เก็บตกข้อสอบสนามหลวง ศาสนพิธี นักธรรมตรี

บทนำ

๑. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ (๒๕๔๙)
            ก. กุศลพิธี
            ข. พุทธมามกะ
            ค. บุญพิธี
            ง. ปาฏิบุคลิกทาน
            จ. สังฆทาน
    
ตอบ : ก. กุศลพิธี หมายถึง พิธีการบำเพ็ญกุศล
                     ข. พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้า    เป็นการแสดงตนให้ปรากฏว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตน
                     ค. บุญพิธี หมายถึง พิธีการทำบุญ
                     ง. ปาฏิบุคลิกทาน หมายถึง ทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะรูปนั้นรูปนี้
                     จ. สังฆทาน หมายถึง ทานที่ถวายไม่เจาะจงรูปใด มอบเป็นของกลาง ให้สงฆ์เฉลี่ยกันใช้สอย ฯ

๒. ศาสนพิธี คืออะไร ?  ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ? (๒๕๔๘)
    
ตอบ : คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ฯ  ย่อมได้รับประโยชน์ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่เกี่ยวด้วยการบำเพ็ญกุศล การทำบุญและการถวายทาน สามารถในการจัดพิธีต่างๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ชื่อว่าเป็นผู้รักษาขนบประเพณีอันงดงามของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย

๓. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอะไรทางจันทรคติ ?  มีความสำคัญอย่างไร ? (๒๕๔๘)
    
ตอบ : ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อนวันเข้าปุริมพรรษา ๑ วัน ฯ มีความสำคัญ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในปีที่ตรัสรู้ใหม่และผลของการแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขอบรรพชาอุปสมบท เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จึงเป็นวันที่มีรัตนะครบ ๓ บริบูรณ์ เรียกว่าพระรัตนตรัย ฯ

๔. อุโบสถ กับ ปกติอุโบสถ หมายถึงอะไร ? (๒๕๔๘)
     ตอบ
: อุโบสถ หมายถึง การเข้าจำ คือการจำศีล เป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้เบาบาง เป็นทางแห่งความสงบระงับอันเป็นความสุขอย่างสูงสุดในพระพุทธศาสนา ฯ  ปกติอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่รักษากันในวันพระตามปกติ เฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างที่อุบาสกอุบาสิการักษาอยู่ในปัจจุบัน ฯ

๕. ในพิธีทำบุญต่างๆ  มีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติกี่ฝ่าย ?  คือใครบ้าง ? (๒๕๔๘)
     ตอบ
: มีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ๒ ฝ่าย  คือ
                ๑. ฝ่ายเจ้าภาพ   คือทายกทายิกา  ผู้ประกอบการทำบุญ
                ๒. ฝ่ายปฏิคาหก   คือผู้รับทานและประกอบพิธีกรรมตามประสงค์ของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นบรรพชิต เรียกอีกอย่างว่า  ฝ่ายพระสงฆ์ ฯ

บทที่ ๑  กุศลพิธี

๑. พุทธมามกะหรือพุทธมามิกาหมายถึงบุคคลเช่นไร ? (๒๕๕๓)
     ตอบ
: หมายถึง บุคคลผู้เป็นชายหรือหญิงผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตนเป็นการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตนนั่นเอง ฯ

๒. อุโบสถศีล  มีกี่ข้อ ?  ข้อที่ ๓ ว่าอย่างไร ? การเข้าจำอุโบสถศีลนี้อยู่ในหมวดไหนของศาสนพิธี ? (๒๕๕๒)
     ตอบ
: มี ๘ ข้อ ฯ  ข้อที่ ๓ ว่า  อพฺรหฺมจริยา  เวรมณี  สิกฺขาปทํ  สมาทิยามิ ฯ   อยู่ในหมวดกุศลพิธี ฯ

๓. คำอาราธนาเบญจศีล ว่าอย่างไร ? (๒๕๕๑)
     ตอบ :
มยํ ภนฺเต, วิสุ วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม
                  ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ  ยาจาม
                  ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ  ยาจาม ฯ

