โสณกุฏิกัณณ (พระโสณกุฏิกัณณเถระ)

  • Creation Date: 23 สิงหาคม 2562
  • Hits: 4996
  • Author: เอกชัย แสงธรรม
โสณกุฏิกัณณ (พระโสณกุฏิกัณณเถระ)

 

ประวัติพระโสณกุฎิกัณณเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้มีวาจาไพเราะ

พระเถระที่ชื่อ “โสณะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๕ ท่านด้วยกันคือ

๑ พระโสณโกฬิวิสเถระ เป็นบุตรอุสภเศรษฐี แห่งเมืองจำปา แคว้นอังคะ ต่อมาพระพุทธเจ้าสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร

๒ พระโสณโปฏิริยปุตตเถระ ผู้ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีของพระเจ้านันทะ สากิยะ ต่อมาเมื่อพระเจ้าภัททิยะทรงผนวชแล้วท่านก็บวชตาม ต่อมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์

๓ พระโสณเถระ เป็นพระธรรมกถึกรูปหนึ่งอยู่ในเขววิหาร ใกล้เชิงเขาโสณคีรี บิดาของท่านชื่อว่า สุนขราชิก ท่านไม่สามรถจะทำให้บิดาอยู่ในความสังวรได้ เกรงว่าเมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็จะไปสู่ทุกขคติ จึงให้ท่านบิดาบวชในตอนแก่ทั้งที่ไม่อยากบวช และได้ทำให้บิดาที่กำลังจะสิ้นชีวิตเกิดจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จนเทวโลกปรากฏแก่ท่านบิดา

๔. พระโสณณกิงกณิยเถระ ผู้ที่ในอดีตได้ถวายดอกกะดึงทองบูชาพระสถูปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ในชาติปัจจุบันได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง และ

๕. พระโสณกุฎิกัณณเถระ ตามประวัติที่จะกล่าวในเรื่องนี้

ควรจะได้ทราบว่าการที่ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องมีวาจาไพเราะได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นเศรษฐีสมบูรณ์ด้วยสมบัติ อยู่ในหังสวดีนคร วันหนึ่งได้เห็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐องค์ เสด็จเข้าไปสู่นครด้วยพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ บังเกิดจิตเลื่อมใส ถวายบังคมแล้วได้ยืนประคองอัญชลีอยู่ หลังจากเวลาที่พระพุทธองค์เสร็จจากภัตกิจแล้ว ท่านพร้อมด้วยอุบาสกทั้งหลายก็ได้ไปยังวิหาร ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศ แห่งภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะในศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จึงนิมนต์พระทศพลถวายทาน ๗ วัน แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระองค์ทรงตั้งภิกษุใดไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ เมื่อ ๗ วันก่อนนับแต่วันนี้ข้าพระองค์ พึงเป็นเหมือนอย่างภิกษุนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระศาสดาทรงทราบว่าความปรารถนาของท่านจักสำเร็จในอนาคต จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตท่านจักได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท่านก็กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต เวียนว่ายในเทวดาและมนุษย์แสนกัป

 

กำเนิดในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านบำเพ็ญบุญในนครนั้นตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ก็ได้บวชในศาสนา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ ได้กระทำกุศลโดยได้เย็บจีวรถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อสิ้นชีวิตก็วนเวียนอยู่ในภพต่าง ๆ เมื่อสมัยโลกว่างจากพระพุทธเจ้าอีก ท่านก็เกิดเป็นช่างหูก อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้กระทำกุศลโดยได้ต่อคันกลดที่ขาดถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ท่านได้บำเพ็ญบุญในภพนั้น ๆด้วยอาการอย่างนี้

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในสมัยก่อนที่พระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานี้ทรงอุบัติ ท่านได้จุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนะในท้อง แห่งอุบาสิกาชื่อว่า กาฬี ผู้เป็นแม่บ้านของครอบครัว ในกุรรฆรนคร อวันตีรัฐ พอนางมีครรภ์ครบใกล้จะคลอดแล้ว ก็เดินทางมายังนิเวศน์แห่งครอบครัวของตนที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น

