เบญจศีล - เบญจธรรม

บทนำ

            บรรดามนุษย์ผู้เกิดมาในโลกนี้  ย่อมมีรูปร่างความประพฤติ แตกต่างกันไปต่างๆนานา  เช่น  รูปร่างงามบ้าง  รูปร่างทรามบ้าง ความประพฤติดีบ้าง ความประพฤติเลวบ้าง เป็นต้น นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จึงได้กำหนดแบบแผน สำหรับเป็นหลักในการปรับปรุงความประพฤติของมนุษย์ เรียกว่า ศีล  เพื่อให้มนุษย์ได้ประพฤติตนเป็นคนดีอย่างสม่ำเสมอเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ข้อที่ท่านได้บัญญัติเป็นเบื้องต้นมีองค์ ๕  คือ

            ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์
            ๒. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
            ๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
            ๔. เว้นจากการกล่าวคำเท็จ
            ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
องค์แห่งศีลข้อหนึ่ง ๆ เรียกว่า สิกขาบท ศีล ๕ ข้อจึงเป็นสิกขาบท ๕ ประการ รวมเรียกว่า เบญจศีล

            เบญจศีลมีกัลยาณธรรมเป็นของคู่กัน  กัลยาณธรรม  ได้แก่  ความประพฤติที่เป็นส่วนดีงาม  เป็นเครื่องอุดหนุนศีลให้ผ่องใสขึ้น มี ๕ ข้อคือ
            ๑. เมตตากรุณา                                คู่กับศีลข้อที่ ๑
            ๒. สัมมาอาชีวะ                                คู่กับศีลข้อที่ ๒                       
            ๓. ความสำรวมในกาม                        คู่กับศีลข้อที่ ๓                                              
            ๔. มีความสัตย์                                คู่กับศีลข้อที่ ๔                       
            ๕. ความมีสติรอบคอบ                        คู่กับศีลข้อที่ ๕                       

     สรุป    ศีลแปลว่าปกติหรือกิริยาที่เว้นตามข้อห้าม

เบญจศีล

     สิกขาบทที่ ๑   มีข้อห้าม ๓ ประการคือ  การฆ่า  การทำร้ายร่างกาย และการทรกรรม   การบัญญัติสิกขาบทนี้ เพ่งเมตตาจิตเป็นใหญ่
           สิกขาบทที่ ๒   มีข้อห้าม ๓ ประการ  คือ โจรกรรม  อนุโลมโจรกรรม  และฉายาโจรกรรม       การบัญญัติสิกขาบทนี้ มุ่งความประพฤติชอบธรรมในทรัพย์ของผู้อื่น
           สิกขาบทที่ ๓   มีข้อห้ามมิให้ประพฤติผิดในกามทั้งหญิงและชาย การบัญญัติสิกขาบทนี้มุ่งความประพฤติมิให้ผิดประเวณีเป็นใหญ่
           สิกขาบทที่ ๔   มีข้อห้าม ๓ ประการ คือ มุสา อนุโลมมุสา  และปฏิสสวะ การบัญญัติสิกขาบทนี้ มุ่งความสัตย์เป็นใหญ่
           สิกขาบทที่ ๕   มีข้อห้าม ๒ ประการ คือ ดื่มน้ำเมา และเสพของมึนเมาอื่นๆ  การบัญญัติสิกขาบทนี้   มุ่งมิให้เสียความสำราญและความดี

วิรัติ

            ผู้ปฏิบัติตามสิกขาบททั้ง ๕ ย่อมมีวิรัติ คือ ความละเว้นจากข้อห้าม ๓ ประการ  ตามภูมิของผู้ปฏิบัติคือ
            ๑. สัมปัตตวิรัติ       เว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงอันมาถึงเฉพาะหน้า
            ๒. สมาทานวิรัติ     เว้นด้วยอำนาจการถือเป็นกิจวัตร
            ๓. สมุจเฉทวิรัติ      เว้นด้วยการตัดขาดไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ

 

เบญจธรรม

 สิกขาบทที่ ๑  มีเมตตากรุณา  เผื่อแผ่ความสุขและช่วยเหลือ ผู้อื่นให้พ้นทุกข์
 สิกขาบทที่ ๒   มีสัมมาอาชีวะ  หมั่นประกอบการเลี้ยงชีพในทาง ที่ชอบ
 สิกขาบทที่ ๓   มีความสำรวมในกาม  ๒ ประการคือ
                        ๑. สทารสันโดษ  ความยินดีด้วยภรรยาของตน สำหรับชาย
                        ๒. ปติวัตร ความจงรักในสามีของตนสำหรับหญิง
 สิกขาบทที่ ๔   มีความสัตย์  โดยอาการ ๔ คือ
                                    ๑. ความเที่ยงธรรมในหน้าที่
                                    ๒. ความซื่อตรงต่อมิตร
                                    ๓. ความจงรักภักดีในเจ้าของตน
                                    ๔. ความกตัญญูในท่านผู้มีพระคุณ
สิกขาบทที่ ๕   มีสติรอบคอบ  โดยอาการ ๔
                                    ๑. รู้จักประมาณในการบริโภค
                                    ๒. ไม่เลินเล่อในการงาน
                                    ๓. มีสัมปชัญญะในการประพฤติตน
                                    ๔. ไม่ประมาทในธรรม

             รายละเอียดของสิกขาบททั้งหมดเหล่านี้  จักได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป

 การสมาทานศีล

            การสมาทานศีล หมายถึงการตั้งใจรับเอาศีลทั้ง ๕ ข้อมารักษาด้วยดี ด้วยการสมาทาน ๒ อย่างคือ
            ๑. ปัจเจกสมาทาน  การสมาทานเป็นข้อ ๆ หากข้อใดข้อหนึ่งขาดก็ยังเหลือข้ออื่น
            ๒. เอกัชฌสมาทาน  การสมาทานทุกข้อรวมกัน เมื่อข้อใดข้อหนึ่งขาดก็เป็นอันขาดทุกข้อ (ตอนอาราธนาศีลให้ตัดคำว่า วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ออกไป)

            หมายเหตุ
            ๑. ศีล ๕ เรียกว่า นิจศีล สำหรับสาธุชนทั่วไป
            ๒. ศีล ๘ หรืออุโบสถศีล สำหรับอุบาสกอุบาสิกา
            ๓. ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
            ๔. ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ
            ๕. ศีล ๓๑๑ สำหรับภิกษุณี

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมความเบื้องต้น

๑. รูปพรรณสัณฐานของคน....?
            ก. เลือกได้อย่างใจ                  ข. เลือกตามใจหวังไม่ได้
            ค. ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด           ง. ขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล

๒. คนขี้เหร่ แต่นิสัยดี เปรียบได้กับดอกไม้ชนิดใด ?
            ก. สีไม่สวย แต่มีกลิ่นหอม     
            ข. สีสวย  แต่ไร้กลิ่นหอม
            ค. สีก็สวย ทั้งกลิ่นก็หอม 
            ง. สีก็ไม่สวย ทั้งกลิ่นก็ไม่หอม

๓. ศีลช่วยชาวโลกได้อย่างไรบ้าง ?
            ก. ให้ไม่เบียดเบียน                 ข. ให้อยู่เป็นสุข
            ค. ให้มีสติปัญญา                    ง. ถูกทุกข้อ

๔. คนไม่มีศีล รู้ได้อย่างไร ?
            ก. มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์           ข. มักประพฤติผิดในกาม
            ค. มักพูดเท็จ  ดื่มสุรา              ง. ถูกทุกข้อ

๕. องค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ เรียกว่าอะไร ?
            ก. เบญจศีล                 ข. เบญจธรรม
            ค. สิกขาบท                 ง. สมาทาน

๖. ข้อใด เป็นอานิสงส์สูงสุดของศีลที่ไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ?
            ก. มีรูปสวย                  ข. รวยทรัพย์
            ค. มีมารยาทดี               ง. ได้เข้าถึงพระนิพพาน

๗. การจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ต้องมีอะไรเป็นเครื่องสนับสนุน ?
            ก. วิรัติ                         ข. สุจริต
            ค. กัลยาณมิตร               ง. กัลยาณธรรม

๘. อาการเช่นไร เรียกว่า การรักษาศีล ?
            ก. การละเมิดข้อห้าม               ข. การงดเว้นจากข้อห้าม
            ค. การวางเฉยต่อข้อห้าม         ง. การถือศีลที่วัด

๙. ข้อใด ไม่ใช่ความหมายของศีล ?
            ก. ความสำรวม            ข. ความสงบ
            ค. เจตนางดเว้น           ง. ความไม่ล่วงละเมิด

๑๐. คำว่า เบญจศีล เป็นศีลสำหรับใคร ?
            ก. พระภิกษุ                 ข. สามเณร
            ค. คนทั่วไป                  ง. คนถืออุโบสถศีล

๑๑. เบญจศีล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
            ก. นิจศีล                      ข. อนิจศีล      
            ค. อุโบสถศีล                 ง. ถูกทุกข้อ

๑๒. มนุษยธรรม ตรงกับศีลในข้อใด ?
            ก. ศีล ๕                       ข. ศีล ๘
            ค. ศีล ๑๐                    ง. ศีล ๒๒๗

๑๓. คนเริ่มทำความดี ควรมีศีลเป็นหลัก เพราะเหตุใด ?
            ก. เพราะควรรักษาศีลก่อนให้ทาน
            ข. เพราะศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์
            ค. เพราะศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา
            ง. เพราะศีลเป็นบรรทัดให้คนประพฤติดี

๑๔. อะไรเป็นเครื่องสนับสนุนศีล ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ?
            ก. วิรัติ                         ข. สุจริต
            ค. ทาน                         ง. ภาวนา 

เฉลย   ๑. ข     ๒. ก     ๓. ง     ๔. ง     ๕. ค     ๖. ง     ๗. ง     ๘. ข     ๙. ข     ๑๐. ค    ๑๑. ก  ๑๒. ก  ๑๓. ง  ๑๔. ก

 

