พระมหากัจจายนะ ชื่อเดิมว่า กัญจนะ คนทั้งหลายเรียกชื่อท่านตามโคตรว่า กัจจายนะ และท่านมีผิวกายเหมือนทองคำ บิดามารดาเลยตั้งชื่อให้ว่า กัญจนะ บิดาชื่อว่า วัจฉพราหมณ์ มารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่เมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ตระกูลกัจจายนโคตร ศึกษาจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจันฑปัชโชต เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วก็ได้รับตำแหน่งเป็นปุโรหิตแทน
พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงทราบข่าวการอุบัติขึ้นของพระพุทธองค์ จึงมอบหมายให้กัจจายนปุโรหิต พร้อมกับผู้ติดตามอีก ๗ คน ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับผู้ติดตามอีก ๗ คน จึงทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
วันหนึ่งท่านกราบอาราธนาพระพุทธองค์ เสด็จไปโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชต ที่เมืองอุชเชนี พระพุทธองค์มอบหมายให้ท่านและพระภิกษุอีก ๗ องค์ไปแทน เมื่อถึงเมืองอุชเชนีแล้วได้แสดงธรรมโปรดพระราชาและบริวารให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ท่านและคณะประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นอวันตีได้สำเร็จ
ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรฆระ แคว้นอวันตี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนมีประชาชนเลื่อมใสมาก อุบาสกหนึ่งชื่อ โสณกุฏิกัณณะ มีความปรารถนาจะบวชมีพระไม่ครบ ๑๐ รูปตามที่ทรงอนุญาต บวชเป็นสามเณร ๓ ปี จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วอยากจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระมหากัจจายนะจึงฝากความไปทูลพระพุทธองค์เพื่อแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ คือ
๑.การบวชในปัจจันตชนบท มีพระสงฆ์ครบ ๕ รูป ก็บวชพระได้
๒.พระที่อยู่ในปัจจันตชนบท อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้นได้
๓.พระที่อยู่ในปัจจันตชนบท อนุญาตให้นั่งบนอาสนะหนังสัตว์ได้
๔.พระที่อยู่ในปัจจันตชนบท อนุญาตให้สรงน้ำทุกวันได้
๕.พระที่อยู่ในปัจจันตชนบท รับจีวรที่ทายกปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันได้
พระมหากัจจายนะได้แสดงมธุรสูตร คือ พระสูตรที่กล่าวถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร แก่พระเจ้ามธุรราช ครั้นฟังจบแล้วทรงเลื่อมใสขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
พระมหากัจจายนะ แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ คือ
๑.อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
๒.ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษา
๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ
พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร”
หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้ปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติโดยเคร่งครัด เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้วก็นิพพาน
พระโมฆราช เดิมชื่อว่า โมฆราช บิดามารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะกษัตริย์ เป็นชาวแคว้นโกศล เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ได้รับทุกข์ทรมานมาก แม้จะเป็นคนใหญ่โต และมีสมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า โมฆราช แปลว่า พระราชาผู้หาความสุขไม่ได้ จึงออกบวชเป็นฤๅษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ระหว่างแดนเมืองอัสสกะกับเมืองอาฬกะต่อกัน พราหมณ์พาวรีมีศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน และมีศิษย์ผู้ใหญ่อยู่ ๑๖ คน แต่ละคนมีบริวาร ๑,๐๐๐ คน โมฆราชเป็นหนึ่งในศิษย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น
พราหมณ์พาวรีทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ปฏิญานตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ใคร่จะสอบสวนหาความจริง จึงเรียกศิษย์ทั้ง ๑๖ คน มีอชิตะเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ส่งไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ เพื่อทูลถามปัญหา โมฆราชทูลถามปัญหาคนที่ ๑๕ ว่า”ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น คือจะตามไม่ทัน” ทรงตรัสแก้ว่า “เธอจงเป็นผู้มีสติอยู่ทุกขณะ พิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นที่ยึดว่าเป็นตนเสีย แล้วจะพ้นจากความตายด้วยอาการอย่างไร” เมื่อพระพุทธองค์ทรงแก้ปัญหาของพวกเขาจบ ๑๕ คน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ส่วนปิงคิยะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะจิตไม่เป็นสมาธิแน่วแน่