สมัยนั้น พระศาสดาของเราทรงบรรลุพระสัพพัญุตญาณ แล้วทรงประกาศธรรมจักรในราวป่าอิสิปตนะแล้ว เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกันแล้ว ในที่ประชุมนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า สาตาคิรยักษ์ ซึ่งเป็น ๑ ในยักษ์เสนาบดี ๒๘ ตนแห่งท้าวกุเวรมหาราช ได้ฟังธรรมกถาของพระทศพลตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดำริว่า ธรรมกถาอันไพเราะนี้ เหมวตยักษ์สหายของเราได้ฟังหรือมิได้ฟังหนอ

ยักษ์นั้นมองหาในระหว่างหมู่เทพก็ไม่เห็นยักษ์นั้น จึงคิดว่า สหายของเราไม่ทราบว่ารัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นแล้วแน่แท้ จำเราจักไปกล่าวคุณแห่งพระทศพลแก่เขาและจะบอกถึงธรรมที่เราบรรลุแก่เขาด้วย

จึงไปหาเหมวตยักษ์นั้น โดยทางเบื้องบนแห่งกรุงราชคฤห์ กับบริษัทของตน

ฝ่ายเหมวตยักษ์เห็นป่าหิมพานต์อันกว้างยาวถึง ๓ พันโยชน์ มีดอกไม้บานในเวลามิใช่ฤดู คิดว่าเราจักเล่นการละเล่นในป่าหิมพานต์กับสหายของเรา จึงไปกับบริษัทของตนโดยเบื้องบน กรุงราชคฤห์เหมือนกัน แม้ยักษ์เหล่านั้นก็มาพบกันเบื้องบนนิเวศน์ ของอุบาสิกาในขณะนั้น ต่างก็ถามกันว่า พวกท่านเป็นบริษัทของใคร

พวกเราเป็นบริษัทของสาตาคิรยักษ์ พวกท่านล่ะเป็น บริษัทของใคร

พวกเราเป็นบริษัทของเหมวตยักษ์ ดังนี้

พวกยักษ์เหล่านั้นต่างยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ไปแจ้งแก่ยักษ์เสนาบดีเหล่านั้น

สาตาคิรยักษ์กล่าวกะเหมวตยักษ์ว่า "สหาย ท่านจะไปไหน ?"

เหมวตยักษ์ตอบว่า "สหาย เราจะไปสำนักท่าน"

สาตาคิรยักษ์ถามว่า "เพราะเหตุไร"

เหมวตยักษ์ตอบว่า "เราเห็นป่าหิมพานต์มีดอกไม้สะพรั่ง เราจักไปเล่นในป่าหิมพานต์ นั้นกับท่าน"

สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "สหาย ก็ท่านจะไปได้อย่างไร? ท่านรู้ว่าป่าหิมพานต์ มีดอกไม้บานสะพรั่งด้วยเหตุไร"

เหมวตยักษ์ตอบว่า "ไม่รู้สหาย"

สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "สิทธัตถกุมาร โอรสพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ยังหมื่นโลกธาตุให้ไหวแล้วทรง บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ในท่ามกลางเทวดาในหมื่นจักวาล ท่านไม่รู้ว่าพระธรรมจักรนั้น พระองค์ทรงประกาศแล้วหรือ"

เหมวตยักษ์ตอบว่า "ไม่รู้ดอกสหาย"

สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "ท่านสำคัญ ว่าที่มีประมาณเท่านั้นเทียวมีดอกไม้บานสะพรั่ง แต่ทั่วหมื่นจักรวาลเป็นเสมือนดอกไม้กลุ่มเดียวกันในวันนี้ เพื่อสักการะบุรุษ นั้นนะสหาย"

เหมวตยักษ์กล่าวว่า "ดอกไม้บานอยู่ก่อน พระศาสดานั้นท่านเห็นเต็มนัยตาแล้วหรือ"

สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า "เออ สหายเหมวตะ เราเห็นพระศาสดาแล้ว เราฟังธรรมแล้ว เราดื่มอมตะแล้ว เราจักทำท่านให้รู้อมตธรรมนั้นบ้าง เราจึงมายังสำนักของท่านสหาย"

เมื่อยักษ์เหล่านั้นกำลัง เจรจากันอยู่นั่นแล อุบาสิกาลุกขึ้นจากที่นอนอันมีสิริ นั่งฟังการเจรจาปราศรัยนั้น ถือเอานิมิตรในเสียงกำหนดว่า เสียงนี้เป็นเสียงในเบื้องบน ไม่ใช่เสียงในภายใต้ เป็นเสียงอมนุษย์พูด มิใช่เสียงมนุษย์พูด จึงเงี่ยโสตประคองใจ แต่นั้นสาตาคิรยักษ์พูดว่า

"วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ราตรีอันเป็นทิพย์ ปรากฏแล้ว มาเราทั้งสองจงไปเฝ้าพระโคดม ผู้มีพระนามอันไม่ทรามเถิด"

สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้แล้ว เหมวตยักษ์กล่าวถามถึงกายสมาจาร อาชีพ และมโนสมาจาร ของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว สาตาคิรยักษ์ วิสัชนาข้อที่เหมวตยักษ์ ถามแล้ว ๆ ด้วยการกล่าว คุณแห่งสรีรวรรณะของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว เหมวตยักษ์ ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนาของสหาย ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

นางครั้นได้ฟังการสนทนาที่ประกอบด้วยพุทธคุณของเสนาบดียักษ์เหล่านั้น โดยเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ครั้นฟังแล้ว ก็เกิดปีติมีพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณต่าง ๆ อย่างนี้ ข่มนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปีตินั้น ยืนอยู่ในประเทศนั้นแล ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อุบาสิกานั้น เป็นพระโสดาบันคนแรกในระหว่างหญิงทั้งหมดและเป็นหัวหน้าหญิงทั้งหมด

ในคืนนั้นนางก็คลอดบุตรพร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติผล ในวันขนานนามทารกที่ได้ มาแล้ว ตั้งชื่อว่า โสณะ อุบาสิกานั้นอยู่ในเรือนแห่งครอบครัวตน พอสมควรแก่เวลาแล้วได้กลับไปยังกุรรฆรนครดังเดิม

ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นผู้เลิศแห่ง อุบาสิกาทั้งหลายที่เลื่อมใสในการฟัง

ฝ่ายโสณะนั้น เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ได้ชื่อว่า โสณอุบาสก คำว่า โสณะ เป็นชื่อของท่าน คำว่าอุบาสก เพราะประกาศความเป็นอุบาสกโดยถึงสรณะ ๓ แต่เพราะท่านทรงเครื่องประดับหูมีค่าถึงโกฏิหนึ่ง ซึ่งควรจะเรียกชื่อท่านว่า โกฏิกัณณะ ซึ่งหมายความว่า โสณะผู้มีเครื่องประดับหูราคาโกฏิหนึ่ง แต่ผู้คนกลับเรียกท่านว่า กุฏิกัณณะ ซึ่งอธิบายว่า โสณะผู้เป็นเด็กดี

 

โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจาน

สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ ได้พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสิกาผู้เป็นมารดาของโสณะ ก็ได้อุปัฎฐากพระเถระ พระเถระไปนิเวศน์ของนางเป็นประจำ แม้เด็กโสณก็เที่ยวเล่นในสำนักของพระเถระเป็นประจำ จึงคุ้นเคยกัน เมื่อโสณะเติบใหญ่ขึ้นได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีจิตตั้งอยู่ในสรณะและศีล จึงใด้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น โสณะอุบาสกได้อุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนะด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

 

โสณอุบาสกพบเปรต

ครั้งหนึ่งโสณอุบาสกได้เดินทางไปยังเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย ครั้นค่ำลงในระหว่างทางหมู่เกวียนได้หยุดกองเกวียนไว้ในดงเพื่อพักผ่อน โสณะอุบาสกเพื่อหลีกการพักอย่างแออัดจึงหลีกไปนอนที่ท้ายหมู่เกวียน ครั้นใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็เคลื่อนออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีใครปลุกโสณะอุบาสก

ครั้นเมื่อตื่นขึ้น โสณะอุบาสกไม่เห็นใครเลยก็ออกเดินไปตามทางเกวียนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหนื่อยจึงได้เข้าพักยังต้นไทร ระหว่างทาง ณ ที่นั้นเขาได้พบเปรตตนหนึ่งยืนกินเนื้อของตนเองที่หล่นจากกระดูก โสณะอุบาสกจึงได้ถามถึงกรรมของเปรตที่ทำมาในอดีต