 สิกขาบทที่ ๑  ปาณาติปาตา  เวระมะณี

            ศีลข้อนี้แปลว่า  เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง  คือ   เว้นจากการฆ่าสัตว์ ในที่นี้หมายเอาทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีเมตตาจิตในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  มีข้อห้าม ๓ ประการ คือ
            ๑. การฆ่า        ๒. การทำร้ายร่างกาย         ๓. การทรกรรม

การฆ่า

            การฆ่า  ได้แก่  การทำให้ตาย  ต่างกันในวัตถุ ๒ ประเภท  คือ ฆ่ามนุษย์และฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน
            ฆ่ามนุษย์ มีโทษหนัก ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษภิกษุผู้กระทำถึงขาดจากความเป็นภิกษุ อุปสมบทอีกไม่ขึ้น ฝ่ายอาณาจักรปรับโทษ อุกฤษฏ์ คือ  ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
            ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน   มีโทษเบากว่าการฆ่ามนุษย์ 
            เจตนาแห่งการฆ่า มี ๒ ประเภท คือ จงใจ  และไม่จงใจ 
            จงใจ คือ คิดไว้แต่แรกว่าจะฆ่า ขณะที่ใจตกอยู่ในความโลภ บ้าง ความพยาบาทบ้าง เหตุอื่นบ้าง
            ไม่จงใจ คือ ไม่ได้คิดไว้ก่อน  แต่เพราะเหตุบังเอิญบ้าง  เพราะบันดาลโทสะบ้าง  เพราะประสงค์ป้องกันตัวบ้าง
            ประโยค  คือ ความพยายามแห่งการฆ่า มี ๒ ประเภท  คือ ฆ่าเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า   กล่าวโดยกรรมย่อมมีโทษหนักเบาเป็นชั้น ๆ ตามวัตถุ เจตนาและประโยค  ดังนี้ 

ฆ่ามนุษย์

            ๑. โดยวัตถุ ฆ่ามนุษย์ผู้หาความผิดมิได้  มนุษย์ผู้มีอุปการะ  มนุษย์ผู้มีคุณ มีโทษมาก
            ๒. โดยเจตนา  ฆ่าด้วยหาเหตุมิได้  ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า    ฆ่าด้วยความพยาบาทอันร้ายกาจ  โทษมาก
            ๓. โดยประโยค ฆ่าให้ลำบาก  เช่น ทรมานก่อนฆ่า เป็นต้น  มีโทษมาก

ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน       

            ๑. โดยวัตถุ ฆ่าสัตว์ที่เจ้าของหวงแหน ฆ่าสัตว์มีคุณ ฆ่าสัตว์ใหญ่  ฆ่าสัตว์ที่มีอายุยืน  มีโทษมาก  ฆ่าสัตว์ที่เป็นของตนเอง  ฆ่าสัตว์ที่หาเจ้าของมิได้  โทษหย่อนลงมา
            ๒. โดยเจตนา ฆ่าด้วยหาเหตุมิได้ ฆ่าด้วยกิเลสกล้า ฆ่าด้วยพยาบาท  มีโทษมาก
            ๓. โดยประโยค  ฆ่าให้ลำบาก  มีโทษมาก

การทำร้ายร่างกาย

            ในเรื่องนี้กล่าวเฉพาะมนุษย์เท่านั้น  การทำร้ายร่างกายมีโทษ ทั้งพุทธจักรและอาณาจักร  ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษตามวัตถุ  เจตนา  และความพยามยามของการฆ่า ฝ่ายอาณาจักรปรับโทษตามเครื่องมือที่ใช้ประหาร เป็น ๓ สถานคือ
            ๑. ทำให้พิการ  ได้แก่ การทำให้อวัยวะบางส่วนเสียไป   เช่น ตาบอด  เป็นต้น
            ๒. ทำให้เสียโฉม ได้แก่ การทำร้ายร่างกายให้เสียรูปเสียงาม  แต่ไม่ถึงพิการ
            ๓. ทำให้เจ็บลำบาก ได้แก่ การทำร้ายไม่ถึงเสียโฉม แต่เสีย   ความสำราญ

            กล่าวโดยกรรม มีโทษหนักตามวัตถุ  เจตนา  ประโยค  เหมือน กับเรื่องที่กล่าวมาแล้ว

ทรกรรม

            ทรกรรม  หมายความว่า  ประพฤติตนเป็นคนเหี้ยมโหดแก่สัตว์ดิรัจฉาน  โดยไม่มีความปราณี   ใช้เฉพาะกับสัตว์ดิรัจฉานเท่านั้น จัดเป็น ๕ ได้แก่
            ๑. ใช้การ ได้แก่ การใช้สัตว์พาหนะโดยไม่มีความปราณี  ไม่ ให้พักผ่อนตามกาล  ใช้เกินกำลังของสัตว์
            ๒. กักขัง ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์หรือผูกมัดสัตว์ จนสัตว์ไม่ได้ รับความสุขตามธรรมชาติ
            ๓. นำไป ได้แก่ การผูกมัดสัตว์แล้วนำไปโดยผิดธรรมชาติ ของสัตว์  เช่น  ผูกขาแล้วห้อยหัวลง  เป็นต้น
            ๔. เล่นสนุก  ได้แก่ การเอาสัตว์มาเล่นเป็นของสนุก  ทำให้สัตว์ได้รับความลำบาก
            ๕. ผจญสัตว์  ได้แก่ การเอาสัตว์มาต่อสู่กัน เช่น กัดปลา  ชนไก่  เป็นต้น

            กล่าวโดยกรรม ทรกรรมจัดเป็นวิหิงสา  คือการเบียดเบียน  มีโทษหนักเป็นชั้น ตามวัตถุ เจตนา และประโยค เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

องค์แห่งปาณาติบาต มี ๕ ประการ

            ๑. ปาโณ                     สัตว์มีชีวิต
            ๒. ปาณะสัญญิตา           รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
            ๓. วะธะกะจิตตัง             มีจิตคิดจะฆ่า
            ๔. อุปักกะโม                พยายามฆ่า
            ๕. เตนะ มะระณัง           สัตว์นั้นตายด้วยความพยายาม

            การที่จะจัดว่าเป็นปาณาติบาต จะต้องครบ ๕ ประการ  ดังกล่าว หากว่าไม่ครบองค์  ศีลด่างพร้อย ศีลข้อนี้ ฆ่าเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ทำสำเร็จศีลย่อมขาดทั้งผู้ใช้ให้กระทำและผู้กระทำ
 

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมข้อที่ ๑

๑. นักเรียนยิงเพื่อนจนเสียชีวิต  ใครเดือดร้อน ?
            ก. พ่อแม่ผู้ตาย            ข. พ่อแม่ตนเอง
            ค. ตนเอง                     ง. ถูกทุกข้อ

๒. คำว่า “สัตว์“ ตามศีลข้อที่ ๑ ข้อใดถูกต้องที่สุด ?
            ก. คน                           ข. สัตว์เดรัจฉาน
            ค. สัตว์มีชีวิต               ง. สัตว์ที่ตายแล้ว

๓. แขนขาด ขาขาด เพราะการยกพวกตีกัน จัดเข้าในข้อใด ?
            ก. บาดเจ็บ                  ข. เสียโฉม
            ค. พิการ                       ง. ทรมาน

๔. เหตุการณ์ใด จัดเข้าในทรกรรมข้อเล่นสนุก ?
            ก. จุดประทัดผูกหางสุนัข        ข. เล่นฟุตบอล
            ค. ตีไก่ ชนวัว                           ง. เล่นกำถั่ว

๕. การกระทำในข้อใด เกี่ยวกับศีลข้อที่ ๑ ?
            ก. การเก็บส่วย            ข. การฆ่าตัดตอน
            ค. การเล่นหวย            ง. การฆ่ากิเลส

๖. อาการเช่นไร เรียกว่า ฆ่าให้ลำบาก ?
            ก. ฆ่าคนที่หาความผิดมิได้
            ข. ฆ่าคนที่มีบุญคุณต่อตนเอง
            ค. ถูกบังคับให้ฆ่าคนจนกว่าจะตาย
            ง. ทุบตีให้บอบช้ำจนกว่าจะตาย

๗. การฆ่าเช่นไร เรียกว่า ฆ่าโดยจงใจ ?
            ก. ฆ่าเพราะบันดาลโทสะ
            ข. วางแผนฆ่าเจ้าของทรัพย์
            ค. ฆ่าเพราะจะป้องกันตัว
            ง. วางแผนฆ่าแต่ยิงผิดตัว

๘. คำว่า ทรกรรม ในศีลข้อที่ ๑ สำหรับใช้กับใคร ? 
            ก. คนทั่วไป                  ข. คนพิการ
            ค. สัตว์ทั่วไป                ง. คนและสัตว์

๙. คนที่มีอายุสั้น  เพราะวิบากกรรมในข้อใด ?
            ก. มักโกรธ                   ข. มักฆ่าสัตว์
            ค. มักดื่มสุรา                ง. มักก่อวิวาท

๑๐. ความมีเมตตาจิต ปรารถนาดีต่อกัน เป็นหน้าที่ของใคร ?
            ก. คนถือศีล ๕             ข. คนถือศีล ๘
            ค. พระภิกษุสงฆ์           ง. คนทั่วไป

๑๑. ผู้ทรงศีลไม่ฆ่าสัตว์แต่ปราศจากกรุณาได้ชื่อว่าเป็นคนเช่นไร ?
            ก. คนลวงโลก              ข. มีศีล แต่ขาดคุณธรรม
            ค. คนไม่มีศีลธรรม          ง. ถูกทุกข้อ

๑๒. “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ“ ศีลธรรมหมายถึงอะไร ?
            ก. ศีล ๕                       ข. อุโบสถศีล
            ค. ความกตัญญู              ง. เบญจศีล เบญจธรรม

๑๓. จะกำจัดจุดอ่อนคือความพยาบาท ด้วยกัลยาณธรรมข้อใด ?
            ก. สติ  สัมปชัญญะ      ข. หิริ  โอตตัปปะ
            ค. เมตตา  กรุณา         ง. ขันติ  โสรัจจะ