โมฆาชและเพื่อนอีก ๑๕ คน ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากบวชแล้ว ท่านเป็นผู้ยินดีในการครองจีวรเศร้าหมอง ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง”
พระโมฆราชเป็นพระสาวกที่สำคัญอีกองค์หนึ่งช่วยเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ ดำรงอายุสังขารพอสมควรแล้วก็ได้นิพพานในที่สุด
พระราธะ ชื่อเดิมว่า ราธะ บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง เพราะมีความยากจนพอแก่ตัวก็ถูกลูกเมียรังเกียจ ขับไล่ออกจากบ้าน ได้ไปอาศัยอยู่ที่วัดเชตวัน อุปัฏฐากพระภิกษุและสามเณร ปัด กวาด เช็ดถูเสนาสนะเป็นอย่างดี จนเป็นที่รักของพระภิกษุและสามเณร
วันหนึ่งราธะอยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ ท่านเสียใจจนร่างกายซูบผอม ผิวพรรณเศร้าหมอง พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดตรัสถามถึงความเป็นอยู่ของราธะ ครั้นได้ทราบความจริงแล้วตรัสรับสั่งให้ประชุมพระภิกษุ ทรงตรัสถามท่ามกลางที่ประชุมว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ พราหมณ์นี้เคยถวายข้าวข้าพระองค์หนึ่งทัพพี ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธะ พระสารีบุตรได้บวชให้ราธะด้วยวิธี ญัตติจตุตถกรรมวาจา ซึ่งพระราธะเป็นคนแรกที่บวชด้วยวิธีนี้ ในปัจจุบันนี้พระภิกษุทุกรูปก็บวชด้วยวิธีนี้
หลังจากบวชแล้ว พระราธะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลขอให้แสดงธรรมย่อ ๆ พอเกิดกำลังใจในการบำเพ็ญเพียร ทรงตรัสว่า “ราธะ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นมาร เธอจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจรักใคร่ในขันธ์ ๕ นั้นเสีย” ท่านรับโอวาทแล้วจาริกไปกับพระสารีบุตร ปฏิบัติตามพระโอวาทนั้นเป็นอย่างดี ต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระราธะเป็นพระที่บวชเมื่อแก่แต่เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ทำให้พระพุทธองค์และพระอุปัชฌาย์เป็นต้น มีความเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ จึงทำให้ท่านมีปัญญาแจ่มแจ้งในเทศนา เพราะได้ฟังธรรมะบ่อย ๆ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปฏิภาณ คือ ฌานแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา”
พระราธะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้วก็ได้นิพพานในที่สุด
พระปุณณมันตานีบุตร ชื่อเดิมว่า ปุณณะ บิดาไม่ปรากฏชื่อ มารดาชื่อว่า นางมันตานี เกิดในวรรณะพราหมณ์ หมู่บ้านโทณวัตถุ ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ มารดาของท่านเป็นน้องสาวของพระอัญญาโกณฑัญญะ คนส่วนมากเรียกท่านว่า ปุณณมันตานีบุตร เพราะว่าเป็นบุตรของนางมันตานี
พระปุณณมันตานีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา โดยการชักชวนของพระอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นหลวงลุงของท่าน มีหลวงลุงเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของหลวงลุงไม่นาน ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ครั้นบวชแล้วท่านกลับไปเมืองกบิลพัสดุ์ สั่งสอนประชาชนจนเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และที่ออกบวชก็เป็นจำนวนมาก โดยมีท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ พวกลูกศิษย์ของท่านล้วนยึดมั่นปฏิบัติในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
๑.อัปปิจฉกถา ถ้อยคำเรื่องความมักน้อย
๒.สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำเรื่องความสันโดษ
๓.ปวิเวกกถา ถ้อยคำเรื่องความสงัด
๔.อสังสัคคกถา ถ้อยคำเรื่องความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕.วิริยารัมภกถา ถ้อยคำเรื่องการปรารภความเพียร
๖.สีลกถา ถ้อยคำเรื่องศีล
๗.สมาธิกถา ถ้อยคำเรื่องสมาธิ
๘.ปัญญากถา ถ้อยคำเรื่องปัญญา
๙.วิมุตติกถา ถ้อยคำเรื่องความหลุดพ้น
๑๐.วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำเรื่องความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น
