วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

            วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นวิชาที่มีหลักการ เป็นเรื่องของความงามในการใช้ภาษา จึงเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องศึกษา และฝึกฝนให้มีประสบการณ์มากพอสมควรจึงจะมีความรู้ ความชำนาญในการใช้สำนวนภาษาที่ไพเราะและเหมาะสม อันจะทำให้เรียงความดีน่าอ่าน

ความหมายของคำว่า “เรียงความแก้กระทู้ธรรม”

            คำว่า “เรียงความแก้กระทู้ธรรม” ตัดบทเป็นเรียงความ/แก้/กระทู้ธรรม
            “เรียงความ” หมายถึง การกล่าวพรรณนาเนื้อความหรืออธิบายเนื้อความแล้วนำเอาเนื้อความมาต่อเชื่อมกัน โดยลำดับหน้าหลังให้ผู้อ่านได้อ่านรู้เรื่อง
            “แก้” หมายถึง การตอบหรือการเฉลยให้ตรงจุดของคำถามนั้น หรือการเปิดเผยสิ่งที่ปกปิดออกมาให้เห็น
            “กระทู้ธรรม” หมายถึง ปัญหาหรือคำถามที่เกี่ยวกับธรรมะ

 

ทำไมจึงต้องเรียนวิชากระทู้ธรรม

            การเรียนวิชานี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเรียนวิชานี้เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติของแต่ละบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพโดยทางการเขียน อันเป็นการแสดงออกแทนคำพูด ถือเป็นการสร้างบุคลากรใหม่ในด้านการเป็นนักพูด นักเขียน ในวงการพระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไป

ประโยชน์ของวิชากระทู้ธรรม

            ๑.เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติของตนเอง
            ๒.เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้เกี่ยวกับธรรมะ
            ๓.เป็นการแสดงออกซึ่งวาทะและสำนวนของผู้ที่ได้รับการศึกษา
            ๔.เป็นการถ่ายทอดวิชาการไปสู่อีกคนหนึ่งให้รู้และเข้าใจความ
            ๕.เป็นการพัฒนาด้านความรู้และปัญญาของตนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
            ๖.เป็นการสร้างบุคลากรในด้านศาสนาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกลายมาเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาต่อไป

 

ประเภทของกระทู้ธรรม

            กระทู้ธรรมของศึกษาชั้นตรี-โท-เอก นั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
            ๑.พุทธภาษิต เป็นดำรัสของพระพุทธเจ้าโดยตรง
            ๒.สาวกภาษิต เป็นคำพูดของพระสาวก มี ๒ ประเภท คือ เถรคาถา (พระภิกษุ) และเถรีคาถา (พระภิกษุณี)
            ๓.เทวตาภาษิต เป็นคำพูดของเทวดา
            ๔.อิสีภาษิต เป็นคำพูดของพวกฤาษี             ภาษิตทั้ง ๔ ประเภทนี้รวมเป็นคำกลาง ๆ ว่า “ธรรมภาษิต” คือเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยธรรมะนั่นเอง

 

กระทู้ธรรม ๒ ประเภท

            ๑.กระทู้ธรรมที่เป็นบุคลาธิษฐาน หมายถึง กระทู้ธรรมที่อ้างบุคคลเป็นที่ตั้งหรือยกเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลขึ้นมากล่าวเพื่อให้เข้าใจในธรรมะนั้น เช่น กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น

            ๒.กระทู้ธรรมที่เป็นธรรมาธิษฐาน หมายถึง กระทู้ธรรมที่อ้างธรรมะโดยตรงเป็นที่ตั้งไม่อ้างบุคคลคือยกเอาธรรมล้วน ๆ ขึ้นกล่าว เช่น ปะมาโท มัจจุโน ปะทัง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตายหรือ ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาป เป็นเหตุนำความทุกข์มาให้