๑๔. เห็นเพื่อนทุกข์ร้อน  พยายามหาทางช่วยเหลือจัดเป็นคนเช่นไร ?
            ก. เสียสละ                  ข. มีเมตตา
            ค. ใจกว้าง                   ง. มีกรุณา

๑๕. เดี๋ยวนี้มีแต่ข่าวฆ่ากันตายทุกวัน  เพราะคนเราขาดศีลธรรมคู่ใด ?
            ก. ศีลข้อที่ ๑ เมตตา  กรุณา
            ข. ศีลข้อที่ ๒ สัมมาอาชีวะ
            ค. ศีลข้อที่ ๓ ความสำรวมในกาม
            ง. ศีลข้อที่ ๕ ความมีสติรอบคอบ

๑๖. สำนวนว่า “ควายขวิดลูก  ไม่ถูกปลายเขา“ ตรงกับข้อใด ?
            ก. เมตตา  กรุณา         ข. ขันติ  โสรัจจะ
            ค. กตัญญูกตเวที         ง. ความซื่อสัตย์

๑๗. การกระทำในข้อใด เป็นทรกรรมในเรื่องปาณาติบาต ?
            ก. ทำร้ายร่างกายภรรยา          ข. นำไก่ชนมาตีกัน
            ค. กักขังใช้แรงงานเด็ก            ง. ฆ่าไก่ที่เป็นหวัดนก

๑๘. ศีลข้อ ๑ บัญญัติไว้เพื่อปลูกฝั่งคุณธรรมใด ?
            ก. เมตตากรุณา            ข. ความมีสติตั้งมั่น
            ค. ความซื่อสัตย์           ง. ความกตัญญู 

เฉลย   ๑. ง     ๒. ค     ๓. ค     ๔. ก     ๕. ข   ๖. ง       ๗. ข     ๘. ค     ๙. ข     ๑๐. ง      ๑๑. ข  ๑๒. ง  ๑๓. ค  ๑๔. ง  ๑๕. ก    ๑๖. ก  ๑๗. ข  ๑๘. ก

 

สิกขาบทที่ ๒  อทินนาทานา  เวระมะณี

            ศีลข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งโจร สิ่งของตามศีลข้อนี้หมายเอาของ ๒ อย่างคือ
            ๑. สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ คือทรัพย์มีวิญญาณ และอวิญญาณกทรัพย์ คือทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณที่เขาไม่ ได้ยกให้
            ๒. สิ่งของที่ไม่มีเจ้าของ  แต่มีผู้รักษาหวงแหน ได้แก่  สิ่งของที่เป็นของอุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนา หรือสิ่งของที่เป็นของกลาง ของหมู่ชน อันเป็นของไม่ควรแบ่งกัน สิกขาบทนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น มีข้อห้าม ๓ ประการ คือ
            ๑. โจรกรรม   ๒. อนุโลมโจรกรรม   ๓. ฉายาโจรกรรม

โจรกรรม

            ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งโจร  มี ๑๔ ประเภทคือ
            ๑. ลัก  ได้แก่               กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดย ไม่ให้เจ้าของเขารู้
            ๒. ฉก  ได้แก่               กิริยาที่ถือเอาสิ่งของเวลาเจ้าของเผลอ เช่น
                                    -      วิ่งราว แย่งของขณะเขากำลังเผลอตัว
                                    -      ชิง ทำร้ายเจ้าของแล้วถือเอาสิ่งของนั้น
            ๓. กรรโชก       ได้แก่               กิริยาที่แสดงอำนาจให้เจ้าของกลัว แล้วยอมให้สิ่งของ
            ๔. ปล้น           ได้แก่               กิริยาที่ยกพวกไปเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยอำนาจ
            ๕. ตู่     ได้แก่               กิริยาที่ร้องเอาของผู้อื่น  ที่ไม่ได้ตกอยู่ในมือตน
            ๖. ฉ้อ   ได้แก่              กิริยาที่เอาสิ่งของของผู้อื่น อันตกอยู่ในมือตน (รับฝากไว้แล้วโกงเสีย)
            ๗. หลอก         ได้แก่  กิริยาที่พูดปดเพื่อถือเอาของของผู้อื่น
            ๘. ลวง             ได้แก่  กิริยาที่ถือเอาของผู้อื่น ด้วยให้เขาเข้าใจผิด
            ๙. ปลอม         ได้แก่   กิริยาที่ทำของไม่แท้ให้เห็นเป็นของแท้
            ๑๐. ตระบัด     ได้แก่   กิริยาที่ยืมของท่านไปแล้วเอาไปเสีย
            ๑๑. เบียดบัง   ได้แก่   กิริยาที่ถือเอาเศษได้มามากแต่ให้เจ้าของแต่น้อย
            ๑๒. สับเปลี่ยน ได้แก่  กิริยาที่เอาของของตนที่เลวแทนแล้วเอาของดีของผู้อื่นมาเสีย
            ๑๓. ลักลอบ    ได้แก่   กิริยาที่เอาของซ่อนเข้ามาโดยไม่เสียภาษี  หรือทำของที่ต้องห้าม
            ๑๔. ยักยอก    ได้แก่   กิริยาที่เอาของของตนที่จะต้องถูกยึดไปไว้เสียที่อื่น

            การโจรกรรม ทำเองก็ดี  ใช้ให้ผู้อื่นทำสำเร็จก็ดี ผิดศีลทั้งผู้ใช้และผู้ทำ กล่าวโดยกรรม  มีโทษหนักเป็นชั้นๆ  กัน ๓ อย่างดังนี้
            ๑. โดยวัตถุ   ของมีราคามาก  ทำความฉิบหายให้แก่เจ้าของ  มาก มีโทษมาก
            ๒. โดยเจตนา  ถ้าถือเอาด้วยโลภเจตนากล้า  มีโทษมาก
            ๓. โดยประโยค  ถือเอาด้วยการฆ่า  ทำร้ายเจ้าทรัพย์ หรือทำลายบ้านเรือนหรือสิ่งของของเขามีโทษมาก

อนุโลมโจรกรรม

            ได้แก่ กิริยาที่แสวงหาทรัพย์ในทางที่ไม่บริสุทธิ์  แม้จะไม่นับเข้าในอาการแห่งโจร มี ๓ ประเภท  คือ
            ๑. สมโจร ได้แก่ กิริยาที่อุดหนุนโจรกรรมโดยนัย  เช่น รับซื้อของโจร เป็นต้น
            ๒. ปอกลอก ได้แก่ กิริยาที่คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์  มุ่งหวังเอาทรัพย์สมบัติของเขาถ่ายเดียว แล้วละทิ้งเขาเสีย  เมื่อเขาสิ้นตัวแล้ว
            ๓. รับสินบน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ที่เขาให้เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด 

            อนุโลมโจรกรรม  มีโทษหนักต่างกันโดยวัตถุ  เจตนา  และประโยค  ที่ยิ่งและหย่อนกว่ากัน  บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเลวร้ายยิ่งกว่าการโจรกรรม  ทั้งนี้จะต้องดูเจตนาประกอบด้วย

ฉายาโจรกรรม 
            ได้แก่  กิริยาที่ทำทรัพย์ของผู้อื่นให้สูญไป  และเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตนมี ๒ ประเภท  คือ
            ๑. ผลาญ ได้แก่  กิริยาที่ทำอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่น
            ๒. หยิบฉวย ได้แก่  กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นด้วยความ มักง่าย ไม่ได้บอกให้เจ้าของเขารู้จะถือเอาด้วยวิสาสะ อาจทำให้เจ้าของทรัพย์ไม่พอใจ  และเป็นที่สงสัยของผู้อื่นว่าเป็นโจร

            ฉายาโจรกรรม  ต้องดูที่เจตนาประกอบด้วย  เพราะในบาง กรณีอาจจะด่างพร้อยเท่านั้น  ถ้าหากรับใช้คืนเจ้าของทรัพย์เสีย

องค์แห่งอทินนาทาน  มี ๕ ประการ

            ๑. ปะระปะริคคะหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
            ๒. ปะระปะริคคะหิตะสัญญิตา  รู้ว่าเจ้าของหวงแหน
            ๓. เถยยะจิตตัง  มีจิตคิดจะลัก
            ๔. อุปักกะโม   ได้พยายามลัก
            ๕. เตนะ  หะระณัง   ได้ของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น

            ถ้าทำครบทั้ง ๕ ประการ  ศีลขาดทันที ถ้าทำไม่ครบองค์ ศีลด่างพร้อย

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมข้อที่ ๒

๑. เกิดมายากจนเข็ญใจ เพราะผิดศีลข้อไหน ?
            ก. ศีลข้อ ๑                  ข. ศีลข้อ ๒
            ค. ศีลข้อ ๔                  ง. ศีลข้อ ๕

๒. ว่าโดยหลักของเบญจศีล รัฐบาลจัดงานต่อต้านเทปผีซีดีเถื่อน          เพื่อประโยชน์ใด ?
            ก. เพื่อไม่ให้เบียดเบียนกัน
            ข. เพื่อให้เป็นคนซื่อสัตย์
            ค. เพื่อป้องกันความแตกร้าว
            ง. เพื่อให้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ

๓. ตามตัวอย่างใด เรียกว่า สมโจร ?
            ก. เก็บส่วยการพนัน                ข. รับซื้อของโจร
            ค. สมคบกับโจร                       ง. ทุจริตนมโรงเรียน

๔. คำว่า ทรัพย์ ในศีลข้อที่ ๒ หมายถึงทรัพย์ชนิดใด ?
            ก. ทรัพย์ที่อยู่ในบ้าน               ข. ทรัพย์ที่อยู่ในป่า
            ค. ทรัพย์ที่ทำตกหาย               ง. ถูกทุกข้อ