เปรตนั้นก็เล่าว่า เมื่อชาติก่อนตนเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร ได้หลอกลวงเอาของ ของคนอื่นมาเคี้ยวกิน เมื่อมีสมณะเข้าไปบิณฑบาต ตนก็ด่าว่า จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ เพราะกรรมนั้นจึงต้องเสวยทุกข์เช่นนี้

โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้นกลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น และได้เดินทางต่อไป ก็ได้พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นเช่นเดียวกัน ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้เล่ากรรมของตน แก่โสณะอบาสกนั้น ความว่า

ในอดีตชาติ ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของ ในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน จึงไปยังเรือนแล้ว ด่าว่า ทำไม แม่จึงให้สิ่งของของพวกเรากับพวกสมณะ ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไปเกิดในนรก หมดกรรมจากนรกแล้ว ก็มาเกิดเป็นเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น

 

โสณอุบาสกรออยู่ ๓ ปีจึงได้บรรพชา

โสณะอุบาสก ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น ครั้นเมื่อเขากลับไปยังกรุงอุชเชนีจึงได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวขอบรรพชาต่อพระมหากัจจายนเถระ

เมื่ออุบาสกโสณโกฏิกัณณะกล่าวขอบรรพชาอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกะอุบาสกโสณโกฏิกัณณะว่า ดูกรโสณะ พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว มีการนอนผู้เดียวตลอดชีวิต ทำได้ยากนัก ดูกรโสณะ เชิญท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือนนั้นแล จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์อันมีภัตหนเดียว นอนผู้เดียว เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

โสณะอุบาสก ก็ได้อ้อนวอนถึงสามครั้ง ในวาระที่สาม พระเถระพิจารณาเห็นว่าโสณะอุบาสกมีญาณแก่กล้าเพียงพอแล้ว จึงยินยอมให้บรรพชา แต่ว่าในสมัยนั้นการบรรพชาโดยพระสาวกต้องกระทำด้วยองค์ทสวรรค คือต้องหาพระสงฆ์ให้ครบ ๑๐ รูป สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ มีภิกษุสองสามรูป ได้ยินว่า ในคราวนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยมากอยู่ในมัชฌิมประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในที่นั้นจึงมีภิกษุ ๒-๓ รูปเท่านั้น ก็ภิกษุเหล่านั้นแยกกันอยู่อย่างนี้ คือในนิคมหนึ่งมีรูปเดียว ในนิคมหนึ่งมีสองรูป เมื่อพระเถระนำภิกษุ ๒-๓ รูปมา บรรดาภิกษุเหล่าอื่นที่นำมาก่อน ก็พากันหลีกไปด้วยกรณียกิจบางอย่าง และเมื่อรอคอยกาลเล็กน้อย แล้วนำภิกษุเหล่านั้นกลับมาอีก ฝ่ายภิกษุนอกนี้ก็หลีกไป การประชุมโดยการนำมาบ่อยๆ อย่างนี้ ได้มีโดยกาลนานทีเดียว ก็ในกาลนั้น ท่านพระมหากัจจายนเถระกว่าจะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ก็ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี จึงอุปสมบทให้ท่านพระโสณะได้

 

พระโสณเถระเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา

เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว พระมหากัจจายนเถระบอกกัมมัฎฐานเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว เรียนคัมภีร์สุตตนิบาตในสำนักของพระเถระ ออกพรรษาปวารณาแล้ว ครั้งนั้นท่านพระโสณะเกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะพึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ลำดับนั้นจึงลาพระอุปัชฌาย์

พระเถระกล่าวว่า โสณะเมื่อท่านไปแล้ว พระศาสดาจะให้ท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน จักเชิญให้ท่านกล่าวธรรม พระศาสดาจะทรงเลื่อมใสในธรรมกถาของท่าน จักประทานพรแก่ท่าน เมื่อท่านจะรับพร จงรับเอาพรอย่างนี้ จงไหว้พระบาท ของพระทศพลตามคำของเรา ขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

๑. จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ขอได้โปรดทรงอนุญาตอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์เพียง ๕ รูปได้ ทั่วปัจจันตชนบท

๒. พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าหลายชั้นได้ทั่วปัจจันตชนบท

