สานุสามเณร ผู้ถูกยักษิณีเข้าสิง

สานุสามเณร ผู้ถูกยักษิณีเข้าสิง

ความย่อ

สานุสามเณร แม้จะยังเยาว์ก็สามารถแสดงธรรมเทศนาได้แกล้วกล้าและไพเราะเกินตัว เทศนาทุกครั้งจะมี เทวดา ยักษ์ และอมนุษย์มาฟังด้วยเสมอ

ประวัติ

ท่านจึงเป็นที่เคารพของอมนุษย์และเทวดาจำนวนมาก ได้มียักษิณี (คือยักษ์ผู้หญิง) ตนหนึ่งซึ่งเคยเป็นมารดาในอดีตชาติของสามเณรมาฟังธรรมเทศนาของสามเณรอยู่เป็นประจำ

ต่อมาวันหนึ่งสามเณรสานุเติบใหญ่ คิดจะลาสิกขา (สึก) ออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ทำให้นางยักษิณีตนนั้นขัดขวางไม่ให้สึก เข้าสิงร่างสามเณรสานุ ทำให้สามเณรล้มทั้งยืนตาเหลือกน้ำลายฟูมปาก ดิ้นไปดิ้นมา แล้วกล่าวว่า

"ยักษ์จะไม่มารังแกผู้รักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์ หากสามเณรรู้สึกตัวเมื่อไร ขอเณรอย่าได้ทำบาปในที่ลับหรือที่แจ้งและอย่าคิดสึกเด็ดขาด หากคิดจะทำหรือกำลังทำก็ตาม แม้นเหาะได้ดังนกก็มิอาจหนีพ้นจากทุกข์ได้เลย"

เมื่อกล่าวจบก็ออกจากร่างสามเณรไป ส่วนโยมมารดาของสามเณรสานุผู้เป็นมนุษย์ก็พูดให้สติว่า การคิดสึกออกจากเพศพรหมจรรย์ก็เปรียบเหมือนกับอยากจะตกลงไปในกองเถ้าที่ร้อนอีก สามเณรสานุคิดได้และรู้สึกสลดใจสังเวชใจ จึงขอบวชตลอดชีวิต

ต่อมาพระภิกษุสานุได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาทำให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม เป็นพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญเทศนาธรรม มีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อน ตราบจนกระทั่งปรินิพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี

 

ประวัติโดยพิศดาร

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสามเณรชื่อสานุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อิทํ ปุเร" เป็นต้น.

 

สานุสามเณรประกาศธรรม

ได้ยินว่า สามเณรนั้นได้เป็นบุตรน้อยคนเดียวของอุบาสิกาคนหนึ่ง.

ครั้งนั้น นางให้เธอบรรพชาในกาลที่เธอเป็นเด็กทีเดียว. ตั้งแต่กาลที่บรรพชาแล้ว เธอได้เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร. เธอได้กระทำวัตรแก่อาจารย์ อุปัชฌายะ และพระอาคันตุกะทั้งหลายทีเดียว. ตลอด ๘ วันของเดือน เธอลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เข้าไปตั้งน้ำในโรงน้ำ ปัดกวาดโรงธัมมัสสวนะ ตามประทีป ประกาศธัมมัสสวนะด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ.

ภิกษุทั้งหลายทราบเรี่ยวแรงของเธอแล้ว ย่อมเชื้อเชิญว่า "จงกล่าวบทภาณะเถิด สามเณร." เธอไม่กระทำอิดเอื้อนไรๆ ว่า "ลมเสียดแทงหทัยของผม หรือโรคไอเบียดเบียนผม" ขึ้นสู่ธรรมาสน์ กล่าวบทภาณะ เหมือนจะให้น้ำในอากาศตกลง เมื่อจะลง ย่อมกล่าวว่า "ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญ ในเพราะการกล่าวนี้แก่มารดาและบิดาของข้าพเจ้า."

มนุษย์ทั้งหลายหาทราบความที่เธอให้ส่วนบุญแก่มารดาและบิดาไม่.

