระทู้อื่นมารับให้สมกับข้อความอธิบายนั้น มากหรือน้อยตามกำหนดของสนามหลวงที่ได้บังคับไว้ในชั้นนั้นๆ (ธรรมศึกษา ตรี,โท, เอก) แล้วสรุปความ
๒.การแต่งแบบตั้งวง คือ การอธิบายความหมายของธรรมะก่อนแล้วจึงขยายความออกไป กล่าวคือ การอธิบายตรงจุดธรรมะที่เป็นกระทู้ตั้ง ไม่ต้องมีลีลาหรือว่าร่ายรำให้ยืดยาวพอเข้าถึงจุดก็อธิบายต่อไปเหมือนกับแบบตีวงนั้นเอง ผิดกันบ้างก็เพราะแบบตีวงต้องเริ่มจากจุดอื่นเข้ามาเท่านั้น
ในการเขียนภาษาเรียงความ ผู้เขียนจะต้องพิถีพิถันการใช้ภาษาให้มาก ภาษาที่จะใช้ต้องเป็นภาษาเขียนเท่านั้นไม่เขียนด้วยภาษาพูด ซึ่งพอสรุปเพื่อจำง่าย ๆ คือ
๑.ต้องใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้อง
๒.ไม่ใช้ภาษาตลาด ภาษาแสลง ภาษาคำผวน
๓.ไม่ใช้ภาษาพื้นเมือง หรือภาษาถิ่น
๔.ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศปนภาษาไทย
- บัดนี้จักได้บรรยายขยายความตามธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติแห่งสาธุชนผู้ใคร่ในธรรมสืบต่อไป
- บัดนี้จักอธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ตั้งเป็นอุทเทสไว้เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติของท่านพุทธมามกะ ผู้ฝักใฝ่ในธุระทั้ง ๒ ประการในศาสนา คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ อันเป็นกิจที่จะต้องกระทำในพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งประกอบตนและผู้อื่นให้ได้ประสบสิ่งที่ตนปรารถนาเป็นลำดับต่อไป
๑.สมด้วยภาษิตที่มาใน.............ความว่า
๒.สมด้วยความแห่งคาถาประพันธ์พุทธภาษิตใน.......................ความว่า
สรุปความว่า......../ รวมความว่า...................../ ประมวลความว่า....................../
๑.อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน | พหุนาปิ น หาปเย | ||
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย | สทตฺถปสุโต สิยา. | ||
บุคคลไม่ควรพล่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน. | |||
ที่มา: (ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๒.อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา | ยถญฺญมนุสาสติ | ||
สุทนฺโต วต ทเมถ | อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม. | ||
ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่าตนแลฝึกยาก. | |||
ที่มา: (ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๓.อตฺตานเมว ปฐมํ | ปฏิรูเป นิเวสเย | ||
อถญฺญมนุสาเสยฺย | น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต. | ||
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง. | |||
ที่มา : (ขุททกนิกาย ธรรมบท) |
๔.อติสีตํ อติอุณฺหํ | อติสายมิทํ อหุ | ||
อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต | อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว. | ||
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว. | |||
(ทีฆนิกาย ธรรมบท) | |||
๕.อถ ปาปานิ กมฺมานิ | กรํ พาโล น พุชฺฌติ | ||
เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ | อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ. | ||
เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก เขาเดือดร้อนเพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๖.ยาทิสํ วปเต พีชํ | ตาทิสํ ลภเต ผลํ | ||
กลฺยาณการี กลฺยาณํ | ปาปการี จ ปาปกํ. | ||
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว. | |||
(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) | |||
๗.โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ | กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ | ||
อตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ | เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา. | ||
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึก (คุณของเขา), ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต) | |||
๘.โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ | กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ | ||
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ | เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา. | ||
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน ย่อมสำนึก (คุณของเขา) ได้ ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต) | |||
๙.โย ปุพฺเพ กรณียานิ | ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ | ||
วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว | ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ. | ||
ผู้ใด ปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ) หักไม้กุ่ม ฉะนั้น. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต) | |||
๑๐.สเจ ปุพฺเพกตเหตุ | สุขทุกฺขํ นิคจฺฉติ | ||
โปราณกํ กตํ ปาปํ | ตเมโส มุญฺจเต อิณํ. | ||
ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก ปัญญาสนิบาต) | |||
๑๑.สุขกามานิ ภูตานิ | โย ทณฺเฑน วิหึสติ | ||
อตฺตโน สุขเมสาโน | เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ. | ||
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๑๒.สุขกามานิ ภูตานิ | โย ทณฺเฑน น หึสติ | ||
อตฺตโน สุขเมสาโน | เปจฺจ โส ลภเต สุขํ. | ||
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) |
๑๓.อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ | อตฺถาวโห ว ขนฺติโก | ||
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ | อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก. | ||
ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น, ผู้มีขันติ ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน. | |||
(สวดมนต์ฉบับหลวง) | |||