๓. คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท

๔. ในอวันตีทักขิณาบถ ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังแกะ หนังแพะหนังกวาง เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับที่ในมัชฌิมชนบท ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เป็นปกติธรรมดาเช่นกัน ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุได้ใช้ หนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังกวาง ทั่วปัจจันตชนบท

๕. เมื่อมีผู้ฝากถวายจีวรให้กับหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากก็มาบอกแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ ว่า มีคนที่มีชื่ออย่างนี้ ฝากจีวรให้มาถวายแก่ท่าน พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่าเมื่อทราบดังนั้น ก็รังเกียจไม่ยินดีรับจีวรที่มีผู้ฝากมาถวาย โดยคิดว่าจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุนั้นรับจีวรที่มีผู้ฝากภิกษุอื่นมาถวายได้ โดยให้ถือว่าจีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรี ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงมือภิกษุผู้ที่เขาเจาะจงถวาย

พระโสณะนั้นเมื่อพระอุปัชฌาย์ อนุญาตแล้วจึงไปบอกแก่โยมอุบาสิกา แม้อุบาสิกานั้นก็กล่าวว่า ดีละพ่อ ท่านเมื่อไปเฝ้าพระทศพล จงเอาผ้ากัมพลผืนนี้ไป จงลาด กระทำให้เป็นผ้ารองพื้นในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระศาสดา แล้วถวายผ้ากัมพลผืนใหญ่ไป พระโสณเถระรับผ้านั้นไปแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึงพระนครสาวัตถีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้อาคันตุกะนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกับท่านพระโสณะ ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดเสนาสนะสำหรับท่านพระโสณะในวิหารที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยับยั้งด้วยการบรรทมในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้ท่านพระโสณะก็ยับยั้งด้วยการนอนในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่พระวิหาร

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี รับสั่งกะท่านพระโสณะว่าดูกรภิกษุการกล่าวธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ

ลำดับนั้น ในเวลาจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการ ประกาศ ถึงความเลื่อมใสว่า ภิกษุ ธรรมเธอเรียนไว้ดีแล้ว เทศนาในเวลาที่เราแสดงแล้วก็ดี ในวันนี้ก็ดี เป็นอย่างเดียวกันเทียว ไม่ขาดไม่เกินเลย เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถที่จะทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ดูกรภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีพรรษาหนึ่ง ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เพราะเหตุไรเธอจึงไม่เข้าถึงบรรพชา อยู่ในท่ามกลางเรือนเสียนานถึงอย่างนี้

โสณเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายโดยกาลนาน แม้เมื่อข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลาย โดยประการบางอย่าง ข้าพระองค์ก็ไม่สามารถเพื่อจะออกจากการครองเรือนก่อน เพราะเหตุไร ? เพราะการครองเรือนคับแคบ คือภาวะแห่งการครองเรือนมีกิจใหญ่กิจน้อย สูงๆ ต่ำๆ เข้ามาพัวพัน

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป เพราะได้เห็นโทษในโลก เพราะได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิ ฯ

 

มารดาพระเถระได้ยินเสียงสาธุการ

ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา ประทานสาธุการแก่ท่านในเวลาจบสรภัญญะนั้น ภุมมัฏฐกเทพดา นาค และสุบรรณ ฟังสาธุการที่พระศาสดาประทานแล้ว ได้ให้สาธุการแล้ว เสียงสาธุการเป็นอันเดียวกัน ได้มีแล้วตลอดพรหมโลกอย่างนี้ ด้วยประการดังนี้

ในขณะนั้น แม้เทพดาผู้สิงอยู่ในเรือนของมหาอุบาสิกาผู้เป็นมารดาของพระเถระ ในกุรรฆรนคร ที่ไกลประมาณ ๑๒๐โยชน์จากพระเชตวันมหาวิหาร ก็ได้ให้สาธุด้วยเสียงอันดังแล้ว

ครั้งนั้น มหาอุบาสิกา ถามเทพดานั้นว่า “นั่น ใครให้สาธุการ?”

เทพดา: เราเอง น้องหญิง

มหาอุบาสิกา: ท่านเป็นใคร?

เทพดา: เราเป็นเทพดา สิงอยู่ในเรือนของท่าน

มหาอุบาสิกา: ในกาลก่อนแต่นี้ ท่านมิได้ให้สาธุการแก่เรา เพราะเหตุไร? วันนี้จึงให้

เทพดา: เรามิได้ให้สาธุการแก่ท่าน

มหาอุบาสิกา: เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านให้สาธุการแก่ใคร?

