สีวลีสามเณร ผู้มีลาภมาก

สีวลีสามเณร ผู้มีลาภมาก

ความย่อ

สามเณรสีวลีเจริญด้วยลาภสักการะ เพราะในอดีตชาติได้ถวายน้ำผึ้งสดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสีและหมู่สงฆ์

ประวัติ

สามเณรสีวลีเจริญด้วยลาภสักการะ เพราะในอดีตชาติได้ถวายน้ำผึ้งสดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสีและหมู่สงฆ์ ด้วยผลบุญที่ได้ถวายทานแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยความเคารพเลื่อมใส ส่งผลให้สามเณรสีวลีเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าจะไปอยู่ในแห่งหนตำบลใด ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก ก็จะมีทั้งมนุษย์และเทวดานำลาภสักการะมาถวายมิได้ขาดตกบกพร่อง

คราวใดที่หมู่สงฆ์จะต้องผ่านไปยังถิ่นกันดาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมักจะมีพระดำรัส(สั่ง) ให้พาสามเณรสีวลีไปด้วยเสมอ เพราะจะช่วยให้พระภิกษุทั้งหลายไม่ขัดสนเรื่องข้าวปลาอาหารและปัจจัยสี่

พระสีวลีกุมารเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา พระราชธิดา (ลูกสาว) ของพระเจ้ากรุงโกลิยะ อยู่ในครรภ์มารดายาวนาน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เพราะเคยทำบาปกรรมในชาติหนึ่งที่ไปล้อมเมืองศัตรูเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจแห่งบุญที่สีวลีกุมารได้เคยถวายน้ำผึ้งสดไว้ ก็ส่งผลทำให้มีผู้นำเครื่องสักการะมาถวายพระมารดาขณะตั้งครรภ์ทุกเช้าเย็นมิได้ขาด

สามเณรสีวลีได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะบรรพชาในช่วงที่จรดใบมีดปลงผมเสร็จพอดี

 

ประวัติมาในพระสูตร

ในอดีตครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านไปพระวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเทียว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภ คิดว่า แม้เราก็ควรเป็นผู้มีอย่างนั้นเป็นรูปในอนาคต จึงนิมนต์พระทศพลถวายมหาทาน ๗วัน กระทำความปรารถนาว่า ด้วยการกระทำกุศลนี้ แม้ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีลาภเหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล.

พระศาสดาทรงเห็นว่าไม่มีอันตรายสำหรับเธอ จึงทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านนี้จักสำเร็จในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคต แล้วเสด็จกลับไป. กุลบุตรนั้นกระทำกุศลตลอดชีพแล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

 

พระราชากับชาวเมืองแข่งกันถวายทาน

ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า มาถือปฏิสนธิในบ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลกรุงพันธุมดี. สมัยนั้น ชาวเมืองพันธุมดีสั่งสนทนากับพระราชา ถวายทานแด่พระทศพล.

วันหนึ่ง คนเหล่านั้นร่วมกันเป็นอันเดียวทั้งหมดถวายทาน คิดว่า ในมุขคือทานของพวกเราไม่มีอะไรบ้างหนอดังนี้ ไม่ได้เห็นน้ำผึ้งแลเนยแข็งแล้ว คนเหล่านั้นจึงวางบุรุษไว้ดักในทางจากชนบทเข้าไปเมืองด้วยตั้งใจว่าจักนำของ ๒ อย่างนั้นจากข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้างมา

ในครั้งนั้น กุลบุตรนี้ถือเอากระบอกเนยแข็งมาจากบ้านของตนคิดว่า จักนำมาหน่อยหนึ่งเท่านั้น เมื่อไปถึงพระนครก็มองหาที่ที่สบายด้วยตั้งใจว่าจะล้างปาก ล้างมือและเท้าแล้วจึงเข้าไป เห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัวเท่ากับงอนไถ คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเรา จึงถือเอาแล้วเข้าไปสู่นคร.