โครงสร้างของกระทู้ธรรม

           ๑.กระทู้ตั้ง คือ กระทู้ธรรมที่เป็นปัญหาที่ยกขึ้นมาก่อน สำหรับให้แต่งแก้ เช่น สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง
           ๒.คำนำ คือ คำขึ้นต้นหรือคำชี้แจงก่อนจะแต่งต่อไป กล่าวคือ เมื่อยกคาถาบทตั้งไว้แล้ว เวลาจะแต่งต้องขึ้นอารัมภบทก่อนว่า “บัดนี้จักได้บรรยายขยายความตามธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติของสาธุชนผู้ใคร่ในธรรมสืบไป”
           ๓.เนื้อเรื่อง ต้องมีเนื้อหาสาระสำคัญ ลำดับเนื้อหาสาระให้ต่อเนื่องกันเป็นเหตุเป็นผล เมื่ออธิบายเนื้อเรื่องมาพอสมควรก็นำเอาข้อธรรม (กระทู้ธรรม) มาอ้างรับรองไว้เป็นหลักฐาน
           ๔.กระทู้รับ หมายถึง การยกเอาธรรมภาษิตขึ้นมารับรองให้สมเหตุสมผลกับกระทู้ตั้ง เพราะการแต่งเรียงความนั้นต้องมีกระทู้รับอ้างให้สมจริงกับเนื้อความที่ได้แต่งไป มิใช่เขียนไปแบบลอย ๆ
           ๕.บทสรุป หมายถึง รวบรวมใจความสำคัญของเรื่องที่ได้อธิบายมาแต่ต้นแล้วกล่าวสรุปลงสั้น ๆ หรือย่อ ๆ ให้ได้ความหมายที่ครอบคุลมถึงเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด

แนวทางการบรรยายของเรียงความกระทู้โดยปกติมี ๔ โวหาร

             ๑.พรรณาโวหาร โวหารบรรยายให้เกิดความเพลิดเพลิน
             ๒.บรรยายโวหาร อธิบายแจกแจงกระทู้ธรรมชี้เหตุผลให้เกิดวิริยะอุตสาหะในการนำไปปฏิบัติ
             ๓.เทศนาโวหาร ชี้แจงแสดงแนะนำให้เห็นผลดีผลเสีย และสอนให้ละการทำความชั่วทำแต่ความดี
             ๔.สาธกโวหาร การยกเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นข้อเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัยโดยมีหลักว่า
                     ก.ไม่ยกเรื่องของคนอื่นที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
                     ข.ไม่ยกเรื่องของตนเองมาเป็นข้อเปรียบเทียบ

 

หลักการแต่งกระทู้ ๓ ประการ

            ๑.การตีความหมายกระทู้ตั้ง ว่าหมายถึงอะไร กว้างแคบแค่ไหน ในกระทู้นั้นมีความหมายที่ต้องอธิบายกี่อย่าง เช่น อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย ชนะตนนั้นแล ประเสริฐ ในกระทู้นี้ต้องมีความหมายดังนี้
            ก.คำว่า “ตน” คืออะไร ตนในที่นี้ได้แก่อัตภาพร่างกายที่สมมติกันว่าเป็นคนได้แก่ กายกับจิต
            ข.คำว่า “ชนะตน” ได้แก่อะไร คือชนะใจตนเองไม่ให้ใจตกอยู่กับอำนาจกิเลสหรืออารมณ์ฝ่ายต่ำที่มาชักนำหรือครอบคลุมจิตใจของตนเองให้ได้นั่นเอง ถ้าใครชนะจิตใจของตนเองได้ก็ชื่อว่าชนะตน
            ค.คำว่า “ประเสริฐ” แปลว่า ดีกว่า เลิศกว่า เมื่อคนเราเอาชนะจิตใจของตนเองได้ ชื่อว่าได้รับความชนะที่ประเสริฐกว่าการชนะสงคราม หรือศัตรูภายนอก

