พระโมฆราชเถระ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | โมฆราชมาณพ |
สถานที่เกิด | เมืองสาวัตถี |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | ปาสาณเจดีย์ |
เอตทัคคะ | ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | สาวัตถี |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ |
การศึกษา | จบไตรเพท |
หมายเหตุ | |
อดีต 1 ใน 16 ศิษย์ของพราหมณ์พาวรี |
เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมองประวัติพระโมฆราชเถระ
การที่ท่านพระโมฆราชเถระท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ๑. พระเถระองค์นี้ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ที่ประกอบด้วยความเศร้าหมอง ๓ อย่าง คือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย เศร้าหมองด้วยเครื่องย้อม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็น ยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัล์ป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้
บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า
ในกัล์ปนับจากภัทรกัล์ปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ได้ทรงทำให้มหาชนเป็นอันมาก ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้
ครั้งนั้น ท่านเป็นผู้รับใช้ของสกุลหนึ่ง ในพระนครหงสวดี ยากจนไม่มีทรัพย์สินอันใด ท่านได้พักอาศัยอยู่ที่พื้นที่เขาสร้างไว้เพื่อเป็นหอฉัน ครั้งหนึ่งท่านได้ก่อไฟที่พื้นหอฉันนั้น ทำให้พื้นศิลานั้นดำไปเพราะเขม่าไฟลน วันหนึ่งท่านได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาพระองค์นั้น ครั้งนั้นพระโลกนาถได้ทรงสถาปนาพระภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นเลิศกว่าพระสาวกเหล่าอื่นผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน ท่านชอบใจในคุณของท่าน จึงได้ปฏิบัติพระตถาคตด้วยปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง คือ ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
ครั้งนั้น พระปทุมุตรพุทธเจ้า ได้ตรัสกับพระสาวกทั้งหลายว่า จงดูบุรุษนี้ ผู้มีผ้าห่มน่าเกลียด ผอมเกร็ง แต่มีใบหน้าอันผ่องใสเพราะปีติ ประกอบด้วยทรัพย์ คือศรัทธา มีกายและใจสูง ร่าเริง ไม่หวั่นไหว อุดมไปด้วยธรรมที่เป็นสาระ บุรุษนี้ชอบใจในคุณของภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ปรารถนาฐานันดรนั้นอย่างจริงใจ เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เบิกบาน ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้า ทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต
เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เพราะกรรมคือการก่อไฟที่พื้นศิลาที่หอฉัน ทำให้พื้นนั้นสกปรกดำไปเพราะฤทธิ์เพลิง เมื่อพ้นจากภูมิเทวดา ท่านจึงถูกเวทนาเบียดเบียน หมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลาพันปี และด้วยเศษของกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้น เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ในคราวใด ก็จะมีตำหนิที่ผิดพรรณถึง ๕๐๐ ชาติ และเพราะอำนาจกรรมนั้น ท่านจึงเกิดเป็นมนุษย์ผู้ทุกข์ด้วยการเป็นโรคเรื้อน อีก ๕๐๐ ชาติเหมือนกัน
บุรพกรรมในการถวายทานแด่พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อัตถทัสสี ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เติบใหญ่ขึ้นก็ได้เล่าเรียนจนถึงความสำเร็จในวิชา และศิลปะของพราหมณ์ทั้งหลาย วันหนึ่งท่านออกจากเรือนไปพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย ครั้นแล้วก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินไปในถนน ก็บังเกิดจิตเลื่อมใส ถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประนมกรอัญชลีไว้เหนือเศียร แล้วประกาศสรรเสริญพระศาสดาด้วยคาถา ๖ คาถา แล้วน้อมน้ำผึ้งเข้าไปถวายจนเต็มภาชนะ. พระศาสดาทรงรับประเคนน้ำผึ้งแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนา
แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ ทรงประทับอยู่ในอากาศ แล้วตรัสพยากรณ์ว่า ผู้ใดสรรเสริญพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ จักเสวยเทวรัชสมบัติ ๔๖ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช เสวยสมบัติอยู่ในแผ่นดินนับไม่ถ้วน จักเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์รู้จบไตรเพท จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าโคดม จักพิจารณาอรรถอันลึกซึ้ง อันละเอียดได้ด้วยญาณ จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า "โมฆราช" จักถึงพร้อมวิชชา ๓ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ พระโคดมผู้ทรงเป็นยอดของผู้นำหมู่ จักทรงตั้งผู้นั้นไว้ ในเอตทัคคสถาน ดังนี้ ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา
บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นศิษย์คนหนึ่ง ของอาจารย์ผู้เป็นช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา
ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย
ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด
ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร
พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี
อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย
พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย
ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น
คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี
พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ
ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า
พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง
พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก
เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง
พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก
เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้
และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น
ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้
ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า
ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี
ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม
อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง
สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล
เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์
พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก
พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน
ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า โมฆราชะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง
