39.เบ็ดเตล็ด ตอนที่ ๒ (จบเล่ม)

 

เบ็ดเตล็ด ตอนที่ ๒

 

ข้อควรปฏิบัติในการสอบ

          การสอบ ถือว่าเป็นกระบวนการชั้นสุดท้ายของการศึกษา ในแต่ละปีแต่ละชั้น เป็นการวัดผลว่าผู้เรียนมีความรู้เพียงใดแค่ไหน มี ความสามารถเหมาะสมกับภูมิชั้นนั้นๆ หรือไม่ เพราะการสอบเป็นการตัดสินว่า ผู้นั้นสมควรได้รับการพิจารณาให้เลื่อนชั้น เลื่อนประโยคได้

          ดังนั้น การสอบ จึงถือว่าเป็นกิจอันสำคัญสุดท้ายที่นักศึกษา จะต้องตระหนักให้ดี ไม่ควรทำเล่นๆ หรือ ทำเป็นเล่น แบบที่พูดกัน สนุกๆ ปากว่า “สอบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา” เพราะ การทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่ให้ผลดีอะไรแก่ตัวผู้สอบแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเวลา และทรัพย์สินด้วย

          ในการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลดีนั้น ผู้ศึกษาพึงดำเนินตามข้อปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

 

ข้อปฏิบัติก่อนสอบ

          ๑. พึงดูหนังสือให้เสมอต้นเสมอปลายมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษาและ ดูให้หมดดูให้ละเอียดทุกๆ บรรทัด ทุกเรื่องและทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเรื่องง่าย ไม่ควรประมาทว่าเรื่องนี้ ตอนนี้ง่าย จะไม่ต้องดูก็ได้ เพราะปรากฏว่ามีผู้สอบตก เพราะข้อสอบง่ายๆ มามากแล้ว

          ๒. พึงฝึกฝนทําแบบฝึกหัดบ่อยๆ พึงเขียนบ่อยๆ จะได้เคยชิน หากศึกษาวิชาแปลไทยเป็นมคธเอง พึงหัดเรียนจากภาษาไทยที่เขาแปลไว้แล้ว เช่น “เผด็จ” เป็นต้น ไม่ควรดูแต่ภาษาบาลีอย่างเดียว

          ๓. พึงมีความมั่นใจในการสอบทุกครั้งว่า การสอบครั้งนี้แม้จะ เป็นครั้งแรก ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงไปได้ เพราะศึกษามาดีแล้ว ครูอาจารยใด้ฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว หรือหากเรียนด้วยตนเอง ก็ให้คิดว่า ได้ฝึกมาจนชํ่าชองแล้วเช่นกัน อย่าคิดว่ายากจนเกินไป เพราะถ้ายากเกินไปจริงแล้ว ก็คงไม่มีผู้สอบได้เลย

          ๔. ก่อนสอบสักประมาณ ๑ อาทิตย์ พึงรักษาสุขภาพให้ดี ไม่พึงวิตกกังวลต่างๆ ไม่พึงสมบุกสมบันโหมดูหนังลือหนักจนเกินไป พึงบำรุงร่างกายให้ดี ท้องอย่าให้ผูก ยิ่งถ่ายยาสักอาทิตย์ก่อนสอบยิ่งดี

          ๕. ก่อนสอบสักวันสองวัน อาจหยุดดูหนังสือทั้งหมดเลยก็ได้ เพื่อพักผ่อนสมองให้เต็มที่ หรือจะดูก็ดูเพียงให้ผ่านๆ ตาเท่านั้น ไม่ควรดูเพ่งเล็งเอาจริงเอาจังจนเกินไป เพราะสมองจะรับไม่ไหว ทำให้ปวดศีรษะได้

          ๖. เตรียมอุปกรณ์การสอบให้พร้อม คือ ปากกาสีดำ หรือสีนํ้าเงิน ๒ ด้าม ไม้บรรทัด ยางลบ กระดาษฟุลสแก๊บ โดยเฉพาะกระดาษนั้น ควรเลือกชนิดดี หนา ขาว สะอาด ทดลองเขียนดูเสียก่อนว่าจะไม่ซึม

