พุทธประวัติ ปริเฉทที่ 1-4

พุทธประวัติ  คือ  ประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคติการศึกษา ๓  ทาง

        ๑. ทางตำนาน  ทำให้ทราบเรื่องของพระพุทธเจ้าว่าเป็นมาอย่างไร  พร้อมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ที่เราควรรู้    
        ๒. ทางอภินิหาร ทำให้ทราบวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ที่พระองค์ทรงกระทำสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์  ผู้ที่หนักไปในทาง อภินิหารก็จะได้ศรัทธาในพุทธานุภาพยิ่งขึ้นไป    
        ๓. ทางธรรมปฏิบัติ  ทำให้ทราบข้อปฏิบัติและเหตุผลที่เป็นจริงอย่างละเอียดแล้วปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ประโยชน์ของการศึกษาพุทธประวัติ 

        ๑. ด้านการศึกษา  ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้าว่าทรงบำเพ็ญบารมีมาอย่างไรจึงตรัสรู้ตลอดถึงพระชาติตระกูลของ พระองค์อันเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใส    
        ๒. ด้านการปฏิบัติ  ทำให้บุคคลได้ทราบแนวทางในการดำเนินชีวิตตามพุทธจริยาอันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมา ให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตาม

 

ปริเฉทที่  ๑  ชมพูทวีปและประชาชน

ชมพูทวีป    

        ดินแดนเป็นที่เกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาหรือดินแดนที่เรียกว่าประเทศอินเดียในสมัยก่อน เรียกว่า ชมพูทวีป ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอินเดีย  เนปาล  ปากีสถาน บังคลาเทศและภูฏาน  ตั้งอยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ของประเทศไทย

ชนชาติที่อาศัยอยู่ในชมพูทวีปมี  ๒ พวก  

        ๑. พวกมิลักขะ เจ้าถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ก่อน    
        ๒. พวกอริยกะ พวกที่อพยพมาใหม่โดยอพยพมาทางด้าน ภูเขาหิมาลัยรุกไล่เจ้าถิ่นเดิมถอยร่นไปอยู่รอบนอก

ชมพูทวีป แบ่งเป็น ๒ เขต   

        การปกครองในสมัยก่อนแบ่งออกเป็น ๒ เขต  บางครั้งเรียกเป็นจังหวัด คือ    
        ๑. มัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศ คือ ประเทศภาคกลาง เป็นที่อาศัยอยู่ของพวกอริยกะ    
        ๒. ปัจจันตชนบทหรือปัจจันตประเทศ  คือ ประเทศปลายแดนเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกมิลักขะ

แคว้นใหญ่  มี  ๑๖  แคว้น    

        อังคะ  มคธะ  กาสี  โกสละ  วัชชี  มัลละ  เจตี  วังสะ กุรุ  ปัญจาละ มัจฉะ  สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ และที่ปรากฏในคัมภีร์อื่นอีกมี  ๕ แคว้น  คือ  สักกะ  โกลิยะ  ภัคคะ วิเทหะ อังคุตตราปะ แคว้นเหล่านี้ บางแคว้นปกครองโดยกษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาด บางแคว้นปกครองโดยสามัคคีธรรมวรรณะ ๔    
        คนอินเดียแบ่งเป็นชั้นวรรณะด้วยชาติกำเนิด  ตามหลักศาสนาพราหมณ์ มี ๔ วรรณะ คือ     
        ๑. กษัตริย์  นักปกครอง  นักรบ  ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยุทธวิธี    
        ๒. พราหมณ์  สั่งสอน ทำพิธีกรรมทางศาสนา  ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมต่างๆ    
        ๓. แพศย์  ทำนา ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ ช่างฝีมือ  และหัตถกรรมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทำนาค้าขายเป็นต้น        
        ๔. ศูทร พวกกรรมกรใช้แรงงาน  ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงาน      
        แต่ละวรรณะจะไม่แต่งงานข้ามวรรณะกัน  ถ้าแต่งงานข้าม วรรณะลูกที่คลอดออกมากลายเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง  เรียกว่า  จัณฑาล เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนทั่วไป

