29.บทที่ ๖ การแปลงประโยคและการล้มประโยค (กัตตุ.-กัมม., กัมม.-กัตตุ.)

 

 

บทที่ ๖ การแปลงประโยคและการล้มประโยค

          การแปลงประโยค หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปประโยคเสียใหม่ โดยเปลี่ยนจากรูปประโยคกัตตุวาจก เป็นกัมมวาจก หรือจากกัมมวาจก เป็นกัตตุวาจก เป็นต้น แต่เปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปประโยคเท่านั้น มิได้เปลี่ยนความหมายด้วย เมื่อเปลี่ยนแปลงประโยคแล้ว ความหมายยังมีเท่าเดิม

          ส่วนการล้มประโยคนั้น หมายถึง การย่อ หรือขยายประโยคออก ไป เช่น ความเดิมเป็นประโยคเดียว แต่ขยายไปเป็น ๒ ประโยค หรือ ความเดิมเป็น ๒ ประโยค ย่อให้เหลือเพียง ๑ ประโยค โดยรักษาใจความเดิมเข้าไว้ได้ เป็นต้น

          การแปลงประโยคก็ดี การล้มประโยคก็ดี เป็นอุปการะสำหรับ นักศึกษาผู้จำแบบไม่ได้ว่า ข้อความตอนนี้เป็นประโยคกัตตุวาจก หรือ กัมมวาจก หรือเป็นกี่ประโยค เมื่อชำนาญเรื่องนี้แล้ว ก็อาจแต่งประโยคต่างๆ ได้โดยอิสระ โดยไม่เสียความ แต่การแปลงประโยคและการล้มประโยคนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก และอาจมิใช่วิสัยของนักศึกษาวิชาแปลไทยเป็นมคธใหม่ๆ ก็ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และซับซ้อน ขั้นสุดยอดของกระบวนการแต่ง หรือแปลไทยเป็นมคธ ผู้ใดเชี่ยวชาญในกระบวนนี้ ก็นับได้ว่าผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญในภาษามคธดี และจะสามารถผ่านวิชานี้ได้จนถึงขั้นสูงสุดโดยไม่ยากนัก

          ทั้งนี้เพราะผู้จะเชี่ยวชาญในกระบวนวิชานี้ได้ จะต้องใช้หลักวิชา การต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าไวยากรณ์ สัมพันธ์ หลักการเรียง หลักการใช้ศัพท์และสำนวนภาษา มาผสมกันอย่างกลมกลืน ไม่ผิดเพี้ยน สามารถปรุงประโยคเองได้โดยอิสระ โดยรักษาความไทยไว้มิให้เสีย และตัดต่อ แต่งเติมให้ประโยคถูกต้อง สละสลวยได้เอง โดยมิต้องยึดถือว่า จะต้องถูกตามแบบที่มีอยู่เสมอไป เพียงรักษาความและหลักวิชาไว้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ดังนี้ก็พอจะเห็นแล้วว่า กระบวนวิชานี้ยุ่งยาก ซับซ้อนเพียงใด

          แม้ว่าจะเป็นหลักวิชาขั้นสูงดังกล่าว ก็มิได้หมายความว่านักศึกษาวิชาแปลไทยเป็นมคธเบื้องต้น จะไม่ควรศึกษาให้รู้ไว้ การศึกษา ให้รู้ไว้นั้นย่อมเป็นอุปการะทั้งปัจจุบันและอนาคต หากเชี่ยวชาญ ชำนาญแต่ขั้นต้นๆ และสามารถใช้ให้เป็นประโยชนได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และส่อแววว่าจะเป็นผู้ฉลาดสามารถในมคธภาษาผู้หนึ่ง

          ต่อไปนี้จักแสดงวิธีการแปลงประโยค และการล้มประโยค พอ เป็นแนวทางตามสำตับ

 

 

 