๕. พระองค์ทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๒ เพื่อประสงค์ใด ?
            ก. เพื่อไม่ให้เบียดเบียนกัน
            ข. เพื่อให้เป็นคนซื่อสัตย์
            ค. เพื่อป้องกันความแตกร้าว
            ง. เพื่อให้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ

๖. คนชอบขโมยของตอนกลางคืน ควรแก้ด้วยคุณธรรมข้อใด ?
            ก. มีอาชีพชอบ             ข. มีการงานชอบ
            ค. มีความเห็นชอบ                   ง. มีความพยายามชอบ

๗. การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หมายถึงทรัพย์ในข้อใด ?
            ก. สังหาริมทรัพย์                     ข. อสังหาริมทรัพย์
            ค. อวิญญาณกทรัพย์              ง. ถูกทุกข้อ

๘. ข้อใดจัดเป็นโจรกรรมที่เรียกว่า ลักลอบ ?
            ก. กู้เงินกองทุนหมู่บ้านแล้วหลบหนี
            ข. แอบนำสินค้าเถื่อนเข้าประเทศ
            ค. อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน
            ง. ถูกทุกข้อ

๙. คนที่สังคมเรียกว่า ร่ำรวยผิดปกติ เพราะสาเหตุใด ?
            ก. ค้ายาบ้า                              ข. เก็บส่วยรายวัน
            ค. เลี้ยงชีพในทางผิด               ง. ถูกทุกข้อ

๑๐. ตัวอย่างในข้อใด จัดเป็นโจรกรรมที่เรียกว่า ฉก ?
            ก. วิ่งราวโทรศัพท์มือถือ             
            ข. เก็บส่วยวินมอเตอร์ไซค์
            ค. ยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน 
            ง. ทำปุ๋ยปลอมแจกให้ชาวนา

๑๑. การหลอกลวงเรียกเก็บเงินในทางมิชอบ ตรงกับข้อใด ?
            ก. โจรกรรม                              ข. อนุโลมโจรกรรม
            ค. ฉายาโจรกรรม                     ง. ถูกทุกข้อ

๑๒. คนเล่นการพนัน ย่อมได้รับโทษอย่างไร ?
            ก. เมื่อชนะย่อมก่อเวร             
            ข. ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ
            ค. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน  
            ง. ถูกทุกข้อ

๑๓. งานสัมมาชีพ อุดหนุนศีลข้อไหนให้บริสุทธิ์โดยตรง ?
            ก. ศีลข้อ ๑                              ข. ศีลข้อ ๒
            ค. ศีลข้อ ๕                              ง. ศีลทุกข้อ

๑๔. การทุจริตนมโรงเรียน  จะไม่เกิดขึ้น เพราะมีศีลธรรมคู่ใด ?
            ก. ศีลข้อที่ ๑ - เมตตา  กรุณา
            ข. ศีลข้อที่ ๒ - สัมมาอาชีวะ
            ค. ศีลข้อที่ ๓ - ความสำรวมในกาม
            ง. ศีลข้อที่ ๔ - ความซื่อสัตย์

๑๕ หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล สนับสนุนกัลยาณธรรมข้อใด ?
            ก. สัมมาสติ                             ข. สัมมาสมาธิ
            ค. สัมมาอาชีวะ                       ง. สัมมาวาจา

๑๖. มรรคมีองค์ ๘ ข้อใด จัดเข้าในกัลยาณธรรม ?
            ก. สัมมากัมมันตะ                   ข. สัมมาสังกัปปะ
            ค. สัมมาวายามะ                     ง. สัมมาอาชีวะ

เฉลย   ๑. ข     ๒. ง     ๓. ข     ๔. ง     ๕. ง     ๖. ก.    ๗. ง     ๘. ข     ๙. ง     ๑๐. ก       ๑๑. ข  ๑๒. ง  ๑๓. ข  ๑๔. ข  ๑๕. ค  ๑๖. ง

 

สิกขาบทที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา  เวระมะณี

            ศีลข้อนี้  แปลว่า เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คำว่า กาม  ในที่นี้ ได้แก่  กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี  เป็นการป้องกันการแตกร้าวในหมู่มนุษย์
            คนที่ประพฤติผิดประเวณี  มีอยู่ ๒ ประเภท  คือ
            ๑. หญิงต้องห้าม            ๒. ชายต้องห้าม

หญิงต้องห้าม

            ได้แก่ หญิงที่เป็นวัตถุต้องห้ามของชาย ๓ จำพวก  คือ
            ๑. หญิงมีสามี  ได้แก่  หญิง ๔ จำพวกคือ
              ๑.๑  หญิงที่แต่งงานกับชายแล้ว
              ๑.๒  หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน แต่อยู่กินกับชายโดยอาการเปิดเผย
              ๑.๓  หญิงผู้รับสิ่งของของชาย  แล้วยอมอยู่กับเขา
              ๑.๔  หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา
                     แต่หญิงที่สามีตาย หรือ   หย่าขาดจากกันเป็นอิสระ ด้วยตัวเอง ไม่จัดเป็นวัตถุแห่งกาเมสุมิจฉาจาร
            ๒. หญิงที่มีผู้ปกครอง ได้แก่ หญิงที่อยู่ในความปกครองของ คนอื่น เช่น พ่อแม่ ญาติหรือผู้อุปการะ ชายลักลอบสมสู่ เป็นกาเม- สุมิจฉาจาร  หากขอให้ท่านยกให้ก่อน  ไม่จัดเป็นกาเมสุมิจฉาจาร
            ๓. หญิงที่มีจารีตรักษา  ได้แก่ หญิง ๓ จำพวก  คือ
                ๓.๑ หญิงผู้เป็นเทือกเถาเหล่ากอของตน
                ๓.๒ หญิงผู้อยู่ใต้บัญญัติพระศาสนา
                ๓.๓ หญิงที่กฎหมายบ้านเมืองห้าม

ชายต้องห้าม

            ได้แก่ ชายที่เป็นวัตถุต้องห้ามของหญิง ๒ จำพวกคือ
            ๑. ชายอื่นนอกจากสามีตน  เป็นวัตถุต้องห้ามของหญิงมีสามี
            ๒. ชายที่มีจารีตรักษา  เป็นวัตถุต้องห้ามของหญิงทั่วไป

            กาเมสุมิจฉาจาร เมื่อกล่าวโดยกรรมมีโทษหนักตามวัตถุ  เจตนาและประโยค
            โดยวัตถุ  ประพฤติล่วงในบุคคลที่มีคุณ  มีโทษมาก
            โดยเจตนา  ประพฤติด้วยกำลังราคะกล้า  มีโทษมาก
            โดยประโยค ถ้าประพฤติโดยใช้กำลัง มีโทษหนักแก่ฝ่ายที่กระทำ

องค์แห่งกาเมสุมิจฉาจาร  มี ๔ ประการ

            ๑. อะคะมะนียะวัตถุ               บุคคลต้องห้าม
            ๒. ตัสมิง เสวะนะจิตตัง           มีจิตคิดจะเสพ
            ๓. เสวะนัปปะโยโค                 พยายามเสพ
            ๔. มัคเคนะ มัคคัปปะฏิปัตติ   ให้อวัยวะเพศถึงกัน ได้แก่    มรรค ๓ คือ ทวารหนัก ทวารเบา  และปาก

            ถ้าทำครบทั้ง ๔ ประการ  ศีลขาดทันที ถ้าทำไม่ครบองค์ ศีลด่างพร้อย

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมข้อที่ ๓

๑. ชายที่จารีตห้าม  ข้อใดถูกต้อง ?
            ก. นักบวชนอกศาสนา               ข. ภิกษุ สามเณร
            ค. พี่เขย น้องเขย                     ง. ถูกทุกข้อ

๒. การขายบริการทางเพศ  มีความเสียหายอย่างไร ?
            ก. เสียชื่อเสียง                         ข. เสียวงศ์ตระกูล
            ค. พ่อแม่เสียใจ                        ง. ถูกทุกข้อ

๓. ล่อลวงเด็กหญิงอายุ ๑๓ ปี ไปสมสู่ได้สำเร็จผิดศีลข้อใด ?
            ก. ผิดศีลข้อ ๒                         ข. ผิดศีลข้อ ๓ กับข้อ ๔
            ค. ผิดศีลข้อ ๔                         ง. ผิดศีลข้อ ๓ กับข้อ ๕

๔. สทารสันโดษ  ใกล้กับสำนวนไทยข้อใด ?
            ก. เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร
            ข. หญิงหลายใจ ชายหลายรัก
            ค. ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน
            ง. ขี่ช้างจับตั๊กแตน

๕. ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับศีลข้อ ๓ ?
            ก. ความไว้วางใจกัน                ข. ความไม่แตกร้าว
            ค. ความปรารถนาดีต่อกัน          ง. ความพอใจในคู่ครอง

๖. การไม่ประพฤติผิดในกาม จัดเป็นสุจริตข้อใด ?
            ก. กายสุจริต                            ข. วจีสุจริต
            ค. มโนสุจริต                            ง. ถูกทุกข้อ

๗. กรณีคืนบาปพรหมพิราม สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดศีลข้อใด ?
            ก. ศีลข้อ ๑                              ข. ศีลข้อ ๒
            ค. ศีลข้อ ๓                              ง. ศีลข้อ ๕

๘. “รักตัวเอง รักครอบครัว อย่ามีภรรยาน้อย“ คำขวัญนี้ สนับสนุนให้ผู้ชายทุกคนรักษาศีลข้อใด ?
            ก. ศีลข้อ ๒                              ข. ศีลข้อ ๓
            ค. ศีลข้อ ๔                              ง. ศีลข้อ ๕

๙. คุณธรรมที่ทำให้ศีลข้อ ๓ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตรงกับข้อใด ?
            ก. ความมีสติตั้งมั่น                    ข. ความซื่อตรง
            ค. ความภักดี                           ง. ความสำรวมในกาม

๑๐. คนรักเดียวใจเดียว หากเป็นสตรี เรียกว่าอะไร ?
            ก. ปติวัตร                                ข. สทารสันโดษ
            ค. รักนวลสงวนตัว                      ง. ความมีน้ำใจงาม