ท่านโมฆราชะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน
เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน
พาวรีปุโรหิตออกบวช
ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า
พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร
อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท
ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่
อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป
พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์
พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก
อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป
พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง
ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น
ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”
พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”
พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”
พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”
พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”
พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย
เทวดาบอกปริศนาธรรม
เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ
พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ
เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ
พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ
เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ
เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ
เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ
พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา
ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ
พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ
พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา
เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ
พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ
ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี
พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล
ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น
ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า
อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ
อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ
อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ
มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ
อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป
อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.
ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด
อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส
ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน
ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง
พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน
โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย
จากนั้น ติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒
จากนั้น ปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓
จากนั้น เมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔
จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕
จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖
จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗
จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘
ครั้นเมื่อเหมกมาณพถามปัญหาไปเป็นคนที่ ๘ ตามลำดับแล้ว โมฆราชมาณพนั้นก็อดกลั้นไว้ไม่ได้ ลุกขึ้นอีกเป็นคนที่ ๙ พระศาสดาก็ทรงห้ามเขาอีก โมฆราชมาณพนั้นจึงต้องนิ่ง คิดว่า บัดนี้ เราไม่อาจจะเป็นนวกะผู้ใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕
จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙
จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐
จากนั้นชตุกัณณิกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๑
จากนั้นภัทราวุธพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๒
จากนั้นอุทยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๓
จากนั้นโปสาลพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๔
เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่
โมฆราชะทูลถามปัญหาของตน
โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า
พระศาสดาทรงทราบว่า ญาณของท่านแก่กล้าเต็มที่แล้ว จึงทรงตอบปัญหาที่โมฆราชมาณพทูลถาม ดังนี้
ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้ เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น.
จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของโมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต โมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค
ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมอง
เมื่อพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านได้บังสุกุลนำเอาผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้าและตามถนนหนทาง แล้วจึงทำเป็นผ้าสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านี้ แล้วนุ่งห่มด้วยจีวรที่เศร้าหมองเหล่านั้น อันประกอบด้วยความเศร้าหมอง ครบทั้ง ๓ อย่างคือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย (และ) เศร้าหมองด้วยน้ำย้อม
พระบรมศาสดาทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของท่าน จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทรงจีวรเศร้าหมอง
พระเถระเป็นโรคร้าย
ในเวลาต่อมา โรคทั้งหลายมีหิดเปื่อยและต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น เกิดลุกลามไปตามร่างกายของพระเถระ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย (และ) เพราะไม่ทำความสะอาดร่างกาย
ครั้นเมื่อท่านเป็นโรคร้ายเช่นนั้น ท่านก็ไม่ประสงค์จะทำให้วิหารเสียหายสกปรกเลอะเทอะ ท่านจึงไม่ได้อยู่ในวิหารของสงฆ์ จึงเอาเครื่องปูนอนที่ทำด้วยฟางจากนาของชาวมคธ มาปูลาดนอนแม้ในฤดูหนาว วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามท่านพระเถระ โดยทำนองปฏิสันถาร ด้วยพระคาถาที่ ๑ ใจความว่า
ท่านเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์ จักทำอย่างไรตลอดราตรี แห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้ ดังนี้.
พระเถระทูลตอบว่า
ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง แล้วนอนให้เป็นสุข เหมือนคนเหล่าอื่น ที่มีการเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ฉะนั้น ดังนี้.
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710