เทียบอักษรบาลีไทยเป็นโรมัน แบบราชบัณฑิตฯ

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ใดตั้งชื่อขึ้นมาแล้ว ก่อนที่ผู้นั้นจะนำไปใช้เรียกชื่อกันจริงๆ มีข้อที่ควรพิจารณาสองอย่างเกี่ยวกับการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน ประการแรกคือ สระที่ปรากฏอยู่ในชื่อคำไทยเมื่อถอดออกมาเป็นอักษรโรมันแล้วไม่ควรได้รูปเป็นสระผสม เพราะผู้อ่านอาจจะอ่านยากและอ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง ถ้ามีสระผสมสองตัวก็พออ่านกันได้ แต่ถ้ามีสระผสมรวมกันสามตัวก็คงอ่านยากแน่ๆ อีกประการหนึ่ง หลังจากท่านถอดสระจากชื่อคำไทยเป็นอักษรโรมันแล้วไม่ควรมีเครื่องหมาย ( - ) ขีดคั่นกลางระหว่างชื่อเพื่อแบ่งพยางค์ให้แยกอ่าน เพราะรูปคำในอักษรโรมันที่ปรากฏออกมาอาจดูแล้วยืดเยื้อและอักษรไม่สวย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อในลักษณะดังกล่าว

อนึ่งการตั้งชื่อคนนั้นควรตั้งชื่อให้มีความยาวไม่เกิน ๓ พยางค์ เพราะเมื่อถอดชื่อเป็นอักษรโรมันแล้วก็จะได้ประมาณแปดตัวอักษร ซึ่งพอดีกับจำนวนตัวอักษรที่ใช้ในการสร้างชื่อ (User Name หรือ User Account) เพื่อใช้ Log in เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานในองค์กร เพราะถ้าตัวอักษรยาวเกินแปดตัวก็จะถูกตัดให้เหลือไม่เกินแปดตัว ซึ่งเท่ากับว่าชื่อของคนๆนั้นมีตัวอักษรและเสียงอ่านไม่ครบตามชื่อที่เขียนจริง ถ้าคนๆนั้นเชื่อเรื่องโชคชะตาวาสนาก็คล้ายกับว่าชีวิตนี้เหมือนจะขาดอะไรไปสักอย่าง แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ชื่อที่สมมุติกันขึ้นมา เพราะในความเป็นจริง คนจะเจริญก้าวหน้าหรือไม่ก็อยู่ที่การกระทำเท่านั้น ต่อไปเป็นการเทียบเสียงสระไทยเป็นอักษรโรมันตามประกาศของราชบัณฑิตยสถาน

1.ตารางเทียบเสียงสระ

อักษร ตัวอย่าง
สระไทย โรมัน
อะ, –ั (อะ ลดรูป), รร (มีตัวสะกด), อา a ปะ = pa, วัน = wan, สรรพ = sap, มา = ma
รร (ไม่มีตัวสะกด) an สรรหา = sanha, สวรรค์ = sawan
อำ am รำ = ram
อิ, อี i มิ = mi, มีด = mit
อึ, อื ue นึก = nuek, หรือ = rue
อุ, อู u ลุ = lu, หรู = ru
เอะ, เ–็ (เอะ ลดรูป), เอ e เละ = le, เล็ง = leng, เลน = len
แอะ, แอ ae และ = lae, แสง = saeng
โอะ, –(โอะ ลดรูป), โอ, เอาะ, ออ o โละ = lo, ลม = lom, โล้ = lo, เลาะ = lo, ลอม = lom
เออะ, เ–ิ (เออะ ลดรูป), เออ oe เลอะ = loe, เหลิง = loeng, เธอ = thoe
เอียะ, เอีย ia เผียะ = phia, เลียน = lian
เอือะ, เอือ uea , เลือก = lueak
อัวะ, อัว, –ว– (อัว ลดรูป) ua ผัวะ = phua, มัว = mua, รวม = ruam
ใอ, ไอ, อัย, ไอย, อาย ai ใย = yai, ไล่ = lai, วัย = wai, ไทย = thai, สาย = sai
เอา, อาว ao เมา = mao, น้าว = nao
อุย ui ลุย = lui
โอย, ออย oi โรย = roi, ลอย = loi
เอย oei เลย = loei
เอือย ueai เลื้อย = lueai
อวย uai มวย = muai
อิว io ลิ่ว = lio
เอ็ว, เอว eo เร็ว = reo, เลว = leo
แอ็ว, แอว aeo แผล็ว = phlaeo, แมว = maeo
เอียว iao เลี้ยว = liao
ฤ (เสียง รึ), ฤๅ rue ฤษี , ฤๅษี = ruesi
ฤ (เสียง ริ) ri ฤทธิ์ = rit
ฤ (เสียง เรอ) roe ฤกษ์ = roek
ฦ, ฦๅ lue , ฦๅสาย = luesai

