1.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ-ป-ธ-๙ (ตอนที่ 1)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 1)

 

ประโยคในภาษาไทย

          เนื่องจากนักศึกษาจะต้องแต่งภาษามคธจากข้อความภาษาไทย และข้อความนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นข้อความที่เป็นภาษาพูดบ้าง ภาษาเขียนบ้าง มีความสมบูรณ์เต็มรูปไวยากรณ์บ้าง ไม่เต็มรูปบ้าง เพราะภาษาพูดและภาษาเขียนในทุกภาษาย่อมจะไม่คำนึงถึงไวยากรณ์มากนัก ใช้ความนิยมทางภาษาเป็นหลักใหญ่ เพราะฉะนั้นนักศึกษาจำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจลักษณะของภาษาไทยเป็นอย่างดีด้วย จึงจะสามารถอ่าน ข้อความที่กำหนดให้แต่งนั้นได้เข้าใจ และสามารถที่จะตีความและจับ ประเด็นเนื้อความ แล้วแต่งให้ตรงกับหลักของภาษามคธได้ โดยที่ไม่เสียความเดิมในภาษาไทย

ในบทนื้จึงจักแสดงลักษณะของประโยคภาษาไทย ซึ่งความจริง ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับประโยคภาษามคธที่ได้แสดงแล้วในบทก่อน

แต่จักแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่การนำมาเทียบเคียงกันให้เห็นเด่นชัด ง่ายต่อการตีความและจับประเด็นเนื้อความ แล้วแต่งเป็นภาษามคธ

ก่อนอื่นนักศึกษาพึงรู้ถึงองคาพยพหรือส่วนประกอบของประโยคภาษาไทยและชื่อเรียกที่ศึกษากันในทางโลกตามสมควร องคาพยพนั้นคือ

  • -บท
  • -วลี
  • -ประโยค

 

 

บท

          บท คือ คำ วลี หรือ ประโยค ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของประโยค

          บทนี้มี ๗ ชนิด คือ บทประธาน บทขยายประธาน บทกิริยา บทขยายกิริยา บทกรรม บทขยายกรรม และบทเชื่อม

          เมื่อเทียบเคียงแล้วก็เหมือนบทในประโยคภาษามคธ เช่นกัน ต่างแต่ว่าบทที่ทำหน้าที่ในประโยคภาษาไทยนั้นอาจเป็นคำ หรือวลี หรือ ประโยคก็ได้ แล้วแต่เนื้อความ ตัวอย่างเช่น บทประธาน หรือบทที่ทำหน้าที่เป็นห้วหน้าประโยค และทำหน้าที่คุมกิริยาในประโยคนั้นมีทั้ง ที่เป็นคำ เป็นวลี และเป็นประโยค ตัวอย่างเช่น

ใช้คำ

 : สามเณร ไปบิณฑบาต

 

   ทุกข์ เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก

ใช้วลี

: ความเจ็บและความตาย ไม่มีใครต้องการ

 

: มาทำงานสาย เป็นสิ่งไม่ดี

ใช้ประโยค

: พระอยู่ในวัด เรียนหนังสือกัน

 

: วัดทรุดโทรมมาก ได้รับการบูรณะใหม่แล้ว

          ข้อความที่เป็นตัวเน้นดำในประโยคต่างๆ ข้างต้นเรียกว่าบท ได้ทั้งสิ้น แสดงไว้เป็นตัวอย่างเท่านั้น แม้บทขยายประธาน บทกิริยา บทขยายกิริยา เป็นต้น ก็มีทั้งคำ วลี และประโยคเช่นเดียวกัน

 

 

วลี

 

          วลี คือ กลุ่มคำ หรือ ความที่เรียงติดต่อกัน มีความหมายพอ เข้าใจกันได้ แต่ยังไม่ได้ใจความสมบูรณ์ กลุ่มคำที่เป็นวลีนี้ประกอบ ด้วยคำอย่างน้อย ๒ คำ วลีนี้จะได้ใจความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้เข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของประโยคแล้ว อาจเป็นส่วนที่เป็นบทประธาน บทกิริยา บทกรรม หรือบทขยาย ในประโยคนั้นก็ได้ เช่น