วิธีแปลงประโยคกัตตุวาจกเป็นกัมมวาจก

          ดังกล่าวมาแล้วในบทก่อนว่า ในประโยคกัตตุวาจก ท่านเน้นตัว กัตตาเป็นตัวประธานของประโยค ในประโยคกัมมวาจก ท่านเน้นตัวกรรมเป็นประธานของประโยค แต่ถ้าความไม่ชัดเจนลงไปว่า เป็น กัตตุ หรือ เป็น กัมม. คือ อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง ก็อาจแต่งเป็นรูปประโยค ไปโดยอิสระได้ เช่น

          ความไทยเป็น กัตตุ. อาจแปลงเป็น กัมม.ได้ วิธีการแปลงประโยค เช่นนี้ พึงยึดถือหลักง่ายๆ จากตัวอย่างก่อน คือ

กัตตุวาจก : สูโท โอทนํ ปจติ ฯ

กัมมวาจก : สูเทน โอทโน ปจิยเต ฯ

          หลักนี้ถือว่าเป็นแม่บท ต้องจำให้ได้แม่นยำ ตามตัวอย่างนี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่ และควรถือว่าเป็นหลักในการแปลงประโยค กัตตุ. เป็น กัมม. เลยทีเดียว คือ

(๑) ประโยคที่จะแปลง กัตตุ.เป็น กัมม.ได้ จะต้องมีกิริยาคุมพากย์ เป็นสกัมมธาตุ (ธาตุเรียกหากรรม) เท่านั้น

(๒) บทกัตตา (ตัวประธาน) ในประโยค กัตตุ.จะต้องเป็นตัว อนภิหิตกัตตา ประกอบด้วยตติยาวิภัตติ เมื่อกลับเป็นประโยค กัมม.

(๓) บทกรรม (อวุตฺตกมฺม) ในประโยค กัตตุ. เมื่อกลับเป็นประโยค กัมม. จะต้องกลับเป็นตัว วุตฺตกมฺม (ตัวประธาน) ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ

(๔) บทกิริยา ในประโยค กัตตุ.จะต้องเปลี่ยนเครื่องปรุง คือ ปัจจัยใหม่ เพื่อให้เป็นกิริยาในประโยค กัมม. เช่น ถ้าเป็นกิริยาอาขยาต ก็ต้องลง ย ปัจจัย และลง อิ อาคมหน้า ย ถ้าเป็น กิริยากิตก์ ก็เป็น ต ปัจจัยเป็นต้น ตัวอย่างเช่น

ความไทย : ศิษย์ศึกษาศิลปะอยู่
กัตตุ.    : สิสฺโส สิปฺปํ สิกฺขติ ฯ
กัมม. : สิสฺเสน สิปฺปํ สิกฺขิยเต ฯ
ความไทย   : อุบาสกถวายสักการะแด่พระเถระอยู่
กัตตุ. : อุปาสโก สกฺการํ เถรสฺส เทติ ฯ
กัมม.  : อุปาสเกน สกฺกาโร เถรสฺส ทียเต (หรือ ทิยฺยเต)

               
          ตามตัวอย่างนี้ แสดงที่มีบทประกอบครบ คือ ประธาน กรรม กิริยา แต่ในความเป็นจริงอาจมีบทประกอบมากกว่านี้ หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ก็แล้วแต่ความในที่นั้นๆ และตัวอย่างนี้ก็แสดงเฉพาะปัจจุบันกาล หากเป็นอดีตกาล เมื่อแปลงเป็นกัมมวาจกแล้วอาจติดขัดด้วยเรื่องศัพท์ คือ ศัพท์ที่เป็นกัมมวาจกนั้น ในรูปกิริยาอาขยาตอดีตกาล ไม่นิยมใช้ หรือไม่มีใช้ ก็ให้แปลงเป็นกิริยากิตก์อดีตกาลก็ได้ เช่น