๔. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมประกอบพิธีกรรมมีการบูชาเป็นต้น  ปีหนึ่ง ๆ มีวันอะไรบ้าง ? (๒๕๕๐)
     ตอบ :
วันวิสาขบูชา   วันอัฏฐมีบูชา   วันมาฆบูชา   และวันอาสาฬหบูชา ฯ

๕. เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศาสนพิธี  เจ้าภาพพึงกรวดน้ำและประนมมือรับพรตอนไหน ? (๒๕๔๗)
     ตอบ :
เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบทว่า ยถา วาริวหา ฯเปฯ  เจ้าภาพพึงกรวดน้ำ ไม่ใช้นิ้วมือรอง เวลารินไม่ให้น้ำขาดสาย  พอว่าบท สพฺพีติโย ฯเปฯ  รินน้ำให้หมดแล้ว  ประนมมือรับพรต่อไปจนจบ ฯ

บทที่ ๒  บุญพิธี

๑. บุญพิธีมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? (๒๕๕๖)
     ตอบ
: มี ๒ อย่าง ฯ คือ  ๑. การทำบุญงานมงคล
                                   ๒. การทำบุญงานอวมงคล ฯ

๒. คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์” กับ “สวดพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีต่างกันอย่างไร? (๒๕๕๕)
     ตอบ :
คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีมงคล ส่วนคำว่า “สวดพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีอวมงคล

๓. ในพิธีทำบุญงานมงคล  เจ้าภาพพึงจุดเทียนน้ำมนต์  เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สูตรใด ? (๒๕๕๑)
     ตอบ :
มงคลสูตร ฯ

๔. คำอาราธนาพระสงฆ์มาสวดมนต์ในพิธีทำบุญงานมงคลกับในพิธีทำบุญงานอวมงคล ต่างกันอย่างไร ? (๒๕๕๑)
     ตอบ
: ในงานมงคล ใช้คำว่า ขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนในงานอวมงคล ใช้คำว่า ขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์

๕. การเดินเวียนเทียนรอบปูชนียสถานในวันสำคัญทางพระศาสนา  เดินเวียนซ้ายหรือเดินเวียนขวา ?   เดินเวียนกี่รอบ ?  แต่ละรอบพึงปฏิบัติอย่างไร ? (๒๕๕๐)
     ตอบ
: เดินเวียนขวา  คือเดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหันเข้าหาสถานที่ ที่เวียนนั้น ฯ เวียน ๓ รอบ ฯ พึงปฏิบัติอย่างนี้
                รอบที่ ๑  พึงตั้งใจระลึกถึงพระพุทธคุณโดยนัยบท  อิติปิ โส ภควา อรหํ ฯลฯ
                รอบที่ ๒  พึงตั้งใจระลึกถึงพระธรรมคุณโดยนัยบท สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ
                รอบที่ ๓  พึงตั้งใจระลึกถึงพระสังฆคุณโดยนัยบท  สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ ฯ

บทที่ ๓  ทานพิธี

๑. ปาฏิบุคลิกทานต่างจากสังฆทานอย่างไร ? (๒๕๕๔)
     ตอบ
: ปาฏิบุคลิกทาน คือ ทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะพระรูปนั้นรูปนี้ ส่วนสังฆทาน คือ ทานที่ถวายไม่เจาะจงพระรูปใด มอบเป็นของกลางไม่เจาะจงสงฆ์ ฯ

บทที่ ๔  ปกิณกพิธี

๑. การแสดงความเคารพพระสงฆ์มีกี่วิธี ? อะไรบ้าง ? (๒๕๕๖)
     ตอบ :
มี ๓ วิธี ฯ คือ  ๑. ประนมมือ เรียกว่า อัญชลี
                                ๒. ไหว้ เรียกว่า นมัสการ
                                ๓. กราบ เรียกว่า อภิวาท ฯ