 

ยักษิณีเคยเป็นมารดาของสานุสามเณร

ก็มารดาของเธอเกิดเป็นยักษิณีในอัตภาพเป็นลำดับ นางมากับเทวดาทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว (เมื่อจะอนุโมทนา) ส่วนบุญที่สามเณรให้ย่อมกล่าวว่า "ฉันขออนุโมทนา พ่อ."

ก็ธรรมดาภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลก เพราะฉะนั้น พวกเทวดาที่มีความละอาย มีความเคารพในสามเณร ย่อมสำคัญเธอเหมือนมหาพรหม และกองเพลิง. และย่อมเห็นนางยักษิณีนั้นเป็นที่น่าเคารพ เพราะคารวะในสามเณร

ในสมัยทั้งหลาย มีสมัยฟังธรรมและสมัยที่ยักษ์ประชุมกันเป็นต้น อมนุษย์ทั้งหลายย่อมให้อาสนะที่ดี น้ำที่ดี อาหารที่ดี แก่นางยักษิณี ด้วยคิดว่า "นางยักษิณีตนนี้ เป็นมารดาของสานุสามเณร" ยักษ์ทั้งหลายแม้ที่มีศักดิ์ใหญ่ เห็นนางยักษิณีแล้ว ย่อมหลีกทางให้ ย่อมลุกขึ้นจากอาสนะ.

 

ยักษิณีเข้าสิงกายสามเณร

ครั้นสามเณรนั้นถึงความเจริญ มีอินทรีย์แก่กล้า ถูกความไม่ยินดียิ่งบีบคั้น ไม่สามารถจะบรรเทาความไม่ยินดียิ่งลงได้ ปล่อยผมและเล็บไว้ยาว มีผ้านุ่งและผ้าห่มมอมแมม ไม่แจ้งแก่ใครๆ หยิบบาตรจีวรขึ้นแล้ว ได้ไปเรือนของมารดาลำพังคนเดียว.

อุบาสิกาเห็นบุตรแล้วไหว้ กล่าวว่า "พ่อ ครั้งก่อน พ่อมาในที่นี้พร้อมกับอาจารย์และอุปัชฌายะ หรือพร้อมกับภิกษุหนุ่มและสามเณร เพราะเหตุไร ในวันนี้พ่อจึงมาคนเดียวเล่า?" เธอแจ้งความที่ตนกระสัน (ให้มารดาทราบ) แล้ว.

อุบาสิกามีศรัทธา แม้แสดงโทษในฆราวาสโดยประการต่างๆ ตักเตือนบุตรอยู่ ก็ไม่อาจให้เธอยินยอมได้ (แต่) ก็ไม่เสือกไสไปเสีย ด้วยคิดว่า "ถึงอย่างไร เธอพึงกำหนดได้แม้ตามธรรมดาของตน" กล่าวว่า "พ่อ โปรดรออยู่จนกว่าฉันจะจัดยาคูและภัตเพื่อพ่อเสร็จ ฉันจักนำผ้าที่ชอบใจมาถวายแก่พ่อ ผู้ดื่มยาคู กระทำภัตกิจแล้ว" แล้วได้ตกแต่งอาสนะถวาย.

สามเณรนั่งลงแล้ว. อุบาสิกาจัดแจงยาคูและของเคี้ยวเสร็จโดยครู่เดียวเท่านั้น ได้ถวายแล้ว. ลำดับนั้น อุบาสิกาคิดว่า "เราจักจัดแจงภัต" นั่งลงในที่ไม่ไกล ซาวข้าวอยู่.

สมัยนั้น นางยักษิณีนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า "สามเณรอยู่ที่ไหนหนอแล? เธอได้ภิกษาหาร หรือยังไม่ได้" ทราบความที่เธอนั่งอยู่แล้ว ด้วยความเป็นผู้ใคร่จะสึก

จึงคิดว่า "ก็เธออย่าพึงยังความละอายให้เกิดขึ้นแก่เรา ในระหว่างเทวดาทั้งหลายเลย เราจะไป จักกระทำอันตรายในการสึกของเธอ" ดังนี้แล้ว จึงมาสิงในสรีระของสามเณรนั้น บิดคอให้ล้มลงเหนือแผ่นดิน.