หมายเหตุ การเทียบเสียงสระ

  1. ตามหลักเดิม อึ อื อุ อู ใช้ u แทนทั้ง 4 เสียง แต่เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเสียง อึ อื กับ อุ อู จึงให้ใช้ u แทน อุ อู และใช้ ue แทน อึ อื
  2. ตามหลักเดิม เอือะ เอือ อัวะ อัว ใช้ ua แทนทั้ง ๔ เสียง แต่เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเสียง เอือะ เอือ กับ อัวะ อัว จึงใช้ ua แทน อัวะ อัว และ uea แทน เอือะ เอือ เพราะ เอือะ เอือ เป็นสระประสมซึ่งประกอบด้วยเสียง อึ หรือ อื (ue) กับเสียง อะ หรือ อา (a)
  3. ตามหลักเดิม เสียง อิว ใช้ iu และเอียว ใช้ ieu แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์นี้เสียงที่มีเสียง ว ลงท้ายและแทนเสียงด้วยตัว o ซึ่งได้แก่ เอา อาว (ao), เอ็ว เอว (eo), แอ็ว แอว (aeo) ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน อิว ซึ่งเป็นเสียง อิ กับ ว จึงแทนด้วย i + o คือ io ส่วนเสียง เอียว ซึ่งมาจากเสียง เอีย กับ ว จึงแทนด้วย ia + o เป็น iao
  4. ไม่มีคำที่ประสมด้วยสระเสียงนี้ใช้ในภาษาไทย

 

2.เทียบอักษรไทยเป็นโรมันแบบภาษาบาลี

ตามที่กล่าวแล้วในตอนต้น หลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันสามารถทำได้ ๒ แบบคือ แบบถ่ายเสียง ตามประกาศของราชบัณฑิตยสถานที่คนไทยเริ่มนิยมใช้กันเมื่อสิบปีเศษผ่านไปนี้เอง กับอีกแบบหนึ่งคือ แบบถอดอักขระตามวิธีเขียน ที่มักใช้กับชื่อเฉพาะคือชื่อ สถานที่ คำไทยแท้ คำบาลี-สันสกฤต เป็นต้น เช่น สุวรรณภูมิ = Suvarnabhumi, ทุเรียน = Durian, สิงห์ = Singha ซึ่งถ้าเป็นชื่อคนเมื่อถอดตามวิธีเขียนแล้วยังอ่านออกเสียงได้ถูกต้องก็จะทำให้รู้ความหมายได้ด้วย และเมื่อถอดรูปที่ปรากฏกลับคืนแล้วก็ยังเขียนได้ถูกต้องเหมือนเดิม แต่ถ้าถอดตามวิธีที่สองแล้ว คนอ่านมักอ่านไม่ออกหรืออ่านผิดบ่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ตกไฟล์การบินได้ ก็อาจใช้วิธีประสมกันทั้งสองแบบเพื่อให้อ่านได้ถูกต้อง แต่ถ้าผิดหลักไปมากก็ใช้การถอดอักขระตามแบบวิธีแรกจะดีกว่า เพราะจะได้เป็นมาตรฐานที่คนทั่วไปรู้กันอยู่แล้ว

ฐานที่เกิดเสียงอักขระ3 เทียบอักษรไทยเป็นโรมันที่ใช้เขียนบาลี2 ตัวอย่าง
อักษรไทยที่ใช้ในบาลี อักษรโรมัน
เกิดในคอ (วรรค กะ) ก ข ค ฆ ง k, kh, g, gh, ṅ  
ที่เพดาน (วรรค จะ) จ ฉ ช ฌ ญ c, ch, j, jh, ñ  
ปุ่มเหงือก (วรรค ฏะ) ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ṭ, ṭh, ḍ, ḍh, ṇ  
เกิดที่ฟัน (วรรค ตะ) ต ถ ท ธ น t, th, d, dh, n พุทธ = buddha
ริมฝีปาก (วรรค ปะ) ป ผ พ ภ ม p, ph, b, bh, m อภิสิทธิ์ = abhisit
เศษวรรค (เกิดในฐานนั้นๆ) ย ร ล ว ส ห ฬ อํ y, r, l, v, s, h, ḷ , ṁ ṃ หรือ ŋ ทุเรียน = durian
สระที่ใช้ในบาลี ( ฯลฯ ) อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ a, ā, i, ī, u, ū, e, o  

ส่วนการถอดชื่ออักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบภาษาบาลีนั้น เป็นการถอดตามหลักสัทศาสตร์และตามหลักวิธีเขียน เพราะตัวต้นกับตัวสะกดใช้ตัวเดียวกัน ซึ่งถ้าชื่อใครสามารถถอดได้ตามแบบนี้แล้ว และยังอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง ก็ถือว่ายอดเยี่ยมไม่เหมือนใครเท่ไปอีกแบบ สรุปง่ายๆก็คือวิธีแรกใช้เป็นแบบมาตรฐาน (Standard) วิธีที่สองเป็นแบบติดยศ (Advance) ดังนั้นชื่อเฉพาะจึงต้องใช้เป็นแบบ Advance เพราะถ้าเขียนแบบ ป.๑ ก็จะขาดองค์ประกอบที่จะพึงได้อีกหลายอย่าง ไม่เชื่อลองไปศึกษาชื่อสนามบินที่ใช้คำว่า สุวรรณภูมิ = Suvarnabhumi กันดูแล้วจะรู้ว่ามีนัยอันลึกซึ้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร

 

บทความโดย : www.needformen.com
อ้างอิง : 1.ราชบัณฑิตยสถาน. (ม.ค.2542). "หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง". www.royin.go.th
2.พระมหาประยุทธ์ ป. อารยางกูร. (2 มี.ค.2506). "ภาค 2 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ".
3.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. "บาลีไวยากรณ์ อักขรวิธี ภาคที่๑ สมัญญาภิธานและสนธิ".

  • Author: admin
  • Hits: 32848
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search