๑๑. ผู้ประพฤติสำส่อนในกาม  ย่อมได้รับโทษอย่างไร ?
            ก. เกิดโรคร้าย                         ข. ร่างกายไม่แข็งแรง
            ค. ใกล้ต่ออันตราย                    ง. ถูกทุกข้อ

๑๒. สทารสันโดษ เป็นคุณสำหรับประดับชายประเภทใด ?
            ก. อายุต่ำกว่า ๑๘                   ข. แต่งงานแล้ว
            ค. โสด                                ง. สูงอายุ

๑๓. สามีภรรยาที่ครองคู่จนตลอดชีวิต ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกันไม่ นอกใจกัน เพราะตั้งตนอยู่ในกัลยาณธรรมข้อใด ?
            ก. เมตตาสงสาร                      ข. ความกตัญญู
            ค. อาชีพสุจริต                         ง. สำรวมในกาม

๑๔. จะหลีกเลี่ยงการละเมิดศีลข้อที่ ๓ ได้ เพราะมีอะไรสนับสนุน ?
            ก. ความซื่อตรง                        ข. ความสำรวมในกาม
            ค. ความมีสัตย์                         ง. ความมีสติรอบคอบ 

เฉลย   ๑. ง     ๒. ง     ๓. ข     ๔. ค     ๕. ค     ๖. ก     ๗. ค     ๘. ข     ๙. ง     ๑๐. ก     ๑๑. ง   ๑๒. ข  ๑๓. ง  ๑๔. ข

 

สิกขาบทที่ ๔ มุสาวาทา  เวระมะณี

            ศีลข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการพูดเท็จ มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้อง กันการทำลายประโยชน์ของท่านด้วย การพูดเท็จ และรักษากายวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของผู้อื่น ศีลข้อนี้มีข้อห้าม ๓ ประการ  คือ   
            ๑. มุสา          ๒. อนุโลมมุสา            ๓. ปฏิสสวะ

มุสา

            ได้แก่ การกล่าวความไม่จริง เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด การมุสานี้มิได้หมายเอาเฉพาะแต่ทางวาจาอย่างเดียว  ทางกายก็อาจเป็นได้เช่นกัน เช่น การเขียนหนังสือมุสา เป็นต้น มุสานี้มี ๗ ประเภทคือ
            ๑. ปด ได้แก่  กิริยาพูดเท็จโดยไม่มีมูล เช่น
                        - ส่อเสียด          การพูดยุให้คนอื่นแตกกัน
                        - หลอก            การพูดเพื่อจะโกงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ                                          
                        - ยอ                การพูดเพื่อยกย่องโดยไม่เป็นความจริง
                        - กลับคำ          การพูดแล้วภายหลังไม่รับว่าพูด
            ๒. ทนสาบาน  ได้แก่   กิริยาที่เลี่ยงคำสัตย์ว่าจะพูดเรื่องจริงแต่กลับพูดไม่จริง
            ๓. ทำเล่ห์        ได้แก่   กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกิน ความจริงเป็นอุบายหาลาภ
            ๔. มารยา        ได้แก่   กิริยาที่แสดงอาการหลอกให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
            ๕. ทำเลศ        ได้แก่   กิริยาที่พูดคลุมเครือให้ผู้ฟังเข้าใจผิด
            ๖. เสริมความ  ได้แก่   กิริยาที่พูดเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจเกินจากความจริง
            ๗. อำความ      ได้แก่   กิริยาที่พูดเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจน้อยกว่า ความเป็นจริง

 กล่าวโดยกรรม  มุสามีโทษตามวัตถุ  เจตนา ประโยค ดังนี้
            โดยวัตถุ   ข้อความนั้นเป็นเรื่องทำลายประโยชน์ท่าน  หรือกล่าวเท็จกับผู้มีคุณ  ผู้มีศีลธรรม  โทษหนัก 
            โดยเจตนา  มีจิตคิดพูดให้ร้ายแก่ท่าน  มีโทษหนัก
            โดยประโยค พยายามพูดให้เขาเชื่อได้สำเร็จ มีโทษหนัก

อนุโลมมุสา 

            ได้แก่ กิริยาที่พูดโดยเรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง  แต่ผู้พูดมิได้ จงใจให้ผู้อื่นเข้าใจผิด มี ๒ ประเภทคือ
            ๑. เสียดแทง  ได้แก่     กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นเจ็บใจ เช่น ด่า ประชด เป็นต้น
            ๒. สับปลับ    ได้แก่     กิริยาที่พูดด้วยความคะนองวาจา  มิได้จงใจให้ผู้ฟังเชื่อ

            กล่าวโดยกรรม   มีโทษหนักเป็นชั้น ๆ ดังนี้
            โดยวัตถุ           ข้อความเรื่องที่กล่าวแก่ผู้มีคุณ  มีโทษหนัก
            โดยเจตนา        พูดใส่ร้ายหวังให้เขาเจ็บใจ  มีโทษหนัก
            โดยประโยค      พูดพยายามทำความเสียหายให้แก่คนอื่นสำเร็จ  มีโทษหนัก
 

ปฏิสสวะ     

            ได้แก่  กิริยาที่พูดรับคำท่านแล้ว  ภายหลังไม่ทำตามคำพูดนั้น  มี ๓ ประเภท  คือ 
            ๑. ผิดสัญญา  ได้แก่  กิริยาที่สองฝ่ายทำสัญญาต่อกัน  ภายหลังอีกฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้วไม่ทำตามสัญญา
            ๒. เสียสัตย์  ได้แก่ กิริยาที่ให้ถ้อยคำแก่ท่านว่าจะประพฤติหรือไม่ประพฤติ  ภายหลังบิดพลิ้วไม่ทำตามคำพูดนั้น
            ๓. คืนคำ  ได้แก่ กิริยาที่รับว่าจะทำสิ่งนั้นๆ ภายหลังไม่ทำตามคำนั้น 

            ยังมีถ้อยคำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่จัดเป็นปฏิสสวะ  คือ ถอนคำ  ได้แก่ กิริยาที่รับคำท่านแล้ว ภายหลังไม่อาจกระทำได้ แต่ก็ได้บอก ให้ท่านทราบก่อน

 

มุสาวาทที่ไม่มีโทษ

            ถ้อยคำที่พูดตามลำดับความสำคัญของเรื่อง แต่ผู้พูดมีเจตนา บริสุทธิ์ เรียกว่า ยถาสัญญา ไม่จัดว่าเป็นมุสามี ๔ ประเภท คือ
            ๑. โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้กันตามธรรมเนียม  เช่น ข้อความลงท้ายจดหมาย ซึ่งผู้พูดมิได้จงใจ กล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิดและผู้ฟังก็มิได้สนใจว่าจริงหรือเท็จ  เป็นต้น
            ๒. นิยาย ได้แก่  เรื่องเปรียบเทียบเพื่อให้เป็นคติสอนใจ ซึ่งผู้พูดมุ่งหมายจะให้เข้าใจความได้ง่าย  หรือเพื่อทำความเพราะพริ้ง  ไม่มีเจตนาให้ผู้ฟังเชื่อ
            ๓. สำคัญผิด ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดสำคัญผิด พูดไปตามความสำคัญนั้นๆ แต่เมื่อรู้ว่าผิดก็บอกให้ท่านทราบ
            ๔. พลั้ง ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่ง แต่พูดไปอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีเจตนา

องค์แห่งมุสาวาท มี ๔ ประการ

            ๑. อะตะถัง  วัตถุ                       เรื่องที่พูดไม่จริง
            ๒. วิสังวาทะนะจิตตัง                  ตั้งใจพูดให้ผิด
            ๓. ตัชโช  วายาโม                    พยายามพูดให้ผิด
            ๔. ปรัสสะ ตะทัตถะวิชานะนัง        ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความนั้น

            ถ้าทำครบทั้ง  ๔  ประการ   ศีลขาดทันที ถ้าทำไม่ครบองค์ ศีลด่างพร้อย

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมข้อที่  ๔

๑. นิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ เป็นตัวอย่างของศีลข้อใด ? 
            ก. ศีลข้อ ๓                  ข. ศีลข้อ ๑ กับข้อ ๔
            ค. ศีลข้อ ๔                  ง. ศีลข้อ ๒ กับข้อ ๔

๒. ให้คำมั่นว่าจะเลิกเสพยาบ้า  แต่ยังเสพอยู่อีก ตรงกับข้อใด ?
            ก. ใจอ่อน                     ข. กลัวเสียเพื่อน
            ค. เสียสัตย์                   ง. ทนไม่ได้

๓. คำใด ตรงกับสำนวนไทยว่า พูดจนลิงหลับ ?
            ก. คำเพ้อเจ้อ               ข. คำส่อเสียด
            ค. คำเท็จ                     ง. คำหยาบ

๔. จงใจพูดให้ผู้อื่นเข้าใจผิด  แต่เขาไม่ได้ยิน  ผิดศีลข้อ ๔ หรือไม่ ?
            ก. ผิด เพราะมีเจตนาพูดเท็จ
            ข. ผิด เพราะพยายามพูดเท็จ
            ค. ไม่ผิด เพราะเรื่องนั้นจริง
            ง. ไม่ผิด เพราะไม่ครบองค์มุสาวาท

๕. พูดเท็จแก่ใคร มีโทษหนัก ?
            ก. ปู่  ย่า                      ข. พ่อ  แม่
            ค. ลุง ป้า                     ง. น้า  อา

๖. การแสดงความเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด  เกิดขึ้นทางใดบ้าง ?
            ก. ทางวาจาอย่างเดียว             ข. ทางวาจา  ทางใจ
            ค. ทางกาย ทางวาจา              ง. ทางกาย  วาจา ใจ

๗. การสั่นศรีษะปฏิเสธ ให้เขาเข้าใจผิด  จัดเป็นมุสาวาทหรือไม่ ?
            ก. ไม่เป็น  เพราะไม่ได้เปล่งวาจา
            ข. ไม่เป็น เพราะไม่ครบองค์มุสาวาท
            ค. เป็น เพราะมุ่งเจตนาอย่างเดียว
            ง. เป็น เพราะคนอื่นรู้เรื่องนั้น