เธอมีตาทั้งสองเหลือก มีน้ำลายไหล ดิ้นรนอยู่บนแผ่นดิน. อุบาสิกาเห็นอาการแปลกนั้นของบุตร รีบมาช้อนบุตรแล้วให้นอนบนตัก. ชาวบ้านทั้งสิ้นมากระทำการเซ่นสรวงมีพลีกรรมเป็นต้น.

 

อุบาสิกาคร่ำครวญ

ส่วนอุบาสิกาคร่ำครวญ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :- "ชนเหล่าใด ย่อมรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วย องค์ ๘ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาริหาริยปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่, ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่น ด้วยชนเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้สดับคำของพระอรหันต์ทั้งหลายดังนี้: ในวันนี้ บัดนี้เอง ข้าพเจ้านั้นเห็นอยู่ ยักษ์ทั้งหลายเล่นกับสานุสามเณร."

นางยักษิณีฟังคำของอุบาสิกาแล้ว จึงกล่าวว่า :- "ยักษ์ทั้งหลาย ย่อมไม่เล่นกับเหล่าชนผู้รักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และ ที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาริหาริยปักษ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่, ท่านได้สดับคำของพระอรหันต์ทั้งหลายดังนี้ดีแล้ว." ดังนี้แล้ว

จึงกล่าว (ต่อไปอีก) ว่า :- ขอท่านจงบอกคำนี้ของยักษ์ทั้งหลาย กะสานุสามเณร ผู้รู้สึกขึ้นแล้วว่า "ท่านอย่าได้กระทำบาป กรรมในที่แจ้งหรือในที่ลับ หากว่าท่านจักกระทำบาปกรรมก็ตาม กำลังกระทำอยู่ก็ตาม ท่านถึงจะเหาะหนีไป ก็หามีการหลุดพ้นจากทุกข์ไม่."

นางยักษิณีตนนั้นกล่าวว่า "ความพ้นย่อมไม่มีแก่ท่านผู้แม้กระทำบาปกรรมอย่างนี้แล้ว เหาะหนีไปอยู่เหมือนนก" ดังนี้แล้ว ก็ปล่อยสามเณร.

สามเณรนั้นลืมตาขึ้นแล้ว เห็นมารดากำลังสยายผมร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ และชาวบ้านทั้งสิ้นประชุมกันอยู่แล้ว ไม่ทราบความที่ตนถูกยักษ์สิง จึงนึกสงสัยขึ้นว่า "เมื่อก่อน เรานั่งบนตั่ง มารดาของเรานั่งซาวข้าว ณ ที่ไม่ไกล แต่บัดนี้ เรา (กลับ) นอนเหนือแผ่นดิน นี่อะไรกันหนอ?"

นอนอยู่เทียว กล่าวกะมารดาว่า :- โยม ชนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว หรือยังเป็นอยู่ (แต่) ไม่ปรากฏ, โยม โยมเห็นฉัน ซึ่งเป็นอยู่ ไฉนจึงร้องไห้ถึงฉันเล่า? โยม.

ครั้งนั้น มารดา เมื่อจะแสดงโทษในการมา เพื่อจะสึกอีกของบุคคลผู้ละวัตถุกามและกิเลสกาม บวชแล้วแก่เธอ จึงกล่าวว่า :- ลูก (ถูกแล้ว) ชนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงชนที่ตายไปแล้ว หรือยังเป็นอยู่ (แต่) ไม่ปรากฏ, ก็ผู้ใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ยังจะเวียนมาในกามนี้อีก, ลูก ชนทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงผู้นั้นบ้าง, เพราะเขา (ถึง) เป็นอยู่ต่อไป ก็เหมือนตายแล้ว."

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงโทษในการครอบครองเรือน ทำการครอบครองเรือนให้เป็นเช่นกับเถ้ารึงเทียว และให้เป็นเช่นกับเหว จึงกล่าวอีกว่า :- พ่อ พ่อถูกยกขึ้นจากเถ้ารึงแล้ว ยังปรารถนาจะตกลงสู่เถ้ารึง (อีก), พ่อ พ่อถูกยกขึ้นจากเหวแล้ว ยังปรารถนาเพื่อจะตกลงไปสู่เหว (อีก).