ความเห็นที่แตกต่าง  

        ประชาชนในสมัยก่อนสนใจศึกษาธรรมะกันมาก  มีความเห็น เกี่ยวกับการเกิด  การตาย  ความสุข  และความทุกข์ของมนุษย์แตกต่างกันไป  จึงมีเจ้าลัทธิและนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อสั่งสอนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้  เมื่อสรุปมี  ๒  อย่าง คือ    
        ๑. เห็นว่าตายแล้วเกิด      
        ๒. เห็นว่าตายแล้วสูญ      
        ใครมีความคิดเห็นและมีความเชื่ออย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามความคิดเห็นและความเชื่ออย่างนั้น

ศาสนาพื้นเมือง   

        ลัทธิหรือศาสนาพื้นเมือง คือ ศาสนาพราหมณ์   มีคัมภีร์ไตรเพทอันประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท เป็นคำสอน หลัก ถือว่าโลกธาตุทั้งปวงเป็นของเทวดา  มีเทวดาประจำอยู่ในธาตุต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ  ใครปรารถนาผลอันใดก็เซ่นสรวงอ้อนวอน หรือด้วยการประพฤติตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ 

 

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ  

๑. พุทธประวัติ  กล่าวถึงเรื่องอะไร ?    
        ก. ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า    
        ข. ความเป็นไปของพระสาวก    
        ค. ความเป็นไปของนักบวช    
        ง. ความเป็นไปของพุทธบริษัท ๔
๒. ชนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นพวกใดบ้าง ?     
        ก. กษัตริย์            ข. พราหมณ์ ฮินดู    
        ค. อริยวงศ์ โกลิยวงศ์        ง. อริยกะ มิลักขะ
๓. บุตรที่เกิดจากพ่อเป็นพราหมณ์ แม่เป็นศูทรเรียกว่าอะไร ?     
        ก. จัณฑาล        ข. แพศย์    
        ค. พราหมณ์        ง. ศูทร
๔. ประเทศใด  ไม่ได้อยู่ในดินแดนชมพูทวีป ?     
        ก. เนปาล        ข. ศรีลังกา    
        ค. อินเดีย        ง. ปากีสถาน
๕. ชนเผ่าใด เป็นชาวพื้นเมืองในชมพูทวีป ?     
        ก. มิลักขะ        ข. อริยกะ    
        ค. อารยัน        ง. อินเดียแดง
๖. ชนเหล่าใดในสังคมอินเดีย ถูกเหยียดหยามมากที่สุด ?          
        ก. พราหมณ์        ข. แพศย์    
        ค. ศูทร            ง. จัณฑาล
๗. ชมพูทวีปในปัจจุบัน ได้แก่ประเทศอะไรบ้าง ?     
        ก. อินเดีย  เนปาล  ปากีสถาน  บังคลาเทศ    
        ข. อินเดีย  ภูฏาน  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย    
        ค. อินเดีย  เนปาล  ศรีลังกา  อัฟกานิสถาน    
        ง. อินเดีย  เนปาล  จีน  อินโดนีเซีย
๘. ศาสนาพราหมณ์ มีคัมภีร์ชื่อว่าอะไร ?     
        ก. ไตรปิฎก        ข. ไตรสิกขา    
        ค. ไตรสรณะ        ง. ไตรเพท
๙. ไตรเพทเป็นคัมภีร์ของศาสนาใด ?     
        ก. ศาสนาพุทธ        ข. ศาสนาพราหมณ์    
        ค. ศาสนาเชน        ง. ศาสนาซิกซ์
๑๐. พวกพลเรือนที่มีอาชีพทำนา ค้าขาย จัดอยู่ในวรรณะใด ?     
        ก. กษัตริย์        ข. พราหมณ์    
        ค. แพศย์        ง. ศูทร
๑๑. คำว่า ”มัธยมประเทศและปัจจันตประเทศ” หมายความว่าอย่างไร ?     
        ก. ประเทศที่มีเอกราชและไม่มีเอกราช    
        ข. จังหวัดส่วนกลางและจังหวัดรอบนอก    
        ค. จังหวัดที่มีความเจริญและไม่มีความเจริญ    
        ง. ทั้งสองเป็นจังหวัดเดียวกัน
๑๒. ในวรรณะทั้ง ๔ วรรณะใดถือตนว่าสูงที่สุด ?    
        ก. กษัตริย์ - ศูทร    ข. พราหมณ์ - แพศย์    
        ค. แพศย์ - กษัตริย์    ง. กษัตริย์ - พราหมณ์ เฉลย    ๑. ก    ๒. ง    ๓. ก    ๔. ข    ๕. ก    ๖. ง    ๗. ก    ๘. ง    ๙. ข    ๑๐. ค    ๑๑. ข    ๑๒. ง