ความไทย : กุฏมพีนั้นได้ให้เครื่องบริหารครรภ์ แก่นางแล้ว
กัตตุ.  : โส ตสฺสา คพฺภปริหารํ อทาสิ ฯ (๑/๓)
กัมม. : เตน ตสฺสา คพฺภปริหาโร ทินฺโน
ความไทย : ผู้บอดเขลาเธอทำอย่างนี้ทำไม นางประกอบยาให้ครรภ์ตกแล้ว ให้เธอเพราะกลัว เธอจะเป็นใหญ่...
กัตตุ. : อนฺธพาเล กสฺมา เอวมกาสิ, อยํ ตว อิสฺสริยภเยน คพฺภปาตนเภสชฺชํ โยเชตฺวา เทติฯ (๑/๔๓)
กัมม.  : อนฺธพาเล กสฺมา เอวํ กตํ, อิมาย ตว อิสฺสริยภเยน คพฺภปาตนเภสชฺชํ โยเชตฺวา ทินฺนํ (ทิยฺยเต) ฯ
ความไทย : เพราะเหตุไรเธอจึงไม่บอกฉันว่าเธอตั้งครรภ์
กัตตุ.   : กสฺมา มยฺหํ คพฺภสฺส ปติฏฺฐิตภาวํ น กเถสิ ฯ (๑/๔๔)
กัมม. : กสฺมา มยฺหํ คพฺภสฺส ปติฏฺฐิตภาโว น กถิโต ฯ     

             

 

วิธีแปลงประโยคกัมมวาจกเป็นกัตตุวาจก

          วิธีแปลงประโยคกัมมวาจกเป็นกัตตุวาจก ก็มีนัยตรงข้ามกับวิธี แปลงประโยคกัตตุวาจกเป็นกัมมวาจกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมากจะใช้ในกรณีที่เน้นตัวกรรมเป็นประธานของประโยค และสำนวนไทย ในประโยคกัมมวาจกนั้น ส่วนมากจะแปลตัวอนภิหิตกัตตาก่อน ดูเหมือนจะมีลักษณะเป็นประโยคกัตตุวาจกอย่างนี้ แม้แบบท่านจะวางไว้เป็นกัมมวาจก ก็อาจแปลงเป็นกัตตุวาจกได้ โดยวิธีต่อไปนี้

(๑) ตัวอนภิหิตภัตตา คือ ผู้ทำกิริยานั้น จะต้องกลับเป็นตัวประธาน มีรูปเป็นปฐมาวิภัตติ (สูเทน เป็น สูโท)

(๒) ตัวกรรม (วุตฺตกมฺม) ซึ่งเป็นตัวประธาน จะต้องกลับเป็น ตัว อวุตฺตกมุม (ซึ่ง) ประกอบด้าย ทุติยาวิภัตติ (โอทโน เป็น โอทนํ)

(๓) ตัวกิริยา ซึ่งประกอบด้ายปัจจัยในกัมม. จะต้องประกอบด้วยปัจจัยในกัตตุ.ตัวใดตัวหนึ่งใน ๑๐ ตัว แล้วแต่ว่ากิริยานั้นจะอยู่ใน หมวดธาตุอะไร (ปจิยเต เป็น ปจติ)

(๔) ถ้ากิริยานั้นเป็นกิริยากิตก์ ต ปัจจัย อาจเปลี่ยนเป็นกิริยา อาขยาตในรูปอดีตกาลได้ แม้จะเพิ่ม อ อาคม เข้ามาด้ายก็ได้ไม่ผิด ตัวอย่าง

ความไทย : พ่อครัวหุงข้าวสุก
กัมม.    : สูเทน โอทโน ปจิยเต ฯ
กัตตุ.   : สูโท โอทนํ ปจติ ฯ

 

          หลักนี้ถือว่าเป็นแม่บทต้องจำให้ได้แม่นยำ และควรถือว่าเป็นหลักในการแปลงประโยคกัมม. เป็นกัตตุ.เลยทีเดียว