          ๗. ฉันภัตตาหาร อย่าให้มาก หรือ น้อยนัก ขนาดพออิ่มเป็นใช้ได้ เพราะถ้าอิ่มนักจะทำให้อึดอัด และเสียพลังย่อยมาก ทำให้เพลียง่าย ถ้าน้อยนักก็จะทำให้เพลีย หมดแรงถึงเป็นลมได้

          ๘.ไปถึงสนามสอบก่อนเวลา อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจ มิให้ตื่นเต้น และไม่รีบร้อนจนเกินไป

          ๙. ก่อนเข้าห้องสอบ ควรได้สวดมนต์ไหว้พระ และฟังโอวาทด้วยความเต็มใจ และด้วยความเคารพร่วมกับผู้สอบอื่นๆ เพราะการตั้งใจทำความดีแต่ต้น จะส่งผลดีตามมาภายหลัง

          ๑๐. รับห้วกระดาษเลขที่นั่ง แล้วเข้าห้องสอบด้ายอาการอันเคารพ สำรวม นุ่งห่มเรียบร้อย ไม่ส่งเสียงเอะอะโวยวาย หรือทำสิ่งเสียสมณสารูปในห้องสอบ

          ๑๑. ควรตั้งสติให้มั่นคงขณะรอรับปัญหา อย่าคิดว่าขณะนั้น กำลังจะเข้าสู่ศึกสงคราม เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน จนถึงกระสับกระส่าย เหงื่อกาฬแตก หรือปวดเบากระทันหัน ทรมานทั้งกายทั้งใจ

 

ข้อปฏิบัติในขณะสอบ

          ๑. เมื่อรับปัญหาแล้ว ไม่พึงรีบอ่านหรือรีบลงมือตอบทันที พึงตรวจดูปัญหาเสียก่อนว่ามีกี่หน้า ปัญหามีครบตามที่ออกหรือไม่

          ๒. ก่อนอ่าน หรือดูปัญหา พึงพิจารณาสภาพจิตใจตัวเองก่อนว่ายังกระสับกระส่าย ใจเต้นแรง หรือยังตื่นเต้นอยู่หรือไม่ ถ้ายังเป็นอยู่ ให้วางปัญหาไว้เสียก่อน นั่งหลับตา หายใจเข้าปอดแรงๆ รอจนจิตใจปกติสงบระงับดีแล้ว จึงพลิกปัญหาออกดู

          ๓. พึงอ่านปัญหาให้หมดทุกข้อทุกตอนเสียก่อน โดยอ่านช้าๆ พร้อมทั้งคิดหาคำตอบไปในตัว จะคิดได้หรือไม่ได้ ก็ให้อ่านผ่านให้ตลอด อย่าหยุดคิด เพื่อหาคำตอบให้ได้ในขณะนั้น จะทำให้เสียเวลามาก

          ๔. ถ้าเห็นปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ตนได้ดูมาพอดี หรือเก็งไว้ถูก และคิดว่าทำได้แน่นอน ก็อย่าตื่นเต้นดีใจจนเกินไป จะทำให้เกิดความ ประมาท พลั้งเผลอ และผิดได้ง่าย เพราะเมื่อมัวแต่ดีใจ จึงทำให้ลืมสังเกต ลืมใช้ปัญญาพิจารณา หรือขาดความละเอียดลออไป

          ๕. ถ้าเห็นปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ไม่ได้ดู ไม่ได้ศึกษาผ่านตามา จากครูอาจารย์เลย ก็อย่าตกใจ หรือวิตกกังวลจนเกินไป จะทำให้กำลังใจตก และเกิดความท้อแท้ ไม่อยากตอบ ไม่อยากทำ เป็นสาเหตุ ให้สอบตกตั้งแต่ยังไม่ทำ ควรตั้งใจเสียใหม่ว่า ถึงจะไม่ได้ดูมา แต่ก็จะพยายามใช้สติปัญญา ความรู้และความสามารถทั้งหมดตอบ แม้จะไม่ถูกตามแบบ ก็ขอให้ถูกตามหลักเกณฑ์อย่างนี้ก็อาจสอบได้เหมือนกัน