เทพดา: เราให้แก่พระโสณกุฎิกัณณเถระ ผู้เป็นบุตรของท่าน

มหาอุบาสิกา: บุตรของเราทำอะไร?

เทพดา: ในวันนี้ บุตรของท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วแสดงธรรมแก่พระศาสดา พระศาสดาทรงสดับธรรมแห่งบุตรของท่าน แล้วก็ทรงเลื่อมใส จึงได้ประทานสาธุการ เพราะเหตุนั้นแม้เราจึงให้สาธุการแก่พระเถระนั้น ก็เพราะรับสาธุการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดสาธุการเป็นเสียงกันไปหมด นับตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทพดาตลอดถึงพรหมโลก

มหาอุบาสิกา: นาย ก็บุตรของเราแสดงธรรมแก่พระศาสดา หรือพระศาสดาแสดงแก่บุตรของเรา

เทพดา: บุตรของท่านแสดงธรรมแก่พระศาสดา

เมื่อเทพดากล่าวอยู่อย่างนั้น ปีติมีวรรณะ ๕ ประการ เกิดขึ้นแก่อุบาสิกา แผ่ไปทั่วสรีระทั้งสิ้น ครั้งนั้น มหาอุบาสิกานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

“หากบุตรของเราอยู่ในพระคันธกุฏีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วยังสามารถแสดงธรรมแก่พระศาสดาได้ ก็จักสามารถแสดงธรรมแม้แก่เราได้เหมือนกัน ในเวลาบุตรมาถึง เราจักให้ทำการฟังธรรมกันแล้วฟังธรรมกถา ”

 

พระเถระทูลขอพร ๘ ประการ

ฝ่ายพระโสนกำหนดว่านี้เป็นโอกาส แล้วถวายบังคมพระทศพล ตามคำของพระอุปัชฌาย์ ทูลขอพรทุกอย่างตั้งแต่การอุปสมบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรครบ ๕ พระศาสดาทรงประทานแล้ว ต่อมา พระเถระถวายบังคมตามคำของอุบาสิกามารดาว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ อุบาสิกาส่งผ้ากัมพลผืนนี้มาเพื่อปูลาดพื้นในพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระองค์ แล้วถวายผ้ากัมพล ลุกขึ้นจากอาสนะถวายบังคมพระศาสดากระทำปทักษิณ แล้วกลับไปยังสำนักพระอุปัชฌาย์ เล่าประพฤติเหตุทั้งปวง นั้นแล้ว

 

พระเถระเทศน์โปรดมารดา

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระพาท่านเที่ยวไปบิณฑบาต ได้ไปถึงประตูเรือนของอุบาสิกาผู้เป็นมารดา

ฝ่ายอุบาสิกานั้น เห็นบุตรแล้วก็ดีใจ ไหว้แล้ว อังคาสโดยเคารพแล้วถามว่า “พ่อ ได้ยินว่า คุณอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดาแล้วแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดา จริงหรือ?”

พระโสณะ: เรื่องนี้ ใครบอกแก่โยม? อุบาสิกา

มหาอุบาสิกา: พ่อ เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือนนี้ ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง เมื่อโยมถามว่า ‘นั่นใคร’ ก็กล่าวว่า ‘เราเอง’ แล้วบอกอย่างนั้นนั่นแหละ เพราะฟังเรื่องนั้น โยมจึงได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าว่าบุตรของเราแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดาได้ไซร้ ก็จักอาจแสดงธรรมแม้แก่เราได้ ’

ครั้งนั้น มหาอุบาสิกากล่าวกะพระโสณะนั้นว่า “พ่อ เพราะคุณแสดงธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาได้แล้ว คุณก็จักอาจแสดงแม้แก่โยมได้เหมือนกัน ในวันชื่อโน้น โยมจักให้ทำการฟังธรรมกัน แล้วจักฟังธรรมของคุณ” พระโสณะรับนิมนต์แล้ว