และเมื่อครั้งที่พระอานนท์บวชใหม่ ๆ ท่านสอนพระอานนท์เรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ทำให้พระอานนท์บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
พระสารีบุตรได้ฟังพระลูกศิษย์ของพระปุณณมันตานีบุตร พูดถึงคุณธรรม ๑๐ ประการของพระอุปัชฌาย์ จึงอยากสนทนาธรรมด้วย เมื่อได้พบแล้วสนทนากันเรื่องวิสุทธิ ๗ ประการ ท่านอุปมาวิสุทธิ ๗ เหมือนรถ ๗ ผลัด รับส่งมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ต่างก็ยินดีต่อธรรมภาษิตของกันและกัน
พระปุณณมันตานีบุตร มีวาทะในการแสดงธรรมอันลึกซึ้งด้วยอุปมาอุปมัย และดำรงมั่นอยู่ในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพระธรรมกถึก”
พระปุณณมันตานีบุตร เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุขัยพอสมควารแก่อัตภาพแล้วก็ได้นิพพานในที่สุด
พระกาฬุทายี ชื่อเดิมว่า อุทายี บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ บิดาเป็นอำมาตย์รับราชการ ท่านเกิดในวันที่ชาวเมืองทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน จึงได้ชื่อว่า อุทายี แต่เพราะท่านมีผิวค่อนข้างดำ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี เกิดในวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ เติบโตมาพร้อมกัน และต่อมาได้รับราชการเป็นอำมาตย์ของเมืองกบิลพัสดุ์
ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแล้วได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน ไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์ เสด็จมายังเมืองกบิลพัสดุ์ อำมาตย์เหล่านั้นฟังธรรมบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วขอบวชในพระพุทธศาสนา ไม่มีใครกลับไปส่งข่าวให้พระราชาทราบเลย ทรงส่งอำมาตย์ไปอย่างนี้ถึง ๙ คณะด้วยกัน
คณะที่ ๑๐ ทรงส่งกาฬุทายีอำมาตย์ เพราะว่าเป็นผู้จงรักภักดี และมีความสนิทสนมกับพระพุทธองค์ เมื่อไปถึงวัดเวฬุวัน แคว้นมคธ ได้ฟังธรรมบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระกาฬุทายีเมื่อเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรจะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกลับเมืองกบิลพัสดุ์ จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนา ท่านล่วงหน้าไปก่อนเพื่อถวายพระพรให้พระราชาทรงทราบ พระราชาทรงต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใส พระพุทธองค์เสด็จกลับเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร เดินทางได้วันละหนึ่งโยชน์ (๑๖ กม.) เป็นเวลา ๖๐ วัน ทรงโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่นิโครธาราม
ตำแหน่งเอตคัคคะ
พระกาฬุทายี แสดงธรรมโปรดพระราชาและข้าราชบริพาร ตลอดถึงตระกูลต่าง ๆที่เมืองกบิลพัสดุ์ ให้เกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังตระกูลให้เลื่อมใส”
พระกาฬุทายี เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุขัยพอสมควรแก่อัตภาพแล้วก็ได้นิพพานในที่สุด
๑.พระเถระรูปใด สามารถอธิบายความย่อให้พิศดาร ?
ก.พระปุณณมันตานีบุตร ข.พระมหากัจจายนะ
ค.พระโสณโกฬิวิสะ ง.พระโสณกุฏิกัณณะ
๒.ธรรมที่พระมหากัจจายนะแสดงว่า ทำให้คนทุกวรรณะเข้าถึงสวรรค์ได้ คือข้อใด ?
ก.กุศลกรรมบถ ข.บำเพ็ญตบะ
ค.เห็นสังขารตามเป็นจริง ง.บูชายัญ
๓.สามเณรรูปใด ที่พระมหากัจจายนเถระบวชให้ ?
ก.สามเณรเรวตะ ข.สามเณรโสณกุฏิกัณณะ
ค.สามเณรบัณฑิต ง.สามเณรสังกิจจะ
๔.ใครแสดงว่า วรรณะ ๔ เสมอกันด้วยกรรมคือการกระทำ ?
ก.พระมหากัสสปะ ข.พระมหากัจจายนะ
ค.พระโมคคัลลานะ ง.พระมหาปันถก
๕.พระมหากัจจายนะ ก่อนอุปสมบทท่านมีตำแหน่งอะไร ?
ก.ปุโรหิต ข.ทหารเอก
ค.อำมาตย์ ง.เจ้าลัทธิ
๖.ใครเป็นอาจารย์ของมาณพ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นต้น ?
ก.สัญชัยปริพาชก ข.พาวรีพราหมณ์
ค.วัสสการพราหมณ์ ง.พากุลพราหมณ์
๗.พระโมฆราช ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในด้านใด ?
ก.ทรงจีวรเศร้าหมอง ข.ยินดีในฌานสมาบัติ
ค.ฉลาดในเตโชกสิณ ง.ตรัสรู้ฉับพลัน
๘.ผู้ใดเคยเอาไฟเผาพื้นหอฉัน ต้องเป็นโรคเรื้อนถึง ๕๐๐ ชาติ ?
ก.พระโมฆราช ข.พระอชิตะ
ค.พระปิงคิยะ ง.พระเมตตคู
๙. “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจะไม่แลเห็น” ใครทูลถาม ?
ก.พระอชิตะ ข.พระเมตเตยยะ
ค.พระโตเทยยะ ง.พระโมฆราช
๑๐.ในมาณพ ๑๖ คน ใครได้รับเอตทัคคะว่า ทรงจีวรเศร้าหมอง ?