          ๖. ไม่พึงเขียนคำตอบลงในกระดาษตอบทันที เพราะเมื่อเขียนผิด หรือเขียนตกจะทำให้ต้องขีดฆ่า ลบทิ้ง เปื้อนเปรอะ พึงตอบลงในกระดาษร่างก่อน ยกเว้นผู้ที่เขียนหนังลือตัวโต และเขียนช้ามาก หากร่างเสียก่อนเขียนในใบตอบอีกที อาจทำให้ไม่ทันเวลา อย่างนี้ก็ให้เขียน ลงในใบตอบจริงเลย

          ๗. การเขียนร่าง ไม่ควรเขียนบรรจงเกินไป เขียนพอให้อ่านรู้เรื่องพออ่านได้ แต่ไม่ควรเขียนหวัดเกินไป หรือเขียนละคำไว้มากเกินไป เพราะบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องส่งร่างเป็นใบตอบจริงก็ได้ เช่น ในกรณีทำไม่ทันเวลา เป็นต้น

          ๘. ในขณะร่างนั้น หากติดคิดไม่ออกในศัพท์ใด วรรคใด หรือ ประโยคใด ไม่ควรเสียเวลานั่งคิดเฉพาะตรงนั้นนานจนเกินไป ควรข้ามไปทำตอนต่อไปก่อน โดยเว้นตรงที่ติดนั้นไว้ ทำเสร็จแล้วจึงค่อยกลับมาคิดใหม่ ถ้ายังคิดไม่ออก ก็ให้เขียนในใบตอบจริงไปก่อน เว้นว่างสำหรับเติมที่ยังคิดไม่ออกไว้พอสมควร ถ้าไม่ทำดังนี้จะทำให้ตกเวลา น่าเสียดาย

          ๙. เมื่อร่างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ให้หยุดพักสมองสักระยะ หนึ่งจะออกไปทำธุระหนัก เบา หรือนั่งอยู่กับที่ ก็ได้

          ๑๐. เมื่อได้พักพอควรแล้ว ให้ตรวจดูร่างที่ทำเสร็จแล้ว โดย

- ตรวจดูว่าทำเกินปัญหาสนามหลวง ซึ่งบางทีท่านตัดทอนออกหรือไม่

- ตรวจดูว่าทำครบทุกบรรทัด ทุกประโยคหรือไม่

- ตรวจดูประธาน กิริยาในระหว่าง กิริยาคุมพากย์ ว่าเป็น วจนะ เป็นบุรุษเดียวกันหรือไม่

- ตรวจดูหลักไวยากรณ์ หลักสัมพันธ์ และหลักการเรียง ว่าถูกต้องดีหรือไม่

- ตรวจดูว่า ศัพท์ที่ใช้ถูกต้องตามสำนวนหรือไม่

          ๑๑. เมื่อตรวจดูแล้ว พบข้อบกพร่องข้อใดให้รีบแก้ไขทันที แต่อย่าลืมว่า “ความคิดครั้งแรกย่อมดีกว่า และถูกต้องกว่าความคิด ครั้งหลังเสมอ” เพราะฉะนั้น หากคิดแก้ไขประโยคใหม่ หรือใช้ศัพท์ใหม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ เพราะปรากฏว่าที่ทำครั้งแรกไว้นั้นถูกต้องแล้ว แต่แก้ใหม่กลายเป็นผิดไป ดังนี้ก็มี

          ๑๒. เมื่อตรวจร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ลงมือเขียนในกระดาษคำตอบจริง โดยเขียนแบบตัวบรรจงให้อ่านง่ายชัดเจน เขียนเว้นบรรทัด เขียนหน้าเดียว และเว้นวรรคตอนให้ดูสวยงามเสมอกันไปทุกวรรค