            ๒.การขยายความให้ชัดเจน หมายถึง การขยายความให้ชัดเจนและแจ่มแจ้งออกไป เช่น ความชนะใจตนเองคืออะไรก็ขยายให้แจ่มแจ้งออกไปว่า ไม่ให้จิตใจของตนเองตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส คือความโลภ ความโกรธและความหลง ซึ่งจะเป็นสิ่งสนับสนุนให้จิตใจตนคิดไปในทางชั่ว ทางบาป ทางทุจริต และที่ว่าประเสริฐนั้น ก็คือการชนะจิตใจตนเองประเสริฐกว่าอย่างอื่น เพราะการชนะคนอื่นแม้ ๑๐๐ คน ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการชนะตนเพียงครั้งเดียว

            ๓.ตั้งเกณฑ์อธิบาย หมายถึง การอธิบายจะต้องมีหลักเกณฑ์อธิบายถึงผลดีผลเสียซึ่งจะเป็นเครื่องชี้ชัดลงไปให้เห็นว่า การชนะภายนอก เช่น ชนะคนตั้ง ๑๐๐ คน นั้นเป็นของไม่แน่นอน ภายหลังอาจจะกลับเป็นคนแพ้ได้ ส่วนการชนะตนเองนั้นเป็นการชนะโดยเด็ดขาด ชนะแล้วไม่กลับแพ้อีก

 

การแต่งกระทู้ธรรม มี ๒ แบบ คือ

            ๑.การแต่งแบบตีวง คือ การพรรณนาความไปก่อนแล้วจึงหวนเข้าเนื้อหาของกระทู้ธรรมนั้น ๆ กล่าวคือ การแต่งกระทู้แบบอธิบาย เริ่มต้นจากจุดอื่นซึ่งห่างไกลให้มีความสัมพันธ์เนื่องกันเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอนก่อนหลังตามลำดับจนกลมกลืนกับกระทู้ตั้งแล้วจึงอธิบายธรรมหรือกระทู้นั้น ยกเหตุอุปมาสาธกและเชื่อม กระทู้อื่นมารับให้สมกับข้อความอธิบายนั้น มากหรือน้อยตามกำหนดของสนามหลวงที่ได้บังคับไว้ในชั้นนั้นๆ (ธรรมศึกษา ตรี,โท, เอก) แล้วสรุปความ

            ๒.การแต่งแบบตั้งวง คือ การอธิบายความหมายของธรรมะก่อนแล้วจึงขยายความออกไป กล่าวคือ การอธิบายตรงจุดธรรมะที่เป็นกระทู้ตั้ง ไม่ต้องมีลีลาหรือว่าร่ายรำให้ยืดยาวพอเข้าถึงจุดก็อธิบายต่อไปเหมือนกับแบบตีวงนั้นเอง ผิดกันบ้างก็เพราะแบบตีวงต้องเริ่มจากจุดอื่นเข้ามาเท่านั้น

 

การใช้ภาษา

            ในการเขียนภาษาเรียงความ ผู้เขียนจะต้องพิถีพิถันการใช้ภาษาให้มาก ภาษาที่จะใช้ต้องเป็นภาษาเขียนเท่านั้นไม่เขียนด้วยภาษาพูด ซึ่งพอสรุปเพื่อจำง่าย ๆ คือ
            ๑.ต้องใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้อง
            ๒.ไม่ใช้ภาษาตลาด ภาษาแสลง ภาษาคำผวน
            ๓.ไม่ใช้ภาษาพื้นเมือง หรือภาษาถิ่น
            ๔.ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศปนภาษาไทย

 

ตัวอย่างของคำอารัมภบทในการแต่งกระทู้

           - บัดนี้จักได้บรรยายขยายความตามธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติแห่งสาธุชนผู้ใคร่ในธรรมสืบต่อไป
           - บัดนี้จักอธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ตั้งเป็นอุทเทสไว้เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติของท่านพุทธมามกะ ผู้ฝักใฝ่ในธุระทั้ง ๒ ประการในศาสนา คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ อันเป็นกิจที่จะต้องกระทำในพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งประกอบตนและผู้อื่นให้ได้ประสบสิ่งที่ตนปรารถนาเป็นลำดับต่อไป

