ประวัติพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามตามสัญญาบัตรประกอบพัดยศสมณศักดิ์ว่า พระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2487 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก เวลา 18.00 น. ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ท่านเป็นบุตรของนายช่างใหญ่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม นามว่าจรรยงค์ สุทธิผล กับคุณแม่จุรี สุทธิผล
คุณแม่ของท่านเมื่อครั้งตั้งครรภ์ในขณะที่ครอบครัวพำนักอยู่ที่จังหวัดพิจิตร ท่านได้ฝันว่า หลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองพิจิตรกราบไหว้บูชา ได้นำเด็กที่มีลักษณะสวยงามมามอบให้ พร้อมกับกล่าวว่า “เด็กคนนี้เป็นลูกแก้วมาเกิด ขอให้เลี้ยงดูให้ดี จะเป็นที่พึ่งได้ในกาลต่อไปภายหน้า” และต่อมายังฝันอีกว่า ได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งในกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อนำมาขัด พระพุทธรูปองค์นั้นก็เปล่งรัศมีส่องสว่างไปทั่วทั้งเมือง
ความฝันของคุณแม่จุรีในครั้งนั้น ได้นำความปีติยินดีมาสู่สมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคุณพ่อจรรยงค์ผู้มีความตั้งใจว่า จะส่งเสริมทายาทคนแรกของท่านนี้ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้คนทั้งหลายได้ และในวันที่ท่านเกิด ญาติพี่น้องที่เคยโกรธเคืองกัน ไม่ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานาน ได้หันหน้ามาคืนดีกัน ด้วยมีความชื่นชมยินดีในวันเกิดของหลานชายคนแรก
การเกิดของท่านจึงเป็นดั่งศุภนิมิตแห่งความสมานสามัคคี
ประดุจน้ำฝนตกลงบนพื้นดินเหนียวที่แตกระแหง แล้วประสานรอยร้าวของเนื้อดินนั้นให้เรียบสนิทเป็นผืนแผ่นดินเดียว
เนื่องจากคุณพ่อมีอาชีพรับราชการ ซึ่งต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ชีวิตวัยเยาว์ของท่านจึงได้รับการดูแลทั้งจากมารดาและญาติพี่น้อง รวมถึงต้องย้ายที่อยู่เสมอๆ ต่อมาคุณพ่อได้คำนึงถึงอนาคตด้านการศึกษาจึงได้ฝากบุตรชายไว้กับครูบาอาจารย์ในโรงเรียนประจำชื่อโรงเรียนตะละภัฎศึกษา แถวเสาชิงช้า ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
และนับเป็นความโชคดีของท่าน เพราะเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนประจำนั้น เจ้าของโรงเรียนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์และไม่มีบุตร รู้สึกรักและเอ็นดูถึงกับจะเอ่ยปากขอเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้สืบทอดมรดก เนื่องจากขณะนั้นคุณพ่อมีบุตรชายเพียงคนเดียวซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนจึงไม่ยอมยกให้ แต่ถึงกระนั้นท่านเจ้าของโรงเรียนก็ยังคงรักใคร่เอ็นดู และพาติดสอยห้อยตามเข้าออกวังสระปทุมอยู่เสมอๆ จนทำให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมของชาววังตั้งแต่นั้นมา และขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสติดตามไปร่วมทำบุญไหว้พระด้วยเสมอ จึงมีความใกล้ชิดกับพระสงฆ์ทำให้จิตใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่เยาว์วัย
ในปี พ.ศ.2493 คุณพ่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านจึงจำเป็นต้องลาจากเจ้าของโรงเรียนผู้มีพระคุณ เพราะคุณพ่อได้มารับไปอยู่ด้วย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อยู่กับคุณพ่อได้ปีเศษ ก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคุณพ่อพาไปฝากไว้กับคุณครูสมาน แสงอรุณ ซึ่งเป็นครูที่ใจดีและมีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านเรียนอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3
ขณะที่มีอายุได้ 13 ขวบ ท่านสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 4 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสอบติด 1 ใน 150 คน จากผู้สมัครกว่า 500 คน วิถีชีวิตที่ต้องดูแลตัวเองตามลำพัง ต้องรู้จักประหยัด อดออม เช่นนี้ จึงหล่อหลอมให้ท่านมีความเข้มแข็งอดทน มีความเชื่อมั่นและรับผิดชอบตนเองสูง แตกต่างจากเด็กชายที่เติบโตจากครอบครัวที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทั่วไป
ชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงเปรียบประดุจการเตรียมความพร้อม และหล่อหลอมให้ท่านพร้อมที่จะเติบโตขึ้นมารับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย และได้กลายเป็นจริงในปัจจุบัน
แม้จะมีชีวิตอิสระในขณะที่เป็นวัยรุ่น แต่ท่านก็มีความประพฤติดีงาม และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ในระยะนี้เองที่ท่านเริ่มสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา
ท่านเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหาความรู้ต่างๆ อยู่เสมอ และมีความสุขกับการใช้เวลาว่างไปแสวงหาความรู้ตามแผงหนังสือ หรือตลาดนัดหนังสือนานาประเภท เช่น ตามริมคลองหลอดบ้าง ท้องสนามหลวงบ้าง ผิดกับเด็กวัยเดียวกันที่มักจะเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ หากวันใดเจอหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้องหยิบอ่านซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ยิ่งอ่านก็ยิ่งขัดเกลาความคิดให้มองเห็นความทุกข์ในทางโลกยิ่งขึ้น แม้กระทั่งหนังสือประเภทประวัติบุคคลสำคัญของโลก ก็อ่านแล้วอ่านอีกจนจำชื่อและผลงานของแต่ละท่านได้แม่นยำ และได้จุดประกายความคิดในใจว่า เราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต ซึ่งความคิดเกินวัยนี้ ท่านได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกในวัย 13 ปี ตอนหนึ่งว่า
“ถ้าเรามาทางโลก ก็อยากไปให้สูงสุดในทางโลก ถ้าหากว่าอยู่ในทางธรรม ก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางธรรม และก็จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก”
ใครเลยจะคิดว่า ความฝันในวัยเยาว์ของเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่ง จะกลับกลายเป็นจริงขึ้นมา เพราะในปัจจุบัน บุคคลท่านนี้คือพระมหาเถระของพระพุทธศาสนา ผู้นำแสงสว่างจากดวงตะวันแห่งสันติภาพภายใน ที่เกิดจากการทำสมาธิ(Meditation) แผ่ขยายไปสู่ดวงใจของผู้ใฝ่สันติภาพทั่วโลก
โรงเรียนสวนกุหลาบที่พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เคยศึกษา
ขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้มีโอกาสฟังการบรรยายธรรมจากวิทยากรท่านต่างๆ จึงคนเกิดแรงบันดาลใจร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งชุมนุมยุวพุทธขึ้น มีการศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ไม่ว่าที่ใดมีการปาฐกถาธรรม ทั้งลานอโศก วัดมหาธาตุและที่อื่นๆ จะต้องมีเด็กชายไชยบูลย์อยู่ร่วมกิจกรรมด้วยเสมอ
จนเข้าสู่วัยรุ่นความกระหายในธรรมก็ยิ่งมีมากขึ้น หากมีเวลาว่างก็จะหาโอกาสปลีกตัวไปอยู่ในที่เงียบๆ เพื่อขบคิดถึงปัญหาที่ยังค้างคาใจอยู่เสมอว่า “คนเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน กรรมหรือบุญบาปมีจริงหรือไม่” เพราะได้อ่าน ได้ศึกษาจากตำราถึงพระพุทธดำรัสว่า ถ้ารู้ธรรมะเพียงอย่างเดียวยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นเหมือนคนตาบอดคลำช้างหรือใบลานเปล่า จะเป็นเพียงธรรมกถึกเชี่ยวชาญการเทศน์สอน แต่ประโยชน์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไรก็ยังไม่เคยปฏิบัติ แล้วก็จะกลับมาคลางแคลงย้อนถามตนเองเสียอีก
บ่อยครั้งที่มองไปบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ราวกับพยายามค้นหาคำตอบที่ค้างคาใจ ซึ่งมีผลให้ความคิดนี้ยิ่งตกผลึกอยู่ในใจตลอดเวลา ผิดจากเด็กวัยเดียวกันที่ควรจะสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือใฝ่ฝันถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่จะมีทรัพย์ มีคู่ครอง แต่ท่านกลับเสาะแสวงหาคำตอบ ทั้งจากใครที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้และจากตำราต่างๆ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น