ก.พระโมฆราช ข.พระเมตตคู
ค.พระปุณณกะ ง.พระปิงคิยะ
๑๑. “สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย” พระศาสดาตรัสแก่ใคร ?
ก.พระราหุล ข.พระราธะ
ค.พระวักกลิ ง.พระอัสสชิ
๑๒.พระศาสดาทรงยกย่องใครว่าเป็นผู้ว่าง่าย ?
ก.พระสารีบุตร ข.พระราหุล
ค.พระราธะ ง.พระอานนท์
๑๓.ชั้นต้น พระสาวกทั้งหลายคิดอย่างไร จึงไม่ให้ราธพราหมณ์บวช ?
ก.เพราะคนแก่มักติดในลาภ ข.เพราะคนแก่เป็นภาระผู้อื่น
ค.เพราะคนแก่มักสอนยาก ง.เพราะคนแก่ปฏิบัติลำบาก
๑๔.สำนวนไทยว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” พระสาวกรูปใดไม่เป็นเช่นนั้น ?
ก.พระราหุล ข.พระราธะ
ค.พระฉันนะ ง.พระวังคีสะ
๑๕.การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา พระสารีบุตรเถระบวชให้แก่ใครเป็นรูปแรก ?
ก.พระราหุล ข.พระสีวลี
ค.พระจูฬปันถก ง.พระราธะ
๑๖.พระสารีบุตรสรรเสริญพระราธะว่าอย่างไร ?
ก.ว่าง่ายสอนง่าย ข.ใคร่การศึกษา
ค.มีปฏิภาณดี ง.สำรวมอินทรีย์
๑๗.ผู้ถวายข้าวหนึ่งทัพพีแก่พระสารีบุตร คือใคร ?
ก.นันทกุมาร ข.ราธพราหมณ์
ค.สุชาดา ง.สัญชัย
๑๘.พระปุณณมันตานีบุตรสนทนากับพระสารีบุตรว่าด้วยเรื่องอะไร ?
ก.สิกขา ๓ ข.อริยสัจ ๔
ค.วิสุทธิ ๗ ง.มรรค ๘
๑๙.พระสาวกรูปใด ตั้งอยู่ในกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ?
ก.พระมหากัสสปะ ข.พระปุณณมันตานีบุตร
ค.พระราธะ ง.พระกุมารกัสสปะ
๒๐.พระศาสดาทรงยกย่องพระสาวกรูปใดว่า ยอดพระธรรมกถึก ?
ก.พระมหากัปปินะ ข.พระปุณณมันตานีบุตร
ค.พระมหากัจจายนะ ง.พระอัญญาโกณฑัญญะ
๒๑.พระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังโอวาทจากใคร ?
ก.พระพุทธเจ้า ข.พระสารีบุตร
ค.พระปุณณมันตานีบุตร ง.พระภัททิยะ
๒๒.พระสาวกที่ตั้งอยู่ในคุณเช่นไรแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณเช่นนั้นคือใคร ?
ก.พระมหากัจจายนะ ข.พระปุณณมันตานีบุตร
ค.พระราธะ ง.พระอานนท์
๒๓.พระสาวกรูปใด เป็นสหชาติเกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ?
ก.พระกาฬุทายี ข.พระยสะ
ค.พระอุบาลี ง.พระนันทะ
๒๔.พระกาฬุทายีเถระอุปสมบทด้วยวิธีใด ?
ก.เอหิภิกขุอุปสัมปทา ข.ติสรณคมนูปสัมปทา
ค.ญัตติจตุตถกรรม ง.รับโอวาท ๓ ข้อ
๒๕.พระสาวกรูปใด สามารถยังสกุลที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสได้ ?
