31.บทที่ ๖ การแปลงประโยคและการล้มประโยค (การล้มประโยคโดยวิธีขยายประโยค)

 

การล้มประโยค โดยวิธีขยายประโยค

          เนื้อความไทยในบางประโยคอาจขยายเป็น ๒ ประโยค ในภาษา มคธได้ โดยวิธีแยกตอนใดตอนหนึ่งออกมาตั้งประโยคใหม่ มีบทประธาน บทกิริยาครบถ้วน เป็นประโยคโดยสมบูรณ์ การทำเช่นนี้ เรียกว่า ล้มประโยคโดยวิธีขยายประโยค ซึ่งก็ได้แก่การเพิ่มประโยค ย ต เข้ามานั่นเอง

          เนื้อความที่อาจขยายประโยคได้ ได้แก่ เนื้อความของบทที่มีบทขยายอยู่ เช่น ขยายประธาน ขยายกิริยา ขยายกรรม เป็นต้น บทขยายเหล่านี้อาจนำมาสร้างเป็นประโยคใหม่ซ้อนขึ้นมา โดยวิธีเพิ่ม ย ไว้ต้นประโยค และเพิ่ม ต ไว้ประโยคท้ายเท่านั้น ส่วนจะมีรูป ย ต เป็นอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่เนื้อความในตอนนั้นจะบ่ง

ขอให้ดูตัวอย่างจากประโยคภาษาไทยก่อน เช่น ประโยคว่า

: นายแดงผู้กำลังป่วยหนักได้รับการรักษาอย่างดี

อาจแยกเป็น ๒ ประโยคได้ว่า

(๑) นายแดงกำลังป่วยหนัก

(๒) นายแดงได้รับการรักษาอย่างดี

 

: พระภิกษุดำได้ทำกรรมอันหนักซึ่งทำได้ยาก อาจแยกเป็น ๒ ประโยคได้ว่า

(๑) พระภิกษุดำได้ทำกรรม

(๒) กรรมอันหนักซึ่งทำได้ยาก

 

ดูประโยคภาษาไทยกับภาษามคธเปรียบเทียบกัน

        : บุคคลผู้ทำบาปกรรมไว้มาก ย่อมไปสู่ทุคติ

: พหุํ ปาปกมฺมํ กโรนฺโต ทุคฺคติ คจฺฉติ ฯ

(๑) บุคคลทำบาปกรรมไว้มาก

         (โย) พหุํ ปาปกมฺมํ กโรติ ฯ

(๒) บุคคลย่อมไปสู่ทุคติ

         (โส) ทุคฺคต คจฺฉติ ฯ

 

: ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ท่านต้องการทุกอย่าง

: สพฺพํ ตยา อิจฺฉิตํ ทมฺมิ ฯ

(๑) ข้าพเจ้าจะให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

(ตํ) สพฺพํ ทมฺมิ ฯ

(๒) สิ่งที่ท่านต้องการ

(ยํ) ตยา อิจฺฉิตํ ฯ

เมื่อกลับแล้วจะเป็น ยํ ตยา อิจฺฉิตํ, ตํ สพฺพํ ทมฺมิ ฯ ต่อไปนี้จักแสดงวิธีการโดยละเอียด

 

ตัวอย่างขยายวิเสสนะ

          บทวิเสสนะของทุกบท เช่น วิเสสนะของบทประธาน ของบทกรรม ของบทขยายกิริยา ซึ่งออกสำเนียงแปลว่า “ผู้ ที่ ซึ่ง มี อัน” หรืออย่างอื่น

          เมื่อต้องการทำให้เป็นประโยคใหม่ซ้อนเข้ามา มีวิธีทำดังนี้

          (๑) เพิ่ม ย เข้ามาในประโยคแรก จะมีรูปเป็นอย่างไรก็แล้วแต่จะสร้างประโยค และแล้วแต่ว่าจะให้ประโยค ย นั้น ขยายบท อะไรในประโยคหลัง เช่น ถ้าขยายบทประธาน ย ก็เป็นบทประธานในประโยค

          (๒) กิริยาในประโยค ย ถ้าบทวิเสสนะเดิมเป็น ต อนฺต มาน ปัจจัย ก็ให้เปลี่ยนเป็นกิริยาอาขยาต หรือ กิริยากิตก์ที่คุมพากยได้ โดยรักษากาลไว้เหมือนเดิม ถ้าเป็นวิเสสนะธรรมดาๆ ก็ทำให้เป็นรูปวิกติ­กัตตา แล้วใส่กิริยา ว่ามี ว่าเป็น มาเป็นกิริยาคุมพากย์