หนังสือธรรมกาย
และแล้ววันหนึ่งท่านได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีข้อความว่า “ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น”
คำว่า “ธรรมกาย” อ่านแล้วสะดุดใจยิ่งนัก ในหนังสือเล่มนี้พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้บอกไว้ว่า “ธรรมกาย” นั่นแหละ คือ “ตถาคต” พร้อมทั้งได้ยกคำบาลีที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมายืนยันว่า “ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ แปลว่า ตถาคตคือธรรมกาย” และตอนท้ายเรื่องมีคำยืนยันว่า “วัดปากน้ำนี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น” ข้อความดังกล่าว ยิ่งทำให้ท่านเกิดความปีติยินดี ราวกับว่า เดินมาถูกทางแล้ว
หนังสือวิปัสสนาบันเทิงสาร
และเมื่อท่านได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” กล่าวถึงความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายของคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ แม่ชีผู้เป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะไปศึกษาธรรมปฏิบัติที่วัดปากน้ำ แล้วความคิดหนึ่งก็พลันบังเกิดขึ้นว่า “วัดปากน้ำอยู่ ณ แห่งหนใด”
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2506 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี อยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ตัดสินใจไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มุ่งหวังว่าหากพบท่านจะขอศึกษาวิชชาธรรมกายให้จงได้ เมื่อไปถึงวัดก็เที่ยวถามใครว่า “รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม ?” คำตอบคือ ไม่มีใครรู้จักแม้แต่คนเดียว มีแต่บอกว่า “ไม่มีคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มีแต่ครูจันทร์” ทำให้ท่านเข้าใจไปว่าเป็นคนละคนกัน เมื่อตามหาไม่พบจึงหันกลับไปทุ่มเทให้กับการเตรียมตัวสอบ จนกระทั่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ในที่สุด
คุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์หรือคุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
เมื่อการเรียนเทอมแรกในมหาวิทยาลัยผ่านไป ความคิดที่จะไปตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงปิดเทอมราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 ท่านจึงตัดสินใจกลับไปที่วัดปากน้ำฯ อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้พบกันอีกเช่นเคย จึงมีผู้แนะนำว่า ถ้าอยากนั่งสมาธิจริงๆ ก็ให้ไปเรียนกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งท่านยินดีสอนการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายให้ และเมื่อนั่งปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง จึงลองสอบถามจากเด็กหนุ่มรุ่นราวเดียวกันดูอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “คงจะเป็นครูจันทร์ละมัง” จึงได้อาสาพาไปพบ แล้วในที่สุดท่านก็ได้พบคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ สมดังที่ปรารถนา
คุณยายอาจารย์ที่หลวงพ่อธัมมชโยตามหา
เมื่อพบกับคุณยายครั้งแรก ขณะนั้นคุณยายอาจารย์อายุ ได้ 53 ปี มองภายนอกเป็นเพียงแม่ชีธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่มีรูปร่างผอมบาง เนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น หากแต่แววตาท่านนั้นสุกใส ฉายแววของความเป็นผู้ทรงภูมิธรรมอันสูงยิ่ง บุคลิกของท่านมีความหนักแน่น เข้มแข็ง มีพลัง และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา แม้ว่าท่านจะไม่เคยเรียนหนังสือทั้งยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่กลับสามารถตอบปัญหาธรรมะอันลึกซึ้งได้อย่างกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้ที่มาถามไถ่รู้สึกว่าคำตอบนั้นได้ทำความสว่างให้เกิดขึ้นในจิตใจ หยุดให้ได้คิด ฉุดใจให้หลุดออกมาจากแรงดึงดูดของกระแสโลกที่เชี่ยวกราก