๘. วาจาเช่นไร  ทำให้คนแตกสามัคคี ?
            ก. พูดเท็จ                                ข. พูดส่อเสียด
            ค. พูดคำหยาบ                         ง. พูดเพ้อเจ้อ

๙. ศีลข้อใด ทำให้ผู้รักษามีความซื่อตรง ?
            ก. เว้นลักทรัพย์                         ข. เว้นประพฤติผิดในกาม
            ค. เว้นพูดเท็จ                           ง. เว้นดื่มสุราเมรัย

๑๐. ผู้พิพากษาตัดสินให้ฝ่ายจำเลยชนะ เพราะกลัวจำเลยทำร้าย จัดเป็นผู้มีอคติข้อใด ?
            ก. ฉันทาคติ                             ข. โทสาคติ
            ค. โมหาคติ                              ง. ภยาคติ

๑๑. การตักเตือนให้สติ แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนคือ  ลักษณะของกัลยาณธรรมข้อใด ?
            ก. ความซื่อตรง                        ข. ความหวังดี
            ค. ความสวามิภักดิ์                   ง. ความกตัญญู

๑๒. ลูกรู้จักคุณมารดาบิดา  ข้ารู้จักคุณเจ้านาย  ศิษย์รู้จักคุณอาจารย์  ได้ชื่อว่าเป็นคนเช่นไร ?
            ก. คนเที่ยงธรรม                       ข. คนกตัญญู
            ค. คนซื่อตรง                            ง. คนจงรักภักดี

๑๓. คนเราอาจเสียความยุติธรรมได้ เพราะสาเหตุใด ?
            ก. เพราะความสัตย์                 ข. เพราะความกลัว
            ค. เพราะความซื่อตรง              ง. เพราะความกตัญญู

๑๔. สำนวนว่า  “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด  อยู่กับหมู่มิตรให้ ระวังวาจา“  สอนให้มีสติรอบคอบในเรื่องใด ?
            ก. อาหาร                                 ข. การงาน
            ค. การประพฤติตัว                       ง. ธรรม

๑๕. ลูกจ้างทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่หลบเลี่ยงจากการงาน ได้ชื่อว่าประพฤติเป็นธรรมในอะไร ?
            ก. นายจ้าง                               ข. บริษัท
            ค. เวลา                                    ง. หน้าที่

๑๖. พ่อค้าขายปุ๋ยปลอมไม่มีคุณภาพให้แก่ชาวนา ได้ชื่อว่าประพฤติไม่เป็นธรรมในข้อใด ?
            ก. ชาวนา                                 ข. วัตถุ
            ค. กิจการ                                 ง. หน้าที่

๑๗. คนมีพฤติกรรม “ปั้นน้ำเป็นตัว“ จะต้องแก้ด้วยการปฏิบัติตาม  กัลยาณธรรมข้อใด ?
            ก. ความปรารถนาดีต่อกัน 
            ข. การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ
            ค. ความซื่อสัตย์ต่อกัน      
            ง. ความมีสติรอบคอบ

๑๘.  สำนวนว่า “กำแพงมีหู ประตูมีช่อง“ มุ่งเน้นสอนให้ปฏิบัติ ตามหลักกัลยาณธรรมอย่างไร ?
            ก. รู้จักระวังการกระทำ              ข. รู้จักระวังคำพูด
            ค. รู้จักระวังความคิด               ง. ถูกทุกข้อ

๑๙. “มีเพื่อนดีเพียงหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา“ตรง กับความมีสัตย์ข้อใด ?
            ก. ความเที่ยงธรรม                  ข. ความซื่อตรง
            ค. ความสวามิภักดิ์                  ง. ความกตัญญู

๒๐. การทำลายประโยชน์คนอื่นด้วยคำพูด เกี่ยวข้องกับศีลข้อใด ?
            ก. ปาณาติบาต                       ข. อทินนาทาน
            ค. กาเมสุมิจฉาจาร                  ง. มุสาวาท 

เฉลย   ๑. ค     ๒. ค     ๓. ก     ๔. ง     ๕. ข     ๖. ค     ๗. ง     ๘. ข     ๙. ค     ๑๐. ง     ๑๑. ก  ๑๒. ข  ๑๓. ข  ๑๔. ค  ๑๕. ง  ๑๖. ข  ๑๗. ค  ๑๘. ข  ๑๙. ข  ๒๐. ง

 

สิกขาบทที่  ๕ สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา  เวระมะณี 

            ศีลข้อนี้แปลว่า  เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  น้ำเมาในที่นี้มี ๒ ประเภท  คือ
            ๑. สุรา ได้แก่  น้ำเมาที่กลั่นเพื่อให้เข้มข้นขึ้น เช่น เหล้า, บรั่นดี, วิสกี้
            ๒. เมรัย  ได้แก่  น้ำเมาที่เป็นเพียงของดอง เช่น เบียร์, ไวน์,    สาโท

            สาเหตุที่ทรงบัญญัติศีลข้อนี้  เพื่อป้องกันมิให้เกิดการขาดสติ  ทำให้เกิดความประมาทสามารถละเมิดศีลได้ทุกข้อ โทษของการดื่ม น้ำเมา ในพระบาลีท่านแสดงไว้ ๖ ประการ คือ
            ๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์          
            ๒. เป็นเหตุก่อการวิวาท
            ๓. เป็นเหตุให้เกิดโรค             
            ๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
            ๕. เป็นเหตุให้ประพฤติมารยาทที่น่าอดสู                   
            ๖. ทอนกำลังสติปัญญา

มหาประเทศ ๔

            พระพุทธองค์ทรงวางหลักสำหรับตัดสินสิ่งที่พระองค์มิได้บัญญัติไว้  เรียกว่า มหาประเทศ มี ๔ ประการ  คือ 
            ๑. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งไม่ควร  ขัดต่อสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นไม่ควร
            ๒. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  แต่เข้ากับสิ่งที่ควร  ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร  สิ่งนั้นควร
            ๓. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร  ขัดต่อสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นไม่ควร
            ๔. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร  สิ่งนั้นควร

            ดังนั้น สิ่งของมึนเมาอื่นๆ เช่น  เฮโรอีน  ฝิ่น  มอร์ฟีน  กัญชา เป็นต้น  ก็อนุโลมเข้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรในศีลข้อนี้

ของเมาที่ใช้โดยไม่มีโทษ  

            มีของเมาที่ใช้ได้โดยไม่มีโทษ ในกรณีดังต่อไปนี้  เช่น
            ๑. น้ำเมาที่ใช้ใส่ในอาหารจำนวนน้อย เพื่อปรารถนาดับกลิ่นคาว ไม่มีสี  กลิ่น ปรากฏให้รู้  เรียกว่า อัพโพหาริก
            ๒. มอร์ฟีน  ใช้โดยแพทย์  เพื่อเป็นยาระงับความปวด  ระงับทุกขเวทนา
            ๓. สุรา ใช้โดยแพทย์ เป็นกระสายยาจำนวนน้อย โดยไม่มีสีมีกลิ่นปรากฏให้รู้

องค์แห่งสุราเมรัย  มี ๔ ประการ

            ๑. มะทะนียัง                        วัตถุนั้นเป็นของเมา
            ๒. ปาตุกัมยะตาจิตตัง              มีจิตคิดจะดื่ม
            ๓. ตัชโช วายาโม                  พยายามดื่ม
            ๔. ปีตัปปะเวสะนัง                  ของเมาล่วงลำคอลงไป

            ถ้าทำครบทั้ง ๔ ประการ ศีลขาดทันที ถ้าไม่ครบองค์ ศีลด่างพร้อย

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมข้อที่ ๕

๑. การรณรงค์ให้คนไทยสวมผ้าชุดขาว  เพื่องดเว้นยาเสพติดเกี่ยว       ข้องกับศีลข้อใด ?
            ก. ศีลข้อ ๑                              ข. ศีลข้อ ๒
            ค. ศีลข้อ ๔                              ง. ศีลข้อ ๕

๒. ยาบ้าคนเสพถึงตาย  คนขายติดคุก แก้ได้ด้วยศีลข้อใด ?
            ก. ศีลข้อ ๕                              ข. ศีลข้อ ๔
            ค. ศีลข้อ ๒                              ง. ไม่มีข้อถูก

๓. จะขับรถให้งดดื่มสุรา  เพื่อประโยชน์ใด ตามหลักเบญจศีล ?
            ก. เพื่อไม่ให้เบียดเบียนกัน         
            ข. เพื่อไม่ให้แตกร้าวกัน
            ค. เพื่อให้มีสติสมบูรณ์              
            ง. ถูกทุกข้อ

๔. บางคนเมาสุราแล้ว  มีสติฟั่นเฟือน ชอบยกพวกชกต่อยกัน  ตรงกับโทษของการดื่มน้ำเมาข้อใด ?
            ก. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์           ข. เป็นเหตุก่อวิวาท
            ค. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง            ง. บั่นทอนกำลังปัญญา

๕. การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ก่อน ๔ ทุ่มเพื่อป้อง        กันการทำผิดศีลข้อใด ?
            ก. ศีลข้อ ๒                              ข. ศีลข้อ ๓
            ค. ศีลข้อ ๔                              ง. ศีลข้อ ๕

๖. ข้อใด เป็นลักษณะเด่นของคนที่ไม่ดื่มสุราเมรัย ?
            ก. มีสติรอบคอบ                      ข. มีความซื่อสัตย์
            ค. มีความขยัน                         ง. มีสมาธิแน่วแน่

๗. การดื่มสุรา เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมข้อใด ?
            ก. ศรัทธา                                 ข. สติ
            ค. ขันติ                                    ง. เมตตา