บุรุษที่ชาวเมืองวางดักไว้ เห็นกุลบุตรนั้น จึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านนำน้ำผึ้งมาให้ใคร. เขาตอบว่า ไม่ได้นำมาให้ใครดอกนายท่าน. ก็น้ำผึ้งที่ท่านนำมานี้ขายให้แก่เราเถอะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถือเอากหาปณะนี้ไปแล้วจงให้น้ำผึ้งและเนยแข็งนั้นเถอะ.

กุลบุตรนั้นคิดว่า ของนี้ใช่ว่ามีราคามากและบุรุษนี้จะให้มากก็คราวเดียวเท่านั้น ควรจะลองดู. บุรุษนั้นกล่าวว่า เราไม่ให้ด้วยกหาปณะเดียว แล้วกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับเอา ๒ กหาปณะแล้วจงให้. กุลบุตรนั้นตอบว่า ๒ กหาปณะก็ให้ไม่ให้ บุรุษนั้นจึงเพิ่มโดยอุบายนี้และเรื่อยๆ จนถึงพันกหาปณะ.

กุลบุตรนั้นจึงคิดว่า เราไม่ควรจะลวงเขา ช่างก่อนเถิด เราจำจะถามกิจที่จะพึงทำของบุรุษนี้ ทีนั้น เขาจึงกล่าวกะบุรุษนั้นว่า ของนี้ไม่มีค่ามาก แต่ท่านให้มาก ท่านจะเอาสิ่งนี้ไปด้วยกิจกรรมอะไร. บุรุษนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ชาวเมืองในเมืองนี้ขัดแย้งกับพระราชาถวายทานแด่พระวิปัสสีทศพล เมื่อไม่เห็นของ ๒ สิ่งนี้ในบุญคือทาน จึงพากันแสวงหา ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ชาวเมืองก็จักพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าให้พันหนึ่ง แล้วจงรับเอา.

เขากล่าวว่า ของสิ่งนี้ควรให้แก่ชาวเมืองเท่านั้น หรือควรให้แก่ชนเหล่าอื่น ท่านจะให้ของที่ท่านนำมานี้แก่คนใดคนหนึ่งหรือ

กุ. ก็มีใครให้ทรัพย์พันหนึ่งในวันเดียวในทานของชาวเมืองล่ะ.
บุ. ไม่มีดอกสหาย
กุ. ก็ท่านรู้ว่าของ ๒ สิ่งนี้มีค่าพันหนึ่งหรือ.
บุ. จ้ะ ฉันรู้.

กุ. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปบอกแก่ชาวเมืองเถิดว่า บุรุษคนหนึ่งไม่ให้ของ ๒ สิ่งนี้ด้วยราคา (แต่) ประสงค์จะให้ด้วยมือของตนเอง พวกท่านอย่าวิตกเพราะเหตุแห่งของ ๒ สิ่งนี้เลย.

บุ. ก็ท่านจงเป็นกายสักขีประจักษ์พยานแห่งความเป็นหัวหน้ามุขคือทานของเราเถิด.

 

ถวายน้ำผึ้งปรุงเครื่องแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าและสงฆ์สาวก

บุรุษนั้นเอามาสกที่ตนเก็บไว้เพื่อใช้สอยที่บ้านซื้อของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง บดจนละเอียด กรองคั้นเอาน้ำส้มจากนมส้ม แล้วคั้นรวงผึ้งลงในนั้น ปรุงกับผงเครื่องเผ็ดร้อน ๕ อย่างแล้วใส่ไว้ในใบบัวใบหนึ่ง จัดห่อนั้นแล้วถือมานั่ง ณ ที่ไม่ไกลพระทศพล คอยดูวาระที่ถึงตนในระหว่างเครื่องสักการะที่มหาชนนำมา ทราบโอกาสแล้วจึงไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคตปัณณาการของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกรุณารับของสิ่งนี้ของข้าพระองค์เถิด.

พระศาสดาทรงอาศัยความเอ็นดูแก่บุรุษนั้น ทรงรับบรรณาการนั้นด้วยบาตรหินที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ทรงอธิษฐานโดยอาการที่เครื่องปัณณาการนั้นถวายแก่ภิกษุถึง ๖๘,๐๐๐ องค์ก็ไม่สิ้นเปลืองไป.