อุบาสิกาคิดว่า “เราถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ทำการบูชาแล้วจักฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา” จึงได้ตั้งให้หญิงทาสีคนเดียวเท่านั้นให้เป็นคนเฝ้าเรือน แล้วได้พาเอาบริวารทั้งสิ้นไป เพื่อฟังธรรมกถาของบุตรผู้จะก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์ที่ประดับประดาไว้แล้ว ในมณฑปที่ตนให้สร้างไว้ภายในพระนคร เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม แสดงธรรมอยู่

 

พวกโจรเข้าปล้นเรือนมหาอุบาสิกา

ก็ในเวลานั้น พวกโจร ๙๐๐ เที่ยวมองหาช่องในเรือนของอุบาสิกานั้นอยู่ ก็เรือนของอุบาสิกานั้น ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น ประกอบด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้ม เขาล่ามสุนัขที่ดุไว้ในที่นั้น ๆ ทุก ๆ ซุ้มประตู อนึ่งเข้าขุดคูไว้ในที่น้ำตกแห่งชายคาภายในเรือน แล้วก็ใส่ดีบุกจนเต็ม เวลากลางวัน ดีบุกนั้นปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่เพราะแสงแดด (เผา) ในเวลากลางคืน ปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้าง เขาปักขวากเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติด ๆ กันไป พวกโจรเหล่านั้นไม่ได้โอกาส เพราะอาศัยการรักษานี้ และเพราะอาศัยความที่อุบาสิกาอยู่ภายในเรือน

วันนั้นทราบความที่อุบาสิกานั้นไปแล้ว จึงขุดอุโมงค์เข้าไปสู่เรือน โดยทางเบื้องล่างแห่งคูดีบุกและขวากเหล็กทีเดียว แล้วส่งหัวหน้าโจรไปสู่สำนักของอุบาสิกานั้น ด้วยสั่งว่า “ถ้าอุบาสิกานั้น ได้ยินว่าพวกเราเข้าไปในที่นี้แล้ว กลับมุ่งหน้ามายังเรือน ท่านจงฟันอุบาสิกานั้นให้ตายเสียด้วยดาบ ” หัวหน้าโจรนั้น ได้ไปยืนอยู่ในสำนักของอุบาสิกานั้น

ฝ่ายโจร จุดไฟให้สว่างในภายในเรือน แล้วเปิดประตูห้องเก็บกหาปณะ นางทาสีนั้นเห็นพวกโจรแล้ว จึงไปสู่สำนักอุบาสิกา บอกว่า

“คุณนาย โจรเป็นอันมากเข้าไปสู่เรือน งัดประตูห้องเก็บกหาปณะแล้ว ”

มหาอุบาสิกา: พวกโจรจงขนเอากหาปณะที่ตนค้นพบแล้วไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย เจ้าจงไปเรือนเสียเถิด

ฝ่ายพวกโจร ทำห้องเก็บกหาปณะให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บเงิน นางทาสีนั้นก็มาแจ้งเนื้อความแม้นั้นอีก

อุบาสิกาพูดว่า “พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ที่ตนปรารถนาไปเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย” แล้วก็ส่งนางทาสีนั้นออกไปอีก

พวกโจรทำแม้ห้องเก็บเงินให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บทอง นางทาสีนั้นก็ไปแจ้งเนื้อความนั้นแก่อุบาสิกาแม้อีก

ครั้งนั้น อุบาสิกาเรียกนางทาสีมา แล้วพูดว่า

“ชะ นางตัวดี เจ้ามาสำนักเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า ‘พวกโจรจงขนเอาไปตามชอบใจเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย’ ก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ร่ำไป ทีนี้ ถ้าเจ้าจักมา เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่เจ้า เจ้าจงกลับบ้านเสียเถิด” แล้วส่งให้กลับ

 

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

หัวหน้าโจรฟังคำนางก็คิดว่า “พวกเราซึ่งพากันลักทรัพย์สิ่งของในเรือนของหญิง ที่มั่นคงด้วยอัธยาศัยดังนี้ ก็พึงถูกสายฟ้าตกฟาดกระหม่อมแน่” ดังนี้แล้ว จึงไปสำนักพวกโจร สั่งว่า “พวกท่านจงขนเอาสิ่งของ ๆ อุบาสิกาไปไว้ตามเดิมโดยเร็ว ”

โจรเหล่านั้น ให้ห้องเก็บกหาปณะเต็มด้วยกหาปณะ ให้ห้องเก็บเงินและทองเต็มไปด้วยเงินและทองแล้ว ได้ยินว่า ความที่ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า:

