ศาสนพิธี หมวดที่ ๔ (จบ)

ปกิณกพิธี

            พิธีกรรมเบ็ดเตล็ดบางอย่างที่ชาวพุทธนิยมกัน แต่ยังไม่จัดเป็นหมวดหมู่เรียกว่า ปกิณกพิธี มีอยู่ ๕ ประการ คือ

            ๑.วิธีสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน
            ๒.วิธีไหว้ครูของนักเรียน
            ๓.วิธีจับด้ายสายสิญจน์
            ๔.วิธีบังสุกุลเป็น
            ๕.วิธีบอกศักราช

๑.วิธีสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน

            การสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน เป็นระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้โรงเรียนต่าง  ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทำการสวดมนต์ไหว้พระก่อนเรียนและหลังเลิกเรียน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีงามแก่เยาวชนของชาติ

ระเบียบพิธี

            ตอนเช้า เมื่อนักเรียนพร้อมกันที่หน้าเสาธงของโรงเรียน ให้หัวหน้านักเรียนสวดนำและผู้อื่นสวดตาม ดังต่อไปนี้
               อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,
               พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ. (กราบ)
               สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
               ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)
               สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
               สังฆัง นะมาติ. (กราบ)

               *หมายเหตุ    ถ้านั่งบูชาพระให้กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์   ถ้ายืนบูชาพระให้ก้มศีรษะลงปลายนิ้วมือจรดหน้าผาก

สวดบทนมัสการ

           (นำ)     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต (รับพร้อมกัน) อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
                      นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
                      นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.

บทพระพุทธคุณ

           (นำ)     อิติปิโส (รับพร้อมกัน) ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต    โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.

 

                                             (สวดทำนองสรภัญญะ)

              องค์ใดพระสัมพุทธ (รับพร้อมกัน) สุวิสุทธสันดาน
  ตัดมูลเกลสมาร บมิหม่นมิหมองมัว
  หนึ่งนัยพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
  ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร
  องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร
  โปรดหมู่ประชากร มละโอฆกันดาร
  ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
  ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย
  พร้อมเบ็ญจพิธจัก- ษุจรัสวิมลใส
  เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง
  กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปแห่งชายหญิง
  สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ
  ข้าขอประณตน้อม ศิระเกล้าบังคมคุณ
  สัมพุทธการุญ- ญภาพนั้นนิรันดร. (กราบ)

 

สวดบทพระธรรมคุณ

            (นำ)     สะวากขาโต (รับพร้อมกัน) ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.

                                                           (สวดทำนองสรภัญญะ)
      (นำ)  ธรรมะคือคุณากร (รับพร้อมกัน)  ส่วนชอบสาธร
  ดุจดวงประทีปชัชวาล  
             แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน
  สว่างกระจ่างใจมนท์  
             ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล
  และเก้ากับทั้งนฤพาน  
             สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร
  พิสุทธิ์พิเศษสุกใส  
             อีกธรรมต้นทางครรไล นามขนานขานไข
  ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง  
             คือทางดำเนินดุจคลอง ให้ล่วงลุปอง
  ยังโลกอุดรโดยตรง  
             ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง
  ด้วยจิตและกายวาจา. (กราบ)  

 

สวดบทสังฆคุณ

            (นำ)     สุปะฏิปันโน (รับพร้อมกัน) ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ  ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ปาหุเนยฺโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ.