กุลบุตรแม้นั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าพระองค์พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันนี้ชาวเมืองพันธุมดีนำสักการะมาถวายพระองค์ แม้ข้าพระองค์พึงเป็นผู้ถึงความเป็นยอดทางลาภและเป็นยอดทางยศในภพที่เกิดแล้วด้วยผลแห่งกรรมนี้.

พระศาสดาตรัสว่า ความปรารถนาจงสำเร็จอย่างนั้นเถิดกุลบุตร, แล้วทรงกระทำอนุโมทนาภัตรแก่กุลบุตรนั้นและแก่ชาวเมืองแล้ว เสด็จกลับไป.

 

อานิสงค์มากมายเกิดขึ้น แม้อยู่ในครรภ์

ฝ่ายกุลบุตรนั้นกระทำกุศลจนตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระราชธิดาพระนามว่า สุปปวาสา ในพุทธุปาทกาลนี้ ตั้งแต่เวลาถือปฏิสนธิพระนางสุปปวาสารับเครื่องบรรณาการถึง ๕๐๐ ทั้งเช้าทั้งเย็น.

ครั้งนั้น พวกพระญาติต้องการจะทดลองบุญ จึงให้พระนางนั้นเอาพระหัตถ์ถูกต้องกระเช้าพืชหน่อออกมาจากพืชชนิดหนึ่งๆ ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง ข้าวเกิดขึ้นจากนากรีสหนึ่ง ๕๐ เกวียนบ้าง ๖๐ เกวียนบ้าง แม้เวลาจะทำยุ้งฉางให้เต็ม ก็ทรงเอาพระหัตถ์ถูกต้องประตูยุ้งฉาง ที่ตรงที่พระราชธิดาจับแล้วจับอีก ก็กลับเต็มอีกเพราะบุญ เมื่อคนทั้งหลายกล่าวว่า “บุญของพระราชธิดา” แล้วคดจากหม้อที่มีข้าวสวยเต็มให้แก่คนใดคนหนึ่ง ยังไม่ยกพระหัตถ์ออกเพียงใด ข้าวสวยก็ไม่สิ้นเปลืองไปเพียงนั้น.

เมื่อทารกอยู่ในครรภ์นั่นเอง เวลาล่วงไปถึง ๗ ปีแต่เมื่อครรภ์แก่ นางเสวยทุกข์ใหญ่อยู่ถึง ๗ วัน นางปรึกษาสามีว่า ก่อนแต่จะตาย ฉันจะถวายทานทั้งที่มีชีวิตอยู่เทียว จึงส่งสามีไปเฝ้าพระศาสดา ด้วยกล่าวว่า ท่านจงไปกราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดา แล้วนิมนต์พระศาสดา. อนึ่ง พระศาสดาตรัสคำใด ท่านจงตั้งใจกำหนดคำนั้นให้ดี แล้วกลับมาบอกฉัน.

สามีไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระศาสดา.

พระศาสดาตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกฬิยธิดาจงมีความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด. พระราชาทรงสดับข่าวนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาง่ายเหมือนน้ำออกจากที่กรงน้ำฉะนั้น คนที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระราชา.

พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสแล้วเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์เสด็จมากราบทูลข่าวของพระราชธิดาแด่พระทศพล. พระราชธิดาตรัสว่า อาหารสำหรับคนเป็นที่พระองค์ นิมนต์ไว้จักเป็นอาหารที่เป็นมงคล ขอพระองค์จงไปนิมนต์พระทศพล ๗ วันเถิดเพคะ.

พระราชาทรงกระทำดังนั้น ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน ทารกดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก” สีวลีทารกนั้นเป็นผู้ทนกรรมทุกอย่างตั้งแต่เกิด เพราะอยู่ในพระครรภ์ถึง ๗ ปี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้สนทนาปราศรัยกับสีวลีนั้น.

ในวันที่ ๗ แม้พระศาสดาได้ทรงภาษิตคาถาในธรรมบทว่า

โย อิมํ ปลิปถํ ทุคฺคํ  สํสารํ โมหมจฺจคา  
ติณฺโณ ปารคโต ฌายี  อเนญฺโช อกถํกถี  
อนุปาทาย นิพฺพุตํ  ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ 
     ผู้ใดข้ามทางอันตรายคือสงสารอันข้ามได้ยากนี้ ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้มีอันเพ่งฌาน ก้าวล่วงโอฆะ ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์ ดังนี้.  