 

ปริเฉทที่  ๒  สักกชนบทและศากยวงศ์

สักกชนบท     

        ตั้งอยู่ตรงข้ามภูเขาหิมพานต์   ตอนเหนือของชมพูทวีป  เหตุที่ชื่อว่า สักกชนบท เพราะถือตามภูมิประเทศเดิมเป็นดงไม้สักกะ

เมืองกบิลพัสดุ์   

        มีเรื่องเล่าโดยย่อว่า  พระเจ้าโอกกากราชมีพระราชโอรส ๔ และพระราชธิดา ๕ พระองค์  เมื่อพระมเหสีทิวงคต  พระองค์มีพระมเหสีใหม่ได้ประสูติพระราชโอรส ๑ พระองค์ ทรงเป็นที่โปรด ปรานอย่างยิ่งจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้พร  พระนางได้ตรัสขอราชสมบัติ  ให้แก่พระโอรสของตน  ทรงตรัสห้ามหลายครั้งก็ยังทูลขออยู่อย่างนั้น  จึงยอมพระราชทานราชสมบัติให้ตามคำขอของพระนาง  ครั้นจะไม่พระราชทานให้ก็กลัวจะเสียสัตย์  ตรัสเรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๙ พระองค์มาเข้าเฝ้า ตรัสเล่าความจริงให้ทราบและให้ไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้วให้กลับมายึดราชสมบัติคืน ดังนั้นทั้ง ๙ พระองค์ไปสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ดงไม้สักกะ  พบกับกบิลดาบสตรัสเล่าความประสงค์ของตนให้ทราบ  พระดาบส ได้แนะนำให้สร้างเมืองตรงที่อยู่ของตน และบอกว่าสถานที่นี้เป็นที่มงคล  เมืองนี้จะมีชื่อเสียงต่อไปในภายภาคหน้า  เมืองใหม่ได้ชื่อว่า กบิลพัสดุ์ เพราะว่าเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส

ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์    

        พระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อสร้างเมืองใหม่เสร็จแล้ว  พี่น้องจึงอภิเษกสมรสกันเอง เพราะกลัวว่าชาติตระกูลของตัวเองจะไม่บริสุทธิ์ เว้นไว้แต่พระเชษฐภคินี(พี่สาวคนโต) ยกไว้ในฐานะพระราชมารดา กษัตริย์วงศ์นี้จึงได้ชื่อว่า  ศากยวงศ์       
        ศากยวงศ์ ได้พระนามนี้ เพราะสาเหตุ  ๓ ประการ คือ    
        ๑.  เพราะตั้งตามอาณาจักรหรือชนบท คือ สักกชนบท    
        ๒. เพราะตั้งตามความสามารถของพระโอรสโดยลำพัง   ปกครองประเทศได้รุ่งเรืองจนพระบิดาตรัสชมว่าเป็นผู้องอาจ     
        ๓. เพราะกษัตริย์วงศ์นี้ทรงอภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้องที่เรียกกันว่า สกสกสังวาส    
        ส่วนพระเชษฐภคินีภายหลังมีจิตปฏิพัทธ์กับพระเจ้ากรุงเทว- ทหะจึงได้อภิเษกสมรสด้วยกัน ตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่กษัตริย์วงศ์นี้ชื่อว่า โกลิยวงศ์      
        กษัตริย์ศากยะได้สืบราชสมบัติมาถึงพระเจ้าชัยเสนะ  ทรงมี พระราชโอรสและพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าสีหหนุและพระนางยโสธรา  ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ครองราชสมบัติ  ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางกัญจนาน้องสาวของพระเจ้าอัญชนะ  กรุง-เทวทหะ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๗ พระองค์ พระราชโอรส ๕  พระองค์ คือ สุทโธทนะ  สุกโกทนะ  อมิโตทนะ  โธโตทนะ  ฆนิโตทนะ พระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ ปมิตาและอมิตา    
        ส่วนพระนางยโสธราน้องสาวของพระเจ้าสีหหนุได้อภิเษก สมรสกับพระเจ้าอัญชนะกรุงเทวทหะ มีพระราชโอรสและพระราช- ธิดา ๔ พระองค์ พระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ สุปปพุทธะและทัณฑปาณิ  พระราชธิดา ๒  พระองค์ คือ มายาและปชาบดีโคตมี    
        เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเจริญวัย  ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ เมืองเทวทหะ  มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ  และเจ้าชายสิทธัตถะได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา  ซึ่งเป็นพระราช- ธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะกับพระนางอมิตา เมืองเทวทหะ มีพระราชโอรส ๑ พระองค์ ชื่อว่า พระราหุล  สักกชนบท  แบ่งออกเป็น  ๓  นคร    
        ๑. พระนครเดิมของพระเจ้าโอกกากราช    
        ๒. พระนครกบิลพัสดุ์    
        ๓. พระนครเทวทหะ