ในคราวแรกพบนั้นเอง ท่านรู้สึกได้ทันทีว่า ได้พบครูบาอาจารย์ที่แสวงหามาแสนนาน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งคุณยายอาจารย์ ได้ทักท่านราวกับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า “คุณน่ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำให้ยายไปตามมาเกิดในสมัยสงครามโลก” ท่านฟังประโยคนี้แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณยายพูดตรงก็คือ ท่านเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ
คุณยายอาจารย์ท่านสามารถตอบทุกคำถามที่เคยสงสัยได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะนำสันติสุขอันเกิดจากคำสอนในพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก ทำให้ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์ กลับกลายเป็นความจริงได้ในที่สุด ในวันแรกของการฝึกสมาธิกับคุณยายอาจารย์ ศิษย์คนใหม่ก็ได้ถามคำถามว่า นรกสวรรค์มีจริงมั๊ย คุณยายก็ตอบเรียบ ๆว่า " มีจริงคุณ นรกสวรรค์มีจริง ยายไปมาแล้ว ยายไปช่วยพ่อยาย พ่อยายตกนรกเพราะว่าดื่มเหล้า วันละ 10 สตางค์ ยายก็เข้าองค์พระไปช่วยท่านขึ้นมาได้ไปอยู่บนสวรรค์ แล้วคุณอยากจะไปมั๊ยล่ะ ยายจะสอนให้ แล้วไปด้วยกัน "
คำตอบของคุณยาย แตกต่างจากทุกคำตอบที่เคยได้ฟัง แสดงให้เห็นว่าท่านต้องไปรู้ไปเห็นด้วยตนเอง จึงสามารถตอบเช่นนี้ได้ แต่เรื่องการไปนรกสวรรค์มิใช่เรื่องยากอะไรเลยสำหรับคุณยาย เพราะในสมัยที่หลวงพ่อวัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ คุณยายได้เข้าไปนั่งสมาธิในโรงงานทำวิชชาร่วมกับแม่ชี และพระภิกษุ ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำคัดเลือกแล้วว่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสมาธิในยุคนั้น คุณยายอาจารย์นั่งสมาธิวันละ 12 ชั่วโมง กลางวัน 6 ชั่วโมง กลางคืนอีก 6 ชั่วโมง และเป็นผู้ที่มีผลการปฏิบัติธรรมดีเยี่ยม จนหลวงพ่อวัดปากน้ำเอ่ยปากชมท่านท่ามกลางเหล่านักปฏิบัติธรรมชั้นยอดว่า “ลูกจันทร์นี้ เป็นหนึ่งไม่มีสอง”
หลังจากนั่งสมาธิกับคุณยายได้ไม่นาน ท่านก็พบคำตอบที่เฝ้าค้นหามาตลอด ว่า “คนเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต” ซึ่งการปฏิบัติธรรมกับคุณยายทำให้ท่านพบคำตอบแล้วว่า “คนเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี และพระนิพพานคือเป้าหมายชีวิตอันสูงสุดของทุกชีวิต” นั่นเอง แต่กว่าที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงคำตอบของชีวิต ที่ค้นหามานาน ท่านต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง กิจวัตรส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการทำสมาธิทั้งสิ้น ทุกวันเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สมัยนั้นต้องขึ้นรถเมล์ถึง 3 ต่อ ขณะที่อยู่บนรถไม่ว่านั่งหรือยืนก็ตาม ท่านจะหลับตาทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา ประมาณ 8 โมงเช้าจึงมาถึงวัดปากน้ำ และรีบตรงดิ่งไปนั่งสมาธิต่อกับคุณยายทันที จนกระทั่งถึง 2 ทุ่มจึงเลิก และกลับถึงมหาวิทยาลัยราว 4 ทุ่ม
หรือแม้แต่ในช่วงดึกสงัด ประมาณตี 3 อันเป็นเวลาหลับสนิทของเพื่อน ๆ ท่านก็จะลุกขึ้นมานั่งสมาธิ เพราะเป็นเวลาที่เงียบสงบ และร่างกายได้พักผ่อนจนหายเหน็ดเหนื่อยแล้ว และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เพื่อน ๆ พบเห็น แต่กระนั้นก็ยังมีบางครั้งที่เพื่อนบางคนตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนดึก เมื่อเห็นคนนั่งเอาผ้าห่มคลุมโปงอยู่ก็ตกใจ แต่เมื่อทราบว่าท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ ก็มิได้ล้อเลียนแต่ประการใด เมื่อเห็นว่าเพื่อนๆ เริ่มคุ้นเคย จึงได้เริ่มชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มที่สนิท ไปนั่งสมาธิกับคุณยายอาจารย์ที่วัดปากน้ำ ในเวลาต่อมาก็มีเริ่มมี รุ่นพี่ รุ่นน้อง ติดตามไปด้วยอีกหลายคน
