6.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 6)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 6)

 

การปรุงประโยค

          นักศึกษาได้ทราบมาแล้วว่า การแต่งไทยเป็นมคธนั้นจะต้องอาศัย หลักและวิธีการหลายอย่าง จึงจะสามารถแต่งได้ดี ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรจะได้ทราบในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องการปรุงศัพท์ต่างๆ เข้าเป็นประโยค หรือที่รู้กันว่าวิธีการเรียง ศัพท์ในประโยคแต่ละศัพท์หรือแต่ละกลุ่มศัพท์ ยังมีลีลาและแบบแผน เฉพาะตัวอีกต่างหาก ซึ่งศัพท์หรือกลุ่มศัพท์ในลักษณะนี้เมื่อนำมาปรุงเป็นประโยค จะต้องพิถีพิถันให้ถูกต้องตามลีลาแบบแผนทางภาษา มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นมคธไทยหรือไม่ได้อรรถรสทางภาษาของเขาไป

          ข้อนี้จึงจำเป็นต้องนำเรื่องการปรุงประโยคนี้ มาแสดงเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากวิธีการแต่งไทยเป็นมคธที่แสดงไว้แล้วในบทก่อน ในบทนี้จักแสดงเฉพาะวิธีการและลีลาแบบแผนการปรุงประโยคบางประโยค

ที่เห็น และพบกันบ่อยในปกรณ์ทั้งหลาย ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประโยค แบบ เพราะถือว่ามีแบบแผนที่ค่อนข้างตายตัวแล้ว หากจะแต่งเป็นอย่างอื่นไป แม้จะได้ความหมายตามที่ต้องการ แต่ก็ผิดความนิยมทางภาษา เมื่อผิดความนิยมไปอย่างนี้ก็ถือว่าแต่งผิดไม่เป็นที่ยอมรับ ของผู้รู้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนักศึกษาจำต้องทราบความนิยมทางภาษาเช่นนี้ไว้ด้วย เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นนักแต่งไทยเป็นมคธที่ดี และรักษาแบบแผนไว้ได้ โดยจะแสดงประโยคเช่นนี้เป็นประโยคๆ ไป

 

 

ประโยคพุทธพจน์

         ประโยคพุทธพจน์ คือ ข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีหลักฐาน อ้างอิงได้ เมื่อมีข้อความเช่นนี่ในสำนวนไทยที่กำหนดให้แต่ง พึงระวังและต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ มีข้อที่นิยมปฏิบัติดังนี้

 

          ๑. ในกรณีที่สำนวนไทย มีข้อความที่บ่งว่าเป็นพระพุทธพจน์จริง นิยมแต่งให้ถูกต้องตรงกับข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แม้สำนวน ไทยนั้นจะแปลหรือให้ความหมายไม่ตรงกับพระพุทธพจน์นัก ก็ต้องแต่งให้ถูกพระพุทธพจน์ ถึงจะตัดสำนวนไทยที่เกินพุทธพจน์ออก ก็ต้องทำ และข้อวามนั้นนิยมแต่งอยู่ภายใน “อิติ” เพื่อเป็นหลักฐานว่าเป็น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้จริง เช่น

ไทย

: การอนุโมทนาในโรงฉัน เป็นพระบรมพุทธานุญาต มี

 

  พระบาลี เป็นหลักยืนยันอยู่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรา

 

  อนุญาตอนุโมทนาในโรงฉัน ดังนี้

มคธ

: ภตฺตคฺเค หิ อนุโมทนากถา พุทฺเธน อนุญฺญาตา

 

  โหติ ฯ วุตฺตญฺเหตํ ภควตา อนุชานามิ ภิกฺขเว ภตฺตคฺเค

 

  อนุโมทิตุนฺติ ฯ

 

          ๒.ในกรณีที่สำนวนไทยอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้ นักศึกษาพึงพิจารณาเนื้อความเสียก่อนว่าเป็นพระพุทธพจน์จริงหรือไม่ หรือเป็นแต่อ้างถึงเท่านั้น ส่วนเนื้อความเป็นการอธิบายขยายความของผู้แต่งหนังสือนั้นเอง หาใช่พระพุทธพจน์แท้ไม่ อย่างนี้นิยมแต่งเป็นประโยคที่ไม่มี “อิติ” แต่แต่งเป็นประโยคบอกเล่าธรรมดา คือ เป็นสำนวนอธิบายขยายความตามปกติ ผู้รู้ผู้อ่านย่อมทราบได้เองว่า เนื้อความตอนนื้มิใช่พระพุทธพจน์ แต่เป็นสำนวนของผู้แต่ง เช่น

 

ไทย

: ฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทานพระบรมพุทโธ-

 

  วาท โดยนัยให้นรชาติเอาใจใส่ป้องกันรักษาทำนุบำรุง

 

  เกาะ คือ ถิ่นฐานที่พำนักของตน อย่าปล่อยให้ห้วงนํ้า คือ

 

  อันตรายท่วมท้นได้เช่นนั้น ด้วยองคสมบัติ ๔ ประการ

 

  คือ ด้วยความหมั่นเอาใจใส่ ๑ ด้วยความไม่ประมาท-

 

  เลินเล่อ ๑ ด้วยความระวัง ๑ ด้วยความปราบปราม ๑

มคธ

: เตเนว ภควา โลกนาโถ ยถา ปริสฺสยสงฺขาโต โอโฆ

 