ดูตัวอย่างอื่นเทียบเคียง

ความไทย   : เดี๋ยวนี้เอง เราได้ยินเสียงขับอย่างหนึ่งแล้ว
กัมม. : อิทาเนเวโก คีตสทฺโท สูยิตฺถ ฯ (๑/๑๕)
กัตตุ. : อิทาเนเวกํ คีตสทฺทํ อสฺโสสิ ฯ หรือ
  : อิทาเนาาหํ เอกํ คีตสทฺทํ สุณึ
ความไทย   : เราส่งนามันไปเพื่อสงบ (โรค) เพียงครั้งเดียว
กัมม. : มยา เอกวาเรเนว รูปสมนตฺถํ เตลํ ปหิตํ ฯ (๑/๙)
กัตตุ. : อหํ เอกวาเรเนว รูปสมนตฺถํ เตลํ ปหิณึ
ความไทย   : เธอทําการตัดสกุลของฉันเสียแล้ว
กัมม. : ตยา เม กุลุปจฺเฉโท กโต ฯ (๑/๔๔)
กัตตุ. : ตฺวํ เม กุลุปจฺเฉทํ กริ (หรือ อกาสิ) ฯ

     

 

ข้อสังเกต

          ในการแปลงประโยคกัตตุวาจก เป็นกัมมวาจก ก็ดี แปลงประโยค กัมมวาจก เป็นกัตตุวาจก ก็ดี พึงทำเมื่อสำนวนสนามหลวงท่านแปลออกไม่ชัดเจนว่าจะเป็นประโยคใดแน่เท่านั้น ถ้าท่านแปลชัดเจนลงไป เพื่อเน้นประธานของประโยค อย่างนี้ก็ไม่ควรแปลงประโยค ควรแต่งไปตามสำนวนที่ท่านแปลไว้ อย่างเช่น

ประโยคสำนวนไทยว่า :

คุณเห็นพระเถระเฒ่าเท่านี้ แล้วยังไม่ทําแม้เพียงสามีจิกรรม

ควรแต่งเป็นรูปกัตตุ. ว่า :

เอตฺตเก มหลฺลกตฺเถเร ทิสฺวา สามีจิมตฺตมฺปิ น กโรสิ ฯ

ไม่ควรยักย้ายเป็นว่า :

เอตฺตเก มหลฺลกตฺเถเร ทิสฺวา สามีจิมตฺตมฺปิ น กริยเต ฯ

เพราะดูออกจะเป็นธรรมดาๆ ไป

ประโยคสำนวนไทยว่า :

การรับบริขาร ของพระเถระเหล่านั้น อันเธอถามด้วยความ เอื้อเฟื้อหรือ

ควรแต่งเป็นรูปกัมม.ว่า :

เตสํ ปริกขารคฺคหณํ  เต อาปุจฺฉิตํ ฯ (ตามสำนวนไทย)

ไม่ควรแต่งเป็นรูปกัตตุ. :

กึ ตฺวํ เตสํ ปริกฺขารคฺคหณํ อาปุจฺฉิ ฯ

 

          แต่ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าแต่งไปแล้วเป็นผิด หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ว่าท่านไม่นิยมทำเท่านั้น ส่วนในวิชาแต่งไทยเป็นมคธ สำหรับชั้น

ป.ธ ๙ ย่อมทำได้โดยอิสระ ไม่บังคับ ทั้งนี้เพื่อความเจริญทางภาษา ของผู้ศึกษานั่นเอง ในการแปลงประโยคเหตุกัตตุวาจก เป็นเหตุกัมมวาจกก็ดี แปลง ประโยคเหตุกัมมวาจก เป็นเหตุกัตตุวาจก ก็ดี พึงเทียบเคียงตามที่กล่าวมานี้ ข้อสำคัญ เมื่อแปลงแล้วต้องให้ได้รูปประโยคเป็นวาจกนั้นๆ ทั้งชุด มิใช่เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง ลักลั่นกันไป ทั้งนี่ให้ยึดรูปแบบวาจก ตามที่ปรากฏในหลักเป็นแบบตายตัว คือ