ก.พระโมคคัลลานะ ข.พระสารีบุตร
ค.พระอุบาลี ง.พระกาฬุทายี
เฉลย
๑.ข ๒.ก ๓.ข ๔.ข ๕.ก
๖.ข ๗.ก ๘.ก ๙.ง ๑๐.ก
๑๑.ข ๑๒.ค ๑๓.ค ๑๔.ข ๑๕.ง
๑๖.ก ๑๗.ข ๑๘.ค ๑๙.ข ๒๐.ข
๒๑.ค ๒๒.ข ๒๓.ก ๒๔.ก ๒๕.ง
พระนันทะ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติทรงขนานให้ เพราะความดีใจในวันที่พระกุมารประสูติ พระบิดาทรงพระนามว่า สุทโธทนะ พระมารดา ทรงพระนามว่า มหาปชาบดีโคตมี มีน้องสาวชื่อว่า รูปนันทา เป็นน้องชายต่างพระมารดากับพระพุทธองค์ ประสูติในพระราชวังแห่งเมืองกบิลพัสดุ์
พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ ตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายี ทรงประทับอยู่ ๗ วัน วันที่ ๓ ทรงเสด็จไปฉันภัตตาหารในพระราชวัง วันนั้นตรงกับวันที่พระนันทะ อภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ทรงมอบบาตรให้พระนันทะ ๆ ถือบาตรตามเสด็จไปถึง นิโครธาราม ตรัสถามนันทะว่า นันทะเธอจะบวชหรือ เพราะความเคารพและความเกรงใจพระพุทธองค์ จึงทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวช นันทะจึงบวชด้วยความจำใจ
พระนันทะ เมื่อบวชแล้วคิดถึงแต่นางชนบทกัลยาณี มีความเบื่อหน่ายอยากจะสึก พระพุทธองค์จับแขนพาเหาะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระหว่างทางเห็นลิงอยู่บนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ ทรงตรัสถามพระนันทะถึงนางชนบทกัลยาณีเมื่อเปรียบเทียบกับนางฟ้าแล้วเป็นอย่างไร กราบทูลว่า นางชนบทกัลยาณีของข้าพระองค์ก็ไม่ต่างอะไรกับลิงบนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ ท่านจึงเปลี่ยนใจหันมาตั้งใจปฏิบัติธรรม เพราะอยากได้นางฟ้า ในไม่ช้าก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เมื่อท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ แม้ในตำนานจะไม่ได้เล่าไว้ชัดเจนก็ตามที
พระนันทะได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อน ๆล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางฟ้า ท่านเลยตั้งใจปฏิบัติธรรมสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์”
ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาตามความสามารถ และเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สำรวมอินทรีย์ ครั้นดำรงอายุพอสมควรแก่อัตภาพแล้วก็นิพพาน
พระราหุล พระนามเดิมว่า ราหุล เป็นพระนามที่ตั้งตามอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะพระราชบิดา ที่ตรัสตอนทราบข่าวพระกุมารประสูติว่า ราหุลํ ชาตํ เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว พระบิดาทรงพระนามว่า
สิทธัตถะ พระมารดาทรงพระนามว่า ยโสธรา หรือพิมพา ประสูติในพระราชวังแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชในวันแรกที่ท่านประสูติ
พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ วันที่ ๓ พระนันทะออกบวช วันที่ ๗ พระนามพิมพาพาพระราหุลไปทอดพระเนตรพระบิดาที่กำลังเสด็จบิณฑบาต และบอกให้พระราหุลไปทูลขอสมบัติจักพรรดิ ท่านจึงตามพระพุทธองค์ไปที่นิโครธารามเพื่อขอสมบัติจักรพรรดิ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ทรัพย์สมบัติที่มั่นคงถาวรและประเสริฐกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี ฉะนั้นเราควรจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลกุมาร ทรงตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบรรพชาแก่ราหุลกุมารด้วยวิธีรับไตรสรณาคมน์ ท่านได้ชื่อว่าเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
สามเณรราหุล เมื่อบวชแล้วเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ลุกขึ้นแต่เช้าเอามือทั้งสองกอบทรายจนเต็ม แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ตนได้รับโอวาทจากพระพุทธองค์ หรือจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้ได้เท่ากับจำนวนเม็ดทรายในกำมือนี้ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา
ต่อมาท่านได้ฟังมหาราหุโลวาทสูตร มีใจความว่า ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๕ ประการ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ตัดความยึดมั่นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา และทรงสอนให้เจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท เป็นต้น ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระโอวาท ในไม่ช้าก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังท่านเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที
พระราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา”
ท่านช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนาตลอดอายุขัย สุดท้ายนิพพานที่แท่นกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก่อนพระพุทธองค์จะนิพพาน