การปกครอง    

        การปกครองนครเหล่านี้ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน แต่สันนิษฐานตามประเพณี ปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งได้มีอำนาจสิทธิ์ขาด

พระโคตรของศากยวงศ์    

        เรียกว่า “โคตรมะ” แต่บางครั้งก็เรียกว่า “อาทิตยโคตร” (ครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระเจ้าพิมพิสารขณะเสด็จไปเมืองราชคฤห์ เมื่อออกบวชใหม่ๆ)

พระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า    

        พระเจ้าชัยเสนะ                ทวด        พระไปยกา    
        พระเจ้าสีหหนุ                  ปู่        พระอัยกา    
        พระนางกัญจนา                ย่า        พระอัยยิกา    
        พระเจ้าอัญชนะ                ตา        พระอัยกา    
        พระนางยโสธรา                ยาย        พระอัยยิกา    
        พระเจ้าสุปปพุทธะ             ลุง        พระมาตุลา    
        พระนางอมิตา                  ป้า        พระปิตุจฉา    
        พระนางปชาบดี               น้า        พระมาตุจฉา    
        พระเจ้าสุทโธทนะ             พ่อ        พระชนก    
        พระนางสิริมหามายา          แม่        พระชนนี    
        พระนันทกุมาร                 น้องชาย    พระอนุชา    
        พระนางรูปนันทา              น้องสาว    พระขนิษฐภคินี    
        พระนางยโสธรา(พิมพา)      ภรรยา       พระชายา    
        พระราหุล                       ลูก        พระโอรส

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ  

๑. กษัตริย์พระองค์ใดเป็นผู้สร้างเมืองกบิลพัสดุ์ ?           
        ก. พระเจ้าโอกกากราช        
        ข. พระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช    
        ค. พระเจ้าสีหหนุ              
        ง. พระเจ้าสุทโธทนะ
๒. กษัตริย์พระองค์ใดเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ?     
        ก. พระเจ้าสุทโธทนะ    ข. พระเจ้าสุกโกทนะ    
        ค. พระเจ้าอัญชนะ    ง. พระเจ้าโธโตทนะ
๓. พระโพธิสัตว์ก่อนเสด็จมาอุบัติในมนุษย์โลกนี้  อยู่สวรรค์ชั้นไหน ?     
        ก. ดุสิต        ข. ยามา    
        ค. ดาวดึงส์        ง. นิมมานรดี
๔. พระพุทธบิดา พระนามว่าอะไร ?     
        ก. สุทโธทนะ        ข. โธโตทนะ    
        ค. อมิโตทนะ        ง. สุกโกทนะ
๕. สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะปัจจุบันคือประเทศใด ?     
        ก. เนปาล           ข. ปากีสถาน           
        ค. ศรีลังกา           ง. อินเดีย
๖. กษัตริย์พระองค์ใดเป็นต้นศากยวงศ์ ?     
        ก. พระเจ้าโอกกากราช         ข. พระเจ้าอโศกมหาราช    
        ค. พระเจ้าชัยเสนะ        ง. พระเจ้าสีหหนุ
๗. กษัตริย์พระองค์ใดเป็นพระอัยกา (ปู่) ของพระพุทธเจ้า ?            
        ก. พระเจ้าโอกกากราช    ข. พระเจ้าอัญชนะ    
        ค. พระเจ้าสีหหนุ        ง. พระเจ้าชัยเสนะ
๘. พระราชมารดา  มีพระนามว่าอะไร ?    
        ก. พระนางกัญจนา        ข. พระนางอมิตา    
        ค. พระนางปชาบดี        ง. พระนางสิริมหามายา
๙. พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชโอรสของใคร ?    
        ก. พระเจ้าชัยเสนะ        ข. พระเจ้าสีหหนุ    
        ค. พระเจ้าอัญชนะ        ง. พระเจ้าสุปปพุทธะ เฉลย      ๑. ข    ๒. ก    ๓. ก    ๔. ก    ๕. ก    ๖. ก     ๗. ค    ๘. ง    ๙. ข.