ตัวอย่างของคำพูดก่อนกล่าวอ้างสุภาษิตอื่นมาเชื่อม

            ๑.สมด้วยภาษิตที่มาใน.............ความว่า
            ๒.สมด้วยความแห่งคาถาประพันธ์พุทธภาษิตใน.......................ความว่า

ตัวอย่างของคำขึ้นต้นตอนสรุป

            สรุปความว่า......../ รวมความว่า...................../ ประมวลความว่า....................../

 

พุทธศาสนสุภาษิต

อัตตวรรค คือ หมวดตน

  ๑.อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน  พหุนาปิ น หาปเย  
      อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา.  
          บุคคลไม่ควรพล่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน.
   ที่มา: (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๒.อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา   ยถญฺญมนุสาสติ  
      สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.  
          ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่าตนแลฝึกยาก.
   ที่มา:  (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๓.อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย  
      อถญฺญมนุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต.  
          บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง.
   ที่มา : (ขุททกนิกาย ธรรมบท)

กัมมวรรค คือ หมวดกรรม

  ๔.อติสีตํ อติอุณฺหํ อติสายมิทํ อหุ  
  อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว.  
          ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว.
    (ทีฆนิกาย ธรรมบท)
       
  ๕.อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฺฌติ  
  เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ.  
          เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก เขาเดือดร้อนเพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๖.ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ  
  กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.  
          บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว.
    (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
       
  ๗.โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ  
  อตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา.  
          ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึก (คุณของเขา), ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย.
    (ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต)
       
  ๘.โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ  
  อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา.  
          ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน ย่อมสำนึก (คุณของเขา) ได้ ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ.
    (ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต)
       
  ๙.โย ปุพฺเพ กรณียานิ ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ  
  วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ.  
          ผู้ใด ปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ) หักไม้กุ่ม ฉะนั้น.
    (ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต)
       
  ๑๐.สเจ ปุพฺเพกตเหตุ สุขทุกฺขํ นิคจฺฉติ  
  โปราณกํ กตํ ปาปํ ตเมโส มุญฺจเต อิณํ.  
          ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น.
    (ขุททกนิกาย ชาดก ปัญญาสนิบาต)
       
  ๑๑.สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน วิหึสติ  
  อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ.  
          สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๑๒.สุขกามานิ ภูตานิ โย ทณฺเฑน น หึสติ  
  อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส ลภเต สุขํ.  
          สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)

ขันติวรรค คือ หมวดอดทน

  ๑๓.อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ  อตฺถาวโห ว ขนฺติโก  
         สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก.  
          ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น, ผู้มีขันติ ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน.
    (สวดมนต์ฉบับหลวง)
       
  ๑๔.เกวลานํปิ ปาปานํ  ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ  
        ครหกลหาทีนํ มูลํ ขนฺติ ขนฺติโก.  
          ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น, ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้.
    (สวดมนต์ฉบับหลวง)
       
  ๑๕.ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี  ยสสฺสี สุขสีลวา  
         ปิโย เทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก.  
          ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
    (สวดมนต์ฉบับหลวง)
       
  ๑๖.สตฺถุโน วจโนวาทํ  กโรติเยว ขนฺติโก  
        ปรมาย จ ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก.  
         ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาด้วยพระชินเจ้าบูชาอันยิ่ง.
    (สวดมนต์ฉบับหลวง)
       
  ๑๗.สีลสมาธิคุณานํ  ขนฺติ ปธานการณํ  
        สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา  ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต.  
          ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น.
    (สวดมนต์ฉบับหลวง)