                                       (สวดทำนองสรภัญญะ)
      (นำ)     สงฆ์ใดสาวกศาสดา  (รับพร้อมกัน) รับปฏิบัติมา
  แต่องค์สมเด็จภควันต์  
                เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน
  ระงับและดับทุกข์ภัย  
                โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร ปัญญาผ่องใส
  สะอาดและปราศมัวหมอง  
                เหินห่างทางข้าศึกปอง บ่มิลำพอง
  ด้วยกายและวาจาใจ  
                เป็นเนื้อหาบุญอันไพ- ศาลแด่โลกัย
  และเกิดพิบูลย์พูนผล  
                สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์
  อเนกจะนับเหลือตรา  
                ข้าขอนบหมู่พระศรา- พกทรงคุณา-
  นุคุณประดุจรำพัน  
                ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน
  อุดมดิเรกนิรัติศัย  
                จงช่วยขจัดโภยภัย อันตรายใดใด
  จงดับและกลับเสื่อมศูนย์. (กราบ)  

 

๒.วิธีไหว้ครูของนักเรียน

            การไหว้ครู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นการน้อมระลึกนึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้แก่ลูกศิษย์ การจะเริ่มกิจการใด ๆ ต้องมีการไหว้ครูก่อน การไหว้ครูของนักเรียนนิยมทำในช่วงเปิดเทอมแรก สิ่งของที่นำมาไหว้ครู คือ หญ้าแพรก ข้าวตอก และดอกมะเขือเป็นต้น

 

ระเบียบพิธี

๑.การจัดสถานที่
           -นิยมจัดที่หอประชุมของโรงเรียน
           -เตรียมโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ ธูปเทียน
           -จัดที่นั่งของประธานและที่นั่งของคุณครู
           -จัดที่นั่งของนักเรียน ๒.สิ่งของที่นักเรียนต้องเตรียม
           -พานดอกไม้ ธูปเทียนแพ จัดให้สวยงาม ชั้นละ ๒ พาน
           -กำหนดตัวแทนนักเรียนชั้นละ ๒ คน
           -นักเรียนท่องจำบทสวดมนต์ไหว้พระ บทไหว้ครู
           -เลือกตัวแทนนักเรียน ๑ คน เป็นผู้นำกล่าวคำไหว้ครู

๓.เมื่อถึงวันงาน
           -นักเรียนนั่งพร้อมกันที่หอประชุม นั่งเป็นแถวให้เรียบร้อย
           -ตัวแทนนักเรียนถือพาน นั่งประจำที่ให้ตรงกับพาน
           -เมื่อประธานและคณะครูมาถึงบริเวณพิธีให้นักเรียนลุกขึ้นยืนต้อนรับ
           -เชิญประธานจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
           -ประธานและคณะครูนั่งประจำที่
           -ตัวแทนนักเรียนนำกล่าวคำไหว้ครู ต่อจากนั้นนักเรียนว่าพร้อมกัน
           -เมื่อกล่าวคำไหว้ครูจบแล้ว ตัวแทนนักเรียน น้อมนำดอกไม้ ธูปเทียนแพเข้าไปมอบให้คุณครู และกราบ ๓ ครั้ง
           -ถอยหลังลุกขึ้นเดินกลับไปนั่งที่เดิม
           -ประธานให้โอวาท เป็นอันเสร็จพิธี

  บทสวดมนต์ไหว้พระก่อนไหว้ครู
  (อาจารย์ว่านำ นักเรียนว่าตาม)
  อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา.
  พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.(กราบ)
  สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม.
  ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)
  สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
  สังฆัง นะมามิ. (กราบ)

 

                                                           คำไหว้ครู
  (นำ) ปาเจราจะริยา โหนติ  (รับพร้อมกัน) คุณุตตะรานุสาสะกา
                                                     สวดทำนองสรภัญญะ
      (นำ)     ข้าขอประณตน้อมสักการ  (รับ)  บูรพคณาจารย์
  ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา  
                ทั้งท่านผู้ประสาทวิชชา อบรมจริยา
  แก่ข้าในกาลปัจจุบัน  
                ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
  ด้วยใจนิยมบูชา  
                ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
  ปัญญาให้เกิดแตกฉาน  
                ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
  อยู่ในศีลธรรมอันดี  
                ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
  แก่ชาติและประเทศไทย เทอญ ฯ  
  (นำสรุป) ปัญญาวุฑฒิกะเร เต เต ทินโนวาเท นะมามิหัง.

