3.องค์สามเณรรู้ธรรม

         พ.ศ. ๒๔๔๘ (ร.ศ. ๑๒๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้น ตามพระราชบัญญัตินี้ภิกษุทั่วไปได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณรได้รับยกเว้นเฉพาะสามเณรที่รู้ธรรม ทางราชการจึงได้ขอให้คณะสงฆ์กำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ทหารถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในฐานะประธานเถรสมาคม โดยได้ทรงมีพระปรารภต่อที่ประชุมว่า

         เมื่อศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรมฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าน่าที่อื่นๆขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนดฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัยพระราชบัญญัติเมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า

         เมื่อภิกษุกำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่าราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสรจก่อนข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือพวกขัตติยะเป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะเป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับการงารของผู้อื่นด้วยแรง

         เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่น่าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหารก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้างฯ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่าคนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖)

         จากพระปรารภดังกล่าวและจากที่ได้สดับความคิดเห็นของที่ประชุมเถระสมาคม จึงได้ทรงสรุปแนวพระดำริในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมว่า

         เห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรมเพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรกอ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้าฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)

         และในที่สุดเถรสมาคมได้มีมติตามแนวพระดำริดังนี้

  • ๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้นๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง
  • ๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย
  • ๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้น้อย เป็นต้น สามเณรเช่นนั้นเมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๑๓๖.)

         เกณฑ์ดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมก็ยอมรับ จึงเป็นอันใช้ได้ ครั้นเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเบญจมบพิตร โดยทรงกำหนดหลักสูตรสำหรับสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ดังนี้

          - ภาษามคธ เพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท
          - ธรรมของสามเณร คือธรรมวิภาคในนวโกวาท
          - แต่งความแก้กระทูธรรม

         ในการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลา พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) มีสามเณรเข้าสอบ ๑๗๙ รูป สอบได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป

         ผลการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่า ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้น แต่ยังแคบเพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดที่มีเรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ไม่ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่าหากได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง เพราะการเรียนการสอบธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงทำเป็นการส่วนพระองค์มานานแล้ว และเกิดผลดีแก่ภิกษุสามเณรที่เรียน ทั้งที่ยังบวชอยู่และสึกออกไป

        ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระดำริที่จะปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ให้เป็นการศึกษาธรรมวินัยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ซึ่งจะเป็นทางให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยทั่วถึง ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่เถรสมาคมในครั้งนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ว่า

 

         ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้น ได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น และได้ใช้ฝึกสอนในสำนักของพระองค์เอง และวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่างได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชอยู่แลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมทรงเห็นว่า จะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงหลักสูตรขึ้นดังนั้น กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เป็นการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลา ทั้งไล่ได้แล้วจะจัดว่าเป็นผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ และจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไป เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือคราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นวาได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง

        เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้ภาษามคธเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดเป็นระเบียบเป็น ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษา สำหรับภิกษุสามเณรทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น

         สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สามารถสอนมคธภาษาได้ด้วย ต่อไปทรงแสดงพระดำริจะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญและวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ์ เป็นความรู้นวกภิกษุเป็นภูมิ์ต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ์ และเถรภูมิ์ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่บัดนี้ (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๑๒๗๑๒๘.)

 

         จากพระดำริที่ทรงแสดงแก่ที่ประชุมเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่าการศึกษาปริยัติธรรมที่เน้นมคธภาษานั้น ไม่ช่วยให้การศึกษาธรรมวินัยแพร่หลายถึงภิกษุสามเณรทั่วไป เพราะหาผู้สอนยากทั้งเรียนรู้ได้ยาก จึงได้ทรงทดลองจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ก่อน ปรากฏว่าได้รับผลดีมีผู้นิยมเรียนกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรบวชใหม่และภิกษุสามเณรเก่า และแพร่หลายไปถึงภิกษุสามเณรในวัดอื่นๆด้วย

         จึงทรงเห็นว่า การศึกษาปริยัติธรรมในภาษาไทยเท่านั้นที่จะช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยได้สะดวกขึ้นและสามารถจัดให้แพร่หลายไปได้ทั่วทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฉะนั้น จึงได้ทรงนำเอาแนวพระดำริที่ทรงจัดขึ้นในวันบวรนิเวศวิหารนั้น มาจัดเป็นหลักสูตรองค์ของสามเณรรู้ธรรม และทรงพระดำริจะจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างที่ทรงจัดเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้น ให้ลุ่มลึกกว้างขวางขึ้นโดยลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้นหรือนวกภูมิ ชั้นกลางหรือชั้นมัชฌิมภูมิ และชั้นสูงหรือชั้นเถรภูมิ ทั้งจะจัดการศึกษาธรรมวินัยในภาษาไทยดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับการศึกษาปริยัติธรรมในมคธภาษาที่มีมาแต่เดิมด้วย


ที่มา http://www.gongtham.net

  • Author: admin
  • Hits: 3447

Leave a comment

You are commenting as guest.


40469646
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
18090
29341
166810
40100302
520671
937182
40469646

Your IP: 40.77.167.14
2024-04-20 15:27
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search