ต่อมา เพื่อจะแสดงว่า "ลูก ขอพ่อจงมีความเจริญเถิด ก็ฉันจะปรับทุกข์แก่ใคร จะให้ใครช่วยคิดเนื้อความนี้ว่า ‘บุตรน้อยของเรานี้ อันเรานำออกให้บวชในพระพุทธศาสนา ประหนึ่งภัณฑะที่ถูกนำออกจากเรือนซึ่งกำลังถูกไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาเพื่อรุ่มร้อนในฆราวาสอีก ขอท่านทั้งหลายจงช่วยวิ่งเต้น จงช่วยต้านทาน แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด’"

นางจึงกล่าวคาถานี้กะสานุสามเณรนั้นว่า :- ขอท่านทั้งหลาย จงช่วยวิ่งเต้น ความเจริญจงมีแก่ท่าน, ข้าพเจ้าจะปรับทุกข์แก่ใครเล่า ท่านเป็นดุจภัณฑะซึ่งถูกนำออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาเพื่อจะถูกไหม้อีก.

สานุสามเณรนั้นกำหนดได้ ในเมื่อมารดากล่าวอยู่ จึงกล่าวว่า "ฉันไม่มีความต้องการด้วยความเป็นคฤหัสถ์." ครั้งนั้น มารดาของเธอกล่าวว่า "สาธุ พ่อ" พอใจแล้ว ให้บริโภคโภชนะอันประณีต ถามว่า "พ่อ พ่อมีกาลฝนเท่าไร?" ทราบความที่เธอมีกาลฝนครบแล้ว ก็จัดแจงไตรจีวรให้. เธอมีบาตรจีวรครบ ได้อุปสมบทแล้ว.

ต่อมา พระศาสดา เมื่อจะทรงยังความอุตสาหะในการข่มจิตให้เกิดขึ้น แก่เธอผู้อุปสมบทแล้วไม่นาน จึงตรัสว่า

"ธรรมดาว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆ ตลอดกาลนาน ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอฉะนั้น"

แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-    

๕. อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ
  เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ
  ตทชฺชหํ นิคฺคเหสฺสามิ โยนิโส
  หตฺถิปฺปภินฺนํ วิย อํกุสคฺคโห.
      เมื่อก่อน จิตนี้ได้เที่ยวจาริกไป ตามอาการที่ปรารถนา ตามอารมณ์ที่ใคร่ (และ) ตามความสบาย, วันนี้ เราจัก ข่มมันด้วยโยนิโสมนสิการ ประหนึ่งนายควาญช้างข่ม ช้างที่ซับมันฉะนั้น.

 

แก้อรรถ

เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :- ก่อนแต่นี้ ชื่อว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นตลอดกาลนาน,

ชื่อว่าตามอาการที่ปรารถนาด้วยสามารถแห่งอาการแห่งกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น อันเป็นเหตุปรารถนา,

ชื่อว่า (เที่ยวไป) ตามอารมณ์เป็นที่ใคร่ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์เป็นที่เกิดความใคร่แห่งจิตนั้นนั่นแหละ,

ชื่อว่าตามความสบาย เพราะเมื่อมันเที่ยวด้วยอาการใด ความสุขจึงมี ก็เที่ยวไปด้วยอาการนั้นนั่นแหละ,

วันนี้ เราจักข่มจิตด้วยโยนิโสมนสิการ คือจักไม่ยอมให้มันก้าวล่วงได้ เหมือนบุรุษผู้กุมขอไว้ (ในมือ) ผู้ฉลาด คือนายหัตถาจารย์ข่มช้างซับมัน คือตกมันไว้ด้วยขอฉะนั้น.

ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก ผู้เข้าไปเพื่อสดับธรรมพร้อมกับพระสานุ. ก็ท่านผู้มีอายุนั้นเรียนพระพุทธวจนะ คือพระไตรปิฏกแล้ว ได้เป็นพระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญ ดำรง (ชีพ) อยู่ตลอด ๑๒๐ ปี ยังชมพูทวีปทั้งสิ้นให้กระฉ่อนแล้วปรินิพพาน ดังนี้แล.

เรื่องสานุสามเณร จบ.

 


ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓

48571634
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
38780
74766
38780
48264582
785390
1272582
48571634

Your IP: 18.118.120.13
2024-12-22 16:16
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search