 

๓.วิธีจับด้ายสายสิญจน์

            สายสิญจน์ แปลว่า สายรดน้ำ ในปัจจุบันได้แก่สายที่ทำด้วยด้ายดิบ เป็นเส้นสีขาว พระสงฆ์ใช้ถือขณะประนมมือเจริญพระพุทธมนต์ วิธีการจับด้ายสายสิญจน์นั้น ต้องจับด้านในเข็ดสาวชักออกมาให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกันจากด้านหน้าในเข็ด จับออกครั้งแรกเป็น ๓ เส้น ถ้าต้องการให้สายใหญ่ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็น ๙ เส้น ในงานมงคลใช้สายสิญจน์ ๙ เส้น ไม่ใช้สายสิญจน์ ๓ เส้น

๔.วิธีบังสุกุลเป็น

            บังสุกุลเป็น หมายถึง การทำบุญที่เจ้าภาพต้องการบริจาคสิ่งของที่เนื่องด้วยกายของตน โดยเฉพาะผ้าอุทิศสงฆ์ให้เป็นผ้าบังสุกุล ปกตินิยมทำเมื่อป่วยหนัก เป็นการระลึกนึกถึงความตายจะได้ไม่ประมาท และเป็นการสั่งสมบุญให้แก่ตัวเองด้วย

ระเบียบพิธี

            เมื่อถึงวันงานเจ้าภาพควรปฏิบัติดังนี้
            -จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
            -อาราธนาศีลและรับศีล
            -ประธานสงฆ์นำคณะสงฆ์สวดมนต์
            -เมื่อสวดมนต์จบแล้ว เจ้าภาพหมอบลงตรงหน้าประธานสงฆ์ เอาผ้าขาวคลุมร่างกาย ผูกด้ายสายสิญจน์ข้างหนึ่งที่ผ้าขาว นำด้ายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งลาดลงตรงหน้าคณะสงฆ์ ในกรณีที่มีผ้าทอด พระสงฆ์จับผ้าบังสุกลพึงว่าคาถา บังสุกุลเป็น
            -ในกรณีที่ไม่มีผ้าทอด ประธานสงฆ์ว่าคาถาบังสุกุลเป็นแล้วดึงด้วยสายสิญจน์ให้ผ้าขาวที่คลุมร่างกายค่อย ๆ เลื่อนออกจากตัวผู้ที่ถูกบังสุกุล
            -ประเคนปัจจัยไทยธรรม คณะสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธี

๕.วิธีบอกศักราช

            วิธีบอกศักราช หมายถึง การบอกวัน เดือน ปี ก่อนที่จะแสดงพระธรรมเทศนา เพื่อให้ผู้ฟังเทศน์ทราบว่า เป็นวัน เดือน ปีอะไร การบอกศักราชนั้นนิยมบอกทั้งภาษาบาลีและคำแปล โดยบอกเป็นภาษาบาลีก่อนจึงแปลเป็นภาษาไทย ต่อจากนั้นจึงแสดงพระธรรมเทศนา

ปัญหาและเฉลย ปกิณกพิธี

๑.การสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียนกำหนดขึ้นโดย ...?
            ก.มหาเถรสมาคม                    ข.พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
            ค.กระทรวงศึกษาธิการ           ง.กระทรวงมหาดไทย

๒.สายสิญจน์ สำหรับใช้ในงานอะไร ?
            ก.งานทำบุญอายุ                      ข.งานทำบุญ ๗ วัน
            ค.งานทำบุญอัฐิ                       ง.งานทำบุญสามหาบ

๓.การไหว้ครู จัดเข้าในศาสนพิธีหมวดใด ?
            ก.กุศลพิธี                                ข.บุญพิธี
            ค.ทานพิธี                                ง.ปกิณกพิธี

เฉลย     ๑.ค       ๒.ก          ๓.ง

Leave a comment

You are commenting as guest.


46048643
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
6811
29842
129910
45568421
707695
1019588
46048643

Your IP: 44.200.122.214
2024-10-16 08:07
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search