          ๑๓. การเขียนแยกศัพท์ ต้องระวังแยกให้ถูกต้องตามหลัก ถ้าเป็นศัพท์ยาวแยกไม่ได้ ก็ให้เว้นว่างไว้ ไปเขียนในบรรทัดใหม่ดีกว่าจะฉีกศัพท์

          ๑๔. การเขียนต้องเขียนให้ชิดเส้นคั่นหน้า และชิดขอบกระดาษด้านขวามือ ไม่ใช่ปล่อยโล่งทั้งซ้ายขวา สลับกันไปมา เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและมองดูไม่สวยงาม เพราะไม่ได้แนวกัน

          ๑๕. ควรรักษาความสะอาดให้มากที่สุด หากมีลบ ขูด ฆ่า ต้องทำโดยระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้ดูเป็นระเบียบไม่ใช่ลนจนกระดาษฉีกขาด หรือมองดูสกปรกเลอะเทอะไปหมด หากมีตกเติมอย่างไร ก็ให้ทำ เครื่องหมายให้ชัดเจน

          ๑๖. เมื่อจบประโยคใหญ่แล้วนิยมทำเครื่องหมาย “ฯ” ไว้ท้าย ประโยคไม่นิยมปล่อยว่างๆ หรือใช้เครื่องหมาย . เหมือนในหนังลือ แบบเรียน แต่ถ้าจบประโยคใหญ่แล้ว ยังมีประโยคต่อมาอีกโดยใช้ ประธานเดียวกับประโยคต้น นิยมทำเครื่องหมาย , แทน ฯ จนจบประโยคตอนนั้น แล้วจึงใส่เครื่องหมาย ฯ

          ๑๗. ในประโยคเลขใน นิยมทำเครื่องหมาย “ (อัญประกาศ เปิด) ไว้ต้นประโยคด้วย เพื่อให้ทราบชัดว่าประโยคเลขใน เริ่มต้นที่ตรงไหน          แต่ไม่นิยมทำเครื่องหมาย ” ไว้ท้าย เมื่อจบประโยคแล้ว เพราะมี อิติ ศัพท์ เป็นเครื่องหมายบอกอยู่ เช่น

 : คจฺฉนฺตา จ “ทหรสามเณรา โน หตฺเถ โอโลเกสฺสนฺตีติ ตุจฺฉหตฺถา น คตปุพฺพา ฯ

          ๑๘. เมื่อเขียนคำตอบลงในใบตอบเสร็จแล้ว ให้อ่านตรวจทานอีก ครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงตรวจทานกับภาษาไทยตาม ข้อ ๑๐. อีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีเวลาพอจะอ่านทานช้าๆ อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้

          ๑๙. นิยมเขียนหมายเลขบ่งจำนวนกระดาษใบตอบที่ทำส่งไว้ที่มุมบนด้านขวามือ เพื่อแสดงว่าได้ส่งใบตอบจำนวนกี่แผ่น จะเป็นการ ง่ายต่อการเรียงใบตอบ และหากสูญหายตกหล่นไป ก็จะหาได้ง่ายหรือทราบได้ง่าย

          ๒๐. เมื่อจะส่งใบตอบ ให้เขียนบัตรประจำตัวสอบที่ได้รับแจกไว้ให้เรียบร้อยก่อน แล้วกลัดติดกับใบตอบ นำไปส่งให้กรรมการ โดยลงชื่อในใบรับใบตอบนักเรียนก่อน เพื่อแสดงหลักฐานว่าตนได้ส่งใบตอบแล้ว

 

ข้อปฏิบัติหลังจากสอบแล้ว

          ๑. เมื่อส่งใบตอบแล้ว ให้ออกจากห้องสอบทันที เมื่ออยู่นอกห้องสอบ หากเปิดแบบดูรู้ว่าตนทำผิดพลาดไป ก็ไม่ควรแสดงอาการตกใจ หรือโวยวายออกมาว่าตนทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะจะทำให้กำลังใจตก ไม่คิดจะสอบในวันต่อไปอีกหรือวันต่อไปอาจทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะท้อใจเสียแล้วว่าถึงอย่างไร ตนตกแน่แล้วแต่วันแรก ข้อนี้ไม่แน่เสมอไป เพราะข้อที่ตนเห็นว่าผิดนั้น อาจเป็นถูกต้องในสายตาของกรรมการก็ได้ จึงควรสงบจิตใจ และสติอารมณใว้ดีกว่า