๑๔.เกวลานํปิ ปาปานํ | ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ | ||
ครหกลหาทีนํ | มูลํ ขนฺติ ขนฺติโก. | ||
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น, ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้. | |||
(สวดมนต์ฉบับหลวง) | |||
๑๕.ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี | ยสสฺสี สุขสีลวา | ||
ปิโย เทวมนุสฺสานํ | มนาโป โหติ ขนฺติโก. | ||
ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. | |||
(สวดมนต์ฉบับหลวง) | |||
๑๖.สตฺถุโน วจโนวาทํ | กโรติเยว ขนฺติโก | ||
ปรมาย จ ปูชาย | ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก. | ||
ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาด้วยพระชินเจ้าบูชาอันยิ่ง. | |||
(สวดมนต์ฉบับหลวง) | |||
๑๗.สีลสมาธิคุณานํ | ขนฺติ ปธานการณํ | ||
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา | ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต. | ||
ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น. | |||
(สวดมนต์ฉบับหลวง) |
๑๘.อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส | พลิวทฺโทว ชีรติ | ||
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ | ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ. | ||
คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่ อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๑๙.ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ | อปิ วิตฺตปริกฺขยา | ||
ปญฺญาย จ อลาเภน | วิตฺตวาปิ น ชีวติ. | ||
ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้ แต่อับปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้. | |||
(ขุททกนิกาย เถรคาถา) | |||
๒๐.ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน | วิธานวิธิโกวิโท | ||
กาลญฺญู สมยญฺญู จ | ส ราชวสติ วเส. | ||
ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการงาน รู้กาลและรู้สมัย เขาพึงอยู่ในราชการได้. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต) | |||
๒๑.ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ | |||
นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ | |||
สีลํ สิรี จาปิ สตญฺจ ธมฺโม | |||
อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ. | |||
คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก จัตตาฬีสนิบาต) | |||
๒๒.มตฺตาสุขปริจฺจาคา | ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ | ||
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร | สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ. | ||
ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๒๓.ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ | อนตฺถํ จรติ อตฺตโน | ||
อตฺตโน จ ปเรสญฺจ | หึสาย ปฏิปชฺชติ. | ||
คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต) | |||
๒๔.ยาวเทว อนตฺถาย | ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ | ||
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ | มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ. | ||
ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย มันทำสมองของเขาให้เขว ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) | |||
๒๕.โย จ วสฺสสตํ ชีเว | ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต | ||
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย | ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน. | ||
ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ดีกว่า. | |||
(ขุททกนิกาย ธรรมบท) |
๒๖.อสนฺเตนูปเสเวยฺย | สนฺเต เสเวยฺย ปณฺฑิโต | ||
อสนฺโต นิรยํ เนนฺติ | สนฺโต ปาเปนฺติ สุคตึ. | ||
บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบสัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก วิสตินิบาต) | |||
๒๗.ตครํ ว ปลาเสน | โย นโร อุปนยฺหติ | ||
ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ | เอวํ ธีรูปเสวนา. | ||
คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด การคบกับนักปราชญ์ก็ฉันนั้น | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก วีสตินิบาต) | |||
๒๘. น ปาปชนสํเสวี | อจฺจนฺตสุขเมธติ | ||
โคธากุลํ กกณฺฏาว | กลึ ปาเปติ อตฺตนํ. | ||
ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้ เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต) | |||
๒๙.ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา | ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล | ||
โอวาเท จสฺส ติฏเฐยฺย | ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ. | ||
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน | |||
(ขุททกนิกาย เถรคาถา) | |||
๓๐.ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน | โย นโร อุปนยฺหติ | ||
กุสาปิ ปูติ วายนฺติ | เอวํ พาลูปเสวนา. | ||
คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต) | |||
๓๑.ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ | ยาทิสญฺจูปเสวติ | ||
โสปิ ตาทิสโก โหติ | สหวาโส หิ ตาทิโส. | ||
คบคนเช่นใดเป็นมิตร และสมคบคนเช่นใด เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น. | |||
(ขุททกนิกาย ชาดก วิสตินิบาต) | |||
๓๒.สทฺเธน จ เปสเลน จ | |||
ปญฺญวตา พหุสฺสุเตน จ | |||
สขิตํ หิ กเรยฺย ปณฺฑิโต | |||
ภทฺโท สปฺปุริเสหิ สงฺคโม. | |||
บัณฑิต พึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก มีปัญญาและเป็นพหูสูตเพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ. | |||
(ขุททกนิกาย เถรคาถา) |
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710