  นาภิกีรติ, ตเถว อตฺตโน อตฺตโน นิวาสภูตคามาทิ-

 

  สงฺขาตสฺส ทีปสฺส อภิปาลนตฺถาย เจว อภิวฑฺฒนตฺถาย

 

  จ อุปมาวเสน ฯเปฯ อิเมหิ จตูหิ ธมฺเมหิ พุทฺธปริสาย

 

  โอวาทานุสาสนึ อทาสิ ฯ

 

          ตามตัวอย่างข้างต้น ท่านปรุงประโยคใหม่ด้วยการตีความ แล้วตัดความ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ “อิติ” ในประโยคหากแต่งเป็นประโยค “อิติ” ตามสำนวนไทย เช่น แต่งว่า เตเนว ภควา “นโร หิ....อิเมหิ จตูหิ ธมฺเมหิ อตฺตโน อตฺตโน นิวาสภูตคามาทิสงฺขาตํ ทีปํ อภิปาเลยฺยาติ พุทฺธปริสาย   โอวาทานุสาสนึ อทาสิ ฯ ย่อมเป็นการ แสดงว่าข้อความใน “อิติ” ทั้งหมดเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าจริงๆ ข้อนี้ขอให้นักศึกษาพึงทำความเข้าใจให้ดีเถิด จะเข้าถึงความนิยมทางภาษาได้อย่างแจ่มแจ้ง

          กล่าวโดยสรุปว่า ประโยคที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น หากไม่แน่ใจ หรือจำพระพุทธพจน์ไม่ได้ ก็ไม่ควรปรุงประโยคเป็นรูปมี “อิติ” หรือ ที่วงการบาลีเรียกว่า ประโยคเลขนอกเลขใน ควรตีความและตัดแต่งความเสียใหม่แล้วปรุงให้มีรูปประโยคตามปกติ โดยที่เนื้อความไม่เสียไปมากนัก อันนี้ก็อยู่ที่ความฉลาดสามารถในการตีความและตัดความสำคัญ

 

 

ประโยคแบบ

           ประโยคแบบ คือ ประโยคที่ท่านปรุงรูปประโยคไว้คงที่ ไม่ เปลี่ยนแปลงยักเยื้องไปต่างๆ เหมือนรูปประโยคอื่นๆ ถือว่าเป็นความนิยมทางภาษาไปโดยปริยาย เมื่อพบที่ไหนก็จะมีรูปอย่างนั้น ประโยคแบบดังกล่าวนี้ มีไม่มากนัก ขอให้นักศึกษาจำรูปประโยคไว้ให้แม่นยำ เพื่อสะดวกในการปรุงประโยค ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดใหม่ เมื่อสำนวนไทยเข้าลักษณะประโยคแบบนั้น ก็จะแต่งไปตามแบบที่มีอยู่ได้เลย สำนวนอย่างนี้ไม่นิยมแต่งรูปประโยคขึ้นมาใหม่ตามที่คิดขึ้นเอง แม้จะรักษาความไว้ได้ แต่ก็ผิดแบบอยู่ดี ตัวอย่างประโยคแบบที่พึงจดจำมี ดังนี้

 

๑. ประโยคต้นเรื่อง เช่น

- ติ ธมฺมเทสนํ สตฺถา วิหรนฺโต  อารพฺภ กเถสิ ฯ

- เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา

 

๒. ประโยคคอคาถา เช่น

- อนุสนฺธึ คเหตฺวา ธมฺมํ เทเสนฺโต อิมํ คาถมาห ฯ

- อนุสนฺธึ ฯเปฯ อิมา คาถา อภาสิ ฯ

- .....ติ วตฺวา อิมํ คาถมาห ฯ

 

๓. ประโยคตั้งเอตทัคคะ

ตั้งชาย

: เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ ขิปฺปาภิญฺญานํ,

 

  ยทิทํ พาหิโย ทารุจีริโย ฯ

ตั้งหญิง

: เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขุนีนํ

 

  (หรือ อุปาสิกานํ).....ยทิทํ

เช่น

: เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวิกานํ อุปาสิกานํ ธมฺมกถิกานํ,

 

  ยทิทํ ขุชฺชุตฺตรา ฯ

 

๔. ประโยคถาม – ตอบสุขทุกข์

ถาม

: เตปิ ภิกฺขู สาวตฺถิยํ คนฺตฺวา “กจฺจิ ภิกฺขเว ขมนียํ,

 

  กจฺจิ ยาปนียํ น จ ปิณฺฑิเกน กิลมิตฺถาติ วุตฺตา ฯ

ตอบ

: ขมนียํ ภนฺเต, ยาปนียํ ภนฺเตติ ฯ

ถาม

: เถรา ภิกฺขู เยน มหาปชาปติ โคตมี เตนุปสงฺกมึสุ,

 

  อุปสงฺเกมิตฺวา มหาปชาปติ โคตมึ เอตทโวจุ “กจฺจิ

 

  เต โคตมิ ขมนียํ, กจฺจิ ยาปนียนฺติ ฯ

ตอบ

: น เม อยฺยา ขมนียํ, น ยาปนียํ ; อิงฺฆ อยฺยา

 

  ธมฺมํ เทเสถาติ ฯ

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search