พระอุบาลี ชื่อเดิมว่า อุบาลี เป็นลูกชายของช่างกัลบก (ช่างตัดผม) บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในเรือนช่างกัลบก ของเจ้าศากยะในเมืองกบิลพัสดุ์ ท่านได้เป็นเพื่อนรักของเจ้าชาย ๖ พระองค์ คือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต มีความจงรักภักดีต่อเจ้าชายทุกพระองค์
เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ของพวกเจ้ามัลละ พระโอรสของพวกเจ้าศากยะออกบวชเป็นจำนวนมาก พวกญาติ ๆ เห็นเจ้าศากยะ ๕ พระองค์ และเจ้าโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ พระเทวทัต ยังไม่ได้ออกบวชจึงสนทนากันว่าเหมือนไม่ใช่ญาติของพระพุทธองค์ ในที่สุดเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ จึงตัดสินพระทัยออกบวช รวมเป็น ๗ ทั้งนายอุบาลี ช่างกัลบก เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ อนุปิยอัมพวัน กราบทูลขอบวชโดยกราบทูลขอให้บวชให้นายอุบาลีก่อน ส่วนพวกตนบวชในภายหลัง ด้วยเหตุผลคือ พวกตนจะได้ทำการเคารพกราบไหว้เป็นต้นแก่อุบาลีก่อน เพื่อเป็นการลดทิฏฐิมานะของตัวเอง พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชให้ตามประสงค์ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอุบาลี ครั้นบวชแล้วเรียนกรรมฐานกับพระพุทธองค์ กราบทูลขออนุญาตไปอยู่ป่าเพื่อปฏิบัติธรรม ทรงตรัสว่า อุบาลี เมื่ออยู่ป่าธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญงอกงาม แต่เมื่ออยู่ในสำนักของเรา ทั้งวิปัสสนาธุระ (การปฏิบัติ) และคันถธุระจะบริบูรณ์ (การศึกษาเล่าเรียน) พระอุบาลีรับพระดำรัส ปฏิบัติตามพระโอวาท ในไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระพุทธองค์ทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งหมดแก่พระอุบาลี จึงมีความทรงจำและชำนาญในพระวินัยปิฎกเป็นอย่างยิ่ง ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการทำสังคายนาคือการร้อยกรองพระธรรมวินัยจัดให้เป็นหมวดหมู่ การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน คณะสงฆ์เลือกพระอุบาลีเป็นผู้ตอบพระวินัยปิฎก ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงจนถึงทุกวันนี้ และท่านเป็นผู้ตัดสินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุสงฆ์ด้วยดี
พระอุบาลีมีความทรงจำพระวินัยเป็นเลิศ มีความชำนาญในพระวินัย ท่านได้วินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าเปรียบเทียบในปัจจุบันนี้ ท่านก็เหมือนกับนักกฎหมาย พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระวินัย”
พระอุบาลีได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนาในขณะทรงพระชนม์อยู่ และหลังจากดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ช่วยเผยแผ่พระศาสนา และช่วยกันทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้นดำรงสังขารพอสมควรแก่อัตตภาพก็ได้นิพพานในที่สุด
พระภัททิยะ พระนามเดิมว่า ภัททิยะ พระบิดาไม่ปรากฏพระนาม พระมารดา ทรงพระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี เป็นพระธิดาของเจ้าศากยะในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดในวรรณะกษัตริย์ มีพระสหายสนิท ๕ พระองค์ คือ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ
เจ้าชายภัททิยะได้ครองราชย์สมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาเจ้าชายอนุรุทธะซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช จึงได้ทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติ ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พร้อมกับเจ้าชายอีก ๕ พระองค์ รวมเป็น ๗ กับนายอุบาลี ช่างกัลบก ได้ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อจะได้ทำความเคารพกราบไหว้ ทำลายทิฏฐิมานะ คือความถือตัวเพราะชาติตระกูลของเจ้าศากยะทั้งหลายมีอยู่มาก พระพุทธองค์ทรงบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เมื่อบวชแล้วไม่นานพระภัททิยะ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ปฏิบัติตามพระโอวาท ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั่นเอง
ท่านได้ช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกับพระอรหันต์องค์อื่น ๆ เมื่อท่านอยู่ตามโคนไม้ หรือ เรือนว่าง จะเปล่งอุทานอยู่เสมอว่า สุขหนอ ๆ คือท่านมีความสุขจากการบรรลุธรรม เมื่อก่อนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้จะมีการอารักขาจากทหารมากมาย ก็ยังมีความสะดุ้งหวาดกลัวต่อภัยเป็นนิตย์ ท่านบวชแล้วจึงมีความสุข จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะใด ๆ
พระภัททิยะ ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นพระราชา ได้สละราชสมบัติออกบวช จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง”
พระภัททิยะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพ ก็นิพพานในที่สุด
พระอนุรุทธะ พระนามเดิมว่า อนุรุทธะ พระบิดาทรงพระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม มีพี่น้อง ๒ องค์ คือ เจ้าชายมหานามะ และเจ้าหญิงโรหิณี ท่านเป็นผู้ที่มีบุญมาก ไม่รู้จักคำว่า ไม่มี ปรารถนาอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง
มหานามะผู้เป็นพี่ชายได้ปรารภกับอนุรุทธะว่า ในตระกูลของเรายังไม่มีใครออกบวชตามพระพุทธองค์เลย ตอนแรกตกลงให้มหานามะออกบวช และสอนเกี่ยวกับเรื่องการครองเรือนมีการทำนาเป็นต้นให้อนุรุทธะฟัง ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่าการครองเรือนยุ่งยากไม่มีที่สิ้นสุด จะออกบวชเอง ไปขออนุญาตจากพระมารดา แต่ว่าไม่ได้รับอนุญาต พระมารดาบอกว่าถ้าสามารถชวนภัททิยะออกบวชได้ก็จะให้บวช ได้ออกบวชพร้อมเจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ และเจ้าชายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ พระเทวทัต รวมเป็น ๗ กับนายอุบาลีผู้เป็นช่างกัลบก เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอนุรุทธะบวชแล้วเรียนกรรมฐานในสำนักของพระสารีบุตร ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ปาจีน วังสทายวัน แคว้นเจตี ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ข้อ คือ
๑.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
๖.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗.ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา
พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ท่านลำบากในการตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้นและตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยข้อปฏิบัติของวงศ์พระอริยเจ้า คือความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสข้อที่ ๘ ว่า ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
พระอนุรุทธะตรึกตรองตามพระโอวาท ตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความไม่ประมาท ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น
ท่านมีความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมาก โดยเฉพาะเป็นที่เคารพของพวกเทวดา มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ในวันที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพาน ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าอยู่ในที่นั้นด้วย ท่านเข้าสมาธิดูการปรินิพพานของพระพุทธองค์ทุกขณะจิต เป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษ เป็นแบบอย่างที่ดีของพระภิกษุและสามเณรทั้งหลาย
พระอนุรุทธะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยวิชชา ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจุกขุญาณ และอาสวักขยญาณ ท่านมีความเมตตาต่อสัตว์โลก พิจารณาดูสัตว์โลกด้วยทิพพจักษุเป็นประจำ พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้ทิพพจักษุญาณ”
ท่านดำรงสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ได้เข้าสู่นิพพาน ณ ภายใต้ต้นไผ่ ในหมู่บ้าน เวฬุวะ แคว้นวัชชี
๑.พระนันทเถระ ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านใด ?
ก.สำรวมอินทรีย์ ข.ถือธุดงค์
ค.เกิดในตระกูลสูง ง.มีปฏิภาณไหวพริบ
๒. “ความรักไม่มีที่สิ้นสุด” เป็นความดำริเพื่อสลัดจากทุกข์ของใคร ?
ก.พระมหากัจจายนะ ข.พระอานนท์
ค.พระนันทะ ง.พระอนุรุทธะ
๓.พระสาวกรูปใด จำต้องบวชเพราะบาตรใบเดียว ?
ก.พระอานนท์ ข.พระนันทะ
ค.พระอนุรุทธะ ง.พระภัททิยะ
๔.พระพุทธเจ้า ทรงรับประกันเพื่อให้ได้นางอัปสรแก่ใคร ?
ก.พระภัททิยะ ข.พระนันทะ
ค.พระอานนท์ ง.พระเทวทัต
๕.พระบิดาของเจ้าชายนันทะ ทรงพระนามว่าอะไร ?
ก.พระเจ้าสุทโธทนะ ข.พระเจ้าพิมพิสาร
ค.พระเจ้าสุกโกทนะ ง.พระเจ้าอมิโตทนะ
๖.พระสาวกรูปใดบวชเพราะความจำใจ ?
ก.พระราธะ ข.พระอุบาลี
ค.พระอนุรุทธะ ง.พระนันทะ
๗.พระมารดาของเจ้าชายนันทะ ทรงพระนามว่าอะไร ?
ก.พระนางอมิตา ข.พระนางมหาปชาบดีโคตมี
ค.พระนางชนบทกัลยาณี ง.พระนางอโนชาเทวี
๘.พระราหุลได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านใด ?
ก.เกิดในตระกูลสูง ข.ใคร่ต่อการศึกษา
ค.มีทิพยจักษุญาณ ง.สำรวมอินทรีย์
๙.ข้อใด เป็นปฏิปทาของพระราหุล ?
ก.ใคร่ต่อการศึกษา ข.มักน้อย สันโดษ
ค.มุ่งประกาศศาสนา ง.กตัญญูกตเวทิตา
๑๐.พระสาวกรูปใด ปรารถนาได้รับโอวาทเท่าเม็ดทรายในกำมือทุกวัน ?
ก.พระอานนท์ ข.พระจุนทะ
ค.พระราหุล ง.พระปิลินทวัจฉะ
๑๑.พระสาวกรูปใด ตอนเกิดบิดาพูดว่า บ่วงเกิดแล้ว ?
ก.พระอานนท์ ข.พระอุบาลี
ค.พระราหุล ง.พระอัสสชิ
๑๒.พระพุทธองค์ทรงดำริจะประทานอะไรแก่พระราหุลกุมาร ?