 

ปริเฉทที่  ๓  พระศาสดาประสูติ

 
ตำราลักษณะมหาบุรุษ    

        มีก่อนพุทธศักราชประมาณ ๑,๐๐๐ ปี พราหมณ์และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ได้บันทึกไว้โดยมีความเห็นตรงกันว่า   บุคคลที่เกิดมามีลักษณะครบ  ๓๒  ประการ  มีคติเป็น  ๒ ประการคือ     
        ๑.  ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ    
        ๒. ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก

วันปฏิสนธิ      

        พระโพธิสัตว์เมื่อได้รับคำอาราธนาของเทวดาก็จุติจากสวรรค์ ชั้นดุสิต  ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา   ตรงกับ วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน ๘  ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี กับอีก ๑๐ เดือน 

วันประสูติ      

        พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน ได้ทูลลา พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปเยี่ยมสกุลของพระองค์ที่เมืองเทวทหะและตามประเพณีที่จะต้องกลับไปคลอดที่บ้านของตนเอง  เมื่อพระนางเสด็จถึงสวนลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะได้เสด็จประพาสพระอุทยาน  เกิดประชวรพระครรภ์ จะประสูติ  อำมาตย์จัดที่ถวายใต้ต้นสาละ  พระนางประทับยืน พระหัตถ์จับกิ่งสาละ  ประสูติพระราชโอรสเมื่อเวลาสายใกล้เที่ยง ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี) พระราชโอรสเสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวทิพย์ผุดขึ้นรองรับและทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุดของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้วŽ

สหชาติทั้ง ๗      

        วันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติมีบุคคลและสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม กับพระองค์ ๗ ประการ คือ    
        ๑. พระนางพิมพา        ๒. พระอานนท์    
        ๓. ฉันนะอำมาตย์        ๔. กาฬุทายีอำมาตย์        
        ๕. ม้ากัณฐกะ            ๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์    
        ๗. ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ สังขนิธิ, เอลนิธิ, อุบลนิธิ, บุญฑริกนิธิ

อภินิหาร  ๗  ประการ  

        ๑. ปฏิสนธิในพระครรภ์  พระมารดาสุบินนิมิตเห็นพญาช้างเผือก    
        ๒. นั่งขัดสมาธิในครรภ์พระมารดาแลเห็นถนัด  เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาทรงประทับยืน    
        ๓. ขณะประสูติมีเทวดามาคอยรับ    
        ๔. มีท่อน้ำร้อน    
        ๕. มีท่อน้ำเย็น    
        ๖. ทรงดำเนินได้  ๗  ก้าว    
        ๗. เมื่อทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว  ทรงหยุดเพียงเท่านี้แล้วเปล่งอาสภิวาจา

พระชนมายุได้ ๓ วัน    

        อสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบสผู้คุ้นเคยและเป็นที่นับถือของราชสำนักเข้าเยี่ยม   พระเจ้าสุทโธทนะทรงอุ้มพระโอรสมาเพื่อนมัสการพระดาบส  ปรากฏว่าอสิตดาบสเป็นฝ่ายกราบไหว้พระบาทพระโอรส  และทำนายลักษณะของพระโอรสว่ามีคติเป็น ๒ ตามตำรามหาปุริสลักษณะ  แต่ตัวท่านเชื่อมั่นว่าพระโอรสจะเสด็จออกผนวช  ได้พิจารณาอายุของตัวเองเห็นว่ามีชีวิตอยู่ไม่ถึงเวลาที่พระโอรสตรัสรู้  จึงให้นาลกะผู้เป็นหลานออกบวชรอ  และอีกเหตุการณ์ที่สำคัญ คือ  พระเจ้าสุทโธทนะทรงถวายบังคมพระโอรส ตามอสิตดาบส ครั้งที่ ๑