แม้จะเอาจริงเอาจังกับการทำสมาธิเพียงใด แต่เรื่องการเรียนก็สามารถสอบผ่านไปได้ด้วยดีทุกภาคการศึกษา เพราะเป็นธรรมดาของบัณฑิตผู้มีปัญญาที่ตระหนักว่า การศึกษาที่สมบูรณ์จำเป็นต้องควบคู่กันไปทั้งทางโลกและทางธรรม ความรู้ทางโลก มีความจำเป็นต้องเรียนเพื่อหาเลี้ยงชีพ ส่วนความรู้ทางธรรม เรียนไปเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ดีงาม และที่สำคัญทำให้ท่านคลายความสงสัยในเรื่องที่เป็นความลับของชีวิต ที่ว่า คนเราตายแล้วไปไหน ? นรก สวรรค์ มีจริงหรือไม่ ? จะพิสูจน์ได้อย่างไร ความรู้ที่ลึกซึ้งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยใดๆ นอกจากความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้จิตใจของท่านเอนเอียงมาในการศึกษาทางธรรมมากกว่า เพราะแม้กระทั่งในเวลาสอบ ถ้าสอบตอนเช้าตอนบ่ายก็จะนั่งรถเมล์ไปปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ และทำอยู่เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด จนกระทั่งเรียนจบ
ด้วยความตั้งใจจริงในการปฏิบัติธรรม ประกอบกับความเคารพอ่อนน้อม อยู่ในโอวาทของครูบาอาจารย์ ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมของท่านมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นที่พอใจของคุณยายอาจารย์ยิ่งนัก กล่าวกันว่า แม้แต่คนเก่าแก่ที่เคยมาปฏิบัติธรรมกับคุณยายก่อนหน้านี้ ก็ยังยอมรับในความเชี่ยวชาญแห่งผลการปฏิบัติธรรมของท่าน ทำให้ท่านได้รับความไว้วางใจจากคุณยายให้เป็นพี่เลี้ยง ช่วยแนะนำธรรมปฏิบัติแก่ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันเสมอ ๆ
ความสุขภายในที่ได้รับจากการนั่งสมาธิ ทำให้ท่านยิ่งมีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา และเห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรมว่า สามารถช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ได้ อีกทั้งยังตอบคำถามต่าง ๆ ที่เคยค้างคาใจ ได้อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อความสุขที่แท้จริงและความจริง ของชีวิตถูกเปิดเผยขึ้น ทำให้ท่านรู้ว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือวิชชาที่แท้จริงที่มนุษย์ทุกคนต้องศึกษา ท่านจึงอยากจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิต ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตัดสินใจขออนุญาตคุณยายเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่นอกจากคุณยายจะไม่อนุญาตแล้ว ยังกำชับให้เรียนจนจบปริญญาเสียก่อน โดยให้เหตุผลว่า “ต้องเป็นบัณฑิตในทางโลก และเป็นนักปราชญ์ในทางธรรม เพื่อว่าเมื่อบวชแล้วจะได้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา มิใช่พึ่งพระศาสนาเพียงฝ่ายเดียว”
กระทั่งในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายในปี พ.ศ. 2511 ท่านจึงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณยาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานขอประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต เป็นของขวัญวันเกิดแด่คุณยายอาจารย์ซึ่งถือเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่ง จนกระทั่งปีพ.ศ. 2512 ท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร หลังจากรับปริญญาแล้ว ก็แจ้งความจำนงต่อโยมพ่อทันทีว่า จะขอบวชไม่สึกตลอดชีวิต
โยมพ่อก็อนุญาตและอนุโมทนาด้วย เพราะลูกชายได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ว่าจะเรียนให้ได้ปริญญาเสียก่อนจึงจะบวช ส่วนโยมแม่ก็อนุโมทนาด้วยความปลื้มปีติและเต็มใจ ในทันทีที่ลูกชายมาขออนุญาตลาบวช เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป
27 สิงหาคม พ.ศ.2512 ได้รับฉายาว่า "ธัมมชโย"
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 เป็นวันมหามงคลยิ่ง เพราะเป็นวันที่ท่าน ได้ก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุสงฆ์สมดังความปรารถนา ที่พระอุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระเทพวรเวที (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”