๘. พระท่านสอนว่า  ทุกคนไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น  ฟื้นไม่มีหนีไม่พ้น ชื่อว่าสอนให้ไม่ประมาทในอะไร ?
            ก. ในกุศลธรรม                        ข. ในสภาวธรรม
            ค. ในโลกธรรม                         ง. ในอกุศลธรรม

๙. ใช้เกินได้  จ่ายเกินมี เป็นความประมาทในอะไร ?
            ก. ในการบริโภค                      ข. ในการประพฤติตัว
            ค. ในการเป็นอยู่                      ง. ในธรรม

๑๐. คนมีสติรอบคอบ ดีอย่างไร ?
            ก. ทำอะไรไม่ผิดพลาด           ข. พูดอะไรไม่ผิดพลาด
            ค. คิดอะไรไม่ผิดพลาด            ง. ถูกทุกข้อ

๑๑. ข้อใด เป็นเหตุเสื่อมเสียจากการเที่ยวสถานอาบอบนวด ?
            ก. เสียทรัพย์                       ข. เกิดโรคติดต่อ
            ค. เกิดการวิวาท                   ง. ถูกทุกข้อ

เฉลย   ๑. ง     ๒. ก     ๓. ค     ๔. ข     ๕. ง     ๖. ก     ๗. ข     ๘. ข     ๙. ก     ๑๐. ง       ๑๑. ง

 

วิรัติ

            วิรัติ ได้แก่ การละเว้น  บุคคลผู้เว้นจากสิกขาบททั้ง ๕  ในเบญจศีล เรียกว่า ผู้มีศีล เป็นผู้มีกายวาจาสะอาดปราศจากโทษ  กิริยาที่ละเว้นมี ๓ ประเภท คือ
            ๑. สัมปัตตวิรัติ                        จัดเป็นส่วนโลกียะ
            ๒. สมาทานวิรัติ                       จัดเป็นส่วนโลกียะ
            ๓. สมุจเฉทวิรัติ                       จัดเป็นส่วนโลกุตตระ

สัมปัตตวิรัติ

            แปลว่า ความละเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า  หมายความว่า บุคคลผู้นั้นไม่ได้ตั้งสัตย์ปฏิญญาว่า  จะละเว้นจากข้อห้ามข้อนั้นๆ เป็นแต่เพียงเห็นว่าการกระทำนั้นไม่สมควรแก่ตน   จัดเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะประจำใจ  วิรัติประเภทนี้มียิ่งและหย่อนตามเวลาและเจตนา ของบุคคล  ส่วนบุคคลผู้ยังไม่มีโอกาสกระทำชั่วหากมีโอกาสก็ย่อม กระทำ ดังนี้  ไม่จัดเป็นวิรัติ 

สมาทานวิรัติ 

            แปลว่า ความละเว้นด้วยการถือหรือการรับเอาเป็นข้อปฏิบัติ   ได้แก่ ความละเว้นของบุคคลผู้ถือศีลเป็นนิตย์ หรือถือเฉพาะคราวที่สมาทานชั่วกาล ไม่เพียงแต่ละเว้นเพราะเห็นว่าไม่สมควรกระทำแต่เว้นเพราะการสมาทาน คือ การไม่ล่วงข้อห้ามนั้นด้วยการสมาทาน ได้แก่ การรับข้อปฏิบัติมาถือด้วยการถือเพศบ้าง   ด้วย การกล่าววาจาบ้าง

สมุจเฉทวิรัติ  

            แปลว่า ความละเว้นด้วยการตัดขาด ได้แก่  ความละเว้นของพระอริยเจ้า ผู้มีปกติไม่ประพฤติล่วงข้อห้ามเหล่านั้นตั้งแต่ท่านได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

ปัญหาและเฉลยเบญจศีล - เบญจธรรมหมวดวิรัติ

๑. เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด ละเว้นไม่เสพ เพราะเห็นว่าเป็น เรื่องไม่ดี  กิริยาที่ละเว้นนั้น เรียกว่าอะไร ?  
            ก. วิรัติ                         ข. เจตนา
            ค. ถือศีล                      ง. มีสติ

๒. วิรัติของพระอริยเจ้า ตรงกับข้อใด ?
            ก. สัมปัตตวิรัติ             ข. สมาทานวิรัติ
            ค. สมุจเฉทวิรัติ            ง. ถูกทุกข้อ

๓. ข้อใด  กล่าวถูกต้องตามความหมาย ?
            ก.  ผู้มีศีล ๕ ได้ชื่อว่ามีกัลยาณธรรม
            ข.  เบญจศีล มีวิรัติเป็นเครื่องคู่กัน
            ค.  กัลยาณธรรม คือการละเว้นข้อห้าม
            ง.  วิรัติ คือเจตนางดเว้นจากความชั่ว

๔. แสนเสน่ห์ตั้งใจเลิกดื่มสุราเมื่อเข้าพรรษา จัดเป็นวิรัติใด ?
            ก. สัมปัตตวิรัติ             ข. สมาทานวิรัติ
            ค. สมุจเฉทวิรัติ            ง. ถูกทุกข้อ

๕. อะไรเป็นเครื่องสนับสนุนศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ?
            ก. วิรัต                         ข. สุทจริต
            ค. ทาน                         ง. ภาวนา

เฉลย   ๑. ก     ๒. ค     ๓. ง     ๔. ข     ๕. ก

 

เบญจกัลยาณธรรม

            กัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมอันงาม เป็นข้อปฏิบัติพิเศษยิ่งกว่าศีล แต่ผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลจะชื่อว่าเป็นผู้มีกัลยาณธรรมทุกคนหาได้ไม่ เช่น ผู้มีศีลเห็นคนเป็นลมแน่นิ่งอยู่  โดยปราศจากผู้ช่วยเหลือ  ตนเองพอช่วยเหลือได้แต่ทำเมินเฉยเสีย เช่นนี้ ศีลของเขาไม่ขาดแต่ขาดความกรุณา  จัดว่าเป็นผู้ไม่มีกัลยาณธรรม  หากให้ความช่วยเหลือเขาจนพ้นอันตราย เช่นนี้  จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีทั้งศีลทั้งกัลยาณธรรม
            กัลยาณธรรมมี ๕ สิกขาบท  เรียกว่า เบญจกัลยาณธรรม  จัดเป็นคู่กับเบญจศีล  ดังนี้
            สิกขาบทที่  ๑  เมตตากรุณา    คู่กับศีลข้อที่  ๑
            สิกขาบทที่  ๒  สัมมาอาชีวะ    คู่กับศีลข้อที่  ๒
            สิกขาบทที่  ๓  ความสำรวมในกาม     คู่กับศีลข้อที่  ๓
            สิกขาบทที่  ๔  ความมีสัตย์                 คู่กับศีลข้อที่  ๔
            สิกขาบทที่  ๕  ความมีสติรอบคอบ     คู่กับศีลข้อที่  ๕

            จักได้อธิบายแต่ละสิกขาบทต่อไป

สิกขาบทที่ ๑  เมตตากรุณา

            เมตตากรุณา ได้แก่ ความคิดปรารถนาจะให้เขาเป็นสุขปราศจากทุกข์  แบ่งได้เป็น ๒  ประการคือ
            ๑. เมตตา  ได้แก่  ความคิดปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข ธรรมข้อนี้เป็นเหตุให้คิดเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
            ๒. กรุณา ได้แก่ ความคิดปรารถนาจะให้เขาปราศจากทุกข์  ธรรมข้อนี้เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน

            ความเมตตากรุณา เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนควรกระทำ  เพราะตนเองตั้งแต่เริ่มเกิดมา ก็ได้อาศัยความเมตตากรุณาของผู้อื่น  มีมารดาบิดา เป็นต้น เมื่อถึงเวลาตนเองก็สมควรที่จะแสดงความเมตตากรุณาแก่ผู้อื่นเป็นการตอบแทนไม่ควรเมินเฉยเสีย  หากไม่เกินกว่าความสามารถของตน หากผู้ใดสามารถแสดงความเมตตากรุณาได้  แต่ไม่ยอมแสดงชื่อว่าเป็นคนใจดำ เอาเปรียบโลก หวังอุปการะจากโลกฝ่ายเดียวเช่นนี้ไม่ควร ในการแสดงความเมตตากรุณา ผู้แสดงจะต้องเป็นผู้ที่
            ๑.  ฉลาดในอุบาย  จึงจะสำเร็จประโยชน์
            ๒.  ไม่ทำลายประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่น

            บุคคลผู้แสดงความเมตตากรุณาได้อย่างถูกต้องแล้ว  ย่อมอำนวยผลดีแก่ผู้แสดงและผู้ได้รับ  ทำให้เป็นผู้มีศีลมีธรรมอันงามขึ้น

สิกขาบทที่  ๒  สัมมาอาชีวะ

            สัมมาชีวะ ได้แก่  ความเพียรเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ  เป็นการอุดหนุนให้สามารถรักษาศีลให้มั่นคงบริสุทธิ์อยู่ได้  บุคคลผู้เว้นจากมิจฉาชีพแล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยการประพฤติเป็นธรรมในการหาเลี้ยงชีพ ๓ ประการ คือ
            ๑. การประพฤติเป็นธรรมในกิจการ ได้แก่ ทำกิจการใดๆ  ที่ได้รับมอบหมายด้วยความอุตสาหะตั้งใจทำให้สำเร็จด้วยดี ไม่บิด พลิ้วหลีกเลียงการงานที่ตนทำนั้น
            ๒. การประพฤติเป็นธรรมในบุคคล ได้แก่ ความเป็นผู้ซื่อตรง ต่อบุคคลทั่วไป ไม่หลอกลวง ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว
            ๓. การประพฤติเป็นธรรมในวัตถุ ได้แก่  ความเป็นผู้ซื่อตรง ต่อวัตถุ ไม่ปลอมปน ไม่หลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าวัตถุนั้นๆ เป็นของดีเยี่ยมเกินกว่าความเป็นจริง   ผู้เลือกอาชีพควรเว้นจากอาชีพที่ ประกอบด้วยโทษเสีย  เพราะทรัพย์ที่ได้มาจากการงานอันประกอบด้วยโทษนั้น  ไม่ยังประโยชน์ของทรัพย์ให้สำเร็จได้เต็มที่  อีกประการหนึ่ง  การงานที่จะต้องเสี่ยงโชค เช่น เล่นการพนันก็ไม่ควรเลือก เพราะอาจจะถึงฉิบหายได้ หากสำเร็จได้ทรัพย์มา  ทรัพย์นั้นก็ไม่ตั้งอยู่ถาวร เพราะเหตุ  ๒ ประการ คือ
            ๑. เป็นทรัพย์ที่ได้มาง่าย มีความเสียดายน้อย  จับจ่ายใช้สอย ง่าย
            ๒. มีความอยากได้ไม่มีสิ้นสุด