พระชนมายุได้ ๕ วัน    

        เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน  มาฉันภัตตาหารและเลือกเอาพราหมณ์ ๘ คน เป็นผู้ทำนายพระลักษณะ  พราหมณ์ ๗ คน ทำนาย ลักษณะของพระโอรสมีคติเป็น ๒ อย่าง แต่โกณฑัญญพราหมณ์ทำนายเป็นคติเดียว คือ เสด็จออกบรรพชาเป็นศาสดาเอกของโลก และได้ขนานพระนามเป็น ๒ คือ สิทธัตถะ แปลว่า ผู้มีความต้องการสำเร็จ และอังคีรสะ แปลว่า ผู้มีรัศมีสวยงาม  แต่นิยมเรียกว่า โคตมะ เพราะเป็นโคตรของพระองค์

พระชนมายุได้ ๗ วัน    

        พระมารดาสิ้นพระชนม์หลังประสูติพระราชโอรสได้ ๗ วัน  พระราชบิดาจึงมอบให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี(พระน้านาง) เป็นผู้เลี้ยงดู  ต่อมาพระนางมหาปชาบดีโคตมีประสูติพระโอรสและพระธิดา ๒ พระองค์ คือ พระนันทะและพระนางรูปนันทา

พระชนมายุได้ ๗ ปี  

        พระราชบิดาให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ  คือ   ๑.สระปทุม (บัวหลวง)  ๒.สระบุญฑริก(บัวขาว)  ๓.สระอุบล(บัวขาบ) และได้นำเครื่องทรงมีผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ พระภูษา เป็นต้น อย่างประณีตจากแคว้นกาสีมาถวาย และส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักของท่านราชครูวิศวามิตร     พระโอรสได้ปฐมฌานที่ใต้ต้นหว้า(ชมพูพฤกษ์) ในงานวัปปมงคลแรกนาขวัญ  คือเมื่ออยู่พระองค์เดียวได้นั่งขัดสมาธิ  ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายแต่เงาของต้นหว้าไม่คล้อยไปตามดวงอาทิตย์  พระบิดาเห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ทรงถวายบังคมพระโอรสเป็นครั้งที่ ๒  เพราะศรัทธาในความอัศจรรย์นั้น

พระชนมายุได้ ๑๖ ปี      

        พระราชบิดาสร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับเป็นที่ประทับใน ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว และได้ทูลขอพระนางยโสธราหรือพิมพา  ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะและพระนาง อมิตามาอภิเษกสมรสเป็นพระชายา  มีนางสนม ๔๐,๐๐๐ นาง คอยดูแลความสะดวกสบายต่างๆ จนถึงพระชนมายุ ๒๙ ปี

พระชนมายุได้ ๒๙  ปี    

        วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน  ขณะนั้นพระเจ้าสุทโธทนะส่งอำมาตย์ไปกราบทูลให้ทราบว่า  พระนางพิมพาประสูติพระโอรส  และทันทีที่ทรงทราบข่าว  ทรงเปล่งอุทาน ว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ แปลว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้ว เครื่องพันธนาการเกิดขึ้นแล้ว พระราชโอรสจึงได้ชื่อว่า ราหุล