บทประธาน

: การเรียนภาษามคธ เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อย

บทกรรม

: พระภิกษุสามเณรทำงานที่เป็นประโยชน์แก่วัด

บทกิริยา

: งานนี้เขาทำอย่างเสียไม่ได้

บทขยาย

: ท่านนั่งสมาธิอยู่ที่ป่าข้างวัด

          ตามตัวอย่างข้างต้น คำว่า “การเรียนภาษามคธ” “ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่วัด” “ทำอย่างเสียไม่ได้” และ “ที่ป่าข้างวัด” นั่นแหละคือวลีในที่นี้


 

ชนิดของวลี

วลีแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะที่อยู่ในประโยคได้ ๗ ชนิด คือ

 

๑. นามวลี คือ วลีที่มีคำนามนำหน้า เช่น

  • -แบบไวยากรณ์ของสามเณร อยู่บนโต๊ะ
  • -จีวรลีกรัก เหมาะสำหรับพระที่อยู่ป่า

 

๒. สรรพนามวลี คือวลีที่มีคำสรรพนามนำหน้า เช่น

  • -กระผมพระธรรมกิตติวงศ์ เป็นผู้แต่งหนังสือเล่มนี้
  • -ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย กำลังทยอยกันมาแล้ว

 

๓. กิริยาวลี คือ วลีที่มีคำกิริยานำหน้า เช่น

  • -กระผมกำลังทำงานแข่งกับเวลาอยู่
  • -ทำงานเสร็จแล้วหรือ พวกท่านทั้งหลาย

 

๔. วิเศษณ์วลี คือคำวลีที่มีคำวิเศษณ์นำหน้า เช่น

  • -วัดนี้เป็นวัดสวยงามและใหญ่โตมาก
  • -เกิดเป็นคนต้องพยายามใฝ่หาความเจริญที่จะทำให้ตัวก้าวหน้า

 

๕. บุพบทวลี คือคำวลีที่มีคำบุพบทนำหน้า เช่น

  • -ในสมัยพุทธกาล แม้เรื่องอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
  • -อาจารย์ของพระภิกษุรูปนั้น เป็นเพื่อนรักของกระผมเอง

 

๖. สันธานวลี คือคำวลีใช้เป็นคำสันธาน ซึ่งจะมีคำสันธาน นำหน้าบ้างไม่มีบ้าง เช่น

  • -แม้กระนั้นก็ตาม ท่านก็ยังเป็นอุบาสกที่ดี ของพระศาสนาอยู่
  • -ถึงจะอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้ทุกคนมาประชุมก็แล้วกัน

 

สันธานวลีในบางประโยคแยกคำออกจากกัน โดยมีข้อความอื่น คั่นกลางในระหว่างคำสันธานนั้น เช่น

  • -ถึงฉันจะเป็นคนอย่างนี้ เขาก็ยังไม่ทิ้งฉันไป (ถึง-ก็)
  • -เพราะฉะนั้น เขาจึงไปเที่ยวทุกวัน (เพราะฉะนั้น-จึง)

 

๗. อุทานวลี คือคำวลีที่ใช้เป็นคำอุทาน อาจมีคำอุทานนำหน้า หรือไม่มีก็ได้ เช่น

  • -โอ๊ยตายแล้ว ! ทำไมบ้านเมืองจึงเป็นไปอย่างนี้
  • -อนิจจามัจจุราชเอย ทำไมท่านจึงมาเยือนเขาเร็วนักเล่า

 

          ความรู้เรื่องวลีนี้เป็นประโยชน์ในการแต่งไทย เป็นมคธมาก เพราะเมื่อเข้าใจดีแล้วก็จะสามารถแยกแยะข้อความในภาษาไทยได้อย่างชัดเจน ว่าข้อความกลุ่มใดเป็นบทประธาน ข้อความกลุ่มใดเป็นบทกรรม หรือ ข้อความกลุ่มใดเป็นบทขยายของกลุ่มใด เป็นต้น เมื่อแต่งเป็นภาษา มคธไปตามลักษณะข้อความนั้น ก็จะไม่ทำให้ความหมายของภาษาไทยเสียไป

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.





 


45611838
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
3122
40295
43417
45235495
270890
1019588
45611838

Your IP: 35.171.164.77
2024-10-07 02:09
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search