หลังจากบวชแล้วท่านได้กล่าวถึงอุดมการณ์ในการออกบวช ไว้ตอนหนึ่งว่า:
“การบวชเป็นพระไม่ใช่ของง่าย หาใช่ครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วจะเป็นพระได้ จะต้องปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์ซึ่งมีศีล ๒๒๗ ข้อ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย… การบวชนั้นถ้าจะให้ได้บุญกุศล ควรจะเป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้ด้วย ไม่ใช่บวชมาเพื่อพึ่งพระศาสนาอย่างเดียว"
อุดมการณ์อันมั่นคงเช่นนี้ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย หากจะเกิดได้ต้องอาศัยการศึกษาและปฏิบัติ จนรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพุทธธรรมด้วยตนเองอย่างถ่องแท้เท่านั้น ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า อำนาจพุทธธรรมนั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง จนทำให้เกิดความตั้งใจอันมั่นคงว่า จะสละชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนา ครองผ้ากาสาวพัสตร์ไปตราบสิ้นอายุขัย
การบวชของท่านจึงเป็นการบวชอุทิศชีวิตแก่พระพุทธศาสนา ด้วยมโนปณิธานที่จะเผยแผ่พุทธธรรมให้กว้างไกลไปสู่ชาวโลก และการบวชอุทิศชีวิตของท่านก็ได้เป็นแบบอย่าง ให้หมู่คณะที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้ติดตามเข้ามาสู่เส้นทางแห่งร่มผ้ากาสาวพัตร์อย่างต่อเนื่อง ชีวิตใหม่ในเพศบรรพชิต พระธัมมชโย (พระราชภาวนาวิสุทธิ์ในปัจจุบัน) เป็นพระภิกษุผู้เคร่งครัดในศีลาจารวัตร มุ่งศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ พร้อมกันนั้นท่านยังทำหน้าที่สอนธรรมปฏิบัติแก่สาธุชน ณ บ้านธรรมประสิทธิ์แทนคุณยายเป็นประจำ จนกระทั่งมีสาธุชนมาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นมากมายจนเต็มพื้นที่บ้านธรรมประสิทธิ์ทั้งในบ้าน ชานบ้าน และล้นออกไปถึงสนามหญ้าหน้าบ้าน โดยเฉพาะในวันอาทิตย์นั้นต้องเปิดประตูรั้วทิ้งไว้เพราะมีคนส่วนหนึ่งต้อง นั่งอยู่นอกรั้ว
หลวงพ่อธัมมชโยขณะนั่งมองทุ่งนาฟ้าโล่ง
หมู่คณะทุกคน จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องสร้างวัด เพราะขณะนี้ท่านมีคณะทำงานที่เข้มแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตหนุ่มสาวผู้มีความรู้ความสามารถ และผ่านการฝึกอบรมคุณธรรมต่างๆ จากท่านอย่างใกล้ชิด เมื่อทุกคนมีความพร้อมทั้งกายและใจ การสร้างวัดพระธรรมกายจึงได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2513 ซึ่ง ตรงกับวันมาฆบูชา
คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี
เงินทุนเริ่มต้นของการสร้างวัดมีอยู่เพียง 3,200 บาท กับที่นา 196 ไร่ ที่ได้รับบริจาคมาจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี หมู่คณะทุกคน จึงต้องตรากตรำทำงานหนักและดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายยิ่ง มีเพียงน้ำพริกผักจิ้มเป็นอาหารหลัก โดยอาศัยเก็บผักที่ขึ้นอยู่ตามท้องนาบริเวณนั้น แต่ทุกคนก็เต็มเปี่ยมด้วยขวัญและกำลังใจ ทั้งเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำว่าจะต้องสำเร็จ แม้ว่าขณะนั้นจะยังมองไม่เห็นทางเลยก็ตาม ปัญหาหนักเรื่องหนึ่ง ก็คือ การจัดหาทุน
ในเรื่องนี้พระราชภาวนาวิสุทธิ์จะให้โอวาทแก่คณะทำงานเสมอว่า “ปัจจัยทุกอย่างที่สาธุชนทำบุญมานั้น เป็นปัจจัยที่ผู้ทำบุญได้อธิษฐานจบท่วมหัวถวายพระศาสนาจะต้องช่วยกันดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
อุโบสถวัดพระธรรมกาย