ก.ราชสมบัติ ข.โภคทรัพย์
ค.ขุมทรัพย์ ง.อริยทรัพย์
๑๓.พระราหุลออกบวช เมื่อตอนอายุกี่ปี ?
ก. ๕ ปี ข. ๖ปี
ค. ๗ ปี ง. ๘ ปี
๑๔.สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือใคร ?
ก.สามเณรราหุล ข.สามเณรเรวตะ
ค.สามเณรสังกิจจะ ง.สามเณรบัณฑิต
๑๕.ใครเป็นพระอุปัชฌาย์บวชสามเณรราหุล ?
ก.พระมหากัจจายนะ ข.พระสารีบุตร
ค.พระมหาโมคคัลลานะ ง.พระอานนท์
๑๖.พระอุบาลีก่อนบวชเคยมีตำแหน่งหน้าที่อะไร ?
ก.ปุโรหิต ข.มหาดเล็ก
ค.ช่างกัลบก ง.อำมาตย์
๑๗.ในการทำสังคายนาครั้งแรก พระอุบาลีทำหน้าที่อะไร ?
ก.เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ข.เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย
ค.เป็นผู้วิสัชนาพระสูตร ง.เป็นผู้วิสัชนาพระอภิธรรม
๑๘.พระสาวกรูปใด ได้รับเอตทัคคะด้านทรงพระวินัย ?
ก.พระอุบาลี ข.พระนันทะ
ค.พระอานนท์ ง.พระสีวลี
๑๙.ใครทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ กรณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ?
ก.พระมหากัสสปะ ข.พระอานนท์
ค.พระสารีบุตร ง.พระอุบาลี
๒๐.พระสาวกรูปใด ออกบวชเพราะเพื่อนชวน ?
ก.พระอนุรุทธะ ข.พระภัททิยะ
ค.พระรัฐบาล ง.พระพากุละ
๒๑.ใครเป็นคนชวนพระภัททิยกุมารออกบวช ?
ก.พระอุบาลี ข.พระอนุรุทธะ
ค.พระอานนท์ ง.พระภัคคุ
๒๒.พระสาวกองค์ใด มักเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ” ?
ก.พระภัททิยะ ข.พระนันทะ
ค.พระอนุรุทธะ ง.พระอุบาลี
๒๓.พระภัททิยะ เป็นเลิศในด้านใด ?
ก.พหูสูต ข.ใฝ่การศึกษา
ค.ตระกูลสูง ง.ทรงวินัย
๒๔.พระสหายของพระภัททิยะ อยู่ที่เมืองเทวทหะ ทรงพระนามว่าอะไร ?
ก.อานันทะ ข.ภัคคุ
ค.กิมพิละ ง.เทวทัต
๒๕.พระอนุรุทธะ ได้รับยกย่องด้านใด ?
ก.มีหูทิพย์ ข.พหูสูต
ค.มีตาทิพย์ ง.มีฤทธิ์มาก
๒๖.พระเถระรูปใด ตรึกมหาปุริสวิตก ๗ ประการ ?
ก.พระอุบาลี ข.พระอานนท์
ค.พระอนุรุทธะ ง.พระนันทะ
๒๗.พระสาวกรูปใด เคยปรารถนาว่า ขออย่าได้ยินคำว่าไม่มี ?
ก.พระภัททิยะ ข.พระมหานามะ
ค.พระอนุรุทธะ ง.พระกิมพิละ
๒๘.เจ้าชาย อนุรุทธะมีพี่ชายชื่อว่าอะไร ?
ก.พระเจ้ามหานามะ ข.พระเจ้าอชาตศัตรู
ค.พระเจ้าสุปปพุทธะ ง.พระเจ้าอุเทน
๒๙.เจ้าชายอนุรุทธะและพระสหายไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ไหน ?
ก.เมืองราชคฤห์ ข.ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ค.อนุปิยอัมพวัน ง.เมืองสาวัตถี
๓๐.เจ้าศากยะให้นายอุบาลีบวชก่อนเพราะเหตุใด ?
ก.เพราะต้องการเสียสละ ข.เพราะต้องการลดทิฏฐิมานะ
ค.เพราะรักเหมือนเพื่อน ง.เพราะออกบวชพร้อมกัน
เฉลย
๑.ก ๒.ค ๓.ข ๔.ข ๕.ก
๖.ง ๗.ข ๘.ข ๙.ก ๑๐.ค
๑๑.ค ๑๒.ง ๑๓.ค ๑๔.ก ๑๕.ข
๑๖.ค ๑๗.ข ๑๘.ก ๑๙.ง ๒๐.ข
๒๑.ข ๒๒.ก ๒๓.ค ๒๔.ง ๒๕.ค
๒๖.ค ๒๗.ค ๒๘.ก ๒๙.ค ๓๐.ข
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710