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. สวนลุมพินีวันปัจจุบันอยู่ในประเทศใด ?     
        ก. ศรีลังกา        ข. อินเดีย    
        ค. เนปาล        ง. ปากีสถาน
๒. วันใดเป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ?     
        ก. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี    
        ข. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี     
        ค. วันขึ้น ๘   ค่ำ เดือน ๖ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี    
        ง. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี
๓. พระนามว่า ”สิทธัตถะ” มีความหมายว่าอย่างไร ?    
        ก. ผู้มีพระรูปงาม         ข. ผู้มีวาสนาบารมี    
        ค. ผู้มีความต้องการสำเร็จ      ง. ผู้มีศักดิ์ใหญ่
๔. เมื่อพระนางสิริมหามายาทิวงคตแล้ว ใครเป็นผู้ดูแลพระกุมาร ?     
        ก. พระนางปชาบดี          ข. พระนางกาญจนา    
        ค. พระนางรูปนันทา          ง. พระนางอมิตา
๕. ใครเป็นครูคนแรกของเจ้าชายสิทธัตถะ ?     
        ก. อสิตดาบส              ข. อุทกดาบส    
        ค. โกณฑัญญะ          ง. วิศวามิตร
๖. หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ?     
        ก. ขนานพระนาม          ข. มารดาสิ้นพระชนม์    
        ค. อสิตดาบสมาเยี่ยม          ง. ทำนายพระลักษณะ
๗. ดาบสที่ทำนายลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะเป็น ๒ อย่างชื่อว่าอะไร ?     
        ก. อสิตดาบส          ข. อาฬารดาบส    
        ค. อุทกดาบส          ง. กบิลดาบส
๘. เจ้าชายสิทธัตถะได้ปฐมฌานครั้งแรกในขณะที่พระราชบิดาทรงพาไปร่วมพิธีอะไร ?     
        ก. พิธีมงคลสมรส      ข. พิธีโสกันต์    
        ค. พิธีแรกนาขวัญ      ง. พิธีเกี่ยวข้าว
๙. เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพระองค์ใด ?     
        ก. พระนางมัลลิกา      ข. พระนางพิมพา    
        ค. พระนางโรหิณี      ง. พระนางรูปนันทา
๑๐. เมื่อพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ พระมารดาทรงสุบินว่าอย่างไร ?     
        ก. เทวดามาเกิด    
        ข. พญาช้างเผือกชูดอกบัวมอบให้    
        ค. พราหมณ์นำขันเงินมามอบให้    
        ง. ได้เพชรเม็ดงามในมหาสมุทร
๑๑. อาสภิวาจา เจ้าชายสิทธัตถะตรัสในวันใด ?     
        ก. วันแสดงธรรมครั้งแรก    ข. วันปรินิพพาน    
        ค. วันประสูติ            ง. วันปลงอายุสังขาร
๑๒. ใครเป็นผู้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนแรก ?     
        ก. อาฬารดาบส        ข. อุทกดาบส    
        ค. โกณฑัญญพราหมณ์    ง. อสิตดาบส
๑๓. เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ณ ที่ไหน ?     
        ก. สวนเวฬุวัน            ข. สวนลุมพินีวัน    
        ค. สวนอัมพวัน        ง. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
๑๔. ลักษณะของพระมหาบุรุษ ใครเป็นผู้ทำนายคนแรก ?     
        ก. อุทกดาบส            ข. อาฬารดาบส    
        ค. โกณฑัญญพราหมณ์    ง. อสิตดาบส
๑๕. พระนางสิริมหามายาทิวงคต เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ กี่วัน ?     
        ก. ๓ วัน            ข. ๕ วัน    
        ค. ๗ วัน            ง. ๑๕ วัน
๑๖. เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุปฐมฌานครั้งแรกที่ไหน ?    
        ก. ใต้ต้นโพธิพฤกษ์        ข. ใต้ต้นไทร    
        ค. ใต้ต้นชมพูพฤกษ์        ง. ใต้ต้นจิก
๑๗. เจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะจุติมายังโลกนี้ เดิมประทับอยู่ใน สวรรค์ชั้นใด ?      
        ก. จาตุมหาราช        ข. ยามา    
        ค. ดุสิต            ง. ดาวดึงส์
๑๘. เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๓ วัน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ?    
        ก. พระบิดาทรงไหว้พระโอรสครั้งแรก    
        ข. อสิตดาบสเข้าเยี่ยม    
        ค. กาฬเทวิลดาบสทำนายลักษณะ    
        ง. ถูกทุกข้อ
๑๙. พระนางพิมพาเป็นพระธิดาของใคร ?    
        ก. พระเจ้าสุทโธทนะ          ข. พระเจ้าชัยเสนะ    
        ค. พระเจ้าสุปปพุทธะ          ง. พระเจ้าสีหหนุ เฉลย  ๑. ค    ๒. ข    ๓. ค    ๔. ก    ๕. ง    ๖. ข    ๗. ก    ๘. ค    ๙. ข    ๑๐. ข    ๑๑. ค    ๑๒. ง    ๑๓. ข    ๑๔. ง    ๑๕. ค     ๑๖. ค    ๑๗. ค    ๑๘. ง    ๑๙. ค  

 