ด้วยเหตุนี้ถาวรวัตถุทุกอย่างของวัดพระธรรมกาย จึงสร้างอย่างแข็งแรงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ยาวนานที่สุด ขณะเดียวกันก็มีรูปทรงที่เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลืองในการดูแลรักษา แต่ทว่าก็ต้องประณีต สง่างาม บ่งบอกถึงความเคารพในพระพุทธศาสนา ดังเช่นอุโบสถ ทุกขั้นตอนการก่อสร้างเป็นไปอย่างละเอียด ประณีต ทุกอย่างต้องผ่านการคัดเลือกอย่างชนิดที่เรียกว่าดีที่สุด แต่ก็ต้องประหยัดสุดประโยชน์สูงสุดด้วย แม้แต่การผสมคอนกรีต มิใช่ว่าจะเอาหินเอาทรายมาผสมกันได้เลย หากต้องนำหินมาร่อนในน้ำ เพื่อทำความสะอาดแล้วคัดเอาเฉพาะหินเนื้อดีมาใช้ ส่วนทรายที่จะนำมาผสมก็ต้องไปสั่งจองไว้ที่ท่าทรายล่วงหน้า ว่าต้องการทรายที่คุณภาพดีจริงๆ เมื่อเขานำทรายมาส่งก็ทดสอบคุณภาพด้วยการเอามือล้วงลงไปในกองทราย แล้วดึงขึ้นมา ถ้าพบว่ามีคราบดินติดผิวหนังมาก ก็เป็นอันว่าทรายนั้นใช้ไม่ได้ เพราะมีการปนเปื้อนมาก หากนำมาผสมปูนความแข็งแรงจะลดลงไป หรือในการฉาบผนังอุโบสถภายนอก ซึ่งจะใช้หินเกร็ดเม็ดโตกว่าเมล็ดข่าวสารเล็กน้อยมาฉาบที่ผนัง แล้วเอาน้ำราดปูนที่ผิวออก ให้หินเกร็ดโผล่ออกมาครึ่งหนึ่ง ซึ่งหินเกร็ดโดยทั่วไปนั้น จะมีหลากหลายสีคละกัน แต่หินเกร็ดที่จะใช้ฉาบผนังอุโลสถนั้นต้องการเฉพาะสีขาวล้วน จึงต้องคัดเลือกกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยอาศัยแรงศรัทธาของชาวบ้านย่านใกล้เคียงและสาธุชนที่มาวัด ช่วยกันคัดเลือกทีละเม็ดๆ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ จนได้หินเกร็ดสีขาวบริสุทธิ์ประดับผนังอุโบสถทั้งหลังอย่างงดงาม
พิธีถวายสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
พิธีถวายสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
*ข่าวจากกองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานในพิธีถวายสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แด่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดย นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานโดยสรุป ดังนี้ “เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระสงฆ์ที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชาคณะ จำนวน 90 รูป ในจำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะดังกล่าว พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรด ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนาม ที่ "พระเทพญาณมหามุนี”
พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
จากนั้น นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านพระบรมราชโองการทรงตั้งสมณศักดิ์ โดยสังเขป ดังนี้ “ให้พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เป็นพระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ สถิต ณ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 ขอรพะคุณจงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในอารามโดยสมควร จงเจริญสุขสวัสดิ์ในพระพุทธศาสนาเทอญ”
พิธีถวายสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
จบแล้ว สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มอบสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แด่ พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
1.มาเกิดเพื่อสมานสามัคคี 2.ชีวิตในปฐมวัยเคลื่อนไปดุจสายน้ำ 3.ความฝันอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์
4.แสวงหาคำตอบของชีวิต 5.ประกายแห่งคำตอบ 6.ตามหาครูบาอาจารย์
7.พบครูผู้ชี้หนทางสันติสุข 8.รู้เป้าหมายชีวิต 9.แสวงหาคำตอบของชีวิต (1)
10.เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ 11.พลิกทุ่งนาฟ้าโล่งสู่บุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ 12.จากวันวานถึงวันนี้
ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ตอนที่ 1 โครงการอบรมธรรมทายาทและบรรพชาอุปสมบทหมู่
ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ตอนที่ 2 โครงการเผยแผ่ธรรมะสำหรับประชาชน
ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ตอนที่ 3 โครงการเพื่อการคณะสงฆ์
ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ตอนที่ 4 โครงการด้านการศึกษา
รับชมวิดีโอ ประวัติพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
credit: http://www.dmc.tv