๒. จงเขียนคำอาราธนาศีล ๕ มาดู (๒๕๕๕)
     ตอบ
: ว่า  มยํ ภนฺเต วิสุ วิสุ รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
                   ทุติยมฺปิ, มยํ ภนฺเต วิสุ วิสุ รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
                   ตติยมฺปิ, มยฺ ภนฺเต วิสุ วิสุ รกฺขณตฺถาย ติสรเณน สห, ปญจ สีลานิ ยาจาม

๓. จงเขียนคำอาราธนาพระปริตร มาดู (๒๕๕๔)
    
ตอบ : วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
                 สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
                 วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
                 สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
                 วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
                 สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ

๔. ในการประเคนของถวายพระ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ? (๒๕๕๓)
     ตอบ
: จับของที่จะประเคนด้วยมือทั้งสอง ยกขึ้นให้สูงเล็กน้อยแล้วน้อมถวายพระซึ่งท่านจะยื่นเมื่อทั้งสองออกมารับ หากว่าผู้ถวายเป็นสตรี พึงวางของลงบนผ้ากราบที่พระปูไว้ข้างหน้า เสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบก็เป็นอันเสร็จวิธีการประเคน การประเคนนี้ต้องแสดงออกด้วยความเคารพไม่ใช่เสือกไสให้ หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ อีกอย่าง ของที่จะประเคนนั้นต้องเป็นสิ่งของที่คน ๆ เดียวพอยกได้อย่างธรรมดาไม่ใช่ของหนักหรือใหญ่จนเกินไป ฯ

๕. การแสดงความเคารพในศาสนพิธีมีอะไรบ้าง ?  ในแต่ละอย่างมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ :
มี ประนมมือ ๑  ไหว้ ๑  กราบ ๑ ฯ  ประนมมือ  คือการกระพุ่มมือทั้งสองประกบกันไว้ระหว่างอก โดยให้ทุกนิ้วของมือทั้งสองแนบชิดติดตรงกัน
                 ไหว้  คือการยกมือที่ประนมขึ้นพร้อมก้มศีรษะเล็กน้อยให้มือประนม จรดหน้าผาก นิ้วมือทั้ง ๒ อยู่ระหว่างคิ้ว
                  กราบ  คือการแสดงอาการกราบราบลงพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ฯ

๖. การแสดงความเคารพพระมีกี่วิธี ?  อะไรบ้าง ? (๒๕๕๒)
     ตอบ
: มี ๓ วิธี ฯ   คือ  
                ๑. ประนมมือ ในบาลีเรียกว่า ทำอัญชลี
                ๒. ไหว้ ในบาลีเรียกว่า นมัสการ
                ๓. กราบ ในบาลีเรียกว่า อภิวาท ฯ

๗. การกรวดน้ำมีวิธีทำอย่างไรบ้าง ?  คำกรวดน้ำแบบย่อที่สุดว่าอย่างไร ? (๒๕๔๙)
     ตอบ
: วิธีกรวดน้ำ คือเตรียมน้ำสะอาดใส่ไว้ในภาชนะที่ใส่น้ำกรวด พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบทว่า
                ยถา… ก็เริ่มกรวดน้ำ  โดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ ฯ
                คำกรวดน้ำแบบย่อว่า อิทํ เม าตีนํ โหตุ แปลว่า ขอบุญกุศลนี้  จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด หรือ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย   แปลว่า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด ฯ

๘. การเผดียงสงฆ์ และ การอาราธนา หมายถึงอะไร ? (๒๕๔๗)
     ตอบ :
การเผดียงสงฆ์ หมายถึง การแจ้งความประสงค์ให้สงฆ์ทราบ การอาราธนา หมายถึง การนิมนต์พระสงฆ์ในพิธีให้ศีล สวดพระปริตร หรือแสดงธรรม ฯ

Leave a comment

You are commenting as guest.


40542143
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
13135
23875
65000
40302836
593168
937182
40542143

Your IP: 3.137.185.180
2024-04-23 12:40
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search