 

ดูตัวอย่างประกอบ

 

ตัวอย่างขยายประธาน

: กุลบุตร ผู้ไม่รู้แม้สถานที่เกิดภัตร จักรู้ชื่อซึ่งการงานอะไร

เดิม = ภตฺตุฏฺฐานฏฺฐานํปิ อชานนฺโต กุลปุตฺโต กมฺมนฺตํ นาม กึ ชานิสฺสติ ฯ (๑/๑๒๖)

เป็น = โย ภตฺตุฏฺฐานฏฺฐานํปิ น ชานาติ, โส กุลปุตฺโต นาม กึ ชานิสฺสติ ฯ

 

: แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้อยู่ประจำทิศ ออกพรรษาแล้ว เข้าไปเฝ้าพระอานนท์ อ้อนวอนว่า...

เดิม = ทิสาวาสิโนปิ ปญฺจสตา ภิกฺขู วุตฺถวสฺสา อานนฺทตฺเถรํ อุปสงกมิตฺวา ฯเปฯ ยาจึสุ ฯ (๑/๕๕)

เป็น = เย ปญฺจสตา ภิกฺขู ทิสาวาสิโนปิ โหนฺติ,  เต วุตฺถวสฺสา อานนฺทตฺเถรํ อุปสงกมิตฺวา ยาจึสุ ฯ

 

ตัวอย่างขยายกรรม

: ครั้งนั้น ลิงตัวหนึ่งเห็นช้างนั้นผุดลุกผุดยืน ทำอภิสมาจาริกวัตรพระตถาคตเจ้าอยู่ ฯ

เดิม = อเถโก มกฺกโฏ ตํ หตฺถึ อุฏฺฐาย สมุฏฺฐาย ตถาคตสฺส อภิสมาจาริกํ กโรนฺตํ ทิสฺวา.....(๑/๕๕)

เป็น = อเถโก มกฺกโฏ, โย หตฺถี อุฏฺฐาย สมุฏฺฐาย ตถาคตสฺส อภิสมาจาริกํ กโรติ, ตํ ทิสฺวา.....

 

ตัวอย่างขยายบทเหตุ

          (๑) เพิ่ม ยสฺมา ตสฺมา เข้ามาแทน ตาย ตฺตา ภาเวน หรือ โต ในประโยคซึ่งตัดออกไป

          (๒) ศัพท์ที่เข้าสมาสกับ ตาย ตฺตา เป็นต้น ถ้าเป็นรูปกิริยาอยู่แล้วก็ให้เป็นกิริยาคุมพากยได้เลย โดยจะคงรูปไว้อย่างเดิม หรือ เปลี่ยนเป็นกิริยาอาขยาตก็ได้ ถ้ามีบทนามอยู่ด้วย เช่น ทินฺนทานโต ก็ให้กลับบทนามนั้นเป็นบทประธาน

          (๓) บทฉัฏฐีวิภัตติ ที่แปลว่า “แห่ง” ในเนื้อความตอนนั้น ให้กลับเป็นรูปประธาน

          (๔) บทประธานใหญ่ ให้นำไปไว้ในประโยค ต ตัวอย่าง

ความไทย  : ท่านเศรษฐีตั้งชื่อลูกชายคนนั้นว่า ปาละ เพราะบุตรนั้น ตนอาศัยต้นไม้เจ้าป่าที่ตน บริบาลได้มา
เดิม = เสฏฺฐี อตฺตนา ปาลิตํ วนปฺปตึ นิสฺสาย ลทฺธตฺตา ตสฺส ปาโลติ นามํ อกาสิ ฯ (๑/๓)
เป็น = ยสฺมา อตฺตนา ปาลิตํ วนปฺปตึ นิสฺสาย ลทฺโธ ตสฺมา เสฏฺฐี ตสฺส ปาโลติ นามํ อกาสิ ฯ
ความไทย : พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ ไม่อาจเรียนคันถธุระได้ เพราะข้าพระองค์บวชเมื่อภายแก่
เดิม = ภนฺเต มหลฺลกกาเล ปพฺพชิโตมฺหิ คนฺถธุรํ ปูเรตุํ น สกฺขิสฺสามิ ฯ (๑/๗)
เป็น = ยสฺมา ภนฺเต มหลฺลกกาเล ปพฺพชิโตมฺหิ, ตสฺมา หิ คนฺถธุรํ ปูเรตุํ น สกฺขิสฺสามิ ฯ