            ส่วนทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบการงานในทางที่สุจริต จะสร้างความเจริญมั่งคั่ง  เพราะเจ้าของทรัพย์ย่อมจะต้องเอาใจใส่คอยดูแลรักษาทรัพย์นั้นให้พ้นจากอันตรายต่างๆ รู้จักจับจ่ายใช้สอยแต่พอสมควรไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป  หรือเบียดเบียนตนเองจนเกินไป

สิกขาบทที่  ๓ ความสำรวมในกาม          

            ความสำรวมในกาม  ได้แก่  กิริยาที่ระมัดระวังไม่ประพฤติมักมากในกาม คุณข้อนี้ทำให้ผู้ประพฤติตามเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส มีสง่าราศี พ้นจากความติฉินนินทาได้ ธรรมข้อนี้จัดตามเพศของบุคคลได้เป็น  ๒  คือ
            ๑. สทารสันโดษ ความพอใจด้วยภรรยาของตน เป็นคุณสำหรับชาย
            ๒. ปติวัตร  ความจงรักภักดีความซื่อสัตย์ต่อสามีของตน  เป็นคุณสำหรับหญิง

            สทารสันโดษ ชายที่มีภรรยาแล้ว ยินดีอยู่แต่ในภรรยาของตน ไม่รักใคร่ยินดีกับหญิงอื่น ช่วยกันหาเลี้ยงชีพไม่ละทิ้งกัน ชื่อว่า สันโดษด้วยภรรยาของตน ส่วนผู้ไม่สันโดษด้วยภรรยาของตน  เที่ยวซุกซนกับหญิงแพศยา แม้ไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร แต่ก็เป็นเหตุแห่ง ความเสื่อมเสียแก่ตน ๓  สถาน คือ
            ๑. ต้องเสียทรัพย์เป็นค่าบำเรอหญิงนั้น
            ๒. เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัย อันอาจทำให้ร่างกายพิการไปต่าง ๆ
            ๓. เป็นเหตุใกล้ต่ออันตราย  เพราะอาจจะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับชายอื่น ๆ ได้

            ปติวัตร  หญิงที่มีสามีแล้วต้องเอาใจใส่ดูแลสามีของตน  ผู้เป็นภรรยาพึงกระทำให้ดีที่สุด และผูกสมัครรักใคร่สามีของตน  ไม่ ควรมีใจไปผูกพันกับชายอื่นที่ไม่ใช่สามีของตน  แม้หากว่าสามีตนเอง ตายไปแล้วแต่ยังรักใคร่ในสามีตนเองอยู่  ไม่มีจิตใจรักใคร่ในชายอื่นอีกต่อไป เช่นนี้ชื่อว่า ปติวัตร ประพฤติในสามีตนเป็นแบบอย่าง แก่หญิงทั้งหลายในภายหน้า

            ดังนั้นความสำรวมในกามจึงเป็นการส่องความประพฤติที่ดีงามของชายหญิงผู้มีศีลเป็นที่รัก

สิกขาบทที่  ๔ ความมีคำสัตย์

            ความมีคำสัตย์  ได้แก่  กิริยาที่ประพฤติตนเป็นคนตรง  มี  ๔  ประการ  คือ
            ๑. ความเที่ยงธรรม ได้แก่ ความประพฤติเป็นธรรมในกิจการ อันเป็นหน้าที่ของตน ไม่ประพฤติผิดด้วยอำนาจอคติ  ๔  ประการ  คือ
                        ๑. ฉันทาคติ     ลำเอียงเพราะรัก
                        ๒. โทสาคติ      ลำเอียงเพราะโกรธ
                        ๓. โมหาคติ      ลำเอียงเพราะหลง
                        ๔. ภยาคติ       ลำเอียงเพราะกลัว
            ความเที่ยงธรรมในหน้าที่เช่นนี้  เมื่อถึงโอกาสย่อมทำให้บุคคล นั้นเจริญด้วยลาภ  ยศ  สรรเสริญ  และมีความสุขที่ปราศจากโทษ 
            ๒. ความซื่อตรง ได้แก่ ความประพฤติตรงต่อบุคคลผู้เป็นมิตร  และต้องเว้นจากโทษ ๔ สถานคือ
                                    ๑. ปอกลอกเพื่อน                   
                                    ๒. ดีแต่พูด
                                    ๓. ประจบสอพลอ                              
                                    ๔. ชักชวนในทางเสื่อม เสีย

            นอกจากนั้นยังจะต้องประกอบด้วยคุณ  ๔  สถาน  คือ
                                    ๑. อุปการะเกื้อหนุนเพื่อน                   
                                    ๒. ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย
                                    ๓. ตักเตือนแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์
                                    ๔. มีความรักใคร่กันจริง
            ๓. สวามิภักดิ์ ได้แก่ ความจงรักภักดีในเจ้าของตน เมื่อยอม ยกบุคคลใดเป็นเจ้าของตนแล้ว เช่น ข้าราชการถือพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าของตน เป็นต้น ก็ประพฤติซื่อสัตย์ต่อบุคคลนั้น ทำกิจการอะไรก็ทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของตน  ช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ แม้ชีวิตก็ยอมสละได้ เช่นนี้ ชื่อว่ามีความสวามิ- ภักดิ์ในเจ้าของตน
            ๔. ความกตัญญู ได้แก่ ความเป็นผู้รู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้ว แก่ตน ยกย่องนับถือท่านผู้นั้น ไม่แสดงอาการลบหลู่ดูหมิ่น หรือยกตนตีเสมอท่าน ผู้รู้จักคุณของท่านผู้มีคุณและเคารพนับถือท่าน ได้ชื่อว่า คนกตัญญู

สิกขาบทที่  ๕ ความมีสติรอบคอบ

            ความมีสติรอบคอบ  ได้แก่  ความเป็นผู้มีสติตรวจตราไม่เลินเล่อประมาทในกิจการต่าง ๆ  ๔  สถานถือ
            ๑. ความรู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค  ได้แก่  รู้จักบริโภคอาหารไม่ให้มากจนเกินไป หรือบริโภคอาหารน้อยเกินไป  หรือบริโภคอาหารไม่เป็นเวลา การรู้จักประมาณในการซื้ออาหารบริโภคพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่เราหาได้ ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป  ไม่อดอยากจนเกินไปเช่นนี้ ชื่อว่า  รู้จักประมาณในอาหารที่จะบริโภค
            ๒. ความไม่เลินเล่อในการงาน  ได้แก่ การไม่ทอดธุระเพิกเฉยในการงาน  เอาใจใส่การงานให้ถูกต้องแก่กาลเทศะ ไม่ปล่อยให้เสื่อมเสีย  บุคคลผู้รู้จักกาลเทศะและไม่เลินเล่อเช่นนี้  ย่อมประกอบการงานมีผลไพบูลย์
            ๓. ความมีสัมปชัญญะในการประพฤติตัว  ได้แก่  ความรู้รอบคอบในกิจการต่างๆ  ตริตรองให้เห็นก่อนว่ามีคุณหรือมีโทษ มีประโยชน์ควรหรือไม่ควร  บุคคลผู้มีความรอบคอบในกิจการนั้นๆ  ย่อมทำอะไรไม่ผิดเป็นปกติในกิจที่เป็นวิสัยของตน
            ๔. ความไม่ประมาทในธรรม  ได้แก่ ความเป็นผู้มีสติ  เห็นว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องประสบกับความแก่ ความเจ็บและความตาย  เตรียมตัวป้องกันทุกข์ทั้ง ๓ ประการ  เช่นนี้ชื่อว่าไม่ประมาทในธรรม คือสภาวะอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก
            อีกประการหนึ่ง ความทุจริตคือความประพฤติชั่วด้วยกาย  วาจา ใจ และความสุจริต คือ ความประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ  ล้วนย่อมให้ผลแก่ผู้กระทำทั้งสิ้น  ผู้ไม่ประมาทคอยระวังตัวไม่ให้เกลือกกลั้วทุจริต หมั่นสะสมสุจริต เช่นนี้ชื่อว่าไม่ประมาทในธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
            อีกประการหนึ่ง มนุษย์ที่เกิดมาต้องประสบกับสิ่งที่เรียกว่า  โลกธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับโลกมี ๘ อย่าง คือ ลาภ ยศ  สรรเสริญ สุข จัดเป็นส่วนน่าปรารถนา เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์ จัดเป็นส่วนไม่น่าปรารถนา เมื่อตนเองประสบก็ไม่ยินดียินร้ายจนเกินกว่าเหตุ เช่นนี้ชื่อว่าธรรมที่เป็นธรรมดาสำหรับโลก
            ดังนี้จะเห็นได้ว่า ความมีสติรอบคอบจัดเป็นคุณประดับท่านผู้มีศีลเป็นที่รักให้ประพฤติตนดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป
            ดังนั้นบุคคลผู้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ได้ชื่อว่า  กัลยาณชน  คือ  คนที่มีความประพฤติดีงาม ควรเป็นที่นิยมยกย่องนับถือ และเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนทั้งปวง

Leave a comment

You are commenting as guest.


47371564
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
36580
54808
236327
46849926
857902
1172714
47371564

Your IP: 10.100.210.62
2024-11-21 16:03
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search