ปัญญาวรรค คือ หมวดปัญญา

  ๑๘.อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส พลิวทฺโทว ชีรติ  
         มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ.  
          คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่ อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ.  
     (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๑๙.ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ อปิ วิตฺตปริกฺขยา  
        ปญฺญาย จ อลาเภน วิตฺตวาปิ น ชีวติ.  
          ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้ แต่อับปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้.  
    (ขุททกนิกาย เถรคาถา)
       
  ๒๐.ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน  วิธานวิธิโกวิโท  
         กาลญฺญู สมยญฺญู จ  ส ราชวสติ วเส.  
          ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการงาน รู้กาลและรู้สมัย เขาพึงอยู่ในราชการได้.
    (ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต)
       
  ๒๑.ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ  
         นกฺขตฺตราชาริว ตารกานํ    
         สีลํ สิรี จาปิ สตญฺจ ธมฺโม    
         อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ.   
         คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา.
    (ขุททกนิกาย ชาดก จัตตาฬีสนิบาต)
       
  ๒๒.มตฺตาสุขปริจฺจาคา  ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ  
          จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.  
          ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
       
  ๒๓.ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน  
         อตฺตโน จ ปเรสญฺจ หึสาย ปฏิปชฺชติ.  
           คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น.
    (ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต)
       
  ๒๔.ยาวเทว อนตฺถาย  ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ  
          หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ.  
           ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย  มันทำสมองของเขาให้เขว  ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)
  ๒๕.โย จ วสฺสสตํ ชีเว  ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต  
           เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน.  
          ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ดีกว่า.
    (ขุททกนิกาย ธรรมบท)

เสวนาวรรค คือ หมวดคบหา

  ๒๖.อสนฺเตนูปเสเวยฺย สนฺเต เสเวยฺย ปณฺฑิโต  
         อสนฺโต นิรยํ เนนฺติ  สนฺโต ปาเปนฺติ สุคตึ.  
           บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบสัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ
    (ขุททกนิกาย ชาดก วิสตินิบาต)
       
  ๒๗.ตครํ ว ปลาเสน    โย  นโร อุปนยฺหติ  
          ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ  เอวํ ธีรูปเสวนา.  
          คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด การคบกับนักปราชญ์ก็ฉันนั้น
    (ขุททกนิกาย ชาดก วีสตินิบาต)
       
  ๒๘. น ปาปชนสํเสวี อจฺจนฺตสุขเมธติ  
          โคธากุลํ กกณฺฏาว  กลึ ปาเปติ อตฺตนํ.  
           ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้ เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
    (ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต)
       
  ๒๙.ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล  
        โอวาเท จสฺส ติฏเฐยฺย ปตฺเถนฺโต  อจลํ  สุขํ.  
          ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง  พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน
    (ขุททกนิกาย เถรคาถา)
       
  ๓๐.ปูติมจฺฉํ  กุสคฺเคน โย นโร อุปนยฺหติ  
         กุสาปิ ปูติ วายนฺติ  เอวํ  พาลูปเสวนา.  
          คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น
    (ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต)
       
  ๓๑.ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ ยาทิสญฺจูปเสวติ  
        โสปิ  ตาทิสโก  โหติ สหวาโส หิ ตาทิโส.  
          คบคนเช่นใดเป็นมิตร และสมคบคนเช่นใด เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น. 
    (ขุททกนิกาย ชาดก วิสตินิบาต)
       
  ๓๒.สทฺเธน จ เปสเลน จ    
          ปญฺญวตา พหุสฺสุเตน จ    
          สขิตํ หิ กเรยฺย  ปณฺฑิโต    
          ภทฺโท สปฺปุริเสหิ สงฺคโม.    
          บัณฑิต พึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก มีปัญญาและเป็นพหูสูตเพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ.
    (ขุททกนิกาย เถรคาถา)

Leave a comment

You are commenting as guest.


49552744
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
11905
74778
127761
49159770
692394
1074106
49552744

Your IP: 203.172.157.80
2025-01-21 10:28
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search