คราวนั้น พระเถระกล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็เธอได้เสวยกองทุกข์เห็นปานนี้ แล้วบวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลี. ตอบว่า ผมเมื่อได้ก็พึงบวช ท่านผู้เจริญ.

พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้น พูดอยู่กับพระเถระ คิดว่า บุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับ พระคุณเจ้า เจ้าค่ะ.

พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนเสวยแล้วกล่าวว่า ท่านอนุญาตแล้วจักบวช. พระนางสุปปวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด.

พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เมื่อจะให้บรรพชา กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ.

 

บรรลุพระอรหันต์พร้อมกับการปลงผมเสร็จพอดี

สีวลีกล่าวว่า การให้บวชเท่านั้น เป็นหน้าที่ของท่าน ส่วนผมจักรู้กิจที่ผมทำได้. สีวลีนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลในขณะที่โกนผมปอยแรกที่เขาโกนแล้วนั่นเอง ขณะโกนปอยที่ ๒ ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็การโกนผมหมดและการกระทำให้แจ้งพระอรหัตได้มีไม่ก่อนไม่หลังกัน ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว ปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์พอแก่ความต้องการ.

เรื่องตั้งขึ้นในที่นี้ด้วยประการนี้.

ต่อมา พระศาสดาได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี พระเถระถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ โปรดประทานภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์. ตรัสว่า รับไปเถอะสีวลี.

เทวดาที่สิงอยู่ ณ ต้นนิโครธได้เห็นทีแรก ได้ถวายทานแด่พระเถระนั้นถึง ๗ วัน ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

นิโคฺรชํ ปฐมํ ปสฺสิ  ทุติยํ ปณฺฑวปพฺพตํ
ตติยํ อจิรวติยํ จตุตฺถํ วรสาครํ
ปญฺจมํ หิมวนฺตํ โส ฉฏฐํ ฉทฺทนฺตุปาคมิ
สตฺตมํ คนฺธมาทนํ  อฏฺฐมํ อถ เรวตํ 
     เห็นครั้งแรก ที่ต้นนิโครธ เห็นครั้งที่สอง ภูเขาปัณฑวะ ครั้งที่สาม แม่น้ำอจิรวดี ครั้งที่สี่ ทะเล ครั้งที่ห้า ป่าหิมพานต์ ครั้งที่หก สระฉันทันต์ ครั้งที่เจ็ด ภูเขาคันธมาทน์ ครั้งที่แปด ไปอยู่ที่พระเรวตะ

ในที่ทุกแห่ง เทวดาได้ถวายทานแห่งละ ๗ วันๆ ก็ที่ภูเขาคันธมาทน์ ท้าวเทวราชชื่อนาคทัต ใน ๗ วันได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยน้ำนม วันหนึ่ง, ได้ถวายบิณฑบาตเจือด้วยเนยใส วันหนึ่ง.

ภิกษุสงฆ์กล่าวว่า ผู้มีอายุ แม้โคนมของเทวราชนี้ไม่ปรากฏที่เขารีดน้ำนม การคั้นเนยใสก็ไม่มี, ข้าแต่เทวราช ผลอันนี้เกิดขึ้นแก่พระองค์มาได้อย่างไร.

ท้าวเทวราชกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า นี้เป็นผลแห่งการถวายสลากภัตรเจือน้ำนมแด่พระทศพล ครั้งพระทศพลกัสสปพุทธเจ้า.

ภายหลัง พระศาสดาทรงกระทำการที่เทวดากระทำการต้อนรับพระเถระนั้นผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน ให้เป็นอัตถุบัติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ถึงความมีลาภอย่างเลิศในศาสนาของพระองค์.

 


ที่มา อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒

49570542
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
29703
74778
145559
49159770
710192
1074106
49570542

Your IP: 3.129.70.138
2025-01-21 21:08
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search