“ธรรมแล ย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม

ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว

ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ”

พวกโจรได้ไปยืนอยู่ในที่เป็นที่ฟังธรรม ฝ่ายพระเถระแสดงธรรมแล้ว เมื่อราตรีสว่าง จึงลงจากอาสนะ ในขณะนั้นหัวหน้าโจรหมอบลงแทบเท้าของอุบาสิกา พูดว่า “คุณนาย โปรดอดโทษแก่ผมเถิด”

อุบาสิกา "นี้อะไรกัน? พ่อ"

หัวหน้าโจร "ผมผูกอาฆาตในคุณนาย ประสงค์จะฆ่าคุณนาย จึงได้ยืนคุมอยู่"

อุบาสิกา "พ่อ ถ้าเช่นนั้น ฉันอดโทษให้"

 

พวกโจรเลื่อมใสขอบวชกะพระโสณะ

แม้พวกโจรที่เหลือ ก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่ออุบาสิกาพูดว่า “พ่อทั้งหลาย ฉันอดโทษให้” จึงพูดว่า

“คุณนาย ถ้าว่าคุณนายอดโทษแก่พวกผมไซร้ ขอคุณนายให้ ๆ บรรพชาแก่พวกผม ในสำนักแห่งบุตรของคุณนายเถิด”

อุบาสิกานั้นไหว้บุตรแล้ว พูดว่า

“พ่อ โจรพวกนี้เลื่อมใสในคุณของโยม และธรรมกถาของคุณแล้ว จึงพากันขอบรรพชา ขอคุณจงให้โจรพวกนี้บวชเถิด ”

พระเถระพูดว่า “ดีละ” แล้วให้ตัดชายผ้าที่โจรเหล่านั้นนุ่งแล้วให้ย้อมด้วยดินแดง ให้พวกเขาบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล แม้ในเวลาที่พวกเขาอุปสมบทแล้ว พระเถระได้ให้พระกัมมัฏฐานต่าง ๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นร้อยองค์ ต่อกรรมฐาน ๑ อย่าง ภิกษุ ๙๐๐ รูปนั้นเรียนพระกัมมัฏฐาน ๙ อย่างต่าง ๆ กันแล้วพากันขึ้นไปสู่ภูเขาลูกหนึ่ง นั่งทำสมณธรรมใต้ร่มไม้นั้น ๆ แล้ว

พระศาสดา ประทับนั่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารอันไกลกันได้ ๑๒๐ โยชน์นั่นแล ทรงเล็งดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงกำหนดพระธรรมเทศนาด้วยอำนาจแพ่งความประพฤติของเธอเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไปประหนึ่งว่าประทับนั่งตรัสอยู่ในที่เฉพาะหน้า ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:

“ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข

ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน

ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง พึงละธรรม ๕ อย่าง และพึงยังคุณธรรม ๕ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้

ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่คร่ำครวญว่า ‘นี้ทุกข์’

ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน

ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ

ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายโดยอาการใด เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้น ๆ การได้ปีติและปราโมทย์นั้น เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้น มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้

เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด ไม่เกียจคร้าน

ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เพราะเหตุนั้นเธอจักเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ”

บรรดาบทพระคาถาเหล่านี้ ที่พระศาสดาทรงแสดงด้วยอย่างนี้ ในกาลจบพระคาถาหนึ่ง ๆ ภิกษุร้อยหนึ่ง ๆ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่แห่งตนนั่งแล้ว ๆ นั่นแล เหาะขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก้าวล่วงทางกันดาร ๑๒๐ โยชน์ทางอากาศนั่นแล ชมเชยพระสรีระซึ่งมีสีดุจทองของพระตถาคตเจ้า ถวายบังคมพระบาทแล้ว ดังนี้แล

 

พระศาสดาทรงสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสถาปนาเหล่าพระภิกษุผู้ทรงคุณต่าง ๆ ขึ้นเป็นพระเอตทัคคะ จึงทรงนำเรื่องที่ทรงประทานสาธุการที่พระโสณเถระกล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ ในพระคันธกุฎีนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาท่านเป็น เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47642335
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
16385
36803
108132
47135237
1128673
1172714
47642335

Your IP: 3.142.98.111
2024-11-26 13:32
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search