เหตุกัตตุ. : สามิโก สูทํ โอทนํ ปาเจติ ฯ
เหตุก้มม.   : สามิเกน สูเทน (สูทํ) โอทโน ปาจาปิยเต ฯ

 
          พึงสังเกตดูว่าในประโยควาจกเดิมนั้น ศัพท์ต่างๆ ประกอบด้วย วิภัตติ ปัจจัยอะไร ทำหน้าที่อะไรในประโยค เมื่อแปลงมาเป็นอีกวาจกหนึ่งแล้ว ศัพท์นั้นๆ จะต้องประกอบด้วยวิภัตติ ปัจจัยอะไร และทำหน้าที่อะไร

          ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแบบแผน โดยการเทียบเคียงแบบที่กล่าว มาแล้ว หากผิดจากนี้ ก็ให้อนุมานไว้ก่อนว่าประโยคที่แต่งนั้นผิด จะต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ให้เข้ารูป

          พึงดูตัวอย่างต่อไปนี้ เพื่อความคล่องแคล่วยิ่งขึ้น

เหตุกัตตุ.  : อาจริโย สิสฺสํ สิปฺปํ สิกขาเปติ ฯ
เหตุกัมม.  : อาจริเยน สิสฺเสน (สิสฺสํ) สิปฺปํ สิกฺขาปิยเต ฯ
เหตุกัตตุ.  : สุนนฺทา โปกฺขรณึ กาเรสิ ฯ
เหตุกัมม.  : สุนนฺทาย โปกฺขรณี การิตา ฯ
เหตุกัตตุ.  : สายณฺหสมเย ภิกฺขู ธมฺมสภายํ กถํ สมุฏฺฐาเปสุํ ฯ
เหตุกัมม.  : สายณฺหสมเย ภิกฺขูหิ ธมฺมสภายํ กถา สมุฏฺฐาปิตา ฯ

       
          ตามตัวอย่างที่แสดงมานี้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น แสดงเฉพาะศัพท์ สำคัญๆ ที่ต้องมีในประโยคเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามรูปวาจก แต่ในบางกรณีเนื้อความในประโยคมีบทขยาย คือ มีวิเสสนะของศัพท์ นั้นๆ ด้วย บทขยายนี้ก็ต้องเปลี่ยนรูปไปตามบทเจ้าของที่ตนสัมพันธ์เข้าด้วยเสมอ ดูตัวอย่างประกอบ

กัมม.  = ตุมฺเหหิ เตมาสํ เอกเกหิ ติฏฺฐนฺเตหิ จ นิสิทนฺเตหิ จ ทุกฺกรํ กตํ ฯ
กัตตุ. = ตุมฺเห เตมาสํ เอกกา ติฏฺฐนฺตา จ นิสิทนฺตา จ ทุกกรํ กริตฺถ ฯ
กัมม.  = สพฺเพ ทายกา ปฐมาคตสฺส ภิกขุโน ตํ ปตฺตํ อทํสุ ฯ
กัตตุ. = สพฺเพหิ ทายเกหิ ปฐมาคตสฺส ภิกขุโน โส ปตฺโต ทินฺโน ฯ

          สรุปความแล้ว ในเรื่องการแปลงประโยคต่างๆ นั้น นักศึกษา จำต้องตระหนักถึงแบบให้มั่นคง และมีความเข้าใจในการยักเยื้องบทต่างๆ คือบทกัตตา บทอนภิหิตกัตตา บทกรรม และบทกิริยาดีพอ เมื่อเข้าใจในกฎเกณฑ์เหล่านี้ดีแล้ว ก็จะสามารถแปลงประโยคได้ทุกกระบวนแล

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.





 


47369560
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
34576
54808
234323
46849926
855898
1172714
47369560

Your IP: 54.36.148.91
2024-11-21 15:25
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search