 

          ยังมีสำนวนไทยอีกแบบหนึ่ง ที่นิยมนำมาแต่งเป็นประโยคใหม่ ได้ คือ สำนวน แปลสาธนะ เช่นที่แปลว่า “เป็นที่ เป็นเครื่อง เป็นแดน เป็นเหตุ” เป็นต้น เมื่อพบสำนวนประเภทนี้ พึงรู้ว่าท่านแปลตัด มาจาก ย ต คือ ตัด ย ต ออก หรือแปลให้สร้างประโยคใหม่ได้ ฉะนั้นเวลาจะประกอบเป็นประโยค ย ต พึงทำดังนี้

          (๑) ในประโยค ย ย จะมีรูปเป็นวิภัตดิอะไร ก็ให้ดูที่คำแปลใน สำนวนเป็นหลัก ถ้าท่านแปลว่า “เป็นที่” ให้มีรูปเป็น ยตฺถ ถ้าแปลว่า “เป็นแดน” ให้มีรูปเป็น ยสฺมา แปลว่า “เป็นเครื่อง เป็นเหตุ” ให้มีรูปเป็น เยน เป็นต้น ส่วนวจนะ หรือลิงค์ให้ยักเยื้องไปตามเนื้อความ

          (๒) ในประโยค ต ต ศัพท์ จะประกอบเป็นวิภัตติอะไรก็แล้ว แต่ความตอนนั้นว่าทำหน้าที่ขยายอะไร ไม่กำหนดตาม ย

 

ขอให้ดูตัวอย่างประกอบ

: แม้ภิกษุเหล่านั้น ฯลฯ ในวันรุ่งขึ้นเข้าไปบิณฑบาต ณ ถนนซึ่งเป็นที่อยู่ของน้องชายพระเถระ

: เตปิ ฯเปฯ ปุนทิวเส ยตฺถ เถรสฺส กนิฏฺโฐ วสติ, ตํ วีถึ ปิณฺฑาย ปวิสึสุ ฯ (๑/๑๓)

: ท่านทั้งหลาย จงทำบุญอันเป็นเครื่องให้สัตว์ทั้งหลายไป สู่สุคติกันเถิด

: เยน ปุญฺเญน สตฺตา สุคติ ยนฺติ, ตํ กโรถ ฯ

          แสดงการล้มประโยคโดยวิธีย่อและขยายประโยค มาพอเป็นตัวอย่างดังนี้ เป็นการแสดงในส่วนที่เห็นว่าเป็นแบบทั่วไป แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียด และลุ่มลึกซับซ้อนมากมีกฎระเบียบที่จะกำหนดตายตัวได้ยาก แต่จัดเป็นลีลาและรสของภาษาที่ลึกขึ้งสูงสุดได้ ผู้จะเชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้ต้องเป็นนักสังเกตแบบที่ท่านใช้ อยู่ในปกรณ์ต่างๆ สังเกตทั้งความมคธ และความที่นิยมแปลกัน และ ต้องเป็นผู้แตกฉานในภาษาไทยด้วย คือ ต้องสามารถตีความภาษาไทย ตอนนั้นๆ ให้ได้ว่าท่านหมายความว่าอย่างไร และประโยคเนื้อความสิ้น สุดลงตรงไหน และเมื่อกลับเป็นภาษามคธแล้วแปลกลับมาสู่ภาษาไทย อีกครั้งหนึ่ง จะได้ความเท่าเดิมหรือไม่ เป็นต้น

          เพราะฉะนั้น กระบวนการแบบนี้ จึงเหมาะสำหรับนักศึกษา ผู้สนใจเป็นพิเศษ และเหมาะสำหรับนักศึกษาชั้นสูงๆ จะได้ฝึกฝนให้ชํ่าชองไว้เพื่อเป็นอุปการะในการแปล และแต่งไทยเป็นมคธของตน ทั้งยังเป็นอาหารสมองอันโอชะด้วย

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.





 


47370343
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
35359
54808
235106
46849926
856681
1172714
47370343

Your IP: 3.129.195.254
2024-11-21 15:40
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search