          ๒. เมื่อตรวจดูว่าตนทำถูกต้องหมด ก็ไม่ควรดีใจตื่นเต้นจนเกิน ไป เป็นเหตุให้ประมาท ทำให้ผิดพลาดในวันต่อไปได้

          ๓. เมื่อกลับถึงที่พักอาศัย ควรสรงนาให้สบายใจก่อนพักผ่อน ให้สมองหายตึงเครียดลักครู่ หรือเดินออกกำลังกายสูดอากาศสบายๆ พอควรแก่เวลา แล้วค่อยมาเริ่มดูตำราวิซํ้าที่จะสอบต่อไป

          ๔. เมื่อสอบเสร็จหมดทุกวิชาแล้ว ไม่ควรวิพากย์วิจารณ์ข้อสอบ ในทำนองเสียๆ หายๆ หรือทำนองดูแคลนว่าไม่เข้าทำ น่าจะออกอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลบหลู่ครูอาจารย์ หรือพระพุทธพจน์ อันอาจเป็นเหตุให้เกิดภัยอันตราย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมได้ หรือแพ้ภัยตัวเองได้

          ๕. เมื่อถึงวันตรวจข้อสอบบาลีประจำปี คือ ตั้งแต่วันแรม ๒ คํ่า ถึงแรม ๖ คํ่า เดือน ๔ รวม ๔ วัน พึงตั้งใจทำวัตรสวดมนต์ ตั้งกัลยาณจิต แผ่เมตตาถึงกรรมการผู้ตรวจ ด้วยอำนาจเมตตาจิตนั้น อาจทำให้จิตใจกรรมการอ่อนโยนบังเกิดเมตตา ไม่เก็บคะแนนหยุมหยิมในที่ผิดไม่รุนแรง หรือผิดเพราะความพลั้งเผลอ

          ๖. เมื่อประกาศผลสอบแล้ว ถ้าสอบตก ก็ไม่พึงโวยวาย โทษนั่นโทษนี่ แม้แต่ตัวเองก็ไม่ควรโทษ แต่ควรจำไว้เป็นบทเรียนว่าที่ตนตกนั้น เพราะอะไร เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองต่อไป

          ๗. เมื่อสอบได้ พึงหาเครื่องลักการะตามแต่จะหาได้ไป คารวะครูอาจารย์ ผู้ประสิทธิประสาทวิชาให้ จนสอบไล่ได้ เป็นการไหว้ครูไปในตัว อย่าทรนงตนว่าที่สอบได้ เป็นเพราะความสามารถของ ตัวเองฝ่ายเดียว ครูอาจารย์ที่สอนมาไม่ให้อะไรมากมายนัก ถึงกับจะต้องไปบูชาสักการะ เพราะความคิดเช่นนั้น เป็นการลบหลู่คุณครูอาจารย์ อันจักลบความรู้ที่ครูอาจารย์นั้นๆ เคยประสิทธิประสาทไว้ด้วย ทั้งจะหาความเจริญในอนาคตไม่ได้ด้วย

 

          ข้อควรปฏิบัติต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เป็นข้อเสนอแนะต่อนักศึกษา ว่าควรทำ มิได้บังคับว่าต้องทำ ซึ่งหากแม้นักศึกษาจะไม่ทำ ก็ไม่มีโทษผิดอันใด แต่ถ้าทำแล้ว ก็มีประโยชน์มีคุณแก่ผู้กระทำ เหมือนยาบำรุง ไม่ใช่ยารักษาโรค ใครทานเข้าไปก็ทำให้ผู้นั้นมีกำลังแข็งแรง สามารถต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ และมีพลานามัยสมบูรณ์ดี ใครไม่ทาน ผู้นั้นก็ใม่ได้ประโยชน์จากยานั้น ฉะนี้แล

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

 

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search