ปริเฉทที่  ๔  เสด็จออกบรรพชาเสด็จ

ออกบรรพชา

        เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี สาเหตุที่เสด็จออกบรรพชามี ๒ อย่าง คือ        
        ๑. ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตายที่ครอบงำ มนุษย์ทุกคน แม้เราเองก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน  ควรที่จะแสวง หาทางหลุดพ้น ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ ได้คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต ทรงมีพระหฤทัยน้อมไปในบรรพชา    
        ๒. เสด็จประพาสราชอุทยาน ๔ วาระ ทรงทอดพระเนตรเห็น เทวทูต ๔ มี คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ที่เทวดาเนรมิตไว้ในระหว่างทาง ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๓ ข้างต้น ที่พระองค์ไม่เคยเห็นมาก่อน  เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชพระหฤทัยยิ่งนัก ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะซึ่งมีอาการสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใส ทรงพอพระหฤทัยในการบรรพชาออกบรรพชา (มหาภิเนษกรมณ์)    
        เมื่อเสด็จกลับจากการประพาสอุทยาน ทรงเข้าที่บรรทมไม่ยินดีด้วยการประโคมดนตรีต่างๆ ที่นางสนมขับกล่อม ทรงตื่นจาก บรรทมกลางดึก ได้ทอดพระเนตรเห็นนางสนมนอนหลับมีอาการต่างๆ เช่น บางคนนอนน้ำลายไหล กัดฟัน ละเมอ เป็นต้น ปรากฏแก่พระองค์เหมือนซากศพในป่าช้า  มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา ยิ่งนัก ตรัสเรียกนายฉันนะให้นำม้ากัณฐกะมา จากนั้นได้เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพาและพระราชโอรส มีพระประสงค์จะอุ้มพระราชโอรสก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นจากบรรทม  จึงตัดพระทัยเสด็จออกจากห้องบรรทม     
        จากนั้นทรงม้ากัณฐกะมีนายฉันนะตามเสด็จไปถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา แคว้นมัลละระยะทาง ๓๐ โยชน์ ทรงอธิษฐานเพศบรรพชิตในที่นั้น ทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาด้วยพระองค์เอง  เอาพระภูษาห่อพระเกศาอธิษฐานแล้วโยนขึ้นในอากาศ พระเกศาลอยอยู่ในอากาศ ๑ โยชน์ ท้าวสักกะเอาผอบแก้วมารองรับพระเกศา  นำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

บริขาร  ๘    

        ฆฏิการพรหมซึ่งเป็นเพื่อนกันมากับพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ  ได้น้อมถวาย ผ้ากาสาวพัสตร์และบริขารของนักบวช มี ๘ อย่าง คือ  สบง จีวร  สังฆาฏิ  ประคตเอว  บาตร  มีดโกน  เข็ม ธมกรก (ที่กรองน้ำ)

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. ข้อใดไม่จัดเข้าในเทวทูต ๔ ?     
        ก. คนเกิด        ข. คนแก่    
        ค. คนเจ็บ        ง. คนตาย
๒. เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกผนวชเมื่อพระชนมายุเท่าไร ?     
        ก. ๑๖ ปี        ข. ๒๕ ปี    
        ค. ๒๖ ปี        ง. ๒๙  ปี
๓. การเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะเรียกว่าอะไร ?     
        ก. มหาภิเนษกรมณ์    ข. มหาอธิษฐาน    
        ค. มหาทานบารมี    ง. มหาทาน
๔. เจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชด้วยวิธีใด ?     
        ก. เอหิภิกขุ        ข. ไตรสรณคมน์    
        ค. อธิษฐานเพศ    ง. ญัตติจตุตถกรรม
๕. เจ้าชายสิทธัตถะทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตที่ใด ?    
        ก. ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา     ข. ริมฝั่งแม่น้ำคงคา    
        ค. ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา        ง. ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา
๖. ใครเป็นผู้ถวายเครื่องบริขารแด่เจ้าชายสิทธัตถะ ?    
        ก. สหัมบดีพรหม        ข. พระอินทร์    
        ค. ฆฏิการพรหม        ง. นายฉันนะ
๗. เทวทูต ๔ อันเป็นมูลเหตุในการเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะได้แก่อะไรบ้าง ?       
        ก.  คนเกิด,  คนแก่,  คนเจ็บ,  คนตาย      
        ข.  คนแก่,  คนเจ็บ,  คนตาย,  สมณะ      
        ค.  คนแก่,  คนเจ็บ,  คนตาย,  ความทุกข์      
        ง.  คนแก่,  คนเจ็บ,  คนตาย,  ความสุข เฉลย    ๑. ก    ๒. ง    ๓. ก    ๔. ค    ๕. ง    ๖. ค    ๗. ข   

Leave a comment

You are commenting as guest.


45613786
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
5070
40295
45365
45235495
272838
1019588
45613786

Your IP: 35.171.164.77
2024-10-07 03:22
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search